fbpx

ข้อโต้แย้งไทย-อินเดีย: เกิดอะไรขึ้นกันแน่ในงาน WTO ที่อาบูดาบี

การอภิปรายโต้แย้งกันเป็นเรื่องธรรมดาในองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เพราะบทบาทหลักขององค์การนี้คือเป็นเวทีเจรจา ซึ่งเนื้อหาที่เจรจาคือกติกาสำหรับการกำหนดนโยบายการค้าของรัฐบาลประเทศสมาชิก ซึ่งทุกประเทศมีผลได้ผลเสีย

แต่กรณีที่ผู้แทนประเทศไทยอภิปรายวิจารณ์ข้อเรียกร้องของอินเดียในการประชุมรัฐมนตรีของ WTO ที่กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการเจรจา กลับกลายเป็นปัญหาทางการทูตระหว่างประเทศทั้งสอง ถึงขนาดรัฐบาลไทยต้องออกหนังสือขอโทษอินเดีย และเรียกตัวเอกอัครราชทูตไทยประจำ WTO ที่อภิปรายเรื่องดังกล่าวกลับเมืองไทย กลายเป็นข่าวในสื่อมวลชนหลายประเทศ ซึ่งถูกบ้าง คลาดเคลื่อนบ้าง

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้คืออะไร? ปฏิกิริยาของรัฐบาลไทยส่งสัญญาณอะไรไปยังโลกภายนอก ตลอดจนประเทศอื่นใน WTO และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การที่รัฐบาลกล่าวว่า “ถ้อยแถลงและท่าทีดังกล่าว ไม่ใช่สิ่งสะท้อนของท่าที หรือนโยบายของประเทศไทยแต่อย่างใด” นั้น รัฐบาลตั้งใจหมายความอย่างนั้นจริงมากน้อยแค่ไหน และอย่างไร เพราะหากจริงนั้นหมายความมาว่า ไทยกำลังเปลี่ยนจุดยืนเกี่ยวกับนโยบายการส่งออกข้าวในตลอดโลกที่ยึดถือมาเกือบ 40 ปี ซึ่งย่อมสะเทือนวงการ WTO ไม่น้อย

ผมและศาสตราจารย์เกียรติคุณ โรเบิร์ต วูลฟ์ จากมหาวิทยาลัยควีนส์ ประเทศแคนาดา พยายามเจาะลึกว่าเกิดอะไรขึ้นในการประชุมที่อาบูดาบีกันแน่

เราไม่ได้เจาะจงไปที่ปัญหาระหว่างไทยกับอินเดีย เท่ากับสนใจการประชุมในภาพกว้าง  แต่จากการพูดคุยกับคนที่เข้าประชุมหลายคนจากหลายองค์กร ทำให้เราได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างไทยกับอินเดียไปด้วย ซึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างน้อยก็ในกลุ่มผู้เข้าประชุมจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะในส่วนของพฤติกรรมของรัฐมนตรีพาณิชย์อินเดียในที่ประชุม นอกจากนี้เราทั้งสองได้ติดตามการเจรจาเรื่องการค้าสินค้าเกษตรมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ จึงคุ้นเคยกับประเด็นโต้แย้งในเรื่องนี้เป็นอย่างดี

ที่ประชุมรัฐมนตรี (Ministerial Conference) เป็นองค์กรที่มีอำนาจบริหารสูงสุดของ WTO วนเวียนจัดในเมืองต่างๆ ประมาณทุกสองปี  ที่ประชุมรัฐมนตรีอยู่เหนือคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ประชุมเป็นประจำที่เนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ประเทศส่วนใหญ่ส่งรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม บางประเทศแม้ไม่ส่งรัฐมนตรี แต่ก็ส่งข้าราชการระดับสูงจากเมืองหลวงเข้าประชุมแทน หรือไม่ก็ส่งเอกอัครราชทูตประจำ WTO ประเทศไทยอยู่ในประเภทหลัง คือรัฐมนตรีไม่ได้เข้าประชุม โดยมีนางพิมพ์ชนก พิตต์ฟิลด์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก เป็นหัวหน้าคณะของไทย (น่าคิดว่า รัฐมนตรีควรที่จะให้ความสำคัญกับการประชุมในครั้งนี้หรือไม่ เพราะประเด็นที่เจรจาเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับไทยโดยตรง เช่น นโยบายข้าว การอุดหนุนการประมง การลงทุน เป็นต้น)   

ประเด็นที่กลายเป็นข้อถกเถียงระหว่างไทยและอินเดียเรียกกันย่อๆ ว่า ‘PSH’ (public stockholding) หรือการอุดหนุนเพื่อสำรองอาหารหลักเพื่อความมั่นคงทางอาหาร อย่างไรก็ตาม ชื่อนี้อาจชวนให้คนนอกวงการเข้าใจผิดได้ง่ายๆ เพราะประเด็นหลักไม่ได้อยู่ที่การสำรองอาหาร แต่เป็นประเด็นที่เป็นกติกา WTO ที่เกี่ยวข้องคือการอุดหนุน โดยเฉพาะการพยุงราคา ข้อโต้แย้งของไทยในประเด็นนี้คือ การแสดงความกังวลต่อการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวเนื่องจากประเทศใหญ่ทุ่มเงินอุดหนุน

นางอึนโกซี โอคอนโจ-อิวิอาลา ผู้อำนวยการใหญ่ของ WTO ปราศรัยในพิธีเปิดการประชุมที่อาบูดาบี 26 ก.พ. 2023
ที่มาภาพ: WTO/Prime Vision

ก. ไก่ ข. ข้าว

ข้อตกลงของ WTO เรื่องการค้าสินค้าเกษตรมี 3 เสาหลักคือ (1) การอุดหนุนการส่งออก (2) การอุดหนุนภายในประเทศ และ (3) การเปิดตลาด โดยทั่วไปเป้าหมายของการเจรจาการค้าคือการลดการอุดหนุดและเปิดตลาดให้มากขึ้น โดยมีข้อยกเว้นตามสถานภาพของแต่ละประเทศ ที่ผ่านมาสมาชิก WTO ตกลงกันแล้วว่าให้ยกเลิกการอุดหนุนการส่งออก ส่วนเรื่องอื่นๆ ยังเจรจาคาราคาซังอยู่

‘การอุดหนุนภายใน’ มีหลายวิธี เช่น พยุงราคา เสริมรายได้เกษตรกร หรือจำนำพืชผล เป็นต้น ประเทศสมาชิก WTO ตกลงกันนานแล้วว่า การอุดหนุนที่ส่งผลให้ตลาดเพี้ยนไป (คือกระทบราคาหรือปริมาณการผลิต) สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ในวงเงินที่จำกัด ซึ่งแต่ละประเทศมีเพดานของการอุดหนุนต่างกันไป สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะถูกจำกัดให้อุดหนุนได้ไม่เกิน 10% ของมูลค่าผลผลิต (จีนได้ 8.5%) ในกรณีของอินเดีย เพดานที่ควรจำกัดอยู่ที่ 10% ซึ่งเป็นเพดานของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม การอุดหนุนภายในยังมีข้อกำหนดย่อยอีกหลายประการ หนึ่งในหัวข้อย่อยนี้คือนโยบายที่ใช้เงินอุดหนุนเมื่อรัฐบาลสำรองอาหารหลักเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งวิธีอุดหนุนคือ รัฐบาลรับซื้อเข้าคลังสำรอง (stock) ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาสามารถทำได้ แต่ต้องระวังไม่ให้การอุดหนุนทั้งหมดสูงทะลุเพดานที่ตกลงกันแล้ว

ภายใต้มาตรการนี้ รัฐบาลสามารถสำรองอาหารหลัก (public stockholding) ได้เสมอ โดยสามารถรับซื้ออาหารหลักในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดภายในประเทศได้ภายใต้วงเงินที่จำกัด แต่ถ้ารับซึ้ออาหารหลักในราคาตลาดจะไม่เป็นป้ญหา ไม่ถือว่าเป็นการอุดหนุน ทำได้เต็มที่

อินเดียเป็นประเทศเดียวในโลกทึ่อุดหนุนพืชผลด้วยวิธีนี้จนยอดการอุดหนุนเพิ่มเกินขีดจำกัด โดยข้าวเป็นพืชผลชนิดเดียวที่ทะลุเพดาน อินเดียแจ้ง WTO ว่าในปีการตลาด 2020/2021 อินเดียอุดหนุนข้าวภายใต้มาตรการนี้ 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 243,000 ล้านบาท) ในขณะที่มีเพดานอยู่ที่ 5 พันล้านเหรียญ (ประมาณ 160,000 ล้านบาท) เท่านั้น นั่นหมายความว่า อินเดียอุดหนุนเกินเพดานไปกว่า 2.6 พันล้านเหรียญ (ประมาณ 83,000 ล้านบาท) หรือ 52% (ดูตารางข้างล่าง)

ตามปกติการทำผิดข้อตกลงอย่างนี้จะกลายเป็นคดีฟ้องร้องกันในระบบระงับข้อพิพาทของ WTO แต่ในกรณีนี้ไม่มีการฟ้องร้อง ทำไม?

การอุดหนุนข้าวของอินเดีย

ปีการตลาดเพดานการอุดหนุนข้าว
(10% ของมูลค่าการผลิต)
จำนวนการอุดหนุนตามที่คำนวณ
(AMS)
เกินเพดาน
2018/2019$4.37bn$5.00bn$0.63bn
2019/2020$4.61bn$6.42bn $1.81bn
2020/2021$4.56bn$6.91bn $2.35bn
2021/2022$4.96bn$7.55bn $2.59bn
ที่มา: ข้อมูลที่อินเดียแจ้งต่อ WTO | bn = พันล้าน (เหรียญสหรัฐ)
การประชุมเรื่องการเกษตรในที่ประชุมรัฐมนตรี 27 ก.พ. 2023
ที่มา: WTO/Prime Vision

สันติภาพ

การอุดหนุนข้าวเป็นประเด็นที่ต่อสู้กันมาอย่างน้อย 15 ปี อินเดียรู้ตัวว่าล่อแหลมที่จะทะลุเพดานการอุดหนุน จึงผลักดันให้ประเทศอื่นใน WTO เปลี่ยนกติกาผ่อนคลายข้อจำกัด โดยให้เหตุผลว่าข้อจำกัดที่เป็นอยู่เข้มงวดเกินไปจนยากที่จะปฏิบัติตาม และส่งผลกระทบคนจนนับร้อยล้านคนในประเทศตน อินเดียสามารถระดมประเทศกำลังพัฒนาจำนวนหนึ่งให้เป็นพันธมิตร เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นในหลายทวีป

แต่ก็มีหลายประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เช่น กลุ่มแคร์นส์ ซึ่งมีประเทศกำลังพัฒนาอย่าง ไทย มาเลเซีย และประเทศในลาตินอเมริกาหลายประเทศ สมาชิกกลุ่มแคร์นส์เป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก จึงรณรงค์ให้ลดอุปสรรคที่ขัดขวางการค้าขายสินค้าเหล่านี้ เช่น ภาษีนำเข้าที่เก็บในอัตราสูง หรือการทุ่มเงินอุดหนุนที่ทำให้ประเทศอื่นเสียเปรียบ ปัจจุบันกลุ่มแครนส์มีสมาชิก 20 ประเทศ (อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศในกลุ่มแคร์นส์ที่สนับสนุนอินเดีย เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งไม่ใช่ผู้ส่งออกข้าว)

ประเทศไทยร่วมขบวนกับกลุ่มแคร์นส์มาตั้งแต่ต้น โดยในเดือนกรกฎาคม 1986 ข้าราชการระดับสูงของประเทศผู้ก่อตั้งได้ประชุมเตรียมการกันที่พัทยา และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน รัฐมนตรีจากประเทศเหล่านี้ประกาศตั้งกลุ่มที่เมืองแคร์นส์ ประเทศออสเตรเลีย ข้าราชการไทยที่เป็นตัวตั้งตัวตีคนหนึ่งคือนายดนัย ดุละลัมพะ ซึ่งต่อมาเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำ WTO คนแรก

การต่อสู้ในประเด็นเงินอุดหนุนเพื่อสำรองอาหารหลักดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในปี 2013 และ 2014 สหรัฐฯ ช่วยเจรจาหลังฉากให้สองฝ่ายประนีประนอมกัน ส่งผลให้สมาชิก WTO ตกลงเป็นการ ‘ชั่วคราว’ ว่าจะไม่ฟ้องร้องกันหากการอุดหนุนสูงทะลุเพดาน คำว่า ‘ชั่วคราว’ ในที่นี้หมายความว่า ‘จนกว่าจะมีข้อตกลงถาวรมาแทนที่’ ซึ่งในทางปฏิบัติหมายความว่า ในปัจจุบันการอุดหนุนเพื่อสำรองอาหารหลักสามารถทำได้โดยที่ไม่มีเพดาน และมีการเรียกข้อตกลงที่จะไม่ฟ้องร้องกันในวงการว่าเป็น ‘ข้อตกลงสันติภาพ’ (peace clause) เพราะการไม่ฟ้องร้องกันก็เสมือนกับการเก็บอาวุธที่มีอยู่เอาไว้ ไม่นำออกมาใช้

ข้อตกลงนี้มีเงื่อนไขว่า การไม่ฟ้องร้องจะใช้เฉพาะโครงการที่มีอยู่แล้วในวันที่ตกลง ปรากฏว่าในวันนั้นมีไม่กี่ประเทศเข้าข่าย คือ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน นอกจากนี้ยังมีการระบุเงื่อนไขอื่นด้วย เช่น ประเทศที่ใช้การอุดหนุนแบบนี้จนทะลุเพดานต้องดูแลไม่ให้ประเทศอื่นเสียหาย ต้องโปร่งใสโดยแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และต้องยอมหารือกับประเทศที่มีข้อติดใจ

หากพิจารณาจากตัวเลขที่ที่อินเดียแจ้ง WTO ในสี่ปีล่าสุดจะพบว่า การอุดหนุนทะลุเพดานทุกปี และจำนวนที่เกินเพดานเพิ่มขึ้นทุกปี (ดูตารางข้างบน)

สิ่งที่ทำให้ประเทศคู่แข่งของอินเดีย รวมถึงไทย วิตกกังวลคือตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา อินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกแล้ว และยังขยายส่วนแบ่งตลาดส่งออกอย่างมากจาก 28.2% ในปี 2012 มาเป็น 46.4% ในปี 2022 (2565) ในขณะที่ส่วนแบ่งของไทยลดลง จาก 18.0% เหลือ 10.4% ในช่วงเดียวกัน (ดูตารางท้ายบทความ)

บางคนวิจารณ์ว่า อินเดียไม่ใช่คู่แข่งขันของไทยในตลาดส่งออกข้าว เพราะข้าวที่อินเดียส่งออกคือข้าวพันธุ์บัสมาตี ซึ่งไทยไม่มี แต่ข้อเท็จจริงคือ 80% ของข้าวที่อินเดียส่งออกไม่ใช่บัสมาตี (ในทำนองเดียวกันข้าวหอมมะลิก็เป็นส่วนน้อยของข้าวที่ไทยส่งออก)

ประเทศที่ทักท้วงโครงการอุดหนุนข้าวของอินเดียไม่ได้กล่าวหาว่าอินเดียนำเมล็ดข้าวจากโกดังที่สำรองไว้ไปส่งออกโดยตรง แต่ใช้เหตุผลในเรื่องของผลกระทบในตลาด กล่าวคือ มาตรการอุดหนุนจำนวนมหาศาลก่อให้เกิดการกระตุ้นการผลิต เมื่อระบายออกจากคลังสำรองจะทำให้ราคาในตลาดภายในถูกลง ราคาที่ส่งออกจึงถูกลงตาม ทำให้อินเดียได้เปรียบในการยึดครองตลาดต่างประเทศ

นายอัลปาร์ซลัน อะคาร์ซอย เอกอัครราชทูตตุรกีและประธานการเจรจาการเกษตรที่เจนีวา ได้รายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมรัฐมนตรี WTO ทราบ
ที่มา: WTO/Prime Vision

ข้อถกเถียงใน WTO

ในการหารือของสมาชิก WTO ที่เจนีวา ประเด็นเรื่องการอุดหนุนภาคเกษตรถูกพูดถึงในสองเวที เวทีแรกคือ ‘คณะกรรมการการเกษตรวาระปกติ’ ซึ่งเป็นโอกาสที่ประเทศสมาชิกสามารถสอดส่องดูแลว่าเพื่อนสมาชิกปฏิบัติตามสิ่งที่ตนได้สัญญาไว้หรือไม่ สมาชิก WTO ทุกประเทศมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดการอุดหนุนสินค้าเกษตร (รวมถึงมาตรการอื่นๆ) ทุกปี เพื่อความโปร่งใส กรณีที่อินเดียพยุงราคาข้าวโดยการซื้อเข้าคลังสำรองจนทะลุเพดานการอุดหนุนนั้นเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่มีสมาชิกยกขึ้นมาพูด ซึ่งในกรณีการสำรองอาหาร มีหลายประเทศที่ทักท้วงขอหารือกับอินเดียตามเงื่อนไขของฃ้อตกลง เช่น ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ปารากวัย ไทย สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

อีกเวทีหนึ่งคือ ‘การเจรจาปรับปรุงข้อตกลงการเกษตร’ ในเวทีนี้หนึ่งในหัวข้อเจรจาคือ เรื่องการสำรองอาหารหลักเพื่อให้มีข้อตกลงถาวรแทนฉบับชั่วคราว ซึ่งอินเดียต้องการให้มีการผ่อนคลายเงื่อนไขบางอย่างเพื่อขยายขอบเขตให้ใช้สำหรับอาหารชนิดต่างๆ มากขึ้น และใช้กับประเทศกำลังพัฒนาในจำนวนมากขึ้น ตลอดจนเปลี่ยนรายละเอียด เช่น วิธีคำนวณปริมาณการอุดหนุน เป็นต้น

ทางฝ่ายกลุ่มแคร์นส์ (ซึ่งรวมไทยด้วย) ก็เสนอข้อตกลงถาวรเหมือนกัน แต่รวมอยู่ในข้อเสนอที่ครอบคลุมการอุดหนุนภายในทั้งหมด โดยเสนอว่าหากประเทศไหนส่งออกมาก ประเทศนั้นต้องลดการอุดหนุนมากด้วย  ซึ่งข้อเสนอนี้จะทำให้อินเดียต้องลดการอุดหนุนลงมากด้วย (แทนที่จะผ่อนคลายเงื่อนไขให้อุดหนุนได้มากขึ้น) ดังนั้น อินเดียจึงโกรธ และไม่ยอมอภิปรายข้อเสนอของกลุ่มแคร์นส์ในการประชุม โดยอินเดียอ้างว่าการประชุมคราวนั้นต้องพูดเรื่องการสำรองอาหารหลักอย่างเดียว พูดเรื่องอื่นไม่ได้

สมาชิกกลุ่มแคร์นส์ที่ร่วมลงนามในข้อเสนอดังกล่าวคือ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา โคลอมเบีย คอสตาริกา (ซื่งเป็นโต้โผในการออกแบบข้อเสนอ) มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ปารากวัย เปรู ไทย อุรุกวัย และเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และยูเครนให้การสนับสนุนด้วย โดยกลุ่มประเทศเหล่านี้เห็นคล้ายกันว่าควรวางกติกาใหม่สำหรับการอุดหนุนภายในทั้งหมดไม่ใช่แยกพูดเป็นประเด็นย่อย

นายมานัว คามิคามิคา รองนายกฯ ฟิจิ (ซ้าย) นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟิลด์ เอกอัครราชทูตไทย (ขวา)
ที่มา: WTO/Prime Vision

ความล้มเหลวที่อาบูดาบี

หากพิจารณาจะพบว่า ร่างมติเรื่องเกษตรของการประชุมรัฐมนตรี WTO ที่อาบูดาบีน่าจะคาดคะเนได้ว่าจะไม่มีปัญหา เพราะส่วนใหญ่เป็นการยอมรับว่ายังไม่ได้ตกลงกัน ให้คุยกันต่อ และพยายามตกลงกันในอีกสองปี แต่อินเดียยืนยันว่าต้องตกลงเรื่องการอุดหนุนในการสำรองอาหารหลักที่อาบูดาบีให้แล้วเสร็จ หากไม่ตกลงในเรื่องนี้อินเดียจะไม่ยอมรับมติทั้งหมด ท้ายที่สุดที่ประชุมจึงไม่มีมติในเรื่องเกษตรเลย เพราะอินเดียยืนกรานคัดค้าน อันที่จริงในช่วงเตรียมการที่เจนีวาก่อนที่จะย้ายไปอาบูดาบี หลายประเทศเตือนว่าจะไม่มีฉันทมติหากบางประเทศดันทุรังจะให้มีมีข้อตกลงถาวรตามที่อินเดียต้องการ

การตัดสินใจใน WTO เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ฉันทมติ (consensus) เป็นหลัก คือ ไม่มีใครค้าน หากมีใครค้านก็ถือว่าไม่ผ่าน ในการประชุมครั้งนี้มีอีกเรื่องหนึ่งที่ตกไป เพราะอินเดียค้านเพียงประเทศเดียว ทั้งๆ ประเทศที่สนับสนุนมี 124 ประเทศ 

สิ่งที่เอกอัครราชทูตพิมพ์ชนกพูดในนามประเทศไทยที่อาบูดาบีเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์นั้น เป็นการยืนยันว่าประเทศไทยไม่พร้อมที่จะร่วมรับฉันทมติตามข้อเสนอของอินเดียกับพันธมิตร โดยนางพิมพ์ชนกแสดงตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่า ส่วนแบ่งการส่งออกข้าวของอินเดียในตลาดโลกเพิ่มเป็น 46.4% แล้ว อีกทั้งยังอภิปรายว่าหากอินเดียต้องการดูแลความมั่นคงทางอาหารย่อมสามารถใช้วิธีอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องอุดหนุนมากมายอย่างนี้ นอกจากนี้ นางพิมพ์ชนกยังถามย้ำว่าเมื่อตัวเลขเป็นเช่นนี้ผู้ที่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงคือใครกันแน่ คนยากจนที่อดอยากหรือผู้ส่งออก?

เนื้อหาที่ผู้แทนไทยพูดไม่ต่างจากที่ประเทศอื่นเคยพูดที่เจนีวาและที่อาบูดาบี เช่น ออสเตรเลีย ประเทศลาตินอเมริกา สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แต่อินเดียเลือกที่จะประท้วงในด้านการทูตแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลกับประเทศไทยประเทศเดียว  ทว่าไม่ได้ทำอย่างนั้นกับประเทศอื่น

นายปิยุช โกยัล รมต.พาณิชย์อินเดียพบนางอึนโกซี โอคอนโจ-อิวิอาลา ผู้อำนวยการใหญ่ของ WTO 28 ก.พ. 2023
ที่มาภาพ: WTO/Prime Vision

จากอินเดียถึงรัฐบาลไทย

สายตาที่เพ่งเล็งอินเดียไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น เมื่อตกลงกันไม่ได้ทำให้การประชุมต้องต่อเวลาออกไปอีกวันเศษ ช่วงเวลาหลังเที่ยงคืนเข้าไปในเช้ามืดวันที่ 2 มีนาคมการประชุมกำลังจะเข้าสู่พิธีปิด ในร่างคำแถลงของการประชุมรัฐมนตรีที่จะประกาศในช่วงท้ายการประชุมนั้น เรื่องการอุดหนุนการประมง และหัวข้อการเกษตรทั้งหมดถูกลบออกไปจากร่างดังกล่าวเพราะตกลงกันไม่ได้

ฟิจิกับวานูอาตู ซึ่งเป็นประเทศเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกสองประเทศ แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนถึงความล้มเหลวในการเจรจาในเรื่องการอุดหนุนการประมง ซึ่งจะทำให้การอุดหนุนที่ไม่มีขีดจำกัดทำลายแหล่งปลา ทั้งสองประเทศอยากให้ที่ประชุมใหญ่ได้เห็นร่างข้อตกลงที่มาจากกลุ่มย่อยซึ่งยังไม่ได้เผยแพร่ แม้จะยังตกลงกันในเรื่องนี้ไม่ได้

แหล่งข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์หลายคนเล่าว่า เมื่อรัฐมนตรีพาณิชย์ปิยุช โกยัลของอินเดียทราบข่าวก็แสดงอาการหัวเสียอย่างชัดเจน ผู้เห็นเหตุการณ์ยืนยันว่านายโกยัลบุกขึ้นไปหานางอึนโกซี โอคอนโจ-อิวิอาลา ผู้อำนวยการใหญ่ของ WTO ด้วยท่าทีก้าวร้าว และยังได้หันไปต่อว่ารองนายกรัฐมนตรีฟิจิกับวานูอาตูด้วยท่าทีที่ก้าวร้าวเช่นกัน พยานในเหตุการณ์บางคนใช้ว่า “bully” (ข่มเหงรังแก หรือพาล)ในการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นคำเดียวกับที่เขาใช้เพื่ออธิบายสิ่งที่โกยัลทำต่อประเทศไทยด้วย ซึ่งในท้ายที่สุด นายโกยัลก็สามารถบีบให้ผู้จักการประชุมทำตามที่เขาต้องการ นั่นคือร่างข้อตกลงเรื่องการประมงถูกเก็บเข้าลิ้นชักไป

ผู้สังเกตการณ์บางคนเริ่มตั้งคำถามว่า เหตุการณ์นี้จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเคยร่วมขบวนเป็นพันธมิตรกับอินเดียเริ่มวางระยะกับอินเดียมากขึ้นหรือไม่ เพราะมีหลายประเด็นที่ประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับอินเดีย ในบางเรื่องอินเดียแสดงจุดยืนที่เห็นต่างจากประเทศกำลังพัฒนาอีกเกือบร้อยประเทศด้วยซ้ำ

สำหรับรัฐบาลไทยคำถามใหญ่มีอยู่ว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตกับอินเดียต้องขัดกับการยึดมั่นในจุดยืนใน WTO เพื่อคุ้มครองการส่งออกข้าวไทยหรือไม่? ประเทศไทยจะเปลี่ยนจุดยืนในเรื่องการค้าสินค้าเกษตรที่ยึดมาเกือบ 40 ปีหรือเปล่า?

คำว่า “ไม่ใช่ … นโยบายของประเทศไทยแต่อย่างใด” ในแถลงการณ์ที่ออกมา หมายความว่าอย่างไร?


ภาคผนวกและอ้างอิง


ส่วนแบ่งตลาดการส่งออกข้าวของโลก

20122013201420152016201720182019202020212022
โลก (พันตัน)37,45739,66244,11344,49640,07147,81543,80440,33645,32350,54147,938
โลก (%)100100100100100100100100100100100
อินเดีย28.228.725.324.824.725.326.624.332.242.146.4
ไทย18.016.724.922.024.724.425.315.212.512.010.4
ปากีสถาน9.19.78.69.19.97.69.011.48.87.97.3
เวียดนาม13.416.614.414.812.012.26.613.612.411.37.1
สหรัฐ10.19.57.88.79.78.07.39.07.36.75.2
จีน0.71.21.00.61.52.54.86.85.14.84.6
เมียนมา1.51.63.53.61.47.04.05.84.33.34.5
บราซิล3.02.32.12.21.71.33.31.33.11.13.6
อุรุกวัย2.92.32.11.62.32.11.92.22.31.52.3
ปารากวัย0.81.01.00.91.51.21.61.82.01.41.7
กัมพูชา0.50.90.81.01.30.91.01.41.41.31.3
อาร์เจนตินา1.71.41.20.71.30.90.81.00.70.60.9
ตุรกี0.30.40.70.60.80.60.50.50.50.50.5
กายอานา0.91.01.11.20.20.81.11.31.40.60.4
ออสเตรเลีย1.21.20.90.70.40.40.60.30.10.10.4
อัฟริกาใต้2.00.30.30.30.40.20.30.30.30.20.3
สิงคโปร์0.30.30.40.30.10.10.10.20.20.30.3
แทนซาเนีย0.00.10.10.00.00.00.30.30.81.20.3
มาเลเซีย0.00.00.10.20.10.00.00.10.10.20.2
คาซัคสถาน0.10.10.10.10.20.20.20.20.20.20.2
สหภาพยุโรป1.01.01.11.01.20.71.30.51.30.40.2
รวันดา0.00.00.10.10.10.10.10.10.10.2
เซเนกัล0.30.20.30.30.30.20.30.30.10.20.2
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์0.90.30.31.01.10.60.60.20.30.10.2
ที่มา: WTO Secretariat, “Members’ participation in the normal growth of world trade in agricultural products — Article 18.5 of the Agreement on Agriculture”, เอกสาร G/AG/W/32/Rev.22


รายงานข่าวเกี่ยวกับอินเดีย (ผู้เขียนไม่รัรองความถูกต้องของรายงานเหล่านี้)


อ่านเพิ่มเติม

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save