fbpx

‘The Last Breath of SAM YAN’ ต่อลมหายใจสุดท้ายให้ศาลเจ้าแม่ทับทิม

หากยังพอจำกันได้ เมื่อราวๆ เดือนมิถุนายน 2563 สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคำสั่งให้ย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลืองออกจากพื้นที่เพื่อก่อสร้างตึกสูงแทน รวมทั้งฟ้องเรียกค่าเสียหาย พี่นก-เพ็ญประภา พลอยสีสวย ผู้ดูแลศาลเจ้า ด้วยจำนวนเงินมากกว่า 4.6 พันล้านบาท จนกลายเป็นแฮชแท็ก #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่ยืดเยื้อกลายเป็นคดีความกันมาจนถึงปัจจุบัน

สามปีให้หลัง จากศาลเจ้าเล็กๆ ที่นายทุนใหญ่ไม่แม้แต่จะเหลียวแล สู่การรวบรวมเรื่องราวการต่อสู้เรียกร้องของผู้คนในละแวกสามย่านและนิสิตนักศึกษา จนเกิดเป็นสารคดี ‘The Last Breath of SAM YAN’ เพื่อปกป้องลมหายใจสุดท้ายของพื้นที่ทางประวัติศาสตร์สามย่าน

ภาพหน้าตาของพื้นที่ชุมชนสามย่านและรอบบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันเป็นที่คุ้นตาของพวกเราในปัจจุบัน ต่างรายล้อมไปด้วยห้างสรรพสินค้าหรูหราและคอนโดมิเนียมใหญ่โตทุกทิศทาง แต่ใครเล่าจะรู้ว่าแท้จริงแล้วในอดีต พื้นที่เหล่านี้เคยเป็นย่านร้านขายชิ้นส่วนอะไหล่และเครื่องยนต์ที่เรียกว่า ‘ชุมชนเซียงกง’ แต่ต่อมาถูกไล่รื้อที่เพื่อสร้างศูนย์การค้าเสียหมด ปัจจุบันจึงเหลือเพียงศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้เท่านั้นที่ยังคงยืนหยัดอยู่ที่เดิมท่ามกลางชุมชนรอบข้างที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงกลายเป็นตึกหรูสูงระฟ้า

‘The Last Breath of SAM YAN’ จึงมุ่งตั้งคำถามไปที่ ‘การรื้อถอนไล่ที่’ ในนามของ ‘การพัฒนาที่ดิน’ ที่สำนักงานฯ ใช้อ้างเป็นเหตุผลในการขับไล่ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิม ในแง่หนึ่ง เราไม่อาจปฏิเสธว่าสิ่งต่างๆ ย่อมต้องมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นกว่าเดิม ทว่าคำถามสำคัญคือเหตุใดสำนักงานฯ จึงจำเป็นต้องไล่รื้อที่ของชุมชน และทิ้งคนตัวเล็กตัวน้อยให้ดิ้นรนหาทางใช้ชีวิตกันต่อเอง หากต้องการพัฒนาที่ดินให้ดีขึ้นจริง มหาวิทยาลัยจะสร้างการพัฒนาไปพร้อมๆ กับรักษาวัฒนธรรมอันเก่าแก่และชุมชนรอบข้างไว้ไม่ได้เลยหรือ? 

สารคดี ‘The Last Breath of SAM YAN’

“จุฬาฯ ไม่เคยมองว่ามีชีวิตอยู่ในนั้น เขามองแค่ว่าเป็นพื้นที่ที่เขาจะทำประโยชน์อะไรต่อได้”

ประโยคนี้ที่นิสิตคนหนึ่งพูดในสารคดีเป็นคำพูดที่สะกิดใจเราไม่น้อย ในฐานะนิสิตจุฬาฯ ที่ใช้ชีวิตในละแวกสามย่านมากว่า 4 ปีเต็ม เราอยากเห็นภาพมหาวิทยาลัยเป็นมิตรกับชุมชนรอบข้างมากกว่านี้ เราเบื่อกับการหันไปมองทางไหนก็เจอแต่ตึกสูงเสียดฟ้าหน้าตาคล้ายกันไปหมด และเราโกรธที่เกียรติภูมิของจุฬาฯ กลับกลายเป็นการรับใช้ทุนจนไม่เห็นค่าชีวิตของผู้คนเช่นนี้

ด้วยบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของศาลเจ้าแม่ทับทิมที่มีอายุมากกว่าร้อยปี ทั้งยังมีคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรมดั้งเดิมซึ่งเป็นการก่อสร้างของช่างจีนโบราณ และคุณค่าทางจิตใจที่ยึดโยงกับวิถีชีวิตของผู้คน รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของนิสิต และเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมอันเก่าแก่ที่ไม่อาจสร้างใหม่มาทดแทนได้อีกแล้ว

ในขณะที่การพัฒนาที่ดินโดยรอบของสำนักงานฯ กลับทำไปเพียงเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ ทั้งการไล่รื้อถอนและกดดันคนในชุมชน บีบบังคับคนตัวเล็กตัวน้อยให้ต้องละทิ้งบ้านของตนเองไป แทนที่จะเจรจาเพื่อหาทางอยู่ร่วมกันระหว่างประวัติศาสตร์ของชุมชนและการพัฒนาที่ดิน เพราะสุดท้ายการพัฒนาเมืองจำเป็นต้องคำนึงถึงชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณของคนในชุมชน ไม่ใช่ทำไปเพียงเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุนโดยทิ้งชุมชนไว้เบื้องหลัง

‘The Last Breath of SAM YAN’ รวบรวมเอาฟุตเทจที่บันทึกภาพการเรียกร้องให้สำนักงานฯ ยุติการฟ้องร้องขับไล่ผู้ดูแลศาลเจ้าออกจากพื้นที่ มาร้อยเรียงตั้งแต่จุดเริ่มต้นของคดีความเมื่อ 3 ปีก่อน การเข้ามาให้ความช่วยเหลือพี่นกผู้ดูแลศาลเจ้าของเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล และกลุ่มนิสิตจุฬาฯ รุ่นปัจจุบัน ความพยายามทัดทานอำนาจของนายทุนใหญ่ ไปจนถึงภาพการต่อสู้ที่ยังคงไม่หยุดยั้งจนถึงปัจจุบันนี้ ทั้งยังฉายให้เห็นชีวิตส่วนตัวของพี่นกที่แปรเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง นับตั้งแต่ ‘การพัฒนาที่ดิน’ ของสำนักงานฯ เข้ามาย่างกรายศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง

สิ่งที่น่าเศร้าคือตลอด 75 นาทีที่สารคดีฉายไป เราได้เพียงแต่รับฟังความเห็นจากนักวิชาการแขนงต่างๆ ที่มีต่อการรักษามรดกทางวัฒนธรรมนี้ ได้เห็นความโศกเศร้าของพี่นกผู้ดูแลศาลเจ้า ได้เห็นความโกรธเกรี้ยวของนิสิตจุฬาฯ ที่พยายามจะปกป้องศาลเจ้าแม่แห่งนี้ไว้ แต่เรากลับไม่ได้เห็นคำตอบหรือเหตุผลจากฝั่งสำนักงานฯ เลยแม้แต่เศษเสี้ยวนาทีเดียว ว่าเหตุใดจึงยังคงเดินหน้ากดดันผู้ดูแลศาลเจ้าและครอบครัวให้เร่งย้ายออกจากพื้นที่ จนถึงขั้นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมากกว่าพันล้านบาท โดยมิได้สนใจใยดีมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของศาลเจ้าแม่ทับทิมที่อยู่เคียงคู่ชุมชนสามย่านมากว่าร้อยปีเลยแม้แต่น้อย

“มหาวิทยาลัยไม่เคยมาคุยอะไร หน้าฉากก็พูดว่าจะดูแลศาลเจ้าแม่ต่างๆ นานา แต่จริงๆ ไม่เคยมาคุยกับพี่นกเลย ไม่เคยมาคุยกับคณะกรรมการศาลเจ้าแม่ทับทิมที่เป็นคนรุ่นใหม่เลย อยากจะทำอะไรก็ทำตามใจชอบ” เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ผู้อำนวยการสร้าง ‘The Last Breath of SAM YAN’ และผู้ที่คอยยืนหยัดต่อต้านการรื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิม กล่าวขึ้นในระหว่างที่สารคดีดำเนินไปถึงจุดที่ฉายภาพการปะทะกันระหว่างนิสิตนักศึกษากับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ เพื่อป้องกันไม่ให้องค์เจ้าแม่ทับทิมจากศาลเจ้าเดิมถูกช่วงชิงไป

ในตัวสารคดีนั้น ไม่ว่าจังหวะใดที่มีคนจากสำนักงานฯ ปรากฏตัวขึ้นต่อหน้ากล้อง สิ่งที่พวกเขาทำจะมีแค่การเอามือปิดกล้อง เดินหนี หันหลังใส่ บอกปัดไม่ขอตอบคำถามด้วยเหตุผลที่ว่า “ยังบอกไม่ได้” หรือแม้แต่ใช้กำลังในการขับไล่นิสิตที่ไปเรียกร้องความเป็นธรรรมให้ศาลเจ้าแม่ทับทิม แน่นอนว่าถ้าเราได้รับฟังเหตุผลจากผู้บริหารฝ่ายสำนักงานฯ บ้าง คงจะทำให้สารคดีเรื่องนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นกว่าในแบบฉบับที่กำลังฉายอยู่ แต่เพราะฝั่งที่เราต้องการคำตอบมากที่สุดไม่แม้แต่จะสละเวลาสักนาทีที่จะลงจากหอคอยงาช้างมาพูดคุยด้วย และคงไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะคาดหวังให้เขาให้เหตุผล มิหนำซ้ำ จะมีคนจากสำนักงานฯ สละเวลาอันแสนมีค่ามารับชมสารคดีเรื่องนี้บ้างหรือเปล่าก็ไม่อาจรู้ได้

ถ้าพูดถึงความรู้สึกจากการรับชมสารคดีเรื่องนี้ แน่นอนว่าคงไม่ใช่ความรู้สึกที่จรรโลงใจสักเท่าไรนัก กับการต้องเห็นคนธรรมดาคนหนึ่งต้องต่อสู้กับนายทุนหมื่นล้านเพื่อรักษา ‘บ้าน’ ของตัวเองไว้ – ใช่ ในความเป็นจริงนั้น ศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งสามย่านไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่สักการะบูชาองค์เจ้าแม่ทับทิมของคนในชุมชน แต่ยังเป็น ‘บ้าน’ ที่พี่นกและครอบครัวใช้อยู่อาศัยมานานหลายปี และบัดนี้มันกำลังจะถูกทำลายไปต่อหน้าต่อตา

น่าขันสิ้นดี ที่กลายเป็นว่าคนที่เห็นคุณค่าของศาลเจ้าอันเก่าแก่นี้กลับกลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่โดนดูถูกนักหนาว่าเอาแต่สนใจนวัตกรรมใหม่ๆ ในขณะที่ผู้ใหญ่ซึ่งมีอำนาจกำกับดูแลพื้นที่บริเวณนี้กลับเป็นคนเดียวกับที่สั่งกำจัดประวัติศาสตร์ที่อยู่คู่ชุมชนมากว่าร้อยปีเสียเอง เพราะแม้แต่คณะกรรมการศาลเจ้าแม่ทับทิมรุ่นปัจจุบันที่ปรากฏอยู่ในสารคดีก็เป็นนิสิตจุฬาฯ รุ่นใหม่ที่ยังคงเห็นคุณค่าของศาลเจ้าที่คงกลิ่นอายความงดงามของวันวานมากกว่าตึกพาณิชย์สูงใหญ่ที่ไร้ซึ่งชีวิตจิตใจ

ณ ช่วงเวลากลางเดือนมิถุนายน 2566 คดีความระหว่างพี่นกและสำนักงานฯ ยังคงไม่สิ้นสุดลง และยังคงต้องมีการพิจารณาคดีกันต่อไปชั้นศาล แต่ทางเลือกที่พี่นกได้รับมีไม่มากนัก ยิ่งด้วยมีเรื่องของกฎหมายเข้ามา อนาคตของศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้ ‘จะอยู่หรือจะไป’ ไม่ว่าอย่างไรคงมีเพียงสองทางเลือกนี้เท่านั้น และหากคำตอบสุดท้ายคือ ‘ต้องไป’ และจะมีตึกสูงใหญ่มาแทนที่ เราจะเรียกการกระทำนี้ของจุฬาฯ ว่าเป็นการพัฒนาได้จริงหรือไม่ หากท้ายที่สุดมันไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้น

“อย่าแพ้นะ ต้องชนะนะ”

ในห้วงขณะที่สารคดีปรากฏภาพที่ ส.ศิวรักษ์ เดินทางมาให้กำลังใจผู้ดูแลศาลเจ้า ประโยคนี้จากสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ยังคงติดตรึงอยู่ในใจเราแม้สารคดีจะฉายจบไปแล้วก็ตาม ท้ายที่สุด เราหวังเป็นอย่างมากว่าสารคดีเรื่องนี้จะช่วยต่อลมหายใจเฮือกสุดท้ายของศาลเจ้าแม่ทับทิม หรืออย่างน้อยที่สุด เรื่องราวทุกอย่างที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านสารคดีนี้จะเป็นเครื่องยืนยันการต่อสู้ของคนธรรมดาที่ไม่ยอมจำนนอ่อนข้อ และไม่แม้แต่จะยอมศิโรราบต่ออำนาจของนายทุน

หากว่า ‘เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน’ เป็นความจริงอย่างที่จุฬาฯ หยิบยกมากล่าวอ้างซ้ำๆ อยู่หลายต่อหลายปี เราก็หวังว่าจะได้เห็นศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้อยู่เคียงคู่ชุมชนสามย่านไปอีกนานเท่านาน จากการทุบทำลายโรงหนังสกาลามาจนถึงศาลเจ้าแม่ทับทิม ถ้านายทุนบนตึกสูงนั้นยังพอเห็นคุณค่าของผู้คน ชุมชน และมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่านี้อยู่บ้าง ก็อย่าทำให้เราต้องชิงชังสโลแกนสุดแสนจะสวยหรูนี้ไปมากกว่านี้เลย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save