fbpx
แกะรอยสาแหรกรสชาติจากเทคนิคการปรุง: จาก 'ข้าวเม็กซิกัน' สู่ 'ข้าวผัดอเมริกัน'

แกะรอยสาแหรกรสชาติจากเทคนิคการปรุง: จาก ‘ข้าวเม็กซิกัน’ สู่ ‘ข้าวผัดอเมริกัน’

ณัฎฐา ชื่นวัฒนา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

สหรัฐอเมริกา อดีตประเทศ “มหามิตร” ของไทย เคยมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเมือง, วัฒนธรรม, เศรษฐกิจ ของไทย ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงราวทศวรรษที่ 70 (1970s) ตอนนั้น วัฒนธรรมอเมริกันเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักระดับโลกที่ทันสมัย เพราะอเมริกาได้ยกระดับขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ กลายเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกในเวลาต่อมาไม่นาน

วัฒนธรรมอเมริกันที่มีสื่อบันเทิงฮอลลีวูดเป็นหัวหอก คือวัฒนธรรมส่งออกสำคัญ ที่นำเสนอรูปแบบการบริโภคแบบอเมริกันไปทั่วโลก ผ่านชาวอเมริกันโพ้นทะเลโดยเฉพาะทหารอเมริกันที่ถูกส่งไปประจำการในฐานทัพต่างๆ

สินค้า “Made in USA” และวัฒนธรรมการกินอยู่แบบอเมริกัน ได้ติดตามชาวอเมริกันโพ้นทะเลไปแบบเงาตามตัว ฐานทัพอเมริกันทั่วโลกกลายเป็น “ศูนย์วัฒนธรรมอเมริกัน” แบบไม่เป็นทางการ ในฐานะ “ประเทศอเมริกาน้อย” ที่เต็มไปด้วยสินค้าและบริการแบบอเมริกัน ตัวทหารอเมริกันเองเมื่อออกมาพักผ่อนนอกค่ายก็ต้องการได้รับบริการ “แบบอเมริกัน” เกิดผับ, บาร์, ร้านอาหารต่างๆ ในท้องถิ่นที่มุ่งให้บริการทหารอเมริกันไกลบ้านโดยเฉพาะ ทำให้เกิดการปะทะสังสรรค์กันระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นกับวิถีชีวิตอเมริกันขึ้นมาในหลายด้าน

การผสมผสานของวัฒนธรรมนี้เป็นผลให้เกิดอาหารลูกผสมระหว่างอาหารท้องถิ่นกับการครัวแบบอเมริกันขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น ข้าวทาโก้ (Taco rice, タコライス) ในญี่ปุ่น, บูเด จิเก (부대찌개) จากเกาหลีใต้ ที่มีเนื้อกระป๋อง (Luncheon meat) เป็นส่วนผสมหลัก, รวมทั้งข้าวผัดอเมริกัน (American Fried Rice) ของไทยด้วย

 

ข้าวผัดอเมริกัน (ภาพโดย คัดไว้ พิชญกันตกุล)
ข้าวผัดอเมริกัน (ภาพโดย คัดไว้ พิชญกันตกุล)

 

อาหารต่างชาติในจินตนาการ?

 

ข้าวผัดอเมริกัน ในความจำของฉันคือข้าวสวยผัดซอสมะเขือเทศจนมีสีแดงสวย ในข้าวผัดบางทีก็มีถั่วลันเตา, หอมใหญ่ หรือลูกเกดด้วย ข้าวผัดมะเขือเทศที่ถูกอัดในพิมพ์ข้าวทรงกลม ถูกเสิร์ฟมาพร้อมไข่ดาว, ไก่ทอด, ไส้กรอกฝานทอดน้ำมัน, โบโลนาแผ่น, แฮมแผ่น หรือ เบคอนทอดจนกรอบ ทั้งหมดนี้เสิร์ฟมาพร้อมมะเขือเทศฝานและผักกาดหอม ตามขนบการจัดจานในสมัยก่อน

ช่วงราวยี่สิบกว่าปีที่แล้ว วัตถุดิบในการทำอาหารอเมริกัน เช่น ไส้กรอก แฮม ก็ยังมีราคาค่อนข้างแพงกว่าหมูเห็ดเป็ดไก่ตามตลาดอยู่พอสมควร วัตถุดิบบางอย่างที่หาไม่ได้ตามตลาดสดทั่วไป ต้องไปซื้อจากห้างสรรพสินค้า การที่วัตถุดิบต่างแดนเหล่านี้มารวมอยู่ในอาหารจานเดียวได้ ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากสำหรับฉัน

แต่เมื่อเวลาผ่านมาหลายสิบปี ข้าวผัดอเมริกันที่เคยเป็นอาหารล้ำสมัย เป็นสัญลักษณ์ของอาหารอเมริกันในไทยได้ลดความนิยมลงไป แฮม, ไส้กรอก, ไก่ทอด ได้กลายเป็นอาหารว่างธรรมดาสามัญของชาวไทยไปแล้ว ร้านหาบเร่ รถเข็นริมทางขายไส้กรอกทอด, ไก่ทอด คู่กับน้ำจิ้มพริกสารพัดของไทยเราอยู่ดาษดื่น

ปัจจุบันเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า ข้าวผัดอเมริกันเกิดจากจินตนาการของนักปรุงอาหารชาวไทย ที่สร้างสรรค์อาหารลูกผสมจานใหม่ ระหว่างการครัวท้องถิ่นกับวัตถุดิบสไตล์อเมริกันขึ้นมา โดยไม่มีหลักฐานทางเอกสารยืนยันช่วงเวลาที่เกิดขึ้นได้ชัดเจน เรื่องราวของข้าวผัดอเมริกันในสังคมไทยส่วนใหญ่จึงมีลักษณะเป็น “เรื่องเล่า” มากกว่า “ประวัติศาสตร์” ซึ่งการศึกษาอดีตนอกตำราในลักษณะนี้ก็เป็นเรื่องถนัดของการวิจัยทางโบราณคดี ฉันเลยคิดเล่นๆ ดูว่า ถ้าหากมองข้าวผัดอเมริกันในฐานะโบราณวัตถุ ที่แสดงถึงวัฒนธรรมและพฤติกรรมของมนุษย์ผ่านขั้นตอนการทำอาหาร เพื่อสืบหาประวัติศาสตร์ที่มา หรือสาแหรกทางการครัวที่เกี่ยวข้องแล้ว จะได้ผลออกมาอย่างไร?

ข้าวผัดอเมริกัน เป็นอาหารที่ “Made in Thailand” จริงๆ หรือเปล่า?

 

สืบสาแหรกอาหารจากไวยากรณ์การปรุง

 

เมื่อเทียบไวยากรณ์การปรุงของข้าวผัดอเมริกัน กับอาหารจานข้าวอื่นๆ ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 1910-1970 พบว่า อาหารจานหนึ่งได้มีไวยากรณ์การปรุงและส่วนประกอบ คล้ายข้าวผัดอเมริกันมาก อาหารต้นทางจานนั้นมีชื่อว่า ข้าวเม็กซิกัน (Arroz Mexicana, Arroz a la Mexicana) นั่นเอง

ข้าวเม็กซิกัน คืออาหารจานข้าวที่มีวิธีการหุงโดยนำข้าวสารมาเจียวกับน้ำมันพืชหรือสัตว์ในกระทะ ผัดเมล็ดข้าวกับน้ำมันจนมีสีเหลืองสวย ใส่เครื่องปรุงอื่นๆ ตามลงไปด้วยก็ได้ เช่น หอมใหญ่, ถั่วลันเตา, ลูกเกด ฯลฯ ตามที่ต้องการ จากนั้นก็ใส่น้ำหรือน้ำซุป รวมทั้งมะเขือเทศหรือซอสมะเขือเทศลงไปในกระทะจนท่วมข้าว จากนั้นก็ปิดฝากระทะเพื่อหุงจนสุก

ข้าวเม็กซิกัน ในอดีตมีอีกชื่อหนึ่งว่า ข้าวสเปน (Spanish Rice) แต่ชาวสเปนไม่รู้จักอาหารจานนี้เลย เพราะข้าวสเปนเกิดมาจากการผสมผสานเทคนิคการปรุงอาหารของเจ้าอาณานิคมชาวสเปนเข้ากับวัตถุดิบท้องถิ่นในเม็กซิโก วัตถุดิบหลักของอาหารจานนี้คือมะเขือเทศ พืชท้องถิ่นอย่างหนึ่งของทวีปอเมริกา

ฉันคิดว่า สาเหตุที่คนเม็กซิกันเรียกอาหารนี้ว่าข้าวสเปน คงมาจากเทคนิคการปรุงข้าว ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับการหุงข้าวปาเอญ่า (Paella Rice) หรือที่คนไทยบางคนเรียกกันจนติดปากว่า “ข้าวผัดสเปน” ซึ่งเป็นเทคนิคที่ได้มาจากการปรุงข้าวแบบกึ่งผัดกึ่งหุงของเจ้าอาณานิคมชาวสเปนในสมัยก่อน

นอกจากเรียกข้าวหุงมะเขือเทศในลักษณะนี้ว่าข้าวสเปนแล้ว ชาวเม็กซิกันในปัจจุบันเรียกชื่ออาหารจานนี้ว่า ข้าวแดง (Arroz rojo) มีที่มาจากสีแดงของมะเชือเทศที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการหุงข้าว โดยมะเขือเทศสดจะถูกหั่นใส่ลงไป หรือจะใส่ซอสมะเขือลงไปแทนก็ได้ สีแดงจากมะเขือเทศทำให้เมล็ดข้าวมีสีแดง (rojo) เมื่อสุก

ส่วนคำว่า “ข้าวเม็กซิกัน” นั้นเป็นชื่อที่ชาวอเมริกันทางตอนใต้นิยมใช้เรียกอาหารจานนี้ เมื่อเดินทางเข้าไปในประเทศสหรัฐอเมริกา จะพบข้าวเม็กซิกันได้ในสูตรอาหารจากหนังสือพิมพ์ตั้งแต่หลังปี ค.ศ. 1910 เป็นต้นไป

         

ข้าวเม็กซิกัน (Arroz rojo) ในร้านอาหารเม็กซิกัน ณ กรุงโตรอนโต ประเทศแคนาดา เสิร์ฟพร้อมกับเอนชิลาดา (Enchiladas) (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)
ข้าวเม็กซิกัน (Arroz rojo) ในร้านอาหารเม็กซิกัน ณ กรุงโตรอนโต ประเทศแคนาดา เสิร์ฟพร้อมกับเอนชิลาดา (Enchiladas) (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

 

ข้าวเม็กซิกันในสหรัฐอเมริกา

 

คนอเมริกันทางใต้กินข้าวกันมาก จนถือว่าเป็นอัตลักษณ์ทางการกินที่สำคัญมากในแถบนี้ ข้าวในอเมริกาเป็นข้าวสายพันธุ์แอฟริกา ที่เดินทางเข้ามาพร้อมกับทาสผิวดำในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 17 (ประมาณช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 22 สมัยอยุธยาตอนกลาง) ในปัจจุบันนี้ ทางตอนใต้ของอเมริกาก็ยังเป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เมื่อพื้นที่ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกานั้นปลูกข้าวได้ดีและมีผลผลิตมาก ข้าวก็เป็นอาหารสามัญของคนแถบนี้ อาหารขึ้นชื่อต่างๆ ที่ทำจากข้าวทางตอนใต้ของสหรัฐมีมากมาย เช่น จัมบาลายา (Jambalaya) คือข้าวหุงรวมกับซอสมะเขือเทศ, ไส้กรอก, พร้อมเนื้อสัตว์และเครื่องเทศอื่นๆ,  กัมโบ (Gumbo) รวมทั้ง ข้าวเม็กซิกัน ด้วย

ข้าวเม็กซิกัน ทั้งในอเมริกาและเม็กซิโกมีสถานะเป็นอาหารจานข้าว ไม่นิยมกินเปล่าๆ แต่มักถูกจับคู่กับอาหารชนิดอื่นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นไส้กรอก, เบคอน, แฮม, โบโลนา, ไข่ดาว, และ ไก่ทอด ดังที่ปรากฏในรายการอาหารกลางวัน จากหนังสือพิมพ์ Newark Evening Star and Newark Advertiser เป็นหนังสือพิมพ์แถบเมืองเนวาร์ก รัฐนิวเจอร์ซี ทางเหนือของสหรัฐอเมริกา ในวันพฤหัสที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1910 ซึ่งเป็นสูตรข้าวเม็กซิกันที่เก่าที่สุดในตอนนี้ ชุดอาหารกลางวันที่ว่าประกอบด้วย ข้าวเม็กซิกัน, ไส้กรอกแฟรงเฟอร์เตอร์ (Frankfurters) หรือที่คนในปัจจุบันรู้จักในนาม ฮอตดอก (Hotdog), ผักกาดหอมสด, อินทผาลัม, ขนมปัง, และโกโก้

 

ตำรับอาหารชุดในปี ค.ศ. 1910 มีข้าวเม็กซิโกและไส้กรอกเป็นส่วนประกอบ (Library of Congress)
ตำรับอาหารชุดในปี ค.ศ. 1910 มีข้าวเม็กซิโกและไส้กรอกเป็นส่วนประกอบ (Library of Congress)

 

ข้าวเม็กซิกันสูตรดังกล่าว มีวิธีทำดังนี้ “ข้าวหนึ่งถ้วย, มะเขือเทศสดหรือมะเขือเทศกระป๋องหนึ่งถ้วย, พริกหยวกแดง หรือ พริกแดงหนึ่งเม็ด, หอมใหญ่ขนาดกลางหนึ่งหัว นำมาฝาน, เกลือหนึ่งช้อนชาพูน, เนยสองช้อนชาพูน ผสมส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน จากนั้นใส่น้ำลงไปและนึ่งหรือต้มเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง” ข้าวเม็กซิกันสูตรนี้ไม่มีการผัดข้าวสารกับน้ำมัน แต่ใช้ข้าวผสมกับส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน ก่อนปรุงให้สุกด้วยการนึ่ง

สูตรข้าวเม็กซิกันแถบตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาเวลาต่อมา แสดงถึงการปรุงตามขนบของข้าวเม็กซิกันอย่างชัดเจน โดยผัดข้าวสารในน้ำมันหมูให้เหลืองสวย ก่อนจะใส่มะเขือเทศและน้ำเพื่อหุงให้สุกในขั้นสุดท้าย ดังที่ปรากฏในสูตรข้าวเม็กซิกันของ นาย วิลเลียม เจ. ทิฟฟินเดอร์ แห่งเมืองซานฟรานซิสโก, รัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี ค.ศ. 1911 และสูตรข้าวเม็กซิกันของ นาง เวอร์จิล เอส. สมิธ แห่งรัฐแอริโซนา ที่ได้รับรางวัลที่สองจากการปรุงข้าวเม็กซิกัน ในปี ค.ศ. 1912 ข้าวเม็กซิกันทั้งสองสูตรนี้ใส่เครื่องเทศลงไปด้วย โดยสูตรของนายวิลเลียมนั้นใส่พริกป่นเม็กซิกันเป็นส่วนประกอบ ในขณะที่สูตรของนางเวอร์จิลมีผงกะหรี่เป็นส่วนผสม

น่าสังเกตว่าสูตรข้าวเม็กซิกันจากทางเหนือของอเมริกา มักจะไม่เผ็ดร้อนและมีปริมาณเครื่องเทศน้อยกว่าสูตรจากทางใต้ ดังที่ปรากฏในข้าวเม็กซิกัน 2 สูตร ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1918 จากหนังสือพิมพ์ Indianapolis Star ฉบับประจำวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1918 และ หนังสือพิมพ์ New Britain Herald ฉบับประจำวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1918

ข้าวเม็กซิกันทั้งสองสูตรนี้ ใช้การเจียวน้ำมันที่ได้จากเบคอนและหมูหมักเกลือในการผัดข้าว ทำให้น้ำมันที่ได้จากการผัดนั้นมีรสชาติ และกลิ่นหอมมากกว่าน้ำมันหมูจากการเจียวมันหมูสดธรรมดา เมื่อเจียวน้ำมันออกจากเบคอนจนหมด กลายเป็นเบคอนกรอบคล้ายกากหมูแล้ว เบคอนกรอบนี้ก็กลายเป็นอาหารอย่างหนึ่งที่ถูกจับคู่กับข้าวเม็กซิกันได้แบบไม่เสียเปล่า

 

ข้าวเม็กซิกันกับเครื่องเคียงคู่ขวัญหลากชนิด

 

ดาราดังอย่าง เฮนรี ฟอนดา ได้เล่าเรื่องของอาหารการกินของเขาก่อนที่จะมีชื่อเสียงเอาไว้ในบทสัมภาษณ์จากหนังสือพิมพ์ Evening star ฉบับวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1938  เขาเล่าถึงข้าวเม็กซิกันสูตรของมารดา ที่เขามักจะหุงไว้สำหรับคนจำนวนมาก ในการหุงข้าวเม็กซิกันนั้นเขาจะ “จี่เบคอนจำนวนมาก จนกรอบเป็นสีน้ำตาล พอเบคอนกรอบได้ที่ก็พักไว้บนกระดาษซับน้ำมัน เอาน้ำมันเบคอนที่ได้มาเจียวพริกหยวกเขียวและหอมใหญ่สับ ในขณะเดียวกันก็ต้มข้าวหม้อใหญ่เตรียมไว้ พอข้าวเกือบสุกนุ่ม ก็ตักข้าวออกจากหม้อ เทน้ำส่วนเกินออก ใส่มะเชือเทศกระป๋องใหญ่ลงไป หุงจนข้าวสุกแล้วจึงใส่หอมใหญ่และพริกหยวกเจียว ก่อนนำเบคอนกรอบที่พักไว้ตอนแรกสุดผสมรวมกับข้าวเป็นขั้นสุดท้าย” ข้าวเม็กซิกันสูตรนี้ไม่มีเครื่องเทศรสเผ็ดเป็นส่วนผสมเลย อาจเป็นเพราะเฮนรีเติบโตมาจากทางเหนือของประเทศ จึงไม่นิยมกินอาหารที่หนักเครื่องเทศเหมือนคนทางใต้

ในเวลาต่อมา ‘ไข่ดาว’ ถูกจับเป็นคู่ขวัญของข้าวเม็กซิกันในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ในคอลัมน์อาหารของหนังสือพิมพ์ The Austin Statesman และ Evening Star ฉบับเดือน กรกฎาคม, กันยายน ค.ศ. 1943 ข้าวเม็กซิกันเป็นเมนูแนะนำในฐานะอาหารว่างยามดึกหลังการตระเวนราตรี แทนที่อาหารยามดึกยอดนิยมอย่าง ไส้กรอก, เบคอน, ไข่คน

 

โฆษณาร้านอาหารในหนังสือพิมพ์ ปี ค.ศ. 1943 มีข้าวเม็กซิโกเป็นหนึ่งในเมนูอาหาร (Library of Congress)
โฆษณาร้านอาหารในหนังสือพิมพ์ ปี ค.ศ. 1943 มีข้าวเม็กซิโกเป็นหนึ่งในเมนูอาหาร (Library of Congress)

 

ข้าวเม็กซิกันสูตรนี้มีวัตถุดิบและวิธีการปรุงที่แทบจะเหมือนกันทุกขั้นตอน ต่างกันเพียงแค่ปริมาณของเครื่องเทศในสูตรเพียงเท่านั้น ข้าวเม็กซิกันสูตรนี้คล้ายกับสูตรของดาราดัง เฮนรี ฟอนดา แต่ก็มีข้อแตกต่างสำคัญตรงที่ยังผัดข้าวสารจนเหลืองสวย จากนั้นใส่มะเขือเทศและเครื่องปรุงที่เหลือลงไปในข้าวและหุงจนสุก ก่อนเสิร์ฟพร้อมไข่ดาว (Huevos fritos) ที่ทอดในน้ำมันร้อน ผู้เขียนสูตรได้ย้ำในข้อเขียนหลายครั้งว่า การทอดไข่ในน้ำมันร้อนนี้เป็นเทคนิคการทอดไข่ของชาวเม็กซิกันและประเทศในแถบอเมริกากลาง

ในปีเดียวกันนี้ ข้าวเม็กซิกัน ก็ได้ปรากฏในโฆษณาขายเนยขาว (Shortening) ที่ใช้ในการปรุงอาหารของบริษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่อย่างบริษัทคริสโค (Crisco) โดยถูกจับคู่กับแฮม, โบโลนา, หรือเนื้อกระป๋อง (Luncheon meat) บริษัทคริสโคผลิตเนยขาวด้วยระบบอุตสาหกรรม เพื่อมาแทนที่น้ำมันสัตว์ที่ได้จากการจี่แฮม, เบคอน, หรือไขมันสัตว์ ซึ่งขาดแคลนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เนยขาวของคริสโค ใช้ปรุงอาหารได้ง่ายมีหีบห่อที่แข็งแรง สามารถขนส่งในระยะทางไกลได้สะดวก เช่นเดียวกับเนื้อกระป๋องที่ได้กลายเป็นอาหารยอดฮิตยามสงคราม ในช่วงนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าจากอเมริกาประเภทต่างๆ ได้กระจายตัวออกไปในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทำให้คนทั่วโลกรู้จักสินค้าประเภทต่างๆ จากอเมริกามากขึ้น

 

สูตรข้าวเม็กซิกัน จากโฆษณาเนยขาวยี่ห้อคริสโค ในปี ค.ศ. 1943 (Library of Congress)
สูตรข้าวเม็กซิกัน จากโฆษณาเนยขาวยี่ห้อคริสโค ในปี ค.ศ. 1943 (Library of Congress)

 

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง การปรุงอาหารโดยใช้น้ำมันพืชสำเร็จรูป รวมทั้งเนยขาวได้รับความนิยมมากขึ้นในอเมริกา ในปี ค.ศ. 1945 ได้เกิดสูตรข้าวผัดมะเขือเทศโรยหน้าด้วยไข่เจียวหั่นฝอย เสิร์ฟพร้อมไก่ชุบแป้งทอด สูตรนี้ถูกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ Austin Statesman ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1945 โดยบรรณาธิการอาหารของ Associated Press ซึ่งเป็นนักเขียนเรื่องอาหารชื่อดังมากในสมัยนั้นอย่าง ชาร์ลอต อดัมส์ (Charlotte Adams)

สูตรข้าวผัดของคุณชาร์ลอตนี้มีส่วนผสมที่เหมือนกับข้าวเม็กซิกันในช่วงก่อนหน้านี้ราวกับแกะ เพียงแต่ใช้การผัดข้าวสุกแบบเดียวกับการทำข้าวสวยผัดแบบจีน แทนการผัดข้าวสารในน้ำมันแบบเม็กซิกัน ลักษณะการจัดจานของข้าวผัดมะเขือเทศกับไก่ทอดสูตรนี้ คล้ายกับลักษณะการเสิร์ฟข้าวผัดอเมริกันอย่างมากอีกด้วย ข้าวผัดมะเขือเทศถูกจัดในพิมพ์รูปถ้วยคว่ำกลางจาน โรยหน้าด้วยไข่ฝอยบนพูนข้าวกลมสีแดง ล้อมรอบด้วยไก่ชุบแป้งทอดแบบดาวล้อมเดือน

ในปี ค.ศ. 1951 ข้าวเม็กซิกันได้ถูกจับคู่กับไก่ทอด ซึ่งนับว่าเป็นอาหารจานเด็ดของชาวอเมริกัน โดยเฉพาะชาวแอฟริกันอเมริกันในทางตอนใต้ ดังที่ปรากฏในสูตรข้าวเม็กซิกันกับไก่ทอดในสูตรอาหารหลายสูตร ข้าวเม็กซิกันสูตรหนึ่งเขียนโดยผู้เขียนที่ใช้นามแฝงว่า “สส. คนดำ” (A Negro Congressman) ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของคนผิวดำในสมัยนั้น คือ  Philadelphia Tribune ฉบับวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1951 สูตรข้าวเม็กซิกันนี้ไม่มีเครื่องเทศรสเผ็ดร้อนเป็นส่วนผสม แต่มีผงชูรสเป็นเครื่องปรุงอย่างหนึ่งด้วย

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ข้าวเม็กซิกัน หรือข้าวสเปน ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่ชาวอเมริกัน ผ่านทางโฆษณาขายข้าวยี่ห้อ Minute Rice ตามธรรมชาติของการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์อาหาร ก็มักจะมีการโปรโมตสูตรอาหารประกอบไปกับการขายข้าวด้วย สำหรับข้าว Minute Rice ก็ใช้สูตร ข้าวเม็กซิกัน หรือ ข้าวสเปน ที่หุงโดยใช้ซอสมะเขือเทศเป็นพรีเซนเตอร์ขายข้าว โดยมีสูตรข้าวเม็กซิกันแนบอยู่ข้างกล่องข้าวยี่ห้อนี้ ตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 1950-1955   สูตรข้าวเม็กซิกัน หรือ ข้าวสเปนนี้ได้ปรากฏตัวอย่างกว้างขวางตามหน้านิตยสารต่างๆ รวมทั้งนิตยสารสำหรับแม่บ้านในสหรัฐอเมริกา ถือว่าข้าวเม็กซิกันหรือข้าวสเปนเป็นอาหารที่ทันสมัยเพราะแรงโปรโมตทางการค้าแท้ๆ ทีเดียว

 

อาหารต่างถิ่นนำสมัย

 

จากข้อมูลด้านไวยากรณ์การปรุงตามหลักฐานทางเอกสารทั้งหมด ทำให้ฉันแน่ใจว่า ข้าวผัดอเมริกันน่าจะมีสาแหรกการครัวจากทวีปอเมริกาแน่ๆ อาจกล่าวได้ว่าองค์ประกอบส่วนใหญ่ของข้าวผัดอเมริกันนั้น “Made in USA” แต่ถูกนำมาจดประกอบ (re-assemble) อีกครั้ง จนกลายเป็นอาหารจานใหม่ในประเทศไทย โดยสูตรของข้าวเม็กซิกันที่ถูกจับคู่กับเครื่องเคียงที่หลากหลายมีปรากฏอยู่ในหลักฐานทางเอกสารเป็นเวลานาน ก่อนหน้าคำสันนิษฐานแรก ที่เชื่อว่าข้าวผัดอเมริกันเป็นอาหารชนิดใหม่ที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยคนครัวชาวไทย ในประเทศไทย ระหว่างปี ค.ศ. 1949 -1975 จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับข้าวเม็กซิกันได้ปรากฏขึ้นในเอกสารฝั่งอเมริกันครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1910 แล้ว

 

อนุศาสนาจารย์เอก สตีเฟน อาร์. บูธ (Stephen R. Booth) และทีมงาน กำลังเตรียมหุงข้าวจัมบาลายา (ข้าวหุงใส่ซอสมะเขือเทศทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา, ใส่ไก่ และ ไส้กรอก, ปรุงรสด้วยเครื่องเทศ) ณ ฐานทัพอากาศคุนชาน (Kunsan Air Base) ประเทศเกาหลีใต้ เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2000 (The U.S. National Archives).
อนุศาสนาจารย์เอก สตีเฟน อาร์. บูธ (Stephen R. Booth) และทีมงาน กำลังเตรียมหุงข้าวจัมบาลายา (ข้าวหุงใส่ซอสมะเขือเทศทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา, ใส่ไก่ และ ไส้กรอก, ปรุงรสด้วยเครื่องเทศ) ณ ฐานทัพอากาศคุนชาน (Kunsan Air Base) ประเทศเกาหลีใต้ เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2000 (The U.S. National Archives).

 

ฉันสันนิษฐานว่า สูตรข้าวเม็กซิกัน หรือ ข้าวสเปนของชาวอเมริกัน น่าจะเดินทางออกจากประเทศพร้อมทหารอเมริกัน อย่างช้าที่สุดก็ประมาณช่วง ค.ศ. 1950-1955  พร้อมกับสินค้าอเมริกันคือ ซอสมะเขือเทศ และข้าวพร้อมปรุงยี่ห้อ Minute Rice ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาหารปันส่วนของจีไออเมริกันที่รบในสมรภูมิยุโรป และทางตอนใต้ของแปซิฟิก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1942 – 1943 แล้วสูตรข้าวเม็กซิกัน หรือ ข้าวสเปน ก็คงติดข้างกล่องข้าวในฐานะเสบียงของจีไอไปด้วย

ปัจจุบัน สูตรข้าวเม็กซิกันก็ยังถูกใช้โปรโมตการขายข้าวยี่ห้อนี้อยู่ จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า ข้าวเม็กซิกันน่าจะเดินทางเข้ามาในไทยพร้อมกับสินค้าและทหารอเมริกันผ่านการโฆษณาในเวลานี้

ข้าวเม็กซิกัน เกิดจากการผสมผสานระหว่างเทคนิคการปรุงอาหารของชาวสเปน กับวัตถุดิบในอเมริกา คือ ข้าว และมะเขือเทศ นับว่าเป็นอาหารผสานวัฒนธรรมอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะมีการผสมผสานที่ยาวนาน มีองค์ประกอบทางวัฒนธรรมการครัวของสเปน, เม็กซิโก, อเมริกัน, จีน และถูกนำมาจับคู่กับอาหารเครื่องเคียงต่างๆ จนกลายเป็นอาหารลูกผสม เป็นอาหารนักเดินทางที่ถูกเปลี่ยนชื่อไปเรื่อยๆ จาก “ข้าวสเปน” ในเม็กซิโก เป็น “ข้าวเม็กซิกัน” ในอเมริกา เมื่อเดินทางมาถึงไทยก็กลายร่างเป็น “ข้าวผัดอเมริกัน” ไปในที่สุด

 

อ้างอิง

ไพลิน รุ้งรัตน์. 2549. บทสัมภาษณ์ นิตยา นาฏยะสุนทร: ชีวิตดังดอกกุหลาบอันหอมหวาน. สกุลไทย. 53(2717).

Adams, C. 1945. Fried Rice, Fried Chicken: Basis for Perfect Meal. The Austin Statesman. Page 9.

Carney, J. A. 2001. Black Rice: The African Origins of Rice Cultivation in the Americas. Harvard University Press.

Covey, H. C. and Eisnach, D. 2009. What the Slaves Ate: Recollections of African American Foods and Foodways from the Slave Narratives. Greenwood.

Douglass Opie, F. 2008. Hog and Hominy Soul Food from Africa to America. Columbia University Press.

Miller, A. 2013. Soul Food: The Surprising Story of An American Cuisine One Plate at A Time. University of North Carolina Press.

Turner, G. 1938. They ask for recipes. Evening star. January 23, 1938. Page 14.

https://minuterice.com/about (accessed April 15th, 2020)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save