fbpx

ไม่มีใครอยากเปียกปอน: ‘ที่หลบฝน’ พื้นที่พักใจก่อนเติบโตของเด็กน่าน

คุณคิดว่าพื้นที่การเรียนรู้ควรมีหน้าตาแบบไหน?

อาจไม่ยากนักหากคุณอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แม้จะไม่ได้มีอยู่ทุกหัวมุมถนน แต่พื้นที่การเรียนรู้จำนวนมากของประเทศนี้ก็กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวง แต่สำหรับจังหวัดที่ไม่ใช่หัวเมืองใหญ่แล้ว น้อยแห่งที่จะมีพื้นที่สาธารณะ และน้อยลงยิ่งกว่านั้นสำหรับพื้นที่การเรียนรู้

ลองนึกภาพเมืองเล็กๆ น่ารักๆ อย่างจังหวัดน่านที่ชุมชนอยู่กันอย่างเงียบสงบ เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวพักผ่อน แต่สำหรับเด็กที่เติบโตที่นี่ พวกเขาจะเรียนรู้โลกใบนี้ได้อย่างไรโดยไม่โบยบินออกจากเมืองบ้านเกิด

นั่นคือโจทย์สำคัญที่ อะตอม-วิชินันท์ สิงห์น้อย, ไนท์-วัทธิกร ธนกิจกร และเพื่อนๆ เยาวชนที่น่านมองเห็นร่วมกันจนนำมาสู่การสร้าง ที่หลบฝน พื้นที่ทางเลือกที่เปิดให้คนที่เข้ามาใช้ร่วมออกแบบพื้นที่ได้เอง

ที่หลบฝนเป็นบ้านไม้ตั้งอยู่ในตัวเมืองน่าน ที่ผ่านมามีกิจกรรมหลากรูปแบบ ทั้งเทศกาลหนังสั้น เวิร์กช็อปงานศิลปะ หัดทำเครื่องประดับแฮนด์เมด เป็นที่นั่งเล่น อ่านหนังสือสอบ พูดคุยปัญหาชีวิต หรือใครไม่มีอะไรทำจะมานั่งเล่นแมวเฉยๆ ที่นี่ก็ต้อนรับ

แม้ว่าจะไม่ใช่คนน่าน แต่จากประสบการณ์ทำงานเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์กับ อพท. ทำให้อะตอมรู้จักกับกลุ่มเยาวชนน่านและพบปัญหาว่าเวลาหลังเลิกเรียนหรือเลิกงานจะไม่มีที่ไหนให้ไปนอกจากร้านเหล้า เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นบ้านเกิดของอะตอมแล้ว เชียงใหม่มีพื้นที่สาธารณะ มีพิพิธภัณฑ์ มีพื้นที่หลากหลายให้เลือก แตกต่างกันลิบลับกับเมืองน่าน

ส่วนไนท์ ปัจจุบันเขาอยู่ในโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ด้วยความสนใจเรื่องกระบวนการเรียนรู้ ทำให้เขาเห็นว่าน่านเป็นเมืองเงียบๆ เหมาะสำหรับคนเกษียณอายุ แต่ไม่เหมาะสำหรับเด็กนัก เพราะไม่มีกิจกรรมและไม่มีพื้นที่ให้ไป

“เวลาเราบอกว่าทำไมไม่ลองจัดกิจกรรมฉายหนังหรือสร้างพื้นที่งานศิลปะที่น่านบ้างล่ะ คนอื่นมักพูดว่าเด็กน่านเขาไม่ค่อยสนใจหรอก เด็กน่านไม่มาหรอก ซึ่งมันไม่ใช่ ถ้ายังไม่มีทางเลือกให้เขาเห็น แล้วเขาจะรู้ได้ยังไงว่าชอบหรือไม่ชอบ เราต้องมีพื้นที่ให้เขาเห็น ให้เขามาทดลอง มาเรียนรู้ แล้วค่อยถามเขาว่าชอบหรือไม่ เราควรมีกิจกรรมทางเลือกมากกว่านี้ ให้เขาตัดสินใจเองว่าจะเลือกอะไร ไปทางไหน” อะตอมบอก

บ้านที่เด็กๆ มีสิทธิตัดสินใจเอง

ที่หลบฝนเริ่มต้นเมื่อเมษายน 2565 โดยการจัดกิจกรรมฉายหนังสั้นที่บ้านเช่าแห่งหนึ่ง หลังจากที่อะตอมรับฟังเสียงปรับทุกข์ของน้องๆ ชาวน่านเรื่องการไม่มีพื้นที่ เธอเลือกการฉายหนังสั้นเพราะคิดว่าน่าจะเป็นการสื่อสารที่เข้าถึงคนได้ง่าย แต่คนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมในครั้งแรกส่วนใหญ่คือผู้ใหญ่ อะตอมจึงพบปัญหาว่า ด้วยความเป็นเมืองที่เงียบมาก ผู้ปกครองจึงไม่ปล่อยให้ลูกหลานมาร่วมกิจกรรมยามค่ำคืนด้วยกังวลเรื่องความปลอดภัย

โจทย์ตั้งต้นของที่หลบฝนคือการทำให้คนรู้จักและไว้วางใจ อะตอมเริ่มไปออกบูธตามอีเวนต์ต่างๆ บางครั้งก็ให้เด็กๆ มาร่วมออกไอเดียว่า ‘อยากให้มีอะไรในเมืองน่าน’ เพื่อแลกของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ อย่างกำไลข้อมือ จนได้รู้จักกลุ่มเด็กมัธยมที่ต้องการพื้นที่แสดงศักยภาพ แสดงความเห็น ออกแบบพื้นที่และกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน

ที่หลบฝนเริ่มสร้างความไว้ใจและเปิดพื้นที่ให้เด็กเข้ามาใช้อย่างอิสระ โดยมีข้อตกลงพื้นฐานในการใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างเคารพซึ่งกันและกัน จนเมื่อต้นปี 2566 ที่หลบฝนจัดเทศกาลหนังสั้นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้คนจัดงานคือเยาวชนน่าน โดยอะตอมจะเป็นคนกำหนดภาพรวมงานและติดต่อนำภาพยนตร์มาฉาย แล้วเด็กๆ ก็มานั่งสุมหัวคุยกันว่าอยากให้มีอะไรในอีเวนต์นี้บ้าง เช่น ขายของ ขายอาหาร เล่นดนตรี แบ่งกลุ่มแยกทำงานคนละฝ่ายแล้วก็นำเงินทุนไปบริหารจัดการกันเอง

ไนท์เล่าว่าเขาเจอหลายเรื่องเซอร์ไพรส์จากการให้น้องๆ จัดงานกันเอง เช่น มีเด็กผู้ชายอาสาว่าจะเป็นคนอบขนมมาขายในงาน ซึ่งหากไม่มีงานนี้คนอื่นก็จะไม่รู้ว่าเด็กชายคนนี้มีความสามารถในการทำขนม

“การแสดงความสามารถของเด็ก ไม่ใช่ว่าให้เขาทำอะไรเหมือนๆ กัน เด็กบางคนเก่งเรื่องอาหาร บัญชี ดนตรี ทำความสะอาด บางคนมาเป็นตัวฮาให้เพื่อน บางคนมายกของ บางคนคิดเก่งแต่ไม่มีแรง แล้วก็มีผู้ปกครองมานั่งดูตั้งแต่น้องๆ ทำงาน จนดูหนังสั้นจบ

“เยาวชนที่มาดูหนังก็สะท้อนว่าดูหนังสั้นแล้วได้คิด หนังเป็นปลายเปิด ไม่เหมือนหนังที่เขาเคยดู พอหนังจบเราก็มีการพูดคุยกัน เราต้องการแค่นี้ คือให้เขามีกระบวนการคิดได้เอง เราไม่ไปบอกว่าพวกเขาต้องทำอะไรหรือเรากำลังสอนอะไร แต่เขาสามารถเรียนรู้ได้จากเพื่อนๆ” อะตอมเล่า

อะตอมแก้ปัญหาความกังวลใจของผู้ปกครองโดยทำเอกสารให้ผู้ปกครองเซ็นอนุญาตให้ลูกมาร่วมกิจกรรม เมื่อผู้ปกครองมาเห็นว่ามีการจัดพื้นที่ซึ่งคำนึงเรื่องความปลอดภัยสำหรับเด็กก็สะท้อนออกมาว่าเป็นเรื่องดีที่มีพื้นที่ให้เด็กแสดงออก สิ่งสำคัญของการจัดพื้นที่สำหรับเด็กและเยาวชนคือการสร้างความชัดเจนว่าอะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้ เช่นการไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ เพราะเป็นเรื่องปกติที่ผู้ปกครองมักตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัย

นอกจากนี้คือคำถามจากคนในชุมชน เมื่อมีบ้านที่เปิดให้เด็กมารวมตัวกันเป็นประจำและอาจส่งเสียงดังบ้าง เวลามีกิจกรรม เด็กๆ จึงเดินไปหาเพื่อนบ้านและเล่าว่ากำลังจะจัดงานกัน พอผู้ใหญ่ในละแวกบ้านใกล้เคียงเข้าใจก็มีการช่วยบอกต่อยืนยันกับผู้ปกครองคนอื่นๆ ว่าที่หลบฝนเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ไว้ใจได้

เต้-พิฆเนศ จันทรา, เอ๊ะ-ภูริชญา ขะระเขื่อน, อะตอม-วิชินันท์ สิงห์น้อย, ไนท์-วัทธิกร ธนกิจกร
อุปกรณ์เวิร์กช็อปทำสีน้ำจากธรรมชาติ

มนุษย์จำเป็นต้องมี ‘พื้นที่’

ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แต่มนุษย์ต้องการพื้นที่ และพื้นที่นั้นไม่ควรคับแคบเกินไป ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม

น่านเป็นจังหวัดเล็กก็จริง แต่ก็ไม่ขาดแคลนพื้นที่เชิงกายภาพ แต่พื้นที่เชิงนามธรรมนั้นยังอาจมีไม่เพียงพอสำหรับความฝันของทุกคน

สำหรับวัยรุ่น พื้นที่ที่พวกเขาต้องการคือการมีโอกาสทดลองอย่างเปิดกว้างและไม่ถูกตัดสินจากผู้ใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นโจทย์สำคัญสำหรับที่หลบฝน เพราะคนที่มาใช้พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยมัธยมปลาย

“จริงๆ เขาแค่ต้องการพื้นที่ให้ได้แสดงศักยภาพ แล้วมีคนเห็น มีการยอมรับ ในช่วงวัยรุ่นจะสนใจเรื่องการอยากมีตัวตนและเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น เด็กที่เรียนไม่เก่งก็อยากมีสักเรื่องที่เขาทำได้ดี เวลาทำงานเป็นทีมแล้วเพื่อนขาดฉันไม่ได้ ดังนั้นเราต้องทำพื้นที่ที่ทำให้เขาส่องประกายในเรื่องที่เขารู้สึกภูมิใจได้” อะตอมเล่า

สำหรับเยาวชนที่เข้ามาใช้ที่หลบฝนแล้ว ที่นี่เป็น ‘อะไรก็ได้’ เป็นพื้นที่ที่เขาได้เป็นตัวเอง มีคนรับฟังปัญหา มีพื้นที่ให้เขากล้าเล่าเรื่องที่กลุ้มใจด้วยความรู้สึกปลอดภัย ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการพูดคุย เรื่องง่ายๆ แต่อาจหาได้ยากในพื้นที่โรงเรียน

นอกจากการคุยเล่นกันแล้ว อะตอมมีเครื่องมือในการทำความเข้าใจปัญหาของน้องๆ คือ การเปิดไพ่ดูดวงและศิลปะด้านใน ซึ่งเป็นทางเข้าไปสู่การเปิดใจพูดถึงปัญหาที่ไม่สามารถคุยกับพ่อแม่หรือครูได้ โดยไม่ชี้นำหรือตัดสินใจแทนว่าควรแก้ปัญหาอย่างไร แต่ให้การปรึกษาเชิงจิตวิทยา

“มีเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้า แต่เขาไม่กล้าบอกเพื่อนหรือครู ทั้งที่เขารู้สึกแย่มาก รู้สึกไม่ปลอดภัย มีน้องคนหนึ่งมาถึงแล้วก็เปิดไพ่และพูดคุยกัน จนกระทั่งเขาร้องไห้ออกมาเพราะกำลังเสียใจกับการสูญเสียอะไรบางอย่าง การร้องไห้เป็นกระบวนการหนึ่งที่มนุษย์ต้องปลดปล่อยออกมา แต่สำหรับบางคนมันเป็นเรื่องยาก

“การสร้างพื้นที่แบบนี้ต้องใช้เวลา ใช้การอยู่ร่วมกันค่อนข้างเยอะ และในโรงเรียนจะยากกว่า พอคนอยู่กันเยอะๆ ก็ไม่มีเวลามาใส่ใจกันนัก กลายเป็นว่าการไปโรงเรียนคือการไปฝ่าฟัน เป็นพื้นที่ที่เขาต้องเข้มแข็ง” อะตอมกล่าว

จากการเป็นผู้รับฟังของน้องๆ วัยมัธยมปลาย อะตอมและไนท์พบว่าปัญหาของเด็กวัยนี้คือยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากเรียนอะไร หรืออยากทำอาชีพอะไรในอนาคต

ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กน่านที่จะได้เข้าร่วมเวิร์กช็อป การอบรม หรือเข้าค่ายทักษะต่างๆ สะสมประสบการณ์ชีวิตเพื่อค้นหาว่าตัวเองชอบอะไรแบบเด็กกรุงเทพฯ ที่อยู่ใกล้ชิดโอกาสต่างๆ มากมาย ขณะที่พ่อแม่ของเด็กที่นี่จำนวนมากก็ยังอยากให้ลูกรับราชการ ด้วยวิธีคิดของคนรุ่นก่อนที่มองว่าเป็นอาชีพมั่นคง

“ส่วนใหญ่คนที่เรียนจบแล้วจะกลับมาทำงานที่น่านได้คืออาชีพราชการ ส่วนการทำธุรกิจ เท่าที่เห็นส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างถิ่นมาเปิดกิจการ คนวัยทำงานจึงออกนอกพื้นที่หมด แทบไม่มีโอกาสให้คนกลับมาทำงานที่บ้านได้เลย คนที่ยังอยู่ที่น่านจำนวนมากจึงเป็นเด็กและคนสูงวัย เมืองก็ค่อนข้างเงียบ” อะตอมยังเล่าว่าเมืองที่มีทางเลือกจำกัดไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มองเห็นโลกกว้างผ่านอินเทอร์เน็ตจนอยากออกไปสัมผัสโลกกว้างนั้นด้วยตัวเอง “เด็กที่นี่ค่อนข้างหัวก้าวหน้า เวลาทำกิจกรรมเราก็จะพูดคุยกันทั้งเรื่องการเมืองหรือการทำแท้งในวัยเรียน เด็กที่นี่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ มีอินเทอร์เน็ตเปิดโลกให้เขาเห็น พออยู่ไกล เขาจะยิ่งอยากออกไปเจอโลกกว้าง อยากหลุดออกจากที่นี่ เพราะรู้สึกว่าที่นี่ไม่มีอะไรเลย ทำไมต้องมาอยู่ตรงนี้”

แม้เด็กรุ่นใหม่จะเห็นทางเลือกที่หลากหลายผ่านอินเทอร์เน็ต แต่กลับกลายเป็นเรื่องยากที่จะเลือก ‘ทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเอง’ หากไม่ได้ลองสัมผัสจริงแล้วเรียนรู้ด้วยตัวเอง การมีพื้นที่ที่สร้างโอกาสในการเรียนรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

ใครๆ ก็ต้องการที่หลบภัยก่อนจะเติบโต

จากการทำงานใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชน อะตอมเชื่อว่าการจะส่งเสริมการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ ‘กระตุ้นความอยากรู้’ เพราะหากทำให้เด็กอยากรู้ได้แล้ว เขาจะพยายามหาวิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้คำตอบ

“ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีก็ต่อเมื่อเรา ‘อยาก’ เสียก่อน เพราะถ้าเราไม่อยากเรียนรู้ ต่อให้คนป้อนข้อมูลความรู้ดีๆ ให้ แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร ก็คงไม่เสียเวลาสนใจ สมมติว่าในอนาคตเขาอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้เมืองน่าน อยากทำให้เมืองน่านเกิดพื้นที่สีเขียว เขาก็จะอยากเรียนรู้ว่าการอยู่กับสิ่งแวดล้อมเป็นยังไง ไปศึกษาว่าจะทำยังไงจึงสามารถสร้างพื้นที่แบบนั้นได้” อะตอมบอก

ไนท์เสริมว่า บางครั้งคนเราก็ไม่รู้ตัวว่าตัวเองไม่รู้เรื่องอะไรบ้าง การเปิดมุมมองเห็นโลกเยอะๆ จะทำให้คนรู้ตัวว่าตัวเองอยากไปต่อในเส้นทางไหน แต่ถ้ามองไม่เห็นเส้นทางอะไรเลย ความอยากในการเรียนรู้ก็จะมีน้อย ดังนั้น หนึ่งในเครื่องมือสำคัญคือการมีพื้นที่เรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้คนได้ลองผิดลองถูกและเรียนรู้จากความผิดพลาด

“การลองลงมือทำอะไรบางอย่าง แรกๆ ต้องลองผิดลองถูกก่อน ต้องมีโอกาส มีทีม มีความปลอดภัย เพื่อให้คนได้ลอง ได้ชิม ได้เห็น ได้ผิดพลาด” ไนท์กล่าว

ที่หลบฝนเองก็เป็นพื้นที่ซึ่งเปิดโอกาสให้คนกล้าที่จะผิดพลาดไปพร้อมกับการเรียนรู้

สำหรับอะตอมแล้ว เธอมองว่าที่หลบฝนคือที่พักใจทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ เราเองรู้สึกว่าที่หลบฝนเป็นเหมือนที่หลบภัยของเรา ข้างนอกอาจจะมีพายุกระหน่ำ บางคนอาจจะทนได้-ฝ่าฟันได้ แต่จะมีจุดหนึ่งที่เรารู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ต้องมีสักที่หนึ่งให้เราได้หลับ ได้พัก ได้รู้สึกว่าไม่ต้องกังวลกับอะไรแล้ว จนถึงเวลาที่พร้อมก็ออกไปเผชิญหน้ากับปัญหา เราอยากให้ที่นี่เป็นที่ที่ทุกคนมาแล้วรู้สึกว่าไม่มีการตัดสิน ไม่ว่าจะสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ แม้ว่าเราจะทำงานกับเด็กเป็นหลัก แต่บางทีผู้ใหญ่บางคนผ่านเข้ามาเจอเด็กๆ ก็เยียวยาเขาได้เหมือนกัน”

“มนุษย์ทุกคน ไม่จะเป็นพระราชา เศรษฐี พ่อค้า ถ้าตากฝนนานๆ สุดท้ายก็ป่วยอยู่ดี ทุกคนก็ต้องหาที่แห้งๆ หลบฝน” ไนท์บอกพร้อมเสริมว่าเขาต้องการให้ที่หลบฝนเป็นพื้นที่ที่มอบพลังชีวิตให้คน ทั้งพลังกายและพลังใจ นอกจากนี้คือบทบาทการเป็น ‘เข็มทิศ’ ที่ช่วยชี้บอกทางเหนือ-ใต้ แต่ไม่ได้ชี้สั่งว่าคนต้องเดินไปทิศไหนในชีวิตของเขา

ส่วนเป้าหมายก้าวต่อไปสำหรับพื้นที่ที่เพิ่งมีอายุแค่หนึ่งปีกว่าๆ คือการทำให้ยั่งยืน เพราะพูดอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ที่หลบฝนสร้างขึ้นด้วยเงินทุนส่วนตัว และมีรายได้จากโปรเจ็กต์เล็กๆ บ้าง มีผู้ใหญ่ในน่านร่วมสมทบทุนบ้าง เวลามีกิจกรรม เด็กๆ ก็ช่วยกันหอบหิ้วของจากที่บ้านมาช่วยกันจัดงาน ที่หลบฝนจึงเริ่มคิดถึงการสร้างรายได้จากพื้นที่จึงเริ่มต้นทำโฮมสเตย์และคาเฟ่ที่ให้เยาวชนได้เข้ามาเรียนรู้การทำธุรกิจด้วย อีกด้านหนึ่งคือการหาเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้

“เราเริ่มต้นด้วยการที่ทุกคนช่วยกันสร้าง ที่บ้านใครมีอะไรก็หิ้วๆ กันมา ทุกคนพยายามช่วยเพราะอยากให้มีพื้นที่นี้จริงๆ แต่พอมาถึงจุดหนึ่งมันไม่ได้ เราเป็นพี่ก็อยากหาเงินเลี้ยงน้องๆ ให้ได้ ต้องมีโมเดลธุรกิจที่มีเงินหมุนเวียนเป็นประจำ เราไม่อยากให้พื้นที่นี้หายไป เราต้องแบ่งพาร์ตในชีวิตให้ได้ มีแหล่งรายได้เลี้ยงน้องๆ เลี้ยงแมว และเลี้ยงเราด้วย” อะตอมเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

ภาพฝันต่อไปของที่หลบฝนในฐานะพื้นที่การเรียนรู้คือการเป็นศูนย์กลางการจัดเวิร์กช็อปและพัฒนาการเรียนรู้ด้านต่างๆ ให้เด็กและเยาวชน เป็นพื้นที่ให้เด็กที่มีความสนใจเรื่องเดียวกันได้มาเจอกัน โดยมองเป้าหมายไม่ใช่เฉพาะในเมืองน่าน แต่ต้องการกระจายไปในพื้นที่อื่นๆ ที่เข้าถึงการเรียนรู้ที่หลากหลายได้ยาก ด้วยความเชื่อที่ว่าไม่ควรตัดสินใจเอาเองว่าเด็กในพื้นที่ไหนเหมาะกับอะไร แต่ต้องสร้างทางเลือกให้พวกเขาได้เลือกเอง

“อีกเรื่องที่สำคัญมากคือเราเห็นปัญหาว่าเด็กมีพื้นที่ปลอดภัยน้อย ถ้าเขาเจอปัญหาจากบ้านหรือโรงเรียน อยากให้เขารู้ว่าโลกไม่ได้มีแค่บ้านหรือโรงเรียน โลกข้างหน้ามีพื้นที่อื่นๆ อีกมากที่จะยอมรับในความเป็นตัวเขา” อะตอมกล่าวทิ้งท้าย


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save