fbpx

หนุมาน พบ 7 ยอดมนุษย์ : ภาพยนตร์เด็กไทยหลัง 14 ตุลาฯ กับการสร้างอุดมการณ์ปกป้องพุทธศาสนา

‘พี่โก๊ะตายแล้ว’ มิได้เป็นประโยคที่เลียนล้อต่อคำลือลั่นอย่าง ‘พระเจ้าตายแล้ว’ ในวรรณกรรมปรัชญาอย่าง ‘Thus Spoke Zarathustra’ ของ ฟรีดริช นีตซ์เช (Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาชาวเยอรมัน หากแต่เป็นคำกล่าวของเด็กชายอนันต์ที่ร้องร่ำไห้แก่ความตายของเด็กชายโก๊ะผู้น่าสงสาร ผู้ยอมสละเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อจะปกป้องพระพุทธศาสนาจากพวกโจรใจบาปที่แอบมาขโมยตัดเศียรพระพุทธรูปในภาพยนตร์ไทยสุดคลาสสิกอย่าง ‘หนุมาน พบ 7 ยอดมนุษย์’

แม้ในปัจจุบัน ‘ยอดมนุษย์อุลตร้าแมน’ (Ultraman) จะกลายเป็นภาพจำทางสัญลักษณ์ตัวละครการ์ตูนของประเทศญี่ปุ่น และชื่อเสียงของสมโพธิ แสงเดือนฉาย ผู้ให้กำเนิดเรื่องราวการพบกันระหว่างตัวการ์ตูนฮีโร่ของประเทศญี่ปุ่นอย่าง ‘อุลตร้าแมน’ กับตัวละครในวรรณคดีไทยอย่าง ‘หนุมาน’ จะเป็นไปในทิศทางลบจากสายตาของเยาวชนไทยรุ่นใหม่ๆ อันเนื่องมาจากกรณีข้อพิพาทเรื่องลิขสิทธิ์ยอดมนุษย์อุลตร้าแมนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา กระนั้น ย่อมยากที่จะปฏิเสธว่า สมโพธิ แสงเดือนฉาย คือบุคคลสำคัญหนึ่งต่อความสำเร็จของตัวการ์ตูนชื่อดังอย่างอุลตร้าแมน และมากไปกว่านั้น เขาคือบุคคลสำคัญของวงการภาพยนตร์เด็กไทยที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516


สมโพธิ แสงเดือนฉาย, 14 ตุลาฯ กับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เด็กไทย


สมโพธิ แสงเดือนฉาย เกิดวันที่ 24 พฤษภาคม 2485 เป็นชาวจังหวัดสมุทรปราการ เขาสนใจงานด้านภาพยนตร์ตั้งแต่วัยเด็ก ในช่วงเรียนมัธยม เขาได้เป็นช่างกล้องเฉพาะกิจถ่ายภาพส่งไปนิตยสารชัยพฤกษ์ โดยได้รับค่าตอบแทน 100 บาท ต่อมาจึงได้เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่วัยยังไม่ย่างเข้า 20 ปี เมื่อได้เข้าไปทำงานในฝ่ายภาพยนตร์โฆษณาของธนาคารออมสินช่วงยุคสมัยปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2501–2506)

ด้วยรัฐบาลคณะปฏิวัติในขณะนั้น มีนโยบายสำคัญด้านการประชาสัมพันธ์คือการต่อต้านคอมมิวนิสต์ สมโพธิจึงเสนอในที่ทำงานว่า “ถ้าจะแอนตี้คอมมิวนิสต์ ผมมีอย่างเดียวคือถ่ายพระราชกรณียกิจในหลวง”[1] และได้ตามถ่ายภาพพระราชกรณียกิจแล้วนำมาตัดต่อเป็นภาพยนตร์ออกฉายตามสาขาของธนาคารออมสินทั่วประเทศในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขามีทักษะด้านการใช้กล้อง ฟิล์ม และการตัดต่อ

ในช่วงปี 2505 สมโพธิได้รับทุนจากธนาคารออมสินให้ไปศึกษาเทคนิคการถ่ายภาพยนตร์ที่บริษัท โตโฮ โปรดักชั่น ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยขณะนั้นเขามีอายุเพียง 20 ปี[2] ซึ่งช่วงเวลา 2 ปีกับการทำงานที่บริษัท โตโฮ โปรดักชั่น ทำให้เขาได้พบและเรียนรู้งานภาพยนตร์จากปรมาจารย์ภาพยนตร์ญี่ปุ่นหลายท่าน เช่น อากิระ คุโรซาว่า  ฮิชิโร อินางากิ และโดยเฉพาะ เอจิ ซึบูราญ่า หัวหน้าแผนกเทคนิคพิเศษของโรงถ่าย ผู้ให้กำเนิดสัตว์ประหลาดอย่าง ก๊อดซิลล่า (Godzilla) ที่ในขณะนั้นกำลังสร้างภาพยนตร์เรื่อง King Kong vs. Godzilla

ขณะนั่งที่กองถ่าย King Kong vs. Godzilla สมโพธิเล่าว่า เขาได้ลองเสนอคาแรกเตอร์ (Character)
ตัวละครใหม่ ด้วยการนำภาพถ่ายพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยมาให้เอจิ ซึบูราญ่า ดู ปรากฎว่าเอจิประทับใจในรูปพระพักตร์ (ใบหน้า) ของพระอัฏฐารส พระพุทธรูปปางเปิดโลก วัดมหาธาตุ ที่สมโพธินำมาเสนอให้ดูเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบตัวละครใหม่นาม ‘อุลตร้าแมน’ (Ultraman) ของบริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่น[3]

หลังกลับจากประเทศญี่ปุ่น สมโพธิทำงานใช้ทุนธนาคารออมสินเป็นเวลา 7 ปี ในปี 2513 เขาเริ่มต้นสร้างละครทีวีเรื่อง ‘ไกรทอง’ ออกฉายทางช่อง 7 สี และนำเทคนิคสเปเชียลเอฟเฟกต์ (Special effects) ที่เรียนจากประเทศญี่ปุ่นมาใช้ในงานละครทีวี ผลปรากฏว่าได้รับกระแสตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี ทำให้เขาได้ผลิตงานละครทีวีอื่นตามมาอย่าง ‘พระอภัยมณี’ ‘ยายกะตา’ และ ‘ล่องไพร’ ตั้งแต่ปี 2513–2516

ในปี 2516 สมโพธิขยับก้าวขึ้นสู่การผลิตภาพยนตร์ครั้งแรกจากผลงานภาพยนตร์เรื่อง ‘ท่าเตียน’ ซึ่งเป็นเรื่องว่าด้วยการสู้รบกันกลางเมืองกรุงเทพฯ ระหว่างยักษ์วัดแจ้งกับยักษ์วัดโพธิ์ สมโพธิเล่าว่าเขาได้รับทุนสร้างจากโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุงจำนวน 2 แสนบาท ปรากฏว่าเมื่อภาพยนตร์เข้าฉายไปเพียง 2 อาทิตย์ สามารถทำรายได้ไปถึง 1 ล้าน 4 แสนบาท และรายได้จากการฉายในต่างจังหวัดอีก 3 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการ ‘แจ้งเกิด’ ของสมโพธิในวงการภาพยนตร์ไทยอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวบริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่น กำลังประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนักภายหลังการเสียชีวิตของ เอจิ ซึบูราญ่า ทำให้โนโบรุ ซึบูราญ่า ลูกชายของเอจิ เดินทางมาหาสมโพธิ

สมโพธิเล่าว่าในขณะนั้นเขามีเงินจำนวน 3 ล้านบาทที่จะมอบให้แก่โนโบรุไปใช้หนี้ให้แก่บริษัท ทว่าโนโบรุปฏิเสธไม่รับ แต่ขอให้สมโพธิใช้ทุนนี้นำไปสร้างภาพยนตร์เพื่อให้มีการจ้างงานคนในบริษัทได้ต่อไป สมโพธิจึงตัดสินใจแบ่งเงินออกเป็น 2 ก้อน โดยก้อนแรกจำนวน 1 ล้านบาท สร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ’ ออกฉายช่วงต้นปี 2517 และเงินก้อนที่สอง จำนวน 2 ล้านบาท สร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘หนุมาน พบ 7 ยอดมนุษย์’ ออกฉายช่วงปลายปี  2517

ภาพยนตร์ ‘ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ’ ที่ออกฉายในช่วงต้นปี 2517 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก หลังเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์โคลิเซียมเพียงอาทิตย์แรกก็สามารถทำรายได้ไปถึง 1 ล้านบาท ได้รับกระแสการตอบรับที่ดีจากผู้ชมโดยเฉพาะเด็กๆ อย่างล้นหลาม ทำให้ภาพยนตร์เรื่องที่จะออกฉายตามมาอย่าง ‘หนุมาน พบ 7 ยอดมนุษย์’ เลือกเข้าฉายในช่วงปิดเทอม (ภาคเรียน) ปลายปี 2517

หลัง ‘หนุมาน พบ 7 ยอดมนุษย์’ ออกฉายที่โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ช่วงปลายปี 2517 ปรากฏว่าเพียงแค่ 2 วันแรก ก็ทำรายได้ไปกว่า 3 แสนบาท และเพียงแค่สัปดาห์แรกก็สามารถทำรายได้ถึง 1 ล้านบาท จนกลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงเป็นประวัติการณ์ของภาพยนตร์ไทยช่วงทศวรรษ 2510 และกลายเป็นกระแสยิ่งใหญ่แห่งปี หน้าโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุงล้นหลามไปด้วยเด็กและผู้ปกครองจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่างเดินทางมาชมภาพยนตร์และถ่ายรูปกับ ‘หนุมานตัวใหญ่’ ที่ตั้งตระหง่านหน้าโรงภาพยนตร์ จากข่าวส่วนหนึ่งในหนังสือพิมพ์ถึงกับกล่าวว่า “หนุมานแผลงฤทธิ์แล้ว 9 วัน 1 ล้าน เป็นประวัติการณ์ในรอบ 42 ปี ตั้งแต่เปิดโรงเฉลิมกรุงมา” และ “สองวันแรกเต็มทุกรอบตั้งแต่เช้ายันค่ำ” ถึงขนาดที่ว่า น้องหนูๆ ที่จะดูหลังจากนี้ต้องจองบัตรล่วงหน้ากันถึง 7 วัน และบางคืนต้องเปิดรอบพิเศษให้เด็กๆ ที่เดินทางไกลมาจากต่างจังหวัดได้ดู

ไม่เพียงแต่ความสำเร็จในแง่รายได้ ในทางประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยแล้ว ‘หนุมาน พบ 7 ยอดมนุษย์’ ยังถือได้ว่าเป็นทัพหน้าแรกๆ ของการเปิดประวัติศาสตร์ตระกูลภาพยนตร์ (Film Genre) ‘ภาพยนตร์เด็กไทย’ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

แต่เดิมภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์สำหรับคนทั่วไป จนภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ด้วยกระแสการตื่นตัวและเฟื่องฟูของแนวคิดสังคมนิยม ภาพยนตร์ไทยจึงได้ให้ความสำคัญกับเรื่องราวทางสังคมและชีวิตผู้คนตัวเล็กตัวน้อยมากขึ้น คำว่า ตัวเล็กตัวน้อย นี้มิได้อุปมาหมายถึงแค่คนชั้นล่าง กรรมกร ชาวนา หรือผู้ใช้แรงงานเท่านั้น หากแต่หมายถึง คนตัวเล็กตัวน้อยจริงๆ อย่างการให้ความสนใจแก่เด็กๆ ในสังคม แม้ในช่วงหลัง 14 ตุลาฯ จะมีภาพยนตร์เด็กจำนวนหนึ่งอย่าง ‘เพื่อนรัก’ (ประมาณปี 2518–2519) และ ‘เจ็ดซุปเปอร์เปี๊ยก’ แต่ถ้าจะกล่าวถึงภาพยนตร์เด็กที่เป็นตัวแทนแห่งยุคสมัย ก็คงต้องยกให้กับ ‘หนุมาน พบ 7 ยอดมนุษย์’ ซึ่งมีผู้วิเคราะห์ว่าเป็นผู้กล้าในการเปิดศักราชภาพยนตร์เด็ก[4]

14 ตุลาฯ ไม่เพียงส่งผลต่อการกำเนิดภาพยนตร์เด็กไทย แต่ยังส่งผลต่อการเรียนรู้สัญลักษณ์ความหมายของเมืองไทยในโลกภาพยนตร์ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมจำลองถนนราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ได้กลายเป็น ‘สัญลักษณ์’ ของระบอบประชาธิปไตย และเป็นหนึ่งใน ‘ภาพแทน’ ความเป็นเมืองไทยในช่วงหลัง 14 ตุลาฯ[5] ดังจะพบว่า ในภาพยนตร์เด็กไทยทั้งสามเรื่องของสมโพธิในช่วงทศวรรษ 2510 ล้วนปรากฏภาพของถนนราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นฉากสำคัญ ได้แก่ 1. เป็นฉากต่อสู้ระหว่างยักษ์วัดโพธิ์กับสัตว์ประหลาดมนุษย์ดาวอังคาร ในเรื่อง ‘ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ’ 2. เป็นหนึ่งในฉากการปรากฏตัวขึ้นของหนุมาน ภายหลังที่เด็กชายโก๊ะได้รับการชุบชีวิตจากเจ้าแม่อุลตร้าให้กลายเป็นหนุมาน โดยได้เหาะผ่านสถานที่สำคัญของเมืองไทยในเรื่อง ‘หนุมาน พบ 7 ยอดมนุษย์’ และ 3. เป็นฉากการต่อสู้สำคัญระหว่าง หนุมาน กับ คิงดาร์ค ในภาพยนตร์เรื่อง ‘หนุมานพบ 5 ไอ้มดแดง’

น่าสนใจว่า ในฉากการต่อสู้ของทั้ง ‘ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ’ และ ‘หนุมานพบ 5 ไอ้มดแดง’ ได้แสดงให้เห็นถึงภาพของตัวละครไทยที่กำลังต่อสู้เพื่อปกป้องเมืองไทย อันมี ‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’ เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งสอดคล้องไปกับบริบทสังคมการเมืองหลัง 14 ตุลาฯ ที่สังคมไทยเกิดกระแสการตื่นตัวทางประชาธิปไตยจากความสำเร็จในการเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยและการล้มรัฐบาลเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพยนตร์จะมีฉากที่มีนัยยะของการต่อสู้เพื่อปกป้องประชาธิปไตยตามบริบทกระแสสังคมการเมืองไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ทว่าจุดร่วมสำคัญที่แท้จริงของภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องของสมโพธิ โดยเฉพาะ ‘หนุมาน พบ 7 ยอดมนุษย์’ นั้นคือ การปกป้องพระพุทธศาสนา


‘หนุมาน พบ 7 ยอดมนุษย์’ กับการสร้างอุดมการณ์ปกป้องพระพุทธศาสนา


เป็นที่รับรู้ว่า สถาบันหลักของสังคมไทยประกอบด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าการดำรงอยู่ของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในทางประวัติศาสตร์ มิได้ดำรงอยู่ด้วยสภาวะมั่นคงตลอดเวลา หากแต่ถูกท้าทาย รุกราน และต่อต้านทำลายอยู่เสมอ ที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะการถูกท้าทาย รุกราน และต่อต้านนั้น เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของความชอบธรรมในการสถาปนาอำนาจปกป้อง ซึ่งอำนาจปกป้องก็มักจะมาพร้อมกับการสร้างความสมเหตุสมผลในการใช้อำนาจความรุนแรงเข้าจัดการ

ในแง่หนึ่ง ศัตรูของ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการธำรงอยู่และยืนยันถึงความชอบธรรมอยู่เสมอ

สำหรับสถาบันศาสนา แม้จะมิได้กล่าวถึงไว้อย่างเฉพาะเจาะจง แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าหมายถึงพระพุทธศาสนา ซึ่งสองโจรใจบาปใน ‘หนุมาน พบ 7 ยอดมนุษย์’ ที่แอบมาขโมยตัดเศียรพระพุทธรูปนั้นถือเป็น ‘มารศาสนา’ หรือศัตรูของพระพุทธศาสนาอย่างมิต้องสงสัย ดังนั้น เมื่อเด็กชายโก๊ะที่กำลังเล่นสนุกกับเพื่อนๆ เห็นเข้าจึงวิ่งไล่กวดสองโจรใจบาปที่กำลังขับรถยนต์หนีออกไป แต่เมื่อเด็กชายโก๊ะวิ่งไล่ตามไปจนถึงรถ โจรใจบาปกลับใช้ปืนยิงเจ้าโก๊ะจนถึงแก่ความตาย ทำให้เพื่อนๆ ที่วิ่งตามมาต่างร้องไห้เมื่อพบว่าเด็กชายโก๊ะนอนแน่นิ่งเสียชีวิตลงแล้วอย่างน่าสงสาร โดยเฉพาะเด็กชายอนันต์ซึ่งมีความผูกพันกับเด็กชายโก๊ะ ถึงกับนั่งประคองร่างแล้วร้องไห้อย่างสะอึกสะอื้น พร้อมบอกเพื่อนๆ ทุกคนว่า ‘พี่โก๊ะตายแล้ว’

การตายของเด็กชายโก๊ะ ถือเป็นต้นแบบแก่เด็กๆ ในการเรียนรู้ต่อการเป็นผู้ปกป้องพระพุทธศาสนา และกลายเป็นความทรงจำของของเด็กๆ ในสมัยนั้น ดังที่มีผู้บันทึกเล่าถึงเรื่องนี้เล่าย้อนความหลังให้ฟังว่า

“ตอนนั้นผมอายุประมาณ 6 หรือ 7 ขวบ แต่แปลก…ภาพความทรงจำถึงหนังเรื่องนั้นยังแจ่มชัดมากในวันนี้ โดยเฉพาะกับตัวละครที่ชื่อ “โก๊ะ” เด็กผู้ชายไว้ผมเปียซึ่งศรัทธาและหวงแหนในพระพุทธรูป พอเห็นพวกโจรลักลอบตัดเศียรพระ โก๊ะจึงไล่จับโจรอย่างไม่ยอมเลิกรา เรียกว่ากัดไม่ปล่อย ทั้งๆ ที่ตนเองยังเป็นเด็กอยู่แท้ๆ”[6]

ด้วยคุณความดีในการปกป้องพระพุทธศาสนา เด็กชายโก๊ะจึงได้รับพลังชุบชีวิตจากเหล่าเจ้าแม่อุลตร้า
ให้กลายเป็น ‘หนุมาน’ ผู้มีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชและไม่มีวันตาย ดังเนื้อเพลงที่ขับร้องโดย ชาย เมืองสิงห์ ในช่วงเปิดภาพยนตร์ว่า “พลังช่างมหาศาล เหนือจักรวาลและพสุธา” ซึ่งภารกิจแรกๆ หลังจากเด็กชายโก๊ะได้กลายเป็น
หนุมานก็คือ การใช้พละกำลังบดขยี้เจ้าสองโจรใจบาปให้ตายแหลกเละคามือ

ในแง่ของการประกอบสร้างอุดมการณ์ มีผู้วิเคราะห์การกลายเป็นหนุมานของเด็กชายโก๊ะว่าสอดรับไปกับจินตนาการที่เด็กมองตนเป็นผู้กระทำและมีอำนาจ[7] และหากจะวิเคราะห์ต่อไปอีกนั้น ก็จะพบว่าการมีอำนาจของเด็กชายโก๊ะเป็นไปเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนา ในแง่หนึ่ง เด็กชายโก๊ะและหนุมานจึงอาจเป็นต้นแบบและ ‘ร่างประทับ’ ของเด็กๆ ในสังคมไทยในการเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ปกป้องพระพุทธศาสนา

แม้ในภาพยนตร์จะมีประเด็นเรื่องสภาวะโลกร้อนจากการแผ่รังสีความร้อนของพระอาทิตย์ แต่ย่อมเป็นการเกินเลยหากจะวิเคราะห์ไปว่ามีนัยยะหมายถึงภัยคอมมิวนิสต์ กระนั้น เมื่อพิจารณาถึงความรู้สึกทางสังคมในบริบทหลัง 14 ตุลาฯ ที่รัฐไทยพยายามกระตุ้นอารมณ์หวาดกลัวจากภัยของคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ามาล้มล้าง และทำลายสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็นับว่าการสร้างความรู้สึกและอุดมการณ์ในการปกป้องพระพุทธศาสนาอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิดในโลกความเป็นจริงของผู้ชมไม่มากก็น้อย

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาการทำงานของภาพยนตร์ ‘หนุมาน พบ 7 ยอดมนุษย์’ ในมิติจิตวิทยาเด็ก ก็นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะการที่กลุ่มเป้าหมายผู้ชมของภาพยนตร์เป็นวัยเด็กอย่างเด่นชัด ทำให้เนื้อหาว่าด้วยการสร้างอุดมการณ์แห่งการปกป้องน่าจะส่งผลสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมของเด็ก โดยเฉพาะผู้ชมวัยเด็กตั้งแต่อายุ 5 ปีขึ้นไป ที่เป็นวัยจะเริ่มเรียนรู้บทบาทของผู้ใหญ่ การจินตนาการและเล่นบทบาทสมมติ[8] รวมถึงเรียนรู้เรื่องทางศีลธรรมจรรยา (Moral realism) และมาตรฐานทางศีลธรรมในสังคม

สำหรับเด็กๆ แล้ว โลกของภาพยนตร์จึงกลายเป็น ‘โลกจำลองแห่งความเป็นจริงในช่วงขณะหนึ่ง’ ในการเรียนรู้ว่าคนที่มาตัดเศียรพระพุทธรูปคือคนไม่ดี เป็นโจรใจบาป และจะต้องถูกลงโทษให้ตายอย่างสาสม

ด้วยความนิยมของ ‘หนุมาน พบ 7 ยอดมนุษย์’ และการที่เด็กชายโก๊ะในร่างหนุมานบดขยี้ร่างสองโจรใจบาปจนแหลกเละคามือ จึงอาจมีความสำคัญต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของน้องๆ หนูๆ ผู้ชม อย่างน้อยในสองเรื่องสำคัญ คือ

หนึ่ง เป็นการนำน้องๆ หนูๆ ขยับการเรียนรู้จากโลกของตัวเองและเรื่องส่วนตัวไปสู่การเรียนรู้โลกทางสังคม นับตั้งแต่การได้พบสังคมเพื่อนเด็กๆ จำนวนมากที่ต่างพากันมาชมภาพยนตร์ ไปจนถึงการเรียนรู้สังคมผ่านภาพยนตร์ เช่น มาตรฐานทางศีลธรรม (คนดี,คนชั่ว) สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา กระบวนการถูกลงโทษด้วยอำนาจความรุนแรง

สอง เป็นการทำให้น้องๆ หนูๆ ได้เรียนรู้สภาวะความรู้สึกในการสูญเสียทางสังคม เช่น การเสียเพื่อนอันเป็นที่รัก การที่พระพุทธรูป (พระพุทธศาสนา) ถูกทำลาย อันส่งผลต่อมาถึงการเรียนรู้อุดมการณ์ในการปกป้องและการใช้พลังอำนาจเข้าจัดการ ซึ่งนำไปสู่การเรียนรู้ยอมรับความสมเหตุสมผลและความชอบธรรมต่อการใช้อำนาจความรุนแรงเข้าจัดการผู้ที่รุกราน ต่อต้าน และทำลาย

จากที่กล่าวมา ‘หนุมาน พบ 7 ยอดมนุษย์’ จึงไม่เพียงเป็นภาพยนตร์ที่ทำหน้าที่บันทึกภาพเมืองไทยในยุคสมัยปลายทศวรรษ 2510 แต่ยังมีความสำคัญทั้งในแง่ประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย และมากไปกว่านั้นคือ อาจเป็นหนึ่งในเครื่องมือหรืออุปกรณ์การเรียนรู้ทางสังคมของเด็กในยุคทศวรรษ 2510
ซึ่งได้กลายเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นลุงเป็นอา เป็นตาเป็นปู่ ของเด็กๆ ในปัจจุบัน



[1] ดู Line กนก 8 พฤศจิกายน 2558 อุลตร้าแมน เทป 1 Full, เข้าถึงใน https://www.youtube.com/watch?v=e13xf
ZVGin4&t=1058s

[2] พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู, สมโพธิ แสงเดือนฉาย คนไทยผู้พาอุลตร้าแมนไปอเมริกา, จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 21 (พฤษภาคม – มิถุนายน 2557), 12.

[3] เรื่องเดิม, 12.

[4] กำจร หลุยยะพงษ์, รายงานวิจัยเรื่อง โครงการภาพยนตร์เด็กไทยกับการประกอบสร้างภาพตัวแทนเด็กและอุดมการณ์ที่แฝงอยู่, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2559, 45 – 46.

[5] ดูประเด็นนี้เพิ่มเติมใน มาลินี คุ้มสุภา, นัยทางการเมืองของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในสังคมไทย, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541.

[6] รักษ์…อักษรา, ติดตรึงกับหนังประทับใจวัยเยาว์ แสนสงสารเจ้า “โก๊ะ”, 6 มิถุนายน 2565, https://
www.blockdit.com/posts/629dcbc77ade34e292d84606

[7] กำจร หลุยยะพงษ์, รายงานวิจัยเรื่อง โครงการภาพยนตร์เด็กไทยกับการประกอบสร้างภาพตัวแทนเด็กและอุดมการณ์ที่แฝงอยู่, 46.

[8] สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, แนวทางการส่งเสริมพัฒนาการเด็กวัย 3-6 ปี สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง, 2 เข้าถึงใน http://academic.obec.go.th/images/document/1593157950_d_1.pdf

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022