fbpx

อ่านอนาคต เคาะโจทย์ ‘แพลตฟอร์ม’ ทำอย่างไรให้เติบโตได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้ออาหาร ใช้บริการเรียกรถ หรือกระทั่งการทำธุรกรรมการเงินต่างๆ อำนวยความสะดวกผู้ใช้งานให้สามารถจัดการชีวิตผ่านปลายนิ้ว ทั้งยังเชื่อมต่อกับโลกจริงอย่างไร้พรมแดนมากขึ้นทุกที

ท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านและเติบโตอย่างรวดเร็ว รายงาน e-Conomy SEA 2023 ระบุว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยราว 16% ต่อปีและคาดว่าจะมีมูลค่าสินค้ารวมสูงถึง 1.8 พันล้านบาทในปี 2025 แต่แท้จริงแล้วโอกาสของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเหล่านี้จะนำไปสู่โอกาสแห่งชีวิตผู้คนในสังคมได้อย่างเป็นธรรมหรือไม่ คุณภาพชีวิตของแรงงานแพลตฟอร์มในอนานคตจะเป็นแบบไหน และในฐานะหน่วยงานภาครัฐจะมีแนวทางในการกำกับดูแลเศรษฐกิจแพลตฟอร์มอย่างไรให้สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

101 ชวนตีโจทย์แพลตฟอร์มกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ ประกอบด้วย ดร.สันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต TDRI และอดีต Group Chief Economist SEA Group อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ Line Man Wongnai อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ กองกฎหมายการเงินการคลังและกองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ปรึกษากรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยเก็บความจากงานเสวนา Research and Policy Dialogue: ตั้งโจทย์+ตอบอนาคต ประเทศไทยในบริบทโลกใหม่ #9 : ‘โอกาสและชีวิตในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม’

งานเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเป็นเวทีที่เก้า ในซีรีส์เสวนาสาธารณะ Research and Policy Dialogue: ตั้งโจทย์+ตอบอนาคต ประเทศไทยในบริบทโลกใหม่ ซึ่งเป็นเวทีเสวนาสาธารณะที่จะเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมจากคนในแวดวงที่หลากหลาย เพื่อร่วมกำหนดโจทย์ใหม่ประเทศไทยและระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้สอดคล้องกับบริบทโลกใหม่ จัดโดย 101 PUB และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

YouTube video

3 โจทย์ 4 ความเข้าใจ ก่อนจัดการเด็กฉลาดที่เรียกว่าแพลตฟอร์ม – สันติธาร เสถียรไทย

“แพลตฟอร์มก็เหมือนเด็กฉลาดคนหนึ่ง การเลี้ยงดูเด็กฉลาด บางครั้งถ้าเริ่มห้ามหรือเริ่มออกกฎบางอย่างเร็วไป เขาก็จะไม่โต แต่ถ้าห้ามช้าไปก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่แย่และสร้างความเสียหายได้เยอะมาก เพราะฉะนั้นการหาจุดที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญมาก”

สันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต TDRI และอดีต Group Chief Economist SEA Group ปูพื้นฐานในมุมมองส่วนตัว เพื่อทำความเข้าใจแพลตฟอร์ม โดยเปรียบเทียบ ‘ABCD’ ของธุรกิจธรรมดากับธุรกิจแพลตฟอร์มในช่วงเริ่มแรกว่า เดิมทีธุรกิจธรรมดาจะเน้นที่ Assets (สินทรัพย์) Build (การสร้าง) Control (การควบคุม) และ Distribution (การจัดจำหน่าย) ซึ่งเน้นไปที่ผู้ผลิตมีสินทรัพย์ของตัวเอง ควบคุมต้นทุนการผลิตและคุณภาพการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพื่อให้มีกำไรสูงสุด

ขณะที่ธุรกิจแพลตฟอร์มแรกเริ่มจะเน้นไปที่ Attract (การดึงดูด) Bridge (สะพานเชื่อมต่อ) Co-creation (การร่วมคิด ร่วมสร้าง) และ Data (ข้อมูล) เปลี่ยนวิธีคิดไปจากเดิมแทนที่จะผลิตด้วยตัวเองก็เปลี่ยนเป็นตลาด 2 ด้าน โดยดึงดูดทั้งผู้ผลิตและลูกค้าที่มีความต้องการเข้าด้วยกัน เกิดเป็น Network effects (อานุภาพของเครือข่าย) จากเดิมที่ Build ด้วยตัวเองก็เปลี่ยนเป็น Bridge ในการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการอื่นๆ ในแพลตฟอร์มให้อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว เช่น E-commerce อาจจะต้องเชื่อมคนขายกับคนซื้อ เชื่อมต่อผู้ให้บริการส่งของ เชื่อมต่อกับระบบชำระเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังเปลี่ยนจากควบคุมการผลิตด้วยตัวเองเป็น Co-creation ให้มีพัฒนาการเท่าทันการเปลี่ยนแปลง เกิดการทดลองระบบเบต้า เพื่อดูผลตอบรับจากลูกค้าในการปรับปรุงแพลตฟอร์ม และสุดท้าย มีการใช้ Data เพื่อดูผลตอบรับจากผู้ใช้งานบนโลกออนไลน์

อย่างไรก็ดี หลังโควิด-19 เป็นต้นมา นักลงทุนและภาครัฐเริ่มส่งสัญญาณ ออกนโยบายมาควบคุมคุณภาพการให้บริการของแพลตฟอร์มมากขึ้น แพลตฟอร์มจึงต้องสร้างบาลานซ์ระหว่าง ‘ABCD’ ทั้งสองแบบ แพลตฟอร์ม E-commerce เริ่มสร้างโกดังสินค้า พัฒนาระบบชำระเงินหรือบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภายในแพลตฟอร์มด้วยตัวเอง เพื่อรองรับออเดอร์จากผู้บริโภค อีกทั้งควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคหรืออาจจะมีคู่แข่งที่เข้ามาสร้างการแข่งขัน

“(มูลค่าของแพลตฟอร์ม) มันมาจากตัว Community (ชุมชนผู้ใช้งาน) มาจากว่า user ใหญ่แค่ไหน แล้วอยู่ตรงนั้นนานแค่ไหน คนซื้อก็จะอยากเข้ามา ถ้าคนขายเยอะและมีคุณภาพ คนขายก็อยากเข้ามา ถ้ามันมีทราฟฟิก (traffic) เยอะ เพราะฉะนั้นสุดท้ายมันอยู่ที่ตัวปริมาณ (volume) ซึ่งเราไม่ได้ดูแค่เวลาเดียว ถามว่าลดแลกแจกแถมให้เขาเข้ามาได้ไหม แต่คำถามสำคัญมากๆ ที่จะอยู่เป็นหรือตายของแพลตฟอร์มคือคุณทำให้เขาอยู่กับคุณได้ไหม”

ดร.สันติธารสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันว่าแพลตฟอร์มในไทยและในอาเซียนถือว่าเป็นเด็กฉลาดที่โตแล้วระดับหนึ่ง จำเป็นต้องได้รับการกำกับดูแล แต่การกำกับดูแลต่างๆ อาจจะต้องคำนึงถึง 4 เข้าใจ ได้แก่

ประการแรก เข้าใจสมดุล สันติธารเสนอว่าจำเป็นต้องเข้าใจสมดุลระหว่างการกำกับดูแลกับการทำลายนวัตกรรม หรือการรักษาสมดุลเรื่องการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusion)

“มีการถกเถียงกันมากเหมือนกัน ยกตัวอย่าง มีคนบอกว่าอยากให้คุณภาพของร้านค้าทุกร้านใน E-commerce ดี ถ้าถามว่าควรมีการกำกับดูแลขั้นพื้นฐานไหม ควรมี แต่ถามว่าให้แพลตฟอร์มรับผิดชอบว่าต้องเอาร้านดีๆ เท่านั้น ถามว่าแพลตฟอร์มทำได้ไหม ทำได้ ไม่ยาก ผมตัดธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ทิ้งหมดเลย แล้วก็เอาบริษัทใหญ่ๆ เข้ามาลิสต์ แล้วพวกนี้ก็จ่ายค่าคอมมิชชันแพงกว่าด้วย แล้วมันดีกับ Inclusion ไหม โอกาสของคนตัวเล็กที่จะเข้ามาขายของ เข้ามาสร้างรายได้ต่างๆ คือตัดทิ้งหมดเลยนะ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมีบาลานซ์ว่าคุณจะรักษาสมดุลตรงนี้ยังไง”

ประการที่สอง เข้าใจอุตสาหกรรม “แพลตฟอร์มแต่ละอันไม่เหมือนกัน เหมือนเด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนมันเกิดมาดื้อ บางคนมันเกิดมาว่านอนสอนง่าย เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องเข้าใจอุตสาหกรรมนะครับ”

สันติธารให้ความเห็นว่าแพลตฟอร์มอุตสาหกรรมบันเทิงอย่าง TikTok หรือ Facebook อาจจะขึ้นอยู่กับระบบเรตติ้งหรือแรงกิ้ง แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมการเงินหรืออุตสาหกรรมที่กระทบต่อความมั่นคงก็ควรจะต้องมีการกำกับดูแลที่เป็นกฎระเบียบเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงแต่จะมีร่าง พ.ร.บ.แพลตฟอร์มเพื่อกำกับโดยรวม แต่ยังต้องมีกฎหมายของแต่ละอุตสาหกรรมร่วมด้วย

ประการที่สาม เข้าใจจังหวะเวลา สันติธารเน้นว่าจะต้องอ่านจังหวะในการกำกับดูแลอย่างที่เกริ่นไปช่วงแรก “อย่าให้วัวหายแล้วล้อมคอก แต่ก็อย่าล้อมคอกก่อนจะมีวัว เพราะมันจะเข้ามาไม่ได้”

ประการที่สี่ เข้าใจข้อจำกัดของรัฐ สืบเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็วและความซับซ้อนของแต่ละอุตสาหกรรม สันติธารให้ความเห็นว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนในภาครัฐ ซึ่งอาจจะไม่เข้าใจทั้งธุรกิจและดิจิทัลต้องมากำกับจะมองเป็นเรื่องยาก อีกหนึ่งโจทย์คือการทำงานร่วมกับภาคเอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ แต่ก็เป็นความท้าทายเช่นเดียวกันว่าจะทำอย่างไรให้ไม่ถูกเอกชนครอบ

จากความเข้าใจทั้ง 4 ข้อ ยังไม่นับรวมความท้าทายในอนาคตของโลกอุตสาหกรรมที่จะถูกเบลอและมีการกระโดดข้ามอุตสาหกรรมจนทำให้ภูมิทัศน์แพลตฟอร์มมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ Generative AI ที่อาจจะเข้ามาพลิกโฉมแพลตฟอร์ม ตัวอย่างเช่น Google ที่ถูกดิสรัปต์โดย ChatGPT

สันติธาร เสถียรไทย

เมื่อขยับมาที่การตั้งโจทย์วิจัย สันติธารได้ชี้ถึงความเข้าใจผิดและชวนตีโจทย์วิจัยเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม 3 หัวข้อ

หัวข้อแรก การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusion) ตั้งต้นด้วยการหาคำตอบว่าแพลตฟอร์มส่งผลอย่างไรต่อความเหลื่อมล้ำในสังคม ในยุคตั้งไข่ของแพลตฟอร์ม การเข้ามาเป็นผู้ขายคนแรกๆ (early seller) อาจจะทำให้มียอดขายที่พุ่ง แต่ปัจจุบันการแข่งขันสูงขึ้น สันติธารกล่าวว่าถ้าผู้ขายไม่มีทักษะทางดิจิทัล (Digital Literacy) อาจจะทำให้ยอดขายตกต่ำ

หัวข้อที่สอง การค้าข้ามแดน (Cross Border Trade) สันติธารชี้ว่าเคยมีความเข้าใจผิดว่าถ้าเป็นแพลตฟอร์ม E-commerce ต่างชาติแปลว่าจะต้องนำเข้าสินค้าเข้ามา แต่จริงๆ แล้วสัญชาติของแพลตฟอร์มไม่ได้เกี่ยวกับสถานที่ผลิตสินค้าออกมาจำหน่าย แต่โจทย์ใหญ่ที่ต้องนำมาคิด ณ ตอนนี้คือกำลังการผลิตในประเทศจีนทำให้เกิดสินค้าล้นตลาด

หัวข้อที่สาม การแข่งขัน (Competition) “การแข่งขันทางแพลตฟอร์มเป็นการแข่งขันที่มีพลวัตสูงมาก เราจะไม่สามารถดูได้แค่ว่าแพลตฟอร์มอันนี้ส่วนแบ่งตลาด (Market Share) เท่าไหร่ บางทีแพลตฟอร์มใน E-commerce แข่งกับ Social Commerce ที่เป็นโซเชียลมีเดีย เพราะโซเชียลมีเดียเองก็เริ่มทำ E-commerce ของตัวเองและบางทีก็แข่งพวกออฟไลน์กับธุรกิจค้าปลีก (Retails) ที่มีมาแต่เดิมอยู่แล้ว

“เมืองจีน ประมาณ 5 ปีที่แล้ว เราพูดกันบ่อยบอกว่าเจ้าแห่งเทคคือ BAT (Baitu, Alibaba และ Tencent) เราบอกไม่มีทางที่ใครจะมาโค่นได้ เพราะนี่คือยักษ์ใหญ่ที่ทรงบารมี วันนี้ทั้ง 3 ตัวร่อแร่เลยนะครับ เพราะมีคู่แข่งใหม่ๆ มากมาย ทั้ง Meituan ทั้ง ByteDance เพราะฉะนั้นการแข่งขันมันไดนามิกมาก และสามารถเข้าได้หลายทาง บางคนอาจจะทำอะไรที่ดูไม่เกี่ยวกับเราเลย แต่ถึงเวลาพอมันมีคนใช้ (audience) เยอะๆ แล้วมันกระโดดเข้ามาทำอีกบริการหนึ่งก็ได้ การแข่งขันของแพลตฟอร์มเป็นสิ่งที่ต้องการศึกษาอย่างมาก เพราะถ้าเราไม่เข้าใจ เรานิยามตลาดแคบไป บางทีกฎที่บังคับใช้อาจจะกลายเป็นการปิดกั้นไม่ให้คู่แข่งใหม่ที่ควรจะเกิด เกิดขึ้นไม่ได้”

นอกจากโจทย์วิจัยที่หยิบยกมาข้างต้น ในช่วงท้าย สันติธารเสนอว่าโจทย์วิจัยที่น่าสนใจยังมีการทำความเข้าใจคุณลักษณะของแพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน ซึ่งปัจจุบันผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้จะเป็นฝั่งนักลงทุนที่ศึกษางานวิจัยเพื่อการลงทุน (Investment Research) การศึกษาบทบาทของรัฐในการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม ความโปร่งใสในการเปิดข้อมูล หรือการผูกขาดโดยแพลตฟอร์ม

ไม่เพียงเท่านั้น สันติธารยังได้ยกตัวอย่างการออกแบบ-การกำกับดูแลแบบสิงคโปร์ที่ออกแบบให้มีหลักการกว้าง (Principle Based) เพื่อนำมาปรับใช้ภายหลัง โดยที่ไม่ไปยึดติดกับตัวคำมากเกินไป เพราะแนวทางเช่นนั้นอาจจะหมดอายุเร็วในโลกที่หมุนเร็วแบบนี้

อ่านความท้าทายการกำกับดูแลในสายตาของผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม – อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ Line Man Wongnai สะท้อนความเห็นในฐานะเอกชนที่ทำงานด้านแพลตฟอร์ม และผู้สนใจเรื่องตลาดเทคโนโลยี ว่าทุกวันนี้จะจับต้องอะไรก็ตามที่มีความเป็นดิจิทัลก็ล้วนแล้วแต่เป็นแพลตฟอร์มทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Facebook TikTok หรือเว็บไซต์สำหรับจองโรงแรม

“ผมคิดว่าถ้าเราถอดฟีเจอร์แฟนซีบางอย่างของตัวแพลตฟอร์มออก อาจจะเป็นฟีเจอร์ที่ชวนให้ลูกค้าเข้ามาใช้งานมากขึ้น จะแจกคูปอง เก็บคะแนนสะสม หรืออะไรแล้วแต่ ผมคิดว่าหน้าที่ของแพลตฟอร์มคือการจับคู่ (matching) อุปสงค์และอุปทานเข้าด้วยกัน”

อิสริยะขยายความว่าวิธีแมทช์ของแพลตฟอร์มนั้นทำผ่านอัลกอริทึม โดยอาจจะเป็นรูปแบบของแรงกิ้ง ค้นหาแล้วก็จะเห็นเนื้อหาต่างๆ ขึ้นมา หรือกลวิธีอื่นๆ ยกตัวอย่าง กรณีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตค้นหาเนื้อหา Google ก็จะเป็นแพลตฟอร์มตัวกลางในการเสิร์ชแรงก์เนื้อหาให้ตรงกับสิ่งที่ผู้ใช้งานค้นหา กรณีแพลตฟอร์ม Line Man Wongnai ก็ทำหน้าที่ ‘แมทช์’ อาหารที่ผู้ใช้งานต้องการกับร้านอาหารที่ตรงใจ โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกได้จากปัจจัยเรื่องระยะทาง ราคา และเรตติ้งร้านค้า กรณีแบรนด์สินค้าต้องการโปรโมทสินค้าแก่ผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย Facebook ก็ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางในการแสดงเนื้อหาบนหน้า News Feed ของผู้ใช้ที่คาดว่าจะสนใจ

หากลองแยกรูปแบบแพลตฟอร์มในภาพกว้าง อิสริยะทดลองแบ่งออกมาเป็น 5 รูปแบบ โดยอิงอยู่บนเรื่องของการจับคู่อุปสงค์และอุปทาน ดังนี้

รูปแบบแรก Media Platform หรือกลุ่มแพลตฟอร์มสื่อ เช่น Google, Facebook, YouTube และ TikTok ชนิดของสินค้าเป็นข้อมูลดิจิทัล ใช้วิธีการส่งมอบผ่านช่องทางดิจิทัล ผู้ใช้งานสามารถค้นหาเนื้อหาแล้วเข้าถึงเว็บไซต์ที่ต้องการได้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ดีแพลตฟอร์มดังกล่าวก็จะมีประเด็นปัญหาสำคัญ ได้แก่ การเลือกปฏิบัติ เช่น กรณี Google ที่เลือกปฏิบัติกับแพลตฟอร์มจองตั๋วเครื่องบินหรือโรงแรมกับคู่แข่ง หรือเรื่องความโปร่งใสของอัลกอริทึม และการแพร่กระจายข่าวบิดเบือน

รูปแบบที่สอง Digital Store หรือกลุ่มแพลตฟอร์มร้านค้าดิจิทัล เช่น App Store, Google Play, Stream และ PlayStation Store ชนิดสินค้าเป็นข้อมูลดิจิทัล แต่วิธีการเข้าถึงจะถูกกำหนดจากตัวแพลตฟอร์ม เช่น ผู้ใช้งาน iPhone ของ Apple จะถูกกำหนดให้ดาวน์โหลดจาก App Store ทำให้มีประเด็นการเลือกปฏิบัติค่าธรรมเนียมร้านค้าและการผูกขาดแพลตฟอร์มที่เป็นแนวตั้ง (Vertical Integration)

รูปแบบที่สาม Voucher Store หรือกลุ่มแพลตฟอร์มวอยเชอร์ดิจิทัล เช่น Booking, Agoda หรือ Klook อิสริยะได้นิยามว่าเป็นการซื้อสิทธิบนช่องทางดิจิทัล ก่อนจะไปแจ้งใช้สิทธิจริงในหน้างาน ทำให้มีประเด็นภาวะเสมอภาคของราคา (Price Parity) หากจองผ่านโรงแรมโดยตรงแล้วได้ราคาที่ถูกกว่าแพลตฟอร์มที่มีอำนาจในตลาดอาจจะโดนให้ออกจากแพลตฟอร์ม อีกทั้งมีประเด็นค่าธรรมเนียมร้านค้าและการคุ้มครองผู้บริโภคอีกด้วย

รูปแบบที่สี่ E-commerce หรือกลุ่มแพลตฟอร์มธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น Shopee, Lazada หรือ Amazon มีการซื้อขายสินค้าทางกายภาพ แต่ละแพลตฟอร์มจะกำหนดการจัดส่งสินค้าด้วยตัวเอง ทำให้มีประเด็นเรื่องการเลือกปฏิบัติ ค่าธรรมเนียมร้านค้า การคุ้มครองผู้บริโภค และอาจจะมีประเด็นค่าแรงเข้ามาเป็นปัญหา

สุดท้าย รูปแบบที่ห้า On-demand หรือกลุ่มแพลตฟอร์มตามความต้องการ เช่น Line, foodpanda, Grab หรือ Uber มีการซื้อขายสินค้าทางกายภาพ แต่แพลตฟอร์มจะจัดส่งสินค้าผ่านกลุ่มแรงงานที่เป็น Platform Worker ซึ่งเป็นตลาดเปิดให้คนเข้ามารับงานได้ ทำให้มีประเด็นค่าธรรมเนียมร้านค้าและค่าแรง

อิสริยะชี้ว่าแพลตฟอร์มที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นสะท้อนว่าแต่ละแพลตฟอร์มมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป และแสดงให้เห็นถึงความท้าทายของผู้กำกับดูแล อีกทั้งยังให้ข้อมูลว่าปัจจุบันกฎหมายดิจิทัลแพลตฟอร์มทั่วโลกมีการพยายามนิยามคำว่า Gate keeper โดยอิงจากส่วนแบ่งตลาด เพื่อเป็นเกณฑ์ในการกำกับดูแลผู้ที่มีอำนาจเหนือตลาดที่จะต้องดูแลอีกแบบ พร้อมกับให้ความเห็นว่าแม้การแบ่งแบบนี้จะมีข้อครหาว่าจะยังให้พื้นที่กับธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด แต่ก็เป็นโจทย์การตีความของผู้กำกับดูแลเช่นเดียวกัน

“ผมบอกว่า YouTube มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดที่เป็นวิดีโอแทบจะ 100% ถ้าตีความแบบแคบเข้าข่ายแน่นอน แต่ถ้าเกิด YouTube บอกว่าตลาดมีเดียอย่างอื่นมีตั้งเยอะ เราเป็นแค่ 10% ของตลาดมีเดียทั้งหมด คำถามคือใครถูก อันนี้ก็ไม่ง่าย ก็เป็นความยากในการกำกับดูแลเหมือนกันว่าตกลงแล้วพรมแดนของการวัดมันอยู่ตรงไหน เพราะว่าอุตสาหกรรมทุกวันนี้มันเบลอมาก”

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์

เมื่อพูดถึงรูปแบบการกำกับดูแลที่ต้องการในสายตาของคนที่ทำแพลตฟอร์ม อิสริยะตอบว่าการกำกับดูแลจะต้องเพิ่มขึ้นตามผลกระทบที่แพลตฟอร์มสร้าง แต่สิ่งที่อยากได้จากผู้กำกับดูแลในประเทศไทยคือการกำกับดูแลอย่างเท่าเทียมระหว่างแพลตฟอร์มที่จดทะเบียนในไทยและแพลตฟอร์มจากต่างประเทศที่อาจจะเป็นคู่แข่งทางตรงหรือทางอ้อม อีกประการคือการกำกับดูแลที่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ “กลัวว่า regulator แย้งกันเอง ไม่รู้จะฟังใคร ซึ่งเจอมาแล้วในประเทศนี้นะครับ”

อิสริยะยังยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการกำกับดูแลโดยรัฐไทย อย่างกรณียาเสพติด ซึ่งในทางกฎหมายระบุว่าแพลตฟอร์มห้ามขายสิ่งเสพติด แต่แพลตฟอร์มพบว่าเจอ ‘ท่าแปลกๆ’ ในการพยายามขาย เช่น ร้านค้าในระบบขายแค่น้ำเก๊กฮวยอย่างเดียวในราคาขวดละ 120 บาท ซึ่งไม่มีอัลกอริทึมตัวใดที่สามารถดักจับการขายลักษณะนี้ได้ หรือการใช้คำหรือคีย์เวิร์ดที่ยากต่อการตรวจจับ เช่น ใช้คำว่า ‘ยา’ ในการมอนิเตอร์ คนไทยก็จะหลบเลี่ยงด้วยการเขียนว่า ‘YA’ หรือ ‘Yา’ ซึ่งในมุมของแพลตฟอร์มก็พยายามเต็มที่ที่จะทำงานให้ถูกกฎหมาย

“การกำกับดูแลของรัฐไทยที่บทจะมีประสิทธิภาพก็มีประสิทธิภาพเหลือเกิน ซึ่งก็ทำให้แพลตฟอร์มเองก็ทำงานยากและกลายเป็นว่ามันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของแพลตฟอร์ม แต่คนป่วยอยู่บ้านอยากจะสั่งยา เราทำไม่ได้เลยนะครับ” อิสริยะยกตัวอย่างอีกกรณีคือหากแพลตฟอร์มมีรูปของยาอยู่ในหน้ารายการสินค้าก่อนกดคลิกเข้าไปซื้อจะถือว่าเป็นการโฆษณายา ซึ่งตามกฎหมายที่มีมานานแล้วจะต้องมีการขออนุญาตโฆษณากับทาง อย. เสียก่อน หากไม่ได้ขออนุญาตล่วงหน้าจะถูกปรับเคสละ 100,000 บาท

เมื่อถามถึงความโปร่งใสของระบบอัลกอริทึมของแพลตฟอร์ม อิสริยะตอบว่าเห็นด้วยในหลักการที่ว่าต้องมีกลไกบางอย่างทำให้โปร่งใสมากขึ้น เพียงแต่ว่าแต่ละแพลตฟอร์มมีระบบอัลกอริทึมที่แตกต่างกันและมีความซับซ้อนสูงมาก จึงยังคงเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ

นอกจากนี้ อิสริยะสะท้อนว่าคนที่อยู่นอกภาคแพลตฟอร์มอาจจะประเมินแพลตฟอร์มสูงไป บางครั้งมีมายาคติว่า ‘ที่ไม่แก้ไขเพราะต้องการหาผลประโยชน์’ ซึ่งบางเรื่องก็จริง แต่บางเรื่องด้วยข้อจำกัดของผู้ทำแพลตฟอร์ม ทำให้อาจไม่สามารถแก้ไขในบางปัญหา เช่น กลโกงระบบแข่งกดรับออเดอร์ หรือแผนที่นำทางผิด ซึ่งแพลตฟอร์มโดนร้องเรียนมาเสมอว่าต้องการเอาเปรียบไรเดอร์หรือเปล่า เพราะจะได้จ่ายค่าตอบแทนน้อย ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง แต่เนื่องจากไม่สามารถใช้ Google Maps ในเชิงพาณิชย์เพราะราคาสูง แอปพลิเคชันในท้องตลาดจึงต้องใช้แผนที่อื่นที่ไม่ได้ดีเท่ากับ Google Maps

“แพลตฟอร์มก็ไม่ได้เก่งขนาดนั้นในการแก้ไขปัญหาบางอย่างนะครับ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เขาเรียกว่าสุดขอบเหวความสามารถของแพลตฟอร์มเหมือนกัน”

สำหรับประเด็นแรงงาน อิสริยะชี้ว่าต้องกลับไปสู่พื้นฐานของนิติสัมพันธ์ของกฎหมายแรงงานไทย แต่เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสียเลยอาจจะต้องขอความเห็นจากณรัณ แต่โดยหลักการ อิสริยะคิดว่ากฎหมานแรงงานไทยค่อนข้างล้าหลัง ทางบริษัทได้แจ้งข้อกังวลต่อร่าง พ.ร.บ.แรงงานอิสระของกระทรวงแรงงาน เนื่องจากผู้ร่างอาจจะไม่ได้เข้าใจกระบวนการของแพลตฟอร์มได้ละเอียดนัก และในด้านหนึ่ง ร่างกฎหมายฉบับนี้พยายามจะแก้ปัญหาแรงงานอิสระทั้งระบบ ซึ่งจริงๆ แต่ละภาคส่วนก็มีความต้องการแตกต่างกัน

“ผมขอตอบกว้างๆ คือเราอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่มีอุปสรรคต่อการเข้าตลาด (Barrier to Entry) นะครับ พูดง่ายๆ ก็คือใครจะมาทำประกอบธุรกิจนี้ไม่ต้องขอใบอนุญาต เราไม่เหมือนธนาคาร ซึ่งที่ผ่านมาถ้าเกิดใครติดตามข่าวก็จะเห็นว่ามีบริษัทต่างๆ เข้ามาในตลาด เพื่อมาแข่งกับเราหลายเจ้า ต้องบอกว่าเป็นตลาดเปิด เราก็อยู่มาได้ขนาดนี้ เราก็ต้องมีความสามารถในการการแข่งขัน

“ถ้าไปดูตามต่างจังหวัด จะเห็นว่ามีเดลิเวอรี่ที่เป็นเจ้าท้องถิ่นก็หลายที่ คิดว่าพูดอย่างนี้จะเป็นการท้าทายหรือเปล่า แต่ก็ต้องบอกว่าเราก็ยินดีรับการแข่งขัน ถ้าเราสู้ไม่ได้เราก็ต้องออกจากตลาดไป ถ้าเกิดไปพูดภาษาเศรษฐศาสตร์ก็เป็นตลาดที่แข่งขันสมบูรณ์” อิสริยะตอบทิ้งท้าย เมื่อมีไรเดอร์สอบถามในประเด็นค่าตอบแทนรอบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ส่องผลกระทบแรงงานแพลตฟอร์ม เมื่อบางแพลตฟอร์มเป็นเด็กดื้อตั้งแต่เกิด – อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ

โลกของแพลตฟอร์มยังคงขับเคลื่อนด้วยแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มไรเดอร์ที่เป็น ‘มดงาน’ ผลักดันให้เศรษฐกิจยังคงไปต่อได้ อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาด้านแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มให้ความเห็นถึงข้อดีของแพลตฟอร์มว่าถูกนำมาใช้ในการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และมีต้นทุนที่ต่ำลง อย่างไรก็ดีในฐานะผู้ศึกษาแรงงานเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ทั้ง ‘กลุ่มแรงงานแบบดั้งเดิม’ ที่ถูกแพลตฟอร์มดิสรัปต์ เช่น คนขับแท็กซี่ หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และ ‘กลุ่มแรงงานที่ได้ประโยชน์จากการมีอยู่ของแพลตฟอร์ม’ เช่น ไรเดอร์ หรือ Youtuber พบว่าแพลตฟอร์มยังมีประเด็นปัญหาที่รอวันได้รับการแก้ไข ทั้งจากฝั่งผู้ประกอบการและผู้มีอำนาจในการกำกับดูแล

“ก่อนหน้านี้เราพูดถึงเรื่องของการกำกับดูแลแพลตฟอร์มว่าถ้ามันเด็กเกินแล้วเราไปกำกับแต่แรกมันอาจจะไม่โต แต่มีแพลตฟอร์มบางประเภทที่เป็นเด็กดื้อมาตั้งแต่เกิดเลย เป็นแพลตฟอร์มที่เสนอทางเลือกอื่นซึ่งคิดว่าตอบสนองกับผู้บริโภคมากกว่า โดยไม่ได้สนใจระเบียบข้อบังคับที่มีเลย เช่น การให้บริการรถ โดยเอารถที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือผู้ขับขี่ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพนั้น ถึงแม้ว่าการเรียกรถอย่างแท็กซี่ 4 ล้อจะถูกกฎหมายไปแล้ว แต่ว่าตัวมอเตอร์ไซค์ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะพยายามที่จะทำให้ถูกกฎหมาย ซึ่งตอนนี้พบว่ามีสภาพการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมอยู่”

อรรคณัฐชี้ว่าขณะที่แพลตฟอร์มต้องการการกำกับดูแลที่เป็นธรรม แต่ปัจจุบันการแข่งขันที่เกิดขึ้นไม่เป็นธรรมและสุ่มเสี่ยงว่าการออกกฎหมายลักษณะนี้จะทำผิดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเปิดโอกาสให้แข่งขันในตลาดเดียวกัน และทำให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างกับแรงงานแพลตฟอร์มเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง ภายใต้การกำกับดูแลด้วยกฎหมายคนละชุดที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงทั้งในเรื่องของการเข้าสู่อาชีพ ในเรื่องของค่าโดยสาร นอกจากนี้ในกลุ่มแรงงานที่ได้ประโยชน์จากการมีอยู่ของแพลตฟอร์มแม้ในอุดมคติแพลตฟอร์มควรจะทำหน้าที่จับคู่ความต้องการและสร้างความเป็นธรรม แต่เมื่อแพลตฟอร์มขับเคลื่อนด้วยธุรกิจมากเกินไปก็ทำให้เกิดปัญหาว่าแพลตฟอร์มสร้างกลไกที่ไม่เป็นธรรม

“แพลตฟอร์มไปสร้างอำนาจบางอย่างที่ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบนิเวศธุรกิจมีอำนาจในการต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกัน ในอุดมคติ กลุ่มนี้ควรจะมีอำนาจเท่าๆ กัน แต่ว่าร้อยทั้งร้อย แพลตฟอร์มทรงอำนาจในการที่จะกำหนดว่าใครควรจะมีอำนาจมากน้อยแค่ไหน นี่คือสิ่งที่เป็นปัญหาและยังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน”

อรรคณัฐยกตัวอย่างกรณีแรงงานไรเดอร์ เปิดข้อดีว่าแพลตฟอร์มเปิดโอกาสให้คนเข้าสู่อาชีพได้ โดยอาจไม่ได้มีอุปสรรคในการเข้าสู่อาชีพนี้ และมีความยืดหยุ่นในการกำหนดเวลาทำงาน ซึ่งอรรคณัฐตั้งข้อสังเกตว่าเป็นความยืดหยุ่นจริงไหม หรือเป็นความยืดหยุ่นที่อยู่ภายใต้การควบคุมของแพลตฟอร์ม เนื่องจากพบว่ามีลักษณะควบคุมบางอย่างที่ทำให้สภาพการทำงานของไรเดอร์ไม่ได้เป็นไปตามที่กลไกของตลาดควรจะเป็น เช่น ก่อนหน้านี้มีแพลตฟอร์มให้ไรเดอร์แข่งกันรับคำสั่งซื้อ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีคนตอบสนองต่อคำสั่งซื้ออย่างรวดเร็ว ลูกค้าไม่ต้องรอนาน แต่ทำให้เกิดนัยของการแข่งขันตลอดเวลา อีกทั้งความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ช้าก็อาจจะทำให้เข้าถึงโอกาสในการทำงานน้อย และไม่มีเวลาในการพิจารณาความคุ้มค่าของระยะทางในการเดินทางไปขนส่งจนเกิดเป็นต้นทุนที่ไรเดอร์ต้องแบกรับ โดยไม่ถูกนำมาคำนวณเป็นค่าตอบแทน เนื่องจากค่าตอบแทนคำนวณจากร้านค้าไปยังผู้บริโภค

“ตอนนี้ระบบที่เป็นที่นิยมก็คือระบบเรตติ้ง ถ้าไรเดอร์ให้บริการแล้วเราประทับใจ เราให้คะแนนเขาเยอะ การให้คะแนนมันจะส่งผลต่อการรับงานในอนาคต แนวคิดนี้ก็คือ คนที่ให้บริการดี มีประสิทธิภาพ สมควรที่จะได้รับรางวัลในการที่จะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรกๆ ในการที่จะส่งงานให้ แต่ว่ามันก็มีปัญหาในแง่ที่ผู้บริโภคหลายคนก็เอาเปรียบ รู้ว่าการให้คะแนนส่งผลต่อการรับงานของไรเดอร์ ดังนั้นไรเดอร์จะกลัวการให้คะแนนน้อย ก็จะมีข้อความมาว่าทำนู้นทำนี้ให้หน่อย ซึ่งไม่ทำได้ไหม ได้ สามารถที่จะแจ้งแพลตฟอร์มได้ว่าสิ่งที่เขาขอให้ทำมันเกินขอบเขตของงาน แต่ช่องทางในการแจ้งว่าได้รับการปฏิบัติจากลูกค้าไม่เป็นธรรมมันน้อย แล้วคุณจะถูกลงโทษก่อนแล้วคุณค่อยพิสูจน์ทีหลัง

“ทำไมภาระการพิสูจน์ มันถึงตกมาอยู่ที่คนงาน ทำไมบริษัทหรือแพลตฟอร์มสร้างกลไกความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มันไม่เท่าเทียมกันได้ขนาดนี้”

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ

ไม่ใช่แค่รูปแบบการรับงานที่ดูจะเป็นที่น่าตั้งคำถาม ความสัมพันธ์การจ้างงานของแรงงานแพลตฟอร์มยังคลุมเคลือระหว่างการจ้างแบบ ‘ลูกจ้าง-นายจ้าง’ และ ‘ผู้ว่าจ้าง-ผู้รับงาน’ ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายคนละชุดกัน หากเป็นลูกจ้างกับนายจ้างก็จะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน มีอำนาจต่อรองในการรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงาน แต่หากเป็นผู้ว่าจ้าง-ผู้รับงานในลักษณะการจ่ายค่าตอบแทน เมื่อส่งมอบงานจะอยู่ภายใต้กฎหมายแพ่ง ความคลุมเครือนี้เองส่งผลต่อการคุ้มครองทางสังคมของแรงงาน 

“โดยสรุปก็คือแพลตฟอร์มสามารถที่จะทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไปได้ไหม ทำได้ สบายมาก แต่แพลตฟอร์มมีแรงจูงใจในการที่จะทำไหม ไม่ เพราะว่าบริษัทต้องการที่จะทำกำไร แล้วจริงๆ อำนาจในการขับเคลื่อนสิ่งนี้ผมตั้งคำถามว่าอาจจะเป็นนักลงทุน โมเดลการระดมทุนแบบสตาร์ทอัพที่มันทำลายความตั้งใจแรกของคนที่ต้องการจะทำธุรกิจ เพื่อแก้เพนพอยต์ของผู้ใช้ไปๆ มาๆ กลายเป็น money game แล้วไปๆ มาๆ กลายเป็นนับตัวเลข 

“เขา count กำไร ผมนั่ง count ว่าทุกวันนี้มีไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุเท่าไหร่ เสียชีวิตเท่าไหร่ ตัวเลขที่เรานับมันต่างกัน

หากมองไปในอนาคตว่าเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะนำไปสู่โอกาสในการจ้างงานต่อยอดไปยังประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลอย่างที่คาดหวังหรือไม่ อรรคณัฐร้องขอให้ผู้ประกอบการโชว์ความสามารถทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์มมากกว่าการให้มูลค่าที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการให้แรงงานทำงานมากขึ้น แต่ได้รับค่าตอบแทนน้อยลง เช่น งาน badge ที่ต้องรับงานมากกว่า 1 ผู้สั่งซื้อ หากมีผู้สั่งอีกคน แล้วไรเดอร์อยู่ใกล้อีกร้าน คุณจะต้องรับงานนั้นแล้วไปส่งให้คนนั้นก่อนที่จะมาส่งให้กับออเดอร์แรก ทำให้แรงงานทำงานและมีความเสี่ยงต่ออันตรายมากขึ้น แต่ไม่ได้รับค่าตอบแทนแบบที่ควรจะเป็น 

“ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันส่งผลต่อเรื่องอื่นๆ เวลาที่แพลตฟอร์มอยากจะแสดงความสามารถว่าตัวเองยังมีศักยภาพในการทำกำไรให้นายทุนเห็นผ่านทริคต่างๆ ที่หลอกให้คนทำงานมากขึ้นและได้ค่าตอบแทนน้อยลง ผมคิดว่ามันแย่จนถึงขั้นที่ผมยอมรับไม่ได้ Google Maps API คุณต้องจ่าย คุณต่อรองกับเขาไม่ได้ แต่คุณมาบีบเอากับคนที่ไม่ค่อยมีทางเลือกเท่าไหร่ คุณมาทำให้เขาทำงานมากขึ้น มาบีบเอากับคนที่เป็นแรงงาน คุณต้องเห็นคนเป็นมนุษย์ก่อน”

อรรคณัฐชี้ว่าการกำกับดูแลจึงเป็นเรื่องสำคัญ แม้ประเทศไทยขยับช้า แต่ก็มีทำให้กรณีศึกษาหลากหลาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป ซึ่งถ้าพูดถึงการแก้ไขปัญหาแรงงานแพลตฟอร์มมีอยู่ 3 แนวทาง ดังนี้

แนวทางแรก ร้องขอให้รัฐกำกับดูแล แต่จะใช้ระยะเวลานาน และกว่ามาตรการจะออกมา ปัญหาก็อาจจะเคลื่อนไปสู่เรื่องใหม่ ดังนั้นแนวทางในการเรียกร้องให้รัฐกำกับดูแลและออกกฎหมายจึงเป็นแนวทางที่ต้องทำ

แนวทางที่สอง ร้องขอธรรมมาภิบาลจากผู้ประกอบการ อรรคณัฐเล่าว่าช่วงที่วิจัยการประท้วงของไรเดอร์ 19 ครั้ง มี 5 ครั้งที่ได้รับการตอบสนองในบางข้อ และบางข้อนั้นก็เป็นข้อที่แพลตฟอร์มเห็นว่าแก้ได้ และเป็นประโยชน์กับแพลตฟอร์มด้วย แต่เรื่องหลักๆ ที่ไรเดอร์ร้องขอคือเรื่องของค่าตอบแทนไม่เคยได้รับการตอบสนอง

แนวทางที่สาม แรงงานจะต้องเข้มแข็งแล้วรวมตัวกันเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตเอง ตอนนี้มีมูฟเมนต์ที่เรียกว่าสหกรณ์แพลตฟอร์ม (Platform Cooperativism) เช่น คนขับแท็กซี่ที่นิวยอร์กรวมตัวกัน 8,000-9,000 คนเอาเงินไปจ้างบริษัทเทคโนโลยีมาพัฒนาแอปพลิเคชันแข่ง แล้วโต 12 เท่า จากปีแรก 5 แสนเหรียญสหรัฐ ปีต่อมาเกือบ 6 ล้านเหรียญสหรัฐ แล้วเขาสามารถจัดการผลประโยชน์กันเอง การันตีว่าจะได้รับค่าตอบแทน ไม่ว่ามีผู้โดยสารหรือไม่ก็ตาม โดยได้รับ 30 เหรียญต่อชั่วโมง ซึ่งถือเป็นค่าจ้างเพื่อชีวิต (Living Wage)

ปัจจุบันอรรคณัฐกำลังพยายามส่งเสริมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทย พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางโจทย์วิจัยของประเทศให้ความสำคัญกับประเด็นแพลตฟอร์ม เพราะเป็นวาระแห่งโลก

“การให้ความสำคัญเรื่องนี้ยังน้อย เราจึงมีการสนับสนุนน้อย มีงานวิจัยที่น้อย เราก็ลงเอยด้วยการที่เราไม่มีองค์ความรู้เพียงพอในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากและก็ลึกซึ้งด้วย”

อรรคณัฐขยายว่าการขาดแคลนการสนับสนุน ทำให้งานวิจัยส่วนใหญ่ยังกระจุกเรื่องแรงงานแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่และเรียกรถ ไม่มีความหลากหลายเพียงพอ และเท่าที่มีก็ดูจะเป็นงานวิจัยจากต่างประเทศว่าใช้ระเบียบวิธี (Methodology) ทฤษฎี (Theory) กรอบความคิด (Framework) อะไรแล้วนำมาเป็นตุ๊กตาในการศึกษา แต่จริงๆ นักวิจัยไทย ‘มีดีพอ’ ในการผลิตองค์ความรู้และสามารถสร้างระเบียบวิธีวิจัยได้ด้วยตัวเอง เพียงแต่ว่าพอไม่มีการสนับสนุน ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะทำไปแล้วไม่ได้รับการสนับสนุน

เมื่อขยับมาที่การเสนอโจทย์วิจัย อรรคณัฐชี้ว่าเศรษฐกิจแพลตฟอร์มยังเป็นเพียงส่วนเดียวของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคแพลตฟอร์ม (Platformization) ยังมีเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ในประเทศไทยยังไม่มีผู้ศึกษาเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นองคาพยพของรัฐ การกำกับดูแล การตั้งงบประมาณ ความสามารถและความเข้าใจของคน

“พอรัฐต้องการที่จะสร้างแพลตฟอร์มในฐานะโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะให้เอกชนทำแล้วเราก็จะไม่รู้เลยว่าข้อมูลต่างๆ ที่เอกชนได้ไป เขาเอาไปใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่นหรือเปล่า ต่างประเทศให้ความสนใจโครงข่ายดิจิทัลสาธารณะมากนะครับ ซึ่งบ้านเรายังไม่มีคนศึกษา หมอพร้อม ไทยดี ตอนนี้เรามีแพลตฟอร์มที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเยอะเลย แต่เราไม่รู้เลยว่าเราจะกำกับ เราจะจัดการ หรืแจะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ต่อไปยังไงให้มันยั่งยืน” อรรคณัฐทิ้งท้าย

มองภาพใหญ่ดิจิทัลไทยก่อนการกำกับดูแล – ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย

“เวลาเราจะใช้กฎหมายแก้ปัญหา ประเด็นนั้นต้องเป็นปัญหาสังคมที่มีความถาวรระดับหนึ่ง ถ้าเป็นปัญหาที่เกิดเฉพาะช่วง บางทีเครื่องมือกฎหมายอาจจะไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการแก้ไขปัญหานั้น เพราะกฎหมายใช้เวลานานมากกว่าจะขับเคลื่อนอะไรได้สักหนึ่งอย่าง มันมีเหตุผลของมันว่าทำไมกฎหมายต้องใช้เวลานาน เพราะทุกครั้งที่มีการออกกฎหมายคือการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการดำรงชีวิตและการประกอบธุรกิจ”

เมื่อแพลตฟอร์มเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คน การกำกับดูแลจึงเป็นเรื่องที่ถูกจับตามอง ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ กองกฎหมายการเงินการคลังและกองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เล่าว่า หากมองเข้าไปในระบบเศรษฐกิจแล้วเห็นว่ามีช่องว่าง ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างของสถานะบุคคลที่เกี่ยวข้อง ช่องว่างของกิจกรรมที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย กฎหมายอาจจะเข้ามาช่วยแสดงบทบาทสนับสนุนการเติมเต็มช่องว่าง แต่สำหรับแพลตฟอร์มมีความซับซ้อนมากกว่านั้นหลายประการ

ประการแรก แพลตฟอร์มมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) อย่างน้อย 3 คนขึ้นไปเกี่ยวข้องกันตลอดเวลา กล่าวคือลักษณะความสัมพันธ์นี้แตกต่างจากการทำสัญญาโดยปกติที่เป็นการทำสัญญาระหว่างคู่สัญญา 2 คน และกฎหมายแพ่งทั่วโลกที่ไม่ได้มีนิยามไดนามิกนี้เอาไว้ แม้กระทั่งธนาคารที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างคนฝากเงินและเอาเงินนั้นไปปล่อยกู้ต่อก็มีการทำสัญญา 2 สัญญาแยกออกจากกันตลอด แต่แพลตฟอร์มไม่สามารถแบ่งแยกสัญญาแต่ละสัญญาได้อย่างเด็ดขาด ทำให้เป็นปัญหาในเชิงช่องว่างของสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ และเกิดขึ้นในสังคมที่ยังตอบไม่ได้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร 

ประการที่สอง เมื่อใช้กฎหมายเข้ามากำกับดูแลหรือแทรกแซงในระบบทุนนิยม เกิดการบิดเบือนตลาด หรือเกิดความไม่ถูกฝาถูกตัวกันในตลาด เช่น สมมติคนใดคนหนึ่งในการทำธุรกรรมเข้าถึงข้อมูลมากกว่าอีกคน เกิดความไม่ยุติธรรม มีวิธีคิดที่ทำให้อีกคนต้องเสี่ยงเกินไปและทำให้สังคมเกิดปัญหา ณรัณชี้ว่าการปล่อยให้ตลาดสามารถทำธุรกรรมระหว่างกันอาจจะไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด หน้าที่กฎหมายจึงต้องเข้าไปแทรกแซง กำกับดูแล ซึ่งในฐานะผู้ร่างกฎหมาย อาจจะยังไม่สามารถให้ความเห็นว่าในตลาดแพลตฟอร์มมีปัญหาลักษณะนี้บ้างไหม แต่อยากฉายภาพรวมประเด็นที่เกิดขึ้นเวลาพูดถึงเรื่องแพลตฟอร์ม

ประการที่สาม แม้รูปแบบของแพลตฟอร์มซึ่งดูเหมือนจะเป็นคำใหม่ แต่ลักษณะการเป็นตัวกลางไม่ใช่โมเดลธุรกิจใหม่ ตลาดสดก็เป็นแพลตฟอร์มชนิดหนึ่ง แต่ทว่าปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้และทำให้บทบาทผู้เกี่ยวข้อง บทบาทตลาดและอำนาจต่อรองเปลี่ยนไป ทำให้ไม่สามารถนำวิธิคิดของการกำกับดูแลตลาดมาใช้ในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่าง 100%

“พูดถึงเรื่องของการสร้างความการเป็นธรรมหรือความเท่าเทียม บางทีความเท่าเทียมอาจจะไม่เป็นธรรมก็ได้ในตลาดที่มีลักษณะที่ต่างไปจากแนวคิดเดิมที่เราเคยใช้ในการออกกฎหมายกันมา ก่อนหน้านี้มีการพูดถึงแล้วในเรื่องพลวัตที่แตกต่างกันอย่างผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มต่างประเทศกับในประเทศ อย่างแรกคือเราควรจะสร้างความเท่าเทียมให้เขาไหม อะไรคือความยุติธรรม ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่จุดเดียวกับความเท่าเทียม อย่างที่สองที่สอง แพลตฟอร์มขนาดใหญ่กับแพลตฟอร์มขนาดเล็ก ความเท่าเทียมคือให้เขาอยู่ภายใต้กฎเดียวกัน แต่มันคือความยุติธรรมจริงๆ หรือเปล่า”

ณรัณยังฉายความซับซ้อนของการออกแบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มผ่านการตั้งคำถามว่าผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มอาจจะเข้าไปด้วยวัตถุประสงค์ไม่เหมือนกัน เช่น คนขับแกร็บเพื่อหารายได้เสริมตอนกลับบ้านหรือคนที่ประกอบอาชีพบนแพลตฟอร์มอย่างจริงจัง ควรจะอยู่บนพื้นฐานของการควบคุมโดยกฎหมาย สร้างหน้าที่ และอำนาจเหมือนกันหรือเปล่า

“ผมแค่อยากจะเริ่มต้นด้วยการบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะไม่ใช่ปัญหาที่ประเทศไทยเจอประเทศเดียว มันมีไดนามิกหลายด้านมาก แม้กระทั่งในมุมมองกฎหมายเอง เราจะเริ่มต้นจากการมองว่าปัญหาแพลตฟอร์มคือประเด็นการสนับสนุน (Enabling Issue) คือประเด็นด้านกำกับดูแล (Regulation Issue) หรือมันคือเรื่อง ‘ดิจิทัล VS อนาล็อก’ มันเป็น ‘a little bit of everything’ เลยทำให้การออกกฎหมายที่มีจุดประสงค์อย่างเดียวชัดเจนเหมือนเดิม ทำได้ค่อนข้างยาก”

“กฎหมายที่กำลังร่างกันอยู่ เราอยากที่จะสร้างความชัดเจนให้เห็นในตลาดนี้ก่อน อยากจะสร้าง Enabling Law เพราะมันมีช่องว่างที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์มอยู่เยอะมาก ที่การออกกฎหมายพื้นฐานไปช่วยสร้างความชัดเจนให้กับคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำให้สามารถเข้าใจบริบทและหน้าที่ของตัวเองได้ แล้วพอคุณเข้าใจในบริบทของตัวเองแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เขาจะคิดได้เองว่ายังมีความบิดเบือนในตลาดอยู่หรือเปล่า แล้วจำเป็นต้องไปกำกับไหม” ณรัณให้ความเห็นว่าการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต้องได้รับความเห็นจากคนในสังคมทุกฝ่ายรอบด้าน

ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย

พิจารณาดูการกำกับดูแลเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ณรัณกล่าวว่าอาจแบ่งสำนักการกำกับดูแลได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ การกำกับดูแลในยุโรป ที่ออกกฎหมายในเชิงกำกับดูแล เรียกว่าการคุ้มครองสิทธิ (Right Protection) เนื่องจากรู้สึกว่าประชาชนโดนเทคโนโลยีเข้าไปลิดรอนสิทธิ หรือสร้างต้นทุนอะไรบางอย่างที่ประชาชนไม่เห็น เป็นผลกระทบภายนอกที่ต้องใช้กฎหมายเข้าไปกำกับ เพื่อให้สังคมมีความเป็นธรรม ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพของตัวเองอย่างสมบูรณ์มากขึ้น

การกำกับดูแลสไตล์อเมริกัน คือ เป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยีที่ทำให้เน้นไปที่กลไกตลาด เนื่องจากหากกำกับดูแลมากเกินไปจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้ตลาดไม่สามารถดำเนินไปได้ แต่ใช้การสนับสนุน (enable) ให้สิทธิทางกฎหมายเพื่อให้เกิดการแข่งขันไปสู่จุดที่เป็นสมดุลของประเทศ

การกำกับดูแลแบบจีน มีลักษณะการควบคุมทุกอย่าง ถ้าในช่วงต้นยังเห็นว่าต้องส่งเสริมก็ส่งเสริมอย่างบ้าคลั่ง เมื่อมีอำนาจมากเกินไปก็จะใช้อำนาจรัฐในการหยุด

“ถามว่าเมืองไทยควรเป็นแบบไหน ผมว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ดี เพราะยากมากที่จะออกกฎหมายหรือว่าสร้างแนวนโยบายที่ต้องนำไปใช้ในสังคมที่ตอบได้ทุกโจทย์ เราต้องเลือกมาหนึ่งอย่าง เช่น เราอยากที่จะเน้นให้ประเทศมีความได้เปรียบในการแข่งขันเรื่องแพลตฟอร์ม ไม่ว่าเราจะทำเองหรือมีต่างชาติเข้ามาลงทุนแล้วเอาเราเป็นฮับ หรือเราต้องการจะปกป้องคนที่เกี่ยวข้องที่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อย โดยเฉพาะประชาชน หรือเราอยากที่จะสร้างความมั่นคง เราไม่รู้หรอกว่าความมั่นคงคืออะไร แต่เรามองภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นธงไว้ก่อน แล้วกฎหมายจะได้ถูกออกแบบเพื่อไปให้ถึงธงนั้นได้

“แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือธงนี้ปักยาก เพราะว่าเมื่อไหร่คุณปักธงจะมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับธงหรือจุดที่คุณปักธง ทุกประเทศเป็นอย่างนี้หมด ต้องเรียนตรงๆ ว่าต้องมีความกล้าหาญในเชิงนโยบายในการปรับและอธิบายประชาชนให้เข้าใจให้ได้ว่าทำไมเราถึงไปทางนั้น ทำให้กระบวนการนี้มันต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย คนที่ปักธงต้องเป็นคนที่ประชาชนเขาบอกว่าไปปัก และถ้าปักผิดก็สามารถเอาออกได้”

ขยับมาที่การตั้งโจทย์วิจัย ดร.ณรัณชี้ว่า มีชุดข้อมูลที่หน่วยงานวิจัยหรือองค์กรด้านวิชาการสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ทางการวิจัยได้ เนื่องจาก พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หมวด 1 มาตรา 12 ระบุว่าแพลตฟอร์มต้องรายงานข้อมูลให้กับหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ซึ่งส่วนหนี่งเป็นข้อมูลความลับทางธุรกิจ แต่มีอีกหลายข้อมูลที่จะมีประโยชน์กับการวิเคราะห์ว่าหน้าตาเศรษฐกิจแพลตฟอร์มของประเทศไทย เช่น จำนวนผู้เข้าใช้บริการ จำนวนแพลตฟอร์มที่มาขึ้นทะเบียนทั้งหมด เป็นต้น นอกจากนี้ยังเสนอให้ติดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อเข้าถึงข้อมูลและสร้างองค์ความรู้ในประเทศไทย

นอกจากนี้ ดร.ณรัณ ยังเสนอหัวข้อวิจัยเรื่อง ‘พัฒนาการของสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลในปัจจุบัน’ โดยตั้งข้อสังเกตว่า ทุกวันนี้ธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ส่วนใหญ่ยังเป็นธุรกรรมขนาดเล็กมาก (Micro Payment) ทั้งที่มีกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ระบุว่าสามารถนำธุรกรรมทั้งหมดด้วยวิธีการออนไลน์  

“ผมอยากจะสนับสนุนให้คนถอยกลับมาพิจารณาดูว่า ที่บอกว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางด้านดิจิทัล ในความเป็นจริงแล้วโลกดิจิทัลเรามันเป็นแค่โลกมายาหรือมีความเป็นดิจิทัลตั้งแต่โครงสร้าง การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนที่ทำธุรกรรมระหว่างกันมันเป็นดิจิทัลจริงหรือเปล่า ปัญหาอย่างนึงที่อาจจะทำให้ไม่เกิดเรื่องแบบนี้ก็คือธุรกรรมขนาดเล็กมาก 99.99% ไม่ไปถึงศาล เราไม่รู้เลยว่าสัญญาที่เราทำออนไลน์มันบังคับใช้ได้จริงไหม พอมีสัญญาที่มีความสำคัญมากที่เรากลัวปัญหา เราเลือกไม่ใช้วิธีการทางดิจิทัล”

“ถ้าเกิดเราอยากจะสร้างสังคมที่เบลนด์ทั้งความเป็นอนาล็อก ความเป็นออนไลน์ เป็นสังคมที่เป็นพื้นฐานเพื่อรองรับนวัตกรรมใหม่ๆ ของประเทศไทย และอยากให้ประเทศไทยเป็นฐานเพื่อส่งผู้ประกอบการไทยไปเมืองนอก หลายๆ ประเทศเขาให้ความสำคัญกับเรื่องพื้นฐานแบบนี้ก่อนที่จะคุยกันเรื่องการกำกับดูแล ก่อนหน้าที่จะคุยกันในอีกหลายๆ เรื่อง อยากจะเห็นใครก็ตามมาวาดภาพสังคมออนไลน์ของไทยให้พวกเราได้ดูหน่อย”

ณรันยังเสนอถึงโจทย์วิจัยเรื่อง ‘บทบาทของกฎหมายกับการพัฒนา’ เนื่องจากมีมายาคติว่าการออกกฎหมายจะช่วยแก้ไขปัญหาทุกอย่าง แต่จริงๆ แล้วการออกกฎหมายอาจจะไม่ได้ผลที่ต้องการ เนื่องจากมันไม่ได้เป็นปฏิกิริยาทางเดียว แต่เป็นไดนามิกที่มาจากหลายด้าน

“ผมอยากให้มองกว้างไปกว่าแค่แพลตฟอร์มต่างๆ แต่มองไปถึงโลกดิจิทัลเลยว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโลกดิจิทัลทั้งหมดที่ภาครัฐกำลังจะใส่ลงไปในสังคมเรา มันมีผลอย่างที่ภาครัฐอยากจะให้เกิดกี่อัน หรือต้องมีนวัตกรรมในเชิงของการใส่กลไกใหม่อย่างไรในโลกที่รัฐกำกับดูแลได้น้อยลงเรื่อยๆ จากการที่โลกเคลื่อนสู่ความไร้พรมแดน และมีเทคโนโลยีเข้ามาคั่นระหว่างคนกับรัฐ หรืออะไรก็ตาม” ณรัณทิ้งท้าย

สะท้อนมุมมองต่อภาครัฐ การบ้านการกำกับดูแลของแพลตฟอร์ม – นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

“ในฐานะคนที่ทำงานภาครัฐ ผมตั้งคำถามแรกคือรัฐมีประสิทธิภาพในการกำกับดูแลจริงหรือเปล่า คือต่อให้เราอยากมีกติกา แต่ภาครัฐศักยภาพไม่ถึง ความตั้งใจไม่มี มันก็ไปไม่ถึง

“ถ้าถามผมว่าจะกำกับดูแลเศรษฐกิจแพลตฟอร์มอย่างไร ผมคิดว่ามันคือนวัตกรรมบวกกับตลาดรูปแบบใหม่ เวลากำกับตลาดมันมีหลักการกำกับตลาดอยู่แล้ว เพียงแต่คุณต้องไปกำกับนวัตกรรม แต่นวัตกรรมเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิด ดังนั้นคุณออกกฎหมายล่วงหน้าไม่ได้ คุณออกทีหลังอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือจับตาว่านวัตกรรมเหล่านี้มีผลกระทบอะไรที่ต้องออกกฎหมายไหม ถ้ามีก็ออก ไม่มีก็ไม่ต้องออก ปัญหาของผมเชื่อว่ารัฐมีความเฉื่อยในการจับตาปัญหากว่าจะไหวตัวทัน บางครั้งปัญหามันบานปลายจนกฎหมายก็แก้ไม่ได้แล้ว อันที่สองรัฐไทยมีลักษณะการทำงานเป็นไซโล กฎหมายแต่ละฉบับก็ของใครของมัน แล้วก็รัฐไทย ข้าราชการไทยมีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่าถ้าเพิ่มงานไม่เพิ่มเงิน มันคือเพิ่มความรับผิดไม่ได้เพิ่มความรับชอบ”

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ปรึกษากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศ น์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตั้งข้อสังเกตว่าด้วยภาระงานของข้าราชการภาครัฐที่มีจำนวนมากและงบประมาณจำกัด ทำให้เมื่อมีการออกกฎหมายใหม่ก็มักจะมีการออกหน่วยงานใหม่ แต่ปัญหาคือสิ่งเหล่านี้ตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า 

นอกจากนี้ยังสะท้อนประเด็นความเหมาะสมในการตีความกฎหมายที่หากข้าราชการต้องการทำก็จะตีความให้กว้างเกินฐานอำนาจตามกฎหมายแม่บท หากไม่ต้องการทำก็จะตีความตัวบทให้แคบและแจ้งว่ากฎหมายไม่ครอบคลุมถึงหน้าที่หน่วยงาน อีกทั้งยังมีเรื่องวัฒนธรรมของข้าราชการที่หากสนับสนุนเอกชนจะโดนข้อหาทางการเมืองว่าเอื้อเอกชน และห้ามใช้งบประมาณล้มเหลว หากล้มเหลวต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งขัดกับการทดลองของสตาร์ทอัพที่มีโอกาสสำเร็จไม่ถึงครึ่ง

“ถ้าไปดูกองทุนต่างๆ ในประเทศไทย ส่วนหนึ่งจะสนับสนุนเฉพาะคนมักคุ้นหรือคนที่ได้รับใบสั่งมา เพราะถ้าคนไม่มักคุ้นสนับสนุนไปแล้วล้มเหลว กรรมการที่อนุมัติก็ซวย กลายเป็นว่ากองทุนแต่ละกองทุนจะมีประสิทธิภาพจำกัด ทั้งที่เราออกแบบมาให้มันสามารถสนับสนุนอะไรที่เกิดประโยชน์กับรัฐ ประเด็นเหล่านี้มันมัดตราสังข์หน่วยงานรัฐไว้ระดับนึง” นพ.ประวิทย์ให้ความเห็นว่าควรสนับสนุนเอกชนทั้งภาคส่วน ไม่ใช่เพียงคนใดคนหนึ่ง โดยคัดเลือกตามแต่คุณสมบัติ เพื่อให้ไม่มีแต่ ‘หน้าเดิม’

สำหรับทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นพ.ประวิทย์เสนอว่าภาครัฐต้องทำงานร่วมกันเอง แทนที่จะยกเค้กก้อนใดก้อนหนึ่งให้กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพราะเป็นการทำงานแบบข้ามภาคส่วน ยกตัวอย่างเรื่องแก๊งคอลเซนเตอร์ที่ใช้โทรคมนาคมเป็นโครงสร้างพื้นฐาน แต่ธุรกรรมเกิดขึ้นกับธนาคาร ซึ่งจำเป็นจะต้องสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันหรือความรับผิดชอบร่วม 

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

ทั้งนี้ในฐานะที่สวมหมวกอีกใบเป็นผู้บริโภค นพ.ประวิทย์ยังชี้ถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์ม ทั้งโอกาสการแข่งขันที่เท่าเทียมระหว่างแรงงานดั้งเดิมกับแพลตฟอร์ม และปัญหาเรื่องความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคที่บางสินค้าบนแพลตฟอร์ม E-commerce ไม่มีคุณภาพ ยกตัวอย่างแบตสำรองที่โกงความจุว่าจุได้ 30,000-40,000 mAh แต่ไม่มีใครตรวจสอบ

“เราจะพบว่าตลาดใหญ่มากจนรัฐไปมอนิเตอร์เองไม่พอ ไม่ทัน และไม่มีอำนาจเลย ตลาดที่ขายของปลอมของเถื่อน ของหลอกลวง มันถูกตีตราโดยแพลตฟอร์มที่เป็นยักษ์ใหญ่ แล้วคนก็ไม่รู้ รัฐก็ปล่อยปละ หรืออันที่จริงต้องเรียกว่าไม่มีความสามารถพอที่จะไปกำกับดูแลได้ด้วยซ้ำ”

นอกจากนี้ นพ.ประวิทย์ยังกล่าวถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการให้คะแนน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้งานให้เรตติ้งบริการแล้วโดนแจ้งความดำเนินคดี โดยแล้วกฎหมายไทยปล่อยให้ผู้บริโภคต้องไปเผชิญชะตากรรมด้วยตัวเอง หรือร้านค้าต้องการคะแนนในระดับสูง โดยที่ไม่สะท้อนคุณภาพสินค้าจริง

“เราศรัทธากับเรื่องเรตติ้ง แรงก์กิ้งเกินไประดับนึง แล้วทำให้มันเป็นตัวชี้วัดเทียม คือเมื่อไหร่ก็ตามที่มองตัวชี้วัดเป็นเป้าหมาย เรารู้อยู่แล้วว่ามันคือความล้มเหลว ตัวชี้วัดมันไม่ใช่เป้าหมาย ดังนั้น มีความจำเป็นต้องจัดการปัญหานี้อยู่อีกส่วนหนึ่ง”

“ผมรู้สึกโดยส่วนตัวลึกๆ มันน่าคิดว่าเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเปลี่ยนพฤติกรรมของเราและของสังคมด้วยอัลกอริทึม แล้วสามารถทำให้ร้านไหนโตขึ้น ร้านไหนแย่ลง เป็นอำนาจที่เจ๋งกว่ารัฐอีก เพราะทำให้ทุนไหนโตขึ้น ทุนไหนเล็กลงก็ได้ ตรงนี้มันจะไหนที่เป็นความโปร่งใส ที่รัฐจะไปจัดการเพื่อทำให้อัลกอริทึมมีความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมคนน้อยลง”

อย่างไรก็ดี นพ.ประวิทย์บอกว่าผู้บริโภคชาวไทยยังมีความอ่อนไหวด้านราคา ถ้าสามารถแก้วิธีคิดเรื่องราคาเป็นศูนย์กลางจักรวาลให้เป็นเรื่องความรับผิดชอบ ให้เป็นเรื่องความเหมาะสม ก็อาจจะเป็นประโยชน์ได้ ผู้บริโภคอาจจะบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบหรือมีสำนึกมากขึ้น

ทั้งนี้ นพ.ประวิทย์ ชี้ว่า ผู้บริโภคยุคใหม่คำนึงถึงความเป็นธรรมในสังคมมากกว่าคนรุ่นเก่า เมื่อได้รับข้อมูลเรื่องการได้รับความไม่เป็นธรรมของแรงงานแพลตฟอร์ม

“เราพูดเรื่องการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ ถ้าถามผมตรงๆ ผมก็บอกว่าข้อมูลเหล่านี้ต้องทำให้ทุกคนรับรู้ว่าสิ่งที่คุณได้กำไรมันมาจากการขาดทุนของบางคน แล้วคุณต้องชั่งเองนะว่าไม่ได้แปลว่าถ้ามีคนขาดทุนแล้วเราไม่ซื้อ เพราะเราก็ชอบซื้อของลดราคาอยู่แล้ว แต่ว่าคนที่ขาดทุน คือคนชั้นล่างหรือคนที่ไม่มีทางออกหรือเปล่า พูดง่ายๆ ก็คือ คุณจะทำให้คนที่กำลังจะตาย ตายเร็วขึ้นหรือเปล่า ทำไมคุณไม่ทำให้เศรษฐีขาดทุนมากกว่า ดังนั้นตรงนี้คือการสร้างความตระหนักในการแลกเปลี่ยนข้อมูล”

เมื่อพูดถึงการตั้งโจทย์เพื่อการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม นพ.ประวิทย์เผยว่าการกำกับดูแลเป็นคำใหญ่เช่นเดียวกันกับคำว่าแพลตฟอร์ม และชวนตั้งคำถามถึงรูปแบบการกำกับดูแล หากรัฐไม่มีประสิทธิภาพจะสามารถใช้รูปแบบใดได้บ้าง โดยในทางกิจการโทรคมนาคม มีการพูดถึงการกำกับ/ควบคุมตนเอง กลไกกำกับดูแลร่วมกัน การกำกับโดยการบังคับใช้ หรือใช้องค์กรภายนอกเข้ามาตรวจสอบ โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องกำกับดูแลด้วยตัวเองทั้งหมด แต่สามารถกำหนดมาตรฐานเพื่อให้เป็นหน้าที่ขององค์กรภายนอก ทำให้มีรูปแบบการกำกับดูแลมากมายและมีการปรับให้เข้ากับแต่ละอุตสาหกรรม

“ผมก็ยังเชื่อว่าถ้าพูดเรื่องการกำกับดูแล ต้องเอาให้ชัดก่อนว่าเรากำกับหลักการพื้นฐานอะไร แล้วที่เหลือมันสามารถยกให้แต่ละภาคส่วนไปออกกติการองได้ไหม หรือวิธีการกำกับดูแลรัฐต้องลงมือเองทั้งหมด หรือไปให้คนอื่นลงมือ โดยที่มีค่าตอบแทนอะไรก็ว่าไป” นพ.ประวิทย์ให้ความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายฉบับที่ 2, 3, 4, … ตามมาจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มฉบับแรก แต่ให้แต่ละภาคส่วนไปพัฒนากฎให้สอดรับกฎหมายที่ออกมาฉบับแรก เนื่องจากภาคส่วนนั้นนั้นจะรู้เรื่องตัวเองดีที่สุด

นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงการกำกับดูแลท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง นพ.ประวิทย์ยังย้ำว่าหน่วยงานรัฐต้องมีพลวัต มีการกำหนดบทบัญญัติที่กำหนดการสิ้นสุดการใช้กฎหมาย เพื่อให้กฎหมายและตัวนิยามยังเท่าทันและตอบโจทย์

“นวัตกรรมเป็นเรื่อง trial and error ทั้งหมดแหละ แม้แต่อุตสาหกรรมก็ยังทดลองกันเลยว่ารูปแบบไหนดีที่สุด ไม่ได้แปลว่ารัฐกำกับดูแล แล้วผิดไม่ได้ แต่ผิดต้องแก้ไขให้ทันแค่นั้นเอง” นพ.ประวิทย์ทิ้งท้าย

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save