fbpx

โรคระบาดและการปกปิด: ‘หมูแพง’ ราคาที่คนตัวเล็กต้องจ่าย

“ไม่มีวันไหนขายดี ตั้งแต่หมูแพงมานี่” ฮวย คนขายหมูที่ตลาดพรานนกเล่าสถานการณ์การค้าขายให้ฟัง

หลังปีใหม่ 2565 ไม่กี่วัน ดูเหมือนว่า ‘ปีเสือ’ จะต้อนรับคนไทยด้วยราคาหมูแสนแพง ซึ่งเริ่มแพงมาตั้งแต่ปลายปี 2564 ภาพตลาดสดตอนกลางวันเงียบเหงา ยิ่งกับเขียงหมูยิ่งแทบไม่ต้องใช้เครื่องหมุนไล่แมลงวัน เพราะเจ้าของเขียงมีเวลานั่งมองหมูอย่างใส่ใจแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน – ในหนึ่งชั่วโมง มีลูกค้ามาซื้อแค่คนเดียว

“แต่ก่อนคนกำแบงก์ร้อยมาสองใบ ซื้อหมูได้หนึ่งกิโลฯ แถมมีเงินทอน แต่ตอนนี้เงินสองร้อยไม่พอแล้ว” ฮวยว่า ราคาหมูเนื้อแดงขึ้นไปที่กิโลฯ ละ 220 บาท และสำหรับคนชอบกับแกล้มอาจต้องร้องไห้ เมื่อราคาคอหมูขึ้นไปเป็นกิโลฯ ละ 280 บาท

“ลูกค้าซื้อลดน้อยลง จากปกติซื้อ 1 กิโลฯ ก็ขอซื้อแค่ครึ่งกิโลฯ เขาบอกว่าราคาสูง ตอนนี้เจ้าของเขียงหมูเผชิญเหมือนกันหมด ต่างคนต่างลูกค้าน้อยลง แล้วพอต้นทุนมาสูง เราก็ต้องสั่งหมูมาน้อย เพราะตลาดเงียบเหมือนกันหมด ก็ต้องสู้กันต่อไป เพราะไม่รู้จะขายอะไรแล้ว เราขายหมูของเรามาตลอด” ฮวยพูดถึงสภาพที่ต้องเผชิญ และได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะสามารถช่วยแก้ปัญหาที่ต้นทางได้ เพื่อไม่ให้คนปลายน้ำอย่างเขียงหมูต้องแบกรับภาวะยากลำบากนี้ตามลำพัง

ภาวะ ‘หมูแพงทั้งแผ่นดิน’ กลายเป็นวาระแห่งชาติ และดูเหมือนว่าจะมีเรื่องราวซับซ้อนอยู่เบื้องหลัง

โอเอซิสของการปลอดโรค เมื่อรัฐไทยปกปิดโรคระบาด

ย้อนกลับไปช่วงกลางปี 2562 มีข่าวเล็กๆ เกี่ยวกับการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF) ที่ลาวและเวียดนาม โดยมีข่าวกรมปศุสัตว์ไทยชะลอการนำเข้าหมูจากลาว และข่าวเวียดนามกำจัดหมูไปกว่า 2.5 ล้านตัว มาถึงช่วงกันยายน 2564 ก็มีข่าวว่ามี ‘ไวรัสลึกลับ’ ระบาดในหมู จนทำเอาฟาร์มหมูที่ ‘ชัยนาท-สิงห์บุรี-อ่างทอง-สระบุรี-นครนายก’ แห่เทขายหมูทิ้ง ในตอนนั้นหลายคนอาจไม่คาดคิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้ และจินตนาการไม่ออกว่าปัญหาจะมาเคาะประตูถึงหน้าบ้าน

โรคอหิวาต์หมูมีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา และระบาดไปในพื้นที่เล็กๆ มานานแล้ว เมื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ขยายตัวตามกำลังบริโภค โรคระบาดนี้ก็ขยายไปที่อเมริกาและยุโรป แต่ก็ไม่กลายเป็นปัญหาใหญ่ เมื่อประเทศในภูมิภาคเหล่านั้นสามารถจัดการได้ แต่ความเสียหายหนักก็เกิดขึ้นเมื่อมีการระบาดในจีนช่วงปี 2561 และหลังจากนั้นก็ขยายไปทั่วเอเชีย โรคระบาดแพร่เข้ามาในเอเชียอาคเนย์ เกิดที่เวียดนาม พม่า ลาว และกัมพูชา – สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคที่ไม่มีรายงานว่ามีโรคอหิวาต์หมูเกิดขึ้น

“ผมคำนวณหลังจากที่สื่อมวลชนรายงานเรื่องโรคระบาดอหิวาต์หมูเมื่อปี 2562 กินระยะเวลาประมาณ 2 ปี ที่กรมปศุสัตว์ไม่ยอมรับการระบาดอย่างเป็นทางการ เพราะฉะนั้นเมื่อเราไปดูแผนที่ขอบเขตของการระบาด เราจะเห็นประเทศไทยเป็นโอเอซิสของการปลอดโรค ก็เป็นคำค่อนขอดที่ว่าหลายประเทศทั่วโลกมีการรายงานการระบาด แต่ที่ไทยไม่มี” วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) พูดถึงประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหมูขาดแคลนจนราคาแพง ซึ่งมาจากการปกปิดเรื่องโรคระบาดของรัฐบาลไทย

อาจเพราะโรคนี้ไม่ติดต่อสู่คน ทำให้การปกปิดเรื่องโรคระบาดกับประชาชนไม่ยากนัก แต่กับเจ้าของฟาร์มหมูที่ต้องทนกัดฟัน แบกรับต้นทุน และยอมทำลายหมูจำนวนมาก จนหลายฟาร์มสิ้นเนื้อประดาตัว ย่อมเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส ปัญหาที่หมกเม็ดอยู่ ‘แดง’ ขึ้นมา เมื่อหมูขาดตลาด และปรากฏภาพหมูถูกทิ้งลงแม่น้ำโขง-ถูกกลบฝังขึ้นมาในหน้าสื่อ กระนั้นกรมปศุสัตว์ก็ยังไม่ยอมรับว่ามีโรค ASF ระบาดในหมูไทย เพียงแต่ออกมาแจ้งให้มีการระดมเช็กทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2565 ก่อนที่หลังจากนั้นไม่กี่วัน อธิบดีกรมปศุสัตว์จะออกมายอมรับว่าตรวจพบเชื้อ ASF จาก 1 ตัวอย่างที่เก็บมาจากโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม จากทั้งหมดที่เก็บมา 309 ตัวอย่าง เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565

ข่าวนี้ทำให้หลายคนหัวร่อ เมื่อมีเสียงบอกว่าฟาร์มหมูกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศหายไปแล้ว จากการทำลายล้างของโรคระบาดหมูครั้งนี้

แน่นอนว่าคำถามสำคัญที่ตามมาคือ เพราะเหตุใดกรมปศุสัตว์จึงปฏิเสธเรื่องนี้เป็นเวลากว่า 2 ปี ทั้งที่ประเทศเพื่อนบ้านและจีน รัฐล้วนออกมายอมรับการระบาดและระงับการส่งออกอย่างเป็นทางการ

“รัฐต้องการปกป้องการส่งออกของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย ซึ่งเหมือนการระบาดของไข้หวัดนกเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่รัฐก็ปกปิด เพราะเราเป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ของโลก แต่ทำได้ไม่นานก็ต้องออกมายอมรับเพื่อแก้ปัญหา แต่คราวนี้ ผลกระทบไม่เกิดขึ้นกับการส่งออก แต่จะเกิดกับตลาดภายในประเทศ ซึ่งคนที่ต้องยอมรับความเจ็บปวดคือคนไทยเอง” วิฑูรย์กล่าว

เมื่อดูที่ตัวเลขการส่งหมูพันธุ์และหมูมีชีวิต ปี 2563 ไทยส่งออกปริมาณ 2,676,880 ตัว มูลค่า 17,164.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งส่งออกปริมาณ 750,061 ตัว มูลค่า 3,570.75 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 4.81 เท่า ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้ล้วนมาจากการที่ไทย ‘ปราศจากโรคระบาด’ ในหน้ากระดาษ และเพื่อนบ้านต้องการ ‘หมูมีชีวิต’ เข้าไปทดแทนผลผลิตที่เสียหายจากโรค ASF

โครงสร้างอุตสาหกรรมเลี้ยงหมูในประเทศไทย มีผู้เลี้ยงหมูประมาณ 190,000 ราย แบ่งเป็น ผู้เลี้ยงรายย่อย 185,000 ราย ผู้เลี้ยงขนาดกลางประมาณ 4,000-5,000 ราย และผู้เลี้ยงรายใหญ่ไม่กี่ราย โดยส่วนแบ่งการตลาดสุกรในประเทศ ประกอบด้วยเกษตรกรรายย่อยประมาณ 30% และฟาร์มขนาดใหญ่ประมาณ 70% โดยมีส่วนแบ่งรายใหญ่ 3 บริษัทสูงสุด ประกอบด้วย ซีพีเอฟ 20-25% ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป 5-6% เครือเบทาโกร และอื่นๆ ประมาณ 40%

ทั้งนี้ซีพีเอฟผลิตหมูในประเทศไทยประมาณ 5 ล้านตัวต่อปี ครองสัดส่วนตลาดอันดับ 1 จากการผลิตหมูทั้งประเทศที่ 18 ล้านตัว นอกจากนี้ การผลิตแม่พันธุ์หมูในเครือซีพีเอฟทั้งในและต่างประเทศเมื่อปลายปี 2563 มีประมาณ 9 แสนตัว ถือเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากผู้ผลิตในจีนที่มีกำลังการผลิตประมาณ 1 ล้านตัวขึ้นไป

“สิ่งที่เราต้องแลกคือ การสูญเสียผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจำนวนมาก การระบาดคราวนี้ทำให้เกษตรกรรายย่อยและรายกลางสิ้นเนื้อประดาตัว ตัวเลข 50% ของการเลี้ยงหมูที่หายไปคือผู้เลี้ยงหมูรายย่อยและรายกลาง แน่นอนว่ารายใหญ่กระทบบ้าง แต่สายป่านเขายาวเพียงพอที่จะฟื้นกิจการขึ้นมาได้

“เมื่อเกิดการระบาดในฟาร์มขนาดเล็ก ทุกคนต้องทำลายหมูทิ้ง ขายไปในราคาถูก แต่สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ มีระบบนอกเหนือจากการผลิตหมู มีโรงงานแปรรูป มีร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ และมีแหล่งกระจายผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ แม้ความระบาดจะสร้างความเสียหาย แต่เขาก็มีทางเลือกมากมาย” วิฑูรย์ชี้ให้เห็นภาพ

ไม่ใช่ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยที่ล้มหายตายจากเท่านั้น แต่จากสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ จะยิ่งทำให้ตลาดเลี้ยงหมูนั้น ‘รวมศูนย์’ มากขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือส่วนแบ่งตลาดของบริษัทขนาดใหญ่จะยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะผู้ประกอบการรายย่อยสูญเสียความสามารถในการดำเนินกิจการไปแล้ว โดยมีการประเมินว่าจะมีผู้ประกอบการกว่าแสนรายที่ต้องสูญเสียอาชีพจากการระบาดครั้งนี้

เมื่อดูตัวอย่างจากประเทศจีนที่ผ่านการระบาดครั้งใหญ่มาก่อน จีนต้องทำลายหมูไปกว่า 50% และราคาเนื้อหมูแพงขึ้น 2.5-2.8 เท่าตัว ซึ่งกว่าจีนจะฟื้นฟูการเลี้ยงหมูให้กลับมาได้ใช้เวลาประมาณ 1-1 ปีครึ่ง และเมื่อกลับมาดูที่ประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญที่วิเคราะห์เรื่องการฟื้นฟูการเลี้ยงหมูในไทยวิเคราะห์ว่า สถานการณ์ที่ไทยเลวร้ายกว่าที่เกิดขึ้นในจีนและเวียดนาม ทำให้ต้องใช้เวลาฟื้นฟูอย่างน้อย 2 ปี นั่นหมายความว่าคนไทยจะต้องซื้อหมูในราคาแพงต่อไปอีก 2 ปี แน่นอนว่าส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเนื้อหมูหายไปจากตลาดและมีราคาแพง ผู้บริโภคจำเป็นต้องหาโปรตีนทดแทน ทำให้โปรตีนทางเลือกสำคัญของคนไทยอย่างไก่และไข่จะมีราคาแพงขึ้นด้วย

“นี่คือผลกระทบต่อชีวิตของเราที่เป็นรูปธรรมที่สุด จากการจัดการโรคระบาดของหน่วยงานรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่โปร่งใส” วิฑูรย์กล่าวสรุปประเด็นปัญหา

ทุกฟาร์มล้วนสาหัส

“เรียนตามตรง ผมคิดว่าเรื่องต้องมาถึงจุดนี้ ไม่ช้าก็เร็ว” นัชชา คำโปธิ เจ้าของฟาร์มหมู จ.ราชบุรี พูดถึงการเตรียมรับมือกับภาวะโรคระบาดในหมู ที่รู้กันเองในหมู่เจ้าของฟาร์มด้วยกันมากว่า 2 ปีแล้ว นัชชาเตรียมย้ายฟาร์มตั้งแต่ได้ข่าวโรคระบาดเมื่อปลายปี 2561 ตัวเขาเองประเมินว่าในอนาคตการระบาดของโรคคงลุกลามไปทั่วประเทศ เพราะยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ASF และเห็นโมเดลการระบาดจากจีนมาแล้ว จึงคิดว่าจุดจบของประเทศไทยไม่น่าจะต่างกัน

“ผมเริ่มมองหาที่ดินผืนใหม่และแหล่งเงินทุนจากธนาคาร ย้ายฟาร์มใหม่ จัดวางระบบของฟาร์มตามหลักวิชาการเพื่อป้องกันโรค ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฟาร์มหลายแห่งรอด คือเรื่อง biosecurity ป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าไปในพื้นที่เลี้ยงหมูได้ บางที่ระบบสลับซับซ้อน ฆ่าเชื้อทุกวิถีทาง ทั้งตัววัตถุดิบและอาหารสัตว์ รวมถึงอุปกรณ์ทุกอย่างที่จะเอาเข้าฟาร์ม

“บางฟาร์มพนักงานไม่สามารถเข้าออกฟาร์มได้เป็นเดือนๆ ถ้าออกไปแล้ว หากกลับเข้ามาต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ อาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้า นอนในห้องพักเพื่อพักโรคก่อนจึงจะเข้าไปทำงานได้ ระบบต้องทำถึงขนาดนี้ถึงจะทำให้ฟาร์มอยู่รอดได้ ซึ่งก็พ่วงมากับต้นทุนที่สูงขึ้น” นัชชาเล่า

ด้วยปัจจัยการอยู่รอดเช่นนี้ ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยหลายรายต้องล้มหายตายจาก มีทั้งพักกิจการชั่วคราว และตัดสินใจปิดกิจการถาวร

ภาพฟาร์มหมูจาก นัชชา คำโปธิ

“ต้องพูดตามตรงว่า ผู้เลี้ยงที่ศักยภาพไม่ถึงในการควบคุมโรคยังไม่ควรกลับมา ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ได้ ถ้าระบบ biosecurity ยังไม่เต็มร้อย ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะกลับมาลงทุนแล้วไม่ได้ทุนคืน หรือได้ไม่คุ้มอย่างที่ควรจะได้”

หากกลับไปดูโมเดลการระบาดและหมูขึ้นราคาที่จีน จะเห็นว่าแม้จะมีผู้เลี้ยงหมูกลับมาประกอบกิจการก็ตาม แต่ส่วนใหญ่มักจะกลับมาในรูปแบบของบริษัทใหญ่ แต่ผู้เลี้ยงรายย่อยและรายกลางที่ไม่มีศักยภาพมากพอในการป้องกันโรคก็ไม่ได้กลับมา นัชชาอธิบายให้เป็นภาพว่า ผู้เลี้ยงรายใหญ่ในจีน จากเคยมีแม่หมู 1 ล้านตัว ก็เพิ่มเป็น 2 ล้านตัว จนเปลี่ยนหน้าตาของตลาดผู้เลี้ยงหมูให้กลายเป็นผู้แข่งขันน้อยราย

“ถ้าพูดอย่างไม่โลกสวย ที่ไทยก็มีโอกาสเป็นแบบจีน คือรายใหญ่มีศักยภาพมากพอที่จะรอด ด้วยระบบการบริหารจัดการที่เป็นระบบและองค์ความรู้ที่สั่งสมมานาน และด้วยความพร้อมด้านทุน ส่วนรายเล็กกับรายกลาง ไหนจะต้องหาทุนเพื่อขยายกิจการ ยังไม่รวมความเสี่ยงของโรค บางคนไม่อยากขยายแล้ว เพราะถ้าบริหารจัดการไม่ถึงก็มีโอกาสโดนโรค กลายเป็นพาธุรกิจพังไปทั้งหมด” นัชชากล่าว

เมื่ออยู่ในฐานะคนทำธุรกิจที่อาจรอดด้วยตัวเองยาก การคาดหวังความช่วยเหลือจากรัฐจึงเป็นเรื่องปกติในภาวะโรคระบาดเช่นนี้ นัชชาเอง แม้จะยังเป็นฟาร์มที่รอดจากการต้องปิดกิจการ แต่ก็ยังได้ฟังเสียงของคนเลี้ยงหมูเหมือนกัน เขามองว่านโยบายรัฐควรเป็นไปในทิศทางของการช่วยเหลือส่งเสริมมากกว่าตรวจสอบควบคุม เหมือนที่ในยุโรปเคยทำสำเร็จมาแล้ว รวมถึงการให้เงินชดเชยที่ต้องคำนึงถึงระยะเวลาในการให้ที่เหมาะสม

“ฟาร์มขนาดย่อยได้เงินชดเชยจากหน่วยงานรัฐ แต่ได้ไม่เต็มร้อย และระยะเวลาที่รอได้เงินชดเชยก็อยู่ที่ประมาณ 5-9 เดือน ซึ่งระยะเวลา 5 เดือนที่เขาไม่มีรายได้จะอยู่อย่างไร พอนโยบายออกมาแบบนี้ ก็ทำให้เกิดการลักลอบนำหมูที่เป็นโรคหรือหมูในฟาร์มเดียวกันที่ติดโรคแต่ยังไม่แสดงอาการเอาออกไปขาย เขาก็ต้องการเอาชีวิตรอด บางคนก็เป็นเงินทั้งชีวิตของเขาที่ลงทุนไป จะให้เขาเอาหมูไปฝังลงดิน แล้วนั่งรออีก 5 เดือนเพื่อให้ได้เงินชดเชย มันไม่ได้ ยังไม่พูดถึงฟาร์มรายกลางและรายใหญ่ที่เจอโรคระบาดเหมือนกัน ที่ยังไม่มีการชดเชยจากรัฐ เพราะฟาร์มพวกนี้ต้องใช้เงินหลักร้อยล้านในการเข้าไปชดเชยหมูทั้งระบบ

“โมเดลนี้ในจีนก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ในช่วงแรกฟาร์มไหนมีปัญหา รัฐเข้าไปจัดการให้เงินชดเชย ต่อมาปัญหาลุกลามมาก ก็จ่ายไม่ไหว สุดท้ายก็ออกมาในรูปแบบที่ว่าฟาร์มไหนมีปัญหาก็ต้องรีบระบายหมูออก หมูที่เป็นโรคเข้าสู่ตลาดมากก็ทำให้เชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในสภาพแวดล้อมสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็พร้อมที่จะกระจายตัวไปยังฟาร์มในทุกพื้นที่ ผมเลยคิดว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ไทยมาถึงจุดนี้” นัชชากล่าวสรุป

เพิ่มการผลิตในประเทศและนำเข้าหมู ทางออกของปัญหา?

เมื่อมองในมุมของผู้บริโภค คำถามสำคัญก็คือจะมีวิธีไหนไหมที่จะเพิ่มหมูในตลาด ทั้งจากการเพิ่มกำลังผลิตของฟาร์มในประเทศ และการนำเข้าหมูจากต่างประเทศ ต่อประเด็นนี้ นัชชาในฐานะเจ้าของฟาร์มที่เป็นผู้ ‘ผลิตหมู’ โดยตรง บอกว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะเพิ่มซัปพลายเข้าไปในตลาดให้ทันความต้องการ

นัชชาอธิบายว่า ธุรกิจหมูแบ่งหลักๆ ออกเป็น 3 รูปแบบ คือ ฟาร์มที่มีแม่พันธุ์และขุนเองครบวงจร ฟาร์มที่เลี้ยงแม่พันธุ์และขายลูกหมู และฟาร์มที่เลี้ยงลูกหมูเพื่อขุนแต่ไม่มีแม่พันธุ์ของตัวเอง ดังนั้น การจะเริ่มเพิ่มซัปพลายหรือเพิ่มหมูขึ้นมา ต้องเริ่มที่ต้นน้ำคือ ‘ระบบแม่พันธุ์’ แน่นอนว่าการเพิ่มซัปพลายโดยฉับพลันเป็นไปไม่ได้ในธุรกิจแบบนี้ นัชชาอธิบายกระบวนการสร้างแม่พันธุ์หมูให้เห็นเป็นระบบ ดังนี้

ลูกหมูโตไปเป็นแม่พันธุ์ที่ผสมพันธุ์ได้ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน

แม่พันธุ์อุ้มท้องประมาณ 4 เดือน

คลอดลูกหมูออกมา ใช้เวลาขุนเพื่อให้ได้น้ำหนัก 100 กิโลกรัม ประมาณ 6 เดือน

รวมแล้วทั้งกระบวนการกินเวลาไปทั้งหมด 1 ปีครึ่ง ยังไม่นับว่าการลงทุนเพิ่มแม่พันธุ์หมูในภาวะโรคระบาดแบบนี้ ถือเป็นความเสี่ยงที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกคนจะรับไหว นี่จึงเป็นเหตุผลที่การผลิตหมูเพิ่มเองจากฟาร์มในประเทศแทบจะเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

ส่วนอีกประเด็นคือเรื่องการนำเข้าหมูจากต่างประเทศ นัชชามองว่า การนำเข้าหมูนั้นจำเป็นในการแก้ปัญหาระยะสั้น เพราะร้านอาหารต้องแบกรับต้นทุนจากราคาหมูแพง ซึ่งย่อมส่งผลต่อผู้บริโภคไม่ช้าก็เร็ว แต่ในมุมมองของเขา ต้องไม่ใช่การนำเข้าอย่างเสรีจนสามารถกดราคาหมูลงไปให้เท่ากับช่วงก่อนการระบาด เพราะไม่อย่างนั้นผู้เลี้ยงที่รอดอยู่หรือผู้เลี้ยงที่ล้มไปแล้ว จะไม่มีแรงจูงใจกลับมา

“ถ้าอยากสร้าง win-win situation คือผู้บริโภคได้ประโยชน์ด้วยการลดค่าครองชีพลง และผู้เลี้ยงมีแรงจูงใจที่จะกลับมาเพิ่มผลผลิตด้วย เพื่อให้ตลาดการผลิตหมูเข้าสู่จุดสมดุล เราควรหาราคาที่สมดุล เพื่อจูงใจให้ผู้เลี้ยงกลับมา ผู้เลี้ยงเดินกำลังการผลิตเพิ่ม และผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์จากราคาที่ลดลง โดยไม่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าอย่างเดียว” นัชชากล่าว

ต่อประเด็นเรื่องการนำเข้าหมู ด้านวิฑูรย์เองก็มองว่า การจัดการให้หมูมีราคาถูกได้เร็วที่สุดคือการนำเข้า แต่วิธีการนี้อาจเป็นดาบสองคมต่อภาคการเลี้ยงหมูของไทย

“การนำเข้ามาแบบนี้จะทำลายป้อมปราการการเลี้ยงหมูภายในประเทศ ซึ่งทำมาหลายทศวรรษไปในที่สุด และจะส่งผลกระทบต่อเกษตรรายย่อยที่จะเข้ามาสู่อาชีพนี้ แต่จะว่าไปแล้ว รายใหญ่เองก็ไม่ชอบใจเหมือนกันที่จะนำเข้า รัฐบาลจะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร ต้องฟังข้อมูลและปรึกษาหารือให้รอบด้าน เพราะนอกจากกระทบต่อคนเลี้ยงหมู แล้วยังกระทบพี่น้องชาวไร่ชาวนาที่ประกอบอาชีพผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ไปพร้อมกัน” วิฑูรย์กล่าว

เปลี่ยนภาคเกษตรและฟื้นฟูอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์อย่างถึงราก

ปัญหาหมูแพงที่เกิดจากโรคระบาดครั้งนี้ สะท้อนปัญหาภาคเกษตรและปศุสัตว์ไทยได้ทั้งในมุมแคบและกว้าง เมื่อปัญหาหลายอย่างโยงใยกันจนไม่รู้จะแก้ตรงไหนก่อน ทั้งปัญหาหมูแพงในระยะใกล้ และการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การถอยออกมามองปัญหาในภาพใหญ่จึงเป็นเรื่องจำเป็น

“เราจะเริ่มต้นแก้เรื่องนี้ได้คือรัฐต้องยอมรับความจริงว่าเกิดโรคระบาด” วิฑูรย์กล่าว เมื่อพูดถึงวิธีแก้ปัญหาระยะสั้น เพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ก่อน

“ที่ผ่านมาเราเห็นว่ารัฐบาลกล้าๆ กลัวๆ ในเมื่อคุณไม่ยอมรับว่าเกิดการระบาด คุณจะจัดสรรงบประมาณในการเยียวยาเกษตรกรได้อย่างไร การฟื้นฟูอุตสาหกรรมนี้คือการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยและรายกลาง ให้เขามีอาชีพและสร้างความยั่งยืนและเป็นธรรมในระบบการเลี้ยงสัตว์พวกนี้ ไม่ใช่การฟื้นฟูอุตสาหกรรมในเชิงภาพรวม เพราะถ้าเป็นแบบนั้น ในที่สุดแล้วก็จะเป็นการส่งเสริมให้รายใหญ่เข้ามาครอบครองตลาดมากขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่โรคระบาดก็เอื้ออำนวยไปสู่ทิศทางนั้นอยู่แล้ว” วิฑูรย์กล่าว

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบกลาง 574.11 ล้านบาทเพื่อชดเชยราคาสุกรที่ถูกทำลายจากโรคระบาด แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่อาจชดเชยความเสียหายได้ทั้งหมด วิฑูรย์เสนอว่าควรแก้ไปถึงปัญหาของระบบการผลิตอาหารในประเทศไทย ที่ยังถูกครอบครองโดยอิทธิพลเหนือตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่

“อิทธิพลเหนือตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ได้มีแค่เรื่องการผลิต แต่เขาครอบครองปัจจัยการผลิตตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงการแปรรูป และการจัดส่งผลผลิตไปสู่ผู้บริโภคผ่านร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งอยู่ในสายบริษัทของผู้ผลิตรายใหญ่อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราส่งเสริมแค่การผลิตโดยไม่มีช่องทางการจัดจำหน่ายและการกระจายสินค้า อนาคตของผู้ประกอบการรายย่อยก็คงจะหดแคบลงไปในที่สุด

“เรื่องการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ ต้องเปิดโอกาสให้มีตลาดท้องถิ่น และตลาดรูปแบบต่างๆ ที่เอื้อเฟื้อต่อผู้ประกอบการรายย่อยและรายกลางไปพร้อมกันด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากๆ” วิฑูรย์กล่าว

อีกหนึ่งประเด็นที่วิฑูรย์มองว่าสำคัญ คือเรื่องกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่ต้องมีการปรับโครงสร้างทางกฎหมายให้เป็นธรรม

“ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เราพบว่ากฎหมายการแข่งขันทางการค้าและการบังคับใช้ของเราล้มเหลวแทบจะสิ้นเชิง เรายังเห็นว่าเสียงของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ายังเอื้อต่ออุตสาหกรรมผูกขาดอยู่ดี ดังกรณีการควบรวมกิจการขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นมา 2-3 ครั้งในอดีต

“เพราะฉะนั้นนอกเหนือจากจะต้องมีนโยบายหรือมาตรการระยะสั้นแล้ว จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างทางกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดการรวมศูนย์และผูกขาดระบบอาหารมากกว่าที่เป็นอยู่ หากการแก้กฎหมายทำไม่ได้ เราอาจจำเป็นต้องตราเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนหากมีการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เราหลุดพ้นวงจรอุบาทว์นี้ไปได้”

ต่อประเด็นภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมการเกษตร วิฑูรย์เปิดประเด็นว่า “บทเรียนจากเรื่องอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ในเรื่องโรคระบาดหมู เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตอื่นอย่างแยกกันไม่ออก”

“ภาคการผลิตด้านการเกษตรที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน เป็นการผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรราคาถูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ เป็นการผลิตเชิงเดี่ยว ซึ่งเกษตรกรได้ผลตอบแทนน้อยมาก พอคุณผลิตวัตถุดิบราคาถูกเพื่อป้อนอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพื่อตอบสนองการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งตอนนี้กำลังจะกลายเป็นธุรกิจของยักษ์ใหญ่ไม่กี่ราย ในระยะยาวผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับทั้งปลูกข้าวโพด อ้อย หรือเลี้ยงสัตว์ จะมีผลตอบแทนต่อไร่ต่ำมากๆ

“ผลการศึกษาของกระทรวงเกษตรฯ และสภาพัฒน์ฯ พบว่า เกษตรกรมีโอกาสได้ผลกำไรต่อไร่อยู่ที่ประมาณ 1,300-1,500 บาทต่อปี สมมติเกษตรกรมีพื้นที่เฉลี่ยครอบครัวละ 15 ไร่ เขาจะมีผลกำไรจากการประกอบอาชีพนี้แค่ประมาณสองหมื่นบาทต่อปี ซึ่งไม่มีทางที่จะมีชีวิตอยู่ได้ในค่าครองชีพแบบนี้” วิฑูรย์อธิบาย

เขาเสนอว่าทางรอดของเกษตรกรรายย่อย คือภาคเกษตรกรรมของไทยต้องเปลี่ยนภูมิทัศน์ของเกษตรกรรมใหม่ เปลี่ยนการผลิตขนาดใหญ่เพื่อป้อนอุตสาหกรรม ไปสู่รูปแบบอื่นที่เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรรายย่อยมากกว่า เช่น ระบบเกษตรผสมผสาน ซึ่งต้องมีตลาดรองรับการผลิตแบบนี้ด้วยเช่นกัน

“ผมอยากฝากบอกรัฐบาลนี้ว่า ตอนนี้ผมคิดว่าประเทศไทยถึงที่สุดแล้ว ผู้คนได้รับผลกระทบจากเรื่องข้าวยากหมากแพง การบริหารประเทศต้องมุ่งไปสู่การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจให้กับคนเล็กคนน้อย และคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคและคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง”

รับชมในรูปแบบวิดีโอได้ที่

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save