‘ซื้อสังคมดีๆ’ : แค่เพื่อนรวย ลูกคุณก็มีโอกาสได้ดี?

เรามักเห็นข่าวอยู่เสมอว่า ครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมดี เช่น ครอบครัวของดารานักแสดงหรือนักการเมือง นิยมส่งลูกหลานไปเรียนโรงเรียนที่มีค่าเล่าเรียนแพงๆ อย่าง โรงเรียนชั้นนำในเมือง หรือโรงเรียนนานาชาติ ด้วยเชื่อว่าโรงเรียนเหล่านี้มี ‘คุณภาพการศึกษา’ ที่ดีกว่า แต่นอกจากเรื่องคุณภาพแล้ว อีกเหตุผลของพวกเขาคือ ต้องการให้ลูกมีเพื่อนดีๆ มีสังคมดีๆ และสร้างความสัมพันธ์กับลูกหลานของผู้คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมที่ดี ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับลูกในอนาคตเป็นอย่างมาก เพราะจะสามารถสร้างรากฐานเครือข่ายความสัมพันธ์ หรือที่เรียกกันว่า คอนเนกชัน กับคน ‘ไฮโซ’ ด้วยกันได้

คำถามที่น่าฉุกคิดในเรื่องนี้คือ ความสัมพันธ์ในวัยเด็กจะมีผลต่ออนาคตของเด็กเมื่อเข้าสู่วัยทำงานมากขนาดนั้นจริงๆ หรือ? ถ้าเด็กๆ ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างกัน เช่น เด็กยากจนกับเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยมาเป็นเพื่อนกัน จะช่วยให้เด็กยากจนมีอนาคต มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้หรือไม่? แล้วถ้าการมี ‘เพื่อนรวย’ มีผลดีเช่นนั้นจริง เราจะทำอย่างไรเพื่อให้เด็กๆ ที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างกันมาเจอกันและพัฒนามิตรภาพร่วมกัน

การมีเพื่อนที่ฐานะดีนั้นสำคัญไฉน

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา วารสารวิชาการชื่อดังอย่าง Nature ได้เผยแพร่ผลงานวิจัย 2 ชิ้นที่ช่วยไขความกระจ่างในประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงมานาน โดยผลงานทั้ง 2 ชิ้นเป็นผลงานวิจัยของศาสตราจารย์ราจ เช็ตตี้ (Raj Chetty) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ร่วมกับคณะผู้ร่วมวิจัย ใช้ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Meta บริษัทแม่ของสื่อโซเชียลมีเดียยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ข้อมูลที่ว่านี้เกี่ยวกับความเป็นเพื่อนและการมีปฏิสัมพันธ์ในที่สาธารณะ เช่น การโพสต์ การคอมเมนต์ หรือการกดแชร์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กในสหรัฐอเมริกาที่มีอายุระหว่าง 25 – 44 ปี กว่า 72.2 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่า 21,000 ล้านความสัมพันธ์ 

ในงานวิจัยชิ้นแรก1 คณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างการเลื่อนชั้นไปสู่ฐานะทางเศรษฐกิจที่สูงหรือร่ำรวยขึ้น (Upward Economic Mobility) กับตัวแปรทุนทางสังคมต่างๆ ซึ่งจำแนกเป็น 3 ตัวแปรหลักๆ ได้แก่ 1) การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ (Economic Connectedness) วัดการเชื่อมโยงหรือความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างกัน ทำหน้าที่เป็นทุนทางสังคมที่เชื่อมคนหลากหลายกลุ่มเข้าด้วยกัน (Bridging Capital) 2) ความเป็นเนื้อเดียวกันภายในเครือข่าย (Network Cohesiveness) วัดความสัมพันธ์ภายในกลุ่มว่ามีความเหนียวแน่นกลมเกลียวเป็นเนื้อเดียวกันในระดับใด ทำหน้าที่เป็นทุนทางสังคมที่ร้อยรัดผู้คนในกลุ่มเดียวกันไว้ด้วยกัน (Bonding Capital) และ 3) การมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคม (Civic Engagement) วัดการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาคประชาสังคมผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเป็นอาสาสมัครในงานด้านประชาสังคม เป็นต้น

ผลการศึกษาได้สร้างความฮือฮาให้กับบรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักการศึกษาเป็นอย่างมาก เมื่อผลการวิเคราะห์ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ในกลุ่มเด็กที่มาจากครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หากมีเพื่อนร่ำรวย (มีรายได้สูงกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร) เมื่อเข้าสู่วัยทำงานเด็กกลุ่มนี้จะมีรายได้สูงกว่าเด็กที่ไม่มีเพื่อนที่ร่ำรวยโดยเฉลี่ยถึงร้อยละ 20 โดยแทบไม่เกิดผลเสียใดๆ กับเด็กที่มาจากครอบครัวร่ำรวยเลย คณะผู้วิจัยได้อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นผลมาจากการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความสัมพันธ์์ในวัยเด็กเป็นสำคัญ กล่าวคือ เมื่อเด็กๆ เหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาสามารถใช้ความเป็นเพื่อนกันในวัยเด็กมาต่อยอดโอกาสทางเศรษฐกิจได้ เช่น ให้เพื่อนที่ร่ำรวยช่วยแนะนำงานหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำงาน นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลของตัวแปรทางสังคมทั้ง 3 ตัวต่อการเลื่อนชั้นไปสู่ฐานะทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ผลปรากฏว่า มีเพียงตัวแปรการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่มีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับการมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงาน

ผลงานวิจัยข้างต้นชี้ให้เห็นว่า การเปิดโอกาสให้เกิดการรวมตัวทางสังคม (Social Integration) ระหว่างเด็กที่มีภูมิหลังหรือฐานะแตกต่างกัน โดยให้เด็กๆ จากหลากหลายกลุ่มได้มาสานสัมพันธ์กันตั้งแต่เยาว์วัยนั้นมีผลดีต่ออนาคตของเด็กเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มด้อยโอกาสหรือเป็นประชากรชายขอบ แต่อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางไม่ให้เด็กๆ ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างกันมาพบเจอกันคือ เด็กเหล่านี้มักไม่ได้เรียนในโรงเรียนเดียวกัน

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระบบการศึกษาไทยเป็นอย่างไร

จากรายงานของโครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล2 หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘PISA’ ในปี 2561 พบว่า นักเรียนด้อยโอกาสในไทยมีแนวโน้มที่จะแยกตัวออกจากนักเรียนเรียนดีซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่มีฐานะดี และกระจุกตัวอยู่ด้วยกันเองค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา เป็นองค์กรระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว) และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยนักเรียนด้อยโอกาสในกลุ่มประเทศ OECD มีโอกาสเข้าไปเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงทางวิชาการได้ร้อยละ 17 ขณะที่นักเรียนด้อยโอกาสในไทยมีโอกาสอย่างเดียวกันอยู่เพียงร้อยละ 14 เท่านั้น

การเรียนกันคนละโรงเรียนของนักเรียนด้อยโอกาสและนักเรียนเรียนดี เกิดจากนักเรียนที่มีศักยภาพแต่ด้อยโอกาสได้รับการพัฒนาทักษะทางวิชาการมาน้อยกว่า และไม่สามารถแข่งขันในการสอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงทางวิชาการกับนักเรียนที่มีฐานะดีได้ เด็กทั้ง 2 กลุ่มนี้จึงแยกกันเรียนคนละโรงเรียน ทำให้เด็กด้อยโอกาสส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้สานสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ที่กว้างไกลไปกว่ากลุ่มตัวเอง เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน จึงมีเครือข่ายสนับสนุนในการประกอบอาชีพที่แคบและมีโอกาสสร้างรายได้น้อยกว่าคนที่มีเพื่อนร่ำรวย หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ลูกหลานของพวกเขาก็อาจต้องประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน กลายเป็นวัฏจักรวนเวียนเรื่อยไป

ทำอย่างไรให้เด็กยากจนและร่ำรวยได้มาเป็นเพื่อนกัน

ในงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ออกมาในวันเดียวกัน3 ศาสตราจารย์เช็ตตี้และคณะผู้ร่วมวิจัยได้ใช้ชุดข้อมูลชุดเดียวกันทำการศึกษาแนวทางการลดการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มนักเรียนยากจนกับกลุ่มนักเรียนร่ำรวย โดยแยกประเด็นปัญหาที่ส่งผลต่อการแบ่งแยกระหว่างนักเรียนทั้ง 2 กลุ่มออกเป็น 1) กลุ่มนักเรียนยากจนมีโอกาสพบปะนักเรียนร่ำรวยน้อยกว่านักเรียนร่ำรวยพบปะนักเรียนร่ำรวยด้วยกัน (Exposure) และ 2) นักเรียนในแต่ละกลุ่มมีแนวโน้มที่จะเป็นเพื่อนกับนักเรียนที่มีฐานะใกล้เคียงกันมากกว่า แม้จะได้เจอกับนักเรียนในกลุ่มที่มีฐานะแตกต่างจากตัวเองก็ตาม (Friending Bias) ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยมีผลต่อการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มนักเรียนอย่างละเท่าๆ กัน

ในการลดการแบ่งแยกระหว่างนักเรียนยากจนและนักเรียนที่มีฐานะดี สังคมควรมีมาตรการทั้งในด้านการเพิ่มโอกาสให้นักเรียนยากจนได้เรียนร่วมกับนักเรียนที่มีฐานะร่ำรวยและลดอุปสรรคที่กีดขวางไม่ให้นักเรียนทั้ง 2 กลุ่มมาเป็นเพื่อนกันแม้จะอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน โดยในส่วนแรกอาจเป็นการดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น การจัดรถโรงเรียนรับ-ส่งหรือการจัดหาบ้านพักราคาถูกให้นักเรียนที่อยู่อาศัยห่างไกลจากโรงเรียนในตัวเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนด้อยโอกาสสามารถเข้ามาเรียนในตัวเมืองร่วมกับเพื่อนนักเรียนที่มีฐานะดีได้ ส่วนการลดความเอนเอียงที่จะเลือกคบเพื่อนเฉพาะแต่ในกลุ่มเดียวกันนั้น อาจพิจารณาจัดกิจกรรมนอกห้องเรียนให้นักเรียนจากหลากหลายกลุ่ม หลากหลายแผนการเรียน ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน หรือการจัดให้นักเรียนทั่วไปและนักเรียนยากจนที่ได้รับการสนับสนุนอาหารกลางวันได้รับประทานอาหารและสานมิตรภาพร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก

จะเห็นได้ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระบบการศึกษาไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ แต่เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลยาวนานต่อชีวิตเด็กคนหนึ่ง ตั้งแต่วัยเรียนไปจนถึงวัยทำงาน หรืออาจยาวนานกว่านั้นหากผลกระทบนั้นส่งผ่านข้ามชั่วอายุคน ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมจึงควรเร่งระดมความร่วมมือให้โรงเรียนต่างๆ มีนักเรียนที่มาจากฐานะทางเศรษฐกิจสังคมที่หลากหลาย มุ่งลดความแตกต่างระหว่างโรงเรียนคนจนกับโรงเรียนคนรวย เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้สำหรับนักเรียนทุกคนได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าพวกเขาจะมาจากภูมิหลังทางเศรษฐกิจหรือสังคมแบบใดก็ตาม


เชิงอรรถ

1 https://www.nature.com/articles/s41586-022-04996-4

2 https://www.pier.or.th/abridged/2020/05/

3 https://www.nature.com/articles/s41586-022-04997-3

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save