fbpx

ชีวิตผิดเลน Broker

Broker เป็นหนังเกาหลี กำกับและเขียนบทโดยฮิโรคาสุ โคเรเอดะ ผู้กำกับชาวญี่ปุ่นซึ่งมีสไตล์การทำหนังเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเด่นชัดในลีลานิ่งๆ เรียบช้า บอกเล่าน้อยได้ใจความเยอะ และที่เก่งกาจมากคือการสร้างอารมณ์ซาบซึ้งสะเทือนใจแบบเร้าอารมณ์เพียงน้อยนิด แต่บาดลึกรุนแรง

เท่าที่ติดตามเป็นแฟนคลับกันมายาวนาน ผมมีข้อสังเกตว่าผลงานของโคเรเอดะนั้น ถึงแม้ทุกเรื่องจะยืนพื้นอยู่บนลีลาเรียบ นิ่งและช้าเหมือนกันหมด แต่เมื่อพิจารณาลงสู่รายละเอียด พบว่างานยุคแรกกับงานระยะหลังๆ มีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร

กล่าวคือ งานยุคแรกของเขาเหมือนผลงานสร้างสรรค์โดยคนหนุ่มไฟแรง เป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ประนีประนอมกับตลาด เต็มไปด้วยความนิ่ง เนิบช้า จนครั้งหนึ่งผมเคยเรียกเล่นๆ (ในความหมายของการยกย่องชื่นชมนะครับ) ว่าเป็น ‘ยานอนหลับ’ ชั้นดี ตัวอย่างของงานกลุ่มนี้ก็เช่น Maborosi (1995), After Life (1998) และ Distance (2001)

อย่างไรก็ตาม งานในยุคที่เป็น ‘ยานอนหลับ’ ของโคเรเอดะก็มีเสน่ห์ดึงดูดสำคัญ ทำให้ผู้ชมที่อดตาหลับขับตานอนทนดูจนจบสามารถชื่นชอบประทับใจได้ไม่ยาก นั่นคือเนื้อหาเรื่องราวที่บอกเล่า ซึ่งพูดถึงประเด็นความสัมพันธ์ภายในครอบครัว การพลัดพรากสูญเสียในชีวิต และแง่งามเจือด้วยความหวัง

ถัดจาก Nobody Knows หนังปี 2004 ซึ่งเป็นงานที่ได้รับคำชื่นชมมากสุดของเขา และเป็นเรื่องเดียวที่ทำร้ายจิตใจขั้นสุด ปราศจากความรู้สึก feel good โดยสิ้นเชิง นับจากนั้นเป็นต้นมา หนังของโคเรเอดะค่อยๆ คลี่คลายไปอีกทิศทางหนึ่ง มีความเป็นมิตรกับผู้ชมและดูง่ายขึ้นตามลำดับ จนถึงงานล่าสุดอย่าง Broker ก็แทบจะข้ามฟากเป็นหนังดรามาปกติทั่วไป กลายเป็นงานที่ดูง่ายเข้าถึงกลุ่มผู้ชมวงกว้างมากสุดของโคเรเอดะ

อาจเป็นเพราะเหตุนี้ คำวิจารณ์และเสียงตอบรับของ Broker แม้จะอยู่ในเกณฑ์ดีน่าพึงพอใจ บทวิจารณ์หลายๆ ชิ้นก็อดเจือความเห็นทำนองว่า ไม่ใช่โคเรเอดะในช่วงท็อปฟอร์ม แนบพ่วงมาด้วย (ผมแปลความแบบเดาสุ่มนะครับว่า มีนัยยะทำนองว่า เป็นหนังตลาดโดยคนที่เคยทำหนังอาร์ต)

วัดจากความรู้สึกส่วนตัวของผม Broker ไม่ใช่งานที่ชวนทึ่งรู้สึกตื่นเต้นอันใด เป็นหนังของโคเรเอดะตามมาตรฐานที่คุ้นเคย แต่ในแง่ความชอบแล้ว Broker ยังคงทำงานกับผมอย่างได้ผล และดูจบลงด้วยอารมณ์เต็มอิ่มประทับใจเช่นเดียวกับงานอื่นๆ ของเขา

ถ้าหากจะมีสิ่งที่หนังเรื่องนี้ สร้างความประหลาดใจให้ผมอยู่บ้าง สิ่งนั้นคือการที่โคเรเอดะแสดงให้เห็นว่า เมื่อต้องทำงานที่โน้มเอียงไปทาง ‘ตลาดจ๋า’ เขาก็ยังทำออกมาได้ดี และยังมีลีลาเฉพาะอันเป็นลายเซ็นอยู่ครบถ้วน

Broker เล่าถึงคุณแม่ยังสาวชื่อโซยอง นำลูกวัยแบเบาะไปทิ้งยัง ‘กล่องทารก’ ที่โบสถ์แห่งหนึ่งในเมืองปูซาน โดยไม่ทราบเหตุผลในเบื้องต้น (แต่หนังจะเฉลยในเวลาต่อมา) ว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น

ที่โบสถ์ดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่พาร์ตไทม์เป็นชายหนุ่มชื่อ ดงซู มาเข้าเวรทุกคืนวันอาทิตย์ และลักลอบนำเด็กที่มีคนเอามาทิ้ง ไปขายต่อให้กับครอบครัวที่มีปัญหาไม่สามารถรับอุปการะเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอย่างถูกกฎหมาย โดยร่วมมือกับหนุ่มใหญ่ชื่อซังฮยอน เจ้าของร้านซักรีด ซึ่งมีปัญหาเรื่องหนี้สิน (น่าจะเกิดจากการเล่นพนัน)

พฤติกรรมข้างต้นกำลังถูกสอดส่องโดยตำรวจหญิง 2 คนคือ ซูจินและลี ทั้งคู่ตามสืบมาระยะหนึ่ง จนทราบแน่ชัดถึงขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการค้ามนุษย์ ต้องการเพียงแค่หลักฐานผูกมัดเอาผิด รอให้เกิดการซื้อขายอีกครั้ง เพื่อจับกุมคนร้ายแบบคาหนังคาเขา

ตัวละครทั้ง 3 ฝ่ายมาผูกโยงข้องเกี่ยวกัน เมื่อในวันต่อมา โซยองกลับมาที่โบสถ์ไม่พบลูกของเธอ ก่อนจะได้ทันแจ้งตำรวจ นายหน้าขายเด็กทั้งสองคนก็แสดงตัว บอกเล่ากับหญิงสาว จนได้ข้อตกลงว่าจะนำเด็กไปขาย และนำเงินที่ได้มาแบ่งกัน

เรื่องราวถัดจากนั้น เป็นหนัง road movie ว่าด้วยการเดินทางของตัวละคร ฝ่ายมิจฉาชีพนำเด็กไปขาย ฝ่ายตำรวจสะกดรอยตามเตรียมจับกุม แต่แล้วกลับเกิดเหตุพลิกผัน เมื่อครอบครัวที่ตกลงซื้อเด็กมีนิสัยใจคอติดลบ การเจรจาซื้อขายจึงจบลงด้วยการทะเลาะวิวาทและล้มเหลวไม่เป็นท่า จนต้องออกรอนแรมเดินทางต่อไปเพื่อหาวิธีแก้ไขและวางแผนว่าจะทำอย่างไรต่อ

จุดแวะพักของพวกเขาและเธอ คือสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ซึ่งดงซูเคยใช้ชีวิตเติบโตอยู่ที่นั่น

เมื่อออกเดินทางต่อ มีสมาชิกใหม่อีกรายมาสมทบ เป็นเด็กชายวัย 7 ปี ชื่อแฮจิน ซึ่งบ้าฟุตบอลและใฝ่ฝันอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ แต่ความจริงที่น่าเศร้า คือทักษะความสามารถในเชิงกีฬาของเจ้าหนูห่างไกลสุดกู่เมื่อเทียบกับความฝันและความมุ่งมั่นของเขา

ที่น่าเศร้ากว่านั้น แฮจินปรารถนาอยากให้มีคนมารับตัวเขาไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม แต่วันเวลาและโอกาสนั้นก็หมดไป อายุของเขาเลยเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โตเกินกว่าจะไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กับครอบครัวใดๆ

แฮจินจึงแอบขึ้นมาบนรถตู้ขณะที่ทีมค้าทารกเริ่มออกเดินทาง กว่าความจะแตกถูกพบตัว เด็กชายก็ได้ยินความลับต่างๆ จนหมดสิ้น ทำให้ไม่สามารถส่งตัวเขากลับไปสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เพราะเกรงว่าเจ้าหนูอาจแจ้งตำรวจ จึงต้องหอบหิ้วร่วมเดินทางไปด้วย

ชายสองคน หญิงสาวหนึ่งคน เด็กชายหนึ่งคน ทารกหนึ่งคน (รวมถึงตำรวจอีก 2 คน) ออกเดินทางรอนแรม จนกลายเป็นการเดินทางที่เปลี่ยนชีวิตของทุกคน

ก่อนที่จะได้ดูเต็มๆ จากหนังตัวอย่างที่บอกเล่าพล็อตกว้างๆ ผมเข้าใจไปว่าหนังคงสะท้อนประเด็นว่าด้วยกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมผิดกฎหมาย รวมทั้งแม่ที่ทิ้งลูกของตนในลักษณะทำนอง ‘ต้นร้าย ปลายดี’ เริ่มต้นด้วยการแสดงด้านที่น่ารังเกียจ จากนั้นก็ค่อยๆ เผยให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ คุณธรรม ความดีงามในจิตใจออกมาทีละน้อย

ความเข้าใจดังกล่าวไม่ได้คลาดเคลื่อนหรือผิดไปเสียทีเดียวนะครับ มีแง่มุมเช่นนี้อยู่จริงในหนัง แต่ไม่ใช่แก่นแกนหลัก หลังจากเปิดฉากเริ่มเรื่องไปได้ไม่นาน ผู้ชมก็ตระหนักได้ทันทีว่า ตัวละครที่กระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องทุกราย ไม่มีใครเป็นคนชั่วร้าย พวกเขาและเธอมีความรู้ผิดชอบเป็นปกติทั่วไป

ใจความหลักของหนังมุ่งไปที่การค่อยๆ แสดงให้เห็นถึงความผูกพันที่มีต่อกันของตัวละครต่างที่มา (โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างดงซูกับโซยอง ซึ่งเริ่มต้นอย่างไม่เป็นมิตร เกิดการกระทบกระทั่งกันอยู่ตลอดเวลา เพราะฝ่ายชายมีปมฝังใจว่าเป็นเด็กที่โดนแม่ทิ้ง จึงมีอคติกับหญิงสาวที่มีพฤติกรรมเช่นเดียวกับแม่ของตน) กระทั่งกลายเป็นครอบครัวประหลาดที่มีสายใยเหนียวแน่นยิ่งกว่าครอบครัวแท้ๆ ร่วมสายเลือด

อีกแง่มุมที่สำคัญไม่แพ้กันคือ จากจุดเริ่มต้นแบบคนแปลกหน้าต่อกัน การเดินทางดังกล่าวค่อยๆ เผยให้เห็นถึงชีวิตหนหลังของทุกคน (อาจจะยกเว้นเด็กชายแฮจิน ซึ่งผู้ชมรู้พื้นเพของเขามาก่อนแล้ว แต่ยิ่งเดินทางมากเท่าไร หนังก็ตั้งคำถามที่ตอบยากมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับอนาคตของเจ้าหนูว่าจะเติบโตไปในทิศทางใด)

ตัวละครหลักๆ ทั้งหมดล้วนมีปัญหาชีวิตหนักหนาสาหัสไปคนละแบบ โซยองนั้นพังทลายในทุกๆ ด้าน สาเหตุที่เธอจำเป็นต้องทิ้งลูก (ซึ่งเป็นความลับสำคัญของหนัง) พูดแบบหลบเลี่ยงคือทำไปเพราะความรักของคนเป็นแม่โดยแท้ และเป็นหนทางอันปราศจากทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ความปรารถนาสูงสุดของโซยองคืออยากชะล้างชีวิตที่มีมลทิน เปลี่ยนตัวเองเป็นอีกคน และเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

ดงซูนั้นมีหลุมโพรงในใจที่ไม่อาจเยียวยาจากการถูกแม่ทอดทิ้ง ซังฮยอนมีชีวิตที่ล้มเหลว มีอดีตที่เต็มไปด้วยข้อผิดพลาด หย่าร้างกับภรรยา พรากจากลูกสาว ติดเหล้า ติดการพนัน หนี้สินรุงรัง ใช้ชีวิตปัจจุบันด้วยการกุเรื่องโกหกสารพัดสารพัน ทั้งเพื่อบอกเล่าสู่ผู้อื่น และกล่อมลวงตัวเองเหมือนการปลอบประโลม

พูดแบบขึ้นธรรมาสน์เทศน์ ผมคิดว่าสารัตถะหลักๆ ของ Broker คือคติธรรมที่ว่าคนเราเปลี่ยนแปลงอดีตตนเองไม่ได้ แต่สามารถเลือกเส้นทางข้างหน้าเพื่อแก้ไขชีวิตตนเองให้แตกต่างไปจากเดิม

ประเด็นข้างต้นนี้ไม่ได้จำเพาะเจาะจงอยู่แค่ตัวละครในฟากคนทำผิดฎหมายเท่านั้นนะครับ แต่ยังครอบคลุมไปถึงฝั่งตำรวจที่ติดตามไล่ล่าด้วย

ตำรวจหญิงชื่อซูจิน คือตัวละครที่เรียนรู้และเกิดความเข้าใจชีวิตมากขึ้นอย่างเด่นชัดยิ่งกว่าตัวละครอื่นๆ ทั้งหมด จากแรกเริ่มที่เป็นคนบุคลิกเถรตรง ยึดมั่นในกฎหมาย ปราศจากการอะลุ่มอล่วย โลกของเธอแยกแยะชัดแค่ถูกกับผิด ไม่มีกึ่งกลางระหว่างนั้น บวกกับท่าทีเย็นชาเหมือนคนไร้หัวใจ การสอดส่องติดตามกลุ่มคนร้าย แอบดักฟัง ทำให้ซูจินได้สดับรับฟัง ได้รู้ชีวิตความเป็นอยู่ของอีกฝ่าย ได้ฟังพวกเขาพูดคุยสนทนา (ทั้งเรื่องจริงจังและการหยอกล้อเล่นหัวไม่เป็นโล้ไม่เป็นพาย) รวมทั้งได้รู้จักชีวิตหนหลังอันเจ็บปวดของทุกคน

ท้ายที่สุด ทุกสิ่งซึ่งซูจินรับรู้ ก็ค่อยๆ สั่นคลอนสิ่งที่เธอเชื่อและยึดมั่น กระตุ้นเร้าด้านละเอียดอ่อนในจิตใจที่หลบเร้นอยู่ลึก ให้ค่อยๆ ปรากฏขึ้นมาทีละน้อย และทำให้เธอฉุกคิดได้ว่า พฤติกรรมในการพิทักษ์รักษากฎหมายของเธอ มุ่งมั่นต้องการจับกลุ่มคนร้ายให้ได้ จนเร่งเร้าอยากให้มีการซื้อขายเด็กเกิดขึ้นโดยเร็ว ก็ไม่ได้ดีไปกว่าเป้าหมายไล่ล่าของเธอเลยสักนิด

จุดเด่นอย่างแรกของ Broker เป็นไปตามที่ผมเกริ่นไว้ช่วงต้น คือเป็นหนังดูสนุกและน่าจะดูง่ายสุดของโคเรเอดะ (ผมควรต้องระบุไว้ด้วยนะครับว่า ทุกวันนี้หนังกลุ่มที่ดูยากของเขาก็ไม่ได้น่าเกรงขามอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากมีงานจำนวนมากและหลากหลายให้นักดูหนังได้ผ่านตา จนกระทั่งสไตล์แบบโคเรเอดะกลายเป็น ‘ยานอนหลับ’ ที่มีฤทธิ์เจือจางลงไปเยอะทีเดียว)

ครึ่งเรื่องแรกของหนังนั้น นิ่งและค่อยเป็นค่อยไปตามแบบฉบับของโคเรเอดะ (แต่ก็เป็นจังหวะที่ถือว่าเร็วเมื่อเทียบกับงานอื่นๆ ในอดีต) เป็นการกำกับและเขียนบทที่เด่นมากในการปูพื้น แนะนำตัวละคร สร้างปมขับเคลื่อนให้เรื่องเกิดความเคลื่อนไหวคืบหน้า รวมทั้งสิ่งที่ทำได้ดีมากๆ คือการค่อยๆ แสดงความผูกพันระหว่างตัวละครอย่างสมจริงน่าเชื่อถือ

ทั้งหมดนี้บอกเล่าแบบไปเรื่อยๆ ไม่เร้าอารมณ์ แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่ชวนติดตาม

ความโดดเด่นเรื่องการสร้างอารมณ์ร่วมมาปรากฏในช่วงครึ่งเรื่องหลัง มีฉากและช่วงเวลาดีๆ ที่น่าจดจำอยู่เต็มไปหมดและหลากรส ทั้งซาบซึ้งตื้นตันใจ สะเทือนอารมณ์ เจ็บร้าวบาดลึก อ่อนโยนนุ่มนวล

พูดอีกแบบคือเต็มไปด้วยฉากมุ่งเร้าอารมณ์ ผมไม่สันทัดถนัดนักกับหนังเกาหลีนะครับ แต่เดาและเข้าใจว่ารูปทรงและทิศทางคงจะประมาณนี้ คือเร้าอารมณ์เยอะในเชิงปริมาณ

อย่างไรก็ตาม Broker ก็ไม่ใช่หนังเร้าอารมณ์ในลักษณะเค้นหนักๆ หรือฟูมฟาย จำนวนของฉากที่เจตนาจะประทับใจนั้นมีเยอะ แต่วิธีการยังคงเป็นลีลาแบบโคเรเอดะ คือนำเร้าอารมณ์น้อยๆ แต่ได้ผลมาก และเก่งกาจในการหลีกเลี่ยงความ cliché

ฉากดับไฟเพื่อให้นางเอกบอกกล่าวใจความสำคัญกับทุกคนเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของวิธีการเร้าอารมณ์แบบโคเรเอดะ โดยสถานการณ์และการกระทำของตัวละคร รวมถึงบทสนทนา ทุกอย่างสุ่มเสี่ยงมากต่อการทำออกมาแล้วดูเลี่ยนชวนขนลุก ถ้าหากคนทำหนังฝีมือไม่ถึง แต่โคเรเอดะก็จำกัดทุกอย่างแค่พอเหมาะ จนกระทั่งออกมาลงตัวและดูดีเหลือเกิน กลายเป็นอีกฉากที่ชวนจดจำท่ามกลางฉากดีๆ ประมาณนี้อีกมากมายในหนัง

ย่อหน้าข้างต้นนั้น มีองค์ประกอบปัจจัยอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้ฝีมือการกำกับ นั่นคือการแสดงอันเยี่ยมยอดเป็นหมู่คณะ Broker เป็นงานโชว์ศักยภาพของนักแสดงได้วิเศษมากๆ

ซองคังโฮ นักแสดงคู่บุญของบองจุนโฮ ซึ่งผู้ชมบ้านเราคุ้นหน้าคุ้นตาจาก Parasite สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักแสดงเกาหลีคนแรกที่ได้รับรางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังนานาชาติที่เมืองคานส์ รายนี้เป็นยอดฝีมือที่เล่นหนังเก่งเป็นปกติอยู่แล้ว จึงไม่น่าตื่นเต้นอะไร แต่หลายฉากในช่วงท้ายๆ ของเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นฉากบนชิงช้าสวรรค์ หรือฉากที่ซังฮยอนนัดพบกินข้าวกับลูกสาวที่ไม่ได้เจอะเจอกันมานาน ก็ยอดเยี่ยมสมศักดิ์ศรีรางวัลที่ได้รับมาทุกประการ

คนที่เล่นดีอย่างน่าทึ่งและบทเด่นมากคือไอยู ผู้รับบทเป็นโซยอง

ผมได้ยินเสียงร่ำลืออื้ออึงมาก่อนดู Broker นะครับว่าไอยูเล่นดีมากๆ ช่วงครึ่งเรื่องแรกจึงค่อนข้างผิดหวัง การแสดงและบุคลิกของเธอปกติธรรมดา ไม่ย่ำแย่ แต่ก็ไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ แต่เมื่อเข้าสู่ครึ่งเรื่องหลังกลับพบว่าคำสรรเสริญเยินยอต่างๆ นั้นไม่มีอะไรเกินเลยความจริงสักนิด เมื่อตัวละครโซยองค่อยๆ เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของเธอต่อบรรดาเพื่อนร่วมทาง ผู้ชมได้เห็นอารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกที่เธอพยายามปกปิดตลอดเวลาเปิดเผยออกมาทีละน้อย

พูดง่ายๆ ว่า หนังช่วงครึ่งเรื่องหลังเป็นพื้นที่เวทีโชว์ฝีมือการแสดงของไอยูชนิดเต็มพิกัด

ความยอดเยี่ยมของไอยูนั้น นอกจากเป็นด้วยความสามารถเฉพาะตัวของเธอแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งก็เกิดจากการแสดงรับส่งกันอย่างลื่นไหลกับคังดงวอน ผู้รับบทดงซู ซึ่งเหมือนตัวเชื่อมเกมของหนัง ทำหน้าที่ประสานงานกับตัวละครหลักอื่นๆ ได้ไม่มีที่ติ และเป็นอีกคนที่มีหลายๆ ฉากชวนจดจำ

อีกคนที่น่าประทับใจไม่แพ้กันคือ แบดูนาในบทซูจิน ตำรวจผู้มองโลกขาวจัดดำจัด บทของเธอเป็นเนื้อเรื่องรอง ความถี่ในการปรากฏไม่มากนัก แทรกสลับเข้ามาในหนังเป็นระยะๆ ยิ่งไปกว่านั้นบทสนทนาส่วนใหญ่ระหว่างเธอกับคู่หูยังเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ทำให้เล่ารายละเอียดพื้นเพตัวละครได้เพียงน้อยนิด แต่การแสดงของเธอก็สามารถสื่อสารจนทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจตัวละคร และที่ดีมากๆ คือการค่อยๆ แสดงให้เห็นถึงการเรียนรู้ เติบโต และความเปลี่ยนแปลงของตัวละครนี้ได้อย่างแนบเนียนมากๆ

คนสุดท้าย อิมซังซูในบทแฮจิน ตัวละครเด็กชายที่แรกเริ่มดูเหมือนจะมุ่งทำหน้าที่ตัวจ่ายอารมณ์ขันให้กับหนัง และขโมยซีนอยู่เนืองๆ แต่เมื่อเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ แฮจินก็เป็นตัวละครที่สร้างความสะเทือนใจให้กับหนังอยู่ลึกๆ (โดยเฉพาะเมื่อคาดเดาถึงบทสรุปในตอนท้ายว่าชีวิตถัดจากนั้นของแฮจินเป็นอย่างไร)

มีฉากหนึ่งที่ดีมากๆ และผมคิดว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตัวละครหลักทั้งหมด นั่นคือฉากล้างรถอันรื่นรมย์ ตอนดูรอบแรกผมไม่ได้เอะใจอะไร แต่เมื่อดูซ้ำรอบสอง ก็รู้สึกว่ามันเชื่อมโยงกับบทสนทนาสำคัญเกี่ยวกับความฝันเรื่องฝนตก และอยากให้ฝนนั้นชะล้างตัวตนเดิมให้หมดสิ้น

ผมคิดว่าฉากล้างรถดังกล่าว พอจะเปรียบได้กับการล้างอดีตในชีวิตของตัวละครเหล่านั้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save