fbpx

ปักหมุดความเหลื่อมล้ำ แก้โจทย์โรงเรียนขนาดเล็ก

โจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นสิ่งที่สังคมไทยเผชิญมานับหลายสิบปี โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดใหญ่ไม่มีทีท่าว่าจะร่นระยะเข้าใกล้กันได้เลย กลับกัน มันค่อยๆ ทิ้งห่างมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งด้านพื้นที่ บุคลากร การจัดสรรงบประมาณที่คิดจากรายหัวนักเรียน และติดข้อจำกัดเรื่องกลไกกติกาที่ทำให้องค์กรท้องถิ่นไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลือโรงเรียนในพื้นที่ตนเองได้มากขึ้น

เราจะทลายความเหลื่อมล้ำและพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร 101 ชวนอ่านข้อค้นพบจากงานวิจัย ‘การปฏิรูปงบประมาณเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา’ (Equity-based Budgeting) โดย ดร.อารีย์ อิ่มสมบัติ นักวิชาการอาวุโสจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และฟังเสียงสะท้อน ข้อเสนอจากพื้นที่ โดยเครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาในพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดารและเครือข่ายโรงเรียนปลายทาง ครูรัก(ษ์)ถิ่น จากงาน Public Policy Move #1 ขบวนเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาครั้งที่ 1 ในวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา


เปิดงานวิจัย ‘งบประมาณการศึกษา’
เท่ากัน ≠ เท่าเทียม


ดร.อารีย์ อิ่มสมบัติ เกริ่นว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่และโรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากงบประมาณที่ไม่เท่ากัน และความห่างไกล ทุรกันดาร จนการดูแลไปไม่ถึง หากมองภาพรวมในประเทศไทย โรงเรียนภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวนกว่า 29,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นโรงเรียนขนาดเล็กเกือบครึ่งหนึ่งของโรงเรียนทั้งหมด (คิดเป็น 50.35%) และในจำนวนนักเรียนทั้งหมดราว 6.5 ล้านคน มีเด็กกว่า 9 แสนคนอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก

ดังนั้น ถ้าเราสามารถพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็กได้จะส่งผลดีต่อเด็กกว่า 9 แสนคนเลยทีเดียว

ภาพจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ภาพจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)


โดยทั่วไป โรงเรียนขนาดเล็กของไทยคือโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน ส่วนใหญ่สอนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา กล่าวคือเด็กจำนวน 9 แสนคนที่เราพูดถึงอยู่ในช่วงประถมวัย 6 แสนกว่าคน และปฐมวัยอีก 2 แสนกว่าคน นั่นแปลว่าถ้าเราลงทุนในโรงเรียนขนาดเล็ก เด็กในระดับอนุบาลหรือประถมศึกษาจะมีพื้นฐานความรู้ที่ดีขึ้น สามารถอ่านออกเขียนได้ นำไปสู่การเรียนรู้ในขั้นสูงต่อไป

ขณะเดียวกัน เรามีโรงเรียนขนาดเล็กอีกแบบหนึ่งที่ไม่ว่าจะมีจำนวนนักเรียนน้อยสักแค่ไหน ก็ไม่สามารถยุบหรือควบรวมได้เพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรืออยู่บนเกาะ ถ้ายุบ เด็กจะไม่มีที่เรียน บางคนอาจต้องเดินทางข้ามเขา หรือถ้าเด็กอาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยก็ไม่สามารถออกนอกพื้นที่ได้เลย จากการศึกษาของ World Bank พบว่าปัญหาของโรงเรียนเหล่านี้คือขาดครูที่อยู่สอนประจำ ส่วนมากมาแล้วก็ย้ายออกไปเนื่องด้วยหลากหลายสาเหตุ เช่น ไม่ใช่บ้านเกิด อยากกลับไปทำงานที่อื่น ทำให้เด็กหลายคนเจอครูเพียงช่วงสั้นๆ จบปีหนึ่งก็เปลี่ยนเป็นคนใหม่ กลายเป็นการเรียนรู้ที่ไม่ต่อเนื่อง


ภาพจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)


จากข้อมูลโรงเรียนทั้งหมด 29,466 แห่งภายใต้สังกัด สพฐ. เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่สามารถยุบได้ประมาณ 1,100 แห่ง และมีนักเรียนยากจนพิเศษ กล่าวคือครอบครัวมีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือนมากถึง 31.2% ของนักเรียนทั้งหมดในโรงเรียนดังกล่าว ซึ่งหากประเมินว่าในโรงเรียนทั่วไปจะมีค่าเฉลี่ยเด็กยากจนอยู่ที่ 15% แสดงว่าพื้นที่ห่างไกลจะมีนักเรียนยากจนมากกว่า 2 เท่า

ยิ่งไปกว่านั้น ดร.อารีย์ ยังพบว่าอัตราครูต่อห้องเรียนในโรงเรียนเหล่านี้มีไม่ถึง 1 คนต่อห้อง ชัดเจนว่าครู 1 คนต้องดูแลนักเรียนควบหลายห้องหลายชั้น หรือมีลักษณะการเรียนแบบคละชั้น โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลจึงต้องการครูเพิ่มอีกประมาณ 4,822 คน เพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนชั้นเรียน สาระการเรียนรู้ และเพื่อที่ครูจะได้ไม่ต้องสอนมากเกินไป

ถึงตอนนี้ บางคนอาจตั้งคำถามว่าโรงเรียนเรียนขนาดเล็ก เด็กก็น้อย ทำไมครูต้องเพิ่มจำนวนให้เท่ากับเด็ก? ดร.อารีย์ ให้คำตอบว่าแม้จำนวนเด็กจะน้อย แต่พวกเขาก็เรียนคนละชั้น อายุไม่เท่ากัน นอกจากนี้ครูหลายคนยังมีภาระอื่นๆ นอกจากการสอน ทั้งทำกับข้าว ขับรถรับส่งก็มี บางแห่งยังทำหน้าที่เป็นภารโรง ครูหนึ่งคนจึงต้องรับภาระค่อนข้างเยอะและยังมีค่าสาธารณูปโภคที่ไม่แตกต่างกับโรงเรียนขนาดใหญ่อื่นๆ อีกด้วย



จากภาพรวมระดับประเทศ ดร. อารีย์ ชี้ชวนให้กลับมาดูตัวอย่างปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น ได้แก่

  1. มิติความยากจน จากตารางเป็นข้อมูลด้านความยากจนที่จำแนกออกมาแต่ละโรงเรียน ปรากฎว่าค่าเฉลี่ยความยากจนมากกว่า 50% สูงสุด 95% นั่นแปลว่าถ้ามีนักเรียน 100 คน เป็นนักเรียนยากจนไปแล้ว 90 คน หรือก็คือจนทั้งโรงเรียน
  2. โอกาสในการได้เรียนชั้นที่สูงขึ้น ตัวอย่างในตำบลไล่โว่ มีประเภทการศึกษาสูงที่สุดคือมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่มีมัธยมศึกษาตอนปลาย แปลว่าเด็กที่ยากจนมีโอกาสเข้าถึงเพียงการศึกษาภาคบังคับ แต่ไปไม่ถึงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เด็กกลุ่มนี้ต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่นๆ เพื่อเข้าถึงการศึกษาระดับสูง อาจต้องย้ายไปเรียนไกลบ้านยิ่งขึ้น เพราะพื้นที่ของตนเองไม่มีโรงเรียนคอยรองรับ

ในช่วงท้ายของการนำเสนองานศึกษา ดร.อารีย์ ทิ้งคำถามไว้สั้นๆ แต่น่าขบคิดว่า “นึกถึงตอนที่คุณพ่อเล่าให้ฟังว่าตอนเด็ก ๆ ตั้งแต่ปี 2500 เดินข้ามทุ่งไปเรียนต่างอำเภอเพื่อที่จะได้เรียนมัธยม ตอนนั้นคือปี 2500 นะคะ ผ่านมาแล้ว 6 ทศวรรษ เด็กในปัจจุบันยังต้องเดินข้ามทุ่งไปเรียนอยู่อีกหรือเปล่า?”


โจทย์ที่ต้องคิด เรื่องโรงเรียนขนาดเล็ก


ปลดล็อกท้องถิ่น – โรงเรียน เพิ่มโอกาสกระจายทรัพยากร

ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ ที่ปรึกษาเครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร กล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มโรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังจะเพิ่มจำนวนขึ้น แต่รูปแบบงบประมาณยังไม่เปลี่ยนแปลง

“ลำพังการคิดถึงภาพว่าโรงเรียนต้องมีใครบ้าง เราก็ยังฉายภาพไม่ตรงกัน เรายังเข้าใจว่าถ้ามีโรงเรียน มีเพียงผู้อำนวยการกับครูก็ได้ ทั้งที่จำเป็นต้องมีคนอื่นๆ เพิ่มเข้ามาด้วย ทั้งนักการภารโรง ธุรการ พนักงาน ถ้าไปดูโรงเรียนในเมืองจะพบว่าปริมาณคนกลุ่มแบ็กอัปเหล่านี้เยอะมาก รัฐยังมองไม่เห็นถึงความจำเป็นตรงนี้”

ดร.ศุภโชคยังชี้ให้เห็นปัญหาเรื่องคน งบประมาณ และกลไกท้องถิ่น โดยเสนอแนวทางแก้ไขควบคู่กันไป ดังนี้

  1. คน เราพบว่ามีการโยกย้ายอัตรากำลังไม่พอเพราะไม่ใช่คนพื้นถิ่น การทำโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นที่ให้ครูมีโอกาสอยู่ใกล้บ้านตัวเอง ไม่ย้ายไปที่อื่นจะทำให้อัตรากำลังครูในโรงเรียนขนาดเล็กยั่งยืนมากขึ้น เป็นวิธีการหนึ่งในการหาครูเข้าพื้นที่
  2. งบประมาณ ทุกวันนี้การจัดสรรงบประมาณแก่โรงเรียนเป็นการให้ตามรายหัว ถ้ามีนักเรียนเยอะก็ได้เงินเยอะ ถ้ามีนักเรียนน้อยก็ได้น้อย ทั้งที่โรงเรียนขนาดเล็กมีปัญหาหนักกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่เสียด้วยซ้ำ เช่น มีนักเรียนยากจนมากกว่า โอกาสในการระดมทรัพยากรก็ยากกว่า ยิ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การซ่อม สร้าง ปรับปรุงโรงเรียนยิ่งยากลำบากและมีต้นทุนสูง ทั้งค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายของแรงงาน
    หากรัฐยังคงวางแผนงบประมาณเช่นเดิม หรือเลือกให้อย่างเท่าเทียมกันทั้งประเทศ จะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น การจัดสรรงบประมาณจึงควรมอบให้โรงเรียนที่มีเด็กยากจน และประสบปัญหาขาดแคลนทรัพยากรเสียก่อน
  3. กลไกท้องถิ่น คนในพื้นที่มักมีเครือข่ายหรือความสัมพันธ์อันดีกับองค์กรส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. ดร.ศุภโชคยกตัวอย่างว่าในกรณีอื่นๆ อย่างเกิดพายุฤดูร้อน หลังคาบ้านเรือนปลิวเสียหาย อบต.สามารถส่งกระเบื้องมาช่วยได้ทันที แต่เมื่อเป็นโรงเรียน ทางโรงเรียนกลับต้องขอเงินไปยังส่วนกลางก่อน กว่าจะได้เงินมา หลังคาก็เปิด เพดานพังหมดแล้ว องค์กรท้องถิ่นไม่สามารถเข้ามาช่วยได้เพราะผิดระเบียบ การปลดล็อกกติกาบางอย่างให้ท้องถิ่นกับโรงเรียนสามารถช่วยเหลือพึ่งพากันได้ จะทำให้แก้ปัญหาเฉพาะในพื้นที่ได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ


สร้างมาตรฐานขั้นต่ำ – แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

อาจารย์ดนัยวัฒน์ มณี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปางมะหัน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เสนอว่าหากเป็นไปได้ น่าจะมีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของโรงเรียน เช่น โรงเรียนจะต้องมีบุคลากรประเภทใดบ้าง จำนวนกี่คน หรือกระทั่งว่าห้องเรียนที่มีมาตรฐานควรมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งเราสามารถกำหนดได้ตั้งแต่ระดับรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ จนถึง สพฐ.

เมื่อมีมาตรฐานขั้นต่ำแล้ว ก็มาสำรวจดูว่าโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศที่ต่ำกว่ามาตรฐานมีอยู่เท่าไหร่ และใช้งบประมาณเติมเข้าไป จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้


แบ่งขั้นการประเมิน – แข่งขันกันในแต่ละคลาส

อาจารย์ชัยศักดิ์ ภูมูล ผู้อำนวยการโรงเรียนกองม่องทะ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี  สะท้อนถึงปัญหาการการประเมินผลคุณภาพการศึกษาในระดับต่างๆ ที่เป็นตัวตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำอีกประการ เพราะคุณภาพการศึกษา คุณภาพครู คุณภาพเด็ก ระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในเขตป่าย่อมแตกต่างกัน แต่เครื่องมือที่ใช้ประเมินกลับเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด

ถ้าปรับเปลี่ยนระบบประเมินใหม่ ยกตัวอย่างคล้ายการแข่งขันกีฬาฟุตบอล แบ่งออกเป็น Division เป็นพรีเมียร์ลีก เริ่มจากจัดกลุ่มก่อน ถ้าใครเก่งก็อยู่ในพรีเมียร์ลีก คนที่เก่งรองลงมาก็อยู่ใน Division1 Division2 ถ้าคนใน Division1 ทำได้ดีก็สามารถปีนขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกได้ ขณะเดียวกัน หากใครอยู่พรีเมียร์ลีกระดับบ๊วยๆ ก็มีสิทธิ์ตกลงมาอยู่ใน Division1

“แบบนี้จะเกิดการแข่งขันในคลาสของตัวเอง มีมาตรฐานในคลาสของตัวเอง ไม่ใช่เป็นแบบเดียวกันทั้งประเทศ เราก็จะเห็นคุณภาพของมันด้วย เห็นว่าเราแข่งกับคู่ต่อสู้ที่ยุติธรรมและสูสีกัน” อาจารย์ชัยศักดิ์ทิ้งท้าย



ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save