fbpx

เหยื่ออธรรม When They See Us

When They See Us เป็นมินิซีรีส์ปี 2019 จำนวน 4 ตอน (ตอนละประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที) สร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ทาง netflix กำกับและเขียนบทโดยเอวา ดูเวอร์เนย์

งานชิ้นนี้ประสบความสำเร็จครอบคลุม ทั้งจำนวนผู้ชม เสียงตอบรับและคำวิจารณ์ที่อยู่ในเกณฑ์ดีมาก รวมถึงการได้รับเสนอชื่อเข้าชิงและคว้ารางวัลจากหลายๆ สถาบัน

When They See Us สร้างจากเหตุการณ์จริงที่เป็นข่าวสะเทือนขวัญ รู้จักกันในชื่อ The Central Park Jogger case หรือ The Central Park Five case คดีดังกล่าว เกิดขึ้นในคืนวันที่ 19 เมษายน 1989 วัยรุ่นผิวดำและฮิสแปนิก (ชาวอเมริกันที่ใช้ภาษาสเปน) ประมาณ 30 คน รวมกลุ่มกันเข้าไปในสวนสาธารณะเซ็นทรัล พาร์ค ด้วยอาการคึกคะนอง แล้วเลยเถิดเป็นความวุ่นวายเหนือการควบคุม พวกเขาข่มขู่คุกคามคนที่มาขี่จักรยานออกกำลังกาย และมีจำนวนหนึ่งรุมทำร้ายร่างกายชายผิวขาว

เมื่อตำรวจสายตรวจได้รับแจ้ง จึงรุดมายังที่เกิดเหตุและจับกุมกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าว (บางคนก็หลบหนีไปได้) เหตุการณ์ทั้งหมดน่าจะลงเอยในรูปการณ์ที่ว่า ตำรวจกักตัววัยรุ่นเหล่านี้ชั่วคราว ลงบันทึกประจำวัน ติดต่อผู้ปกครองมารับกลับบ้าน เพื่อรับทราบพฤติกรรมของบุตรหลาน ระมัดระวังตักเตือน ไม่ให้เกิดเรื่องวุ่นวายเช่นนี้อีก รวมทั้งสืบหาว่าผู้ก่อคดีทำร้ายร่างกายคือใคร

แต่แล้วก็เกิดการพลิกผันขนานใหญ่ เวลาประมาณตีหนึ่ง ตำรวจได้รับแจ้งว่า พบหญิงสาวคนหนึ่งถูกข่มขืนและทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัสปางตายในเซ็นทรัล พาร์ค

ลินดา แฟร์สไตน์ อัยการเมืองนิวยอร์ค ผู้ดูแลรับผิดชอบคดีอาชญากรรมความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก เดินทางมายังจุดเกิดเหตุ พบเห็นสภาพสยดสยองของเหยื่อผู้ถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยมทารุณ เธอจึงคาดคั้นกดดันตำรวจทุกวิถีทางให้สืบหาตัวคนร้าย เมื่อสันนิษฐานช่วงเวลาที่น่าจะเกิดการทำร้ายร่างกายและข่มขืน เป็นระยะใกล้เคียงกับที่บรรดาวัยรุ่นก่อความวุ่นวาย อีกทั้งสถานที่ทั้ง 2 เหตุการณ์ก็อยู่ไม่ห่างกัน

การสืบสวนของตำรวจ (โดยการชี้นำของอัยการ) จึงมุ่งไปในความเชื่อที่ว่า คนร้ายที่ทำการข่มขืนน่าจะอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าว จากการสอบปากคำเบื้องต้น (ประมาณว่าใครทำอะไรอยู่ที่ไหน? เวลาใด?) ตำรวจและอัยการได้รายชื่อผู้ต้องสงสัยจำนวน 5 คน คือ เควิน ริชาร์ดสัน, อันทรอน แม็คเครย์, ยูเซฟ ซาลาม, คอรีย์ ไวส์ และเรย์มอนด์ ซานตานา

ถัดจากนั้น คือการสอบปากคำอย่างหนักหน่วง ทั้งขู่เข็ญ ซ้อม โน้มน้าวเกลี้ยกล่อม โกหกว่าหากยอมรับสารภาพ หรือเปิดโปงว่าใครเป็นคนลงมือ จะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน และเป็นเพียงแค่พยาน ไม่ใช่ผู้ต้องหา

พูดอีกแบบคือ เป็นการสอบปากคำ โดยตำรวจเขียนพล็อตกำหนดไว้ล่วงหน้าว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร และทำทุกวิถีทางโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้ผู้ต้องหาสารภาพออกมาตามนั้น

ในบรรดาผู้ต้องหาทั้ง 5 คน คอรีย์ ไวส์เป็นคนเดียวที่อายุเกิน 16 ปี คนอื่นๆ ที่เหลือยังมีสถานะเป็นผู้เยาว์ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายว่าจะต้องมีพ่อแม่หรือผู้ปกครองอยู่ด้วยในระหว่างสอบปากคำ แต่กฎกติกาเหล่านี้ก็ถูกตำรวจละเมิดและหลบเลี่ยง เพื่อได้ ‘คำให้การ’ ออกมาตามที่ต้องการ

คำให้การของเด็กวัยรุ่นทั้ง 5 เต็มไปด้วยความหละหลวม ไม่สมเหตุสมผล รายละเอียดขัดแย้งกันเอง ระบุจุดเกิดเหตุไม่ตรงกัน (และไม่ใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุที่แท้จริงเลย)

ท้ายที่สุด ทั้ง 5 คนก็ถูกฟ้องคนละหลายๆ ข้อหา ซึ่งล้วนแต่ฉกาจฉกรรจ์ สื่อมวลชนประโคมข่าวเกรียวกราว กระแสสังคมเกิดความเห็นต่างเป็น 2 กลุ่ม ฝ่ายแรก (ส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำและฮิสแปนิก) เชื่อว่าผู้ต้องหาทั้ง 5 คนเป็นผู้บริสุทธิ์ และเป็นเหยื่อของอคติจากการเหยียดผิวและชาติพันธุ์ ขณะที่อีกฝ่าย (คนผิวขาว) เชื่อว่าผู้ต้องสงสัยกลุ่มนี้กระทำความผิดจริง สมควรได้รับโทษหนักเพื่อให้เข็ดหลาบ (โดนัลด์ ทรัมป์เป็นคนหนึ่งที่ออกมาแสดงความเห็น ทั้งการซื้อโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ และให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ เรียกร้องให้มีการรื้อฟื้นโทษประหารชีวิต เพื่อจัดการกับอาชญากรเหล่านี้)

ตลอดการสู้คดีในชั้นศาล อัยการไม่สามารถหาหลักฐานที่แน่ชัดมาพิสูจน์ความผิด ไม่พบดีเอ็นเอของผู้ต้องหาในจุดเกิดเหตุและร่างกายของเหยื่อไม่ปรากฎรอยนิ้วมือของทั้ง 5 คน อาวุธของฝ่ายอัยการ มีเพียง 2 อย่าง แรกสุดคือบันทึกเทปคำให้การรับสารภาพของทั้ง 5 (ซึ่งผ่านการข่มขู่คุกคามและบีบบังคับให้รับสารภาพ)

อย่างต่อมาคือ การเบิกตัวทริชา ไมลี หญิงสาวผู้เป็นเหยื่อถูกทำร้ายร่างกายและข่มขืน มาขึ้นให้การในศาล แต่การซักถามพยานแทบไม่มีข้อมูลใดๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี หรือเกิดความกระจ่างว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นในค่ำคืนนั้น เพราะไมลีได้รับความกระทบกระเทือนทางกายภาพอย่างรุนแรง จนจดจำสิ่งใดไม่ได้เลย

ข้างต้นนี้เป็นสิ่งที่ทางฝ่ายอัยการ (ผู้ทำหน้าที่ยื่นฟ้องและสู้คดีในศาลเป็นอัยการอีกคนคือ เอลิซาเบธ เลเดอเรอร์) ล่วงรู้อยู่ก่อนแล้ว แต่เหตุผลสำคัญที่เรียกตัวทริชา ไมลี มาให้การ ไม่ใช่เพราะคาดหวังผลจากการซักถามพยาน แต่เพื่อให้ลูกขุนได้เห็นสภาพความเสียหายย่อยยับที่เกิดขึ้นกับตัวเธอ และรู้สึกด้านลบต่อฝ่ายจำเลย

ท้ายที่สุด ผลการตัดสินก็ออกมาว่าผู้ต้องหาทั้ง 5 คนมีความผิดจริง

ทั้งหมดนี้คือเหตุการณ์รวมๆ ของ The Central Park Five case ซึ่งผมเล่าตามข้อมูลที่อ่านพบ ผสมรวมกับเรื่องเล่าที่ปรากฎในมินิซีรีส์ (เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเล่าเรื่องย่ออีกให้เป็นการซ้ำซ้อน)

When They See Us แบ่งเหตุการณ์ออกเป็น 4 ตอนหรือ 4 ภาค

ภาคแรกเริ่มต้นด้วยฉากแนะนำตัวสั้นๆ ให้ผู้ชมได้เห็นเด็กวัยรุ่นทั้ง 5 เริ่มจากช่วงก่อนเกิดเหตุในค่ำคืนนั้น เหตุชุลมุนวุ่นวายในสวน รายละเอียดการสอบปากคำ และจบลงด้วยการที่ตำรวจประกาศว่า พวกเขาตกเป็นผู้ต้องหา

ภาคสองเล่าแสดงรายละเอียดในการตระเตรียมและสู้คดีระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย และจบลงด้วยผลการตัดสิน

ภาคสามเล่าถึงชีวิตของเควิน, อันทรอน, ยูเซฟ และเรย์มอนด์ ในระยะแรกที่รับโทษ และแสดงการเปลี่ยนผ่านของเวลาอย่างรวดเร็ว พวกเขาเติบโตเป็นหนุ่ม พ้นโทษ ออกมาใช้ชีวิตสู่โลกภายนอก เผชิญกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตผิดแผกกันไป ทั้งความยากลำบากในการหางานทำ เนื่องจากมีตราบาปติดตัว (รวมทั้งกฎเกณฑ์หยุมหยิมทางด้านตัวบทกฎหมายสำหรับอดีตนักโทษ ซึ่งบ่งชัดว่าแม้จะออกจากคุกแล้ว พวกเขาก็ยังไม่ได้มีอิสรภาพ) ความสัมพันธ์ระหองระแหงกับสมาชิกครอบครัว, ต้องเผชิญกับสายตาตั้งแง่รังเกียจของสังคมรอบข้าง ซึ่งเชื่อว่าพวกเขาทำผิดจริง และที่ยากเย็นแสนเข็ญมากสุดคือ การสู้รบปรบมือกับบาดแผลในใจที่ไม่มีทางลบเลือน การปรับตัวคืนสู่ปกติ การก้าวเดินใช้ชีวิตต่อไปข้างหน้า ท่ามกลางอดีตที่ยังตามหลอกหลอน

ภาคสุดท้ายเป็นเรื่องของคอรีย์ ไวส์ ตามลำพัง ขณะที่เหยื่ออธรรมคนอื่นๆ เข้าสู่สถานพินิจเยาวชนและพ้นโทษ ไวส์กลับต้องเผชิญนรกในเรือนจำสำหรับผู้ใหญ่ และติดคุกเนิ่นนานอย่างไร้ความหวัง ถูกนักโทษอื่นๆ รุมซ้อมอย่างโหดร้ายทารุณ เจอะเจอผู้คุมที่ใจดำอำมหิต จนต้องขอรับการ ‘ขังเดี่ยว’ ทำเรื่องขอย้ายเรือนจำครั้งแล้วครั้งเล่า เพียงเพื่อจะหลบหนีหลุดพ้นจากขุมนรกแห่งหนึ่งไปสู่อีกแห่ง (อย่างไรก็ตาม มีเรือนจำบางแห่งที่ผู้คุมปฏิบัติต่อนักโทษอย่างมีมนุษยธรรม แต่คอรีย์ ไวส์ ก็จำเป็นต้องขอย้ายด้วยเหตุผลอื่นที่ชวนให้เศร้าสะเทือนใจ)

ในรายละเอียดทั้งจากเหตุการณ์จริงและเรื่องเล่าที่ปรากฎในมินิซีรีส์ ผมละเว้นไม่ได้พูดถึงบทสรุปของกรณีนี้นะครับ

ความยอดเยี่ยมสูงสุดของ When They See Us ก็คือ การเล่าถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของคดีประวัติศาสตร์อย่าง The Central Park Five ออกมาอย่างละเอียดถี่ถ้วน และคดีดังกล่าวก็สะท้อนแง่มุมต่างๆ มากมาย ตั้งแต่อคติและการเหยียดผิวชาติพันธุ์ในสังคมอเมริกัน, ระบบและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีจุดอ่อนช่องทางให้ผู้มีอำนาจบิดเบือนความจริง จนกลายเป็นทำร้ายผู้บริสุทธิ์, การทำงานด้วยวิธีสกปรกโสมมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ซึ่งเชื่อและสรุปตัดสินล่วงหน้าไปก่อนแล้วว่า เด็กวัยรุ่นผิวดำจากย่านฮาร์เล็ม มีแนวโน้มที่จะเป็นอาชญากร) ที่เจ็บปวดยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อเวลาผ่านไป ตำรวจและอัยการ (ลินดา แฟร์สไตน์) ต่างก็ยังคงยืนกรานความเชื่อว่า การกระทำข้ามเส้นจริยธรรมทั้งหมดเป็นการทำเพื่อความถูกต้องและจรรโลงสังคมให้ดีขึ้น

ในบรรดาผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดของฝ่ายโจทก์ เอลิซาเบธ เลเดอเรอร์ อัยการผู้ดำเนินคดีในศาล เป็นคนเดียวที่เคยทักท้วงทีมงานถึงความผิดถูกชั่วดี แต่เธอก็ถลำตัวเข้ามามีส่วนร่วมพัวพัน จนไม่สามารถกลับลำถอนตัวและจำต้องเล่นไปตามเกม ด้วยเหตุผลที่เธอพูดไว้กับทนายฝ่ายตรงข้ามว่า “ถึงตรงนี้ มันไม่ใช่การต่อสู้อย่างยุติธรรม แต่กลายเป็นเรื่องการเมืองไปเรียบร้อยแล้ว และการเมืองก็คือการเอาตัวรอด”

พ้นจากประเด็นในแง่มุม ‘เหยื่ออธรรม’ ที่นำเสนอออกมาได้อย่างเข้มข้นทรงพลังแล้ว จุดเด่นด้านเนื้อหาสาระอีกแง่มุมของ When They See Us ซึ่งยอดเยี่ยมไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือ การแจกแจงอย่างถี่ถ้วนให้เห็นว่า บรรดา The Central Park Five สูญเสียและถูกพรากขโมย ‘ชีวิตอันควรจะเป็น’ อย่างไรบ้าง ตั้งแต่อิสรภาพ, ชื่อเสียงเสื่อมเสียและประวัติมีมลทินมัวหมอง, ความทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ ที่สำคัญคือ ห้วงขณะที่น่าจะเป็นวัยงดงามที่สุดในชีวิต

เนื้อหาสาระทั้งสองส่วนนั้นเล่าแจ้งแสดงออกอย่างเด่นชัด ไม่ต้องเสียเวลาถอดรหัสแปลความหมายกันแต่อย่างไร

ในฐานะคนดูหนังเป็นอาชีพ สิ่งหนึ่งซึ่งผมคิดว่า When They See Us ทำได้น่าทึ่งมาก นั่นคือการแบ่งช่วงตอนเหตุการณ์ออกเป็น 4 ภาค และทำให้แต่ละภาคออกมาเป็นหนังคนละแนว

ภาคแรกนั้นเป็นหนังอาชญากรรมสืบสวนสอบสวน และเด่นมากในการใช้วิธีเล่าเรื่องฉับไว เปิดฉากด้วยความชุลมุนสับสน ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ฉากเริ่มเรื่องแนะนำตัวละครทั้ง 5 คนอย่างรวดเร็ว ผู้ชมแทบจะจำหน้าจำชื่อใครไม่ได้เลย นี่ยังไม่นับรวมตัวละครอีกมากมายจากหลายฝักฝ่าย จากนั้นก็ใช้ฉากสอบปากคำ ค่อยๆ ทำให้ผู้ชมรู้จักคุ้นเคยแต่ละคนทีละน้อย จนกระทั่งสามารถจับความได้ครบถ้วนในฉากจบ

พูดง่ายๆ คือเป็นการเล่าเรื่องเหมือนเหตุการณ์ฝุ่นตลบอลหม่านสับสน จากนั้นควันก็ค่อยๆ จางลง จนเห็นทุกสิ่งกระจ่างชัดในบั้นปลาย และทั้งหมดนี้ดำเนินไปอย่างตื่นเต้นเร้าอารมณ์ ชวนติดตามมาก

ภาคสองเป็น courtroom drama หรือหนังสู้คดีว่าความกันในศาล เต็มไปด้วยสถานการณ์พลิกผัน ผลัดกันได้เปรียบเสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา การชิงไหวชิงพริบระหว่างอัยการกับทนายจำเลย รวมทั้งมีจังหวะดรามาซาบซึ้งสะเทือนใจตามขนบของหนังแนวนี้อยู่ครบครัน

ความเก่งในการเขียนบทและดำเนินเรื่องนั้นอยู่ตรงที่ผู้ชมส่วนหนึ่งน่าจะรู้ผลลัพธ์อยู่ก่อนแล้ว ว่าคำพิพากษาจะออกมาอย่างไร แต่ระหว่างการติดตาม ก็ยังสามารถโน้มน้าวให้ผู้ชมคาดเดา เอาใจช่วย และเชียร์ด้วยความลุ้นระทึกไปต่างๆ นานา

ภาคสามผมจัดให้เป็นหนังดรามาตามปกติทั่วไป เหตุการณ์ที่บอกเล่าเรียบง่ายกว่าตอนอื่นๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การเล่า 4 เรื่อง 4 เหตุการณ์สลับไปมาได้อย่างลื่นไหล เต็มไปด้วยจังหวะดรามาดีๆ อยู่เป็นระยะๆ และที่ยอดเยี่ยมมากก็คือ การสะท้อนประเด็นปลีกย่อยหลากหลายแง่มุม เกี่ยวกับปัญหาที่แต่ละคนต้องพบเจอหลังพ้นโทษ ซึ่งต่างก็มีปัญหาไปคนละแบบ หนักเบาไม่เท่ากัน (รวมทั้งเล่าขับเน้นตัวละครไม่เท่ากัน)

รวมความแล้ว นี่เป็นตอนที่มีเนื้อเรื่องเหตุการณ์กระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง แต่วิธีเล่าเรื่อง(และการเขียนบท) ก็เชื่อมร้อยทั้งหมดเข้าด้วยกันอย่างเป็นเอกภาพ กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน

ระหว่างดูภาคสาม ผู้ชมน่าจะสงสัยค้างคาใจอยู่พอสมควรว่า เรื่องเล่าถึงทุกคน ยกเว้นคอรีย์ ไวส์ ที่มีเพียงแค่การกล่าวอ้างถึงในบทสนทนาระหว่างหลายๆ ตัวละคร แต่ได้ใจความไม่ทราบชัดว่า คอรีย์ ไวส์ประสบชะตากรรมอย่างไรบ้าง

คำตอบมาปรากฎในภาคสุดท้าย ซึ่งเป็นหนังแนวคนคุกหรือชีวิตนักโทษในเรือนจำ องค์ประกอบหลักๆ ตามขนบหนังแนวนี้อย่างเช่นความโหดร้ายทารุณ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ย่ำแย่ ยังคงมีอยู่เต็มเปี่ยม แต่สิ่งที่โดดเด่นก็คือหนังให้เวลาส่วนใหญ่ (เป็นตอนที่มีความยาวมากสุด เกือบๆ ชั่วโมงครึ่ง) เล่าถึงคอรีย์ ไวส์ในขณะ ‘ขังเดี่ยว’ ซึ่งนำไปสู่การเล่าความคิดภายในใจของตัวละคร ทั้งเรื่องราวในอดีตหนหลัง ทั้งความสัมพันธ์ภายในครอบครัว และอดีตในค่ำคืนเกิดเหตุ การสอบปากคำ การสู้คดีในศาล รวมทั้งความฝันและภาพหลอน

เป็นตอนที่มีการปรุงแต่งด้วยกรรมวิธีทางภาพยนตร์มากที่สุดเมื่อเทียบกับตอนอื่นๆ ทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นตอนที่มีความลึกทางเนื้อหามากสุด และเป็นตอนที่ดีที่สุดของมินิซีรีส์เรื่องนี้ด้วย

นอกจากจุดเด่นด้านเนื้อหาสาระ การเร้าอารมณ์ และวิธีการทางภาพยนตร์ (ซึ่งหลากหลายมาก เนื่องจากแต่ละภาคเล่าด้วยลีลาที่ไม่เหมือนกันเลย) ความยอดเยี่ยมอีกประการซึ่งทำให้งานชุดนี้ชวนประทับใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ การแสดงชนิดเล่นดีเป็นหมู่คณะ

มีนักแสดงใน When They See Us ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Emmy Awards ถึง 8 คน ทั้งหมดนี้ มีเพียงจาเรล เจอโรม ผู้รับบทเป็นคอรีย์ ไวส์ วัยหนุ่ม ชนะไปในสาขาดารานำชายยอดเยี่ยม (จากมินิซีรีส์) แม้จะปรากฎตัวแค่ภาค 4 แต่บทของเขาก็โดดเด่นมาก เป็นบทที่เล่นยาก และเล่นได้ดีแบบขโมยหัวใจผู้ชมไปเต็มๆ

ควรกล่าวไว้ด้วยว่า When They See Us มีเนื้อหาเรื่องราวที่ตึงเครียด จริงจัง หม่นเศร้า แต่ดูง่าย ชวนติดตาม และที่สำคัญคือบำเหน็จในบั้นปลายหลังจากดูจบ เป็นความรู้สึกที่อิ่มเอม ตื้นตันใจ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save