fbpx

“ผมลิมิตชีวิตตัวเองไว้แค่ 27 ปี” การเมืองของคนสามัญและการต่อสู้ไม่มีวันรู้จบของเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

โดยไม่ต้องสาธยายให้มากความ เพียงคุณพิมพ์ชื่อของเขาลงบนช่องค้นหาในอินเทอร์เน็ต สารพันข่าวและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาจะพลันฉายขึ้นมาให้คุณได้เลื่อนอ่านแบบไม่มีที่สิ้นสุด จากจุดเริ่มต้นด้วยการออกมาเคลื่อนไหวให้ยกเลิกทรงผมนักเรียน ปฏิรูประบบการศึกษา ต่อต้านการเกณฑ์ทหาร ลุกออกจากพิธีถวายสัตย์เพื่อต่อต้านการหมอบกราบ คัดค้านระบบอำนาจนิยมในรั้วมหาวิทยาลัย นิสิตผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับผู้บริหารจุฬาฯ และอีกหลากหลายเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับชีวิตและตัวตนของเขา

‘เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล คือชื่อที่คนทั่วไปจดจำตัวเขาและพบเห็นได้ทั่วไปตามหน้าสื่อ

‘นักเรียนเลวในระบบการศึกษาแสนดี’ คือคำที่เขาใช้นิยามตัวเองแกมเหน็บแนมสภาพสังคม

คุณอาจจดจำตัวเขาในนามของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักเขียน นักแปล หรือนิยามอื่นใดก็แล้วแต่ ทว่าในช่วงท้ายของบทสนทนา เขาบอกกับเราว่าเขาเป็นเพียง ‘คนธรรมดาคนหนึ่ง’ เท่านั้น

ตั้งแต่วันแรกของการออกมาต่อสู้ ร่องรอยบาดแผลและบทเรียนที่ได้รับมาระหว่างทาง จนถึงวันนี้ กับ 27 ปีที่เกิดและเติบโตในสังคมแบบไทยๆ และ 8 ปีในรั้วจุฬาฯ ทั้งตัวเขาและการเมืองประเทศไทยในสายตาของเขาเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน ยังมีเรื่องไหนอีกไหมที่ต้องการออกมาผลักดัน และมองภาพสังคมไทยในอนาคตไว้อย่างไร ล้วนเป็นคำถามที่หลายคนอยากรู้จากปากเขา

ยามเช้าในวันแดดร่มลมตก เนติวิทย์ไขประตูทางเข้าของสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน เปิดทางให้เราหลีกหนีจากเสียงของการจราจรอันแสนวุ่นวายภายนอก จัดแจงหาที่นั่งให้เสร็จสรรพ การพูดคุยในวันนั้นรายล้อมด้วยหนังสือที่เรียงรายอยู่บนชั้นวาง และบทสนทนาที่คุณกำลังจะได้อ่านในบรรทัดถัดไปนี้ เริ่มต้นขึ้นในนาทีนั้น

ไม่นานมานี้คุณคงได้เห็นปรากฏการณ์ของ ‘หยก ธนลภย์’ ที่โดนสังคมตำหนิว่าก้าวร้าว ทั้งที่ประเด็นที่เธอออกมาขับเคลื่อนก็ไม่ได้ต่างจากที่คุณเคยทำมา มองว่ากระแสวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ สะท้อนว่าจริงๆ แล้วการเรียกร้องเรื่องนี้ยังย่ำอยู่กับที่หรือเปล่า 

ผมคิดว่าเราไม่ได้ย่ำอยู่ที่เดิมขนาดนั้น เพราะการเคลื่อนไหวเรื่องยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนที่ผมเคยทำมาก่อนก็เปลี่ยนทัศนคติของสังคมได้ส่วนหนึ่งนะ หลายคนที่เคยด่าผมเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนี้ก็ไม่ได้ต่อต้านการกระทำของหยก บางคนพร้อมสนับสนุนด้วย

ประเด็นเรื่องการยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน นอกจากตัวผมแล้ว ยังมีอีกหลายคนที่ออกมาต่อสู้เรื่องนี้ ซึ่งทำให้หลายคนเรียนรู้ที่จะอดทนอดกลั้นต่อประเด็นนี้ได้มากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าการขับเคลื่อนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยถึงขนาดที่สังคมจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ คนที่ยังรับไม่ได้ก็มีอยู่เรื่อยๆ แต่สำหรับผม เรื่องแบบนี้เป็นการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม และกว่าจะเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ คงต้องใช้เวลายาวนานมาก แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องมีนักต่อสู้อยู่ตลอดเวลา ถ้าเราอยากให้สังคมเปลี่ยน แน่นอนว่าต้องมีคนหนึ่งลุกขึ้นมาทำให้สังคมรู้สึกคับข้องใจ รู้สึกอึดอัดต่อการกระทำของคนนั้น พอเป็นประเด็นที่ค่อนข้างเป็นขบถต่อบรรทัดฐานของสังคมต้องมีคนรู้สึกอย่างนี้อยู่แล้ว เราแค่ต้องยอมรับมันให้ได้

เท่าที่สังเกต เหมือนสังคมไทยจะไม่ค่อยชอบวิธีการเรียกร้องที่ ก้าวร้าว สักเท่าไร คุณว่าสิ่งนี้สะท้อนความเป็นสังคมไทยอย่างไร

คนไทย โดยเฉพาะผู้ใหญ่ชอบการพินอบพิเทา เด็กต้องมารยาทดี มารยาทงาม ตอนที่ผมต่อสู้เรื่องยกเลิกการหมอบกราบในพิธีถวายสัตย์ของจุฬาฯ ก็เจอสถานการณ์แบบนี้เหมือนกัน สังคมบอกว่าเห็นด้วยกับหลักการของผมนะ แต่มองว่าวิธีการของผมไม่ถูกต้อง

สังคมไทยมีลักษณะที่พยายามทำให้เรื่องการต่อสู้เรียกร้องต่างๆ เป็นเรื่องของปัจเจกชน หมายความว่าคุณจะเข้าร่วมก็ได้ หรือไม่เข้าร่วมก็ได้ อย่างกรณีหยกที่มีคนออกมาบอกว่า ถ้าไม่พอใจก็ย้ายโรงเรียนไปสิ ไปอยู่โรงเรียนอินเตอร์ซะสิจะได้ไม่ต้องใส่ชุดนักเรียน ทั้งที่สิ่งที่หยกและหลายคนทำ คือการต่อสู้เพื่อชีวิตในสังคมรูปแบบใหม่ที่มีความเท่าเทียมและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การต่อสู้ในลักษณะนี้จึงจำเป็นต้องเข้าไปสู้ในระบบ เพื่อให้คนจำนวนมากเห็น ให้สังคมรับรู้ มันไม่ใช่การต่อสู้เพื่อตัวเองคนเดียว แต่เพื่อสังคมโดยรวมต่างหาก แต่ตอนนี้เห็นว่าโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครเริ่มผ่อนปรนให้ใส่ชุดไปรเวทได้สัปดาห์ละหนึ่งวันแล้ว ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องให้เครดิตหยกที่ออกมาต่อสู้เลยนะ

ในขณะเดียวกันก็มีคนรุ่นใหม่ออกมาต่อต้านการกระทำของหยกด้วย สิ่งนี้สะท้อนว่าความคิดของสังคมไทยยังค่อนข้างอนุรักษนิยมอยู่ไหม แม้ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เลือกพรรคฝ่ายซ้ายอย่างพรรคก้าวไกลก็ไม่ได้การันตีว่าคนไทยจะยอมรับการเคลื่อนไหวที่หัวก้าวหน้าทุกเรื่องได้ขนาดนั้นหรือเปล่า

แน่นอนอยู่แล้ว ต้องยอมรับว่าพรรคก้าวไกลใช้วิธีการทางการตลาดมาใช้จูงใจคนให้เลือกได้มาก ซึ่งเป็นเรื่องทั่วไปเลยนะ เพราะไม่มีทางที่คุณจะทำให้คนจำนวนสิบกว่าล้านคนที่เลือกพรรคก้าวไกลเป็นพวกหัวก้าวหน้าที่ชอบการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทั้งหมดได้หรอก ทุกเฉดของการเมืองมีสเปกตรัมมากมายมหาศาล เหตุผลที่คนจะเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งก็มีเป็นร้อยเป็นพันเหตุผลที่เราไม่อาจรู้ได้ 

ส่วนหนึ่งที่คนเลือกพรรคก้าวไกลเยอะอาจเป็นเพราะเขาสามารถดึงดูดฐานเสียงคนรุ่นใหม่ได้มากกว่า ไปจนถึงการเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้ในวงกว้าง และที่สำคัญคือผลงานทางการเมืองที่เขาพยายามทำมาตลอดหลายปี แต่จากปรากฏการณ์ของหยกที่ถูกรุมตำหนิ เราก็คงจะไม่สามารถไปตีสรุปได้ง่ายๆ ว่าเสียงของคนเหล่านี้ทั้งหมดซึ่งส่วนใหญ่เป็นโหวตเตอร์ของพรรคก้าวไกล ทำไมไม่เห็นจะหัวก้าวหน้าอย่างที่เราคิดเลย เพราะธรรมชาติของการเมืองเป็นแบบนี้อยู่แล้ว สังคมต้องยอมรับให้ได้ว่าการเลือกพรรคการเมืองใดก็ตาม ไม่ได้เปลี่ยนทัศนคติทางการเมืองของคนได้อย่าง 100% หรอก ทุกการเลือกมีเหตุผลแฝงอยู่มากกว่านั้น

ถ้าย้อนกลับไปตอนนั้นที่คุณออกมาต่อสู้เรื่องนี้ อะไรที่ทำให้คุณคิดว่าต้องยกเลิกกฎต่างๆ ในโรงเรียนเหล่านี้

ไม่มีอะไรต้องคิดมากนะ ตอนนั้นผมรู้สึกอยู่แล้วว่าเครื่องแบบนักเรียนไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญใดๆ ในชีวิตการเรียนมัธยมของผมเลย แล้วตอนนั้นมีเพื่อนนักเรียนคนหนึ่งตั้งคำถามเกี่ยวกับกฎระเบียบในโรงเรียนขึ้นมา ผมลองคิดตามก็พบว่า เออ มันก็น่าคิดนะ ว่าการไว้ทรงผมนักเรียนเป็นกฎระเบียบที่มีปัญหา เลยทำให้ผมเขียนบทความวิจารณ์เรื่องนี้ในโรงเรียน แล้วผมก็ถูกโรงเรียนเรียกไปสอบสวนตั้ง 5 ชั่วโมง หลังจากเหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้ผมคิดมากขึ้นว่าทำไมเรื่องแค่นี้ โรงเรียนถึงต้องมองเป็นเรื่องใหญ่โตขนาดนั้น พอศึกษาไปถึงเรื่องประวัติศาสตร์และที่มาของระเบียบทรงผมนักเรียน ก็ทำให้ได้รู้ว่าแท้จริงแล้วกฎและข้อบังคับเหล่านี้เป็นเป็นมรดกจากเผด็จการที่ดำรงอยู่มานาน และน่ากลัวกว่าที่เราคิด 

จากที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องทรงผมนักเรียนและยกเลิกเกณท์ทหาร ตอนนั้นเรื่องเหล่านี้ยังใหม่มากสำหรับสังคมไทย คุณรับแรงต่อต้านมหาศาลจากสังคมตอนนั้นอย่างไร

ผมก็กลัว พอต้องเจอแรงกดดันมามากก็ยอมรับว่ามีความกลัวมากเลยทีเดียว ทั้งกลัวว่าคนอื่นจะมองเราอย่างไร จะมีคนคิดร้ายกับเราหรือเปล่า ด้วยตอนนั้นไม่ได้มีใครสนับสนุนการเคลื่อนไหวของผมมากนัก เวลาออกไปไหนก็ต้องพยายามทำให้คนจำผมไม่ได้ เช่น เมื่อก่อนเวลาจะออกไปข้างนอกผมจะไม่ใส่แว่น เพราะตอนนั้นมีคนคอมเมนท์ว่าจะมากระทืบบ้าง ด่าผมว่าไอ้แว่นบ้าง แต่จริงๆ เมื่อก่อนผมไม่ค่อยได้ใส่แว่นอยู่แล้ว แต่เดี๋ยวนี้ต้องกลับมาใส่ตลอดแล้ว ถ้าไม่ใส่เดี๋ยวมองอะไรไม่เห็น (หัวเราะ) 

ถ้ากลัวจนถึงขนาดต้องพยายามทำให้คนอื่นจำไม่ได้เวลาออกนอกบ้าน อย่างนั้นอะไรคือเหตุผลที่ยังคงออกมาขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ อยู่ตลอดจนถึงตอนนี้

ที่อยู่มาได้จนถึงตอนนี้ ส่วนหนึ่งผมต้องดูแลจิตใจของตัวเอง เพราะไม่มีใครดูแลจิตใจของเราได้มากเท่าตัวเราเองหรอก แต่สังคมที่เราอยู่ก็มีส่วนนะ ผมโชคดีที่ตอนอยู่ในโรงเรียนยังพอมีครูบาอาจารย์ที่เข้าใจผมอยู่บ้าง ถึงจะเป็นส่วนน้อยมากก็ตาม ตอนนั้นมีครูบรรณารักษ์ท่านหนึ่งที่เข้าใจผม ในความเป็นจริงเขาไม่ได้มีความคิดเห็นตรงกับผมหรอกนะ เขายังสนับสนุนการใส่เครื่องแบบและไว้ทรงผมนักเรียนอยู่เลย เพียงแต่เขาเปิดพื้นที่กว้างให้ผม พยายามที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจ ผมนับถือครูท่านนี้มาก สมัยมัธยมผมจึงมักจะไปสิงอยู่ที่ห้องสมุด 

อีกอย่างคือผมมีเพื่อนที่เข้าใจและคิดเหมือนกัน ก็เหมือนกับหยกที่โชคดีมีเพื่อนคอยสนับสนุนเขาอยู่ การที่เรามีสังคมที่พร้อมจะเข้าใจทำให้เรารู้สึกไม่โดดเดี่ยว แต่ต้องยอมรับว่ายังมีคนที่โชคร้ายกว่าผมเยอะมาก มีเด็กในโรงเรียนแถบภูมิภาคที่ต้องสู้ตัวคนเดียว คนที่ต่อสู้มาตั้งแต่เด็กหลายคนมีบาดแผลมาก บางคนเรื่องเหล่านี้ลามมามีผลต่อชีวิตในวัยผู้ใหญ่เลยนะ ว่าเขาจะรับมือกับความรู้สึกที่เคยถูกครูเอาไปประจานหน้าเสาธงหรือโดนลงโทษสารพัดแบบอย่างไร ถ้าวันหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้ สังคมต้องยกเครดิตให้คนเหล่านี้เช่นเดียวกัน

แล้วครอบครัวล่ะ เขามีความเห็นเรื่องเส้นทางการต่อสู้ด้านการเมืองของคุณอย่างไรบ้าง

ครอบครัวผมปล่อย ลักษณะของครอบครัวผมจะเลี้ยงดูมาแบบลูกอยากทำอะไรก็ทำเลย แต่แน่นอนว่าเขาก็มีความกังวลเหมือนกันว่าทำแบบนี้ต่อไปจะดีหรือ เพราะญาติพี่น้องอาจจะมาเล่าหรือมาพูดนู่นพูดนี่ให้ฟัง แต่พ่อแม่ผมก็รู้ว่าเขาเลี้ยงผมแบบนี้มาโดยตลอด คือค่อนข้างให้อิสระอยู่แล้ว คงควบคุมอะไรมากไม่ได้ จากความรู้สึกกังวลก็อาจกลายเป็นความรู้สึกวางเฉย และสุดท้าย 10 กว่าปีที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทีละนิด พ่อแม่ของผมก็เข้าใจการต่อสู้ของผมมากขึ้นกว่าในอดีตด้วย

ย้อนกลับไปตอนที่คุณลงสมัครเลือกตั้งตำแหน่งนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ตอนนั้นนิสิตจุฬาฯ ออกมาใช้สิทธิกันเยอะเป็นประวัติการณ์ แต่การเลือกตั้งของปีหลังๆ กลายเป็นว่ามีคนออกมาใช้สิทธิน้อยมาก ตรงกันข้ามกับการเลือกตั้งใหญ่ที่คนรุ่นใหม่กระตือรือร้นกันมาก มองว่าอะไรทำให้ประชาธิปไตยในระดับมหาวิทยาลัยไม่งอกงามเท่าการเมืองภาพใหญ่

ส่วนหนึ่งอยู่ที่ว่าการเลือกตั้งนั้นมีความหมายกับชีวิตเขามากแค่ไหนด้วย หลายคนมองว่าถ้าสุดท้ายแล้วการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัยไม่ได้ไปกระทบกับความอยู่ดีมีสุขของตัวนิสิต หรือสุดท้ายคนที่ขึ้นมามีอำนาจไม่ได้รับฟังเสียงนิสิตอย่างเพียงพอ คนก็รู้สึกว่าแล้วเราจะไปเลือกตั้งทำไม อีกเหตุผลคือคนที่อยากเป็นผู้แทนนิสิตก็ต้องแสดงให้เห็นว่าตัวเองอยากมาทำงานเพื่อเพื่อนนิสิตจริงๆ ต้องมีศรัทธาที่อยากจะเปลี่ยนแปลงจุฬาฯ อย่างแท้จริง และต้องทำให้นิสิตเห็นว่านโยบายที่คุณต้องการทำในจุฬาฯ สามารถเปลี่ยนแปลงได้จริง สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติและความเข้าใจของนิสิตทุกคนในเรื่องนี้ด้วย

ขณะเดียวกันการทำงานในองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ก็ไม่ใช่ว่าคุณจะมีอำนาจมากขนาดนั้นนะ เพราะผู้ใหญ่เขากดหัวคุณตลอดเวลา งบประมาณในการดำเนินนโยบายก็มาจากจุฬาฯ อย่าง อบจ. รุ่นผมพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าจริงๆ ระบบองค์กรนิสิต ทั้ง อบจ. และสภานิสิตไม่ได้เป็นประชาธิปไตยสักเท่าไร เพราะมีกิจการนิสิตคอยครอบงำอยู่ตลอด ถึงเราจะผ่านโครงการได้ สภานิสิตอนุมัติ นายกฯ จากทุกคณะอนุมัติหมด แต่ถ้าทางกิจการนิสิตไม่อนุมัติเงินให้ ทุกอย่างก็จบแค่นั้น ไม่สามารถดำเนินงานต่อได้

และจริงๆ ผมก็อยู่ไม่ครบวาระหนึ่งปีด้วยซ้ำ ผมเป็นนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ได้ประมาณ 9-10 เดือน เพราะโดนตัดคะแนนจนต้องพ้นวาระ ตอนนั้นยอมรับว่าสภาพจิตใจผมย่ำแย่และเหน็ดเหนื่อยมาก คือการทำงานใน อบจ. ก็หนักมากอยู่แล้ว และยังเป็นช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรงมาก การทำงานไม่ได้ราบรื่นเลย จะเข้าไปทำงานในมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เพราะมหาวิทยาลัยปิดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 เวลาเราจะเตรียมงานปฐมนิเทศนิสิตใหม่หรือกิจกรรมต่างๆ ก็ไม่มีพื้นที่ทำงานเลย ต้องออกไปเช่าออฟฟิศกันเอง ออกเงินกันเองทั้งหมด แต่มหาวิทยาลัยไม่เคยสนใจ มีหลายอย่างมากที่ทำให้ผมเห็นความไม่เป็นประชาธิปไตยของจุฬาฯ ทั้งที่ผู้บริการเหล่านี้เงินสูงๆ ทั้งนั้นนะ อย่างตำแหน่งผู้บริหารที่ตัดคะแนนผมจนพ้นจากตำแหน่งนี่เงินเดือนเป็นแสน แต่คนเหล่านี้กลับไม่มีความรับผิดชอบต่อนิสิตภายใต้ความดูแลเลย

ช่วงเรียนในจุฬาฯ มีกระทบกระทั่งกับอาจารย์ที่อาจเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมบ้างไหม

มี ก็มีอาจารย์บางคณะบอกว่าผมหน้าตาไม่เหมาะมาเรียนจุฬาฯ ก็อยากรู้เหมือนกันว่าเรียนจุฬาฯ ได้ต้องหน้าตาแบบไหน อาจารย์หลายคนในสภาคณาจารย์ก็ไม่ค่อยชอบหน้าผม แต่ยังโชคดีว่าอาจารย์ในคณะส่วนใหญ่ที่ผมได้เรียนด้วยก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับผม

อยู่ในรั้วจุฬาฯ มาแปดปี จนถึงตอนนี้ คุณใกล้จะจบการศึกษาแล้วหรือยัง และแปดปีในรั้วจุฬาฯ ทำให้คุณได้เรียนรู้หรือตกตะกอนอะไรบ้าง

ต้องบอกว่า ผมต้องจบ เพราะระบบบังคับผมให้จบ ไม่อย่างนั้นผมคงไม่ยอมจบง่ายๆ หรอก แต่แปดปีในรั้วจุฬาฯ ก็ทำให้ผมตกตะกอนว่าในการเรียนทุกอย่าง คุณรอครูบาอาจารย์มาป้อนความรู้อย่างเดียวไม่ได้ ถ้ามัวแต่รอคุณจะไม่มีทางเติบโตได้เลย คุณต้องเรียนรู้ผ่านการใช้ชีวิต ผ่านการพบปะและสนทนากับผู้คน ไปจนถึงถกเถียงกับครูบาอาจารย์ เราต้องพยายามเรียนแบบ active ซึ่งการจะทำให้เด็กกระตือรือร้นในการเรียนได้ ครูบาอาจารย์ก็ควรทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและทำให้คนรู้สึกอยากถกเถียงและตั้งคำถาม อย่างคณะรัฐศาสตร์ที่ผมเรียน เมื่อเข้าไปในห้อง คุณมีหน้าที่ตั้งคำถาม อภิปราย และถกเถียงกัน ไม่ใช่เอาแต่ฟังเลกเชอร์อย่างเดียว อีกอย่างคือการผสมผสานเอาสาขาวิชาต่างๆ ที่เรารู้มาประยุกต์กับการทำอย่างอื่นจะยิ่งสร้างผลดีในการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน

ก่อนหน้านี้มีอีกเรื่องที่หลายคนตกใจ คือการที่จู่ๆ คุณประกาศบวช อะไรที่ทำให้ตัดสินใจบวช

จริงๆ ผมอยากบวชตั้งแต่ผมพ้นจากตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์แล้วนะ ตอนนั้นตั้งใจว่าหลังจากทำงานในตำแหน่งนี้เรียบร้อยแล้วจะบวชสัก 1-2 ปี ตอนนั้นผมคิดว่าหลังจากเป็นนายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์แล้ว ผมจะยังมีเวลาอีกสองปีก่อนจะอายุ 27 ปี ผมเลยอยากบวชสักหน่อย ที่ตั้งใจไว้แบบนั้นเพราะผมมองลิมิตของชีวิตตัวเองไว้อยู่ที่อายุ 27 ปี ก็คือปีนี้เป็นปีสุดท้าย เพราะหลังจากนี้ผมจะต้องเข้าเกณฑ์ทหาร และแน่นอนว่าผมต่อต้านระบบการเกณฑ์ทหารมาตลอด ผมจะไม่ไปจับใบดำใบแดง ซึ่งทำให้ผมมีโอกาสถูกดำเนินคดี มีโอกาสติดคุก ผมเลยไม่อยากคิดถึงอนาคตต่อจากนั้นเลย

แต่ตอนนั้นดันมีเหตุการณ์ว่ารุ่นน้องผมหลายคนอยากก่อตั้งพรรคใหม่เพื่อลงสมัคร อบจ. ปี 2564 เลยมาชวนให้ผมไปเป็นผู้นำในตำแหน่งนายกฯ อบจ. และเมื่อชนะการเลือกตั้งแล้ว ก็ทำให้ผมต้องทำงาน อบจ. ต่ออีกหนึ่งปี แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ตั้งใจไว้แล้วว่าอย่างไรก็จะบวช ผมมองว่าการบวชเป็นภารกิจบางอย่างในชีวิตผม ภารกิจในที่นี้ไม่ใช่ว่าผมจะต้องบวชเพื่อให้พ่อแม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์นะ ต้องบอกว่ารากฐานชีวิตผมส่วนหนึ่งมีเรื่องศาสนามาเกี่ยวข้อง ผมจึงอยากเรียนรู้และเข้าใจเรื่องศาสนาให้ลึกซึ้งขึ้น และอยากบวชเรียนให้เข้าใจวัฒนธรรมที่ตัวเองเติบโตมาด้วย

แล้วการบวชทำให้คุณตกตะกอนความคิดอะไรบ้าง ช่วงชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์เป็นไปอย่างที่คิดไหม

การบวชทำให้ผมได้คิดอะไรเพิ่มขึ้นหลายอย่างนะ ส่วนใหญ่มาจากการสังเกตหรือการตั้งคำถาม คิด คิด คิด จนได้เห็นอะไรบางอย่างขึ้นมา เช่น แนวคิดของพุทธเถรวาท เมื่อก่อนผมจะมองว่าเถรวาทกับมหายาน พุทธศาสนาสองนิกายนี้มีความแตกต่างกันมาก แต่พอผมได้ศึกษาธรรมะและคำสอนของเถรวาท ผมกลับเห็นความหลากหลายในวิธีการสอนของเถรวาท หลายคนมักจะมองว่าเถรวาทเป็นพุทธศาสนาฝั่งอนุรักษนิยม แต่พอได้ศึกษาจริงๆ ผมมองว่าเถรวาทไม่ได้มีความอนุรักษนิยมขนาดนั้น ถ้าไปดูประวัติศาสตร์เราจะเห็นว่ามีการประยุกต์โดยการนำเอาคำสอนบางอย่างของมหายานเข้าไปด้วย เพื่อให้คนมีความศรัทธาและสนใจจะก้าวเข้าไปในการปฏิบัติธรรมมากขึ้น

และจริงๆ ผมสนใจเรื่องศาสนามาก่อนจะสนใจเรื่องการเมืองอีก สนใจมากตั้งแต่เด็กๆ แล้ว แต่เข้าใจลึกซึ้งขึ้นก็ตอนไปบวชนี่แหละ ผมเห็นว่าคำสอนของพุทธศาสนาสายเถรวาทไม่ได้หยุดนิ่ง และในความเป็นจริงมีพลวัตที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้อีกในอนาคต บทสวดมนต์ต่างๆ ถ้าเราไปดูดีๆ จะเห็นการปรับคำสอนบางอย่างให้เข้าสู่สังคมร่วมสมัยในเวลานั้น หรือถ้าเราเข้าใจคำภาษาบาลี จะพบว่าในพิธีกรรมต่างๆ มีการใช้ภาษาที่สื่อถึงการใช้ชีวิตประจำวันของเรา สอนว่าการใช้ชีวิตที่ดีควรจะเป็นอย่างไร แม้บางเรื่องอาจล้าสมัยไปแล้ว แต่ผมมองว่าเรื่องนี้อยู่ที่คนรุ่นหลังด้วยเหมือนกันว่าเราจะทำอย่างไรให้ศาสนาพุทธมีพลวัตต่อไป

คุณพูดว่าลิมิตชีวิตตัวเองไว้ถึงแค่อายุ 27 ปี เพราะหลังจากนั้นต้องไปต่อสู้เรื่องเกณฑ์ทหารต่อ หมายความว่าถึงอย่างไรก็จะไม่จับใบดำใบแดง?

ไม่จับอยู่แล้ว ปีนี้ถ้าตำรวจจะมาจับผม ผมก็ไม่รู้สึกอะไรนะ คือปีนี้ผมไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ซึ่งจริงๆ ตามกฎหมายต้องแจ้งเหตุผลว่าทำไมคุณไม่ไป และถ้าเหตุผลคุณฟังไม่ขึ้น ตำรวจก็จะส่งเรื่องให้ศาลดำเนินคดี และศาลก็อาจจะมีคำสั่งให้ปีหน้าผมต้องเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ทันทีเลย แต่จริงๆ ปีนี้ผมยังมีสิทธิจะไปจับใบดำใบแดงได้อยู่ และถ้าผมไม่ไปจริงๆ ปีหน้าผมอาจจะต้องไปเป็นทหารเลย แต่ผมตั้งใจว่าจะไม่ไปจับแน่นอน 

แล้วถ้าโดนเรียกตัวขึ้นมาจะทำอย่างไร

ผมก็จะไป แต่ยังไงก็ไม่เกณฑ์ทหาร คือไปให้เขาจับผมติดคุกเลย ผมยืนยันว่าผมจะไม่หนี ผมคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ปีที่ประยุทธ์ยึดอำนาจ ผมประกาศตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าจะไม่มีวันเข้าไปในระบบเกณฑ์ทหาร และตอนนี้ก็ไม่คิดจะเปลี่ยนใจ เพราะผมไม่เคยนับถือระบอบการเกณฑ์ทหาร ไม่เห็นด้วยกับการบังคับทุกคนให้เกณฑ์ทหาร และที่สำคัญผมมองว่าคนที่เดือดร้อนที่สุดในระบบเกณฑ์ทหารคือคนที่มีฐานะยากจน คนชนชั้นกลางหรือคนมีเงินส่วนใหญ่ก็เรียน รด. เพื่อเลี่ยงการเกณฑ์กันหมดแล้ว ผมจึงมองว่าทุกคน โดยเฉพาะคนยากจนต้องได้รับสิทธิอย่างเสมอภาคในการที่จะมีสิทธิไม่เข้ารับการเกณฑ์ทหาร

ทหารก็ควรจะต้องเรียนรู้ ในเมื่อเด็กนักเรียนมัธยมส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยกับการเกณฑ์ทหาร รวมถึงต้องพากันเรียน รด. เพื่อไม่ต้องเกณฑ์ แสดงให้เห็นว่าการพยายามขู่เข็ญบังคับให้เกณฑ์ทหารไม่ได้สร้างความรักชาติให้เกิดขึ้นเลย ถึงวันหนึ่งระบบนี้ก็จำเป็นต้องเปลี่ยน 

ผมยืนยันว่าผมจะไม่หนี ผมคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ (เกณฑ์ทหาร) มาตั้งแต่ปีที่ประยุทธ์ยึดอำนาจ ผมประกาศตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าจะไม่มีวันเข้าไปในระบบเกณฑ์ทหาร และตอนนี้ก็ไม่คิดจะเปลี่ยนใจ

หลายปีที่แล้ว คุณพยายามขับเคลื่อนประเด็นที่คนส่วนใหญ่มองว่าขวางโลก หลังจากนั้นการเมืองไทยเปลี่ยนภูมิทัศน์ไปเยอะมาก ทั้งเกิดการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ เยาวชน หรือแม้แต่มีกลุ่มนักเรียนเลว คุณมองหมุดหมายแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร

ม็อบช่วงปี 2563 สำคัญมาก ด้วยข้อเรียกร้องที่ดันบาร์การเมืองไทย มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่เคยมีคนกล้าทำมาก่อนในอดีต เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ที่ทำให้เรื่องที่พูดไม่ได้หรือขับเคลื่อนยากมากในอดีตกลายเป็นเรื่องที่พูดถึงได้โดยทั่วไปและเป็นที่ถกเถียงกันมากขึ้น เป็นการเคลื่อนไหวที่สร้างความหวังให้สังคม และท้าทายโจทย์การเมืองหลายๆ อย่างของประเทศไทย ทำให้สังคมพอจะยอมรับการเคลื่อนไหวที่อาจฉีกจากขนบของสังคมได้มากขึ้น

ที่สำคัญกว่านั้น ผมมองว่าหมุดหมายสำคัญของการปะทุขึ้นของม็อบปี 2563 คือทำให้การแสดงออกทางการเมืองไม่ใช่เรื่องเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป เมื่อก่อนเวลาพูดถึงเรื่องการเมือง เด็กบางคนก็ไม่อยากฟังแล้ว แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ทุกคนพูดถึงในชีวิตประจำวัน เป็นหัวข้อทั่วไปในบทสนทนา เป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจ

แต่เหมือนม็อบคนรุ่นใหม่จะบูมขึ้นมาแค่ในช่วงนั้น แต่ช่วงที่ผ่านมาซาลงมากแล้ว หรือกลายเป็นว่าคนรุ่นใหม่ไม่กระตือรือร้นต่อเรื่องการเมืองมากเท่าปี 2563 แล้ว คิดว่าทำไมถึงกลายเป็นแบบนั้น

อาจเพราะบางทีเวลามีการขับเคลื่อนเรื่องใดก็ตาม เราไปฝากความหวังกันที่แกนนำเยอะไป อย่างเรื่องศาลเจ้าแม่ทับทิม บางทีคนอาจจะพร้อมมาช่วยปกป้อง แต่เขาก็จะมองว่าขึ้นอยู่ที่แกนนำด้วยว่าพร้อมไหมด้วย การเคลื่อนไหวในไทยถ้าไม่มีแกนนำ คนก็ไม่กล้าเริ่มเอง ยิ่งถ้าแกนนำไม่ทำอะไร คนก็ไม่ทำไปด้วย 

หรือบางทีเราอาจติดการยึดโยงม็อบหรือการเรียกร้องทางการเมืองกับตัวบุคคลมากไปด้วย ทั้งที่ตัวคนที่เป็นแกนนำก็เหน็ดเหนื่อยมากเหมือนกัน ต้องเจอความกดดันมากมาย มีภาระส่วนตัวที่ต้องรับผิดชอบ อย่างช่วงที่ผมไปบวช แน่นอนว่าผมออกมาเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้ หลายเรื่องก็เหมือนจะเงียบไปดื้อๆ เลย แต่ผมเข้าใจได้อยู่แล้วว่ากระแสการเรียกร้องเรื่องต่างๆ ต้องมีการขึ้นลงเป็นเรื่องธรรมดา 

ที่ผ่านมาเราจะเห็นกระแสต่อต้านกันไปมาระหว่างคนในแต่ละยุคสมัย คุณคิดว่าคนรุ่นใหม่จะเข้ากับคนรุ่นเก่าแก่ได้อย่างไรในทางการเมือง สังคมจะหาจุดพอดีในการแลกเปลี่ยนอุดมการณ์กันได้อย่างไร

สำคัญที่สุดอยู่ที่ ‘ท่าที’ ผู้ใหญ่หลายคนไม่ใช่ว่าพวกเขาเติบโตมาในสังคมอนุรักษนิยมแล้วจะต้องมีความคิดขวาจัดเสมอไปนะ บางเรื่องเขาก็เห็นด้วยว่าควรมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง เพียงแต่บางทีผู้ใหญ่ไม่เข้าใจคนรุ่นใหม่ตรงท่าทีที่แสดงออกมา ซึ่งถ้าเรามีความคิดหรืออุดมการณ์ที่ตรงกัน เช่น เราอยากเห็นประเทศชาติดีขึ้น อยากเห็นสังคมไทยดีขึ้นเหมือนๆ กัน เราก็ไปด้วยกันได้ พอจะคุยแลกเปลี่ยนกันได้ เพียงแต่บางทีเราไม่คุยกันเลยตั้งแต่ต้น ภาษาของเด็กกับผู้ใหญ่ก็ห่างกันเยอะขึ้น ต้องยอมรับว่าคนแก่บางคนตามความคิดของคนรุ่นใหม่ไม่ทัน 

การที่เราจะคุยกับคนรุ่นที่ต่างกว่าเราได้เข้าใจ ผมหมายถึงทั้งรุ่นเด็กและรุ่นผู้ใหญ่เลยนะ สิ่งสำคัญคือต้องฟังฝ่ายตรงข้ามเยอะๆ อย่างตอนผมไปพูดคุยกับคนเก่าแก่ในชุมชน เช่น พี่นกผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมหรือผู้ค้าที่โดนไล่ที่ในจามจุรีสแควร์ ตอนแรกผมไม่เข้าใจสิ่งที่เขาจะสื่อสารเลยนะ พูดชื่อใครต่อใครมาผมไม่รู้เลยว่าหมายถึงใคร ถ้าเราฟังไม่เข้าใจในทีแรกแล้วตัดสินเขาเลย หันหลังใส่เขาเลย แบบนี้ไม่เกิดประโยชน์ต่อใครทั้งนั้น 

แต่ถ้าเราพยายามฟังให้มากขึ้น ค่อยๆ ทำความเข้าใจสิ่งที่เขาจะสื่อสาร ไปหาบ่อยๆ ไปคุยบ่อยๆ เราก็จะคุยกับเขาเข้าใจในที่สุด และอีกอย่างคือทั้งสองฝ่ายต้องพยายามปรับท่าทีที่มีต่อกันด้วย บางทีผู้ใหญ่ก็รังแต่จะให้เด็กพินอบพิเทาเกินไปจนเหมือนไปครอบงำเขา ส่วนเด็กบางทีก็อีโก้สูงเกินไปอีก เรื่องแบบนี้ต้องถอยหลังคนละก้าวกันทั้งสองฝ่าย

จนถึงตอนนี้คุณเป็นทั้งนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นทั้งสื่อมวลชน เป็นนักเขียน นักแปล มาจนถึงการบวชเรียน เคยมีความคิดจะเข้าสู่สนามการเมืองบ้างไหม

ในอดีตพูดจริงๆ ว่าผมไม่เคยคิดเลย จนตอนที่ผมไปบวชแล้วได้คุยแลกเปลี่ยนความคิดกับพระในวัดที่ไปบวช พระท่านถามผมว่าก่อนหน้านี้ทำอะไรมาบ้าง ผมก็เล่าเรื่องต่างๆ ให้พระท่านฟัง ว่าก่อนจะบวชเรียนก็มีไปผลักดันเรื่องนั้นเรื่องนี้ ช่วยเหลือคนในชุมชนและมหาวิทยาลัยตลอด ท่านก็เลยแนะนำว่าจะทำอะไรแบบนี้ทั้งทีก็ต้องไปให้สุดทางเลย ในเมื่อสนใจการเมืองขนาดนี้แล้วก็เล่นการเมืองไปเลยสิ จะได้ช่วยเหลือคนได้มากขึ้น อย่างตอนนี้ผมก็ช่วยเหลือใครเยอะมากไม่ไหว เพราะผมก็แค่คนธรรมดา ไม่ได้มีเงินมากมายขนาดนั้น ผมเองก็ต้องดิ้นรนเรื่องปากท้องเหมือนกัน เวลาไปช่วยเหลือเรื่องอะไรก็ต้องหาเงินมาทำ ต้องเจียดเงินของตัวเองไปช่วยผลักดันเรื่องต่างๆ แต่ถ้าเราเข้าไปมีบทบาททางการเมือง มีความมั่นคงขึ้นมาบ้าง ก็อาจจะช่วยเหลือคนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

แปลว่าในอนาคตก็มีความเป็นไปได้

เป็นไปได้ แต่เรื่องของอนาคตใครจะไปรู้ ถ้าผมลงเลือกตั้งจริงผมอาจจะไม่ชนะก็ได้ อีกอย่างผมเองเป็นคนค่อนข้างรักอิสระ ไม่ค่อยอยากยุ่งกับสังกัดพรรคการเมืองมากสักเท่าไร ถ้าจะลงจริงๆ ผมคิดว่าลงแบบท้องถิ่นได้ก็คงดีกว่าสำหรับผม แต่ถ้าในอนาคตผมจะลง ส.ส. ผมก็คงจะลงเขตปทุมวันนี่แหละ ก็ยังอยากทำงานใกล้ชิดกับผู้คนในบริเวณนี้เหมือนเดิม

พอพูดถึงการทำงานช่วยเหลือคนในพื้นที่ ล่าสุดคุณเพิ่งจัดทำสารคดี ‘The Last Breath of Sam Yan’ ตีแผ่เรื่องศาลเจ้าแม่ทับทิม อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เข้าไปผลักดันเรื่องนี้

จริงๆ ผมเพิ่งมารู้จักศาลเจ้าแม่ทับทิมได้เมื่อ 3-4 ปีนี้เอง ทั้งที่ศาลนี้อยู่ตรงสามย่านมา 50 กว่าปีแล้ว ก่อนหน้านี้ผมนั่งรถผ่านแถวนั้นตลอด เวลาผ่านทางก็จะเห็นภาพศาลเจ้าที่มีต้นไม้เยอะๆ อยู่ล้อมรอบ เป็นเหมือนศาลเจ้าร้าง ตอนนั้นก็ไม่ได้สนใจอะไร พอมาช่วงหนึ่งผมได้ไปช่วยผู้ค้ารายหนึ่งที่จามจุรีสแควร์ที่ถูกไล่ที่เหมือนกัน เขาเล่าให้ผมฟังว่าตอนนี้มีพื้นที่ส่วนหนึ่งในที่ดินจุฬาฯ เป็นศาลเจ้าที่กำลังถูกไล่ที่ ผมเลยลองไปดูว่าอยู่ที่ไหน ปรากฏว่าก็คือศาลเจ้าที่ผมเห็นบ่อยๆ แต่คิดว่าเป็นศาลร้างนี่เอง ตอนนั้นเองที่ได้เข้าไปพูดคุยกับพี่นกผู้ดูแลศาลเจ้า และได้รู้ว่าสำนักงานจัดการทรัพย์สินของจุฬาฯ พยายามกดดันให้พี่นกย้ายออกไปโดยที่เขาไม่ได้ยินยอม จนทำให้เกิดคำถามสำคัญที่สุดคือถ้าศาลเจ้าตรงนั้นถูกทุบทิ้ง แล้วพี่นกและครอบครัวจะไปอยู่ที่ไหน จุฬาฯ ไม่เคยสนใจชีวิตในนั้น เขาจะไม่ให้มีผู้ดูแลศาลอยู่ที่นั่นเลย มันถูกต้องแล้วหรือที่จุฬาฯ ทำแบบนี้ 

การต่อสู้เพื่อปกป้องศาลเจ้าแม่ทับทิม ผมไม่ได้สู้เพื่อปกป้องเทพเจ้าเท่านั้น ผมมองในแง่ของการต่อสู้เพื่อคนเป็นด้วย เรื่องความศรัทธาหรือรากเหง้าวัฒนธรรมผมอาจไม่ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง แต่เรื่องคนในนั้นที่ยังต้องใช้ชีวิตต่อไป มองไปถึงอนาคตว่าเขาจะมีที่อยู่ไหม หมาแมวที่อาศัยอยู่ในศาลเจ้าจะไปอยู่ที่ไหน พอคิดถึงชีวิตเหล่านี้ สุดท้ายเราก็ตั้งคำถามว่ามันจำเป็นแค่ไหนที่เขาจะต้องย้ายออกจากตรงนั้น คำตอบคือไม่จำเป็นเลย และอีกอย่างศาลเจ้าแห่งนี้ก็มีไว้เพื่อช่วยรักษาจิตใจของผู้คน ช่วยให้คนมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจหรือความหวังบางอย่าง และคอยช่วยเหลือด้านสาธารณกุศลมามากกว่า 50 ปีแล้วด้วยซ้ำ แต่จุฬาฯ ไม่เคยสนใจเรื่องเหล่านี้เลย สนใจแต่จะสร้างตึกหรู ทั้งที่ศาลเจ้าคือสิ่งสำคัญของชุมชนสามย่าน

จริงๆ ผมไม่ได้ตั้งใจจะทำแค่หนังสารคดีอย่างเดียว ผมตั้งใจจะทำทุกอย่างเลย ทั้งงานเขียน ภาพยนตร์ และงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับศาลเจ้าแม่ทับทิม เพราะสิ่งที่ผมคิดมาโดยตลอดคือ ถ้าเราเอาแต่พูดอย่างเดียว เราจะแพ้แน่นอน พูดตามตรงเรื่องคดีความระหว่างพี่นกกับสำนักงานฯ ผมไม่เคยคิดว่าเราจะชนะเลย ดังนั้น สำคัญที่สุดคือเราจะต้องเก็บรักษาทุกอย่างที่มีความทรงจำของศาลเจ้าในวันนี้ไว้อย่างละเอียดที่สุด อย่างน้อยวันหนึ่งเราต้องทำให้นิสิตรุ่นต่อๆ ไปที่อาจจะไม่ได้เห็นศาลเจ้านี้แล้ว ได้รับรู้ว่าเมื่อก่อนชุมชนสามย่านเคยมีศาลเจ้าหน้าตาแบบไหน และครั้งหนึ่งเคยมีคนอาศัยอยู่ที่นี่จริงๆ

เท่าที่ผมศึกษาประวัติศาสตร์สามย่านมา หลายๆ อย่างในอดีตในแถบชุมชนสามย่านแทบไม่มีเหลือแล้ว ไม่มีแม้แต่รูปถ่ายเก่าๆ อย่างโรงเรียนสวนหลวงที่ถูกไล่ที่เพื่อสร้างเป็นคอนโด CU iHouse หรือชุมชนเซียงกงรอบๆ ที่กลายเป็นตึกไปหมดแล้ว นิสิตรุ่นนี้แทบไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับอดีตของชุมชนสามย่านแล้ว ผมจึงต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อเก็บรักษาความทรงจำเหล่านี้ไว้ เพราะการต่อสู้เพื่อศาลเจ้าแม่ทับทิมก็คือการต่อสู้เพื่อรักษาผู้คน รากเหง้าประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และชุมชน 

หมายความว่าที่ทำมาทั้งหมดนี้คือเตรียมใจไว้แล้วว่าถึงอย่างไรก็คงแพ้คดี?

จริงๆ ผมถอดใจกับเรื่องนี้มาหลายทีแล้วนะ ผมนี่อยากเทก่อนคนแรกเลย คิดว่าเราแพ้แน่ แต่ผมหมดหวังทีไร พอผมไปคุยกับพี่นก ปรากฏว่าพี่นกยังคงมีความหวังตลอดเวลาเลยนะ แกมีความหวังและมีแรงที่จะสู้ ผมบอกพี่นกไม่รู้กี่ทีว่าเราอาจจะต้องเตรียมย้ายออกแล้วนะ แต่แกจะสู้อย่างเดียว จิตใจพี่นกเข้มแข็งที่สุดแล้ว แล้วแบบนี้จะให้ผมทิ้งแกได้อย่างไร สุดท้ายก็เลยกลายเป็นว่า สู้ก็สู้วะ คณะกรรมการที่เป็นนิสิตจุฬาฯ ก็พร้อมสู้ และถ้ามองไปไกลกว่านั้น จริงๆ พี่นกมีพระคุณกับเรามากนะ เพราะแกกำลังรักษาวัฒนธรรมให้เรา ถ้าไม่มีพี่นกคอยสู้สักคน ป่านนี้เด็กจุฬาฯ ไม่ได้เห็นศิลปะวัฒนธรรมที่อยู่ในศาลเจ้าแม่ทับทิมแล้ว 

ความจริงเรื่องศาลเจ้าแม่ทับทิมตอนแรกใครจะไปคิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาจนมีหนังฉายอยู่ในตอนนี้ ย้อนกลับไปตอนมีเรื่อง #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ขึ้นมาใหม่ จุฬาฯ อาจจะคิดว่าเด็กพวกนี้มันไร้สาระ บีบบังคับมันสักหน่อย สู้ได้ไม่นานเดี๋ยวก็คงยอมออกแล้ว ผมเองอยากยอมแพ้มาไม่รู้กี่รอบ แต่ในเมื่อผู้ดูแลศาลอย่างพี่นกไม่เคยคิดจะยอมแพ้ เราก็ต้องสู้ต่อไปเหมือนกัน

ตั้งแต่มีแฮชแท็ก #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม จนถึงวันนี้ ฝ่ายสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ เคยออกมาพูดคุยหาทางแก้ไขร่วมกันบ้างไหม

ไม่เคยเลย ผมพยายามติดต่อสำนักงานฯ ทุกทางแล้ว ผมพยายามไม่ออกหน้าเองด้วยซ้ำ เพราะรู้ว่าถ้าเป็นผมติดต่อไปขอคุย เขาก็คงไม่คุยกับผมหรอก แต่สุดท้ายเขาก็ไม่คุยกับใครเลย คนพวกนี้เป็นผู้ใหญ่ที่ผมไม่ค่อยนับถือเท่าไร เขาบอกว่าเขาเป็นตัวแทนของจุฬาฯ แต่เขาไม่เคยสนใจเสียงจากคนในมหาวิทยาลัยเลย และกำลังพยายามจะทุบทำลายมรดกที่อยู่คู่กับชุมชมมานานอีก

ล่าสุดเห็นคุณเปิดตัวร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อว่า ‘ประชาธิปไตยกินได้’ ร้านนี้มีที่มาจากอะไร ทำไมจู่ๆ ถึงเปิดกิจการร้านก๋วยเตี๋ยว

จุดเริ่มต้นไม่ได้มาจากผมอยากทำธุรกิจขายก๋วยเตี๋ยว แต่เกิดจากการที่ผมอยากเก็บรักษาความทรงจำของร้าน ‘ก๋วยเตี๋ยวกัญชา’ ที่ผมเคยกินมาตั้งแต่ยังเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 ผมเห็นตั้งแต่ร้านเขามีลูกค้าเยอะมาก กำลังรุ่งเรืองเลย และก่อนหน้านี้ผมบังเอิญได้ไปรู้จักกับครอบครัวของพี่เจ้าของร้าน เลยได้รู้ว่าแม้แต่ร้านก๋วยเตี๋ยวกัญชาก็ถูกจุฬาฯ ขึ้นค่าเช่าจนต้องปิดกิจการไป ผมเลยคิดว่าถ้าผมช่วยเขาได้ก็อยากจะช่วย และคิดไปถึงอนาคตว่านิสิตจุฬาฯ รุ่นหลังจะได้มีโอกาสอุดหนุนก๋วยเตี๋ยวกัญชาต่อไป 

ตอนแรกผมตั้งใจจะเปิดร้านเพื่อให้พี่เจ้าของร้านมาทำต่อ แต่เผอิญเขาติดงานส่วนตัวอย่างอื่นอยู่ เขาเลยให้สูตรผมมาฟรีๆ เพื่อให้ผมมาเปิดร้านต่อ เป็นที่มาของร้านก๋วยเตี๋ยวประชาธิปไตยกินได้ แต่ผมตั้งใจไว้ว่าสักวันหนึ่งในอนาคตถ้าเขาพร้อม และอยากกลับมาขายก๋วยเตี๋ยวสูตรนี้ต่อ ผมก็ยินดียกร้านนี้เป็นช่องทางทำมาหากินให้เขาและครอบครัวต่อไป ท้ายที่สุดเป้าหมายของผมคือต้องการช่วยเหลือคนทำมาหากินและอยากเก็บตำนานร้านก๋วยเตี๋ยวกัญชาไว้

ในร้านยังมีขายน้ำเก๊กฮวยของป้าติ๋ว อดีตแม่บ้านของคณะรัฐศาสตร์ด้วย คือตอนนี้ป้าติ๋วเข้าไปทำงานที่คณะไม่ได้ เพราะทางคณะกำลังปิดปรับปรุงพื้นที่ พอมีร้านตรงนี้ผมก็ให้แกมาทำน้ำเก๊กฮวยขายไปด้วย ตอนนี้แกอายุมากแล้ว จะได้ไม่ต้องลำบาก 

แล้วธุรกิจสำนักพิมพ์ล่ะ เหตุผลที่ตัดสินใจทำสำนักพิมพ์คืออะไร

สำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่านก่อตั้งมา 5 ปีแล้ว ผมตัดสินใจก่อตั้งสำนักพิมพ์นี้ขึ้นมาตอนที่ผมโดนมหาวิทยาลัยปลดออกจากตำแหน่งประธานสภานิสิต ตอนนั้นผมไม่ได้ตั้งใจจะดำเนินงานเองหรอก แต่ผมแค่อยากให้จุฬาฯ มีสื่อสิ่งพิมพ์ของนิสิตขึ้นมา เพราะผมเคยเห็นตัวอย่างจากสมัย 14 ตุลา 2516 ตอนนั้นสโมสรนิสิตจุฬาฯ ออกสิ่งพิมพ์ที่เป็นข้อเขียนของฝ่ายซ้ายเยอะแยะไปหมด ผมเลยคิดว่าทำไมเราไม่ลองทำบ้างล่ะ อีกอย่างผมคิดว่าผู้ใหญ่หลายคนมักจะมองว่าเด็กสมัยนี้เอาแต่บริโภคนิยม เราจึงอยากจะพิสูจน์ว่าคนรุ่นใหม่ก็มีความสามารถทางวิชาการเหมือนกัน แม้นิสิตจะยังมีความเชี่ยวชาญไม่มาก แต่เราก็สามารถร่วมกันทำอะไรดีๆ ออกมาได้ เพียงแต่ผมถูกปลดจากตำแหน่งสภานิสิตเสียก่อน เลยต้องมาเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเอง ซึ่งตอนแรกผมก็คิดว่าน่าจะเจ๊งแหละ เพราะการทำสำนักพิมพ์มันเหนื่อยยากมาก แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้

ทำมาทั้งสำนักพิมพ์ ภาพยนตร์สารคดี มาจนถึงเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว ในอนาคตยังอยากเปิดกิจการอะไรอีกไหม

ตอนนี้ชั้นสองของสำนักพิมพ์ยังมีที่ว่าง ในอนาคตผมตั้งใจจะทำเป็นมินิบาร์ ให้คนมานั่งชิล มานั่งเล่น มีเครื่องดื่มขาย แล้วก็ทำเป็นพื้นที่ให้คนมาจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ จัดกิจกรรมเวิร์กช็อปได้ รวมถึงให้เด็กในชุมชนมาใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้ได้ด้วย ตอนนี้มีโปรเจ็กต์เล็กๆ ที่กำลังปรึกษากับทีมอยู่ คือผมอยากสอนวิชาปรัชญาให้เด็กในชุมชนสามย่าน ที่ต้องเป็นวิชาปรัชญา เพราะผมมองว่าตอนนี้วิชาปรัชญาเหมือนเป็นวิชาที่คุณต้องมีเงิน หรือต้องเข้าเรียนในสถาบันดีๆ คุณถึงจะมีโอกาสได้เรียน แต่ผมอยากให้การเรียนปรัชญาเป็นเรื่องทั่วไปในชีวิต รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่เด็กในชุมชนสนใจด้วย อาจจะมีสอนเล่นกีฬา เล่นดนตรี ก็มาใช้พื้นที่ว่างของสำนักพิมพ์ได้

สำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่านนอกจากจะแปลและตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการเมืองไทยแล้ว ยังมีหนังสือการเมืองจีน ฮ่องกง ไต้หวัน จำนวนไม่น้อย อะไรที่ทำให้คุณเริ่มสนใจเรื่องการเมืองจีน

ผมสนใจการเมืองไทย-จีนมานาน ตั้งแต่มีเหตุการณ์ที่โจชัว หว่อง เข้าประเทศไทยไม่ได้ ทำให้ผมเห็นปัญหาการเมืองไทยที่มีอำนาจของรัฐบาลจีนเข้ามาแทรกแซง ประกอบกับผมสนใจประวัติศาสตร์จีนมาตลอด และจริงๆ ณ ตอนนั้นการเมืองไทยมืดมนมากนะ ไม่เหมือนในปัจจุบันที่ดูมีความหวังมากขึ้น ตอนนั้นเพื่อนๆ รอบตัวผมยังเชียร์ประยุทธ์กันอยู่เลย แล้วก็หาว่าผมเป็นตัวปั่นป่วนการเมือง ทำให้ผมรู้สึกว่าเรากำลังอยู่ในยุคเผด็จการอย่างแท้จริงแล้ว ผมเลยไปอ่านงานของปัญญาชนจีนมากขึ้น เพราะต้องการเรียนรู้ว่าเหล่าปัญญาชนจีนที่มีแนวคิดหัวก้าวหน้าเหล่านี้เขาสามารถใช้ชีวิตในยุคเผด็จการกันอย่างไร เขาผ่านเรื่องราวพวกนั้นมาได้อย่างไรภายใต้การนำของรัฐบาลเผด็จการที่ทำให้ประชาชนแทบไม่มีความหวังในการใช้ชีวิตเลย

และยิ่งพอมารู้เรื่องการต่อสู้ของคนในฮ่องกงที่เจอมาหนักกว่าเราอีก ยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่าปัญหาที่ผมเจอยังเบามากถ้าเทียบกับสิ่งที่โจชัว หว่องและคนฮ่องกงอีกมากมายต้องเจอ ผมจึงรู้สึกเชื่อมโยงกับพวกเขาในแง่ของการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อขับไล่เผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตย

การศึกษาการต่อสู้ของโจชัว หว่อง หรือการต่อสู้ของคนฮ่องกงทำให้เรารู้สึกว่าประเทศไทยยังมีหวังไหม หรือสิ่งที่ฮ่องกงต้องเจอภายใต้อำนาจของรัฐบาลจีนจะทำให้เรารู้สึกหดหู่ยิ่งกว่าเดิม

ผมคิดว่าเราจะหมดหวังแน่นอนถ้าคนไทยไม่ทำอะไรเลย ผมไม่รู้ว่าเราจะสามารถพูดได้ไหมว่าฮ่องกงแพ้จีนแล้ว เพราะในระยะยาวคนเหล่านี้ก็ยังพร้อมออกมาต่อสู้อีกครั้ง เพียงแต่เขาประเมินแล้วว่าตอนนี้คงต้องถอยไปตั้งหลักก่อนชั่วคราว อย่างโจชัว หว่องที่ยอมติดคุกทั้งที่เขาจะหนีไปก็ได้ และอีกหลายคนที่ยังคงมีแรงในการสู้ต่อเพื่อให้เรื่องราวในฮ่องกงเป็นที่รับรู้ ทั้งที่คนเหล่านี้อายุประมาณ 20 กว่าเท่านั้น ยังมีอนาคตอีกไกล ยังมีเวลาสู้กับสีจิ้นผิงได้อีกนาน หรือแม้แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย ผมเชื่อเสมอว่าเวลาจะกลับมาอยู่ข้างเราอีกครั้ง แต่ถ้าเราเอาแต่คิดแล้วไม่ลงมือทำ แบบนั้นเราก็แพ้อยู่แล้ว 

กลับมามองที่การเมืองภาพใหญ่ของประเทศไทย จนถึงตอนนี้ การต่อสู้เพื่อการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ไปจนถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาไกลแค่ไหนแล้วในสายตาของคุณ

ผมคิดว่าเรามากันไกลมาก โดยเฉพาะการเรียกร้องเพื่อสิทธิเสรีภาพ แต่ในอีกมิติหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญ คือเรื่อง ‘ความเสมอภาค’ และ ‘ภราดรภาพ’ ที่อาจจะยังมีน้อยในตอนนี้ สังคมไทยต้องเน้นมิตินี้กันมากขึ้น คือการที่เราต้องรับฟังกันได้ และตระหนักว่าทุกคนคือเพื่อนมนุษย์ที่เราต้องช่วยเหลือกัน ตอนนี้กลายเป็นว่าในการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ บางทีเราต้องการเรียกร้องเสรีภาพ แต่ฉันจะทิ้งอีกคนหนึ่งไว้ข้างหลัง เพราะเขาเป็นแค่คนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตฉัน เธอจะเป็นอย่างไรฉันก็ไม่สนใจ 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คนที่ออกมาด่าว่าการกระทำของหยก คนพวกนี้แหละที่ไม่มีภราดรภาพ ไม่มีความเข้าอกเข้าใจต่อเพื่อนมนุษย์ ถ้ามองว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่แล้ว เด็กอยากทำอะไรก็ควรจะปล่อยเขา ไม่ใช่เอาแต่คอยด่าเขา อีกอย่างคือสังคมควรจะมองว่าการเคลื่อนไหวของหยกเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ แต่หลายคนทำเหมือนฉันจบจากโรงเรียนมาได้แล้ว ฉันสบายแล้ว ฉันไม่สนใจอะไรอีกแล้ว คนที่ด่าบางคนเหมือนจะทำเป็นเข้าอกเข้าใจ แต่จริงๆ ไม่ได้เข้าใจเลย คนเหล่านี้ไม่รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไรด้วยซ้ำ

หรือแม้แต่เรื่องศาลเจ้าแม่ทับทิม ในความเป็นจริงเด็กจุฬาฯ จำนวนมากไม่ได้สนใจเรื่องนี้เลย เพราะหลายคนคิดว่าฉันจะไปสนใจทำไม เรื่องศาลเจ้าไม่ได้เกี่ยวกับชีวิตของฉัน เธอจะออกหรือไม่ออกก็แล้วแต่ สำคัญไปกว่านั้นคือเด็กจุฬาฯ หลายอาจจะไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าตัวเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมจุฬาฯ หลายคนสนใจแค่ฉันต้องมาเรียนหนังสือและฉันต้องรีบเรียนให้จบ เมื่อคนในประชาคมขาดความรู้สึกว่าเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มันก็จะขาดความรู้สึกว่าฉันต้องช่วยเหลือชุมชนหรือสังคมที่ดำรงอยู่ไปด้วย และกลายเป็นว่าเราอาจจะได้เสรีภาพมา แต่ก็เป็นเสรีภาพสำหรับคนมีเงิน เสรีภาพสำหรับคนมีการศึกษา แต่ไม่ใช่เสรีภาพให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยคนอื่นๆ ในสังคม

อาจมองได้ว่าบางทีสังคมเรากำลังติดหล่มประชาธิปไตยแบบปัจเจกชนกันอยู่ ซึ่งเป็นอะไรที่แตกต่างกับรุ่น 14 ตุลา และ 6 ตุลา การต่อสู้ครั้งนั้นเรื่องจิตสำนึกทางสังคมมีสูงมาก คือผมไม่ได้จะตัดสินคนรุ่นนี้นะ เพราะหลายคนที่เป็นนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ก็ออกมาต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเสมอภาคของคนส่วนใหญ่ในประเทศเหมือนกัน และจริงๆ จะโทษเด็กอย่างเดียวก็ไม่ได้ ผู้มีอำนาจหรือผู้บริหารเองก็อยากให้เป็นแบบนั้น คือเขาอยากให้ความเป็นชุมชนหมดไป แล้วพอความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชนหายไป คนรุ่นใหม่หลายคนต้องมีความเป็นปัจเจกสุดๆ อยู่แล้ว เพราะไม่รู้จะไปรวมกลุ่มกันจากไหน อย่างเด็กจุฬาฯ ที่รอบมหาวิทยาลัยมีแต่ห้าง ผู้บริหารสนใจแค่จะทำอะไรก็คิดเป็นเม็ดเงินได้หมด ระบบนิเวศของชุมชนจึงกลายเป็นแบบนี้

สังเกตว่ากระแสการเมืองไทยมีความขึ้นๆ ลงๆ อยู่เป็นระยะ คุณคิดว่าอะไรที่อาจยังเป็นจุดอ่อนของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในไทยที่เราพอจะทำให้เข้มแข็งขึ้นได้กว่านี้

ผมว่าคนไทยหลายคนชอบคิดว่าเสรีภาพมาจากฟ้าประทาน ก็เลยรอกันเฉยๆ ไม่อยากลงมือทำอะไร แต่ถ้าเราคิดว่าเสรีภาพมาจากการต่อสู้ของเราทุกคน เราจะไม่ต้องคิดอะไรมากเลย นอกจากจะทำอย่างไรให้ต่อสู้จนชนะได้ ถึงอย่างไรมนุษย์ก็ต้องสู้นะ ต่อให้อนาคตจะปลดล็อกเรื่องเครื่องแบบและทรงผมนักเรียนได้ ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ต้องสู้แล้ว ยังคงมีขั้วอนุรักษนิยมที่ต้องการบีบบังคับกับขั้วประชาธิปไตยที่ต้องต่อสู้กันอยู่ตลอดเวลา

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

เราทุกคนยังต้องต่อสู้กันอีกยาว เราต้องมีเป้าหมายใหม่อยู่เสมอ ประชาธิปไตยไม่มีคำว่า ‘พอแล้ว’ ไม่ใช่ว่าฉันได้รัฐบาลมาจากประชาธิปไตยแล้ว ต่อไปนี้ฉันจะไม่ต้องต่อสู้เรียกร้องอะไรอีกต่อไป เรายังมีอีกหลายปัญหาที่ต้องสู้ต่อ ลองไปดูประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้วสิ อย่างเกาหลีใต้ที่หลายคนบอกว่าอยากให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแบบเขาบ้าง เขาก็ยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในประเทศ ยังมีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ สังคมเรายังต้องเดินไปอีกไกลเลยทีเดียว แต่ถ้าเราปิดประตูไม่เอาอะไรอีกแล้ว พอแล้ว ไม่ขอไปม็อบอีกแล้ว มันก็ทำให้ประชาธิปไตยเสื่อมลง ดังนั้นการจินตนาการถึงประชาธิปไตยที่ดีร่วมกันเป็นเรื่องจำเป็นมาก ทุกอย่างไม่ได้จบแค่เราได้ประชาธิปไตยมา สุดท้ายประชาธิปไตยจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นที่บอกว่าเรามาถูกทางแล้ว

ถ้าเราคิดว่าเสรีภาพมาจากการต่อสู้ของเราทุกคน เราจะไม่ต้องคิดอะไรมากเลย นอกจากจะทำอย่างไรให้ต่อสู้จนชนะได้ ถึงอย่างไรมนุษย์ก็ต้องสู้นะ

คุยเรื่องการเมืองภาพใหญ่กันมาเยอะแล้ว อยากชวนกลับมามองที่ตัวตนของคุณเองบ้าง ในอดีตคุณเคยนิยามตัวเองว่าเป็น ‘นักเรียนเลวในระบบการศึกษาแสนดี แล้วถ้าถามในวันนี้ คุณจะนิยามตัวเองว่าเป็นอย่างไร 

ณ ตอนนี้ผมยังเรียนไม่จบ ก็คงจะเป็นนิสิตเลวในระบบการศึกษาแสนดี แต่ถ้าเรียนจบแล้ว ก็คงจะเป็นพลเมืองเลวต่อไปละมั้ง (หัวเราะ)

คำถามสุดท้าย จนถึงวันนี้คุณลงมือทำอะไรต่างๆ มากมาย แล้วคุณมองตัวเองในอนาคตไว้อย่างไรบ้าง คิดว่าตัวเองในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จะทำอะไรอยู่

ผมยังมีเรื่องที่อยากทำอีกเยอะเลย เร็วๆ นี้ตั้งใจจะลองทำงานศิลปะ ชีวิตนี้ทำมาหลายอย่างแล้ว ตอนนี้เลยอยากลองเป็นศิลปินดูบ้าง ถ้าอีก 20 ปีผมยังมีชีวิตอยู่น่ะนะ (ยิ้ม)

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save