fbpx

เยอรมนี-อังกฤษ: ศักดิ์ศรีจากสงครามที่ตามมาชำระกันในสนามฟุตบอล

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา : วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

‘Two World Wars and One World Cup’ เป็นหนึ่งในบทเพลงเชียร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของแฟนบอลอังกฤษ แน่นอนว่า เมื่อฟังจากชื่อแล้วก็พอจะดูออกว่านี่อาจไม่ใช่เรื่องดีและมีกลิ่นอายของความเหยียดหยาม ปนกับความสูญเสียลอยมาพร้อมกับคำว่า ‘world wars’ แต่ไม่ใช่ว่านี่เป็นเพลงเชียร์ที่แฟนบอลอังกฤษจะร้องกันทั่วไปเวลาลงสนามเล่นฟุตบอลกับทีมไหนก็ได้ แต่นี่เป็นเพลงที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อใช้กับทีมชาติคู่อริเพียงชาติเดียวเท่านั้นของพวกเขา ชาติซึ่งคำว่า ‘สงครามโลกสองครั้ง’ ทำร้ายพวกเขามากกว่าใครอย่างเยอรมนี

ประโยคดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเกลียดชังระหว่างอังกฤษและเยอรมนีได้เป็นอย่างดี และสิ่งนั้นก็ยังคงดำรงอยู่ในวงการกีฬาระหว่างทั้งสองชาติในปัจจุบัน โดยเฉพาะกีฬายอดนิยมอย่างฟุตบอล ซึ่งแฟนของทั้งทัพ ‘สิงโตคำราม’ และ ‘อินทรีเหล็ก’ จะเขม่นกันเป็นพิเศษ เพราะนอกจากภูมิหลังในอดีตที่ทั้งสองชาติมีความไม่ลงรอยกันในสนามมาแล้ว บางส่วนยังถูกเพิ่มเติมเข้าไปจากประวัติศาสตร์ระหว่างทั้งสองชาติด้วย

นอกเหนือจากบทบาททางด้านการเมืองที่ทั้งอังกฤษและเยอรมนีดูเป็นกลุ่มชาติผู้นำของยุโรปร่วมกันแล้ว แต่บทบาทในสนามฟุตบอลทั้งสองชาติคืออริตัวเอ้ ที่นอกจากเป็นคู่แข่งขันกันแล้วยังมีความเกลียดชังฝังลึกและมีเรื่องราวมากมาย ทุกสังเวียนที่อังกฤษต้องลงฟาดแข้งกับเยอรมนีเต็มไปด้วยบรรยากาศที่แฟนทั้งสองทีมเข้ามาเต็มความจุสนามและโห่ใส่นักเตะคู่แข่งอย่างดุเดือด

หลายครั้งก็กลายเป็นเรื่องเป็นราวนอกสนามให้บรรดาชาติเจ้าภาพแข่งขันต้องตามล้างตามเช็ดกันต่ออีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในมุมมองของเกมกีฬาแล้ว แมตช์ฟุตบอลระหว่างอังกฤษและเยอรมนีถือเป็นแมตช์ฟุตบอลสุดคลาสสิก ที่สนุกทุกครั้งเมื่อทั้งคู่ลงมาเจอกัน โดยแต่ละแมตช์มักจะมีเรื่องราวและภาพจำของแต่ละเหตุการณ์มาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกปี 1966 ที่เจ้าภาพอังกฤษเอาชนะเยอรมนีตะวันตกไป 4-2 ประตู (สมัยนั้นเยอรมนียังแบ่งเป็นเยอรมนีตะวันตก-ตะวันออก) โดยนี่นับเป็นชัยชนะในฟุตบอลโลกครั้งเดียวของทัพสิงโตคำราม มาจนถึงดราม่ายิงจุดโทษ ในฟุตบอลโลก 1990 และ ยูโร 1996 หรือแม้กระทั่งการเจอกันครั้งล่าสุดในยูโร 2020 เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งอังกฤษ เอาชนะไปได้ 2-0 ก็เป็นแมตช์ที่ยอดเยี่ยมเช่นกัน

และนี่คือเรื่องราวของสองคู่ปรับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคู่หนึ่งในวงการฟุตบอลยุโรประดับชาติ ที่มีพื้นเพมาจากความขัดแย้งทางการเมือง – เรื่องราวระหว่าง ‘สิงโตคำราม’ อังกฤษ และ ‘อินทรีเหล็ก’ เยอรมนี

จากมิตรในสนามการค้าสู่ศัตรูในสมรภูมิสงคราม

แรกเริ่มเดิมทีสมัยที่เยอรมนียังเป็นราชอาณาจักรปรัสเซีย ความสัมพันธ์ของพวกเขากับสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษเป็นไปในแง่บวกมากกว่าแง่ลบ โดยเฉพาะในแง่ของการค้าแบบทวิภาคี ทั้งยังมีความร่วมมือกันในแง่การสนธิกำลังทหารในการต่อต้านศัตรูด้วย และหนึ่งในสงครามที่เป็นที่รู้จักคือการร่วมมือกันต่อต้านอำนาจของจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต ในช่วงศตวรรษที่ 18 (เป็นหนึ่งในสาเหตุของความเป็นอริกันตลอดกาลระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งหากมีโอกาสจะนำมาเล่าในอนาคตต่อไป)

จนเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 เมื่อสมาพันธรัฐเยอรมัน ซึ่งเป็นการรวมกันอย่างหลวมๆ ของบรรดารัฐเยอรมัน ทำให้เกิดแนวคิด ‘อุดมการณ์รวมกลุ่มเยอรมัน’ ซึ่งออตโต ฟอน บิสมาร์ก มุขมนตรีปรัสเซีย ต้องการแผ่ขยายอำนาจของราชวงศ์โฮเอ็นโซลเลิร์นแห่งปรัสเซียเข้าครอบงำรัฐเยอรมันอื่นๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายอันสูงสุดคือการรวมชาติเยอรมันที่มีปรัสเซียเป็นแกนนำ จนมีผลลัพธ์ออกมาเป็นจักรวรรดิเยอรมัน หรือ หรือ ไรซ์เยอรมัน ที่เกิดขึ้นในปี 1871

นั่นเองที่ทำให้บทบาทของเยอรมันกับอังกฤษเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการตั้งตัวเป็นคู่แข่งขันกันทั้งทางการทูตและกองทัพระหว่างไรซ์เยอรมันกับสหราชอาณาจักร ซึ่งในเวลาต่อมาส่งผลกระทบไปถึงการประกาศตัวเป็นศัตรูกันในสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างอังกฤษกับเยอรมนี โดยเฉพาะการแข่งขันเสริมสร้างกองทัพบกระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศสและการแข่งขันกันสะสมอาวุธทางทะเลระหว่างอังกฤษกับเยอรมนี ทำให้อังกฤษซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางทะเลไม่พอใจ บรรยากาศของความหวาดระแวงและไม่ไว้ใจกันจึงเริ่มก่อตัวขึ้น

แม้สงครามโลกครั้งที่ 1 จะจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรที่นำโดยทริปเปิล อองตองต์ (Triple Entente) ซึ่งประกอบไปด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย เหนือฝ่ายมหาอำนาจกลาง ที่มีทริปเปิล อัลไลแอนซ์ (Triple Alliance) อย่าง เยอรมนี ออสเตรีย และฮังการี แต่ไม่นานหลังจากนั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง และกลายเป็นเป็นการสู้รบที่ยากลำบากของฝ่ายสัมพันธมิตร ในการต่อต้านลัทธินาซี ที่มีเยอรมนีเป็นผู้นำ แม้ว่าสุดท้ายฝ่ายสัมพันธมิตรที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาจะเป็นฝ่ายได้ชัยจากสงครามครั้งนี้ แต่ชาติที่เสียหายจากสงครามครั้งนี้อย่างหนักก็หนีไม่พ้นชาติบ้านใกล้เรือนเคียงของเยอรมนีอย่างฝรั่งเศสและอังกฤษ ที่ประชาชนของเขาพวกเขาได้รับลูกหลงและมองว่าเยอรมนีในขณะนั้นคือชาติผู้ร้ายสำหรับพวกเขาอย่างยากจะหลีกเลี่ยงไปแล้ว

อินทรีเหล็ก – ผู้ยิ่งใหญ่ตัวจริงในเวทีลูกหนัง

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง เยอรมนีถูกแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็นเยอรมันตะวันออกและเยอรมันตะวันตก ตามยุคสมัยของสงครามเย็น ซึ่งทำให้พวกเขาไม่ได้ไปก่อสงครามอะไรที่ไหนอีก อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ฉายแววขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่เยอรมนีแตกเป็นเยอรมันตะวันออกและตะวันตก คือฝีเท้าในการเล่นฟุตบอลของพวกเขาที่ผงาดขึ้นมาคว้าแชมป์โลกในนามเยอรมันตะวันตกได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในฟุตบอลโลกปี 1954 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงเพียงแค่ 7 ปีเท่านั้น

หลังจากนั้นมา เยอรมันตะวันตกที่เป็นประเทศประชาธิปไตย ก็พัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อนำไปเทียบกับเยอรมันตะวันออกที่ถูกปกครองในรูปแบบคอมมิวนิสต์ เฉกเช่นเดียวกับกับฝีเท้าของพวกเขาในสนามฟุตบอล เพราะหลังจากนั้น เยอรมันตะวันตกเรียกได้ว่าก้าวขึ้นมาเป็น ‘ตัวเอ้’ แห่งวงการลูกหนังยุโรปหลังจากได้แชมป์โลกครั้งแรกในปี 1954

ในฟุตบอลโลกอีก 5 ครั้งหลังจากปี 1954 หรือในรอบ 20 ปีถัดมาผลงานแย่ที่สุดของเยอรมนีตะวันตกคือการตกรอบก่อนรองชนะเลิศ โดยได้แชมป์เพิ่มอีก 1 สมัยเป็นสมัยที่ 2 ในปี 1974, ได้อันดับที่ 2 อีก 1 หน ในปี 1966 ทั้งยังได้ที่ 3 และ 4 อีกอย่างละครั้ง ในปี 1970 และ 1958 ตามลำดับ และเมื่อนับจนถึงปัจจุบัน เยอรมนีก็เป็นทีมที่ได้แชมป์โลกไปแล้วถึง 4 สมัยด้วยกัน

ไม่เพียงแค่นั้น แม้กระทั่งในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหรือฟุตบอลยูโร ทีมชาติเยอรมนีก็ถือเป็นเจ้าแห่งถ้วยนี้ เพราะนับตั้งแต่มีการก่อตั้งการแข่งขันรายการนี้ขึ้นมาในปี 1960 ก็เป็นเยอรมนีที่ประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์รายการนี้มากที่สุด ด้วยการคว้าแชมป์ได้ 3 สมัย (เทียบเท่าสเปน) ในปี 1972 1990 และ 1996 อีกด้วย ทำให้พวกเขากลายเป็นทีมฟุตบอลระดับชาติที่หาตัวจับยากไปแล้ว

นั่นแปรผันไปพร้อมๆ กับสภาพสังคมที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ของเยอรมันตะวันตก และยิ่งเมื่อกำแพงเบอร์ลินทลายลงในปี 1989 จนนำมาสู่การรวมกันของเยอรมันตะวันออกและเยอรมันตะวันตกอีกครั้ง เยอรมนีก็พัฒนากลายมาเป็นชาติแนวหน้าของยุโรปอย่างแท้จริง และเป็นชาติอันดับต้นๆ ของสหภาพยุโรปหรืออียูไปโดยปริยาย

สิงโตคำราม – ผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่ประสบความสำเร็จ

ตัดภาพมาที่ประเทศผู้ชนะสงครามอย่างอังกฤษ แม้ว่าจะชนะสงครามแต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อังกฤษต้องเผชิญหน้านั้นสูงมาก พวกเขาต้องค่อยๆ ปล่อยมือจากประเทศอาณานิคมและปล่อยให้ทยอยได้รับเอกราชเพื่อปกครองตัวเองกันตามลำดับเพื่อลดภาระทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามบทบาทของพวกเขาในเวทีโลกและเวทียุโรปก็ยังได้รับความยำเกรงและ เกรงใจอยู่เสมอมา …แต่ความเกรงใจเหล่านั้น แทบไม่ได้ถูกส่งมาถึงสนามฟุตบอลด้วยเลย

ตรงข้ามกับผู้พ่ายแพ้ในสงครามอย่างเยอรมนี อังกฤษประสบความสำเร็จน้อยมากในเวทีฟุตบอลในระดับชาติ แม้จะเป็นชาติมหาอำนาจและมีความยิ่งใหญ่ แถมยังเป็นชนชาติที่เคลมว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่พวกเขาคิดค้นขึ้น แต่ทีมชาติอังกฤษเคยได้แชมป์ฟุตบอลโลกเพียงแค่ครั้งเดียวในปี 1966 แถมเป็นการได้แชมป์ในการแข่งขันที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพด้วย (นี่เองที่เป็นที่มาของประโยค ‘Football’s coming home’) โดยนอกจากการคว้าแชมป์โลกในปี 1966 แล้ว ผลงานที่ดีที่สุดของอังกฤษรองจากนั้น คือการคว้าอันดับที่ 4 ในฟุตบอลโลกได้อีกสองครั้งในปี 1990 และ 2018

ส่วนที่รันทดกว่าคือผลงานของพวกเขาในเวทีฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหรือฟุตบอลยูโร เพราะอังกฤษไม่เคยเลยแม้แต่ครั้งเดียวที่จะคว้าแชมป์ในถ้วยนี้มาครองได้ ผลงานดีที่สุดของพวกเขาคือการแพ้ลูกที่จุดโทษต่อแชมป์ทีมล่าสุดอย่างอิตาลี ในรอบชิงชนะเลิศยูโร 2020 (ที่จัดในปี 2021) โดยนอกจากนั้น คือการได้อันดับที่ 3 ไปอีกสองครั้ง ในปี 1968 และ 1996 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพเท่านั้น

ยิ่งถ้าเมื่อเอาความสำเร็จของอังกฤษในเวทีฟุตบอลไปเทียบกับชาติมหาอำนาจในยุโรปอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มประเทศมหาอำนาจ G7 (Group of Seven) ด้วยกัน อย่าง ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ความสำเร็จที่พวกเขาทำได้ก็ดูจะเป็นรองแบบสุดกู่ เพราะทั้งเยอรมนีกับอิตาลีต่างเคยได้แชมป์โลกมาแล้ว 4 สมัย ส่วนฝรั่งเศสเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก 2 สมัย และสถิติความเป็นรองในเวทีฟุตบอลยุโรปของอังกฤษยิ่งชัดเจนกว่าเดิม เมื่อไปดูในการแข่งขันฟุตบอลยูโร โดยอังกฤษกลายเป็นชาติ G7 ชาติเดียวในยุโรปที่ไม่เคยได้แชมป์รายการนี้ ขณะที่เยอรมนีได้แชมป์รายการนี้มากที่สุด 3 สมัย ส่วนอิตาลีกับ ฝรั่งเศสได้ชูถ้วย ‘อองรี เดอ โลเนย์’ ไปแล้วชาติละ 2 สมัยด้วยกัน

2 สงครามโลก 1 ฟุตบอลโลก

ความไม่ชอบขี้หน้าเยอรมนีของอังกฤษอาจจะมาจากเรื่องราวในประวัติศาสตร์ และความเจ็บปวดจากอดีตที่ทั้งสองฝ่ายเคยทำสงครามห้ำหั่นกันมาก่อน แต่ความเป็นปฏิปักษ์กันนอกสนามของแฟนบอลทั้งสองชาติ ไม่ได้มาจากเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายของความคับแค้นใจ และความเป็นลูกไล่ที่ต้องการจะขึ้นมาเป็นผู้นำของอังกฤษด้วย โดยเฉพาะที่พวกเขาคิดว่าฟุตบอลคือกีฬาที่มาจากชาติของเขาด้วยแล้ว ความพ่ายแพ้ต่อคู่แข่งหน้าเดิมบ่อยๆ ครั้ง ไม่ใช่อะไรที่น่าจะยอมรับได้ง่ายๆ เลย

หากไม่นับเกมอุ่นเครื่องต่างๆ ที่เจอกันมานับครั้งไม่ถ้วน อังกฤษกับเยอรมนีเจอกันมาทั้งหมด 8 ครั้งในรายการระดับเมเจอร์อย่างฟุตบอลโลกหรือฟุตบอลยูโร ซึ่งส่วนมาก ชัยชนะตกอยู่กับฝั่ง ‘อินทรีเหล็ก’ ไม่ใช่ ‘สิงโตคำราม’ และนอกเหนือจากจำนวนชัยชนะที่มีจำนวนครั้งมากกว่า แบบ 6 ต่อ 2 ครั้งแล้ว แต่ละครั้งมันฝังรอยแค้นแบบยากจะลืมเลือนให้กับแฟนบอลอังกฤษไปในคราวเดียวกันด้วย

ย้อนกลับไปฟุตบอลโลก 1966 รอบชิงชนะเลิศ อังกฤษจัดการฝังรอยแค้นให้เยอรมนี ด้วยการยิงดับ 4-2 ส่งให้พวกเขากลายเป็นแชมป์โลก ครั้งแรกและครั้งเดียวจนถึงปัจจุบัน แต่มันก็กลายเป็นไฟที่ทำให้เยอรมนียกระดับตัวเองก่อนมาล้างแค้นได้สำเร็จในอีกหลายครั้งต่อมา

สถิติการเจอกันทั้ง 8 ครั้ง มีเพียงแค่ ฟุตบอลโลก 1966 และยูโร 2020 ที่ผ่านมาเท่านั้น ที่อังกฤษเอาชัยเหนือเยอรมนีได้ ส่วนที่เหลือคือโดน ‘อินทรีเหล็ก’ เขี่ยตกรอบทั้งหมด โดยเฉพาะในศึกยูโร 1996 รอบตัดเชือก อังกฤษเป็นเจ้าภาพ แต่ดันแพ้จุดโทษ เยอรมนี 5-6 หลังเสมอกัน 1-1 ในเวลาปกติ อดเข้าชิง สร้างความเจ็บช้ำแก่แฟนบอลทั่วประเทศ

แถมต่อมาใน ฟุตบอลโลก 2010 รอบ 16 ทีมสุดท้าย ก็ยังเป็นเยอรมนีที่เล่นเหนือกว่า ซัดอังกฤษ ดับ 4-1 ส่ง ‘สิงโตคำราม’ ตกรอบแบบเจ็บปวดอีกครั้ง แต่สิ่งที่เจ็บปวดกว่าคือประตูที่แฟรงค์ แลมพาร์ด ที่แม้แฟนบอลทั่วโลกจะเห็นว่าบอลข้ามเส้นไปแล้ว ทว่ายุคนั้นยังไม่มีภาพช้าจาก VAR ทำให้ผู้ตัดสินไม่ให้ประตูนั้นแก่อังกฤษ ส่งผลกระทบต่อรูปเกมที่ควรจะเปลี่ยนแปลงไปเข้าทาง ‘สิงโตคำราม’ แต่กลับไม่เกิดขึ้นจนสุดท้ายต้องพ่ายไป

ทั้งหมดนั้นเอง ล้วนแต่เป็นความอัดอั้นที่แฟนบอลอังกฤษพยายามหาอะไรมา ‘ขิง’ ใส่เยอรมนีให้ได้บ้าง และเมื่อความสำเร็จสู้เขาไม่ได้ ก็คงต้องเป็นเรื่องราวของประวัติศาสตร์นี่แหละ ที่ถูกยกมาพูดถึงกัน จนกลายเป็นเพลงเชียร์ “Two World Wars and One World Cup” เพลงนี้

ไม่มีใครรู้ที่มาอันแน่นอนของ เพลงเชียร์ของแฟนอังกฤษเพลงนี้ แต่จากเนื้อหาสันนิษฐานได้ว่าต้องถูกแต่งขึ้นหลังจากปี 1966 หลังจากที่อังกฤษได้แชมป์โลกครั้งแรก และน่าจะหลังจากนั้นหลายปี เนื่องจากเป็นเพลงที่ถูกใช้เพื่อโจมตีทีมชาติเยอรมนีโดยตรง ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าอาจจะถูกแต่งในต้นยุค 80 ต่อยุค 90 ที่อังกฤษต้องพ่ายแพ้ต่อเยอรมนีบ่อยๆ จนเกินจะทน

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเพลงเชียร์ที่โด่งดัง แต่ก็อื้อฉาวไปในตัวและเนื้อหาของมันเอง และอาจจะส่งผลกระทบไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ไม่ยาก ทำให้ในช่วงก่อนฟุตบอลโลก 2006 ที่ประเทศเยอรมนี สำนักงานต่างประเทศและเครือจักรภพพยายามห้ามแฟนๆ ชาวอังกฤษจากการร้องเพลงในประเทศเจ้าภาพ เพราะนอกจากจะเสียมารยาทแล้ว ยังทำให้ผู้ร้องเองไม่ปลอดภัยด้วย

อย่างไรก็ตาม เพลงเชียร์เพลงนี้ไม่เคยหายไปไหน เพราะล่าสุดในยูโร 2020 ที่อังกฤษเอาชนะเยอรมนี ไปได้ 2-0 เสียงเพลงเชียร์นี้ยังดังกระหึ่มในสนามเวมบลีย์อยู่ดี…

ปัจจุบันของความขัดแย้ง

77 ปีหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับเยอรมนีก็เปลี่ยนแปลงไปสู่ความร่วมมือมากขึ้น ยกเว้นเพียงแค่การเผชิญหน้ากันในสนามกีฬาเท่านั้น ที่ทั้งสองชาติยังไม่ค่อยจะลงรอยกันเท่าไหร่ และมีเรื่องกระทบกระทั่งให้เห็นเป็นระยะ ซึ่งนั่นเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความขัดแย้งระหว่างแฟนบอลทั้งสองชาติที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

จากข้อมูลของรัฐบาลสหราชอาณาจักรรายงานว่ามีชาวเยอรมัน 126,000 คนอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรในปี 2013 และข้อมูลของรัฐบาลเยอรมันรายงานว่ามีชาวอังกฤษ 107,000 คนที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีในปี 2016 นั่นเป็นตัวเลขที่พอจะยืนยันได้อย่างดีว่า ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองชาติที่เกิดขึ้นในอดีตเบาบางลงไปมาก และอาจจะคงเหลือแค่เรื่องราวในสนามฟุตบอลที่เปรียบเสมือนสงครามตัวแทนเท่านั้น

จากมุมมองของสจ๊วร์ต ไดค์ส ชายผู้ซึ่งถือสองสัญชาติ ที่ย้ายจากอังกฤษมาอยู่เยอรมนีในปี 1987 ซึ่งเขาเป็นแฟนฟุตบอลตัวยง ทั้งยังเคยทำงานในสำนักงานของสองสโมสรในศึกบุนเดสลีกามาแล้ว เขาอธิบายความขัดแย้งระหว่างแฟนบอลอังกฤษและเยอรมนีในมุมมองของเขาได้ดังนี้

“ทีมชาติเยอรมนีกับทีมชาติอังกฤษเป็นสองชาติที่ยิ่งใหญ่และมีเรื่องราวของตัวเอง แน่นอนว่าสำหรับเยอรมนี ในแง่ของฟุตบอลแล้ว อาจจะมีเกมที่ยิ่งใหญ่กว่าถ้าพวกเขาไปเจอกับทีมชาติอื่น ทว่านั่นนับจากมุมมองของฟุตบอลอย่างเดียว แต่ไม่ใช่จากภูมิหลังทั้งหมด ประวัติศาสตร์ ความหมายของเกมการแข่งขัน ดังนั้นเกมระหว่างอังกฤษกับเยอรมนีจึงเป็นเกมที่พิเศษ

“อังกฤษเป็นบ้านของฟุตบอล เวมบลีย์คือบ้านของฟุตบอล แต่เยอรมนีคือชาติที่ครองความยิ่งใหญ่มากที่สุดในวงการลูกหนังยุโรป เมื่อเรามองแค่นี้ เราก็พอจะเห็นความพิเศษของเกมได้ไม่ยาก”

นี่อาจจะเป็นวิวัฒนาการของความขัดแย้งในฝันของบรรดาคู่แค้นหลายคู่ที่ต่างปวดหัวเมื่อแฟนบอลเอาเรื่องราวในอดีตมาผสมปนเปกับการแข่งขันในปัจจุบันอยู่ เพราะดูเหมือนว่าอังกฤษและเยอรมนีจะสามารถ ‘มูฟออน’ จากเรื่องราวในอดีต และมาฟาดฟันกันในสนามได้โดยที่ไม่มีเรื่องเหล่านั้นมาเกี่ยวข้องมากนัก แม้ว่าเรื่องราวในอดีตจะถูกส่งต่อมาทำให้ต่างฝ่ายต่างเจ็บๆ คันๆ กันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีใครเกินเลยจนทำให้มีผู้คนต้องบาดเจ็บและได้รับลูกหลงจากเกมกีฬา

เมื่อเกมในสนามจบลง แฟนบอลก็จบตามไปด้วยและหันมาเป็นเพื่อนกันได้ นี่อาจจะเรียกได้ว่า ‘คู่ปรับในฝัน’ เลยก็ได้…

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save