ตุลาคม ปี 2550 — สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์ฯ อาศัยพื้นที่ข่าวธุรกิจกรอบเล็กๆ ประกาศเจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับแผนพัฒนาที่ดินรอบรั้วมหาวิทยาลัย เชิญชวนให้เหล่านายทุนเอกชนเตรียมตัวเข้าร่วมประมูลโครงการก่อสร้างอาคารและศูนย์การค้ามูลค่านับพันล้านบาท – หนึ่งในนั้น ชื่อของตลาดเซียงกงสามย่าน ถนนบรรทัดทอง ถูกหมายมาดให้เป็นพื้นที่ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์และคอนโดมิเนียม
กระแสข่าวสร่างซาจากบทสนทนาของสังคมจนหลายปีให้หลัง – เมื่อจุฬาฯ เริ่มดำเนินการเรียกคืนพื้นที่ดังกล่าวจากชาวบ้าน ทำให้ผู้คนต้องทยอยออกจากชุมชนที่เคยอาศัย เหลือเพียงแต่ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองซึ่งผู้ดูแลยืนกรานไม่ย้ายออกไป เพราะไม่ต้องการให้ศาลเจ้าอายุนับร้อยปีถูกรื้อถอนทุบทำลาย
มิถุนายน 2563 – แฮชแท็ก #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ประเทศไทย หลังสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ส่งหนังสือคำสั่งให้ผู้ดูแลศาลเจ้าย้ายออกภายในวันที่ 15 มิถุนายน จนชาวบ้านและนิสิตจุฬาฯ ต้องออกมาเคลื่อนไหวปกป้องมรดกชุมชน พร้อมตั้งคำถามถึงแนวทางการพัฒนาที่กำลังลบล้างประวัติศาสตร์ย่านละแวกอันยาวนาน
แม้ฝ่ายสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ จะออกมาให้คำมั่นสัญญาเรื่องการสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งใหม่ให้สมเกียรติ คงรายละเอียดดั้งเดิมมากที่สุด แต่ด้านหนึ่งก็ยังคงเร่งรัดกดดันศาลเก่า ด้วยการฟ้องเรียกค่าเสียหาย 4.6 พันล้านจากผู้ดูแลศาล หากไม่ย้ายออกภายในเดือนสิงหาคม 2563
ครอบครัวผู้ดูแลพยายามยืนหยัดต่อสู้จนเข้าสู่ปี 2564 ถึงบัดนี้ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองยังคงอยู่ที่เดิม แต่ไม่มีใครล่วงรู้แน่ชัดว่าเหลือเวลาอีกนานเท่าไร
1
ถ้าเดินลึกเข้าไปแถวซอยจุฬาฯ 32 สิ่งที่คุณจะพบระหว่างทางคือความเงียบเหงา
มันเป็นความเงียบเหงาที่แผ่ออกมาจากตึกแถวสีซีดลอกล่อน จากผ้าใบบังแดดขาดวิ่นรุ่งริ่ง และจากประตูหน้าต่างซึ่งเปิดทิ้งไว้โดยไร้เงาผู้คน ทั้งที่มีรถจอดอยู่เต็มสองฝั่งถนน และเหนือหัวก็เต็มไปด้วยป้ายกิจการอะไหล่ยานยนต์เรียงรายต่อกัน แต่กลับไม่มีสุ้มเสียงอื่นใดในยามสายของวันท้องฟ้าแจ่มใส นอกจากเสียงย่ำเท้าของเราที่ใช้เส้นทางนี้เดินตามหา ‘ศาลเจ้าแม่ทับทิมชั่วคราว’
ว่ากันว่าหลังจากสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ออกหนังสือคำสั่งให้ศาลเก่าย้ายออกจากที่ตั้งเดิมภายใน 15 มิถุนายน 2563 ไม่เป็นผล เพราะการเคลื่อนไหวคัดค้านของนิสิตและกระแสสังคม สองเดือนต่อมา วันที่ 24 สิงหาคม จุฬาฯ ก็เริ่มติดป้ายประกาศให้ชาวบ้านเปลี่ยนไปสักการะเจ้าแม่ในศาลชั่วคราว — ทั้งที่ศาลดังกล่าวไม่ได้ผ่านการเจรจาหรือแจ้งแก่ผู้ดูแลศาลเก่าล่วงหน้าสักครั้งเดียว
จากปากซอยข้างตลาดสามย่าน ผ่านแนวตึกแถวเปลี่ยวร้าง จนอีกไม่กี่อึดใจจะเดินทะลุไปถนนบรรทัดทอง ตรงทางแยกเล็กๆ เชื่อมระหว่างซอยจุฬาฯ 32 และ 34 คือจุดที่ศาลเจ้าชั่วคราวตั้งอยู่

มันเป็นห้องแถวสีขาวออกชมพู ดูดีกว่าใครในละแวกนั้น ตัวอาคารโดยรวมสูงสามถึงสี่ชั้น แต่มีเพียงพื้นที่ใต้ถุนที่ถูกนำมาตกแต่งผนังด้วยพลาสติกลูกฟูกสีแดง พิมพ์ลายสัตว์มงคลอย่างนกยูง ดอกไม้ เทพเจ้า (และอะไรต่อมิอะไรที่ทำให้คนมองรู้สึกถึงความเป็นจีน) เพื่อจัดวางโต๊ะบูชารูปปั้นเจ้าแม่สวมสร้อยไข่มุกรอบตัว ด้านหน้าเป็นกระถางธูปและชุดน้ำชา ถัดมาข้างๆ เป็นโต๊ะบูชาป้ายไม้สลักอักษรจีน ซึ่งมีเครื่องเซ่นไหว้แบบเดียวกัน
ออกจะต่างไปจากศาลเจ้าในจินตนาการอยู่บ้าง ทั้งรูปลักษณ์และบรรยากาศโดยรอบ วันนี้ไม่มีใครมาเยี่ยมเยือนศาลเจ้าให้เราเห็น แต่บนโต๊ะพอจะมีร่องรอยของเถ้าธูปน้ำตาเทียนประปราย ทำให้เราคะเนว่าน่าจะมีคนแวะเวียนเข้ามากราบไหว้ไม่มากก็น้อย
“คนที่มาไหว้ส่วนใหญ่เป็นพวกอาม่าที่เคยอยู่แถวนี้ เขาย้ายออกไปแล้ว แต่ก็นั่งรถเก๋งกลับมาไหว้” ชายผู้ดูแลศาลชั่วคราววัยราว 35 ปีเล่าให้เราฟัง เขาแนะนำตัวเองว่าเป็นพนักงานบริษัทรักษาความปลอดภัยที่สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ จ้างวานมา “แต่ก็มีไม่ค่อยเยอะหรอกครับ บางวันก็ไม่มีคนเลย ตอนนี้ถ้าผมออกตรวจรอบบริเวณนี้เสร็จสัก 5 โมงครึ่ง พอ 6 โมงเย็นก็ปิดตึกได้แล้ว” ฟังจากที่เล่า ดูเหมือนว่าเขาเคยชินกับการตรวจตราพื้นที่ของจุฬาฯ เป็นอย่างดี

ตึกแถวเก่าที่เราเห็นรอบบริเวณ เคยเป็นหนึ่งในย่านร้านขายอะไหล่ยานยนต์หรือชุมชนเซียงกงมาก่อน จากเอกสารหลักฐานของจุฬาฯ ระบุว่าในยุครุ่งเรืองของเซียงกงมีผู้ค้าอาศัยร่วมกันกว่า 200 ราย ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนถึงซอยจุฬาฯ 5, 26, 28 และ 30 เรียกรวมกันว่าเป็นเขตพาณิชย์สวนหลวง-สามย่าน โดยประวัติชุมชนเริ่มต้นมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 2513
“ตอนนี้เขาย้ายออกไปหมดแล้ว เหลือแค่อาคารเปล่า มีหลังสองหลังเท่านั้นที่ยังอยู่” รปภ. เล่า งานประจำของเขาคือการตรวจตราไม่ให้คนมานั่งกินเหล้าหรือทะเลาะวิวาทในแถบนี้ และศาลเจ้าแม่ชั่วคราวที่ทั้งเขาและเรายืนอยู่ ก็เพิ่งจัดตั้งหลังจุฬาฯ รื้อเซียงกงออกไป
“ย้ายมารอศาลใหม่สร้างเสร็จ” เขาพูด “ใกล้เสร็จแล้วละ ผมว่าเร็วๆ นี้แหละ ได้ยินว่าช่วงปีใหม่จะย้ายไปศาลใหม่แล้ว”
“แล้วที่เซียงกงตรงนี้จะเปลี่ยนไปทำอะไรคะ” เราถาม
“ไม่รู้เหมือนกันครับ แล้วแต่ผู้เช่าจะตกลงกับจุฬาฯ” ผู้ดูแลศาลชั่วคราวว่า ดูเหมือนนั่นไม่ใช่ปัญหาน่าเดือดเนื้อร้อนใจสำหรับเขา “เรามีหน้าที่แค่รอย้ายศาลไปเท่านั้น”

2
ถ้าลองเสิร์ชหาตำแหน่งอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ มันจะระบุพิกัดตนเองบนอินเตอร์เน็ตว่าอยู่ซอยจุฬาฯ หมายเลข 5
และนี่คือความน่าพิศวงของซอยจุฬาฯ – เพราะถึงแม้เลข 5 กับ 34 จะฟังดูห่างไกล แต่ในความเป็นจริง แค่เดินเท้าจากศาลเจ้าแม่ทับทิมชั่วคราวถัดไปอีกสองซอย ก็เจอจุดหมายปลายทางของเราแล้ว
ภายในพื้นที่สีเขียวขนาด 28 ไร่แห่งนี้ คือสถานที่ที่สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ประกาศว่าจะดำเนินการก่อสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งใหม่ให้มีเอกลักษณ์และรายละเอียดสถาปัตยกรรมจีนเหมือนศาลเก่า โดยมีนักอนุรักษ์ คณาจารย์จากคณะสถาปัตย์ฯ และทีมก่อสร้างมากฝีมือร่วมมือกัน เพื่อแสดงความตั้งใจสืบสานศิลปะวัฒนธรรมทรงคุณค่าของชุมชน
ไม่ใช่แค่เพื่อหลีกทางให้การพัฒนา แต่จุฬาฯ ยัง ‘เคลม’ ว่าทำเลแห่งใหม่มีข้อดีมากมายกว่าที่ตั้งศาลเก่า ทั้งสะอาด ปลอดภัย เดินทางสะดวก และที่สำคัญ ผ่านการปรึกษากับซินแสชื่อดังจากฮ่องกงเพื่อเลือกตำแหน่งให้ถูกหลักฮวงจุ้ยแล้วด้วย
เรื่องฮวงจุ้ยจริงแท้อย่างไรก็สุดรู้ แต่กว่าเราจะพบบริเวณที่ศาลตั้งอยู่ ต้องเดินผ่านดงต้นไม้มาจนสุดขอบรั้วอุทยาน ติดถนนบรรทัดทองและประตูทางออกสู่ซอยจุฬาฯ 20
เป็นอย่างที่ผู้ดูแลศาลชั่วคราวกล่าวเอาไว้ – ศาลแห่งใหม่ก่อสร้างใกล้เสร็จแล้ว เหลือเพียงศาลาเล็กๆ หรือศาลาไหว้เทพฟ้าดิน ‘ทีกง’ ที่กำลังก่อรูปก่อร่างช้ากว่า เวลาใกล้เที่ยงรอบศาลไม่มีคนงานหรือคนเฝ้ายามปรากฏให้เห็น เราจึงทำได้แค่เดินวนอาคารเล็กๆ สีขาว สำรวจและสอดส่องภายนอกเท่าที่สถานที่อนุญาตให้รับชม

ศาลเจ้าแห่งนี้เอี่ยมอ่องหมดจด ไม่ว่าจะเป็นพื้นปูนสีนวล ผนังศาลเจ้าสีขาว กระเบื้องหลังคาลอนจีนสีเขียว ไปจนถึงภาพแกะสลักนูนต่ำรูปเซียนสีฟ้า ทุกอย่างไม่มีรอยย่ำ ไม่มีรอยหมอง ไม่มีรอยแตกหัก – ไม่มีชีวิตชีวา
เราไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะศาลเจ้ายังไม่เปิดให้สักการะหรือเปล่า ตึกสีขาวแห่งนี้จึงให้ความรู้สึกแข็งทื่อและเดียวดาย บางทีถ้าในอนาคตมีคนสัญจรมากราบไหว้สักนิด มีกลิ่นธูปควันเทียนสักหน่อย น่าจะช่วยเติมเต็มชีวิตและบรรยากาศที่ควรมีมากขึ้นกว่านี้กระมัง
“ไม่มีอะไรให้ดูแล้วมั้ง” พวกเราคุยกันหลังแอบดึงประตูศาลไปทีหนึ่ง — มันล็อก “ไปกันเถอะ”
ระหว่างทางออกจากอุทยาน เราเดินผ่านบางสิ่งที่ชวนให้ประหลาดใจ
ไม่ใกล้ไม่ไกลจากศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งใหม่ มีผลงานประติมากรรมจัดแสดงไว้อย่างโดดเด่น เป็นกำแพงทรงตัวเอสที่มีส่วนโค้งฝั่งหนึ่งเต็มไปด้วยอะไหล่ยานยนต์ ฝั่งหนึ่งแกะสลักนูนสูงลายชุมชนชาวจีน ขณะที่ส่วนเว้าเป็นภาพวาดทิวทัศน์เมือง นักศึกษา นวัตกรรม ความเจริญ …
นั่นคงเป็นงานศิลปะที่ย่อเศษเสี้ยวความทรงจำของชุมชนเซียงกงและความเปลี่ยนแปลงบนที่ดินของจุฬาฯ แม้ว่าทั้งสองด้านจะดูเหมือนแอบอิงเป็นเบื้องหลังซึ่งกันและกัน แต่ไม่รู้ทำไมผลงานชิ้นนั้นจึงชวนให้คนมองรู้สึกสะทกสะท้อนใจ ไม่ต่างกับภาพตึกแถวเก่าแสนเงียบเหงาที่เราเพิ่งผ่านมา

3
ถ้าไม่ใช่คนคุ้นเคยในพื้นที่ คงไม่รู้ว่าหลังปราการสังกะสีมีสิ่งใดซ่อนอยู่
ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว แนวชุมชนด้านข้างอุทยาน 100 ปี ระหว่างซอยจุฬาฯ 26 จนถึง 32 กลายเป็นเขตก่อสร้างขนาดใหญ่ในโครงการพัฒนาพื้นที่หมอน 33 (BLOCK 33) ของสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ – ผู้วาดฝันว่าจะสร้างย่านที่พักอาศัยชั้นนำติดพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง เชื่อมโยงระหว่างชุมชน มหาวิทยาลัย และเขตพาณิชย์เข้าด้วยกัน
พระเอกของโครงการเป็นคอนโดมิเนียมทรงตัวยูสูงเกือบ 50 ชั้น กำหนดให้ก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 1,020 วัน หรือพูดง่ายๆ คือจะเผยโฉมให้เราเห็นช่วงเดือนเมษายน 2566 เป็นต้นไป ในระหว่างนี้ ทิวทัศน์ที่พอมีให้ชมบนอาณาจักรกว้างขวางขนาด 13 ไร่ จึงเป็นกำแพงสังกะสีสีเทาทึบทอดยาว ทาวเวอร์เครนสูงเหนือหัว และสารพัดป้าย ‘ระวัง’ ‘อันตราย’ ‘หยุด’ สลับกับโลโก้บริษัทรับเหมาเท่านั้น

มันไม่ใช่วิวที่สวยงามเสียเท่าไหร่ แต่สิ่งที่น่าสนใจชวนให้เราหยุดยืนดู คือช่องว่างระหว่างกำแพงสังกะสีความกว้างพอให้รถเก๋งขับผ่านหนึ่งคัน ในนั้นมีป้ายอักษรจีนสีแดงปรากฏอยู่ไกลๆ
เป็นช่องว่างที่เว้นไว้เป็นทางเข้าศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองของจริงนั่นเอง
สารภาพว่าทีแรกเรายังลังเลไม่กล้าเข้าไปเพราะเข้าใจว่าพื้นที่ก่อสร้างเป็นเขตหวงห้าม แต่แล้วชายคนหนึ่งที่เดินผ่านมาได้มอบความกล้าให้แก่เรา เขาหยุดยืนที่ช่องกำแพงท่ามกลางแดดร้อนระอุ และยกมือขึ้นไหว้ศาลอย่างตั้งอกตั้งใจ ทำให้คนมองเกิดสงสัยว่าศาลเจ้าแบบไหนกันที่ชาวบ้านเคารพรักจากใจเช่นนี้
และนี่เป็นคำถามที่เราต้องเข้าไปเสาะหาคำตอบด้วยตัวเอง

4
ป้ายผ้าหน้ากำแพงศาลด้านหนึ่งเขียนด้วยลายมือตัวใหญ่สะดุดตา — ‘อย่าทุบศาลเจ้าแม่ทับทิม มรดกและที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของเรา’
“แฟรงค์เป็นคนทำมาให้” พี่นก – เพ็ญประภา พลอยสีสวย ผู้ดูแลศาลเจ้าวัย 43 ปีกล่าว เธอเรียกเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล แกนนำนิสิตผู้คัดค้านการรื้อถอนศาลด้วยชื่อเล่น “พวกนิสิตจะมาช่วยเราตลอด ถ้าถึงวันที่เราต้องย้ายออกก็จะขอนิสิตให้มาช่วยขนของ เราไม่ไว้ใจคนอื่น”

ภายในศาลเจ้าแม่ทับทิมซึ่งตั้งตระหง่านอย่างโดดเดี่ยวกลางไซต์ก่อสร้าง เรานั่งเปิดวงสนทนาเล็กๆ กับผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งใช้เวลาแทบทั้งชีวิตดูแลและอาศัยอยู่ที่นี่ นับตั้งแต่แต่งงานเข้ามาในครอบครัวผู้สืบทอดหน้าที่ดูแลศาลเจ้าแม่จากรุ่นสู่รุ่น
“เราอยู่มาตั้งแต่ปี 2538 ตอนนั้นอายุ 18 ปี พอแต่งเข้ามาเป็นลูกสะใภ้ก็อยู่ที่นี่ตลอด กินนอนในศาลเลย” เธอเล่า และอนุญาตให้เราเดินทะลุประตูด้านข้างศาลเจ้า เข้าไปดูประตูห้องนอน ห้องครัว และห้องน้ำ – ดูเหมือนว่าโถงของศาลจะคล้ายเป็นห้องรับแขกของบ้านเธอ
“สมัยก่อนตอนเรามาอยู่ใหม่ๆ ยังไม่มีการย้ายชุมชนเซียงกงออก คนมาไหว้เจ้าแม่เยอะมาก ตี 5 เราต้องตื่นมาเปิดประตูบ้านเพราะจะมีชาวบ้านมาเคาะหน้าต่างให้เราเปิดศาลไหว้เจ้า กว่าจะปิดประตูได้ก็ประมาณ 5 ทุ่ม” พี่นกเสริมต่อว่า “ถ้าช่วงที่มีงานไหว้นะ คนจะเยอะจนเรานั่งในศาลไม่ได้เลย ควันธูปโขมงไปหมด และต้องมีคนเก็บธูปตลอดเวลา”
“ส่วนใหญ่ชาวบ้านมักมาไหว้ขอให้กิจการรุ่งเรือง ผู้หญิงที่แต่งงานใหม่ๆ ก็มาขอลูก ซึ่งทุกคนได้หมด แต่ได้ลูกสาวนะ เพราะอาม่าเป็นผู้หญิง บางคนมาขอ 5 รอบก็ได้ลูกสาว 5 คนเลย” คนพูดยิ้มแย้มเรียกเจ้าแม่ทับทิมว่า ‘อาม่า’ ประหนึ่งผู้อาวุโสในครอบครัว เธอรู้กระทั่งว่า ‘อาม่า’ ชอบเสื้อผ้าสีสันสดใส เจ้าแม่ทับทิมทั้งองค์เล็กองค์ใหญ่จึงห่มด้วยผ้าสีชมพูถ้วนหน้า

ถึงแม้ปัจจุบันจะมีคนแวะเวียนมาไหว้ต่อวันน้อยเหลือใจ แต่พี่นกก็ยังทำหน้าที่เช่นเดิมไม่ขาดตกบกพร่อง เช้าตรู่เปิดประตูศาล เก็บล้างถ้วยน้ำชาเตรียมไหว้ เก็บธูปเทียน จุดตะเกียงน้ำมัน ส่วนงานกวาดถูก็แบ่งกันกับน้องชายและหลานสาว – ซึ่งถ้ารวมกับลูกชายของพี่นกอีกสองคน (แต่ไม่รวมลูกหมาของพี่นกอีกนับสิบตัว) ครอบครัวนี้จะมีสมาชิกทั้งหมด 5 ชีวิตด้วยกัน
“เราเป็นรุ่นที่ 4” พี่นกกล่าว “ก๋งย่าบอกเอาไว้ว่าเราต้องคอยดูแลองค์เทพเจ้าสืบต่อกันไปเรื่อยๆ”

ครอบครัวพลอยสีสวยมีประวัติคล้ายกับครอบครัวชาวจีนส่วนใหญ่ คือบรรพบุรุษอพยพจากจีนมาอาศัยในไทยช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ตอนนั้น ‘อากง’ ของบ้านยังทำงานรับจ้างแถวริมคลองบางรัก มีตำนานเล่าว่า วันหนึ่ง เขาเห็นอะไรบางอย่างลอยทวนน้ำมาหยุดอยู่ในคลอง ไม่ยอมไปไหนจนผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ อากงจึงลงไปเก็บขึ้นมาดู พบว่าเป็นองค์เจ้าแม่ทับทิม หรือ ‘เทียงโห่วเซี่ยบ้อ’ เทพประจำอาชีพประมงและการเดินทะเลของชาวจีนแกะสลักด้วยไม้ จึงอัญเชิญมาบูชาที่บ้านเป็นสิริมงคล และภายหลังได้ส่งต่อให้น้องชาย ผู้ทำกิจการเลี้ยงเป็ดย่านสะพานเหลือง อำเภอปทุมวัน
“ทีนี้ชาวบ้านก็สงสัยว่าพวกลื้อไหว้อะไร ทำไมไม่แบ่งปันให้ชาวบ้านไหว้ อากงเลยเอาเจ้าแม่ออกมาตั้งให้คนกราบไหว้” พี่นกเล่า
เมื่อหลายๆ คนเข้ามาสักการะและประสบความสำเร็จดังมุ่งหมาย ชื่อเสียงของเจ้าแม่ก็ยิ่งเลื่องลือมีคนนับถือมากขึ้น สุดท้ายชาวบ้านย่านปทุมวันจึงร่วมกันสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองแห่งแรก ก่อนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะถือกำเนิดในปี 2459 และขอคืนพื้นที่จากชุมชนชาวจีนบริเวณหลังสนามศุภชลาศัย ไปจนถึงถนนบรรทัดทองและพระราม 4 ปี 2500 เพื่อสร้างตึกรามบ้านช่องให้เป็นระเบียบและทันสมัยกว่าเดิม
ในครั้งนั้นชาวบ้านจำนวนมากไม่ยอมย้ายออกเพราะไม่สามารถหาที่อยู่ใหม่ แต่ไม่นาน ปี 2503 ก็เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ซึ่งในภายหลังร่ำลือว่าเป็นการวางเพลิงไล่ที่บริเวณสวนหลวง หลังสนามศุภชลาศัย ลามไปตรอกพุฒ “ทุกอย่างไหม้หมดเลย เหลือศาลเจ้าอย่างเดียวที่ไม่ไหม้” ทำให้ทางจุฬาฯ รื้อถอนบ้านเรือนทั้งหมดในพื้นที่ดังกล่าว เหลือเพียงศาลเจ้าแม่ทับทิมที่ยังเก็บไว้พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร

โชคดีที่ชาวบ้านได้พบทำเลเหมาะสมแห่งใหม่ในซอยจุฬาฯ 9 จึงไปเจรจากับทางจุฬาฯ เพื่อขอพื้นที่และลงขันรวมเงินสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมกันเองจนแล้วเสร็จในปี 2513
“เราเลยย้ายมาอยู่ที่ตรงนี้จนถึงปัจจุบัน” พี่นกตบท้าย
5
แดดประเทศไทยช่วงใกล้เที่ยงมีอานุภาพร้อนแรงแม้อยู่ในฤดูหนาว ไม่มีเสียงอะไรจากเขตก่อสร้างที่ขนาบข้างศาลเจ้า เราคาดว่าคนงานคงพักกินข้าวก่อนกลับมาออกแรงต่อ
“ก่อนช่วงโควิดเขาทำกันทั้งวันทั้งคืน เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว” พี่นกยิ้มอ่อนเมื่อเราถามว่านอนหลับบ้างไหมในตอนที่รอบข้างทำงานส่งเสียงดังแทบตลอดเวลา “มันก็ต้องทำใจให้หลับให้ได้”
นอกจากเสียงรบกวนที่ต้องเจอ เธอยังบอกว่าห้องน้ำสองห้องของบ้านก็ใช้งานไม่ได้ไปห้องหนึ่ง เพราะคนงานในไซต์ตอกเสาเข็มขวางท่อส่งน้ำจนมันตัน “เขาบอกว่าจะแก้ให้ แต่ทุกวันนี้ก็ไม่เห็นทำอะไร”

อันที่จริง ไม่ใช่แค่ผลกระทบด้านสภาพแวดล้อมของตัวศาล ยังมีปัญหาเรื่องทะเบียนบ้านหลังจุฬาฯ ประกาศเรียกคืนพื้นที่อีกด้วย
“สมัยก่อน ทะเบียนบ้านเราระบุว่าอยู่ที่นี่ มีแฟนเราเป็นเจ้าบ้าน แต่พอแฟนเราเสียเมื่อปี 2560 ลูกจะไปเกณฑ์ทหาร ปรากฏว่าทะเบียนบ้านเราไม่มีแล้ว ชื่อของเราไปเข้ากับทะเบียนกลางหมดเลย” พี่นกกล่าว น้ำเสียงจริงจังขณะเล่าว่าเธอพยายามแค่ไหนให้ได้ทะเบียนบ้านคืนดังเดิม แต่สุดท้ายสำนักงานเขตกลับระบุให้ครอบครัวเธอมีสถานะแค่ผู้อาศัย ไม่ใช่เจ้าบ้านอย่างที่เคยเป็น “เราไม่เข้าใจว่าทำไม ทางทรัพย์สินจุฬาฯ ก็ไม่ได้บอกอะไรเลย”
อีกเรื่องที่สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ไม่ได้บอกเธอคือการจัดตั้งศาลเจ้าแม่ทับทิมชั่วคราวบริเวณซอยจุฬาฯ 34
“ที่นั่นไม่เกี่ยวข้องอะไรกับที่นี่เลย” พี่นกยืนยัน “ทางจุฬาฯ เป็นคนไปกำหนดให้ตั้งศาลไว้ตรงนั้น และเช่าบูชาเจ้าแม่จากที่อื่นมาวางประดับไว้ ช่วงนั้นเรายังไม่ทันได้โยกย้ายอะไร เขาก็ไปติดป้ายทุกที่ว่าย้ายศาลมาอยู่ตรงนี้แล้วชั่วคราว”
“คนที่ไม่เคยมาไหว้เขาก็จำองค์อาม่าเราไม่ได้ คนที่จำได้ ไปดูก็บอกว่าไม่ใช่อาม่านี่”


“แล้วศาลเจ้าที่เขาจะสร้างให้ใหม่ล่ะคะ” เราถาม “พี่เคยเห็นแปลนหรืออะไรมาก่อนไหม?”
“ไม่มีเลยที่จะเอาแบบมาให้เราดู” พี่นกตอบ มีร่องรอยความไม่พอใจเจือปนในน้ำเสียง เธอกล่าวว่าจุฬาฯ บอกแค่เพียงจะสร้างให้แล้วจากไป ไม่มีการแจ้งรายละเอียดแก่คณะกรรมการที่ศาลเจ้าตั้งขึ้นเพื่อเจรจา หรือเหล่านิสิตจุฬาฯ ที่ติดตามสถานการณ์
“เขาบอกแค่จะสร้างให้เราใหม่ สร้างให้เหมือนเดิม ทุกแบบ ทุกอย่าง เหมือนเป๊ะๆ แต่ออกมามันไม่ใช่ ไม่ใช่เลย”
“เธอลองดูศาลเจ้าของฉันสิ” ผู้ดูแลศาลลุกขึ้น ชี้ชวนให้เราเดินสำรวจเปรียบเทียบ ตั้งแต่ศาลาทีกงลายมังกร สิงโตจีนหน้าประตูอายุเกือบร้อยปี ผนังด้านนอกแกะสลักภาพเซียนอีกนับสิบองค์ แล้วยังมีตัวอักษรจีนสลักเรียงติดกันไม่มีที่เว้นว่าง เช่นเดียวกับเสาของห้องโถงศาลที่พี่นกบอกว่าปรมาจารย์พู่กันจีนในอดีตช่วยเขียนบทกลอนพร้อมชื่อผู้บริจาคให้ทุกต้น

“อันนี้เป็นกระถางธูปที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานมาให้” คนพูดปาดขี้เถ้าที่เกาะบนกระถางกลางโต๊ะไหว้ เผยพระปรมาภิไธยย่อ จปร. และภาษาจีนบางส่วนที่มีคนแปลให้ว่า ‘สยามเมืองยิ้ม’
“ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมีโรคห่าระบาด ใครเลี้ยงสัตว์อะไรก็ตาย แต่เป็ดไก่ที่อากงเลี้ยงไว้รอดเยอะมาก เสด็จพ่อ ร.5 เสด็จผ่านมาเลยถามว่าลื้อเลี้ยงยังไง ทำไมไม่ตาย อากงบอกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย แค่จุดธูปไหว้อาม่า ท่านเลยขอมากราบไหว้ด้วย”

หลังรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 6 ได้โปรดให้สร้างกระถางธูปใบดังกล่าวเป็นเครื่องสังเค็ดแก่ศาลเจ้าจีนในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองก็ได้รับพระราชทานมาด้วย สิ่งนี้จึงช่วยยืนยันว่าศาลแห่งนี้มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าร้อยปีแล้ว และอุดมไปด้วยเรื่องราวมากมาย ชนิดที่ไม่ว่าเราจะจับต้องสิ่งใดก็มีเรื่องให้พี่นกเล่าได้ทุกชิ้น
แม้กระทั่งพื้นของศาลเองก็มีเรื่องขำขันให้ฟัง
“พื้นต่างระดับนี่ก็เป็นฮวงจุ้ยอย่างหนึ่งนะ” พี่นกชี้ไปที่พื้นซึ่งแยกออกเป็นชั้น ก่อนหันไปชี้ประตูข้างศาล
“พูดถึงฮวงจุ้ยเนี่ย (ประตูข้าง) ฝั่งหนึ่งจะเป็นหยิน ส่วนอีกฝั่งจะเป็นหยาง เขาว่าจะรับน้ำเข้าฝั่งหยิน ให้ออกฝั่งหยาง ตอนแรกเราก็ไม่เชื่อ แต่เวลาฝนตกทีไร น้ำท่วมฝั่งหยินตลอด ฝั่งหยางแห้งตลอด” ประเด็นคือประตูฝั่งหยินที่ว่า เป็นทางเชื่อมสู่ตัวบ้านฝั่งห้องนอนของพี่นกพอดี
“เราก็ว่า อ๋อ ฮวงจุ้ยหยินหยางเป็นแบบนี้นี่เอง” พี่นกหัวเราะ ต่อรายละเอียดเรื่องเล็กๆ น้อยๆ พรรค์นี้ พี่นกรู้ดีว่าคงเป็นสิ่งที่ศาลแห่งใหม่ให้ไม่ได้ — มันไม่เหมือนกัน และมันจะไม่มีวันเหมือน
6
“เราไม่รู้ว่าจะสู้ในการอนุรักษ์ที่ตรงนี้ได้ไหม”
สายน้ำไม่เคยค่อยท่า วันเวลาไม่เคยคอยใคร – เพราะการก่อสร้างที่รุกคืบใกล้เขตศาลเข้ามาทุกวัน ล่าสุด จุฬาฯ จึงขีดเส้นตายให้ครอบครัวพี่นกย้ายศาลออกอีกครั้งในวันที่ 5 มกราคม 2565
แม้เธอจะรู้ว่าครอบครัวไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินของศาลเจ้า อีกทั้งกรมศิลปากรก็กล่าวว่าศาลเจ้าแม่ทับทิมไม่ถือเป็นโบราณสถาน หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่เข้าข่ายต้องเข้ามาดูแล แต่ด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม และหลากหลายเรื่องราวที่ชุมชนเซียงกงในอดีตร่วมกันสร้าง พี่นกก็อยากต่อสู้เพื่อรักษามันไว้ให้เนิ่นนาน ตราบเท่าที่กำลังจะเอื้ออำนวย
ต่อให้ถึงที่สุดแล้วต้องเสียศาลแห่งนี้ไป พี่นกก็บอกเราว่าจะไม่ย้ายเจ้าแม่ไปสถิตยังศาลแห่งใหม่บริเวณอุทยาน 100 ปีจุฬาฯ แน่นอน
“ทางทรัพย์สินจุฬาฯ เคยมาถามเราว่าจะนำอะไรไปไว้ที่ศาลเจ้าใหม่บ้าง แต่เราบอกเขาแล้วว่าจะไม่ไป” ผู้ดูแลศาลเจ้าที่ใกล้ถูกปลดระวางกล่าว เธอมองไปรอบๆ ศาล – รอบๆ บ้านของตนเอง
“พี่อาจจะหาตึกเช่าสักที่ แล้วอะไรที่เอาไปได้ก็จะเอาไป”
หนึ่งในนั้น คงเป็นความทรงจำที่ใครก็ไม่อาจทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ ในนามของการพัฒนา