fbpx

ฝรั่งเศส-เยอรมนี: จากศัตรูสู่คู่ปรับในสนามฟุตบอล

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา: วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาในวันที่ 22 มกราคม 2023 เป็นวันเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 60 ปีที่ฝรั่งเศสกับเยอรมนีมีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยความสัมพันธ์ของทั้งคู่นับหนึ่งตั้งแต่การลงนามภายใต้สนธิสัญญาเอลิเซ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 1963 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าของทั้งสองชาติ ที่มักจะเผชิญหน้ากันในฐานะอริให้กลายเป็นมิตรต่อกัน

แน่นอนว่าจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ฝรั่งเศสกับเยอรมนีพัฒนาความสัมพันธ์กลายเป็นมหามิตรและผู้ยิ่งใหญ่ในทวีปยุโรป ท่าทีทางการเมืองของทั้งสองชาติ มาแนวไปไหนไปกัน และจะเห็นดีเห็นงามเห็นพ้องเห็นต้องกันในหลายๆ เรื่อง เช่น เมื่อไม่นานมานี้ในช่วงที่เพิ่งเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้ง ‘ฟรังโก-เยอรมัน’ ก็เป็นสองชาติแรกๆ ในยุโรปที่ดำเนินการขับไล่นักการทูตรัสเซียออกจากประเทศ

คามสัมพันธ์ของทั้งสองชาติในปัจจุบัน เรียกได้ว่าพลิกผันราวหน้ามือเป็นหลังเท้าเมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ในอดีต ที่เอะอะก็ไม่ถูกกัน ไม่ชอบพอกัน จนกระทั่งถึงขั้นเกลียดกัน รบรากัน หรือฆ่าแกงกันก็ทำมาแล้ว

รอยร้าวครั้งใหญ่ที่สุดที่หลายๆ คนจำได้ดีคงหนีไม่พ้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่ลุกลามต่อเนื่องไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง แต่อันที่จริงแล้วก่อนหน้านั้น ทั้งสองชาติโกรธเกลียดกันมาแต่ชาติปางก่อน โดยอาจจะย้อนไปยังยุคสมัยที่โรมันปกครองยุโรปได้เลย และเรื่องราวนั้นเหมือนถูกสลักลงไปในดีเอ็นเอของผู้คนทั้งสองชาติมาจากรุ่นสู่รุ่น

ถึงแม้ทุกวันนี้ ความสัมพันธ์ของทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนี จะเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ไม่คิดหักหลังเหมือนฉากทัศน์ในประเทศอื่นๆ แต่เอาเข้าจริงผู้คนในประเทศทั้งสองชาติ ก็ไม่ได้ ‘อิน’ ไปกับมิตรภาพอันหอมหวานนั้นสักเท่าไหร่ เพราะประวัติศาสตร์สอนพวกเขาให้ไม่ชอบหน้าอีกฝ่ายเหมือนที่คนไทยก็ถูกสอนให้เกลียดเพื่อนบ้านผ่านแบบเรียน

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่พวกเขาจะแสดงออกถึงความไม่ชอบขี้หน้ากัน จึงแปรเปลี่ยนมาเป็นการแสดงออกทางอ้อมโดยการเชียร์ทีมฟุตบอลชาติตัวเอง และแช่งทีมชาติของอีกฝ่าย จนกลายมาเป็นคำที่ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า ริวาลิเต (Rivalité) ขณะที่ภาษาเยอรมันเรียกว่า รีวาลิเท็ต (Rivalität) หรือ ‘คู่ปรับ’ นั่นเอง

กอล กับ เจอร์มานิค – เรื่องราวของบรรพกาล

เรื่องราวความขัดแย้งของฝรั่งเศสกับเยอรมนี อาจย้อนกลับไปเริ่มต้นกันไกลถึงยุคโรมัน ซึ่งเป็นเรื่องราวความขัดแย้งทางวัฒนธรรมของชาวกอลกับชาวเจอร์มานิก ซึ่งทั้งสองชนเผ่าล้วนเป็นวัฒนธรรมยุคก่อนอาณาจักรโรมัน

ถิ่นที่อยู่ของชาวกอลเชื่อกันว่าอยู่ในพื้นที่ฝรั่งเศสปัจจุบัน พวกเขามีความสัมพันธ์ในหลากหลายรูปแบบกับชาวโรมัน ซึ่งเป็นชนชาติมหาอำนาจในขณะนั้น โดยพวกเขาเป็นทั้งไกด์ ล่าม และบ่อยครั้งก็เป็นศัตรู โดยชาวกอลบุกโจมตีดินแดนของโรมันบ่อยครั้ง แถมยังเคยยึดกรุงโรมได้ในช่วงเวลาราว 390 ถึง 387 ปีก่อนคริสตกาลด้วย

ตรงข้ามกับชาวเจอร์มานิกที่โดดเดี่ยวและแปลกแยกมากกว่า พวกเยอรมันอยู่ไกลจากอาณาจักรโรมันและได้รับการปกป้องอย่างดีจากกำแพงธรรมชาติที่แข็งแกร่งอย่างเทือกเขาแอลป์ แม่น้ำไรน์ และแม่น้ำดานูบ รวมไปถึงป่าทึบ ดังนั้นอาณาจักรโรมันที่กำลังแผ่ขยายอำนาจจึงหันไปสนใจการจัดการกับกอลมากกว่า และเป็นจูเลียส ซีซาร์ที่ทำสำเร็จด้วยการพิชิตกอลเมื่อ 50 ปีก่อนคริสตกาล

โรมควบคุมกอลได้มาตลอดสามศตวรรษต่อมา ทำให้กอลเป็นส่วนสำคัญของจักรวรรดิโรมัน กอลค่อยๆ ซึมซับภาษาโรมัน ผู้คนในกอลรับเอาขนบธรรมเนียมแบบโรมันเข้ามาในวิถีชีวิตและผสมผสานภาษาพื้นเมืองของตนเองกับภาษาละตินจนกลายเป็นภาษาฝรั่งเศสโบราณ หรือโอลด์ เฟรนซ์ ที่จะต่อยอดมาเป็นภาษาฝรั่งเศสในปัจจุบัน

ในทางกลับกัน ชาวเจอร์มานิกไม่เคยถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งของโรมันโดยสมบูรณ์ เจอร์มานิกตะวันตกหรือที่ชาวโรมันรู้จักในชื่อเจอร์มาเนียไม่ได้ถูกรวมเข้ากับจักรวรรดิจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 1 และชาวโรมันก็ล้มเลิกความพยายามที่จะพิชิตและทำให้ดินแดนครึ่งทางตะวันออกของเยอรมนีกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมัน

ในช่วงเวลาก่อนที่อาณาจักรโรมันจะล่มสลาย ชนเผ่าเยอรมันหลายกลุ่มเริ่มรวมตัวกันเป็นสมาพันธ์ชนเผ่า หนึ่งในสมาพันธ์ชนเผ่าแถบลุ่มน้ำไรน์ที่เกิดขึ้นมีชื่อว่า ‘แฟรงก์’ พวกเขาเข้าพิชิตแคว้นกอล ภายใต้ผู้นำอย่างกษัตริย์โคลวิสที่ 1 และสามารถก่อตั้งอาณาจักรพร้อมสถาปนาราชวงศ์เมโรแวงเจียน ในปีคริสตศักราช 481 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่อาณาจักรโรมันตะวันตกสิ้นสุดลงก่อนหน้านี้ไม่นาน

โคลวิสตั้งเมืองปารีสเป็นศูนย์กลางการปกครอง และรวบรวมชาวแฟรงก์กลุ่มอื่นๆ ไว้ได้ทั้งหมด และเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ชาวแฟรงก์จำนวนมากจึงเปลี่ยนศาสนาตามกษัตริย์ของตน เวลาผ่านไปอีกหลายร้อยปีสู่ยุคของกษัตริย์ชาร์เลอมาญ พระองค์ได้ขยายอาณาจักรแฟรงก์ไปถึงอิตาลี เยอรมนีตอนเหนือ สเปน และยุโรปกลาง ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

แต่เมื่อสิ้นยุคของกษัตริย์ชาร์เลอมาญ จักรวรรดิอันเกรียงไกรต้องแตกออกจากกันอีกครั้งในปี 843 เกิดเป็นสามอาณาจักรได้แก่ อาณาจักรแฟรงก์ตะวันตกในดินแดนกอล อาณาจักรแฟรงก์กลางในเนเธอแลนด์มาถึงอิตาลี และอาณาจักรแฟรงก์ตะวันออกในเยอรมนี ซึ่งสองงอาณาจักรหลังทำการเปลี่ยนชื่อตามกาลเวลา ยกเว้นเพียงแค่อาณาจักรแฟรงก์ตะวันตกที่ยังใช้ชื่อ ‘ฟรังเกีย’ (Francia) มาเรื่อยจนกลายเป็นชื่อประเทศ ‘ฝรั่งเศส’ ในปัจจุบัน

ฟรังโก กับ ปรัสเซีย – สงครามที่ไม่มีวันจบ

สงครามที่มีชื่อเสียงที่สุดระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี หากไม่นับสงครามโลก ก็เห็นจะหนีไม่พ้นสงคราม ฟรังโก-ปรัสเซีย ในช่วงปี 1870 ซึ่งเป็นเสมอสงครามรวมชาติของเยอรมนี และต่อยอดไปสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองชาติไม่ได้เพิ่งมาเกิดขึ้นครั้งเดียว พวกเขาทะเลาะกันเรื่อยมาตั้งแต่ยุคกลางเป็นต้นมา หากแต่การตีกันเหล่านั้นเป็นความขัดแย้งของชนชั้นสูง หรือาจจะเรียกว่าความขัดแย้งเชิงอำนาจระหว่างผู้ปกครองแต่ละประเทศในขณะนั้นก็ได้ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ผู้ปกครองชาติใหญ่ๆ ในยุโรปมักจะมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งก็ตาม

ดังนั้นความขัดแย้งระหว่างทั้งสองชาติจึงดำเนินเรื่อยมาไม่ว่าฝั่งหนึ่งจะเป็นฝรั่งเศสหรือเบอร์กันดี และอีกฝั่งจะเป็นเยอรมนี หรือปรัสเซีย ก็ไม่ต่างกัน แต่ที่ต่างคือในยุคกลาง ประชาชนยังไม่มีแนวคิดในเรื่องของรัฐชาติแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พวกเขาแค่ไปรบให้เจ้านาย และไม่ได้มีความ ‘อิน’ ในการปกป้องประเทศ หรืออะไรทำนองนั้นอย่างเต็มที่

แต่เมื่อจอห์น ล็อกเริ่มพูดถึงแนวคิดชาตินิยมในศตวรรษที่ 18 สิ่งนี้เริ่มแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วในพื้นที่ยุโรปตะวันตก และนั่นทำให้คนอย่างอ็อตโต วอน บิสมาร์ก มีความคิดที่จะรวมรัฐเยอรมันให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว นำไปสู่สงครามฟรังโก-ปรัสเซีย ที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้ากันอีกหลายครั้งของฝรั่งเศสและเยอรมนี

ในสมัยที่บิสมาร์กเริ่มแนวคิดรวมชาติเยอรมัน ตอนนั้นดินแดนเยอรมันแบ่งออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ คือ ปรัสเซีย สมาพันธรัฐเยอรมันเหนือที่มีปรัสเซียเป็นประธาน และรัฐเยอรมันทางใต้ซึ่งประกอบไปด้วยบาวาเรีย วอร์นเทมแบร์ก และบาเดน

บิสมาร์กเชื่อว่าการรวมกันของดินแดนทั้งสามจะนำมาซึ่งความยิ่งใหญ่ เขาจึงดำเนินแผนการในการก่อสงครามกับฝรั่งเศส เพื่อดึงให้รัฐทั้งสามของเยอรมันร่วมมือกัน

ในฐานะเสนาธิการคนสำคัญ บิสมาร์กดำเนินแผนตามความคิดเขาอยู่ราวสองปี ผ่านความล้มเหลวมาไม่น้อยกว่าฝรั่งเศส ซึ่งตอนนั้นปกครองโดยกษัตริย์นโปเลียนที่ 3 ที่ต่อมาประกาศสงครามกับปรัสเซีย ส่งผลให้เยอรมันทั้งสามดินแดนร่วมมือกันแบบที่บิสมาร์กต้องการ แถมยังเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะในการบครั้งนี้ได้สำเร็จจนรวมชาติกันได้ในที่สุด

ชัยชนะดังกล่าวนำไปสู่การทำสนธิสัญญาแฟรงก์เฟิร์ต โดยฝรั่งเศสต้องยกแคว้นอัลซาซ-ลอร์แรน และเม็ตซ์ ให้เยอรมนี และต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวน 5,000 ล้านฟรังก์ พร้อมต้องให้ทหารเยอรมันยึดครองตอนเหนือของฝรั่งเศสไปจนกว่าจะจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามครบ

ขณะที่ฝ่ายฝรั่งเศสได้รับความอัปยศและเสื่อมเสียเกียรติอย่างมาก โดยเฉพาะการเสียดินแดนนำมาซึ่งความเจ็บแค้นในใจชาวฝรั่งเศส สนธิสัญญาแฟรงก์เฟิร์ตที่ถูกลงนามไปนั้นไม่ได้เกิดความสงบแต่อย่างใด แต่มันกลายเป็นเชื้อไฟชั้นดีที่สุมเพลิงแค้นในใจของฝรั่งเศส เพื่อรอเอาคืนในสักวันหนึ่ง และวันนั้นก็มาถึงในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ฝรั่งเศส กับ เยอรมนี – สงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่เป็นได้แค่จุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งต่อไป

คงจะกินพื้นที่มากเกินไปถ้ามานั่งเล่าเรื่องที่หลายๆ คนรู้อยู่แล้วอย่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และผลการรบที่เกิดขึ้น หากกล่าวโดยสรุปแบบสั้นๆ คือสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรที่นำโดยทริปเปิล อองตองต์ (Triple Entente) ซึ่งประกอบไปด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย เหนือฝ่ายมหาอำนาจกลาง ที่มีทริปเปิล อัลไลแอนซ์ (Triple Alliance) อย่างเยอรมนี ออสเตรีย และฮังการี

แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นต่างหากที่เป็นเหมือนการเอาคืนของฝรั่งเศส หลังจากถูกสนธิสัญญาแฟรงก์เฟิร์ตเล่นงานตั้งแต่ปี 1871-1914 เพราะพวกเขาลากคอเยอรมนี มาเช็นสนธิสัญญาฉบับหนึ่งที่มีเนื้อหาเอาเปรียบและกดขี่เยอรมนีซึ่งเป็นผู้แพ้สงครามอย่างหนัก นั่นคือสนธิสัญญาแวร์ซาย

สนธิสัญญาฉบับนี้ระบุว่าเยอรมนีต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และต้องจ่ายค่าปฏิกรณ์สงคราม ต้องสูญเสียดินแดนบางส่วน และมีการจำกัดทางการทหารอีกด้วย การลงนามในสัญญาฉบับนี้ นอกจากลิดรอนและกดขี่เยอรมนีอย่างมากแล้ว สิ่งสำคัญคือทำให้เศรฐกิจของเยอรมนีเรียกได้ว่า ‘พังพินาศ’

ค่าปฏิกรรมสงครามที่เยอรมนีจะต้องจ่ายนั้นสูงถึง 132,000 ล้านมาร์ก ทำให้ประเทศของพวกเขาเกิดภาวะคลาดแคลนอาหารเนื่องจากเงินเฟ้ออย่างหนัก

แน่นอนว่าเยอรมนีเองก็รู้สึกว่ามันไม่ยุธิธรรม แต่พวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากแค่โกรธแค้น และมองว่าสนธิสัญญาฉบับนี้ เป็นเพียงแค่สนธิสัญญาที่ใช้บังหน้าในการเอาเปรียบพวกเขา ประชาชนชาวเยอรมันต่างโกรธแค้นเช่นกัน ซึ่งนั่นเองที่เป็นการเปิดโอกาสให้พรรคนาซีได้รับความนิยมขึ้นมาในยุคนั้น หลังพวกนาซีให้สัญญาว่าจะลบล้างความอับอายของเยอรมนีที่ถูกสนธิสัญญาแวร์ซายเอาเปรียบ

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าการเอาคืนของฝรั่งเศส และชาติพันธมิตรต่อเยอรมนีหลังจบสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้สร้างปีศาจตัวใหม่ที่น่ากลัวกว่าเดิมขึ้นมา และพวกเขาก็ต้องกลับมาสู้ศึกที่ยากลำบากอีกครั้งในสงครามโลกครั้งที่สอง

สัมพันธมิตร กับ อักษะ – สู่บทสรุปของความบาดหมางอันยาวนาน

บทสรุปของสงครามโลกครั้งที่สองก็เป็นอะไรที่ทุกคนคงทราบกันดี แม้ในช่วงแรกฝ่ายสัมพันธมิตรจะเป็นรองฝ่ายอักษะและดูเพลี่ยงพล้ำกว่า แต่การมาช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาในช่วงครึ่งหลังของสงคราม เปลี่ยนโฉมหน้าของสงครามโลกครั้งนี้ไปอย่างสิ้นเชิง

สุดท้ายแล้ว ปีศาจที่ถูกสร้างขึ้นมาจากการกดขี่เยอรมนีของสนธิสัญญาแวร์ซาย อย่างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์และพรรคนาซีของเขาก็ถูกปราบลง ฮิตเลอร์เลือกที่จะจบชีวิตตัวเอง ขณะที่ทั่วทั้งยุโรปก็ต่างเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเลือกที่จะแบ่งเยอรมนีออกเป็นสี่ส่วนโดยให้สี่ประเทศจากสัมพันธมิตรช่วยกันกำกับดูแล ก่อนที่หลังจากนั้นสถานการณ์จะเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะสงครามเย็นอย่างเต็มตัว

แม้จะไม่ได้มีพื้นที่เต็มร้อยเหมือนเดิม แต่เยอรมนีที่ตอนนั้นเป็นเยอรมันตะวันตก ก็เดินหน้าบริหารประเทศต่อไป พวกเขาไม่ได้เอาประวัติศาสตร์อันเลวร้ายที่ฮิตเลอร์ทำไว้ไปซุกใต้พรม กลับกัน พวกเขานำมันออกมาตีแผ่ สร้างอนุสรณ์สถาน และบรรจุลงในแบบเรียน เพื่อคอยย้ำเตือนไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอีก

ขณะที่ฝรั่งเศส หลังสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเขาเองก็บอบช้ำหนัก เพราะทัพนาซีเยอรมันบุกมาตีกรุงปารีสแตกได้สำเร็จ แม้สุดท้ายพวกเขาจะเป็นฝ่ายชนะสงคราม แต่ก็มีสภาพสะบักสะบอมไม่ต่างกับเยอรมนี อันที่จริงแล้วต้องเรียกว่าสภาพของพวกเขาย่ำแย่กว่าเสียด้วย เพราะนอกจากต้องบูรณะประเทศแล้ว เงินส่วนหนึ่งยังถูกจัดสรรไปคอยดูแลเยอรมันตะวันตกในพื้นที่ที่พวกเขารับผิดชอบดูแลด้วย

นั่นเองเป็นที่มาของสนธิสัญญาที่มีชื่อว่า สนธิสัญญาเอลิเซ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี และเป็นสนธิสัญญาที่เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติ ไปตลอดกาล

ฝรั่งเศส และ เยอรมนี – จากมหาศัตรูสู่มหามิตร

หากในปี 1945 หลังสงครามโลกจบลง มีคนไปพูดว่าอีก 60-70 ปีข้างหน้า ฝรั่งเศสและเยอรมนีจะเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่ง และมีมิตรภาพที่แน่นแฟ้นที่สุดในยุโรป คนในสมัยนั้นอาจจะหาว่าคุณบ้า เพราะเป็นที่รู้กันว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลงนั้นย่ำแย่มาก และย่ำแย่มาหลายศตวรรษแล้วด้วย

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของความสัมพันธ์ทั้งสองชาติ เกิดขึ้นในวันที่ 22 มกราคม 1963 เมื่อชาร์ล เดอ โกล ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีคอนราด อเดเนาร์ แห่งเยอรมนี ได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาที่มีชื่อว่า ‘สนธิสัญญาเอลิเซ’ (Elysee Treaty)

ภายใต้สนธิสัญญาเอลิเซ ซึ่งร่างขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง 18 ปี ทั้งสองประเทศได้ขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการต่างประเทศ ความมั่นคงและการป้องกันประเทศ การศึกษา รวมถึงโครงการอื่นๆ ในด้านเยาวชนและวัฒนธรรมด้วย

นอกจากนี้ สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวยังเป็นจุดกำเนิดของสำนักงานสำหรับเยาวชนฝรั่งเศสเยอรมนี ซึ่งทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้ามพรมแดนกว่า 8,000 ครั้ง นับตั้งแต่วันก่อตั้งและที่สำคัญก็คือเป็น ‘ต้นแบบของการปรองดอง’ อย่างแท้จริง

สนธิสัญญาฉบับนี้ได้เปลี่ยนสองชาติที่อ่อนแอจากสงครามให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ จากการพึ่งพากันและกัน จนกลายเป็นสองชาติซึ่งเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนสหภาพยุโรป หรือ EU ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง จนต่างฝ่ายต่างเชื่อใจและไว้ในอีกฝ่ายอย่างมาก

แม้กระทั้งในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติยังคงแน่นแฟ้น แม้จะไม่ได้ราบรื่นราวโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้น ทั้งสองชาติก็มักจะทำอะไรด้วยกันเสมอๆ อาทิการออกมาประณามรัสเซียที่รุกรานยูเครน หรือการขับนักการทูตรัสเซียออกจากประเทศของพวกเขา ก็เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันด้วย

การลงนามในสนธิสัญญาเอลิเซ จึงเป็นการลงนามครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ทั้งสองชาติ ดังนั้นวันที่ลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งคือวันที่ 22 มกราคมขอลทุกปีจึงถูกยกย่องให้เป็นวันฝรั่งเศส-เยอรมันด้วย

ตราไก่ กับ อินทรีเหล็ก – ปัจจุบันของความขัดแย้ง

แม้ปัจจุบันความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติในระดับทวิภาคีเรียกได้ว่าแน่นแฟ้นอย่างมาก แต่ด้วยแบบเรียนประวัติศาสตร์ และเรื่องราวในอดีต ยังทำให้คนในประเทศต่างหมั่นไส้อีกฝ่ายไม่จากหายไป และมันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาความรู้สึกเหล่านั้นไปลงในชีวิตจริง สุดท้ายการแข่งขันกีฬาจึงเป็นตัวแทนของพวกเขาที่จะไปแสดงออกว่าพวกเขาไม่ชอบหน้าฝ่ายตรงข้ามมากขนาดไหน

นั่นเองที่ทำให้การเจอกันระหว่างทีมชาติฝรั่งเศสกับทีมชาติเยอรมนี ในสนามฟุตบอลยังคงเข้มข้น และถูกยกย่องให้เป็นการเจอกันของคู่ปรับแห่งยุโรปตะวันตก แม้ว่าหากนับตามหน้าประวัติศาสตร์แล้ว ทั้งสองทีมจะได้เจอกันในเกมระดับชาติเพียง 33 นัดก็ตาม

เกมแรกที่ทั้งคู่เจอกันเกิดขึ้นในปี 1931 สมัยที่เยอรมนี ยังเป็นสาธารณรัฐไวมาร์อยู่เลย โดยเกมนั้น ฝรั่งเศสเอาชนะไปได้ 1-0

หนึ่งในแมตช์คลาสสิกที่ทัพ ‘เลส์ เบลอส์’ พบกับ ‘ดีมานส์ชาฟต์’ คือเกมฟุตบอลโลก 1982 รอบรองชนะเลิศ ที่ทั้งคู่เสมอกัน 3-3 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ ก่อนที่ ‘ตราไก่’ จะเอาชนะจุดโทษ ‘อินทรีเหล็ก’ ไปได้ในที่สุด โดยเกมนั้น มิเชล พลาตินี เจ้าของฉายา ‘เลอ รอย’ หรือ ‘ราชา’ ซึ่งที่ไทยตั้งใหม่ให้ว่า ‘นโปเลียนลูกหนัง’ ถึงกับยกย่องว่า นี่เป็นแมตช์ที่งดงามที่สุดในชีวิตเลยทีเดียว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save