fbpx

FTX Meltdown : จากฮีโรสู่ตัวร้ายของ Sam Bankman-Fried

แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ (Sam Bankman-Fried) หรือที่โลกออนไลน์รู้จักกันในนามว่า ‘SBF’ กลายเป็นบุคคลที่โลกกำลังจับตามองอยู่ตอนนี้ หลังจากการประกาศล้มละลายของกระดานเทรดคริปโตที่เคยมีมูลค่าหลายพันล้านเหรียญและขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกชื่อ ‘FTX’ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อตลาดคริปโต ลากราคาเหรียญอื่นๆ อย่างบิตคอยน์และอีเธอเรียม (รวมทั้งอื่นๆ) ให้ร่วงไปตามๆ กัน

แซมเคยเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกยกย่องว่าเป็นดาวเด่นแห่งวงการคริปโต ขึ้นปกนิตยสาร Forbes และ Fortune จากบุคคลที่เคยมีทรัพย์สินมูลค่าประมาณการณ์กว่า 26,000 ล้านเหรียญ แต่ตอนนี้กลายเป็นตัวร้ายของวงการเหรียญดิจิทัลที่สร้างความเสียหายต่อนักลงทุนรายบุคคลและสถาบันลงทุนมากมายทั่วโลกภายในชั่วข้ามคืน

เกิดอะไรขึ้นกันแน่และคริปโตจะเป็นอย่างไรต่อไปกันนะ?

ก่อนจะไปตอบคำถามตรงนั้นขอย้อนกลับไปช่วงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2022 ที่เว็บไซต์เกี่ยวกับการซื้อขายเหรียญคริปโตชื่อ Coindesk โพสต์ถึงเอกสารภายในที่หลุดออกมาของบริษัท Alameda ที่เป็นบริษัทรับเทรดเหรียญคริปโตภายใต้การดูแลของแซมเช่นกัน เอกสารนี้เป็นโดมิโนตัวแรกๆ ที่สะกิดระเบิด FTX ให้ติดไฟขึ้นมา ในทางกฎหมายแล้วทั้งสองบริษัทนี้เป็นสองบริษัทที่แยกจากกันแต่เชื่อมกันแค่เจ้าของเป็นคนเดียวกันเท่านั้น แต่เอกสารที่หลุดออกมาบ่งบอกว่ามูลค่าของบริษัท Alameda ที่สูงถึง 14,600 ล้านเหรียญนั้นส่วนใหญ่มาจากเหรียญ FTT ที่สร้างขึ้นโดยบริษัท FTX

พูดอีกอย่างคือ FTX พิมพ์เงินของตัวเองในรูปแบบเหรียญ FTT ให้กับ Alameda เพื่อเป็นหลักประกันให้บริษัทไปกู้เงินและเติบโตเรื่อยๆ นั่นเอง

หลังจากนั้นไม่นาน บริษัทคู่แข่งอย่าง Binance ซึ่งเป็นกระดานเทรดคริปโตเจ้าใหญ่ที่สุดของโลกก็ออกมาบอกว่าจะขายเหรียญ FTT มูลค่า 580 ล้านเหรียญของพวกเขาออกมา ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการวิตกกังวลของตลาดแล้วคนก็เริ่มแห่ขายตาม ซึ่งตอนนี้เองที่ปัญหาเกิดขึ้น เพราะ FTX ไม่มีเงินสดมารองรับการถอนตรงนี้นั่นเอง

คนเริ่มแตกตื่นครับ และตอนนี้มูลค่าเหรียญของ FTT ก็ร่วงหนัก (และฉุดตัวอื่นๆ ในตลาดร่วงไปด้วย)

FTX กำลังเจอปัญหาสภาพคล่องครั้งใหญ่ และต้องการเงินช่วยเหลือด่วน และจังหวะหนึ่งก็เหมือนจะได้ความช่วยเหลือด้วยเมื่อ Binance (คู่แข่งที่ทำให้สถานการณ์ของบริษัทมาอยู่จุดนี้) บอกว่าจะเข้าไปซื้อกิจการ แต่เพียงแค่ไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากที่ Binance ตรวจสอบบัญชีของ FTX ก็บอกว่าไม่เอาดีกว่า เพราะปัญหาของ FTX นั้น “เกินกว่าที่เราจะควบคุมและมีความสามารถที่จะช่วยได้”

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2022 FTX และ Alameda ก็ยื่นล้มละลาย แซมลงจากตำแหน่งซีอีโอของบริษัทแล้วทวีตว่า

“I f*ked up”

หลังจากนั้น FTX ก็ว่าจ้างจอห์น เรย์ (John J. Ray III) มาบริหาร FTX ต่อ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการฟื้นฟูกิจการและเคยเข้าไปจัดการปัญหาของบริษัท Enron ที่ล้มละลายในปี 2001 มาแล้ว (ซึ่งถือว่าเป็นการล้มละลายขององค์กรที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา) แต่หลังจากที่เข้าไปทำงานได้ประมาณหนึ่งอาทิตย์ จอห์นก็ออกมายอมรับว่าปัญหาภายในของบริษัทนั้นยุ่งเหยิงมากอย่างที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน โดยบอกว่า

“ไม่เคยเลยในอาชีพของผมที่จะเห็นการจัดการองค์กรที่ล้มเหลวได้ขนาดนี้และไม่มีข้อมูลการเงินที่เชื่อถือได้เลย” และนี่คือสิ่งที่เขาพบเจอ

  • พนักงานขอเบิกเงินผ่านแชต โดยผู้อนุมัติใช้ emoji
  • การใช้แชตเพื่อส่งเอกสารซึ่งหมดอายุก็ตามเอกสารไม่ได้
  • Alameda ให้แซมกู้เงิน 1,000 ล้านเหรียญ
  • เงินทุนของบริษัทนำไปใช้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินส่วนตัวอื่นๆ ให้กับผู้บริหารและที่ปรึกษาบางคน
  • ไม่เคยมีประชุมบอร์ด
  • ไม่มีระบบบริหารเงินสดส่วนกลาง
  • ไม่มีรายชื่อพนักงานทั้งหมด พนักงานปนกันมั่วไปหมดในบริษัทย่อย
  • เงินคริปโตของลูกค้าไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในบัญชีงบดุล แต่ถูกเก็บไว้ในบัญชีคริปโตอันเดียว ใครจะเอาไปใช้ทำอะไรก็ได้
  • คนจัดการเงินมีแค่แซมและผู้ร่วมก่อตั้งอีกคน

เรื่องเหล่านี้เป็นแค่สิ่งที่พบเจอภายในแค่อาทิตย์เดียวเท่านั้น และเชื่อว่าภายใต้พื้นผิวนี้ยังมีอะไรที่จอห์นต้องจัดการอีกเยอะมากๆ และมีความเป็นไปได้ว่าแซมจะถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงด้วย (แม้ตอนนี้จะยังไม่มีข้อหา แต่ก็เริ่มมีการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมกันแล้ว)

หลังจากที่ FTX ล้ม บริษัทคริปโตอื่นๆ ก็เริ่มเป็นกังวลและเป็นห่วงว่าลูกค้าจะมารวมตัวกันถอนเงินออก มีบางส่วน (อย่าง Genesis, Zipup) ที่ตั้งหยุดการถอนเอาไว้ก่อนและกลายเป็นประเด็นที่ลูกค้าหลายคนไม่พอใจ BlockFi แพลตฟอร์มที่ให้บริการการกู้ยืมคริปโต ก็ยื่นล้มละลายในเวลาต่อมาเพราะมีสินทรัพย์ค้างอยู่ในแพลตฟอร์มของ FTX และเอาออกมาไม่ได้

ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมคริปโตเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ บริษัทร่วมลงทุนอย่าง Sequoia ก็เสียหายไปกว่า 210 ล้านเหรียญจากการลงทุนใน FTX ที่กลายเป็นศูนย์ หรือแม้แต่โครงการบำเหน็จของครูเมือง Ontario ประเทศแคนาดาก็ลงทุนใน FTX ไปกว่า 95 ล้านเหรียญและคิดว่าน่าจะไม่ได้คืนแล้ว ตอนนี้มีการคาดการณ์ว่ามีคนเสียหายประมาณ 1 ล้านคน และจากรายงานของจอห์นหลังจากที่เข้ามาดูแลในตำแหน่งซีอีโอก็บอกว่าเจ้าหนี้ 50 รายใหญ่แรกของ FTX ก็ปาไป 3,000 ล้านเหรียญแล้ว

ภายหลัง Binance ออกมาบอกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับ FTX นั้นไม่เกิดขึ้นกับ Binance อย่างแน่นอน ชางเพ็ง เจา (Changpeng Zhao) ตอบคำถามกับนักข่าว CNN ในประเด็นนี้ว่าถ้าทุกคนมาถอนเงินออกจาก Binance พร้อมๆ กันจะเป็นอย่างไร เขาก็บอกว่า “ก็โอเค ไม่มีปัญหา เรามีกำไรมาโดยตลอดอยู่แล้ว”

ใจกลางของทุกอย่างที่เกิดขึ้นคือบุคคลที่ชื่อ แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการคริปโตมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รู้จักบุคคลที่มีชื่อเสียงมากมาย ทั้งในกลุ่มดารา ผู้นำด้านกฎหมาย และนักลงทุนกระเป๋าหนักอีกหลายคน มีโอกาสขึ้นปกนิตยสาร Forbes และ Fortune ถูกเรียกว่าเป็น ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์แห่งโลกคริปโต’ โดยสื่ออย่าง Entrepreneur เคยกล่าวไว้ว่าเขาจะบริจาคทรัพย์สินของเขา 99% ให้กับองค์กรการกุศลและเหลืออีกเพียง 1% ไว้ให้ตัวเองใช้เท่านั้น

แต่นั่นก็คงไม่เกิดขึ้นแล้ว เพราะตอนนี้ทรัพย์สินทุกอย่างของเขาดูเหมือนจะล่มสลายไปพร้อมๆ กับ FTX (แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีเงินนะ เพราะหลังจากบริษัทยื่นล้มละลาย จู่ๆ ก็มีข่าวออกมาว่า FTX โดนแฮกแล้วเหรียญคริปโตของลูกค้าที่อยู่ในนั้นหายไปกว่า 600 ล้านเหรียญ ซึ่งก็มีข่าวว่าแซมอาจจะเป็นคนทำเองก็ได้) และบริษัทของเขากำลังถูกสอบสวนโดยอัยการของรัฐบาลกลางในนิวยอร์กและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และ Commodities and Futures Trading Commission อีกด้วย

เจ้าหน้าที่ในบาฮามาสซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท FTX ได้เริ่มทำการสอบสวนทางอาญาหลังจากที่บริษัทยื่นฟ้องล้มละลาย สภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่ากำลังขอเอกสารและข้อมูลการสื่อสารภายในของแซมและ FTX เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่ากระดานเทรดคริปโตแห่งนี้ล่มสลายอย่างกะทันหันได้อย่างไร และทำอย่างไรถึงจะเอาเงินทุนของลูกค้ามาคืนได้บ้าง

คริปโตยังคงจะมีอยู่ต่อไป ไม่ตายง่ายๆ การล้มของ FTX ทำให้คนสูญเสียความมั่นใจพอสมควรกับตลาดแห่งนี้ หลายคนมองว่านี่เป็นเหตุการณ์คล้ายกับช่วงฟองสบู่ดอตคอมช่วงปลาย 90’s ที่บริษัทเทคโนโลยีมากมายล้มหายตายจากกันไป แต่คนที่เหลือรอดอย่าง Amazon, Apple, Microsoft หรือ Google ต่างล้วนเป็นของจริงจึงอยู่ได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคริปโตตอนนี้เหมือนเป็นการคัดคนออก ส่วนที่เหลือรอดไปได้จะเติบโตอย่างมหาศาลและกลายเป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมนั้นไปเลย

บางคนก็บอกว่าให้มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Lehman Brothers ที่ไม่ได้ทำให้ตลาดหุ้นล่มสลายไปแม้คนจะสูญเสียความมั่นใจไปบ้างก็ตามในระยะสั้น แต่บางคนก็อาจจะมองว่าตอนนั้นเพราะรัฐบาลมาช่วยเลยไม่ล้ม ซึ่งก็กลายมาเป็นประเด็นถกเถียงกันต่อด้วยเรื่องความจำเป็นของกฎหมายควบคุมตลาดคริปโต ไม่ใช่เพียงเพื่อตรวจสอบและคัดกรองผู้เล่นในตลาดอย่าง FTX ให้เกิดขึ้นได้ยากแล้ว (จะบอกว่าไม่เกิดขึ้นก็คงเป็นไปไม่ได้) ยังเป็นการเอาผิดผู้ที่กระทำผิดอย่างจริงจังและปกป้องนักลงทุนตัวเล็กๆ ทั้งหลายด้วย


The crypto meltdown, explained

‘Complete failure:’ Filing reveals staggering mismanagement inside FTX

Bankrupt crypto exchange FTX may have over 1 million creditors as ‘dozens’ of regulators probe collapse

FTX-owned service being used to launder hundreds of millions ‘hacked’ from FTX, researchers say

The Hunt for the FTX Thieves Has Begun

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save