fbpx

สเปน-โมร็อกโก: คู่ปรับข้ามทวีปบนความขัดแย้งแห่งประวัติศาสตร์

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา: วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

ภาพชัยชนะของทีมชาติโมร็อกโก จากการดวลจุดโทษเอาชนะสเปน 3-0 หลังเสมอกันในเวลา 120 นาที 0-0 ของศึกฟุตบอลโลก 2022 ที่ผ่านมา เต็มไปด้วยการฉลองชัยชนะอย่างสุดเหวี่ยงของบรรดานักเตะ สตาฟฟ์โค้ช รวมถึงชาวโมร็อกโกที่อยู่ทั้งในและนอกประเทศ โดยทั้งหมดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือมีความสุข สมหวัง สะใจ และเต็มไปด้วยความปีติยินดีอย่างล้นเหลือ เพราะนี่เป็นชัยชนะเหนือชาติที่เหนือกว่าทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม ความเป็นอยู่ และรวมถึงประวัติศาสตร์ฟุตบอล นอกจากนี้แล้วสเปนยังเป็นชาติที่ ‘มีประเด็น’ สำหรับชาวโมร็อกโกในอดีตมาอย่างยาวนานด้วย ชัยชนะของทัพ ‘สิงโตแอตลาส’ ในเกมนี้จึงมีความหมายมากกว่าการเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์เท่านั้น

หากนับเฉพาะ ‘ประวัติศาสตร์ฟุตบอล’ ก่อนฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์เป็นเจ้าภาพจะเปิดฉากขึ้น ทีมชาติโมร็อกโกกับทีมชาติสเปนพบกันเพียงแค่ 3 ครั้ง และทัพ ‘กระทิงดุ’ ไม่เคยพ่ายต่อชาติจากแอฟริกาชาตินี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว โดยครองสถิติชนะ 2 เสมอ 1 ซึ่งการแพ้ในฟุตบอลโลก ถือเป็นความพ่ายแพ้ต่อโมร็อกโกครั้งแรกบนสังเวียนสนามหญ้าอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากรวมแมตช์ในฟุตบอลโลกที่ผ่านมาแล้ว การเจอกันทั้งหมด 4 ครั้งของทีมฟุตบอลชุดใหญ่ของทั้งสองชาติ ถือเป็นจำนวนที่น้อยมากสำหรับประเทศที่มีอาณาเขตติดกัน โดยทั้งสองชาติถูกคั่นระหว่างกันด้วยช่องแคบยิบรอลตาร์ที่มีความยาวเพียง 13 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งถือเป็นระยะทางที่ใกล้มาก ชนิดที่ว่าในวันที่อากาศแจ่มใส ผู้คนสามารถมองเห็นอีกฟากฝั่งได้เลยทีเดียว

แล้วทำไมสองชาติที่มีอาณาเขตใกล้ชิดกันขนาดนั้น กลับมีเกมฟุตบอลที่เล่นกันในหน้าประวัติศาสตร์ทั้งหมดเพียงแค่ 4 เกมเท่านั้น?

เหตุผลของคำตอบนั้นง่ายดายและธรรมดามาก นั่นเพราะทั้งสองชาติมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่ค่อยจะลงรอยกันสักเท่าไหร่ โดยหากนับตั้งแต่ยุคก่อนที่ฝรั่งเศสและสเปนจะเข้ามายึดครองโมร็อกโกในปี 1912 โมร็อกโกกับสเปนก็มีปัญหากันในเรื่องข้อพิพาทเหนือดินแดนเซวตา (Cueta) อยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่ช่วง 1694-1727 ที่สุลต่านเมาเล อิสมาอีล แห่งโมร็อกโก พยายามขับไล่ชาวยุโรปและพวกเติร์กออกจากแอฟริกาเหนือ แต่ไม่สามารถตีนครรัฐเซวตาของสเปนแตก และนครรัฐแห่งนี้ก็ยังสามารถทนการปิดล้อมโจมตีจากทางโมร็อกโกได้ถึง 33 ปี

แม้เมื่อเวลาผ่านไปอีกกว่า 200 ปี หลังจากโมร็อกโกได้เอกราชจากสเปน ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติบ้านใกล้เรือนเคียงนี้ก็มีปัญหากันเนื่องๆ เป็นระยะ จากหลายสาเหตุที่ต่างกรรมต่างวาระ โดยเรื่องใหญ่ที่สุดก็เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องของการพยายามอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของชาวโมร็อกโก ที่พยายามจะมาแสวงหาโอกาสในสเปน และข้อพิพาทระหว่างทั้งสองชาติเหนือดินแดนเซวตาและเมลียา (Melilla)

ดังนั้นการเจอกันของสเปนกับโมร็อกโกในฟุตบอลโลกที่ผ่านมา จึงเป็นมากกว่าแค่เกมฟุตบอลทั่วไป แต่มันคือเวทีที่โมร็อกโกต้องการพิสูจน์ศักดิ์ศรีและต้องการชัยชนะเหนือสเปน ประเทศที่เป็นคู่อริและเคยกดขี่พวกเขามาก่อนด้วย

แม้ทั้งสองชาติจะไม่ใช่ The Rivalry ตลอดกาลในวงการกีฬาอันเนื่องมาจากสาเหตุด้านความสัมพันธ์ แต่ศักดิ์การเจอกันในสนามของคู่นี้นั้นนั้นเกินกว่าคู่ปรับทั่วๆ ไปด้วยซ้ำ

33 ปีที่ปิดล้อมเซวตา – การขับไล่ชาวยุโรปออกจากโมร็อกโก

เซวตาเป็นเมืองที่ปกครองตนเองของประเทศสเปนที่มีเนื้อเพียง 28 ตารางกิโลเมตร ตั้งติดกับโมร็อกโกซึ่งอยู่ในทวีปในแอฟริกาตอนเหนือ บริเวณชายฝั่งด้านใต้ของช่องแคบยิบรอลตาร์ แม้จะบอกว่าตั้งอยู่ติดกับโมร็อกโกก็ตาม แต่เซวตาก็ห่างจากสเปนเพียง 14 กิโลเมตร และปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป เพราะถือว่าดินแดนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสเปนเช่นกัน

แรกเริ่มเดิมที เมืองเซวตาแห่งนี้เคยตกเป็นของโปรตุเกสตั้งแต่ปี 1415 และถูกปกครองโดยโปรตุเกสยาวนานถึง 225 ปี ก่อนมาตกเป็นของสเปนในปี 1640 ต่อมาในปี 1694 ชื่อของเซวตา ก็เริ่มถูกกล่าวขานในฐานะเมืองที่ ‘มิอาจทำให้สยบ’ และถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ หลังจากที่สุลต่าน เมาเล อิสมาอีล แห่งโมร็อกโก ตัดสินใจเปิดฉากขับไล่ชาวยุโรปออกจากแอฟริกาเหนือได้เกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียงแค่เซวตาที่เป็นปราการเพียงแห่งเดียวที่สามารถยืนหยัดต่อต้านการล้อมโจมตีของข้าศึกได้ถึง 26 ปี และหลังจากที่ข้าศึกถอยกลับออกไปแล้วเพียงไม่กี่เดือนก็กลับมาอีกและเข้าล้อมโจมตีอีก 7 ปีเต็มแต่ก็ไม่สามารถยึดครองเมืองแห่งนี้ได้

หลังจากนั้นก็มีความพยายามประปรายจากโมร็อกโก ที่พยายามตีเมืองเซวตาให้แตกพ่ายและกลายเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา โดยสุลต่านหลายองค์ รวมถึงชนพื้นเมืองมองไปในทิศทางเดียวกันว่าเซวตาควรเป็นส่วนหนึ่งของโมร็อกโกมากกว่าของสเปน เนื่องจากพื้นที่ของดินแดนแห่งนี้ติดกับพื้นที่ของพวกเขาและในทางกลับกัน การมีดินแดนของสเปนมาติดดินแดนของพวกเขาโดยไม่ได้ถูกกั้นโดยทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหรือมหาสมุทรแอตแลนติกนั้น เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้และผิดวิสัยอย่างมาก แต่จนแล้วจนรอด เซวตาก็ไม่เคยแตกพ่าย

นับตั้งแต่นั้นมาเซวตาก็เป็นเหมือนหนามยอกอกของโมร็อกโก ที่ต้องการจะดึงมันออกไปแต่ก็ไม่เคยทำสำเร็จ แต่ขณะเดียวกัน เมืองแห่งนี้ก็เป็นเหมือนชนวนเหตุอีกอย่าง ที่ทำให้โมร็อกโกและสเปนเริ่มงัดข้อกันมาเรื่อยๆ จนนำมาสู่เรื่องราวอีกมายมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนับจากนั้นจวบจนปัจจุบัน

43 ปีที่ถูกยึดครอง – การตกเป็นอาณานิคมของโมร็อกโก

กาลเวลาผ่านจากยุคของสุลต่าน เมาเล อิสมาอีล มาเนิ่นนานนับศตวรรษ การเมืองในโมร็อกโกก็เปลี่ยนแปลงไปหลายยุคหลายสมัย แต่สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนไปคือความเป็นอริกันระหว่างสเปนกับโมร็อกโก ก่อนที่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญจะเดินทางมาถึงอีกครั้ง เมื่อฝรั่งเศสเริ่มเข้ายึดครองโมร็อกโกในปี 1907 และหลังจากนั้นสเปนซึ่งเป็นคู่อริแต่เก่าก่อนของโมร็อกโกก็มามีเอี่ยวด้วยในปี 1912 หลังจากที่โมร็อกโกกลายเป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์

แต่ก่อนจะถึงเหตุการณ์นั้นก็มีเวลาที่คลื่นลมระหว่างสเปนกับโมร็อกโกสงบเช่นกัน เพราะในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ราวปี 1863 หรือหลังจากนั้น คณะผู้แทนทางการทูตของสเปนนำโดยฟรานซิสโก เมร์รี เย โกลอม (Francisco Merry y Colom) ถูกส่งไปยังราชสำนักของสุลต่านโมร็อกโกในเมืองมาราเกช (Marrakesh) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับ มูลีย์ เอล-อับบาส น้องชายของสุลต่านผู้มีความฝักใฝ่สเปน เพื่อเปิดทางสู่การทำการค้าระหว่างกันในเซวตาและเมลียา การเจริญสัมพันธ์ครั้งนั้นเป็นไปด้วยดี และโมร็อกโกยอมเปิดท่าเรืออากาดีร์แก่เรือสเปน พร้อมทั้งยังอำนวยความสะดวกในการจัดหาเนื้อสัตว์ให้เซวตา และการปรับปรุงสถานะของชาวสเปนในโมร็อกโกด้วย

หลังการเจริญสัมพันธไมตรีดังกล่าว ความสัมพันธ์ระหว่างสเปนและโมร็อกโก ดูเหมือนจะดีขึ้นและมีการส่งทูตไปมาระหว่างทั้งสองประเทศอีกหลายครั้ง แต่หลังจากความพยายามในการขยายอำนาจของฝรั่งเศสเข้ามาในดินแดนของโมร็อกโก ซึ่งอันที่จริงฝรั่งเศสให้ความสนใจในดินแดนของโมร็อกโกมาช้านานแล้ว แต่ยังไม่มีเหตุผลในการเข้าครอบครอง จนกระทั่งมีการลอบสังหารเอมิล เมาช็องส์ คุณหมอชาวฝรั่งเศส ที่ทำธุรกิจด้านเวชภัณฑ์ในโมร็อกโกเมื่อปี 1907 นั่นเป็นเหตุผลที่ดีในการเปิดฉากรุกรานโมร็อกโกของฝรั่งเศส

สงครามดำเนินอยู่นาน 5 ปี ก่อนจะมาสิ้นสุดในวันที่ 30 มีนาคม 1912 หลังจากสุลต่าน อับดุล อัล-ฮาฟิด ยอมลงนามในสนธิสัญญาเฟซ โดยยกอำนาจอธิปไตยของโมร็อกโกให้กับฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ เปลี่ยนโมร็อกโกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส พร้อมกันนั้นฝรั่งเศสก็ยังพูดคุยกับสเปนเพื่อแบ่งปันพื้นที่ในโมร็อกโก โดยในสนธิสัญญาเฟซระบุให้ฝรั่งเศสเข้าปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของโมร็อกโก โดยพวกเขาย้ายเมืองหลวงไปที่กรุงราบัต ซึ่งจะกลายเป็นเมืองหลวงของโมร็อกโกจวบจนปัจจุบัน ขณะที่สเปนจะได้ปกครองพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนโดยให้ เมืองเตตูอาน (Tetouan) เป็นเมืองหลวงของเขตการปกครองสเปนในโมร็อกโก โดยจะรวมกับเขตเซวตากับเมลียาที่สเปนครองแต่เดิม และพื้นที่ทางตอนใต้อย่างดินแดนซานตา ครูซ เด ลา มาร์ เปเกญา ที่โมร็อกโก เคยลงนามให้สเปนเป็นผู้ดูแลจากสนธิสัญญา วาด ราส ในปี 1860 ซึ่งเมื่อโมร็อกโกไร้อำนาจอธิปไตยในการปกครองตัวเอง ดินแดนแห่งนี้ก็กลายเป็นพื้นที่ในอารักขาของสเปนไปโดยปริยาย

แน่นอนว่า การเข้ามายึดครองโมร็อกโกของฝรั่งเศสและสเปน ต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากชาวบ้านในพื้นที่ หลายเมืองเกิดการจลาจล โดยเฉพาะใน เฟซ, อูจาดา และปาซา โดยชาวโมร็อกโกไม่ต้องการให้ชาวสเปนและฝรั่งเศสเข้ามาหาประโยชน์จากผืนแผ่นดินของตน และการจลาจลก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนในปี 1921 กองกำลังชาวโมร็อกโก ที่นำโดยอับเดล คาริม สามารถเอาชนะกองทัพทหารสเปนจำนวน 20,000 นายได้ในแคว้นริฟ (Rif) แต่ถึงอย่างนั้นฝั่งสเปนและฝรั่งเศสก็สนธิกำลังกันเขาปราบปรามจนสำเร็จในเวลาต่อมา

การลุกขึ้นต่อต้านของอับเดล คาริม แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาของโมร็อกโก ออกมาเรียกร้องเสรีภาพและเอกราชจากฝรั่งเศสและสเปน จนเกิดเป็นการจัดตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มชาตินิยมชื่อว่าอิสติกวาลาล (Istiqualal) ที่แปลว่าเอกราช ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการเรียกร้องเอกราชของชาติจากฝรั่งเศส

มีการระบุว่าสมาชิกพรรคอิสติกวาลาลเพิ่มขึ้นจากราว 10,000 คน เป็น 100,000 คน ภายในเวลาเพียง 4 ปี และการที่พรรคนี้ได้รับการสนับสนุนจากสุลต่าน โมฮัมเหม็ด ที่ 5 แม้พระองค์จะถูกกักบริเวณและถูกเนรเทศไปยังเกาะมาดากัสการ์ ทำให้พรรคนี้ยังมุ่งมั่นและแน่วแน่ในการเรียกร้องอิสรภาพ จนพวกเขาทำสำเร็จในปี 1955 เมื่อฝรั่งเศสและสเปนก็ยอมถอนตัวออกจากโมร็อกโก ยกเว้นแต่เมืองเซวตาและมาลียาที่ยังเป็นของสเปนอยู่เช่นเดิม

66 วันที่ตึงเครียด – ความขัดแย้งเหนือเซวตาและเมลียาในปี 2007

แม้โมร็อกโกจะได้รับเอกราชกลับมา แต่ดินแดนเซวตากับเมลียาก็ยังคงเป็นของสเปนต่อไป และพื้นที่เล็กๆ ทางตอนเหนือสุดของโมร็อกโก ตรงข้ามกับแหลมยิบรอลตาร์นี้ยังคงเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งระหว่างทั้งสองชาติเรื่อยมา โดยทาง โมร็อกโกเองก็ไม่แฮปปีที่พื้นที่ที่เคยเป็นของตัวเอง (เมื่อหลายร้อยปีก่อน) ทั้งยังอยู่คนละทวีปและยังคงถูกครอบครองโดยอดีตประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างสเปน ขณะที่ทางสเปนก็มองว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นสิทธิอันชอบธรรมของพวกเขาที่ได้ครอบครองมาอย่างยาวนานและจะดูแลพื้นที่แห่งนี้ต่อไป

หนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งอีกระลอก คือการตัดสินใจเสด็จเยือนเซวตาและเมลียา ของสมเด็จพระราชาธิบดีฮวน คาร์ลอสที่ 1 เมื่อวันที่ 5 และ 6 พฤศจิกายน 2007 จนกลายไปสู่ความขัดแย้งระดับประเทศชนิดที่มีการเรียกตัวเอกอัครราชทูตกลับประเทศ

เหตุการณ์นี้ ส่อแววจะเห็นเค้าลางความขัดแย้งตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2007 เมื่อรัฐบาลสเปนประกาศการเสด็จเยือนเมืองเซวตาและเมลียาของกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสที่ 1 และสมเด็จพระราชินีโซเฟีย ซึ่งองค์กษัตริย์ฮวน คาร์ลอสที่ 1 เคยเสด็จเยือน เซวตามาก่อนสมัยที่พระองค์ดำรงตำแหน่งเป็นเพียงเจ้าชายแห่งแห่งอัสตูเรียสในปี 1970 ซึ่งเป็นครบรอบปีที่ 50 ของกองทหารสเปน

แต่การเยือนในฐานะประมุขนั้นต่างออกไป เพราะการเยือนเซวตาและเมลียาของประมุขแห่งรัฐสเปนครั้งสุดท้าย เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่กษัตริย์อัลฟอนโซที่ 13 ในปี 1927 แถมตอนนั้นโมร็อกโกยังคงเป็นดินแดนในการปกครองของทั้งฝรั่งเศสและสเปนด้วย

การเสด็จเยือนเซวตาและเมลียาของกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสที่ 1 จึงเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลโมร็อกโก (ในขณะนั้น) ที่นำโดย นายกรัฐมนตรีโมร็อกโก อับบาส เอล ฟาสซี ไม่พอใจอย่างมาก เพราะถึงแม้เซวตาและเมลียาจะเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของสเปน แต่อีกมุมหนึ่งสองเมืองนี้ก็เป็นรัฐปกครองตัวเอง โดยที่สเปนไม่ได้มีอำนาจเต็มในการปกครองอย่างเต็มที่ และชาวโมร็อกโกบางส่วนก็มองดินแดนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศพวกเขาไปแล้วเช่นกัน

นายกฯ อับบาส เอล ฟาสซี กล่าวเปรียบเทียบการว่าการที่สเปนยึดครองเซวตาและเมลียา เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกชาวยิวยึดครอง ขณะที่ทางการสเปนและสำนักพระราชวังก็ออกมาชี้แจ้งว่าเป็นเรื่องปกติที่กษัตริย์ออกไปพบพสกนิกร

ทางโมร็อกโกได้เรียกตัวโอมาร์ อัซซิมาน เอกอัครราชทูตโมร็อกโก ประจำกรุงมาดริด กลับประเทศทันที ซึ่งทางการโมร็อกโกถือเป็นการตอบโต้การกระทำที่ไม่ไว้หน้าในครั้งนี้ โดยหลังจากนั้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2007 โฆษกรัฐบาลโมร็อกโก ได้แถลงข่าวโดยกล่าวว่า “สเปนยื่นมือเข้ามาเหนือวิกฤตและสิทธิของเรา ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคี”

พร้อมกันนั้นในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2007 โมร็อกโกระงับการเยือนของผู้นำระดับสูงจากสเปนสองครั้ง ได้แก่ มักดาลีนา อัลวาเรซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการ ที่มีแผนในการพบปะพูดคุยกับคาริม เกลแลบ รัฐมนตรีกระทรวงยุทโธปกรณ์และการขนส่งของโมร็อกโกเกี่ยวกับอุโมงค์รถไฟยิบรอลตาร์เพื่อเชื่อมโยงทั้งสองประเทศข้ามช่องแคบระหว่างยุโรปและแอฟริกา และอีกครั้งคือการมาเยือนของพลเอก เซบาสเตียน ซาราโกซา ผู้บัญชาการทหารสเปน ที่มีพูดคุยเรื่องความมั่นคงระหว่างทั้งสองประเทศด้วย

ความตึงเตรียดระหว่างทั้งสองชาติ ดำเนินมาอย่างยาวนานถึง 66 วัน ก่อนจะสิ้นสุดลงหลังจากที่มิเกล อังเคล โมราตินอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสเปน เดินทางไปเยือนกรุงราบัต เพื่อพบกับไทบ ฟาซี ฟิห์รี รัฐมนตรีต่างประเทศโมร็อกโก เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2008 และมีการส่งจดหมายส่วนตัวจากนายกรัฐมนตรี โฆเซ หลุยส์ โรดริเกซ ซาปาเตโร ถึงกษัตริย์โมฮาเหม็ดที่ 6 ซึ่งสนับสนุนความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศ ก่อนที่ในอีกสี่วันต่อมา กระทรวงการต่างประเทศของโมร็อกโกประกาศส่งเอกอัครราชทูตประจำกรุงมาดริดกลับมาประจำการอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการยุติความขัดแย้งครั้งนี้ลงไปได้สำเร็จ

2021 ที่ผ่านมา – วิกฤตการอพยพในเมืองเซวตา

เมื่อ 17-18 พฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่เซวตากลายเป็นหนึ่งในหน้าความขัดแย้งระหว่างโมร็อกโกกับสเปน อีกครั้ง หลังมีผู้อพยพประมาณ 10,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโมร็อกโกและเยาวชนอพยพเข้าสู่เมืองเซวตา ท่ามกลางความเฉยเมยของทางการโมร็อกโก

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลสเปนได้อนุญาตให้บราฮิม กาลี (Brahim Gali) ผู้นำของแนวร่วมโปลิซาริโอ (Polisario Front) ขบวนการปลดปล่อยของชาวซาห์ราวี เพื่อยุติการครอบครองสะฮาราตะวันตก ดินแดนพิพาทที่โมร็อกโกอ้างอำนาจอธิปไตยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หลังมีอาการป่วยด้วยโควิด -19 ในเดือนเมษายน 2021 ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลโมร็อกโกอย่างมาก ขณะที่ทางการสเปนอธิบายว่าการอนุญาตให้กาลีเข้ารักษานั้นเป็นไปด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โมร็อกโกตัดสินใจลดกำลังทหารที่ประจำการตามแนวชายฝั่งลง เปิดโอกาสให้ผู้อพยพจากโมร็อกโกจำนวนมากที่อยากเข้ามาแสวงหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่า ลองเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการลักลอบข้ามเขตแดนมาสู่เซวตา ซึ่งเป็นพื้นที่ของสเปน ซึ่งอยู่ภายใต้สหภาพยุโรป และความตึงเครียดทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ ก็อาจเป็นการกระตุ้นจำนวนผู้อพยพที่เพิ่มขึ้นด้วย

โดยไม่มีทางเลือก สเปนทำได้เพียงแค่ส่งทหารเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อตรึงกำลังบริเวณชายแดน และจัดการกับวิกฤตที่เกิดขึ้น กองทัพสเปนตอบโต้กลุ่มผู้พยายามอพยพไปที่เซวตาด้วยการทุบตี และฉีดแก๊สน้ำตาเพื่อสกัดกั้นไม่ให้พวกเขาเข้าไปในเมือง เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อทางการสเปน ที่ความรุนแรงต่อผู้อพยพ นอกจากนี้องค์กรตรวจสอบสิทธิมนุษยชนแห่งสหภาพยุโรป (Euro-Mediterranean Human Rights Monitor) ได้เตือนสเปนให้ระวังการใช้ความรุนแรง และเสนอแนะให้มีกระบวนการที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายแก่ผู้อพยพให้ได้รับการคุ้มครองในช่วงวิกฤตในเขตเซวตาและเมลียาด้วย

3-0 ที่จบไป: ชัยชนะของโมร็อกโกเหนือสเปน กับปัจจุบันของความขัดแย้ง

ตัดภาพกลับมาที่ฟุตบอลโลก 2022 หลังการยิงจุดโทษลูกสุดท้ายของอัชราฟ ฮาคิมี นักเตะทีมชาติโมร็อกโก ผ่านมือของ อูไน ซิมอน นายทวารทีมชาติสเปนเข้าประตูไป ชัยชนะก็ตกเป็นของทัพ ‘สิงโตแอตลาส’ และทำให้พวกเขาเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลกอย่างเหนือความคาดหมาย ซึ่งนี่นับเป็นครั้งแรกที่มีชาติจากแอฟริกาเดินทางมาไกลถึงรอบนี้ในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย และนี่นับเป็นชัยชนะครั้งแรกของทีมฟุตบอลทีมชาติโมร็อกโกเหนือทีมชาติสเปนด้วย

ชัยชนะบนสนามหญ้าของโมร็อกโกเหนือชาติอย่างสเปน ที่มีประเด็นขัดแย้งกันมาอย่างยาวนานในแง่ของพื้นที่พิพาทเซวตา และเมลียา อาจไม่ได้ทำให้พวกเขาได้ดินแดนที่อยู่ภายใต้สเปนทั้งสองแห่งนั้นกลับคืนไป แต่นี่ก็อาจเป็นการแก้แค้นเล็กๆ ที่สะใจคนโมร็อกโกอย่างยิ่ง สังเกตได้จากการฉลองราวกับได้แชมป์โลกของบรรดาคนในชาติ รวมไปถึงชาวโมร็อกโกที่อยู่ในสเปน ซึ่งเรียกได้ว่าฉลองแบบไม่เกรงใจเจ้าบ้าน (ปัจจุบัน 1.6% ของผู้ที่อาศัยอยู่ในสเปนเป็นชาวโมร็อกโก)

แน่นอนว่า ไม่ใช่ชาวโมร็อกโกทุกคนจะไม่ชอบสเปน แต่สำหรับชาติที่เคยมีความขัดแย้งกันมายาวนานและมีเรื่องมีราวกันมาเป็นระยะ ความหมั่นไส้หรือไม่ถูกใจก็ย่อมต้องมีให้เห็นกันบ้าง ยิ่งหากเป็นพวกชาตินิยมขวาจัดในโมร็อกโก อาจจะไม่ใช่แค่ไม่ชอบสเปน แต่อาจถึงขั้นเกลียดเลยก็ได้ นอกจากนี้สเปนยังเคยเป็นประเทศเจ้าอาณานิคมกันมาก่อน ต่อให้ไม่ใช่พวกขวาจัดก็น่าจะมีความฝังใจลึกๆ ที่อยากเหนือกว่าบ้างในบางเรื่องเป็นธรรมดา

การแสดงความดีใจอย่างสะใจสุดขั้วของชาวโมร็อกโกที่เราได้เห็นหลังเกมนัดดังกล่าวจบลง จึงอาจจะมี ‘อคติส่วนตัว’ บางอย่างที่ปนลงไปในนั้นอย่างยากจะแยกออกก็เป็นได้ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความสำเร็จที่ทีมฟุตบอลทีมชาติโมร็อกโก ทำได้ในฟุตบอลโลก 2022 ที่ผ่านมา มีความหมายน้อยลงเลย

เพราะนี่คือครั้งแรกในรอบหลายร้อยปีที่โมร็อกโกเอาชนะสเปนได้สำเร็จ แม้จะเป็นเพียงชัยชนะบนสนามหญ้าก็ตาม แต่นั่นก็มีความหมายมากมายมหาศาลแล้ว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save