fbpx

…แล้วเธอก็ลุกขึ้นสู้ She Said

She Said เป็นหนังปี 2022 เข้ามาฉายโรงในบ้านเราเงียบๆ เมื่อปีกลาย และโดนถอดออกจากโปรแกรมไปอย่างรวดเร็ว

ตอนนั้นผมได้ดูเพียงแค่หนังตัวอย่าง รู้สึกทันทีว่าน่าดูมาก ทั้งประเด็นเนื้อหาที่นำเสนอและชื่อชั้นของนักแสดง แต่ก็ชะล่าใจจนล่าช้าไม่ทันการณ์

ยิ่งต่อมาเมื่อเข้าสู่ฤดูประกาศผลรางวัล ความรู้สึกเสียดายยิ่งเพิ่มทวี เพราะ She Said ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 หนังยอดเยี่ยมแห่งปีโดย AFI (American Film Institute) และนักวิจารณ์ออนไลน์นิวยอร์ก, ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล BAFTA 2 สาขา คือบทดัดแปลงและดารานำหญิง, เข้าชิงลูกโลกทองคำสาขาดารานำหญิงหนังประเภทดรามา และเข้าชิงรางวัลบทดัดแปลงของ WGA (Writers Guild of America)

ส่วนรางวัลใหญ่อย่างออสการ์ หนังเรื่องนี้ถูกมองข้าม หลุดจากวงโคจรโดยสิ้นเชิง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในขณะที่เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์อยู่ในเกณฑ์ดี She Said ก็เป็นหนังล้มเหลวไม่เป็นท่าในบ็อกซ์ออฟฟิศ ไม่มีเรี่ยวแรงจะสร้างกระแสความสนใจในวงกว้างอันเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลอย่างยิ่งต่อการลุ้นรางวัลนี้

จนเมื่อเร็วๆ นี้ She Said ก็มีให้ดูใน HBO Go ผมดูแล้วก็ชื่นชอบประทับใจ ดีสมราคาตามที่รับรู้มา แต่ที่ดียิ่งไปกว่านั้นคือ นี่เป็นหนังอีกเรื่องที่เข้าข่ายทุกคนสมควรหาโอกาสดูสักครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ทำงานเป็นสื่อมวลชน หนังเรื่องนี้คือตำรานอกชั้นเรียนที่ดีเยี่ยม เช่นเดียวกับหนังอย่าง Spotlight และ All the President’s Men

She Said กำกับโดยมาเรีย ชเรเดอร์ คนทำหนังชาวเยอรมัน ผู้เริ่มต้นด้วยการเป็นนักแสดง และหันมาเอาดีด้านงานเบื้องหลังในเวลาต่อมา และประสบความสำเร็จเต็มๆ จากมินิซีรีส์ 4 ตอนจบ เรื่อง Unorthodox (สามารถดูได้ใน Netflix) She Said เป็นหนังเรื่องแรกของเธอที่ทำในฮอลลีวูดและพูดภาษาอังกฤษ 

บทหนังเขียนโดยรีเบคกา เลนคีวิทซ์ (ผลงานโดดเด่นก่อนหน้าคือเรื่อง Ida หนังโปแลนด์ที่ชนะรางวัลออสการ์ สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม) ดัดแปลงจากบทความใน New York Times ของโจดี แคนเทอร์ และเมแกน ทูอี สองนักข่าวสาวซึ่งได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากงานชิ้นนี้ และหนังสือปี 2019 ชื่อ ‘She Said: Breaking the Sexual Harassment Story That Helped Ignite a Movement’ ซึ่งเล่าถึงเบื้องหลังการเขียนบทความดังกล่าวอย่างละเอียด

ก่อนจะลงสู่รายละเอียดเกี่ยวกับ She Said ขออนุญาตกระโดดข้ามกล่าวถึงเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นสืบเนื่องต่อจากฉากจบในหนัง

วันที่ 5 ตุลาคม 2017 New York Times ได้เผยแพร่บทความชิ้นหนึ่ง เขียนร่วมกันโดยโจดี แคนเทอร์และเมแกน ทูอี เปิดเผยความจริงอันชวนตกตะลึง (ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นเพียงแค่ข่าวลือมานานพอสมควร) เกี่ยวกับพฤติกรรมอันสกปรกโสมมของฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ผู้บริหารระดับสูงของ Miramax และThe Weinstein Company บริษัทสร้างภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากมาย ทั้งในด้านรายได้และรางวัล

ฮาร์วีย์ ไวน์สตีนล่วงละเมิดทางเพศหลายครั้งต่อดาราสาวหลายคนที่ร่วมงานกัน รวมถึงพนักงานในบริษัทอีกนับไม่ถ้วน โดยใช้อำนาจอิทธิพลที่มีอยู่อย่างล้นเหลือ ทั้งบีบบังคับและข่มขู่ จนเหยื่อจำนวนมากถึงขั้นหมดอนาคตในวงการหนัง และที่เลวร้ายกว่านั้นคือผู้เคราะห์ร้ายทุกรายต้องใช้ชีวิตถัดจากนั้นโดยมีบาดแผลทางใจที่ไม่อาจลบเลือน

รายงานข่าวชิ้นนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมสั่นสะเทือนติดตามมามากมาย มีผู้ตกเป็นเหยื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศจำนวนมากออกมาประกาศตัวเปิดเผยความจริง จนกระทั่งเกิดกระแส #MeToo อันลือลั่น และนำไปสู่มหากาพย์การฟ้องร้องดำเนินคดีกับฮาร์วีย์ ไวน์สตีนในเวลาต่อมา

เหนือสิ่งอื่นใดคือกระแสสังคมที่แผ่คลุมไปทั่วโลก เกิดความตื่นตัวต่อประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศ

ทั้งหมดเริ่มต้นจากเหตุการณ์ที่บอกเล่าไว้ในหนังเรื่อง She Said พูดถึงเส้นทางอันอุดมไปด้วยขวากหนามและอุปสรรค ก่อนกลายมาเป็นบทความเขย่าโลกที่เปรียบเสมือนไม้ขีดไฟก้านแรกถูกจุดขึ้น ลามสู่กองเพลิงแผดเผาอสูรร้ายที่ทรงอำนาจและอิทธิพลอย่างฮาร์วีย์ ไวน์สตีน จนมอดไหม้วอดวาย

She Said เริ่มเรื่องในปี 2016 เมแกน ทูอีเขียนข่าวเจาะชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกำลังลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และอยู่ในช่วงท้ายๆ ของการหาเสียง เธอให้เหตุผลในการทำงานชิ้นนี้ว่าเพื่อเสนอข้อมูลให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงได้มีโอกาสพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้สมัคร และใช้วิจารณญาณว่าควรจะเลือกใคร

อย่างไรก็ตาม ครั้งนั้นโดนัลด์ ทรัมป์เป็นผู้ชนะ ทั้งในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีและการขับเคี่ยวกับสื่อมวลชน นอกจากรายงานข่าวของเมแกนจะไม่ส่งผลดังที่คาดหวังแล้ว เธอยังโดนโจมตีผ่านสื่ออื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บิล โอ’ไรลีย์จาก Fox News ถล่มเมแกนอย่างหนักหน่วง ซ้ำร้ายกว่านั้น ทั้งเธอและแหล่งข่าวยังได้รับการข่มขู่ (เมแกนได้รับโทรศัพท์จากชายลึกลับขู่ว่าจะข่มขืนแล้วฆ่า ขณะที่แหล่งข่าวของเธอได้รับพัสดุทางไปรษณีย์ ภายในบรรจุอุจจาระ)

ผลพวงดังกล่าว บวกกับการตั้งท้องและมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ดูเหมือนจะทำให้เมแกน ทูอีเสียหลักในการใช้ชีวิต

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน New York Times ก็เสนอบทความเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศชิ้นหนึ่ง ส่งผลให้บิล โอ’ไรลีย์ ต้องโดนอัปเปหิออกจาก Fox News และทำให้กองบรรณาธิการมุ่งมั่นเดินหน้าต่อเกี่ยวกับการเสนอข่าวและบทความเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ ด้วยความเชื่อว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง

โจดี แคนเทอร์ บอกเล่าต่อทีมบรรณาธิการถึงเบาะแสประมาณหนึ่งที่ได้รับรู้มา เกี่ยวกับพฤติกรรมบัดสีของฮาร์วีย์ ไวน์สตีน เจ้าพ่อวงการหนัง และขออนุมัติเขียนบทความเจาะลึกเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ข้อเสนอของเธอได้รับการอนุมัติ

ไม่นานหลังจากนั้น เมแกน ทูอีก็กลับจากลาคลอดมาทำงานอีกครั้ง โดยมีตัวเลือกระหว่างทำรายงานข่าวชิ้นใหม่ประเด็นอื่น หรือร่วมทีมช่วยโจดี แคนเทอร์ ทำข่าวล้มยักษ์

เมแกน เลือกงานอย่างหลัง เรื่องราวที่เหลือถัดจากนั้นจนจบ จึงว่าด้วยกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ในการทำข่าวอย่างถี่ถ้วน ตั้งแต่ทุกอย่างยังว่างเปล่า จนกระทั่งค่อยๆ ปรากฏเบาะแสทีละน้อย กลายเป็นข้อมูลก้อนมหึมามหาศาลสำหรับการเขียนบทความในท้ายที่สุด

ความยากและอุปสรรคในการทำข่าวชิ้นนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้ต้องสงสัยคือ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน กระทำผิดจริงหรือไม่? ทุกอย่างกระจ่างชัดตั้งแต่เริ่มต้นลงมือพูดคุยกับแหล่งข่าวคนแรกๆ อย่างโรส แม็คโกแวน ดาราสาวที่ออกมาแฉเรื่องนี้ (โดยไม่ได้ระบุชื่อฮาร์วีย์ ไวน์สตีน) รวมถึงผู้เคราะห์ร้ายอีกหลายรายต่อมา ฮาร์วีย์ ไวน์สตีนกระทำผิดจริงอย่างไร้ข้อกังขา ความจริงเพิ่มเติมที่ปรากฏจากการทำข่าวสืบสวนสอบสวน เป็นความน่าตระหนกตกใจจากระดับความรุนแรง (และวิปริต) ในการล่วงละเมิดทางเพศเสียมากกว่า

ขวากหนามและอุปสรรคสำคัญอยู่ที่ว่า มีเหยื่อจำนวนมากที่ถูกฮาร์วีย์ ไวน์สตีน กระทำย่ำยีและใช้อิทธิพลอำนาจเล่นงานจนหมดอนาคตในวงการบันเทิง แต่หญิงสาวเหล่านี้ไม่พร้อมประกาศตัวยินยอมให้ใช้ชื่อของเธอในรายงานข่าว (เช่น กวินเนธ พัลโทรว์ ซึ่งยอมพบโจดีกับเมแกน และบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่ไม่อยากให้อ้างอิงชื่อเธอ)

อีกกลุ่มหนึ่งคือบรรดาเหยื่อของไวน์สตีน ซึ่งได้บอกเล่าเหตุการณ์หลังจากโดนล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศแก่คนรู้จัก แจ้งความกับตำรวจ หรือเตรียมฟ้องร้อง แต่ขั้นตอนต่างๆ ถูกฮาร์วีย์ ไวน์สตีนและทีมงาน ‘ตัดจบ’ ในเวลาอันรวดเร็ว มีหลายคดีที่ตำรวจลงมือสืบสวน แต่ไม่เคยมีการฟ้องร้องดำเนินคดี มีหลายคดีไปถึงอัยการ แต่จบลงรวดเร็วโดยอัยการไม่ส่งฟ้อง และอีกหลายคดีที่สิ้นสุดยุติตั้งแต่ยังไม่ถึงตำรวจ

ทั้งหมดนี้เกิดจากความหูไวตาไวของฮาร์วีย์ ไวน์สตีนและทีม ทันทีที่ระแคะระคายว่าเหยื่อแต่ละรายอาจมีท่าทีแข็งขืนลุกขึ้นสู้เอาความ ไวน์สตีนจะรีบจัดแจงส่งมือกฎหมายของตนไปเจรจากับทนายฝั่งตรงข้าม เพื่อระงับข้อพิพาทยอมความ พร้อมทั้งจ่ายเงินค่าเสียหายจำนวนหนึ่ง ติดตามด้วยการเซ็นสัญญากับผู้เคราะห์ร้าย ซึ่งเต็มไปด้วยเงื่อนไขหยุมหยิมมากมาย ทั้งข้อห้ามในการพูดคุยกับสื่อมวลชน การยึดข้อมูลหลักฐานต่างๆ กระทั่งว่าไม่มีสิทธิถือครองสัญญาที่เซ็นไว้

กล่าวโดยรวมคือเป็นสัญญาที่ป้องกันแน่นหนาทุกแง่ทุกมุม จนคู่กรณีไม่มีช่องทางเล่นงานเอาผิดย้อนหลัง

อุปสรรคสุดท้าย ยิ่งการสืบสวนสอบสวนดำเนินไปมากเท่าไร จำนวนเหยื่อ และเรื่องราวการข่มเหงรังแกโดยฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ก็ยิ่งเผยออกมาราวกระแสน้ำหลาก แต่หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และแหล่งข่าวที่พร้อมเปิดเผยแสดงตัวในฐานะพยาน ทั้งหมดนี้มีเพียงความว่างเปล่า

เป็นทางตันปราศจากวี่แววและความหวังในการที่คนตัวเล็กๆ จะสามารถเอาชนะยักษ์ใหญ่ ซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยสรรพกำลัง อำนาจ และเส้นสายกับฝ่ายรักษากฎหมาย

She Said เป็นหนังที่โดดเด่นมากๆ ใน 3 ประการ คือความบันเทิงเข้มข้นชวนติดตาม กลวิธีการนำเสนอในเชิงศิลปะ และเนื้อหาสาระที่นำเสนอ

อย่างแรกสุด น่าทึ่งตรงที่หนังดำเนินเรื่องด้วยฉากพูดคุยตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีเหตุการณ์หวือหวาเข้าลักษณะฉากแอ็กชันเลยสักนิด แต่ด้วยฝีมือการเขียนบทและกำกับ ก็ทำให้ฉากพูดคุยมากมายนำไปสู่อารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งความตื่นเต้นลุ้นระทึก เศร้าสะเทือนใจ หวาดหวั่นน่าสะพรึงกลัว ซาบซึ้งประทับใจ และที่โดดเด่นมากๆ คือการดำเนินเรื่องที่กระชับฉับไว เหตุการณ์เคลื่อนไหวคืบหน้าอยู่ตลอดเวลา เต็มไปด้วยตัวละครมากมาย (รวมถึงบุคคลที่ไม่ได้ปรากฏเผยโฉมให้เห็น แต่บทพูดอ้างอิงกล่าวถึงอีกเยอะแยะ) ทว่าทั้งหมดนี้ก็จัดระเบียบบอกเล่าได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ทำให้เรื่องราวชวนสลับซับซ้อน กลายเป็นดูง่าย เข้าใจง่าย สะกดตรึงชวนติดตามตลอดเวลา

จุดเด่นต่อมาคือวิธีการที่หนังเลือกใช้ คือพยายามทำให้ทุกอย่างออกมาดูสมจริง และเป็นเรื่องดีอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องคนสำคัญคือแอชลีย์ จัดด์ ยินยอมมาปรากฏตัวในหนังเรื่องนี้ โดยรับบทเป็นตัวเธอเอง ส่งผลให้หนังเกิดความหนักแน่นน่าเชื่อถือ

พูดง่ายๆ ว่าหากตัดส่วนที่เกี่ยวกับชีวิตครอบครัวของโจดี แคนเทอร์กับเมแกน ทูอี ออกไป การเล่าและดำเนินเรื่องของ She Said โน้มเอียงเข้าใกล้การเป็นหนังสารคดีอยู่มากทีเดียว

ความเก่งของคนทำหนังอยู่ที่ว่า ขณะที่เล่าเรื่องแบบเน้นความสมจริง ตรงไปตรงมา ทั้งการถ่ายภาพ การตัดต่อแบบไม่เร่งเร้า ปล่อยให้รายละเอียดในบทสนทนาสร้างอารมณ์ร่วมต่างๆ แก่ผู้ชมด้วยตัวของมันเอง สิ่งเดียวที่หนังใช้โน้มน้าวอารมณ์ความรู้สึก ก็คือดนตรีประกอบ ซึ่งเด่นชัด ขณะเดียวกันก็แนบเนียนและเต็มไปด้วยชั้นเชิงที่ดี

ข้อดีเพิ่มเติมแทรกเข้ามาอีกอย่างของหนังคือการแสดงแบบเล่นดีเป็นหมู่คณะ โดยเฉพาะโซอี คาซานและแครีย์ มัลลิแกน ในบทโจดี แคนเทอร์และเมแกน ทูอี ตามลำดับ คนแรกแบกภาระในฐานะตัวเดินเรื่องหลัก ขณะที่คนหลังมีบทน้อยกว่า แต่ทดแทนด้วยฉากที่เปิดโอกาสให้แสดงอารมณ์หลากหลายกว่า ทั้งสองจับคู่รับส่งกันได้อย่างยอดเยี่ยม (อีกคนที่บทไม่มากนัก แต่เล่นได้น่าประทับใจคือ เจนนิเฟอร์ เอล ในบท ลอรา แมดเดน ตัวละครที่เป็นจุดพลิกผันสำคัญ)

ความดีงามประการสุดท้าย และเป็นสิ่งที่ทรงพลังมากสุดของหนังเรื่องนี้ก็คือ เนื้อหาสาระ ซึ่งพูดถึงการล่วงละเมิดทางเพศอย่างละเอียดยิบ และไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงพิษภัยความร้ายกาจที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังสะท้อนชัดถึงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของบรรดาผู้ที่ต้องตกเป็นเหยื่อในหลากหลายแง่มุม รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชีวิตถัดจากนั้น

นอกจากแง่มุมข้างต้น She Said ยังนำพาผู้ชมไปไกลกว่านั้น หนังสะท้อนภาพการทำงานในอุดมคติของสื่อมวลชน ตั้งแต่แนวคิดและเจตนารมณ์ในการเสนอข่าว ความมุ่งมั่นในการทำงานอย่างไม่ย่นย่อต่ออุปสรรค ความละเอียดรัดกุมแบบมืออาชีพ ความเคร่งครัดต่อจรรยาบรรณในวิชาชีพ และที่สำคัญคือการสนับสนุนเคียงข้างและปกป้องทีมงานของ บ.ก. เพื่อให้นักข่าวสามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่แหลมคมมากสุดของหนังได้แก่ สิ่งที่สะท้อนปรากฏอยู่ตลอดเวลาระหว่างกระบวนการขั้นตอนทำข่าวเจาะการล่วงละเมิดทางเพศ คือระบบที่เอื้อให้พฤติกรรมชั่วช้าสามานย์ ระยำตำบอน สารเลว (ขอโทษทีครับ ผมอินจัดไปหน่อยจน ‘ของขึ้น’) สามารถเกิดขึ้นโดยง่ายดาย และตัวการผู้ก่อเหตุยังคงลอยนวลพ้นผิด ใช้ชีวิตปกติสุข มีโอกาสกระทำผิดต่อเนื่องอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะเป็นตัวบทกฎหมายที่เต็มไปด้วยช่องว่างมากมาย เอื้อประโยชน์ต่อ ‘ผู้กระทำ’ มากกว่า ‘ผู้ถูกกระทำ’, นโยบายของคณะกรรมการโอกาสการจ้างงานที่เท่าเทียมกัน (EEOC หรือ Equal Employment Opportunity Commission) ซึ่งไม่ยินยอมเปิดเผยข้อมูลสำคัญแก่ประชาชน เพียงเพื่อคุ้มครองบริษัทผู้ประกอบการที่มีประวัติไม่ชอบมาพากล, ทนายความส่วนใหญ่ที่ยินดีและพยายามหว่านล้อมให้ลูกความตกลงยอมความ เพื่อรับเงินค่าเสียหาย เนื่องจากมองไม่เห็นช่องทางเอาชนะในการสู้คดีกับผู้มีอำนาจ และที่น่าเจ็บปวดไปกว่านั้น ทนายส่วนใหญ่ ละเลยมนุษยธรรม คุณธรรม โดยไม่รู้สึกผิดบาป ด้วยเหตุประการสำคัญคือได้รับส่วนแบ่งสูงถึง 40% ของค่าเสียหายในการตกลงยอมความ

นี่ยังไม่นับรวมข้อจุกจิกปลีกย่อยอีกสารพัดสารพัน ซึ่งจะทำให้ผู้ชมดูหนังเรื่องนี้ ด้วยความรู้สึกเดือดพล่านคับแค้นใจ และสะอกสะใจเป็นที่สุดหลังจากดูจบ

โลกและสังคมปัจุบันต้องการหนังแบบนี้เยอะๆ นะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save