fbpx

ยังไม่ทันเกิด Metaverse ก็ทำท่าจะไม่รอดเสียแล้ว

ถ้าตอนนี้เข้าไปยังกูเกิลเทรนด์ เว็บไซต์สำหรับค้นหาสิ่งที่คนกำลังสนใจในตอนนี้ ให้ลองใส่คำค้นหา ‘Metaverse’ จะเห็นกราฟสีฟ้าที่พุ่งขึ้นสูงสุดช่วงปลายเดือนตุลาคม (ที่เฟซบุ๊กเปลี่ยนชื่อเป็น Meta) เหมือนฟองสบู่ที่พองตัวอย่างรวดเร็วแต่ไม่นานก็แตกโพละ จากคำที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ทุกคนและทุกองค์กรต่างพยายามโชว์ไอเดีย สร้างโปรเจ็กต์มากมายเพื่อหาทางเข้ามามีส่วนร่วมกับเทรนด์เมตาเวิร์ส

ผ่านมาเพียง 7 เดือน กระแสเริ่มเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด ถ้าดูกราฟจะเห็นว่าหัวค่อยๆ ปักดิ่งลงมาเรื่อยๆ และถ้าเทรนด์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป Metaverse อาจจะตายก่อนโดยที่ยังไม่มีโอกาสได้เกิดเลยด้วยซ้ำ

มาร์ก เปอตี (Marc Petit) รองประธานของบริษัท Epic Games และผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Unreal Engine ได้สรุปไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า

“คนเริ่มไม่สนใจเมตาเวิร์สกันแล้ว เพราะคาแร็กเตอร์มันดูเหมือนการ์ตูนที่ไม่มีขา เอาจริงใครอยากจะเป็นแบบนั้นกันล่ะ มันไม่น่าดึงดูดเลย”

แม้ว่าจะเป็นคำอธิบายที่ดี แต่ความจริงแล้วความสนใจในเมตาเวิร์สที่ลดลงยังมีหลายเหตุผลมากกว่านั้น

คนเริ่มสับสนว่ามันคืออะไร

เมื่อเอาคำว่า ‘เมตาเวิร์ส’ ไปคุยกับคนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในสายเทคโนโลยี ส่วนใหญ่แล้วยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไรและมีเหตุผลอะไรที่พวกเขาต้องแคร์ด้วย เอาตามจริงก็ไม่น่าแปลกใจอะไรสักเท่าไหร่ เราได้อ่านและได้ยินเกี่ยวกับ ‘ความเป็นไปได้’ และ ‘โอกาสที่ไม่รู้จบ’ ในการใช้งานเจ้าโลกเสมือนที่เรียกว่าเมตาเวิร์สแห่งนี้มากมาย มีแต่คนบอกว่านี่แหละ “คืออนาคต!” แต่นั่นแหละคือประเด็น เมื่อมันคืออนาคตและเดโมหรือการนำเสนอทุกอย่างก็มาพร้อมกับช่องว่าง ให้รออีก 10-15 ปีถึงจะได้ใช้อย่างเต็มรูปแบบ ถ้าไม่ใช่แฟนที่ชื่นชอบอย่างสุดใจ เป็นใครก็คงเริ่มเบื่อ

เราอาจจะคิดไปว่าคนที่ไม่สนใจอาจจะเป็นผู้ใหญ่รุ่นเบบี้บูมเมอร์หรือเจนเอ็กซ์พวกนี้หรือเปล่า แต่จากการศึกษาของ Piper Sandler ธนาคารเพื่อการลงทุนอิสระพบว่ากว่า 50% ของวัยรุ่นไม่รู้ว่าเมตาเวิร์สคืออะไร หรือไม่มีความคิดอยากได้อุปกรณ์ VR Headset เลยด้วยซ้ำ ซึ่งก็สอดคล้องกับงานวิจัยช่วงปลายปี 2021 ของบริษัทวิจัย Forrester ที่บอกว่ามีเพียง 34% ของผู้ใหญ่ที่ใช้เวลาออนไลน์เท่านั้นที่ตื่นเต้นกับเรื่องนี้ และน้อยกว่า 30% ที่คิดว่าดีต่อสังคม

สำหรับเมตาเวิร์สตอนนี้ดูเหมือนว่าคนจะแบ่งออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน ถ้าไม่สนใจเลยก็เชื่ออย่างสุดใจ (ทำให้คิดถึง Cryptocurrency) ขนาดบริษัทที่อุตส่าห์เปลี่ยนชื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายอันยิ่งใหญ่อย่าง Meta ยังไม่รู้เลยว่ามันจะออกมาในรูปแบบไหน มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) บอกในรายงานผลประกอบการของบริษัทเองว่าถึงแม้ทิศทางจะชัดเจน แต่เส้นทางข้างหน้าก็ยังไม่ได้ถูกกำหนด

เมื่อองค์กรต่างๆ ในอุตสาหกรรมยังไม่รู้เลยว่ามันจะออกมาอย่างไรอย่างชัดเจน ก็ยากที่จะทำให้คนสนใจและเชื่อว่านี่คืออนาคตอย่างที่พูดกันจริงๆ

การใช้งานที่ไม่ได้มีอะไรที่น่าตื่นเต้นสักเท่าไหร่

หลายคนน่าจะเคยดูเดโมของซักเคอร์เบิร์กที่เขาลอยไปมาในโลกเสมือน เดินอยู่ในบ้านติดชายหาดดิจิทัล และคุยกับตัวละครอื่นๆ ฯลฯ ความเห็นต่อประเด็นนี้ก็แตกออกเป็นสองฝั่งเช่นกัน บ้างก็บอกว่ามันเจ๋งสุดๆ ไปเลย แต่บางคนก็บอกว่ามันเหมือนย้อนเวลากลับไปช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ตัวละครเหลี่ยมๆ แตกๆ ไม่มีขาลอยไปลอยมา ไปคุยกับคนแปลกหน้า ประหนึ่งเหมือนห้องแชทรูมสมัยก่อน

เราเห็นตัวอย่างที่ออกมาอย่าง Horizon ของ Meta, Snoopverse (ของแรปเปอร์ Snoop Dogg) หรือ Wendyverse (ของเชนเบอร์เกอร์ Wendy’s) และอีกมากมาย แต่ละแห่งดูไม่น่าดึงดูดสักเท่าไหร่เลย การไปนั่งอยู่ในร้านเบอร์เกอร์เสมือนด้วยตัวละครที่ไม่มีขา สั่งเบอร์เกอร์เป็นภาพแตกๆ มานั่งแกล้งกินกับเพื่อนแล้วแชทคุยกัน ไม่ใช่สถานการณ์ที่น่าตื่นเต้นอะไรนัก ถ้าไม่ใช่ด้วยสถานการณ์หรือข้อจำกัดทางกายภาพบางอย่าง การเจอกับเพื่อนแล้วนั่งกินเบอร์เกอร์ด้วยกันจริงๆ ก็ยังเป็นประสบการณ์ที่ดีกว่า

ไม่นับรวมถึงการใช้อุปกรณ์อย่าง VR Headset ที่ยุ่งยาก อ่านรีวิวจะเห็นว่าคนที่ใช้ก็มีอาการวิงเวียนศีรษะและคลื่นไส้ จึงทำให้หลายๆ คนที่แม้จะสนใจเมตาเวิร์ส (รวมถึงผู้เขียนเอง) ก็ไม่อยากใช้สักเท่าไหร่ จึงทำให้การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป็นเรื่องที่ลำบากไม่เหมือนสมาร์ตโฟน แม้ Meta จะเปิดร้านขายอุปกรณ์ต่างๆ ของตัวเอง (ในโลกแห่งความจริง) ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยทำให้คนอยากซื้ออุปกรณ์เหล่านี้เพิ่มขึ้นหรือเปล่า นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์อื่นๆ อย่างถุงมือและชุดสวมที่กำลังถูกพัฒนาเพื่อให้ประสบการณ์ในเมตาเวิร์สสมจริงมากขึ้น ย่ิงทำให้คนที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีพวกนี้น้อยลงไปยิ่งกว่าเดิม

โลกเสมือนดีกว่าจริงหรือ?

อุปสรรคหนึ่งที่เมตาเวิร์สต้องเอาชนะให้ได้คือการโน้มน้าวประชาชนทั่วไปว่ารูปแบบของการเชื่อมต่อกันบนโลกเสมือนเป็นสิ่งที่ดีกว่าโลกแห่งความจริง จริงอยู่ว่ายังไม่มีใครทราบว่าเมื่อทุกอย่างกลายเป็นโลกเสมือนแบบ 100% แล้วคนไปใช้เวลาอยู่ในนั้นทั้งวันทั้งคืนจะเป็นอย่างไร (เรื่องสุขภาพจิตคือสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม) ทำงาน เล่น และแฮงเอาต์กับเพื่อน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ครอบครัว เพื่อนที่ทำงานต่างๆ จะเป็นอย่างไร

ในเดโมของซักเคอร์เบิร์กพยายามแสดงให้เห็นว่าเราสามารถอยู่ในโลกดิจิทัลได้แบบไร้รอยต่อกับโลกของความจริง เมื่ออยู่ที่นั่นสามารถทำงาน เล่นกับเพื่อน หรือทำทุกอย่างที่อยากทำได้ไม่ต่างกัน เป็นโลกที่เราสามารถเป็นใครหรือทำอะไรก็ได้แล้วแต่จินตนาการ ฟังแล้วเหมือนเป็นเรื่องที่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็เหมือนฝันร้ายที่คนเล่นไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นด้วยเช่นกัน เราเห็นข่าวการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นบนโลกเสมือนมาบ้าง แต่อย่างล่าสุดตัวละครของนักวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้คนหนึ่งถูกรุมข่มขืนหลังจากเข้าไปใน Horizon ได้เพียงแค่ชั่วโมงเดียว

ไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเท่านั้น แต่ยังมีการใช้ภาษาที่หยาบคาย การดูถูกเพศสภาพ การเหยียดผิว การแบ่งชนชั้น การพูดจาดูถูก ความแตกแยก อำนาจ การเงิน ฯลฯ ปัญหาที่อยู่ในโลกใบนี้ ก็ไปโผล่ในโลกเสมือนเช่นกัน มันไม่ได้ดีกว่า แถมดูจะแย่กว่าด้วยซ้ำเพราะกฎหมายเองก็ยังไล่ตามไม่ทัน การจับตัวละครหรือเจ้าของตัวละครมาเอาผิดลงโทษก็ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

เพราะฉะนั้นก่อนที่เมตาเวิร์สจะถูกใช้เป็นวงกว้างอย่างแท้จริง เรื่องกฎหมายเหล่านี้ก็ควรถูกจัดการให้เรียบร้อยก่อนด้วย เพราะปัญหาจะไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับในผู้ใหญ่เท่านั้น โลกของเมตาเวิร์สยังมีเด็กผู้อ่อนต่อโลกเข้ามาอยู่ด้วย ข้อบังคับและความปลอดภัยจึงควรเป็นประเด็นแรกๆ ที่บริษัทและองค์กรทั้งหลายที่อยากมุ่งไปเมตาเวิร์สสนใจก่อน

เมตาเวิร์สก็เหมือนกับเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้ แต่ก็มาพร้อมกับความไม่แน่นอนเช่นเดียวกัน กว่าจะไปถึง 10-15 ปีข้างหน้าที่เมตาเวิร์สพร้อมจริงๆ มันต้องมีอะไรที่ดึงดูดมากพอออกมาระหว่างทางให้ผู้ใช้งานตื่นเต้นกันตลอดด้วย แต่หลังจากผ่านมา 7 เดือนทุกอย่างก็เริ่มเงียบ โดยไม่รู้ว่าก้าวต่อไปจะเป็นอย่างไร ยังจะมีอยู่หรือเปล่า เพราะไม่อย่างนั้นอีกไม่นานคนก็ลืม ดูตัวอย่างคริปโตฯ Libra ที่ออกมาสร้างความฮือฮาแล้วก็หายไป ถ้า Meta ยังไม่ทำอะไรให้ออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน ยังไม่ทันเกิด เมตาเวิร์สก็อาจจะไม่รอดเสียแล้ว


อ้างอิง

Facebook: New Name, Same Leadership It’ll take more than a rebrand to fix the company

Google Trends – Metaverse

Epic Games VP: ‘People have lost interest in the metaverse’

Introducing Meta Store: A Hands-On Experience With Our Hardware

Woman Says She Was ‘Virtually Gang-Raped’ in Facebook’s Metaverse

I Want No Part of Our Impending Metaverse Future. The demo of Zuckerberg’s dream was a nightmare

McDonald’s wants to join metaverse via virtual restaurant selling Big Macs and NFTs

Taking Stock With Teens:  21+ Years Of Researching U.S. Teens GenZ Insights

The Metaverse and NFT Boom Is About to Go Bust. The world is already getting bored of the apes

There Is No Metaverse Today, But Be Prepared

Mark Zuckerberg’s bet on the metaverse is off to an expensive start

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save