fbpx

TikTok ขึ้นแท่นราชาโซเชียลมีเดียคนใหม่ แล้วยังไงต่อดีล่ะทีนี้?

เทรนด์ที่เราเห็นบนโลกออนไลน์ตอนนี้ ไม่มีบริการโซเชียลมีเดียไหนที่ไม่ก็อปปี้ ไม่ได้รับแรงบันดาลใจ หรือไม่ทำคล้ายๆ กับที่ติ๊กต็อกทำอีกแล้ว เหมือนว่าทุกอย่างมาบรรจบกันตรงนี้ ยิ่งทำให้เหมือนติ๊กต็อกได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสรอดตายไปด้วยเท่านั้น Instagram Reels, YouTube Shorts หรือ Facebook Suggested For You ล้วนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนทั้งสิ้น (แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงบางอย่างจะถูกผู้ใช้งานเดิมก่นด่าอยู่บ้างก็ตาม)

แต่ก็ควรโน้ตไว้ตรงนี้ด้วยว่าติ๊กต็อกเองก็ไม่ได้นำคนอื่นๆ ไปเสียทั้งหมด เพราะเดือนกันยายนที่ผ่านมาพวกเขาเปิดฟีเจอร์ใหม่ที่แจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานอัปโหลดวิดีโอ 10 วินาที หรือภาพถ่ายของสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ตอนนั้น ซึ่งเป็นฟีเจอร์หลักของอีกแอปพลิเคชันหนึ่งชื่อ BeReal ซึ่งกำลังได้รับความนิยมไม่น้อยเช่นเดียวกัน และฟีเจอร์นี้ก็ถูกอินสตาแกรมก็อปไปไว้ในแอปพลิเคชันของพวกเขาเรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกัน

ดูเหมือนว่าสนามการแข่งขันนี้ไม่ใช่แค่การสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วกว่าเจ้าอื่นๆ แต่ต้องปรับตัวและยืมฟีเจอร์ของเจ้าอื่นๆ มาไว้กับตัวเองให้ไวที่สุดด้วย

เฟซบุ๊ก (ที่ตอนนี้เป็นเมตาเรียบร้อย) ที่ครอบครองโซเชียลมีเดียตลอดทศวรรษที่ผ่านมา จากเมื่อก่อนที่เราต้องคอยจับตาดูว่าเฟซบุ๊กจะทำอะไรต่อไป ผู้ใช้งานเกือบสามพันล้านคนต้องวนเวียนป้วนเปี้ยนในระบบนิเวศนี้อย่างไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก จากที่เคยเป็นผู้นำกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรม เขมือบนวัตกรรมที่ออกมาแข่ง (ดูตัวอย่างสตอรีจากสแนปเช็ต) เมื่อพูดถึงเฟซบุ๊ก พวกเขา ‘คือ’ โซเชียลมีเดีย ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม

แต่ตอนนี้ติ๊กต็อกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว หายใจรดต้นคอไล่หลังเฟซบุ๊กมาแล้ว กลายเป็นติ๊กต็อกเสียอีกที่กำลังอยู่ในสปอตไลต์ ได้รับความสนใจจากสื่อ ผู้ดูแลกฎหมาย ผู้ใช้งาน และแน่นอน คู่แข่งในตลาดมากมาย มีคำถามเกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น ใช้งานไปมากๆ แล้วจะเป็นอะไรไหม จะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กที่เติบโตมาในยุคติ๊กต็อก จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมเพลงอย่างไร? อีคอมเมิร์ซ? การเมือง? อาหาร? หนังสือ? ใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของแอปพลิเคชัน?​ ปลอดภัยจริงหรือ? ฯลฯ

คำถามเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วบนแพลตฟอร์มใหญ่ๆ อิทธิพลของมันต่อชีวิตผู้ใช้งานทำให้แพลตฟอร์มขยายขอบเขตการใช้งานออกไปเรื่อยๆ ตอนนี้ติ๊กต็อกไม่ใช่แอปพลิเคชันลิปซิงก์ที่เต้นสนุกๆ อีกต่อไป แต่ถูกใช้ให้เป็นเสิร์ชเอนจิน ค้นหาข้อมูลต่างๆ คล้ายกับกูเกิล ถูกใช้ให้เป็นแหล่งช้อปปิ้งคล้ายกับช็อปปี้ ลาซาด้า ถูกใช้เป็นแหล่งรีวิวสินค้า พื้นที่ทำงานของอินฟลูเอนเซอร์ เป็นแหล่งข้อมูลการหาข่าว และแน่นอนการเติบโตแบบนี้ก็มาพร้อมกับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เช่น ข่าวปลอม การหลอกลวง การล่วงละเมิด และการใช้งานเพื่อหาเสียงทางการเมืองต่างๆ ด้วย

ตอนนี้ติ๊กต็อกเริ่มขยับตัวขึ้นเป็นราชาคนใหม่ของโซเชียลมีเดีย พวกเขาทำตามความฝันจนประสบความสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้แหละที่ฝันร้ายกำลังจะเริ่มขึ้นตามมาเหมือนอย่างที่อื่นๆ เคยประสบมาแล้ว

ความสำเร็จของติ๊กต็อกเป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ด้วย อย่างที่เราทราบว่าเมตาเป็นบริษัทมหาชนสัญชาติอเมริกัน แม้มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กจะมีอำนาจควบคุมบริษัทมากขนาดไหน แต่ก็ยังอยู่ในตลาดหุ้นและไม่คุม 100% อยู่ดี ส่วนติ๊กต็อก บริษัทแม่คือ ByteDance บริษัทเอกชนที่อยู่ในประเทศจีน ซึ่งเอาจริงๆ ก็ไม่มีใครควบคุมหรือรู้ได้ว่าข้อมูลทุกอย่างนั้นปลอดภัยขนาดไหนบนติ๊กต็อก รายงานจากเว็บไซต์ BuzzFeed เมื่อกลางปีที่ผ่านมาเปิดเผยว่ามีพนักงานของบริษัทที่อยู่ในประเทศจีนเข้ามาดูข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานในอเมริกาอยู่บ่อยครั้ง

ยุคก่อนหน้าติ๊กต็อก เราเห็นตัวอย่างของปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวบนโซเชียลมีเดียมาหลายครั้ง บริษัทเก็บข้อมูลแล้วส่งต่อให้กับคนที่พร้อมจ่ายเงินซื้อ ถูกใช้เพื่อโฆษณาชวนเชื่อ ชักนำ และใช้ประโยชน์ทางการเมืองเป็นว่าเล่น ตอนนี้ติ๊กต็อกกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากไม่ต่างกัน

ในการเลือกตั้งกลางเทอมของอเมริกา หรือ 2 ปีจาก 4 ปี ของการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ติ๊กต็อกได้รับบทเรียนจากเฟซบุ๊กแล้วว่าต้องมีการดูแลจัดการเกี่ยวกับข่าวปลอมให้ดีที่สุด บริษัทจัดตั้ง ‘Elections Center’ ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการตรวจสอบข้อมูลผิดๆ ที่กระจายอยู่บนแพลตฟอร์ม ไม่ให้มันแพร่กระจายต่อไปได้

ความนิยมที่ค่อยๆ ลดลงของเฟซบุ๊ก เห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วงปี 2018-2019 เป็นต้นมา มีข่าวว่าผู้ใช้งานรุ่นใหม่ๆ หันตัวออกจากโซเชียลมีเดียเหล่านี้ ด้วยเหตุผลหลักๆ ว่ามันเป็นพื้นที่ที่อยู่แล้วไม่สบายใจ รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยกว่าคนอื่น ยิ่งใช้สภาพจิตใจยิ่งย่ำแย่ลงเรื่อยๆ อดัม มอสเซริ (Adam Mosseri) หัวหน้าของอินสตาแกรมก็ออกมายอมรับครับว่าพวกเขากำลังตามหลังติ๊กต็อกและยูทูบในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงผู้ใช้งาน ความพึงพอใจ อัลกอริทึม รวมไปถึงความสนุกในการใช้ด้วย

ถ้ายังไม่ชัด ลองดูมูลค่าหุ้นของบริษัทเมตาก็ได้ที่หายไปแล้วมากกว่าครึ่ง จากที่เคยเขมือบซื้อคู่แข่งเป็นว่าเล่น ตอนนี้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดเริ่มจริงจังมากขึ้น บริษัทก็เริ่มระแวดระวังตัวไม่ทำอะไรบุ่มบ่าม (มีรายงานว่าซักเคอเบิร์กเคยอยากซื้อติ๊กต็อกในปี 2016 ด้วย) พวกเขาจึงต้องพยายามสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยตัวเองที่ชื่อว่า ‘Metaverse’ ซึ่งก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างสักเท่าไหร่

แต่สัญญาณอย่างหนึ่งที่ออกมาจากติ๊กต็อกล่าสุดที่ไปก็อป BeReal ก็น่าสนใจไม่น้อย มันแสดงให้เห็นว่าพวกเขาก็ไม่ได้ชะล่าใจมองว่าจำนวนผู้ใช้งานจะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องกังวลจากคู่แข่งรอบข้าง แม้จะดูเหมือนออกจากเส้นทางการเติบโตของตัวเองไปเล็กน้อยก็ตาม เพราะถ้าเราดูโซเชียลมีเดียแบบดั้งเดิมที่เฟซบุ๊กเริ่มต้น เราเริ่มใช้งานเพราะเพื่อนเก่าๆ อยู่บนนั้น แต่การเติบโตของติ๊กต็อกไม่ได้มาจากสายสัมพันธ์ของเพื่อน แต่เป็นระบบอัลกอริทึมที่โชว์วิดีโอและเรียนรู้ความชอบของผู้ใช้งานแต่ละคนมากกว่า แต่ฟีเจอร์ที่ไปยืมของ BeReal มาอาศัยสายสัมพันธ์กับเพื่อนที่เป็นโซเชียลมีเดียแบบเดิมที่เราคุ้นเคย เพราะฉะนั้นก็ต้องดูว่ามันจะกลายเป็นฟีเจอร์ที่ผู้ใช้งานอยากใช้จริงๆ หรือเปล่า

แพลตฟอร์มที่เติบโตจากเครือข่ายของคนที่รู้จักกันมีข้อดีคือคนที่อยู่บนนั้นมีโอกาสที่จะปฏิสัมพันธ์กันค่อนข้างมาก (อย่าง BeReal) แต่สำหรับติ๊กต็อก ทุกอย่างดูไกลตัว จับต้องได้ยาก และไม่ได้มีความสัมพันธ์กับอะไร เป็นผลิตภัณฑ์ที่มอบความสนุก ความสุข แต่ไม่ได้มีความรู้สึกเชื่อมต่อลึกซึ้งติดอยู่ด้วย

การที่เฟซบุ๊กเติบโตจนกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ครองตลาดได้ก็เพราะการที่เราอยากติดตามเพื่อนหรือคนที่เรารู้จัก การจะเลิกใช้ (แม้ไม่ชอบ) ก็ยังทำไม่ได้เพราะต้องติดต่อกับเพื่อนอยู่ แต่สำหรับติ๊กต็อกแล้ว ถ้าวันหนึ่งคอนเทนต์ไม่สนุก หมวด For You ก็ซ้ำๆ น่าเบื่อ…คนก็อาจจะแค่ดูน้อยลงหรือหยุดดูไปเลยเพราะไม่ได้มีเพื่อนหรืออะไรอยู่บนนั้น ถ้าเราหยุดเล่นเฟซบุ๊ก เพื่อนอาจจะเป็นห่วงแล้วโทรหา แต่ถ้าเราหยุดเล่นติ๊กต็อกก็คงไม่มีใครรู้ นอกจากแค่ติ๊กต็อกเท่านั้น

===========

อ้างอิง

TikTok Is the New King of Social Media. Now What?

Unraveling the Mystery of the TikTok ‘For You’ Page

It’s Time to BeReal With These Memes

Leaked Audio From 80 Internal TikTok Meetings Shows That US User Data Has Been Repeatedly Accessed From China

Instagram Trails TikTok and YouTube On Creator Satisfaction, Mosseri Tells Staff

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save