หลายทศวรรษที่ผ่านมา ท่ามกลางความเป็นเมืองที่เติบโตไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่เมืองมาตลอดคือ ‘ห้องสมุดสาธารณะ’ – พื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ที่เปิดให้มวลชนแสวงหาความรู้ได้อย่างเสมอหน้าและไร้ข้อจำกัด
จัดหนังสือมากมายวางเรียงรายอยู่บนชั้น รอให้ผู้คนเข้าไปค้นหา อ่าน และเรียนรู้ – บทบาทของห้องสมุดสาธารณะอาจไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
แต่ในวันที่หนทางในการเรียนรู้เปลี่ยนไปและปรากฏในหลายหลายรูปแบบยิ่งขึ้น พื้นที่สาธารณะกลายเป็นพื้นที่ที่เมืองโหยหายิ่งกว่าเคย คำถามสำคัญมีอยู่ว่า ห้องสมุดสาธารณะควรจะเป็นพื้นที่การเรียนรู้แบบไหนกันแน่?
ในวันที่ห้องสมุดสาธารณะกำลังกลายเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในการพัฒนา ‘เมืองกรุงเทพฯ’ ให้กลายเป็น ‘มหานครแห่งการเรียนรู้’ 101 ชวนมองความเปลี่ยนแปลงและแนวทางการพัฒนาห้องสมุดสาธารณะผ่านมุมมองแบบ ‘เทศมองไทย’ จากฝรั่งเศสและเยอรมนี สนทนากับห้องสมุดสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทยและห้องสมุดมัลติมีเดียสมาคมฝรั่งเศส ว่าด้วยการออกแบบห้องสมุดสาธารณะกลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในเมืองได้อย่างแท้จริง
ห้องสมุดสาธารณะ: พื้นที่ที่เปิดให้ทุกการเรียนรู้เป็นไปได้
ห้องสมุดสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย
“ถ้าถามว่าเทรนด์การออกแบบห้องสมุดสาธารณะทั่วโลกเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ต้องบอกว่าตอนนี้จุดโฟกัสเปลี่ยนไปเน้นให้ความสำคัญต่อผู้ใช้มากกว่าที่เคยเป็นมา” กาบริเอลเลอ ซันเดอร์ หัวหน้าฝ่ายสารสนเทศและที่ปรึกษาด้านงานห้องสมุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ประจำสถาบันเกอเธ่ เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของแก่นแนวคิดการจัดการห้องสมุดสาธารณะ
“สมัยก่อน เราเน้นให้ความสำคัญกับสิ่งของต่างๆ หนังสือ หรือวิดีโอที่ห้องสมุดมีไว้ให้บริการคนที่เข้ามาใช้ แต่ตอนนี้การจัดสรรพื้นที่ในห้องสมุดให้เอื้อต่อการเป็นพื้นที่การเรียนรู้และพื้นที่พบปะกำลังทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ห้องสมุดสาธารณะหลายแห่งเริ่มลดพื้นที่วางหนังสือหรือสื่อต่างๆ ย้ายหนังสือไปอยู่บนห้องสมุดออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้จากทุกแห่ง และจัดให้มีพื้นที่สำหรับผู้ที่เข้ามาใช้ห้องสมุดมากขึ้น”
นั่นหมายความว่าห้องสมุดสาธารณะกำลังเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นเพียง ‘พื้นที่จัดเก็บความรู้’ ไปสู่ ‘พื้นที่ที่เปิดให้การเรียนรู้งอกงาม’ มากยิ่งขึ้น
ห้องสมุดสาธารณะแต่ละแห่งต่างคัดสรรและนำเสนอความรู้ที่แตกต่างหลากหลายกันไปตามจุดประสงค์ที่ห้องสมุดวางไว้หรือตามความต้องการของผู้คนในชุมชน สำหรับห้องสมุดสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย แน่นอนว่าความรู้ที่พบได้คือภาษาและวัฒนธรรมเยอรมันไปจนถึงสารพัดเรื่องราวเกี่ยวกับเยอรมนี – ส่วนมากเป็นภาษาเยอรมัน แต่ความเฉพาะเจาะจงของความรู้ก็ไม่ได้ทำให้ตีโจทย์การออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ต่างไปจากห้องสมุดสาธารณะแห่งอื่น
“ห้องสมุดไม่จำเป็นต้องเป็นแค่เป็นที่เก็บหนังสือหรืออ่านหนังสืออย่างเดียว แต่เราต้องการดึงให้คนที่เข้ามาใช้ห้องสมุดมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ด้วย ดังนั้นเราเลยต้องปรับและหาอะไรบางอย่างที่น่าจะน่าสนใจสำหรับกลุ่มผู้ใช้ห้องสมุด” สิริรัตน์ ติณะรัตน์ หัวหน้าห้องสมุดสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย กล่าว
นี่คือสาเหตุที่ในห้องสมุดเกอเธ่ฯ ไม่ได้มีเพียงหนังสือหรือสื่อการเรียนรู้อื่นๆ ตามขนบเรียงรายอยู่บนชั้นเท่านั้น แต่ยังมีบอร์ดเกม เครื่องเกม PlayStation4 หรือกระทั่งอุปกรณ์อบขนมด้วยเช่นกัน
การอ่านไม่ใช่หนทางหนึ่งเดียวในการเรียนรู้อีกต่อไปและไม่ใช่วิธีการเรียนรู้ที่ทุกคนชอบ เพราะฉะนั้น ในมุมมองของสิริรัตน์ “ไอเดียหลักอยู่ที่การสร้างประสบการณ์ให้ผู้ใช้ขณะที่เข้ามาใช้ห้องสมุด”
“บอร์ดเกมมีหลากหลายแบบมาก ถ้าไม่ชอบอ่านหนังสือก็สามารถเรียนรู้ ฝึกคิด ฝึกสื่อสารผ่านการเล่นบอร์ดเกมร่วมกับคนอื่นๆ ได้เหมือนกัน” กาบริเอลเลอเสริม “แต่ก็ต้องคัดเกมที่จะนำมาไว้ในคอลเลกชันเหมือนกันว่าเกมไหนที่เหมาะกับห้องสมุดของเรา ไม่ใช่ว่าซื้อทุกเกมเพื่อดึงดูดให้คนอยากเข้ามาใช้ห้องสมุดอย่างเดียวเท่านั้น อย่างเกมบางส่วนที่เลือกมาจะเป็นธีมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เยอรมันหรือประวัติศาสตร์ยุโรป”
ส่วนการนำอุปกรณ์อบขนมและเครื่องเกม PlayStation4 มาไว้ในห้องสมุด นอกจากจะไปเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ แล้ว กาบริเอลเลอและสิริรัตน์ยังอธิบายต่ออีกว่า ส่วนหนึ่งมาจากแนวคิด ‘แชร์ร่วมกัน’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่แพร่หลายในยุโรปและเยอรมนี
“เราสามารถเรียนรู้ผ่านการอบขนมได้เหมือนกันนะ ส่วนหนึ่งก็เกี่ยวกับการบริโภคอย่างยั่งยืนด้วย การอบเบเกอรีอาจไม่ใช่สิ่งที่ทำกันทั่วไปในไทยเท่าไหร่ แต่สมมติว่าถ้าอยากลองอบขนมทานเองที่บ้านดูสักครั้ง แต่ที่บ้านไม่มีเตา ไม่มีอุปกรณ์ หรือไม่มีสูตรขนม ก็สามารถมาขอยืมจากห้องสมุดไปลองทำที่บ้านก่อนได้โดยที่ยังไม่ต้องซื้อเอง ถ้าลองทำดูแล้วรู้ว่าชอบก็อาจจะตัดสินใจซื้ออุปกรณ์ไว้ทำเองต่อที่บ้านก็ได้ แต่ถ้าลองแล้วไม่ชอบก็ไม่เป็นไร นั่นไม่ได้สำคัญเท่ากับว่าได้เรียนรู้แล้วว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร”
ในทำนองเดียวกัน เครื่องเกม PlayStation4 ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนมีที่บ้าน ดังนั้นห้องสมุดสาธารณะควรเป็นพื้นที่ที่เปิดให้คนที่อยากลองสัมผัสประสบการณ์การเล่นเกมได้ลองเล่น มีช่วงเวลาที่ดีร่วมกัน ลองเรียนรู้การใช้เครื่องเล่นเกม – ซึ่งไม่ต่างจากการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีอื่นๆ อย่างอินเทอร์เน็ตหรือแท็บเล็ต หรืออาจจะลองเล่นเกมเป็นภาษาเยอรมันก็ได้สำหรับผู้เรียนภาษาเยอรมัน
“ห้องสมุดสาธารณะในฐานะสถาบันเพื่อการศึกษาและสถาบันเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ควรเป็นพื้นที่ที่เปิดให้มีสิ่งอำนวยการเรียนรู้เท่าที่จะเป็นไปได้ และแน่นอนว่าไม่ใช่ด้วยการสอน แต่ด้วยการช่วยชี้นำให้ผู้คนได้ลองทำสิ่งต่างๆ ที่หลากหลาย” กาบริเอลเลอกล่าว
อีกสิ่งหนึ่งที่ห้องสมุดเกอเธ่มองว่าสำคัญและขาดไม่ได้ในการทำให้ห้องสมุดสาธารณะกลายเป็นพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างแท้จริงคือ การเชื่อมต่อระหว่างผู้คนผ่านอีเวนต์และเวิร์กช็อป – ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน
ในช่วงล็อกดาวน์ สิริรัตน์เล่าว่าห้องสมุดพยายามปรับกิจกรรมต่างๆ เข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ เพื่อให้ผู้ใช้และผู้ที่สนใจยังคงรู้สึกเชื่อมต่อกับห้องสมุด ตัวอย่างหนึ่งคือการจัดอีเวนต์ออนไลน์ควิซ ซึ่งมีการเปิดห้องสนทนาให้มีการพูดคุยด้วย ส่วนในอนาคตอันใกล้ที่เริ่มกลับมาใช้พื้นที่ในห้องสมุดได้แล้ว กาบริเอลเลอมองว่า อยากให้การจัดเวิร์กช็อปดำเนินไปอย่างเป็นระบบในระยะยาวยิ่งขึ้น และขยายไปสู่กลุ่มคนที่กว้างกว่ากลุ่มผู้ใช้ที่สนใจภาษาและวัฒนธรรมเยอรมันอยู่แล้ว
“การจัดเวิร์กช็อปอาจจะลิงก์กับห้องสมุดสิ่งของ (library of things) ด้วย ช่วงที่ผ่านมาห้องสมุดเราสนใจ urban gardening ซึ่งกำลังเป็นประเด็นในเยอรมนี อาจจะต่อยอดจากตรงนั้นมาจัดเวิร์กช็อปสำหรับคนที่สนใจ บางคนอาจจะพอมีความรู้อยู่แล้ว บางคนอาจจะอยากรู้อยากลอง เราเลยอยากเปิดพื้นที่ให้คนเข้าถึงห้องสมุด เข้ามานั่งและพบปะพูดคุยกันได้มากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องรู้สึกกังวลว่าถ้าไม่รู้ภาษาเยอรมันแล้วจะมาไม่ได้”
“ห้องสมุดเกอเธ่เป็นห้องสมุดสาธารณะที่มีหัวข้อเฉพาะก็จริง แต่อย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ห้องสมุดเราเป็นห้องสมุดสาธารณะที่ไม่ว่าใครก็เข้ามาใช้ได้ เรายินดีเสมอมาถ้ามีคนเข้ามาใช้ที่นี่เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนกัน และแน่นอนว่ายินดีมากเช่นกันถ้าคนเข้ามาใช้หนังสือหรือสิ่งต่างๆ ในห้องสมุด” สิริรัตน์กล่าว
ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า ขอบเขตของการเรียนรู้ในพื้นที่ห้องสมุดสาธารณะได้ขยับขยายไปไกลแล้ว และห้องสมุดสาธารณะต้องเป็นผู้เปิดประตูบานแรกสู่การจุดประกายความสนใจและสร้างความเป็นไปได้ที่หลากหลายในค้นพบความรู้และเรียนรู้
“การได้ทำอะไรสนุกๆ ก็ถือว่าเป็นความรู้เหมือนกัน การเรียนรู้ไม่ใช่แค่การนั่งอ่านหนังสือแล้วเรียนรู้อะไรบางอย่างที่จริงจังเสมอไป การอ่านอะไรสนุกๆ หรือการพูดคุยแลกปลี่ยนพบปะก็ถือว่าได้ความรู้เหมือนกัน การที่เราไม่รู้อะไรบางอย่างแล้วลองลงไปทำก็คือการเรียนรู้ จากนั้นพอรู้เกี่ยวกับอะไรบางอย่างเพิ่มแล้วก็สามารถไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ต่อก็ได้ หรืออาจจะตัดสินใจได้ว่าสนใจสิ่งที่เพิ่งลองเรียนรู้ไปไหม อยากจะรู้เพิ่มไหม หรือไม่ใช่สิ่งที่ ‘ใช่’ ความรู้ต้องถูกมองด้วยมุมมองที่กว้างขึ้น” กาบริเอลเลอกล่าว “และในฐานะห้องสมุดสาธารณะ เราต้องเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสและความเป็นไปได้ให้คนได้สำรวจค้นหาสิ่งต่างๆ สะกิดให้คนอยากรู้อยากเห็น โดยที่ไม่มีอะไรมาขวาง ไม่ต้องรู้สึกกดดันหรือถูกบังคับ และเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสบายใจเหมือนอยู่บ้านและมีช่วงเวลาที่ดีร่วมกับคนอื่นๆ ได้”
“สิ่งที่ทำให้ห้องสมุดสาธารณะต่างไปจากพื้นที่อื่นๆ คือการเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ทั้งให้ความเพลิดเพลิน ความสนุก และความรู้ไปพร้อมๆ กันด้วย ห้องสมุดเป็นพื้นที่พิเศษที่ไม่มีที่อื่นๆ ทดแทนได้ ผู้คนยังอยากเรียนรู้อยู่เสมอ เพียงแค่แต่ละคนเรียนรู้ด้วยวิธีการที่ต่างกันไป ห้องสมุดต้องเป็นผู้ที่เสนอหนทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย ถือเป็นความท้าทายของห้องสมุดที่ต้องปรับตัวให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้และกระตุ้นให้คนสนใจในความรู้ที่เรามี” สิริรัตน์กล่าว
ในประเทศไทย ห้องสมุดสาธารณะอาจไม่ใช่พื้นที่แรกๆ ในเมืองที่ผู้คนนึกถึง แต่เมื่อมองไปยังเยอรมนี กล่าวได้ว่าห้องสมุดสาธารณะคือส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนและเมือง
“สังคมเยอรมันมองว่าห้องสมุดสาธารณะคืออะไรบางอย่างที่เหมือนโรงเรียนหรือโรงเรียนอนุบาล คือเป็นที่ที่ต้องมีและทุกคนต้องสามารถเข้าถึงได้” กาบริเอลเลอเล่า “ห้องสมุดสาธารณะคือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน”
กาบริเอลเลอเล่าต่ออีกว่า ห้องสมุดสาธารณะในเยอรมันยังมีบทบาทสำคัญทางสังคมอีกด้วย นอกจากจะเป็นสถานที่นัดพบของวัยรุ่นหรือพื้นที่ที่ครอบครัวมาใช้เวลาเล่นและอ่านหนังสือร่วมกันแล้ว ห้องสมุดสาธารณะยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้อพยพอีกด้วย อย่างเช่นล่าสุดที่เกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย ห้องสมุดสาธารณะก็เป็นพื้นที่ที่เปิดรับให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาใช้หรือนั่งพักผ่อนได้โดยปราศจากความกังวล
ในการออกแบบห้องสมุดสาธารณะให้สัมพันธ์กับเมือง กาบริเอลเลอบอกว่าหัวใจสำคัญอยู่ที่ ‘ความต้องการ’ ของผู้คน
“ในเยอรมนี อำนาจและงบประมาณบริหารห้องสมุดสาธารณะอยู่ที่เมือง การจัดการหรือออกแบบห้องสมุดสาธารณะแต่ละแห่งในเยอรมนีจึงต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับแต่ละเมืองและขึ้นอยู่กับว่าความต้องการของคนในเมืองคืออะไร ห้องสมุดแต่ละแห่งจะต้องลองลงไปดูว่าใครคือประชากรในเมือง เช่น มีคนหนุ่มสาวมาก มีผู้สูงอายุมาก หรือว่ามีผู้อพยพ จากนั้นห้องสมุดค่อยหาจุดโฟกัสว่าจะออกแบบอย่างไร”
หากในเมืองมีผู้สูงอายุ ห้องสมุดจะเปิดให้มีคลาสสอนการใช้สมาร์ตโฟนหรืออินเทอร์เน็ต หากมีผู้อพยพจำนวนมาก ห้องสมุดจะจัดกลุ่มเรียนภาษาให้ หรือหากชุมชนรอบห้องสมุดมีคนหนุ่มสาวหรือคนตกงาน ห้องสมุดจะจัดเซสชันสอนเขียน CV เพื่อให้ยื่นสมัครงานได้
“ทุกวันนี้ห้องสมุดสาธารณะที่เยอรมนีมีความร่วมมือกับหลายๆ องค์กรภายนอก บางทีอาจจะร่วมมือจากหน่วยงานเอ็นจีโอในการจัดสอนภาษา หรือบางครั้งอาจจะร่วมมือจัดกิจกรรมกับโรงเรียนหรือมูลนิธิการอ่านก็ได้ ห้องสมุดสาธารณะไม่ได้ทำงานแยกจากหน่วยงานอื่นๆ เหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว แต่พยายามหาทางร่วมมือและใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีร่วมกันให้ได้มากที่สุด”
“ห้องสมุดสาธารณะพยายามจะซัพพอร์ตคนในสังคมและสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่คนสามารถมาเข้ามาขอข้อมูลที่ต้องการได้โดยไม่ต้องขวยเขินอับอายและไม่มีใครระรานได้” กาบริเอลเลอกล่าว
ขณะเดียวกัน เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่โอบรับความต้องการและความสนใจที่หลากหลาย ห้องสมุดสาธารณะบางแห่งในเยอรมนีก็ไปไกลกว่าการเป็นแค่ห้อง ‘สมุด’
“ที่เยอรมนีมีห้องสมุดสนุกๆ อยู่ มักจะจัดกิจกรรมสนุกๆ อยู่ตลอด อย่างห้องสมุดสาธารณะเมืองโคโลญจะจัดเป็นโปรแกรม เช่นว่าจะมีเวิร์กช็อป เกม หรือห้องสมุดดนตรี ซึ่งตอบโจทย์ความสนใจที่หลากหลายของผู้คนได้” สิริรัตน์เล่าจากประสบการณ์ที่ได้ไปสัมผัสห้องสมุดสาธารณะที่เยอรมนี “หรือก็มีห้องสมุดบางแห่งเหมือนกันที่โฟกัสไปที่เกมและผสานการเรียนรู้ลงไปด้วย”
ในวันที่การพัฒนาห้องสมุดสาธารณะกำลังเริ่มกลายเป็นประเด็นในเมืองทุกแห่งหนทั่วไทย กาบริเอลเลอมองว่าทุกอย่างเริ่มได้จาก ‘เจ้าหน้าที่ห้องสมุด’
“ห้องสมุดสาธารณะทุกแห่งพัฒนาได้เสมอ ไม่ใช่ว่าการออกแบบตกแต่งห้องสมุดให้สวยงามน่าเข้ามาใช้จะไม่สำคัญ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ห้องสมุดเป็นห้องสมุดที่ดีเสมอไป อย่างแรกเริ่มที่เจ้าหน้าที่ห้องสมุดที่พร้อมต้อนรับผู้เข้ามาใช้และคอยช่วยเหลือผู้ใช้ให้พบความรู้หรือข้อมูลที่ต้องการ ต่อให้ห้องสมุดไม่ได้ดูดีมากหรือเก่าหน่อย แต่ถ้ามีเจ้าหน้าที่ห้องสมุดที่ดี นั่นก็เป็นห้องสมุดที่ดีได้
“และจะดีได้ยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าห้องสมุดสาธารณะสามารถจัดซื้อและคัดสรรหนังสือและสิ่งอำนวยการเรียนรู้ใหม่ๆ เข้ามา อย่างหนึ่งที่กำลังเป็นเทรนด์ในเยอรมนีในตอนนี้คือ ห้องสมุดสาธารณะพยายามโละหนังสือหรือคอลเล็กชันเก่าๆ ที่ไม่มีใครใช้หรือไม่มีคนสนใจแล้วออกไปเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับของใหม่ๆ ที่น่าสนใจ และให้มีพื้นที่เพิ่มสำหรับจัดกิจกรรมและผู้ที่เข้ามาใช้ ห้องสมุดสาธารณะไม่เหมือนห้องสมุดประเภทอื่นๆ ที่จำเป็นต้องเก็บรวบรวมหนังสือและเอกสารสำคัญไว้ เพราะฉะนั้น ห้องสมุดต้องคอยดูแลคอลเล็กชันในห้องสมุดตลอดว่าจะเอาอะไรออกและจะเอาอะไรใส่เข้าไปเพิ่ม จะเป็นอะไรก็ได้”
สุดท้าย ในมุมมองสิริรัตน์ ผู้ออกแบบห้องสมุดควรต้องออกแบบห้องสมุดในแบบที่ทั้งคนออกแบบเองและผู้ใช้จะอยากเข้ามาใช้เหมือนกัน
“ห้องสมุดสาธารณะไม่ควรเป็นสถานที่สุดท้ายที่คนนึกถึง” เธอกล่าวทิ้งท้าย
ห้องสมุดต้องเป็นมากกว่าแค่ห้อง ‘สมุด’
ห้องสมุดมัลติมีเดียสมาคมฝรั่งเศส
“ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่ฝรั่งเศสเปลี่ยนไปเรียกห้องสมุดว่า mediathèque แล้ว” ซิลแว็ง บาโน ผู้อำนวยการสมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ (Alliance Française Bangkok) กล่าว
การเปลี่ยนคำเรียกจาก ‘ห้องสมุด’ (bibliothèque) ไปเป็น ‘ห้องสมุดมัลติมีเดีย’ (mediathèque) น่าจะสะท้อนความเปลี่ยนแปลงแนวคิดการจัดการและการออกแบบห้องสมุดสาธารณะในฝรั่งเศส – ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีนโยบายห้องสมุดสาธารณะและนโยบายวัฒนธรรมที่เข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่งได้ดีที่สุด
“ในช่วงแรก ห้องสมุดสาธารณะคือพื้นที่สำหรับรวบรวมหนังสือและเปิดให้ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ในปัจจุบัน ห้องสมุดสาธารณะกำลังกลายเป็นพื้นที่ที่มากกว่าแค่ที่นั่งอ่านหนังสือ แต่เป็นพื้นที่สำหรับพบปะแลกเปลี่ยนไอเดีย นั่งทำงาน co-working หรือทำกิจกรรมร่วมกัน” ซิลแว็งอธิบาย “การออกแบบพื้นที่ก็ต่างออกไป แต่ก่อนห้องสมุดสาธารณะจัดพื้นที่แค่ให้เพียงพอสำหรับคนนั่งอ่านหนังสือเท่านั้น แต่ตอนนี้เริ่มออกแบบให้มีพื้นที่เปิดมากขึ้น แยกเป็นโซนๆ สำหรับเด็ก สำหรับเล่นวิดีโอเกม สำหรับดูหนังฟังเพลง สำหรับนั่งทำงานอ่านหนังสือ หรือสำหรับกิจกรรมต่างๆ”
แม้หนังสือและสื่อใน ห้องสมุดมัลติมีเดียสาธารณะสมาคมฝรั่งเศสจะคัดสรรมาเพื่อผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสและผู้สนใจภาษา-วัฒนธรรมฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ เป็นการเฉพาะ แต่แนวทางการออกแบบก็สะท้อน ‘ความเป็นห้องสมุดมัลติมีเดียสาธารณะแบบฝรั่งเศส’ เช่นกัน – แน่นอนว่ามีพื้นที่โล่งโปร่งสำหรับผู้ที่เข้ามาใช้ (ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ภาษาฝรั่งเศสก็ตาม) และประเภทสื่อความรู้ที่พบได้ในห้องสมุดสาธารณะสมาคมฝรั่งเศสคือหนังสือ หนังสือการ์ตูน หนังสือภาพ ภาพยนตร์ เพลง บอร์ดเกม ไปจนถึงเครื่องเล่นเกม
“หลายคนอาจจะมีมุมมองว่าหนังสือคืออะไรบางอย่างที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับการเรียนรู้ แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือข้อมูลและเนื้อหา ข้อมูลและเนื้อหาคือส่วนผสมระหว่างไอเดียและถ้อยคำที่ถ่ายทอดออกมา หนังสือเป็นเพียงแค่สื่อกลางในการเก็บรักษาและส่งต่อไปยังผู้คน แต่โลกทุกวันนี้ยังมีสื่ออื่นๆ ที่ถ่ายทอดข้อมูลเหล่านี้ได้เหมือนกัน หรือเอื้อให้มีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้ได้ด้วย อย่างเช่นเวลาการเรียนภาษา ใช้หนังสือก็ดี แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าใช้แอปพลิเคชันหรือโปรแกรมเรียนภาษาร่วมด้วย
“แต่ไม่ได้หมายความว่าหนังสือไม่สำคัญอีกต่อไปนะ แค่อยากจะบอกว่าเราไม่ควรประเมินสื่ออื่นๆ ที่ใช้ในการเรียนรู้หรือเข้าถึงความรู้ต่ำไป” ซิลแว็งกล่าว “แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ห้องสมุดต้องคัดสรรด้วยว่าจะนำสื่ออะไรเข้ามาในคอลเล็กชันของห้องสมุดบ้างที่เหมาะสมและตอบโจทย์ผู้ใช้ห้องสมุด อาจจะเป็นเพลงหรือภาพยนตร์ก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีแต่สื่อที่ให้ความบันเทิงอย่างเดียว แต่ก็ต้องเลือกสื่อหลายๆ แนวที่ให้ความรู้ด้วยเพื่อให้มีความหลากหลาย”
บางสื่อในห้องสมุดก็อาจเป็นได้ทั้งสื่อที่จุดประกายการจินตนาการและประตูก้าวแรกสู่ห้องสมุดมัลติมีเดียเช่นกัน ซิลแว็งเล่าว่า ห้องสมุดมัลติมีเดียสาธารณะในฝรั่งเศสและห้องสมุดอื่นๆ ในหลายประเทศใช้บอร์ดเกมและวิดีโอเกมเพื่อดึงดูดและเปิดทางให้เด็กๆ หรือวัยรุ่นที่ไม่ได้สนใจหรือชอบอ่านหนังสือเข้ามาใช้พื้นที่ในห้องสมุดมัลติมีเดีย เมื่อเกมคือก้าวแรก หนังสือการ์ตูน หนังสือภาพ หนังสืองานศิลปะ หรือหนังสืออาจเป็นก้าวต่อไปในการเปิดโลก – และอาจไม่ใช่ครั้งสุดท้ายของคนที่จะก้าวเข้ามาใช้ห้องสมุดมัลติมีเดียเช่นกัน
“ที่จริงวิดีโอเกมก็ไม่ต่างจากหนังสือที่มีสตอรีดีๆ หรืองานศิลปะที่กระตุ้นจินตนาการหรือค้นพบเรื่องราวใหม่ๆ” ซิลแว็งกล่าว
แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าห้องสมุดมัลติมีเดียจะต้องเป็นไปเพื่อการเรียนรู้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ที่ฝรั่งเศส ซิลแว็งเล่าว่าห้องสมุดสาธารณะถือเป็น ‘พื้นที่วัฒนธรรมแรก’ ในเมือง ที่ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ไกลจากแหล่งความรู้ โรงละคร พิพิธภัณฑ์ หรือฮอลล์คอนเสิร์ตขนาดไหน หรือจะยากดีมีจนขนาดไหนก็สามารถเข้าถึงความรู้ เรียนรู้และเพลิดเพลินกับชีวิตทางวัฒนธรรมได้อย่างไม่มีข้อจำกัด อีกทั้งกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศสยังวางนโยบายให้ห้องสมุดสาธารณะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เชื่อมโยงกับโรงเรียน โรงพยาบาลหรือสมาคมต่างๆ ในเมืองเพื่อให้เข้าถึงผู้คนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ห้องสมุด มัลติมีเดียสาธารณะในฝรั่งเศสมียังมีอีกสถานะหนึ่ง นั่นคือ ‘สถานที่ที่สาม’ (The third place)
“การออกแบบห้องสมุดมัลติมีเดียในฝรั่งเศสช่วงหลังที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงคือ ห้องสมุดต้องมีพื้นที่ที่คนสามารถเข้ามาใช้เป็น co-working space ได้ หรือเข้ามานั่งผ่อนคลายเฉยๆ อ่านหนังสือนิดหน่อยแล้วงีบ เป็นเหมือนส่วนๆ หนึ่งในเมือง ซึ่งจริงๆ สำคัญมากที่เมืองควรจะมีพื้นที่แบบนี้ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะฉะนั้น ห้องสมุดมัลติมีเดียสาธารณะเลยพยายามปรับให้มีพื้นที่ที่ไม่ใช่แค่เก็บหนังสือ แต่ยังต้องมีพื้นที่สำหรับเด็กๆ พื้นที่สำหรับเป็นสนามเด็กเล่น ซึ่งที่ห้องสมุดมัลติมีเดียสมาคมฝรั่งเศสก็มีเหมือนกัน หรือพื้นที่สำหรับผู้ปกครอง พื้นที่สำหรับให้คนนั่งทำงาน หรือคนที่อยากจะเริ่มตั้งสตาร์ตอัป
“ในเมืองเล็กๆ ห้องสมุดมัลติมีเดียก็ยังเป็นพื้นที่ที่เปิดให้เด็กๆ หรือวัยรุ่นเข้ามาพบปะแล้วทำอะไรบางอย่างร่วมกันได้ด้วย อาจจะใช้คอมพิวเตอร์หรือเล่นเกมที่ห้องสมุดมัลติมีเดียมีให้ก็ได้ เพราะแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกบ้านที่มีของเหล่านี้ หรือสำหรับบางคนที่ไม่มีพื้นที่ส่วนตัวในบ้าน พื้นที่สาธารณะอย่างห้องสมุดก็ให้ความเป็นส่วนตัวได้เหมือนกัน”
“มันไม่ได้สำคัญว่าคนที่เข้ามาใช้ห้องสมุดมัลติมีเดียจะมานั่งอ่านหนังสือหรือยืมหนังสือออกไปหรือเปล่า แค่เข้ามาทำอะไรบางอย่างที่มีความหมายต่อชีวิต โดยที่ไม่ต้องรู้สึกว่ามีใครบังคับหรือตัดสินก็เพียงพอต่อการเป็นพื้นที่สาธารณะแล้ว”
สิ่งหนึ่งที่ห้องสมุดมัลติมีเดียสาธารณะฝรั่งเศสบางแห่งมี ซึ่งซิลแว็งมองว่าน่าสนใจและคิดว่าน่าจะเหมาะกับเมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่ไม่ค่อยมีพื้นที่สาธารณะคือ ร้านกาแฟในห้องสมุด เพื่อให้ห้องสมุดสาธารณะมีความเป็นพื้นที่สาธารณะและดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาใช้ห้องสมุดมากยิ่งขึ้น
“แค่พื้นที่สำหรับหนังสือหรือสื่อจึงไม่เพียงพอต่อการเป็นห้องสมุดมัลติมีเดียสาธารณะอีกต่อไป บางครั้งก็ต้องมีสิ่งอื่นๆ เพื่อให้คนเข้ามาใช้และรู้สึกดีขณะที่อยู่ในห้องสมุด และอยากกลับเข้ามาใช้ห้องสมุดอีกครั้ง”
เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรให้ห้องสมุดสาธารณะกลายเป็นพื้นที่ที่สำคัญต่อเมือง ซิลแว็งมองว่าส่วนหนึ่งอยู่ที่นโยบายสาธารณะ
“แม้ว่านโยบายจะออกมาอยู่แล้วว่าเมืองต้องมีห้องสมุดสาธารณะ แต่สิ่งที่ทำให้ห้องสมุดสาธารณะยังดำรงอยู่ได้คือการที่มีคนเข้าไปใช้เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเข้าไปทำอะไรก็ตาม” เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดในการออกแบบห้องสมุดสาธารณะจึงต้องเป็นไปเพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้ใช้
สุดท้าย ซิลแว็งมองว่า ห้องสมุดสาธารณะในอุดมคตินอกจากควรจะต้องสร้างบรรยากาศที่ดี มอบประสบการณ์การเรียนรู้แลกเปลี่ยนพบปะที่หลากหลายผ่านกิจกรรมต่างๆ แล้ว ยังจะต้องเป็นพื้นที่ที่เปิดให้คนเชื่อมต่อกับอนาคตอย่างเท่าเทียม
“ห้องสมุดควรเป็นพื้นที่ช่วยเชื่อมต่อให้ผู้คนได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะมาถึงในอนาคต เราอาจจะคิดว่าเมตาเวิร์สเป็นอะไรที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่นักตอนนี้ แต่สักวันหนึ่งอาจจะมีความสำคัญขึ้นมาก็ได้ ดังนั้น ห้องสมุดควรเป็นพื้นที่ที่เปิดและช่วยให้ผู้คนได้เข้าถึงช่องทางการเรียนรู้ที่กำลังจะมาถึง ไม่ว่าจะเป็นใคร หรือมีฐานะอย่างไรก็ตาม อย่างที่ห้องสมุดเคยเอื้อให้ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในเมื่อหลายสิบปีก่อนที่คอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตยังไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนมีที่บ้าน”