fbpx

พ่อใจร้าย Fences

หนังปี 2016 เรื่อง Fences เพิ่งมาเข้าใน HBO GO เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมจึงรีบดูทันทีด้วยความตื่นเต้นยินดีเป็นที่สุด ดูจบแล้วก็อยากเชิญชวนแนะนำบอกต่อ

ความน่าสนใจแรกสุดคือตัวหนังดัดแปลงมาจากบทละครเวทีของออกัสต์ วิลสัน

ออกัสต์ วิลสัน (27 เมษายน 1945-2 ตุลาคม 2005) เป็นนักเขียนบทละครชาวอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยปัจจุบัน ผลงานของเขาเล่าขานถึงประสบการณ์ชีวิตของชาวแอฟริกัน-อเมริกันอย่างลงลึกถี่ถ้วน รวมทั้งสะท้อนความเป็นมนุษย์ผ่านพฤติกรรมและวิถีชีวิตของตัวละครได้อย่างสุดวิเศษ

วิลสันโด่งดังเป็นที่รู้จักมากสุด จากผลงานยิ่งใหญ่มหึมาชุด The Pittsburgh Cycle (หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า The Century Cycle) เป็นบทละครจำนวน 10 เรื่อง ใช้เมืองพิตต์สเบิร์กเป็นฉากหลัง แต่ละเรื่องสะท้อนถึงช่วงเวลาต่างทศวรรษ ตั้งแต่ทศวรรษ 1900-1990

ทั้ง 10 เรื่อง (เรียงลำดับตามปีที่เขียน ตัวเลขในวงเล็บหลังชื่อเรื่องเป็นยุคสมัยตามท้องเรื่อง) ประกอบไปด้วย Jitny (1970), Ma Reiney’s Black Bottom (1920) เรื่องนี้ได้รับการดัดแปลงเป็นหนัง มีให้ดูใน Netflix, Fences (1950), Joe Turner’s Come and Gone (1910), The Piano Lesson (1930), Two Trains Running (1960), Seven Guitars (1940), King Hedley ll (1980), Gem of the Ocean (1900), และ Radio Golf (1990)

แต่ละเรื่องมีพล็อต แก่นเรื่อง และตัวละครไม่ต่อเนื่องเชื่อมโยง แยกขาดเป็นเอกเทศ ทว่าเมื่อประกอบรวมกัน งานชุดนี้กลับเป็นเสมือนมหากาพย์บอกเล่าประวัติศาสตร์คนอเมริกันผิวดำในเมืองพิตต์สเบิร์ก ตลอดระยะหนึ่งศตวรรษ แทบจะกล่าวได้ว่า ครอบคลุมเนื้อหาทุกแง่ทุกมุม

ในบรรดาบทละครทั้ง 10 ของงานชุด The Pittsburg Cycle สองเรื่องที่ประสบความสำเร็จสูงสุด เป็นที่ยกย่องกล่าวขวัญถึงมากเป็นพิเศษ คือเรื่อง Fences และ The Piano Lesson (ทั้งสองเรื่องล้วนได้รับรางวัลพูลิตเซอร์สำหรับบทละคร)

Fences ฉบับภาพยนตร์ กำกับโดยเดนเซล วอชิงตัน ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 4 สาขา คือ หนังเยี่ยม, นักแสดงนำชาย (เดนเซล วอชิงตัน), นักแสดงนำหญิง และบทภาพยนตร์ดัดแปลง ซึ่งน่าสนใจตรงที่เครดิตคนเขียนบทยังคงเป็นออกัสต์ วิลสัน ผมตรวจสอบเทียบเคียงจากบทละครที่เผอิญไปเจอในห้องสมุด พบว่าหนังทำตามบทละครเป๊ะๆ ทั้งการเดินเรื่อง และบทสนทนาตรงกันหมดทุกประโยค จะมีที่ผิดแผกแตกต่างเพียงอย่างเดียว คือเปลี่ยนจากฉากบนเวทีมาเป็นการถ่ายทำในสถานที่จริง

ในบรรดารางวัลออสการ์ทั้งหมดที่หนังเรื่อง Fences ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง หนึ่งเดียวที่เป็นผู้ชนะ คือ วิโอลา เดวิส ในสาขานักแสดงนำหญิง

ช่วง 10 นาทีแรกที่ดูหนังเรื่อง Fences ผมตั้งสติเตรียมตัวเตรียมใจรับมือไม่ทันนะครับ นับตั้งแต่เปิดฉากเล่าเรื่อง เต็มไปด้วยฉากตัวละครคุยกันยาวเหยียดตลอดเวลา จนผมนึกเทียบเคียงเล่นๆ ว่าแค่หนึ่งนาทีในหนังเรื่องนี้ ตัวละครพูดเยอะกว่าหนังของไฉ้หมิงเลี่ยง 5 เรื่องรวมกันเสียอีก

เท่านั้นยังไม่พอ เป็นการพูดคุยชนิดน้ำไหลไฟดับ พูดเร็วและรัวแบบไม่ยอมหยุดพักหายใจ มิหนำซ้ำยังเป็นการสนทนาแบบไม่มีอารัมภบทเกริ่นนำใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำให้รู้จักกับพื้นเพความเป็นมาของตัวละคร หรือหัวข้อเรื่องราวที่หยิบยกมาถกกัน ดูเผินๆ คล้ายกับว่า เป็นการพูดคุยเรื่อยเปื่อย ไม่ยอมเข้าสู่เนื้อเรื่องเสียที

นาทีแรกๆ ขณะดู ผมยังหวังอยู่ลึกๆ ว่าเมื่อผ่านพ้นฉากคุยกันหูดับตับไหม้ไปแล้ว จังหวะและการเล่าเรื่องของหนัง คงจะเปลี่ยนสู่การผ่อนหนักผ่อนเบา หรือมีเว้นวรรคให้ผู้ชมได้พักหายใจหายคอกันบ้าง

ข่าวร้าย การคาดหวังของผมไม่เฉียดกรายเข้าใกล้ความเป็นจริงเลยสักนิด สิ่งที่ปรากฏคือหนังยังคงดำเนินเรื่องด้วยการพูดคุยตลอดทั้งเรื่อง

ดูไปได้ครึ่งชั่วโมงผมก็หยุด และยอมแพ้ เพราะจับต้องอะไรไม่ติด

ข่าวดี หลังจากหยุดพัก ฟิตซ้อมร่างกายจนพร้อม และกลับมาเริ่มต้นดูใหม่อีกครั้งด้วยความตระหนักรู้แล้วว่าจะพบเจอกับสิ่งใดในหนัง ผลกลับกลายเป็นตรงกันข้าม

ผมเพลิดเพลินไปกับทุกถ้อยสนทนาอันเข้มข้น ชวนติดตาม และประทับใจไปกับความยอดเยี่ยมในการเล่าเรื่องอันทรงพลัง เต็มไปด้วยชั้นเชิงลีลาทางศิลปะและจับอกจับใจต่อเนื้อหาเรื่องราวต่างๆ ที่หนังบอกเล่า

ชอบมากถึงขนาดดูจบรอบแรกไปไม่นาน ก็ต้องหวนกลับมาดูซ้ำ ตรงนี้หนังและบทละครของออกัสต์ วิลสัน ก็สำแดงคุณสมบัติอย่างหนึ่งของวรรณกรรมชั้นเยี่ยมให้เป็นที่ประจักษ์ นั่นคือยิ่งดูก็ยิ่งพบเห็นแง่มุมใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ขณะเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ ผมดูไปแล้ว 2 รอบ และในอนาคตอันใกล้ ผมคงจะดูซ้ำอีก (ถ้ามีเวลาและโอกาสเอื้ออำนวย)

Fences เป็นหนังในแบบที่ผมชอบมากและสามารถดูซ้ำได้ไม่รู้เบื่อนะครับ

ความน่าอัศจรรย์พันลึกของงานชิ้นนี้มาฉายชัดอีกครั้ง ระหว่างที่ผมพยายามครุ่นคิดว่าจะเล่าเรื่องย่ออย่างไร

ว่ากันตามตัวบทละคร Fences เล่าถึงความเป็นไปในครอบครัวแม็กซ์สัน ประกอบไปด้วยทรอย ผู้เป็นพ่อและสามี, โรส ผู้เป็นภรรยาและแม่, ไลออนส์ ลูกชายของทรอยที่เกิดจากภรรยาเก่า, คอรี ลูกชายของทรอยกับโรส, เรย์เนล ลูกสาวของทรอยกับหญิงอื่นที่เขาไปมีความสัมพันธ์ด้วย, เกเบรียล น้องชายของทรอย และโบโน เพื่อนสนิทของทรอยที่คบหากันมายาวนาน

ตลอดทั้งเรื่อง มีตัวละครหลักๆ แค่ 7 คน และเกือบจะมีแค่ฉากเดียว คือบ้านของครอบครัวแม็กซ์สัน

นอกจากตัวละครและฉากจะมีจำกัดแล้ว เหตุการณ์ส่วนใหญ่ (อันนี้ผมหมายถึงเหตุการณ์และเรื่องราวที่ปรากฏให้ผู้ชมได้เห็นนะครับ ไม่ใช่เรื่องราวที่หนังบอกเล่าผ่านบทสนทนา ซึ่งมีอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะกว่านั้น) ยังเป็นสถานการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ทรอยกับโบโนเลิกจากงานในเย็นวันศุกร์ และกลับบ้านมาดื่มเหล้าสนทนากัน, การพูดคุยกันในยามเช้า ฯลฯ

พูดง่ายๆ คือเป็นเหตุการณ์เล็กๆ เรียบง่าย สุดแสนจะธรรมดาสามัญ

หนังใช้เหตุการณ์ดาดๆ พื้นๆ เหล่านี้ นำพาตัวละครมาสนทนากัน และจากบทสนทนาที่เริ่มต้นด้วยหัวข้อเบ็ดเตล็ดปลีกย่อย ก็ค่อยๆ ขยายความไปสู่เรื่องใหญ่ๆ อันหลายหลาก ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างทรอยกับลูกชาย, การเป็นพ่อและหัวหน้าครอบครัวของทรอยที่เข้มงวดและร้ายกาจกับลูกๆ, ชีวิตในอดีตที่ผ่านมาของทรอย, ชีวิตแต่งงานของทรอยกับโรสที่ครองคู่มานานสิบกว่าปี แต่ลึกลงไปจากภาพภายนอกที่ราบรื่น เบื้องลึกกลับซ่อนปัญหาที่ค่อยๆ ก่อตัวจนกลายเป็นเรื่องใหญ่หนักหนาสาหัส ฯลฯ

พูดแบบเปรียบเปรยได้ว่าวิธีการเล่าเรื่องของออกัสต์ วิลสันนั้น เผยแสดงเหตุการณ์ที่ปรากฏต่อหน้าผู้ชมเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง โผล่พ้นผิวน้ำเพียงแค่ส่วนเสี้ยวเล็กๆ แต่ลึกลงไปเบื้องล่างมีพื้นที่มากมายมหาศาลซ่อนอยู่

ที่น่าทึ่งก็คือบทสนทนาต่างๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ ผูกโยงเรื่องราวสารพัดสารพันเข้าไว้ด้วยกันอย่างมหัศจรรย์พันลึก มีความเป็นระบบระเบียบด้วยลีลาทางศิลปะ ขณะเดียวกันก็มีชั้นเชิงความแนบเนียนในการนำเสนอ และทำให้ทุกบททุกตอน ทุกประโยคคำพูดมีความสำคัญ ผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดีเยี่ยม ไม่มีตรงไหนที่ใดเป็นส่วนเกินและบอกเล่าอย่างไร้ความหมายเลยสักนิด

รูปแบบวิธีการเล่าที่ปรากฏในหนังและบทละคร ทำให้ผมจำต้องยอมรับสภาพนะครับว่าไม่สามารถเล่าตามให้ใกล้เคียงกับที่เป็นอยู่ จำต้องเล่าใหม่ในแบบวิธีที่ง่ายกว่า

วิธีที่ง่ายกว่า เล่าได้ว่า Fences เป็นเรื่องเล่าที่ดำเนินไปโดยมีตัวละครจุดศูนย์กลางคือ ทรอย ชายผิวสีวัยห้าสิบต้นๆ มีอาชีพเป็นพนักงานเก็บขยะ (ซึ่งพยายามเรียกร้องความเท่าเทียมให้คนผิวสีได้ตำแหน่งคนขับรถเก็บขยะ ซึ่งเป็นตำแหน่งผูกขาดเฉพาะคนผิวขาว) ทรอยเติบโตมาท่ามกลางการเลี้ยงดูอันทารุณของพ่อใจร้าย (จนไม่มีผู้หญิงคนไหนทนได้ และแม่ก็หนีไปเมื่อทรอยอายุได้ 7 ขวบ) จนเมื่ออายุ 14 ทรอยก็แตกหักกับพ่อ ออกจากบ้านไปเผชิญโลกตามลำพัง ผ่านความยากลำบากต่างๆ นานา ทั้งการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อยังชีพ การกีดกันและเหยียดสีผิว ลงท้ายก็ลักขโมย ทะเลาะวิวาท ติดคุกติดตะรางถึง 15 ปี และกลับเนื้อกลับตัวประกอบอาชีพสุจริต สร้างครอบครัว ผ่านความฝันเป็นนักเบสบอลที่เก่งกาจ แต่ไปได้ไกลสุดแค่การเล่นในลีกสำหรับคนผิวสี และมาลงเอยดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทรอยกลายมาเป็นคนแบบเดียวกับพ่อของเขาทุกประการ เป็นพ่อผู้โหดร้ายที่เขาพยายามหลบหนีมาตลอดชีวิต และลักษณะนิสัยดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อทุกคนในครอบครัว ทั้งกับลูกชาย ซึ่งทรอยตั้งความหวังว่าจะเติบโตขึ้นโดยไม่เดินซ้ำรอยความผิดพลาดเหมือนเช่นที่เขาเคยพบเจอ (แต่ขณะเดียวกัน ก็มีอีกด้านที่ขัดแย้ง เมื่อทรอยปลูกฝังอยากให้ลูกแข็งแกร่งพอที่จะสู้โลกภายนอกเช่นเดียวกับเขา) จนเป็นเหตุให้ปฏิเสธความฝันของคอรี ผู้เป็นลูกชายในการเล่นอเมริกันฟุตบอลให้กับทีมมหาวิทยาลัย ด้วยเชื่อว่านั่นไม่ใช่ที่ทางสำหรับคนผิวสี ซึ่งถูกตั้งแง่กีดกัน กระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกบานปลายร้าวฉาน

กับโรสผู้เป็นภรรยาก็เช่นกัน ทรอยเชื่อในแบบเดียวกับที่พ่อของเขาเคยเชื่อและกระทำ นั่นคือผู้ชายที่เป็นสามี เป็นพ่อ และเป็นหัวหน้าครอบครัว ไม่จำเป็นต้องอ่อนโยน ใส่ใจความรู้สึกลูกเมีย กระทั่งว่าจะทำตัวร้ายกาจเช่นไรก็ได้ ตราบใดที่ยังคงมีความรับผิดชอบโดยไม่ขาดตกบกพร่อง

ทรอยจึงเป็นหัวหน้าครอบครัวที่มุ่งมั่น ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกเมียมีกินไม่อดอยาก มีบ้านพำนักไม่ต้องเร่ร่อนไร้หลักแหล่ง

ด้วยความคิดความเชื่อดังกล่าว บวกรวมกับโอกาสทางเลือกอันมีจำกัดสำหรับคนที่มีพื้นเพความเป็นมาอย่างทรอย (ไม่นับรวมว่าดำรงอยู่ในสังคมเหยียดผิว) ภาระของทรอยในการเป็นผู้นำครอบครัว จึงหนักหน่วง ตึงเครียด ส่งผลโยงใยต่อมา สู่การตัดสินใจมีหญิงอื่น เพื่อจะได้ปลดวางภาระหนักอึ้งในการรับผิดชอบต่อครอบครัวลงชั่วขณะ จนกลายเป็นความร้าวฉาน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับโรสถึงจุดแตกหัก

กล่าวโดยรวม Fences เป็นเรื่องของชายคนหนึ่ง ผู้พยายามต่อสู้ดิ้นรนทุกวิถีทาง เพื่อทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวอย่างดีที่สุดเท่าที่เขาจะสามารถทำได้ แต่ประสบการณ์อันเลวร้ายและการหล่อหลอมต่างๆ สารพัดสารพันในชีวิต ก็ส่งผลให้เขาตัดสินใจผิดในการทำสิ่งที่คิดว่าถูกอยู่หลายครั้งหลายครา และเผชิญกับความโดดเดี่ยวในช่วงชีวิตบั้นปลาย เมื่อไม่หลงเหลือใครอีกเลย

พ้นจากแง่มุมข้างต้นแล้ว ช่วงท้ายๆ ของเรื่อง ยังเล่าอีกแง่มุมหนึ่ง นั่นคือการคลี่คลายความรู้สึกของโรสกับคอรี

คนแรกในฐานะภรรยาผู้ทุกข์ตรมเจ็บปวดจากการกระทำของสามี การสูญเสียความฝันความปรารถนาส่วนตัว เพื่อทำหน้าที่ช้างเท้าหลังให้กับครอบครัว

คนหลังเต็มไปด้วยเงื่อนปมในใจที่ต้องเติบโตมาด้วยความหวาดกลัว มีเงาของพ่อครอบงำอยู่ตลอดเวลา

พูดแบบอ้อมๆ  ทั้งโรสกับคอรีมีโอกาสได้ทบทวนชีวิตหนหลังที่ผ่านมา และมองลึกผ่านความร้ายกาจดุดันในตัวทรอย จนกระทั่งพบเจออีกสิ่งหนึ่ง นั่นคือความปรารถนาดี

Fences สื่อสารกับผู้ชมอย่างตรงไปตรงมาผ่านบทพูดมากมาย แต่งานชิ้นนี้ก็ไม่ได้มีลักษณะทื่อและตรง หรือเทศนาสั่งสอนแต่อย่างไร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทสนทนาหรือใจความสำคัญที่ต้องการสื่อสารกับผู้ชม แฝงซ่อนอยู่ท่ามกลางคำพูดคำจาหัวข้อต่างๆ อย่างแนบเนียน และไม่ได้เน้นตรงไหนตอนใดออกมาอย่างเด่นชัด ผู้ชมต้องจับสังเกตเอาเอง อีกทั้งบางช่วงที่เป็นแก่นสารสำคัญ ก็เป็นเนื้อความที่ต้องนำไปคิดต่อ ค้นหาความหมายตามความเข้าใจโลกเข้าใจชีวิตของแต่ละท่านตามอัธยาศัย

ท่ามกลางการสื่อสารแง่คิดผ่านบทสนทนา งานชิ้นนี้ยังมีการใช้สัญลักษณ์อย่างโดดเด่น ที่ชัดเจนสุดคือ ‘รั้ว’ ซึ่งเป็นทั้งชื่อเรื่องและเหตุการณ์ในเรื่อง

ตัวละครโบโนพูดถึงรั้วไว้ว่ามันทำหน้าที่กั้นขวางไม่ให้คนนอกล่วงล้ำเข้ามา และกันไม่ให้คนที่อยู่หลังรั้วผ่านออกไป

ตามเนื้อเรื่อง ทรอยสร้างรั้วตามคำร้องขอของโรส ในแง่นี้ผมเข้าใจว่า รั้วหมายถึงการคุ้มกัน การสร้างความปลอดภัยให้กับครอบครัว

พ้นจากนี้แล้ว ยังสามารถมองได้ว่ารั้วเป็นสิ่งขวางกั้นระหว่างข้างนอกกับข้างใน ซึ่งอาจเป็นได้ตั้งแต่สังคมวงกว้างกับครอบครัว กำแพงหรืออุปสรรคในชีวิต ในความรู้สึกแบบรำไรๆ ไม่แจ่มชัดนัก ผมเชื่อว่ามันสามารถอ่านความหมายได้อีกเยอะ แต่ตอนนี้ยังคิดได้ไม่กระจ่างชัดนัก จึงเล่าสู่กันฟังลวกๆ แต่เพียงเท่านี้นะครับ

อีกสัญลักษณ์ที่โดดเด่นพอๆ กันคือความตาย ยมทูต หรือที่ในหนังเรียกว่า Mr. Death ซึ่งเน้นกันอย่างละเอียดในหลาย ๆ ตอน รวมทั้งยังเกี่ยวโยงกับตัวละครชื่อเกเบรียล น้องชายของทรอย ซึ่งไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกยิงที่ศีรษะ จนกลายเป็นคนสติเพี้ยนไม่สมประกอบ

เกเบรียลพูดคุยอยู่เนืองๆ ถึงเรื่องได้พบกับนักบุญปีเตอร์ บัญชีรายชื่อคนที่ได้ขึ้นสวรรค์ในวันพิพากษา ดูเผินๆ ก็เป็นคำพูดฟุ้งซ่านเหลวไหล แต่ผู้ชมคงรู้สึกได้ไม่ยาก ผ่านการตอกย้ำและเชื่อมโยงกับเรื่อง Mr. Death จนน่าจะจับสังเกตได้ว่ามีความสำคัญและไม่ได้ใส่เข้ามาลอยๆ

ส่วนจะมีความหมายว่าอย่างไร สารภาพตามตรงว่า ‘หนูไม่รู้’ นะครับ

ที่เล่าสู่กันฟังมาทั้งหมด อาจทำให้ผู้อ่านที่ยังไม่ได้ดูหนังเข้าใจไขว้เขวไปว่า Fences เป็นหนังดูยาก ตึงเครียด ไร้รสบันเทิง

อันที่จริงเป็นหนังที่ดูง่ายนะครับ (แต่ต้องตั้งใจดู ตั้งใจฟังว่าตัวละครคุยอะไรกัน) เรื่องความบันเทิงนั้นพูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นหนังดูสนุก แต่สำหรับผมแล้ว เข้มข้นชวนติดตามมาก มีฉากดรามายอดเยี่ยมอยู่มากมาย

นอกจากตัวเนื้อเรื่องและวิธีการเล่าจะล้ำเลิศมากๆ แล้ว การแสดงขั้นอภิมหาเทพของเดนเซล วอชิงตัน กับวิโอลา เดวิส ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งตรึงตาตรึงใจไม่รู้ลืม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save