fbpx

คนเหงาในเมืองใหญ่และชีวิตบาดเจ็บ The Apartment

เรื่องน่าตื่นเต้นสุดช่วงเริ่มต้นปีใหม่สำหรับผมในฐานะคนดูหนัง คือมีหนังเก่าคลาสสิกขึ้นหิ้งจำนวน 10 กว่าเรื่อง มาเผยแพร่ทาง prime video และที่น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้นไปอีกคือในบรรดางานกลุ่มนี้ เป็นผลงานของผู้กำกับชั้นครูอย่างบิลลี ไวล์เดอร์ ถึง 4 เรื่อง ประกอบไปด้วย Witness for the Prosecution (1957), Some Like it Hot (1959), The Apartment (1960) และ Irma la Douce (1963)

บิลลี ไวล์เดอร์ เป็นผู้กำกับและคนเขียนบทฝีมือระดับเทพ มีงานระดับมาสเตอร์พีซมากมาย เช๋น Double Indemnity (1944) หนึ่งในหนังฟิล์มนัวร์ที่ยอดเยี่ยมสุดตลอดกาล, Sunset Boulevard (1950) หนังที่สะท้อนภาพด้านลบและความเป็นมายาของฮอลลีวูดได้อย่างเจ็บปวดถึงแก่น, Stalag 17 (1953) หนังเกี่ยวกับชีวิตนักโทษในค่ายเชลยศึกที่ผสมผสานความเร้าใจกับอารมณ์ขันร้ายๆ ได้อย่างสุดแสนจะบันเทิง

รายชื่องานเด่นๆ ของบิลลี ไวล์เดอร์ข้างต้นนั้นยังตกหล่นขาดหายอีกหลายเรื่อง กล่าวโดยรวมคือgขาเป็นผู้กำกับระดับตำนาน ซึ่งผมใฝ่ฝันเป็นอย่างยิ่งว่าอยากจะมีโอกาสไล่ตามเก็บดูหนังเรื่องสำคัญๆ ให้ครบถ้วน

ในจำนวนหนัง 4 เรื่องที่มีให้ดูทางสตรีมมิง Irma la Douce เป็นเรื่องเดียวที่ผมยังไม่เคยดู ขณะที่ Some Like It Hot เคยเขียนถึงไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่ทางหอภาพยนตร์จัดฉายในโปรแกรม ‘ทึ่งหนังโลก’ ส่วน Witness for the Prosecution นั้น ยอดเยี่ยมเหมาะสมทุกประการที่จะหยิบมาเล่าสู่กันฟัง แต่ติดขัดตรงที่เป็นหนัง courtroom drama เกี่ยวกับการสู้คดีในศาลว่าด้วยการฆาตกรรม เต็มไปด้วยความลับสำคัญมากมาย ทำให้เล่าสู่กันฟังยาวๆ ได้ไม่ถนัด

อย่างไรก็ตาม สำหรับ Witness for the Prosecution ผมขอถือโอกาสแนะนำสั้นๆ ตรงนี้ว่า หนังดัดแปลงจากบทละครชื่อเดียวกันของอกาธา คริสตี ได้รับคัดเลือกให้ติดกลุ่ม 10 หนังอเมริกันแนว courtroom drama ที่ดีที่สุดตลอดกาล โดยมีคะแนนอยู่ในอันดับ 6 หนังดำเนินเรื่องได้สนุกเร้าใจตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงฉากจบ และมีจุดเด่นสำคัญ 2 ประการ อย่างแรกคือ ในความเป็นหนังแนวสืบสวนสอบสวนและสู้คดีกันในโรงในศาลที่เข้มข้นจริงจัง งานชิ้นนี้ก็โดดเด่นมากในการใส่อารมณ์ขันแทรกปนอยู่ตลอดเวลาอย่างกลมกลืน อย่างต่อมาคือเหตุการณ์ช่วงสิบนาทีสุดท้าย สรุปนิยามสั้นๆ ได้ว่า ‘เหนือชั้น’

สำหรับ The Apartment ที่จะแนะนำและเล่าสู่กันฟังในคราวนี้ สรรพคุณกว้างๆ คือได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 10 สาขา

สาขาที่เป็นผู้ชนะ ประกอบไปด้วย หนังเยี่ยม, ผู้กำกับ, บทภาพยนตร์ดั้งเดิม, กำกับศิลป์ และตัดต่อลำดับภาพ ส่วนสาขาที่พลาดไปได้แก่ นักแสดงนำชาย (แจ็ค เลมมอน), นักแสดงนำหญิง (เชอร์ลีย์ แม็คเลน), นักแสดงสมทบชาย (แจ็ค ครัสเชน), กำกับภาพ และบันทึกเสียง

นอกเหนือจากความสำเร็จบนเวทีออสการ์แล้ว หนังเรื่องนี้ยังติดกลุ่มการจัดอันดับหนังยอดเยี่ยมในกาลต่อมาของหลายๆ สำนัก พูดง่ายๆ คือผ่านการพิสูจน์ด้วยเวลาอันยาวนาน แตกต่างจากสมัยแรกเริ่มออกฉาย ซึ่ง The Apartment เป็นหนังฮิตได้รับความนิยม แต่เสียงวิจารณ์กลับแตกแยกเป็น 2 ฝั่ง

ด้านที่น่าชื่นชมนั้นไม่แปลกนะครับ เพราะคุณภาพของหนังดีงามยอดเยี่ยมสมราคาเป็นที่ประจักษ์ชัด ความน่าสนใจอยู่ที่ปฏิกิริยาติดลบต่อตัวหนัง ซึ่งถูกโจมตีค่อนข้างหนักว่าเป็นหนังเสื่อมเสียศีลธรรม พูดถึงเรื่องเซ็กซ์ การนอกใจและไม่ซื่อสัตย์ต่อคู่สมรส นักวิจารณ์อย่างฮอลลิส อัลเพิร์ต จาก Saturday Review ถึงขั้นนิยามหนังเรื่องนี้ว่าเป็น ‘เทพนิยายสกปรก’

ข้างต้นนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องของยุคสมัยนะครับ แม้ The Apartment จะสะท้อนภาพแง่มุมต่างๆ ดังที่ถูกกล่าวหาด้วยเจตนาท่าทีไม่สนับสนุน ตรงกันข้าม เป็นการโจมตีพฤติกรรมเหล่านี้เสียด้วยซ้ำ แต่การปรากฏเนื้อหาเกี่ยวกับการนอกใจ ไม่ซื่อสัตย์ต่อคู่ครอง ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเปราะบาง จนทำให้ผู้ชมจำนวนหนึ่งที่เคร่งศีลธรรมในยุคสมัยนั้นเกิดอาการแสลง ยากจะทำใจยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงว่า พระเอกนางเอก ‘กระทำผิด’ โดยเจตนาในช่วงต้นเรื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายบางอย่างด้วยวิธีทางลัดที่ไม่ถูกไม่ควร (ก่อนจะได้รับบทเรียนในเวลาต่อมา และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่งานชิ้นนี้จะโดนทัวร์ลงในทศวรรษ 1960

ล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน ประเด็นอื้อฉาวที่เคยเกิดขึ้นน่าจะเลือนรางเหลืออยู่น้อยเต็มที (เว้นเสียแต่ว่ายังมีผู้ชมที่ศีลธรรมจัดเข้าขั้นสุดโต่ง) ด้วยอายุ 60 กว่าปีของหนัง การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อมทางสังคม รวมถึงอะไรต่อมิอะไรที่เกิดขึ้นในโลกภาพยนตร์ ซึ่งหนักมือยิ่งกว่าช่วงทศวรรษ 1960 มากมายนัก

การดู The Apartment ในปัจจุบันกาล จึงกลายเป็นการดูหนังที่สะอาด ถูกหลักอนามัย ปลอดภัย ไร้สารพิษไปเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงคุณค่าดังเดิมไม่แปรเปลี่ยน ก็คือความยอดเยี่ยมของหนัง

The Apartment เป็นงานในแบบที่เรียกกันว่า old school เป็นทรงโบราณ ซึ่งเก่าพ้นยุคไปแล้ว ทุกวันนี้หากใครจะทำหนังเล่าเรื่องด้วยวิธีลีลาแบบเดียวกัน โอกาสที่จะกลายเป็นงานเชย พ้นสมัย เป็นไปได้สูงยิ่ง (เว้นเสียแต่ว่าคนทำหนังนั้น ‘มือถึง’ จริงๆ)

ผมหมายความว่าอย่างนี้ครับ วิธีท่วงทำนองหรือรูปแบบทางศิลปะที่หนังเรื่องนี้ใช้ เป็นวิธีเก่า ไม่ร่วมสมัยอีกต่อไป และแตกต่างจากสมัยนิยมในปัจจุบันจนห่างไกลสุดกู่ แต่ไม่ใช่วิธีที่ผิด ไม่ใช่วิธีที่ควรมองข้ามหลีกเลี่ยง ตรงข้ามกลับเป็นวิธีการที่น่าศึกษาเรียนรู้

เทียบเคียงง่ายๆ ก็เหมือนเพลงสุนทราภรณ์นะครับ ท่วงทำนอง การเรียบเรียงดนตรี วิธีร้อง จนถึงเนื้อเพลงภาษาไทยที่มีถ้อยคำสำนวนอีกแบบ แตกต่างจากเพลงร่วมสมัยไปหลายโยชน์ แต่ก็ยังไพเราะน่าฟัง และที่สำคัญคือเป็นอมตะ

The Apartment ก็เป็นดังเช่นที่กล่าวมา หนังห่อหุ้มด้วยงานสร้างย้อนยุค การแสดงโจ่งแจ้งเด่นชัดในลีลาเก่าๆ บรรยากาศและงานสร้างตามเนื้อผ้าตามยุคสมัยที่ผลิต รวมถึงพล็อตเรื่องเต็มไปด้วยกลิ่นอายพาฝันเป็น ‘เทพนิยาย’ (สำหรับผู้ใหญ่)

ทว่าพ้นจากเปลือกนอกห่อหุ้มเหล่านี้แล้ว The Apartment ก็ไม่มีสิ่งใดเฉียดใกล้กับคำว่าเชยเลยสักนิด คำหนึ่งที่เกิดขึ้นในความคิดของผมตลอดการดูตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเฉพาะระหว่างไตร่ตรองเพื่อเตรียมลงมือเขียน ยิ่งเกิดขึ้นถี่บ่อยมากขึ้นตามลำดับ คำนั้นก็คือ ‘ฉลาด’

The Apartment เป็นหนังที่ฉลาดมากๆ ตั้งแต่เงื่อนไขสำคัญของเรื่อง การเขียนบทสนทนาอันคมคาย เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน จังหวะขั้นตอนการเล่าเรื่องที่สร้างสถานการณ์รับ-ส่งให้เรื่องราวคืบหน้าได้อย่างกระชับฉับไว ลื่นไหล และลงล็อกอย่างเหมาะเจาะ (หนังเต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูง่ายดายเมื่อบอกเล่านำเสนอออกมา แต่วิเศษและดีจังเลย มันง่ายและปราดเปรื่อง จนกระทั่งผมต้องรำพึงรำพันกับตัวเองด้วยความนับถือชื่นชมว่า คิดได้ยังไง?)

ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นตำราอันล้ำเลิศทรงคุณค่า สำหรับใครก็ตามที่อยากจะเรียนรู้ศึกษาเกี่ยวกับการเขียนบทภาพยนตร์ที่ดี สามารถกล่าวได้ว่าทุกเสี้ยววินาทีในหนัง เป็นครูอันประเสริฐในการเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น

สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจ ไม่ได้มีความคิดอยากทำหนัง มีความมุ่งมาดปรารถนาแค่การดูหนังตามปกติทั่วไป The Apartment ยิ่งเข้าข่ายเป็นผลงานระดับไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือสนุกบันเทิงมาก

ยิ่งไปกว่านั้นคือหนังมีเนื้อหาสาระที่นำเสนอง่ายๆ ตรงไปตรงมาเด่นชัด แต่เป็นเนื้อหาที่คมคาย นำเสนอด้วยอารมณ์ขันในเชิงเสียดสีอย่างเจ็บแสบ และนับวัน สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงปัจจุบัน ก็ยิ่งสอดคล้องตรงกันกับแง่คิดที่หนังเรื่องนี้สะท้อนไว้เมื่อ 64 ปีที่แล้ว

ผมตั้งใจจะเล่าพล็อตเรื่องอย่างรวบรัดสั้นและหลบเลี่ยงเท่าที่จะทำได้นะครับ หนังพูดถึงคนเล็กๆ สองคนในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก รายแรกเป็นชายหนุ่มชื่อ ซี.ซี. แบ็กซ์เตอร์ เป็นเสมียนต๊อกต๋อยในบริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ ใฝ่ฝันอยากก้าวหน้าเติบโตในวิชาชีพ แต่การทำงานหนักทุ่มเท ขยันหมั่นเพียร ไม่สามารถช่วยให้ชายหนุ่มบรรลุเป้าหมาย ถึงที่สุดแล้ว แบ็กซ์เตอร์ก็เป็นได้แค่ฟันเฟืองชิ้นส่วนเล็กๆ ไร้ความสำคัญในเครื่องจักรขนาดใหญ่มหึมา

จนจับพลัดจับผลูเริ่มต้นด้วยเหตุบังเอิญ ทำให้ห้องพักของแบ็กซ์เตอร์ในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง ถูกบรรดาผู้บริหารที่มีตำแหน่งใหญ่โตในบริษัท (ประมาณ 4 คน) ใช้เป็น ‘รังรัก’ สำหรับชู้รักลับๆ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่าจะช่วยสนับสนุนให้แบ็กซ์เตอร์ได้เลื่อนตำแหน่ง

ในระยะแรกเริ่ม วิธีก้าวหน้าทางลัดเช่นนี้ เป็นไปด้วยความจำยอม ไม่เต็มใจของชายหนุ่ม (นอกจากคำหว่านล้อมว่าจะผลักดันให้ได้เลื่อนตำแหน่งแล้ว ยังมีคำขู่ว่าจะไล่ออก หากไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้านายแนบพ่วงมาด้วย) แต่นานวันเข้า แบ็กซ์เตอร์ก็เริ่มคุ้นชินกับสิ่งที่เกิดขึ้น ยอมรับโดยไม่อิดออดเกี่ยงงอน และกลายเป็นเหตุการณ์ปกติ ทั้งยังเต็มไปด้วยความหวังเคลิบเคลิ้มกับความก้าวหน้าเติบโตที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ยินดีแลกกับความไม่สะดวกสบายต่างๆ นานา ยอมขายตัวขายวิญญาณให้แก่ความเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวง จนกระทั่งวันหนึ่ง แบ็กซ์เตอร์ก็ต้องจ่ายและชดใช้ด้วยมูลค่าราคาแพงมหาศาล

รายต่อมาเป็นพนักงานสาวประจำลิฟต์ชื่อ ฟราน คิวเบลิค เธอมีความสัมพันธ์และตกหลุมรักผู้บริหารระดับสูงชื่อเชลเดร็ค ซึ่งมีครอบครัวอยู่แล้ว เขากล่อมเธอให้หลงเชื่อว่ามีปัญหากับภรรยาและกำลังตัดสินใจว่าจะหย่าร้าง เพื่ออยู่ด้วยกันอย่างเปิดเผยออกหน้าออกตา ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อีกต่อไป

ฟรานรักเชลเดร็คจนมองข้ามละเลยความไม่ชอบมาพากลมากมายที่เห็นอยู่ทนโท่ตำตา เชื่อในคำหวานทุกอย่างที่อีกฝ่ายหยิบยกมากล่าวอ้าง รวมทั้งฝันถึงความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตนอยู่ลึกๆ

จนวันหนึ่งในงานปาร์ตี้ของบริษัทคืนคริสต์มาสอีฟ เลขาหน้าห้องของเชลเดร็คก็เปิดโปงเนื้อแท้ของเชลเดร็คให้เธอล่วงรู้ว่า ฟรานไม่ใช่คนแรกที่พบเจอเหตุการณ์ทำนองนี้ เธอเป็นเพียงคนล่าสุด ในบรรดาทิวแถวเหยียดยาวของหญิงสาวที่มีความสัมพันธ์กับเชลเดร็ค ถูกหลอกด้วยคำหวาน ความฝันลมๆ แล้งๆ เกี่ยวกับการหย่าภรรยา จนเมื่อเชลเดร็คเบื่อหน่าย ก็เขี่ยทิ้ง แล้วเสาะหาเหยื่อรายใหม่

ชีวิตของตัวเอกทั้งสองโคจรมาข้องเกี่ยวกัน เมื่อแบ็กซ์เตอร์ตกหลุมรักฟราน (จากการพบเจอและพูดคุยกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในลิฟต์) ขณะที่หญิงสาวรักคนที่ไม่ควรรัก

มีความลับหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องเปิดเผยนะครับ แบ็กซ์เตอร์กับฟรานมีอันต้องผูกโยงเข้าด้วยกันผ่านสถานที่ คือห้องพักที่เป็นรังรักลับๆ นั่นเอง

ความฉลาดเป็นกรดของบทหนัง นอกจากอยู่ที่การใช้เวลาราวๆ หนึ่งในสามของเรื่อง ปูพื้น แนะนำตัวละคร แจกแจงเงื่อนไขสำคัญๆ ของเรื่องอย่างสนุกสนานครื้นเครง ช่างเสียดสีเหน็บแนมได้คมคายร้ายกาจ และชวนติดตามมากๆ แล้ว องก์ที่สองของหนังก็พลิกอารมณ์ นำไปสู่ความขัดแย้งสารพัดสารเพของตัวละคร และเปลี่ยนอารมณ์จากหนังตลกที่แฝงด้วยแง่มุมเศร้าหม่นรสขมอยู่ลึกๆ กลายเป็นหนังเศร้าขมปี๋ที่เจือด้วยอารมณ์ขันอยู่เป็นระยะๆ

องก์ที่สองของหนังยังผูกเงื่อนวางปมหลายอย่าง เช่น การแอบรักฝ่ายเดียวของแบ็กซ์เตอร์ที่มีต่อฟราน จะเปลี่ยนไปเป็นรักกันและกันได้อย่างไร? (ความสงสัยใคร่รู้นี้มีอยู่แน่ๆ เนื่องจากผู้ชมทราบแต่ต้นว่านี่คือพระเอกนางเอก), ปัญหาถูกหลอกอย่างโหดร้ายเลือดเย็นของฟรานจะลงเอยอีท่าไหน? การโดนเอารัดเอาเปรียบของแบ็กซ์เตอร์จะพบกับปลายทางเช่นไร?

หนังผูกปมจนเกิดปัญหามากมายก่ายกอง ทั้งต่อตัวละคร และสถานการณ์ตามท้องเรื่อง จนยากจะสะสางคลี่คลายให้หมดจดครบถ้วน

ถ้าพูดกันแบบคนที่ชอบดูหนังไปด้วย เดาเรื่องราวล่วงหน้าไปด้วย ผมคิดว่าองก์ที่สองของ The Apartment สร้างปมยุ่งเหยิงเอาไว้เยอะแยะ จนผมต้องดูองก์สุดท้ายด้วยความระทึกเร้าใจ ว่าจะสะสางคลี่คลายทั้งหมดได้อย่างไร

บิลลี ไวล์เดอร์แก้โจทย์ต่างๆ นานาได้หมด ด้วยวิธีง่ายๆ แต่ฉลาดล้นเหลือจนนึกไม่ถึง มิหนำซ้ำแต่ละเปลาะที่คลี่คลาย ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์อันหลากหลาย ทั้งตลกขบขัน น่ารัก รื่นรมย์ เจ็บปวด สะเทือนใจ และซาบซึ้งโรแมนติก (หากตกหล่นอารมณ์ความรู้สึกใดไป ก็ต้องขออภัยไว้ด้วยครับ)

เป็นฝีมือการเขียนบทที่ดีงาม ชนิดดูแล้วก็ต้องยกมือไหว้คารวะด้วยความเลื่อมใสนับถือจนหมดใจ

The Apartment เป็นหนังอีกเรื่องที่ใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์แบบ หมายถึงครบรสความบันเทิง ความยอดเยี่ยมในเชิงศิลปะ และประเด็นเนื้อหาสาระที่นำเสนอ

อย่างหลังนี้เล่าไว้ชัด และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนังเรื่องนี้ได้รับการยกย่องมากๆ มาจนถึงปัจจุบัน ความน่าทึ่งก็คือในด้านหนึ่ง หนังสื่อสารบอกกล่าวกับคนดูอย่างตรงไปตรงมา ผ่านพล็อตเรื่อง บทสนทนา ความเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้ของตัวละคร

ง่ายและชัดจนไม่ต้องคิดหรือตีความให้เสียเวลา แต่มือเขียนบทชั้นเทพระดับบิลลี ไวล์เดอร์ ก็แสดงความแยบยลอีกทางหนึ่งไว้ด้วยเช่นกัน ด้วยการทำให้รายละเอียดมากมายและสิ่งละอันพันละน้อยในหนัง กลายเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้ชมนำไปครุ่นคิดตีความเพื่อลงลึกกับหนัง เช่น กุญแจ กระจกพกพาของนางเอก ลิฟต์ จำนวนชั้นต่างๆ ในออฟฟิศ

รวมไปถึงการเล่นไพ่ ซึ่งผูกโยงไปถึงประโยคพูดปิดท้ายในหนังอันลือลั่น ว่า “Shut up and deal”

เป็นอีกครั้งนะครับ ที่ผมจำเป็นต้องใช้คำว่า ‘ฉลาด’ สำหรับฉากจบของ The Apartment ซึ่งเป็นหนังในดวงใจของผม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save