fbpx

จาก 14 ตุลาฯ ถึง 6 ตุลาฯ: การปรากฏขึ้นของความคิดเหมาอิสม์ในปัญญาชนไทยและรายงานการสดับตรับฟังของสันติบาล

การตื่นตัวทางการเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ของนิสิตนักศึกษาทำให้เกิดแนวคิดทางการเมืองที่มีการแปรเปลี่ยนของอุดมคติทางการเมืองครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ และบรรยากาศทางการเมืองได้เปิดกว้างผ่านการเผยแพร่แนวความคิดของฝ่ายซ้าย ฝ่ายปฏิรูป และฝ่ายขวา โดยมีการแสดงแนวความคิดหลากหลายกระแส อาทิ สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ซ้ายใหม่ ขวาปฏิกิริยา ประชาธิปไตยเสรีนิยม ประชาธิปไตยประชาชน อนุรักษนิยม ชาตินิยม ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย ราชาชาตินิยมใหม่ และมาร์กซิสม์

ประจักษ์ ก้องกีรติเรียกกลุ่มของแนวความคิดเหล่านี้ว่าเป็น ‘เครือข่ายวาทกรรม’ (ประจักษ์ ก้องกีรติ, 2548, น. 528) และยังส่งผลทางประวัติศาสตร์สังคมไทย เพราะปรากฏว่ามีประชาชนบางส่วนที่ทำงานอุทิศตนเพื่อสังคมในด้านองค์กรพัฒนาเอกชนอีกด้วย

ทั้งนี้ มีการชี้ว่าความเคลื่อนไหวทางความคิดนี้ได้รับอิทธิพลหลักมาจากนักศึกษาผู้เป็นแรงผลักดันให้เกิดการพิมพ์หนังสือก้าวหน้าจำนวนมาก ทั้งการเขียนและแปลหนังสือขึ้นมาใหม่ รวมถึงการนำงานของนักคิดนักเขียนในช่วงทศวรรษ 2490 มาพิมพ์เผยแพร่ซ้ำ เมื่อพิจารณาจากบริบททางการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะในเอเชีย ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960-1970 พบว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเผยแพร่แนวความคิดทางการเมืองในประวัติศาสตร์ไทยดังกล่าวขึ้น ซึ่งผู้ศึกษาสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ แนวคิดทางการเมืองแบบเหมาอิสม์ แนวคิดทางการเมืองแบบมาร์กซิสม์ และแนวคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยม

บทความนี้จะนำเสนอแนวคิดทางการเมืองแบบเหมาอิสม์ในหมู่ปัญญาชนไทยผ่านการจัดนิทรรศการจีนแดงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ช่วงต้น พ.ศ. 2517 เนื่องจากเป็นความคิดที่มีอิทธิพลต่อปัญญาชนไทยและขบวนการนักศึกษาซึ่งเชื่อในแนวคิดซ้ายราดิคัลหรือซ้ายแบบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่เป็นกลุ่มหลักนำการเคลื่อนไหวและต่อสู้ทางการเมืองในช่วงเวลาก่อนจะถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ทั้งนี้ ในบริบทของการต่างประเทศเวลานั้นไทยได้เริ่มเปิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีนในสมัยรัฐบาลของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงทำให้นิทรรศการจีนแดงได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชนจำนวนมาก

กระแสความคิดของนิสิตนักศึกษาไทย หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

การเมืองไทย พ.ศ. 2516-2519 มีความเปลี่ยนแปลงจากทั้งบริบททางการเมืองระหว่างประเทศและการเมืองไทย ในบริบททางการเมืองระหว่างประเทศได้แสดงให้เห็นว่านับตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา มีการเปลี่ยนแปลงการเมืองโลกที่ส่งผลกระทบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และนโยบายของไทยต่อประเทศคอมมิวนิสต์ กระทั่งใน พ.ศ. 2514 ที่สหรัฐอเมริกาแสดงท่าทีปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ต่อจีนและเมื่อสงครามเย็นในเอเชียผ่อนคลายลง ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้ามามีอำนาจในอินโดจีนช่วง พ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อการเมืองภายในของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เพื่อเปิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีนและเวียดนามใหม่

เมื่อสหรัฐอเมริกาต้องการถอนตัวออกจากจากอินโดจีนส่งผลให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างสองฝ่ายในรัฐบาลไทย โดยฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศต้องการให้สหรัฐฯ ถอนทหารออกไปให้หมด เพื่อดำเนินความสัมพันธ์กับจีนและเวียดนาม ส่วนฝ่ายกองทัพไทยต้องการที่จะรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ไว้ด้วยการให้คงฐานทัพไว้บางส่วนเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของประเทศ

บทสรุปคือกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้ตกลงในหลักการกับรัฐบาลของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในขั้นตอนการถอนทหารส่วนใหญ่ แต่ยังคงกองกำลังทหารไว้ในบางส่วน แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาได้เหินห่างออกไป และที่สำคัญคือกองกำลังสหรัฐอเมริกาที่ยังคงเหลืออยู่จะต้องขึ้นอยู่กับระบบของกฎหมายไทยจนนำไปสู่การดำเนินการถอนกำลังทหารออกในต้น พ.ศ. 2518

ในที่สุด ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนจีนและสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2518

ในบริบทของประวัติศาสตร์ ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ส่งผลสะเทือนให้เกิดกระแสการเมืองของมวลชนและกระแสการต่อสู้เพื่อ ‘เอกราช ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม’ โดยมีการเสนอว่าเป็นยุคการเฟื่องฟูของประชาธิปไตยและการเมืองมวลชน บ่งบอกว่ามวลชนสำแดงพลังเรียกร้องเสรีภาพ การมีส่วนร่วม

คริส เบเคอร์และผาสุก พงษ์ไพจิตร แบ่งกลุ่มพลังทางสังคมการเมืองภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ออกเป็นฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา และฝ่ายปฏิรูป โดยฝ่ายซ้ายคือขบวนการนักศึกษา ฝ่ายขวาคือรัฐบาล และฝ่ายปฏิรูปคือทหารเป็นหลัก และได้ชี้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของความคิดสังคมนิยม เนื่องจากเป็นช่วงที่สังคมการเมืองไทยเปิดเสรีภาพทางความคิดขึ้นทำให้เผยแพร่แนวคิดสังคมนิยมได้อย่างเปิดเผย (คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2557)

หนังสือปรัชญานิพนธ์ประธานเหมาเจ๋อตง พิมพ์โดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฉบับจัดพิมพ์ประกอบนิทรรศการจีนแดง ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 23-29 มกราคม พ.ศ. 2517 (ก่อนขยายเวลาถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์)

จุดเริ่มต้นของการเผยแพร่แนวความคิดสังคมนิยมมาจากปรากฏการณ์การจัดนิทรรศการจีนแดงขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม ถึง 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 ซึ่งมีการพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับแนวความคิดสังคมนิยม คือ ปรัชญานิพนธ์ประธานเหมาเจ๋อตง ออกจำหน่ายจนกลายเป็นหนังสือขายดี ส่งผลให้หลังจากนี้มีหนังสือแนวคิดมาร์กซิสม์ตีพิมพ์ออกมาจำนวนมาก

ต่อมามีการเรียกรวมหนังสือเหล่านี้ว่าเป็นหนังสือการเมือง[1] โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2517 รัฐบาลได้ออกใบอนุญาตให้หนังสือพิมพ์รายวันถึง 177 ราย และมีการจัดพิมพ์หนังสือของนักคิด นักเขียน และปัญญาชนฝ่ายซ้ายจากทศวรรษ 2490 นำมาตีพิมพ์ซ้ำเป็นจำนวนมาก โดยผลงานเล่มสำคัญของปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า มีดังต่อไปนี้

ตารางที่ 1 ผลงานกระแสความคิดมาร์กซิสม์ที่สำคัญของนักคิด/นักปฏิวัติ ทศวรรษ 2490 ที่นำมาตีพิมพ์ซ้ำ พ.ศ. 2516-2519[2]

ลำดับ  ชื่อเรื่อง (ปีพิมพ์ครั้งแรก/สืบค้นเบื้องต้น)ผู้แต่ง/ผู้แปลประเภทของงานแหล่งที่ตีพิมพ์ซ้ำ
1.เค้าโครงการเศรษฐกิจ(2475)ปรีดี พนมยงค์นโยบายการเมืองเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ประจักษ์การพิมพ์, 2517)
2.ความเป็นอนิจจังของสังคม (2489)ปรีดี พนมยงค์แนวคิดมาร์กซิสม์/พุทธศาสนาความเป็นอนิจจังของสังคม (เจริญวิทย์การพิมพ์, 2518)
3.หลักเบื้องต้นแห่งการถ่ายทอดศัพท์ต่างประเทศมาเป็นศัพท์ไทยสยาม (2510)ปรีดี พนมยงค์แนวคิดมาร์กซิสม์ความเป็นมาของศัพท์ไทย ปฏิวัติ, รัฐประหาร, วิวัฒน์, อภิวัฒน์ (สถาบันสยามเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม, 2519)  
4.ปรัชญาคืออะไร (2513)ปรีดี พนมยงค์แนวคิดมาร์กซิสม์/พุทธศาสนาข้อเขียนทางปรัชญา
(สถาบันสยามเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม, 2518)
5.จนกว่าเราจะพบกันอีก (2493)กุหลาบ สายประดิษฐ์แนวคิดมาร์กซิสม์จนกว่าเราจะพบกันอีก, (เจริญวิทย์การพิมพ์, 2516)
6.แลไปข้างหน้า (2498)กุหลาบ สายประดิษฐ์แนวคิดมาร์กซิสม์แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย, (แนวร่วมนักศึกษาอีสาน, 2517)
7.  ปรัชญาของลัทธิมาร์กซิสม์ (บทความในอักษรสาส์น, 2493)กุหลาบ สายประดิษฐ์แนวคิดมาร์กซิสม์ปรัชญาของลัทธิมาร์กซิสม์ (เจริญวิทย์การพิมพ์, 2517)  
8.  วารสารอักษรสาส์น (2492-2495)สุภา ศิริมานนท์แนวคิดมาร์กซิสม์มีการนำบทความบางชิ้นมาตีพิมพ์ซ้ำ
9.แคปิตะลิสม์ (2494)สุภา ศิริมานนท์แนวคิดมาร์กซิสม์แคปิตะลิสม์ (เคล็ดไทย, 2517)
10.โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน (2500)จิตร ภูมิศักดิ์แนวคิดมาร์กซิสม์โฉมหน้าศักดินาไทย (จักรานุกูลการพิมพ์, 2517)

ตารางที่ 2 ผลงานกระแสความคิดมาร์กซิสม์ที่สำคัญของนักคิด/นักปฏิวัติ ทศวรรษ 2490 ที่ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2516-2519[3]

ลำดับ  ชื่องานของนักคิดยุค 2490 ที่นำมาพิมพ์ซ้ำหรือพิมพ์ครั้งแรก หรือเพิ่งค้นพบต้นฉบับใหม่ผู้แต่ง/ผู้แปลประเภทของงานแหล่งที่ตีพิมพ์
1.ระบบสังคมนิยมและระบบคอมมิวนิสต์จะเหมาะแก่เมืองไทยหรือไม่ปรีดี พนมยงค์แนวคิดมาร์กซิสม์พิฆเณศ, 2518
2.ที่เขาเรียกกันว่า “ลัทธิแก้” นั้น หมายความว่ากระไร และความเป็นมาแห่งลัทธิ “รีวิสชันนิสม์”ปรีดี พนมยงค์แนวคิดมาร์กซิสม์สมาคมเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์, 2519
3.แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย  กุหลาบ สายประดิษฐ์แนวคิดมาร์กซิสม์ชมรมหนังสืออุดมธรรม, 2518
4.มาร์กซ์จงใจจะพิสูจน์อะไร อย่างไร ?สุภา ศิริมานนท์แนวคิดมาร์กซิสม์กลุ่มเศรษฐธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2518
5.คาร์ล มากซ์ ประวัติย่อจิตร ภูมิศักดิ์แนวคิดมาร์กซิสม์มหาราษฎร์, 2518 (ในการพิมพ์ครั้งแรกไม่ใส่ชื่อผู้แปล เมื่อพิมพ์ซ้ำในปี 2518 จึงปรากฏชื่อจิตรเป็นผู้แปลเป็นครั้งแรก)

ทั้งนี้ ผลงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ของประชาชนระหว่าง พ.ศ. 2516-2520 ว่ามีการก่อตัวของความคิดทางการเมืองลักษณะต่างๆ มาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จากการศึกษาเห็นได้ว่าแนวความคิดสังคมนิยมดังกล่าวนี้ ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมที่ ‘ฉวยโอกาส’ เข้ามาภายหลังเหตุการณ์แต่อย่างใด หากงานศึกษาทางวิชาการมักจะศึกษาแนวความคิดทางการเมืองในช่วงทศวรรษ 2510-2520 โดยแบ่งการศึกษาออกเป็นในเชิงทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ คือ สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ เสรีนิยม และอนุรักษนิยม เป็นต้น หรือศึกษาเป็นรายบุคคลหรือแนวทางความคิดใดความคิดหนึ่ง เช่น การศึกษาแนวความคิดแบบมาร์กซิสม์ ทัศนะของนักคิดไทย: ปรีดี จิตร และป๋วย (เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, 2530, น. 1-40) เป็นต้น แต่แนวคิดทางการเมืองที่สำคัญ โดดเด่น และได้รับการศึกษาจากนักเรียน นิสิต และนักศึกษา จนกล่าวได้ว่ามีอิทธิพลทางความคิดต่อขบวนการนักศึกษามากที่สุดในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ คือแนวคิดทางการเมืองแบบเหมาอิสม์ซึ่งได้เริ่มต้นมาจากการจัดงานนิทรรศการจีนแดงช่วงต้นปีของ พ.ศ. 2517

นิทรรศการจีนแดง พ.ศ. 2517 และการสดับตรับฟังของสันติบาล

การปรากฏขึ้นของความคิดทางการเมืองแบบเหมาอิสม์เริ่มต้นมาจากการจัดนิทรรศการจีนแดง ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 23 มกราคม ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 โดยสิ่งสำคัญอันเป็นตัวชี้วัดว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวประสบผลสำเร็จคือ สามารถเผยแพร่แนวความคิดเหมาอิสม์ออกไปได้ในวงกว้าง และมีการตีพิมพ์หนังสือปรัชญานิพนธ์ประธานเหมาเจ๋อตง ออกจำหน่ายและกลายเป็นหนังสือขายดี รวมถึงมีการขยายเวลาจัดงานนิทรรศการให้ยาวนานออกไปอีกจากเดิมที่ระบุไว้ว่าถึงแค่วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2517 เพราะมีประชาชนและนักศึกษามีความปรารถนาจะเข้าชมจำนวนมาก

ทั้งนี้ ก่อนและหลังของงานนิทรรศการจีนแดงปรากฏว่ามีการตีพิมพ์หนังสือแนวความคิดของเหมา เจ๋อ ตง และสังคมการเมืองจีนเผยแพร่ทั่วไปอยู่จำนวนหนึ่งโดยชี้ให้เห็นความสำคัญของแนวความคิดทางการเมืองของเหมา เจ๋อ ตง และยังได้มีการตีพิมพ์หนังสือสรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตง คติพจน์ของเหมาเจ๋อตง และหนังสือที่ตีพิมพ์มาจากเอกสารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนอีกด้วย ซึ่งสะท้อนว่าเอกสารเหล่านี้นั้นนอกจากจะเป็นเอกสารสำคัญในการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของจีนแล้ว การเฟื่องฟูและโน้มนำมาสู่ความสนใจในความคิดทางการเมืองแบบเหมาอิสม์ยังถือเป็นการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของความคิดทางการเมืองในปัญญาชนของไทยครั้งสำคัญ

จากบริบททางประวัติศาสตร์การเมืองในยุคหลังสงครามเย็น นับตั้งแต่การดำเนินการปรับยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน พ.ศ. 2514 และการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2518 รวมทั้งการรับรองรัฐบาลของจีนส่งผลให้นักศึกษาได้เรียนรู้ความคิดของ ‘ฝ่ายซ้าย’ แบบจีนได้โดยสะดวกและกว้างขวางขึ้น

สายชล สัตยานุรักษ์ ยังชี้ให้เห็นบทบาทของนักศึกษาที่เป็นลูกจีนและ ‘เป็นซ้าย’ ว่าไม่ได้หันไปหาวัฒนธรรมจีนในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะว่าการ ‘เป็นซ้าย’ ของนักศึกษาหมายถึงการนิยมความคิดมาร์กซิสม์-เหมาอิสม์ ซึ่งมีความเป็นสากลมากกว่า (สายชล สัตยานุรักษ์, 2550, น. 358) แต่ในการตีพิมพ์งานศึกษาของจีนนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่กรอบความคิดทางการเมืองของเหมาเจ๋อตง หากยังครอบคลุมการศึกษาสภาพทางสังคมของจีนในชนบทไว้ด้วย อาทิ การตีพิมพ์หนังสือ จีน: แผ่นดินแห่งการปฏิวัติตลอดกาล ที่แปลมาจาก China: The Revolution Continued ของ Jan Myrdal and Gun Kessle โดยมโน มั่นในธรรม ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2516

ภาพงานนิทรรศการจีนแดง 23 มกราคม- 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 (ที่มาภาพ: นิทรรศการกำแพงประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, 2558.)

เมื่อวิเคราะห์การเผยแพร่ความคิดทางการเมืองแบบเหมาอิสม์ในปรัชญานิพนธ์ประธานเหมาเจ๋อตง ได้จัดพิมพ์โดยเทียบเคียงจากต้นฉบับหลายสิบชิ้นแต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดของต้นฉบับว่าเป็นชิ้นใด โดยผู้แปลคือฝ่ายแปลของนิทรรศการจีนแดง องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชี้ว่าจัดพิมพ์ขึ้นเพียงเพื่อเป็นแนวทางศึกษาความคิดปฏิวัติของจีนที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองไว้ดูลึกลับน่ากลัว ซึ่งการลดทอนความน่ากลัวลงด้วยการเสนอภาพถ่ายสังคมจีนไว้จำนวนหลายสิบภาพที่แสดงให้เห็นใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ความมีวินัย และเกษตรกรรมอันสมบูรณ์ของสังคมจีน

เมื่อเปรียบเทียบเนื้อหาของปรัชญานิพนธ์ประธานเหมาเจ๋อตง จะพบว่าเป็นเนื้อหาที่อยู่ในสรรพนิพนธ์เหมาเจ๋อตง[4] และคัดเลือกมาเฉพาะบทที่เสนอแนวความคิดและสะท้อนโลกทัศน์ในเชิงปรัชญาของประธานเหมาเจ๋อตง ซึ่งในทางทฤษฎีและว่าด้วยวิธีปฏิบัติล้วนมาจากรากฐานความคิดของลัทธิมาร์กซ์และเลนิน หากการตีความและเขียนทฤษฎีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเหมาเจ๋อตงนั้นได้ผสานแนวความคิดลัทธิมาร์กซ์กับปรัชญาจีนโบราณไว้ด้วย อาทิ ในบทว่าด้วยความขัดแย้ง ได้เสนอตามหลักวิภาษวิธีวัตถุนิยม (materialist dialectics) ไว้ว่า กฎของความขัดแย้งในสิ่งต่างๆ หรือก็คือกฎแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของด้านตรงกันข้ามในกฎที่เป็นพื้นฐานที่สุด โดยชี้นำว่า ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมีโลกทัศน์สองชนิด ได้แก่ โลกทัศน์ทางปรัชญา คือ อภิปรัชญา (Metaphysics) ที่ครอบงำสังคมจีนและยุโรปก่อนการปฏิวัติ และโลกทัศน์ทางวิภาษวิธี คือ แนวคิดของเลนิน หรือการเสนอความคิดของเลนินเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่ดำเนินไปในสองภาวะ คือ รูปแบบที่หยุดนิ่งอย่างสัมพัทธ์กับรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัดแล้วนำมาอธิบายเชื่อมโยงกับปรัชญาจีนไว้ว่า ชาวจีนเรามักจะพูดเสมอว่า “สิ่งทั้งหลายตรงกันข้ามกันและประกอบซึ่งกันและกัน” จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเป็นการโน้มนำให้เห็นความเชื่อมต่อและเป็นหนึ่งเดียวของแนวความคิดในประวัติศาสตร์จีนและแนวความคิดของมาร์กซ์-เลนิน และบทสำคัญอีกบทหนึ่งคือ คำปราศรัยในชมรมสัมมนาศิลปะวรรณคดีที่เยนอานของเหมาเจ๋อตง ที่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดทางศิลปะ วรรณคดี กับการปฏิวัติ โดยโน้มน้าวให้เห็นความสัมพันธ์ของทั้งสองสิ่งและชี้ว่าเป็นการยกระดับในด้านศิลปะวรรณคดี (เหมาเจ๋อตง, 2517) 

ด้วยอิทธิพลทางความคิดของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนที่มีต่อความเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่เป็นแกนนำหลักในขณะนั้นทำให้ความคิดทางการเมืองแบบเหมาอิสม์ และเอกสารต่างๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนมีการตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งในวงกว้างและเฉพาะกลุ่มเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ในงานศึกษาของยวงรัตน์ วิเดล ได้ชี้ถึงกลยุทธ์การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีต่อพรรคคอมมิวนิสต์ไทยว่าเป็นการรับแนวความคิดและการปฏิบัติในการต่อสู้ของเหมาเจ๋อตงมาอย่างเห็นได้ชัดและมีอิทธิพลอย่างลึกซึ่งต่อเนื่องมายาวนาน (Yuangrat Wedel, 2001, p. 386-388) 

ที่มาภาพ : หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. B 5.2.2/11 คำให้การพยานโจทก์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา. สรุปผลการสดรับตรับฟังเรื่อง “การจัดนิทรรศการจีนแดง” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มีนาคม 2517.

นอกจากการเคลื่อนไหวทางความคิดของนิสิตนักศึกษาจะปรากฏขึ้นจากฝ่ายขบวนการนักศึกษาและฝ่ายสนับสนุนแล้ว ยังปรากฏอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ ประเภทรายงานการศึกษาความเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาโดยหน่วยงานสันติบาล พ.ศ. 2515-2519 ซึ่งเป็นรายงานความเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 จัดทำโดยหน่วยงานของสันติบาล และได้รับการค้นพบโดยประจักษ์ ก้องกีรติ (2558, น. 73) ซุกซ่อนอยู่ในเอกสารประกอบคำให้การพยานโจทก์ที่เป็นตำรวจรายหนึ่งในคดี 6 ตุลา ที่อยู่ในบัญชีหมวด B ที่หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ซึ่งเอกสารหมวด B คือเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกี่ยวกับนักศึกษา มีเอกสารของนักศึกษากลุ่มต่างๆ จากหลายมหาวิทยาลัย มีเอกสารของทบวงมหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัย รวมถึงมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดี 6 ตุลาฯ

ลักษณะของเอกสารรายงานความเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาชุดนี้มีการเก็บบันทึกรายละเอียดกิจกรรมของนักศึกษาว่าในช่วงนั้นทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ มีใครมาร่วมบ้าง และมีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งเอกสารในรูปแบบนี้ยังไม่พบว่ามีการรวบรวมจากฝ่ายนักศึกษาไว้ เอกสารนี้อยู่ในหมวด 5.2.2 (1-9) มีชื่อการอ้างอิงคือ คำให้การพยานโจทก์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา และลักษณะการบันทึกของเอกสารได้เรียกว่า ‘รายงานผลการสดรับตรับฟัง…’ มีลักษณะเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์แบบ surveillance reports คือเป็นการรายงานจากมุมมองของตำรวจสันติบาลและเป็นการอภิปรายสรุปเพื่อนำเสนอให้ได้รับใจความสำคัญที่สอดคล้องกับเป้าหมายของหน่วยงานและเป็นการรายงานที่เน้นการเก็บรายละเอียดของการเสวนาและนิทรรศการมากกว่าการบันทึกเป็นภาพถ่าย และเป็นการรายงานอย่างตรงไปตรงมาตามเนื้อหาที่ได้รับฟังเพื่อนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชาในระดับสูง

ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้เสนอว่า การเคลื่อนไหวทางความคิดของปัญญาชนเริ่มต้นขึ้นจากการจัดงานนิทรรศการการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ขณะที่นิทรรศการจีนแดงคือการแสดงความเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาครั้งสำคัญและมีอิทธิพลในหมู่นิสิตนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าโดยมีการกล่าวถึงในการสัมภาษณ์ บันทึกความทรงจำ และรายงานวิจัยเรื่องขบวนการนักศึกษาชิ้นหลักจำนวนหลายชิ้น ได้แก่ การจัดนิทรรศการจีนแดง ระหว่างวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2517 ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 บริเวณหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีผู้จัดนิทรรศการได้แก่ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีนายพีรพล ตริยะเกษม นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับผิดชอบนิทรรศการในครั้งนี้  ส่วนเนื้อหาของนิทรรศการครั้งนี้มาจากตำราเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กระทรวงการต่างประเทศ, องค์การอีคาเฟ่, ผู้ที่เคยเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการจัดนิทรรศการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ความรู้เกิดขึ้นแก่ประชาชน นิสิต และนักศึกษา ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดความคิดเห็นต่างๆ แก่รัฐบาลให้รู้ทัศนะของประชาชนที่ควรมีส่วนรับผิดชอบต่อนโยบายของรัฐและนำข้อเท็จจริงต่างๆ มาเผยแพร่ให้ประชาชนรู้โดยไม่ได้จงใจนำลัทธิใดๆ มาเผยแพร่โดยเฉพาะ และสามารถจัดแบ่งกลุ่มผู้เข้าชมได้เป็น 4 ประเภทคือ 1. นิสิต นักศึกษา นักเรียน และประชาชนที่สนใจเหตุการณ์บ้านเมือง 2. ชาวจีนสูงอายุ ต้องการภาพความหลังของภูมิลำเนา 3. ลูกหลานคนจีนที่เกิดในประเทศไทย 4. ผู้ทำประโยชน์ จัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนไปจำหน่าย

นิทรรศการจัดโดยใช้ภาพถ่ายและข้อความจำนวน 73 หัวข้อ ติดตั้งไว้ตามแผงและฝาผนังตึก เกือบทุกหัวข้อมีความเกี่ยวข้องกับแนวความคิดทางสังคมการเมือง วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจของจีน รวมทั้งศิลปะ ส่วนแนวความคิดทางการเมืองปรากฏว่ามีประวัติเลนิน และในหัวข้ออื่นๆ ที่มีคือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับจีน และจีนกับสหประชาชาติ นโยบายต่อเกาหลี นโยบายต่อเขมร และนโยบายต่อปัญหาตะวันออกกลาง เป็นต้น แต่ในการบันทึกไม่ได้มีการถ่ายภาพนิทรรศการแต่มีการระบุชื่อภาพไว้โดยละเอียด

กิจกรรมอื่นๆ ที่ปรากฏภายในงานคือการอภิปรายในหัวข้อต่างๆ อาทิ หัวข้อนโยบาย ประเด็นหลักคือ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยควรเปิดการเจรจากับจีนแดงอย่างเป็นทางการ ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับไทย ด้านประวัติศาสตร์จีนในช่วงเวลาปฏิวัติวัฒนธรรม และบทบาทของจีนในประเทศที่ด้อยพัฒนาซึ่งได้มีการเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยไว้ด้วยว่าควรมีการยกเลิกวิธีการที่ทำให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองแบบจีนหรือเรียกร้องให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ในไทย ตัวอย่างงานเสวนาคือเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 มีการอภิปรายเรื่องสังคมจีนปัจจุบันเป็นอย่างไร มีผู้ร่วมอภิปรายเสนอภาพด้านบวกของสังคมจีนว่าคนในสังคมมีความสุข มีสวัสดิการดีพร้อม มีการกล่าวถึงแนวทางคอมมิวนิสต์ในด้านบวกว่าเป็นแนวทางที่ไม่เคยแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย

นอกจากนี้ ผู้อภิปรายยังเห็นสอดคล้องที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ โดยยกตัวอย่างกรณีมีผู้ถูกจับด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์อย่างไม่ชอบธรรมและมีการสังหารอย่างทารุณกรรม เช่น กรณีถังแดงในจังหวัดพัทลุง ทั้งนี้ในการอภิปรายครั้งนี้ได้มีสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ เป็นผู้เดียวที่กล่าวถึงจีนทั้งในข้อดีและข้อด้อยของประวัติศาสตร์สังคมจีนสมัยใหม่ว่าจีนมีการปฏิวัติอย่างมีเป้าหมายและมีสิ่งกระตุ้นทางวัฒนธรรมหลายอย่าง แต่ว่าจะนำระบอบสังคมนิยมเข้ามาใช้ในเมืองไทยได้หรือไม่ต้องขึ้นอยู่ในการตัดสินใจของประชาชน ในด้านของการปฏิวัติวัฒนธรรมผู้ที่อภิปรายมีการเสนอว่าการปฏิวัติทางวัฒนธรรมมีสาเหตุมาจากเพราะว่าข้าราชการไม่ปฏิบัติเพื่อรับใช้มวลชน มีผลดีคือทำให้จีนเป็นระบบสังคมนิยมและไปสู่สังคมนิยมที่แท้จริง โดยการปฏิวัติวัฒนธรรมจะกระทำได้ต้องอาศัยระบบคอมมูนที่เข้มข้น และข้อสังเกตประการหนึ่งคือมีการแทรกหัวข้อเรื่องการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรมาด้วยว่าหาเสียงอย่างไรจึงจะได้เป็นผู้แทน

และเอกสารรายงานของสันติบาลได้รายงานไว้ด้วยว่าในนิทรรศการจีนแดงนั้นนักศึกษาได้นำหนังสือที่เกี่ยวกับสาธารณะประชาชนจีนและบทความเกี่ยวกับสังคมนิยมมาจำหน่ายด้วยดังต่อไปนี้

  1. ปรัชญานิพนธ์ของเหมา เจ๋อ ตง เขียนโดย สุรวิทย์ ไชยพงศาวลี ภายในเล่มเป็นแนวทางปรัชญาของเหมาในการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์
  2. วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ภายในเล่มเป็นการรวบรวมปาฐกถาและบทความของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ที่โรงพิมพ์เจริญมิตรการพิมพ์ โดยมีสุรวิทย์ ไชยพงศาวลี เป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา
  3. หนังสือชุดเขียนโดย อ. อิทธิพล ได้แก่ จีนรบญี่ปุ่น, ศึกสองจีน, จอมพล เจียง ไค เช็ค, คำประกาศที่ปักกิ่ง, กินี โจร เหมา เจ๋อ ตง, จอมเผด็จการ, แยงซีเกียง, โจวเอินไหล, หลู่ซินและอาคิว พิมพ์ที่โรงพิมพ์มงคลการพิมพ์ โดยมีนางจำรัส ล่องจัด เป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา
  4. หนังสือชื่อ 15 ปี ในสาธารณรัฐประชาชนจีน เขียนโดยนายแพทย์เกษม วงศ์ประดิษฐ์ แปลจากเรื่องของ เจ. เอส. ฮอร์น พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศรีเมืองการพิมพ์ โดยมีประยูร คมอำนาจสกุล เป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา
  5. หนังสือชื่อ รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐประชาชนจีน เขียนโดย สุวรรณ วิริยะผล
  6. หนังสือชื่อ กฎแห่งการปฏิวัติ แนวทางสังคมนิยม เขียนโดย สุวรรณ วิริยะผล  โดยมีสุวรรณ วิริยะผล เป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา
  7. หนังสือชื่อ คณะบรรณาธิการ น.ส.พ. มหาราษฎร์  พิมพ์ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด จงเจริญการพิมพ์ โดยมีนายดุสิต วิสารทะ เป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา มีเนื้อหาเกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
  8. หนังสือชื่อ นโยบายอเมริกันในเอเชียอาคเนย์ แปลโดย ส. ศิวรักษ์ จากเรื่องของรัสเซล จอนสัน มีเนื้อหาเกี่ยวกับนโยบายของสหรัฐอเมริกา
  9. หนังสือชื่อ สหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทย พิมพ์ที่โรงพิมพ์พีระพัฒนา โดยมีนิอร เขียวขำแสง เป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา
  10. หนังสือชื่อ กลุ่มผู้หญิงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  พิมพ์ที่โรงพิมพ์มิตรสยาม โดยมีสุรินทร์ คุ้มสิน เป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คำให้การพยานโจทก์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ชิ้นนี้ แสดงให้เห็นการเสนอแนวคิดทางการเมืองซึ่งจะพบว่านิสิตนักศึกษามีการจัดการอภิปรายและจัดนิทรรศการที่สะท้อนให้เห็นแนวคิดทางสังคมการเมืองสองรูปแบบได้แก่

1. ในด้านแนวคิดของการพัฒนาสังคมและเสนอการพัฒนาระบอบการเมืองการปกครองของไทย เช่น การอภิปรายเรื่องเสรีภาพของนักศึกษาไทยในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2516 ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการจัดการอภิปรายเรื่องเสรีภาพของประชาชน ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การจัดงานทั้งสองครั้งนี้มีทั้งการแสดงให้เห็นถึงอุดมคติเรื่องการต้องให้สังคมมีเสรีภาพและยอมรับฟังความแตกต่างทางความคิดแล้ว ยังเป็นการเสนอปัญหาทางการเมืองการปกครองในสังคมไทยอย่างตรงไปตรงมาโดยมีปัญญาชนคนสำคัญที่เข้าร่วมการอภิปรายคือ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, ประสาร มฤคพิทักษ์ (ผู้ริเริ่มแนวคิดการก่อตั้งสภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และยุทธพงศ์ ภูริสัมบรรณ เป็นต้น

ผลการสดับตรับฟังการเคลื่อนไหวของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในวันเปิดสัปดาห์วันรพี วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2516

และยังมีการอภิปรายเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตยในงานวันรพี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2516 โดยมีการจัดการอภิปรายเรื่องการเดินขบวนกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งมีผู้อภิปรายคือ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมทย์, นายชวน หลีกภัย, นายธีรยุทธ บุญมี, ดร. บุญสนอง บุณโยทยาน และนายยุทธพงศ์ ภูริสัมบรรณ เป็นต้น โดยข้อเสนอหลักของการอภิปรายคือการเสนอเรื่องอุดมคติว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมไม่ใช่เป็นเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง การเดินขบวนเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ให้แก่บุคคลอื่นที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม เป็นหลัก

2. การเสนอแนวคิดเพื่อสังคมของกรรมกร ชาวนา การเรียกร้องสิทธิของกลุ่มคนด้อยโอกาส และชีวทัศน์ของเยาวชน เช่น การจัดอภิปรายเรื่องเยาวชนกับอนาคตของชาติ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นการจัดนิทรรศการร่วมกับยูนิเซฟเรื่องปัญหาของประเทศที่ด้อยพัฒนา แต่ในการเสนอเรื่องอุดมคติของฝ่ายก้าวหน้าไทยโดย ส. ศิวรักษ์ ได้มีการสนับสนุนให้เยาวชนเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยความรุนแรงและมองว่าความรุนแรงเป็นของดี

ในด้านแนวคิดเพื่อสังคมของกรรมกร ได้มีการอภิปรายเรื่องการขึ้นค่ารถเมล์กับปากท้องของประชาชน เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 ที่มีข้อเสนอหลักว่าการขึ้นค่ารถเมล์ทำให้ประชาชนที่ยากจนอันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นเดือดร้อน

ในด้านชีวทัศน์ของเยาวชนนั้นได้มีการจัดสัมมนาเรื่องนิสิตนักศึกษากับประชาธิปไตยขึ้นที่หาดวนกร ซึ่งเป็นที่ทำการของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวันที่ 8-10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 โดยชมรมปาฐกถาและโต้วาที ส.จ.ม. 2516  ที่มีการรวบรวมปัญญาชนคือ นิสิต นักศึกษา และคณะอาจารย์จำนวนประมาณ 200 คน ร่วมสัมมนาโดยแบ่งการสัมมนาออกเป็น 4 หัวข้อ คือ 1. ประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย 2.นิสิตนักศึกษากับประชาธิปไตย 3.ลักษณะสังคมและวัฒนธรมไทยที่จะเป็นอุปสรรคและส่งเสริมประชาธิปไตย 4. บทบาทของนิสิตนักศึกษาในฐานะกลุ่มพลัง

ส่วนในการอภิปรายนำหัวข้อ นิสิตนักศึกษากับประชาธิปไตยได้ระบุผู้เข้าร่วมเป็นอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัยดังต่อไปนี้ โดยมีผู้ร่วมอภิปราย คือ อ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ, อ.สมศักดิ์ ชูโต, อ. ศุภชัย มนัสไพบูลย์, อ.วีรพงศ์ รามางกูร ดำเนินรายการโดย อ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ที่มีข้อเสนอหลักเรื่องอุดมคติเสรีภาพของนักศึกษาว่า ควรอยู่ภายใต้ขอบเขตของการไม่ละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นเป็นพื้นฐานสำคัญ

และยังมีการเสนอเรื่องแนวคิดปัญญาชนจากทศวรรษ 2490 ด้วยการเล่าเรื่องชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ โดยนายทองใบ ทองเปาด์และนายประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุล ในงานมหกรรมประชาชน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2517 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นครั้งแรกในวงกว้างและได้มีการเสนอภาพลักษณ์ของจิตรในการเป็นนักสังคมนิยมในอุดมคติขึ้นแล้ว

รวมทั้งการเสนอแนวคิดเกี่ยวกับชาวนาที่ทางศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้จัดส่งอาสาสมัครเดินทางไปพบชาวนายังจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ถึงวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ในรายงานของสันติบาลระบุว่ามีเป้าหมายคือการชี้นำให้ชาวนาชาวไร่รวมตัวกันเพื่อเรียกสิทธิความชอบธรรมต่อรัฐบาล โดยมีนักศึกษาที่เดินไปประมาณ 120 คน จาก 7 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย และแนวร่วมอาชีวะเพื่อประชาชนเป็นต้น และในวันที่ 1-13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 พรรคสัจจธรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหงส่งกลุ่มปฏิบัติงานเพื่อชาวไร่ชาวนาไปยังจังหวัดนครราชสีมาโดยมีการแจกเอกสารที่สะท้อนแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกๆ และได้แนะนำแนวทางให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ในข้อแรกซึ่งเป็นข้อสำคัญคือให้หมั่นศึกษาคติพจน์ของเหมาเจ๋อตงอยู่เป็นประจำและนำไปชี้นำการปฏิบัติทุกครั้ง

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชุดข้างต้นอาจจะสนับสนุนความคิดที่ว่านักศึกษามีแนวคิดซ้ายจัด แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งจากบันทึกของจิระนันท์ พิตรปรีชาและเสกสรรค์ ประเสริฐกุลกลับแสดงให้เห็นว่ามีกลุ่มคนและนักศึกษาหลายกลุ่มหลากแนวคิด ทั้งกลุ่มที่รับแนวทางซ้ายแบบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือซ้ายแบบเหมาอิสม์ แต่ก็มีกลุ่มที่สนใจปัญหาสังคมเป็นแนวร่วมและไม่ได้ซ้ายจัด เช่นตนเองและกลุ่มเพื่อน ซึ่งบันทึกของจิระนันท์เขียนสอดรับกับเสกสรรค์ว่า บุคคลที่เข้าร่วมชมนิทรรศการจีนแดงมีหลายกลุ่มรวมทั้งประชาชนทั่วไป ทั้งสองยังชี้ให้เห็นแนวทางของตนเองว่าไม่ได้อยู่ในกลุ่มซ้ายจัด ซ้ำงานของเสกสรรค์บางชิ้น เช่น ว่าด้วยซ้ายไทย และมนุษยธรรมกับการต่อสู้ทางชนชั้นยังวิพากษ์แนวทางการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่เดินตามการชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในบันทึกของจิระนันท์เสนอภาพรวมของขบวนการนักศึกษาภายหลังงานนิทรรศการจีนแดง พ.ศ. 2517 โดยชี้ว่ากลุ่มเคลื่อนไหวแบบซ้ายจัดมีการกีดกันแนวร่วมกลุ่มอื่นๆ และมองในข้อสำคัญว่าแม้นักศึกษาจะพูดจาแบบฝ่ายซ้ายแต่ก็ไม่พร้อมสำหรับความรุนแรงที่จะก่อขึ้น (จิระนันท์ พิตรปรีชา, 2549, น. 50-51)

“กระแสซ้ายจัด” ของขบวนการนักศึกษาไทยในปี 2518-2519 ได้ตั้งแง่ปฏิเสธกลุ่มคนที่น่าจะเป็น “แนวร่วม” อย่างเช่นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเพียงเพราะพวกเราผูกเน็คไทและพูดถึงการปฏิรูปมากกว่าปฏิวัติ ทั้งยังก่อนกระแสวิพากษ์โจมตีในหมู่พวกเดียวกันเองอย่างอุตลุด ดังเช่นที่บทกวีของฉันโดนเล่นงาน (อหังการ์แห่งดอกไม้-ผู้เขียน) หรือบทความชื่อ “ว่าด้วยซ้ายไทย” และ “มนุษยธรรมกับการต่อสู้ทางชนชั้น” ของพี่เสก ซึ่งพยายามเขียนเตือนสติพวกเขา ก็ถูกตอบโต้ประณามอย่างรุนแรง มีการใช้สูตรปฏิวัติวัฒนธรรมจีนมาเรียกร้องให้ “วิจารณ์ตนเอง-ดัดแปลงโลกทัศน์ ชีวทัศน์ ให้เป็นแบบชนชั้นกรรมาชีพ”

ถึงแม้จะมีความคิดที่แตกต่างกันอยู่มาก แต่ในสายตาของคนนอกวงการ ภาพรวมของนักศึกษาเวลานั้นก็คือพวก “หัวรุนแรง” ที่น่าหวาดระแวง ด้านหนึ่งเป็นเพราะบทบาททางการเมืองที่เติบโตขยายผลอย่างรวดเร็วหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา อีกด้านหนึ่งเป็นเพราะสิ่งที่พวกเรา (บางส่วน) คิด พูด และเขียนออกไปอย่างนั้น มันซ้ายจัดรุนแรงอย่างที่ว่าจริงๆ

แม้จะพูดจาภาษาซ้ายจนฟังดูน่ากลัว แต่เอาเข้าจริงๆ นักศึกษาปัญญาชนไทยก็ใช่จะพร้อมสำหรับความรุนแรงที่กำลังก่อรูปขึ้น มันเริ่มด้วยการคุกคามแบบเข้าถึงตัวและตามมาด้วยการปลุกระดมสรรพกำลังประเภท “ขวาพิฆาตซ้าย” ในที่สุด

ภาพหนังสือเกี่ยวกับนิทรรศการจีนแดง พ.ศ. 2517 ที่ผู้เขียนค้นพบใน พ.ศ. 2566 มีจำนวน 3 เล่ม จัดทำโดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสื่อมวลชน

จากการทดลองนำเสนอการศึกษาความคิดทางการเมืองในปัญญาชน พ.ศ. 2516-2519 เบื้องแรกพบว่าความคิดทางการเมืองแบบมาร์กซิสม์และความคิดทางการเมืองแบบเหมาอิสม์เป็นสองแนวคิดทางการเมืองสำคัญของแกนนำหลักในขบวนการนักศึกษาหัวก้าวหน้าใช้ชี้นำเป็นแรงผลักดันเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในช่วงเวลานั้น โดยความคิดทางการเมืองแบบเหมาอิสม์มีอิทธิพลสูงที่สุดคือส่งผลทางความคิดและอุดมการณ์ให้ปัญญาชนหัวก้าวหน้าสามารถจะสละชีวิตของตนเพื่ออุดมคติสังคมที่ดีงาม มีความเท่าเทียม และมีความเสมอภาคทุกชั้นชน จนกระทั่งนำไปสู่การล้อมปราบกลุ่มนิสิตนักศึกษา

แต่ในอีกแง่มุม ปัญญาชนที่ไม่ได้สมาทานแนวคิดเหมาอิสม์หรือซ้ายแบบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็มีอุดมคติสอดรับกันคือมุ่งหวังให้สังคมมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น มีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและชนชั้นเฉกเช่นเดียวกัน

ท้ายที่สุดในหมู่ปัญญาชนที่เป็นแกนนำและหัวก้าวหน้าของกลุ่มต่างๆ ไม่ว่ากลุ่มใดก็ไม่อาจยอมรับความรุนแรงในเช้าวันพุธที่ 6 ตุลาฯ 2519 ได้ และจากรายงานการสดับตรับฟังการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา พ.ศ. 2516-2519 เสนอให้เห็นสาเหตุสำคัญของการปราบปรามว่า ต่างความคิด (ทางการเมือง) ผิดถึงตาย


เอกสารอ้างอิง


เอกสารที่ไม่ตีพิมพ์เผยแพร่/เอกสารชั้นต้น

หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. B 5.2.2/8 คำให้การพยานโจทก์เกี่ยวกับเคลื่อนไหวของนักศึกษา. การจัดนิทรรศการจีนแดงและอภิปรายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 6 กุมภาพันธ์ 2517.

หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. B 5.2.2/11 คำให้การพยานโจทก์เกี่ยวกับเคลื่อนไหวของนักศึกษา. สรุปผลการสดรับตรับฟังเรื่อง “การจัดนิทรรศการจีนแดง” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,  มีนาคม 2517.

หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. B 5.2.2 (1-9) คำให้การพยานโจทก์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา, 2515-2519.

หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. B 177 (B 166 – 185) หนังสือแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (the Communist Manifesto) คาร์ล มาร์กซ, ชมรมหนังสือแสงตะวัน, 2517.

หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. B182 (B166 – 185) หนังสือสรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง เล่ม 1 (ตอนต้น)  ปักกิ่ง : ภาษาต่างประเทศ, 1968.

หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. B 183 (B166 – 185) หนังสือสรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง เล่ม 1 (ตอนปลาย) ปักกิ่ง : ภาษาต่างประเทศ, 1968.

หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. B 185 (B166 – 185) หนังสือสรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง เล่ม 3 (ตอนต้น) [ม.ป.ท.] : ชมรมหนังสือแสงตะวัน, [ม.ป.ป.]


หนังสือพิมพ์

กองบรรณาธิการ. นิทรรศการจีนแดง. ประชาธิปไตย (24 มกราคม 2517): 1.

กองบรรณาธิการ. นิทรรศการจีนแดง. สยามรัฐ (23 มกราคม 2517): 1.


หนังสือ

Cook, C. Alexander. (Ed.). (2014). MAO’s Little Red Book A Global History. Cambridge: Cambridge University Press.

Gasper, Phil. (Ed.). (2005). The Communist Manifesto A Road Map to History’s Most Important Political Document. Chicago, Illinois: Haymarket Books.

Girling, John L.S. (1981). Thailand Society and Politics. Ithaca and London: Cornell University.

Ingavata, Chaichana. (1981). Students as an agent of social change: A case of the Thai student movements during the years 1973-1976: A critical political analysis. The Florida State University College of Social Science, Department of Government-Comparative Politics.

Morell, David and Chai-anan Samudavanija. (1981). Political Conflict in Thailand Reform, Reaction, Revolution. West Germany: Library of Congress.

Tejapira, Kasian. (2001). Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958. Kyoto: Kyoto University Press.

Wedel, Yuangrat. (2001). Modern Thai Radical Thought: The Siamization of Marxism and its Theoretical Problems. Bangkok: Thai Khadi Research Institute.

กองบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์. (2517). การปฏิวัติของจีน. กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือเล่มของกองบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์.

กุลลดา เกษบุญชู มี๊ด. (2552). ความขัดแย้งทางการเมืองไทย ข้ามไปให้พ้นพลวัตภายใน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา.

เกษียร เตชะพีระ. (2537). จินตนากรรมชาติที่ไม่เป็นชุมชน: คนชั้นกลางลูกจีนกับชาตินิยมโดยรัฐของไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมนักข่าว หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ.

คาร์ล มาร์กซ และเฟรเดอริค เองเกลส์. (2531). แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ The Communist Manifesto. (สำนักพิมพ์แสงตะวัน, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นกฮูก.

คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2557). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: มติชน.

จิระนันท์ พิตรปรีชา. (2549). อีกหนึ่งฟางฝัน บันทึกแรมทางของชีวิต. กรุงเทพฯ: มติชน.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (บรรณาธิการ). (2541). จาก 14 ถึง 6 ตุลา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

ชัยอนันต์ สมุทวณิช. (2519). ความคิดทางการเมืองการปกครองไทยโบราณ. กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

­ชัยอนันต์ สมุทวณิช. (2519). ประชาธิปไตย สังคมนิยม คอมมิวนิสต์กับการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ชัยอนันต์ สมุทวณิช. (2529). จากป่าสู่เมือง: การศึกษาการเปลี่ยนแปลงในอุดมการณ์ของนักศึกษาไทย จากปี 2519. กรุงเทพฯ: สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ชัยอนันต์ สมุทวณิช และสมบัติ จันทรวงศ์. (2523). ความคิดทางการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เชาวน์ พงษ์พิชิต. (2555). วิพากษ์ประธานเหมา. กรุงเทพฯ: มติชน.

ดุษฎี พนมยงค์. (2555). ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน. กรุงเทพฯ: มติชน.

จรัล ดิษฐาอภิชัย. (2546). ก่อนจะถึง 14 ตุลา. กรุงเทพฯ: เมฆขาว.

ธเนศ วงศ์ยานนาวา. (2552). 1968 เชิงอรรถการปฏิวัติ. กรุงเทพฯ: สมมติ.

ธัญญา ชุนชฎาธาร. (2556). บันทึก 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ เรื่องบอกเล่าก่อนถึงวัน 14  ตุลาคม 16 ใน บันทึกเหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่าน 13 กบฏ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา.

ธานินทร์ กรัยวิเชียร. (2516). การใช้กฎหมายป้องกันคอมมิวนิสต์. กรุงเทพฯ: สำนักงานปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ.

ธานินทร์ กรัยวิเชียร. (2517). ลัทธิและวิธีการของคอมมิวนิสต์. กรุงเทพฯ: กระทรวงกลาโหม.

ธานินทร์ กรัยวิเชียร และดุสิต ศิริวรรณ. (2519). บันทึกการสนทนาประชาธิปไตย, ระหว่างศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร กับ อาจารย์ดุสิต ศิริวรรณ. กรุงเทพฯ: โรงเรียนชุมพลทหารเรือ.

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. (2548). การเปิดความสัมพันธ์กับ “จีนแดง” (วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518) พิจารณาผ่านงานศึกษาเรื่อง “แนวความคิดทางการเมืองของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

ทวี หมื่นนิกร. (2518). หลักลัทธิมาร์กซ์เลนิน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์.

น. ชญานุตม์. (2516). วิวัฒนาการของมาร์กซิสม์. กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย.

พลศักดิ์ จิรไกรศิริ. (2521).  ความคิดทางการเมืองสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

พวงทอง ภวัครพันธุ์. (2556). สงครามเวียดนาม: สงครามกับความจริงของ “รัฐไทย” พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: คบไฟ.

พัลลภ ศรีภา สิวาลัย สุตรา และอภิชาต พุทธวงศ์. (2517). นาวาว่าด้วยลัทธิสังคมนิยม. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการจัดนิทรรศการวิชาการสังคมนิยม คณะรัฐศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปฐม มณีโรจน์ และสุนทร เกิดแก้ว (บรรณาธิการ). (2520). การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน: ประมวลเอกสารสำคัญทางการเมือง ระหว่าง 6 ตุลาคม-22 ตุลาคม 2519. กรุงเทพฯ: คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2548). และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ…การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาปัญญาชน ก่อน 14 ตุลา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2558). การเมืองวัฒนธรรมไทย ว่าด้วยความทรงจำ/วาทกรรม/อำนาจ. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน.

ปรีดี พนมยงค์. (2518). ควรจะแก้ปัญหาเมืองไทยอย่างไร คำตอบปัญหาภาคที่ 1 เกี่ยวกับ ระบบสังคมนิยมและระบบคอมมิวนิสต์จะเหมาะสมแก่เมืองไทยหรือไม่ (ตอนที่ 1). กรุงเทพฯ: พูน พุกกะรัตน์.

เหมาเจ๋อตง. (2517). ปรัชญานิพนธ์ประธานเหมาเจ๋อตง. กรุงเทพฯ: องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วรศักดิ์ มหัทธโนบล. (2554). ครองแผ่นดินจีน: พรรค ผู้นำ อำนาจรัฐ. กรุงเทพฯ: มติชน.

วลาดิมีร์ อิลยิช, เลนิน. (2517). คาร์ล มาร์กซ (Karl Marx). เชียงใหม่: แนวร่วมนักศึกษาเชียงใหม่.

สมบัติ จันทรวงศ์. (2533). ภาษาทางการเมือง: พัฒนาการของแนวอธิบายการเมืองและศัพท์การเมืองในงานเขียนประเภทสารคดีทางการเมืองของไทย พ.ศ. 2475-2525. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ส. ศิวรักษ์. (2546). อธิบายแนวคิดปรัชญาการเมืองฝรั่ง. กรุงเทพฯ: ศึกษิตสยาม.

สายชล สัตยานุรักษ์. (2550). คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม “ความเป็นไทย” ยุคจอมพล สฤษดิ์ถึงทศวรรษ 2530 เล่ม 2. กรุงเทพฯ: มติชน.

สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์. (2555). กบฏจีนจน “บนถนนพลับพลาไชย”. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (บรรณาธิการ). (2536). 60 ปี ประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการ 60 ปี ประชาธิปไตยไทย.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2551). สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ: กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.

สุรพงษ์ ชัยนาม. (2517). มาร์กซและสังคมนิยม. กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย.

สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา. (2519). รวมกฎหมายเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์. กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการรัฐสภา.

ศุภมิตร ปิติพัฒน์. (2555). บทวิพากษ์ธรรมวิทยาแห่งพลเมืองของประกาศกร่วมสมัย เกษียร เตชะพีระ ธงชัย วินิจจะกูล และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. กรุงเทพฯ: คบไฟ.

องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2517). วารสาร อ.ม.ธ. นิทรรศการจีนแดง. กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์.

ฮาร์มอน, เจ. เอ็ม. (2522). ความคิดทางการเมืองจากเปลโต้ถึงปัจจุบัน (เสน่ห์ จามริก, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (ต้นฉบับพิมพ์ ค.ศ. 1964).


บทความ

เกษียร เตชะพีระ. (2551). มองการเมืองไทยจากมุมคนเดือนตุลาฯ. วารสารสถาบันพระปกเกล้า, 6(3), 67-76.

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. (2519). ปรัชญาประวัติศาสตร์ของลัทธิมาร์กซ์. วารสารธรรมศาสตร์, 6(2), 83-100.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และบุศรินทร์ โตสุขุมวงศ์. (2539). พิเคราะห์หนังสือต้องห้ามของไทย. รัฐศาสตร์สาร, 19(3), 110-138.


วิทยานิพนธ์

คนึงนิตย์ ตั้งใจตรง. (2530). ความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมของขบวนนักศึกษาระหว่าง พ.ศ. 2516-2519: ศึกษากรณีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บัณฑิตวิทยาลัย.

ตามไท ดิลกวิทยรัตน์. (2544). “คอมมิวนิสต์” ในการเมืองไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะรัฐศาสตร์.

ธิกานต์ ศรีนารา. (2555). ความคิดทางการเมืองของ “ปัญญาชนฝ่ายค้าน” ภายหลังการตกต่ำของกระแสความคิดสังคมนิยมในประเทศไทย พ.ศ. 2524-2534. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะอักษรศาสตร์.

บุญเรือง เนียมหอม. (2519). การวิเคราะห์เนื้อหาหนังสือภาษาไทยเกี่ยวกับการเมืองที่ จัดพิมพ์ขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ถึง วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2518.วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บัณฑิตวิทยาลัย.

รังสิต ทองประคำ. (2539). ความคิดทางเศรษฐกิจและสังคมของผิน บัวอ่อน. วิทยานิพนธ์ปริญญาเศรษฐศาสตรบัณฑิต. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย.

รายงานวิจัย

เฉลิมเกียรติ ผิวนวล. (2531). รายงานการวิจัยเรื่อง ประชาธิปไตยแบบไทย: ความคิดทางการเมืองของทหารไทย (2519-2529). กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

References
1 จากการศึกษาเรื่อง การวิเคราะห์เนื้อหาหนังสือภาษาไทยเกี่ยวกับการเมืองที่ จัดพิมพ์ขึ้นตั้งแต่ วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ถึง วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2518 โดยบุญเรือง เนียมหอม ศึกษาหนังสือที่จัดพิมพ์ในระยะเวลา 15 เดือน 12 วัน คือในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ถึงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นช่วงถึงวันที่เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและได้เลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ผู้วิจัยแบ่งการศึกษาหนังสือที่มีเนื้อหา 7 รูปแบบ ดังต่อไปนี้  ได้แก่ 1. ทฤษฎี อุดมการณ์ ปรัชญา และความคิดทางการเมือง 2. สถาบันทางการเมือง 3. กฎหมายสาธารณะ 4. พลังทางการเมือง 5. รัฐประศาสนศาสตร์ 6. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 7. การปกครองเปรียบเทียบ
2 รวบรวมข้อมูลจากหอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หอสมุดคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี, ห้องสมุดของสำนักพิมพ์ต้นฉบับ, วารสารอักษรสาส์น, วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์
3 รวบรวมข้อมูลจากหอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หอสมุดคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี, ห้องสมุดของสำนักพิมพ์ต้นฉบับ, วารสารอักษรสาส์น, วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์
4 สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตง จำนวน 4 เล่ม 8 ตอน ถูกประกาศเป็นสิ่งพิมพ์ห้ามมิให้ผู้ใดครอบครอง เช่น จากประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94 ตอนที่ 97 ฉบับพิเศษ ประกาศ ณ วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2520

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save