fbpx

มหันตภัยร้ายต่อเด็กในบ้านที่มากับชาเลนจ์เสี่ยงตายบน TikTok

ลาลานิ วอลตัน (Lalani Walton) เด็กผู้หญิงวัยแปดขวบจากเมืองเทมเปิล รัฐฟลอริดา เป็นคนยิ้มเก่ง เข้ากับคนง่าย ไปไหนก็มีแต่คนรัก พ่อกับแม่ของเธอบอกว่าช่วงเวลาว่างเธอมักจะแต่งตัวเป็นเจ้าหญิงและเล่นแต่งหน้าตามประสาเด็กผู้หญิงที่รักสวยรักงาม

ในวันฉลองครบรอบวันเกิดแปดขวบในเดือนเมษายน 2021 เธอได้รับโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่เป็นของขวัญ TikTok กลายเป็นแอปฯ ที่เธอเข้าไปดูวิดีโอสั้นๆ ประจำจนติดงอมแงม บางครั้งเธอก็อัดวิดีโอของตัวเองร้องเพลง เต้นสนุกๆ ลงไปบ้าง โดยมีความหวังลึกๆ ว่าอยากจะโด่งดังเป็นสตาร์บนแพลตฟอร์มแห่งนี้บ้าง

ช่วงเดือนกรกฎาคม 2021 ครอบครัวของเธอเริ่มสังเกตเห็นบางอย่างที่ผิดปกติ มีรอยช้ำตามคอของเธอเหมือนรอยโดนรัด เธอพยายามปกปิดบอกว่ามันเป็นอุบัติเหต ชนนั่นชนนี่ แต่ไม่มีใครเอะใจเลยว่าเธอกำลังลอง ‘ชาเลนจ์’ หรือทำตามคำท้าทายสุดแผลงบน TikTok ชื่อ ‘Blackout Challenge’ ที่กำลังเป็นกระแส โดยชาเลนจ์นี้จะท้าให้คนบีบคอตัวเองจนขาดอากาศหายใจเป็นลมหน้ากล้อง ลาลานิเห็นวิดีโอนี้เมื่อประมาณสองสัปดาห์ก่อนและเห็นว่าคนดูเยอะมาก

วันที่ 15 กรกฎาคม 2021 จังหวะที่ไม่มีใครทันสังเกต เธอได้ลองชาเลนจ์นี้อีกครั้ง โดยหวังว่าวิดีโอนี้จะสร้างชื่อเสียงให้กับเธอ แม้จะทำชาเลนจ์ได้สำเร็จ แต่นั่นคือชาเลนจ์สุดท้ายที่เธอได้ทำ ลาลานิขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตลงไปในวันนั้น

ครอบครัวของเธอบอกว่า “เธอเชื่อว่าถ้าโพสต์วิดีโอที่ตัวเองทำ Blackout Challenge เธอก็จะโด่งดัง เลยตัดสินใจลองทำดู เธออายุแค่แปดขวบเท่านั้นและไม่เข้าใจถึงความอันตรายที่ TikTok ผลักดันให้เธอทำ”

ลาลานิไม่ใช่คนเดียวที่ต้องประสบชะตากรรมที่โหดร้ายนี้ เด็กผู้หญิงวัยเก้าขวบชื่อ อาร์ราเอนิ อาโรโย (Arriani Arroyo) จากเมือง Milwaukee รัฐวิสคอนซิน ก็ประสบชะตากรรมอันเลวร้ายไม่ต่างกัน เธอเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจตายเพราะ ‘Blackout Challenge’ เช่นเดียวกัน

ครอบครัวของเด็กทั้งสองคนกำลังยื่นฟ้อง TikTok ว่าเป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ เพราะชาเลนจ์แผลงๆ ที่อันตรายแบบนี้ไม่สมควรมาอยู่บนแพลตฟอร์ม เป็นความหละหลวมของระบบที่ปล่อยให้คอนเทนต์แบบนี้หลุดออกมาได้และไม่มีการตรวจทานจากบริษัทให้ดีกว่านี้

ในภาษาอังกฤษค่านิยมของชาเลนจ์แบบนี้จะถูกเรียกว่า ‘fad’ (แฟด) หรือกระแสที่มาเร็วไปเร็ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ส่วนใหญ่กระแสเหล่านี้มักจะไม่เป็นพิษเป็นภัยอะไร อย่างในช่วงปี 70’s ก็มีกระแส ‘pet rock’ ที่เอาหินมาเป็นสัตว์เลี้ยง หรือแหวนที่เปลี่ยนสีตามอารมณ์ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นจากคนที่มีสถานะทางสังคมที่สูงกว่าแล้วก็กระจายไปยังคนอื่นๆ ที่อยากจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกระแสนั้นเช่นกัน

พอมาถึงยุคปัจจุบันกระแสบางอย่างก็มาในรูปแบบวิดีโอสั้นของ TikTok ถูกส่งต่อกันเป็นทอดๆ ชาเลนจ์แบบนี้มีให้เห็นกันบ่อยๆ (ลองกูเกิ้ล Dangerous Challenge on TikTok ดูก็ได้ครับ) บางอันก็แค่ทำตลกๆ เล่นแกล้งกัน มันก็ฮาดี แต่บางอย่างมันล้ำเส้นของความพอดีและกลายเป็นความท้าทายที่อันตรายถึงชีวิตต่อคนที่เลียนแบบได้เลย อย่างชาเลนจ์เลียฝาชักโครกช่วงโควิดระบาดแรกๆ Blackout Challenge หรือชาเลนจ์กระโดดขวางหน้ารถ เป็นต้น พอคนหนึ่งทำแล้วดัง กลายเป็นไวรัลและคนอื่นๆ ก็ทำตามเพราะกลัวตกกระแส อยากสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง (เหมือนอย่างลาลานิและอาร์ราเอนิทำ) พอหลายๆ คนทำมากขึ้นเรื่อยๆ กระแสก็จะจางไปและแฟดอันใหม่ก็เริ่มอีกครั้ง

กระแส ‘Blackout Challenge’ ถือเป็นแฟดอย่างหนึ่งที่อันตรายถึงชีวิต ที่จริงแล้วมีสถิติจาก CDC (Centers for Disease Control and Prevention – ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา) ที่บอกว่าระหว่างปี 1995 – 2008 มีเด็กวัยรุ่นเสียชีวิตไปแล้วกว่า 82 คนจากการทำแบบนี้ กระแสของมันยิ่งกระจายกว้างไปอีกเมื่อถูกพูดต่อในออนไลน์ ถูกปรับเปลี่ยนให้แปลกออกไปเรื่อยๆ อย่างอันหนึ่งท้าให้คนกลั้นหายใจจนหมดสติไปเลย

ยังมีแฟดอื่นๆ ที่น่าเป็นห่วงเกิดขึ้นเป็นประจำ อย่างช่วงที่โควิดระบาดอย่างหนัก มีการท้าให้คนไปหยิบไอศกรีมในตู้เย็นมาแกะฝาเลียแล้วนำไปวางบนชั้นเหมือนเดิม (ซึ่งแน่นอนว่าโควิดก็ระบาดกันมากกว่าเดิม) หรืออย่าง ’48-hour Missing Challenge’ ที่วัยรุ่นแกล้งทำเป็นว่าตัวเองถูกลักพาตัวเพื่อสร้างกระแสบนโลกออนไลน์ให้มากที่สุดก่อนจะโผล่กับมาออนไลน์อีกครั้ง ที่เลวร้ายไม่แพ้กันคือ ‘Tide Pod Challenge’ ที่จะท้ากันให้กินหรือสูบน้ำยาซักผ้า ส่งผลให้เด็กๆ วัยรุ่นเข้าโรงพยาบาลเพราะได้รับสารพิษเป็นจำนวนมาก

เวทีของโซเชียลมีเดียมีขนาดใหญ่ จำนวนผู้ชมทั่วโลกบน TikTok ทำให้เลือดสูบฉีดและตื่นเต้น แถมยังได้รับฟีดแบ็กแบบทันที คอมเมนต์ ไลก์ หัวใจ ยอดผู้ชมที่ทำให้หัวใจพองโต เป็นส่วนหนึ่งของกระแส กลายเป็นคนที่มีชื่อเสียง แม้เพียงวูบเล็กๆ ก็ยังดี

คลารี แมคคาร์ธี (Clarie McCarthy) กุมารแพทย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เชื่อว่าวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมกับชาเลนจ์ออนไลน์ที่เป็นอันตรายจากการทำงานของกลีบสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นส่วนของสมองที่ควบคุมการตัดสินใจ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และประเมินความเสี่ยงยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้ตัดสินใจหุนหันพลันแล่นโดยไม่คิดถึงผลที่ตามมาเลย ตัวอย่างที่ดีที่สุดของแนวคิดนี้คือการตอบโต้กับ ‘Ice Bucket Challenge’ (ที่คนเอาน้ำเย็นยะเยือกราดตัว) ด้วยการสร้างชาเลนจ์ใหม่ขึ้นมาชื่อว่า ‘Boiling Water Challenge’ แล้วราดน้ำร้อนบนหัวตัวเอง วัยรุ่นหลายต่อหลายคนต้องไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาแผลไฟไหม้จากการทำตามคนอื่นๆ

สำหรับเด็ก วัยรุ่น หรือใครก็ตามที่ใช้ TikTok ต้องทำความเข้าใจว่าการท้าทายเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลดีกลับมาเสมอไป จริงอยู่สิ่งที่ทำอาจจะเรียกเสียงฮือฮาได้เพียงชั่วครู่ยาม แต่มันก็จะหายไป กระแสก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เราต้องคอยเฝ้าระวังให้มั่นใจว่าสิ่งที่เสพนั้นไม่เป็นอันตราย ชาเลนจ์ไหนที่สนุก ตลกๆ ทำแล้วไม่ได้เป็นอันตรายต่อตัวเองและคนรอบข้างก็ทำอย่างระมัดระวัง อันไหนที่ดูไม่ปลอดภัยก็อย่าไปลองเลย หรือถ้าสงสัยก็ลองถามพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะหน่อยจะดีกว่า

สำหรับพ่อแม่เองอย่าเมินเฉยต่อสื่อเหล่านี้ อย่าปล่อยให้ลูกเล่นหรือดูโดยไม่คอยสอดส่อง เพราะถ้าโชคร้าย ความเสียหายบางอย่างเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนมาได้อีกครั้ง


อ้างอิง

Don’t let your kids try these 9 dangerous TikTok trends

When TikTok trends turn dangerous: Most controversial trends that went viral on TikTok

ALL THE DANGEROUS TIKTOK CHALLENGES YOU NEED TO REPORT IN 2022

Families sue TikTok after girls died while trying ‘blackout challenge’

The 23 craziest TikTok challenges so far – and the ordeals they’ve caused

MOST DANGEROUS, FOOLISH, MEAN TIKTOK TRENDS & CHALLENGES

TikTok takes extra steps to curb dangerous challenges

New TikTok Challenge Highlights the Dangers of Bad Fads

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save