fbpx

อำนาจตุลาการกลางสายน้ำแห่งความเปลี่ยนแปลง : นิติศาสตร์สนทนากับ สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ

จุดหักเหทางการเมืองไทยที่ผ่านมาหลายครั้งเกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่ออำนาจตุลาการล่วงล้ำเข้ามาในพื้นที่การเมืองแล้วสร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญ ภายใต้อำนาจที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ทำให้เกิดคำถาม เสียงวิจารณ์ ความอึดอัดคับข้อง และยิ่งต่อเติมภาพความขัดแย้งให้ซับซ้อนขึ้น

ท้ายที่สุดจึงนำไปสู่ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่ลดน้อยถอยลง

ช่วงปลายปี 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีการตัดสินสองคดีที่สำคัญอันเกี่ยวพันโดยตรงกับประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน คือคดีล้มล้างการปกครองและคดีสมรสเท่าเทียม

คำวินิจฉัยในสองคดีดังกล่าวเป็นสัญญาณสำคัญถึงพื้นที่เสรีภาพที่หดแคบ เป็นอีกครั้งที่ประชาชนได้เห็นการขยายตัวของอำนาจตุลาการในสังคมไทย ภายใต้บรรยากาศที่การผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนถูกตีตกครั้งแล้วครั้งเล่า

101 จึงชวนสนทนากับ ผศ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้สอนกฎหมายมหาชนและกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถึงผลกระทบจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในสองคดีดังกล่าว การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่ส่งผลต่อวงการนิติศาสตร์ และการเรียกคืนความเชื่อมั่นศรัทธาต่อความยุติธรรมในแวดวงนิติศาสตร์ไทย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นชวนให้สังคมต้องกลับมาคิดถึงเรื่องการออกแบบบทบาทและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญใหม่ การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันตุลาการในสังคมไทย และการเรียนการสอนนิติศาสตร์ที่จะสร้างนักกฎหมายที่คำนึงถึงความยุติธรรมและความเป็นธรรมในสังคม


มองว่าอะไรคือผลกระทบใหญ่ที่สุดจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีล้มล้างการปกครอง

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอาจเป็นฐานสำคัญที่หน่วยงานของรัฐจะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดทางอาญาต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายคนกังวล นอกจากนี้ในคำวินิจฉัยพูดถึงการห้ามการกระทำของเครือข่ายด้วย ซึ่งเกิดปัญหาว่าหมายถึงใคร กลายเป็นว่ารัฐตีขลุมไปเลยว่าทุกคนห้ามพูดเรื่องนี้หรือเปล่า

ในมุมมองของผม เรื่องที่อันตรายกว่าน่าจะมีสองประเด็นหลัก 1. หากในอนาคตฝ่ายนิติบัญญัติเห็นว่าน่าจะต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหารัฐธรรมนูญบางมาตราที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน แต่จะเข้าล็อกคำวินิจฉัยนี้ของศาลรัฐธรมนูญหรือไม่ว่าเป็นการล้มล้าง เท่ากับเราล็อกว่าไม่สามารถขยับทางการเมืองเพื่อปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ได้เลยหรือเปล่า ซึ่งโดยหลักนิติวิธีไม่ควรมีผลแบบนี้

2. แนวโน้มในคดีสมรสเท่าเทียมและคดีล้มล้างการปกครองมีสิ่งที่เหมือนกันคือ ศาลทำเกินอำนาจหน้าที่ของตัวเองและมีแนวโน้มว่าเราจะเป็นรัฐที่ปกครองโดยตุลาการ นี่คือความอันตรายอีกแบบหนึ่ง เรื่องการจะปรับเปลี่ยนพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันในสภา แต่คำวินิจฉัยของศาลได้ชี้ไปแล้วว่าข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เป็นการล้มล้าง เท่ากับว่าศาลกำลังก้าวก่ายอำนาจของรัฐสภาอยู่หรือเปล่า

กรณีสมรสเท่าเทียมก็เช่นกัน ประเด็นปัญหาคือมีคนสองกลุ่มที่ได้สิทธิ คือชายและหญิง คนกลุ่มอื่นที่นิยามตัวเองเป็นเพศอื่นไม่ได้สิทธิการสมรสด้วย ปัญหาของกฎหมายฉบับนี้คือคนกลุ่มหนึ่งขาดสิทธิ ในความเห็นของผมเป็นเรื่องการขัดกับหลักความเสมอภาคแน่ๆ เราไม่ควรให้เรื่องเพศหรือรสนิยมทางเพศมีผลต่างกันในทางกฎหมาย ทุกคนควรสมรสกันได้ถ้าเขาต้องการก่อตั้งครอบครัว ไม่ว่าจะเพศอะไร ประเด็นของสิทธิที่ขาดของคนบางกลุ่มนั้นควรเป็นดุลพินิจของฝ่ายนิติบัญญัติว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เช่น อาจแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 หรืออาจออกกฎหมายมาต่างหากอีกฉบับหนึ่งก็ได้ เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะกำหนด แต่ศาลบอกว่า ทางเดียวที่นิติบัญญัติจะทำได้คือไปออกกฎหมายคู่ชีวิตเท่านั้น เพราะไม่สามารถแก้ ป.พ.พ. ได้ ศาลกำลังขยายอำนาจของตัวเองออกมาในเขตแดนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐสภาควรกำหนด


คำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองเป็นการให้เหตุผลทางกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่

สำหรับผมมองว่าเหมือนกับการบ่น ไม่ควรเรียกว่าเป็นคำวินิจฉัย และผิดหลักนิติวิธีหลายประการ คือ 1. การกระทำที่บอกว่าเป็นการล้มล้างนั้นไม่ชัดเจนในคำวินิจฉัยว่าตกลงเป็นการกระทำไหนกันแน่ เพราะเขาร้องเฉพาะการกระทำวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่ธรรมศาสตร์ แต่ศาลเอาการกระทำหลังจากนั้นมาปนกัน เวลาวินิจฉัยคดี สิ่งแรกที่ต้องพูดให้ชัดคือคุณกำลังพูดถึงการกระทำไหน เพื่อจะชี้ว่าถูกหรือผิด พอไม่ชัดเจนแล้วก็มีปัญหาในแง่การวินิจฉัยตามมา

2. คดีนี้มีปัญหาในการให้เหตุผลทางกฎหมายเยอะมาก การให้เหตุผลเพื่อวินิจฉัยนั้นต้องอยู่บนฐานของพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง แต่คำวินิจฉัยที่บอกว่าล้มล้างการปกครองนั้นไม่มีข้อเท็จจริงรองรับว่าการที่เขาพูดบนเวทีวันที่ 10 ส.ค. 2563 นั้นนำไปสู่การล้มล้างอย่างไร ไม่มีพยานหลักฐานอื่นนอกจากคำพูดบนเวที การกระทำที่จะเป็นการล้มล้างการปกครองตามที่รัฐธรรมนูญเขียนต้องมีอะไรชี้ชัดระดับหนึ่งว่า สิ่งที่เขาทำนั้นเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง เช่น เขามีกองกำลังที่จะใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญ หรือเขาจัดตั้งพรรคการเมืองที่น่าจะได้เสียงล้นหลามจากประชาชนที่จะเข้าไปผลักดันเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ในสภาได้ ซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงพวกนี้เลยว่าการพูดข้อเรียกร้องนี้นำไปสู่การล้มล้างอย่างไร นี่เป็นสิ่งสำคัญมากในทางกฎหมาย

3. การที่ศาลวินิจฉัยเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรมนูญ โดยหลักคำพิพากษาจะผูกพันเฉพาะคู่กรณี คดีนี้ศาลรับคำร้องแค่ 3 คน แต่คำวินิจฉัยห้ามไปถึงเครือข่ายด้วย ทั้งที่เครือข่ายไม่ได้ถูกร้องด้วย และเครือข่ายเป็นใครก็ไม่รู้ นอกจากนี้ยังรวมถึงการกระทำในอนาคตด้วย หากถามว่าคำวินิจฉัยนี้เอามาสอนนักศึกษาได้ไหม ก็คงเอามาสอนได้ในฐานะตัวอย่างว่าคุณอย่าทำแบบนี้นะ

บทบาทของศาลคือทำหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาท ทำหน้าที่ตัดสินสิ่งที่เกิดมาแล้วในอดีต เว้นแต่ถ้ากฎหมายเขียนให้ชัดเจนก็เป็นไปได้ มาตราเรื่องล้มล้างการปกครองนี้ไทยเอามาจากเยอรมนีแต่เขียนไม่เหมือน เยอรมนีเขียนบอกว่าถ้าใครใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นหรือเสรีภาพการชุมนุมเพื่อล้มล้างการปกครอง ศาลสามารถสั่งเพิกถอนสิทธิได้ ซึ่งหมายความว่าในอนาคตจะใช้สิทธินี้ไม่ได้แล้ว ส่วนของไทยเขียนว่าให้เลิกการกระทำ นี่คือความไม่เข้าใจของผู้ร่างรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ดังนั้นอำนาจศาลจึงให้สั่งได้เฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว

4. เวลาจะตัดสินลงโทษอาญาใครสักคนจะมีหลักความรับผิดในทางอาญาว่า เขามีการกระทำที่เป็นการฆ่าไหม เขามีเจตนาหรือเปล่า และความตายเกิดขึ้นจากการกระทำของเขาไหม มีองค์ประกอบทางกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัย แต่ในคดีล้มล้างการปกครองศาลไม่ได้วางหลักไว้ว่าไม้บรรทัดของศาลคืออะไร เพราะไม่ได้บอกในเบื้องต้นว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง ต้องมีหลักนิติรัฐไหม ต้องมีหลักการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไหม ต้องมีระบบสองสภาไหม ต้องวางองค์ประกอบให้ชัดเพื่อให้เห็นว่าเรามีไม้บรรทัด แล้วเราเอาไม้บรรทัดไปวัดการกระทำที่เกิดขึ้น คดีนี้ศาลวินิจฉัยตัดสินโดยไม่มีไม้บรรทัด ซึ่งนี่คือข้อผิดพลาดทางกฎหมายอย่างร้ายแรงมากในการให้เหตุผลทางกฎหมาย


ที่ผ่านมาในคดีอื่นๆ ศาลก็ไม่เคยอธิบายองค์ประกอบของระบอบการปกครองของไทยใช่ไหม

ใช่ครับ ในเยอรมนีก็เคยเกิดปัญหานี้เหมือนกัน แต่อย่างน้อยศาลเยอรมันพยายามบอกว่าแก่นความเป็นประชาธิปไตยต้องมีอะไรบ้าง เป็นการพูดในหลักการกว้างๆ แต่อย่างน้อยต้องมีตัวชี้วัด

คำถามคือถ้าเราอ่านคำวินิจฉัยฉบับนี้แล้ว เรารู้ไหมว่าในอนาคตถ้าเราทำหรือพูดอะไรสักอย่างเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วจะเป็นการล้มล้างหรือไม่…เราจะไม่รู้เลย ความเบลอๆ แบบนี้ทำให้คนกลัวที่จะใช้สิทธิทางกฎหมาย เพราะเราคาดเดาผลทางกฎหมายไม่ได้ บรรยากาศเป็นแบบนี้ตั้งแต่ คสช. เป็นต้นมา เวลาศาลตัดสินคดีก็จะวางหลักที่เบลอๆ ไม่ชัดเจน คนที่ไม่แน่ใจผลทางกฎหมายก็จะเซนเซอร์ตัวเองไปเลย


มองผ่านคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองแล้วเราจะสามารถมองเห็นไหมว่า ‘คุณค่า’ แบบไหนที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญ

เรื่องสถาบันหลัก ต้องยอมรับว่าสถาบันนี้อยู่กับประเทศไทยมานาน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 70-80% พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลัก ปัญหาคือเวลาศาลพูดถึงประวัติศาสตร์เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ศาลพูดในแบบเป็นเส้นตรงตลอดเวลา (linear) ซึ่งความจริงมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง ศาลพูดราวกับว่าเรายังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่หรือเปล่า เรื่องที่ศาลพูดนั้นหากพูดเมื่อร้อยปีที่แล้วอาจจะถูก แต่เวลาผ่านมาถึงปัจจุบันไม่มีพัฒนาการหรือสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจนทำให้สถาบันนี้ต้องปรับตัวเลยหรือ นี่คือปัญหาสำคัญ

อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ให้สัมภาษณ์ว่า หลัง 2557 มีความเปลี่ยนแปลงในแง่พระราชอำนาจบางอย่าง ถ้าเทียบแล้วบางส่วนเหมือนย้อนไปก่อน 2475 สิ่งที่เกิดขึ้นคือความพยายามรักษาสิ่งนี้หรือเปล่า


แปลกใจไหมที่ศาลยกคำขวัญ ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’ ขึ้นมา

ผมพยายามแยกเป็นสองประเด็น ประเด็นหลักที่ศาลพยายามพูดคือการอธิบายสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วบอกว่า 10 ข้อที่เสนอนั้นไปทำลายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร แต่ที่เราโต้แย้งคือสถาบันฯ ก็ยังอยู่นี่ ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เปลี่ยน ซึ่งก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว

อีกประเด็นคือที่ศาลอ้าง เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เพื่อมาตีประเด็นเรื่องความเป็นประชาธิปไตยว่า ที่คนกลุ่มนี้พูดวันที่ 10 ส.ค. นั้นไม่ได้เคารพหลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ โดยอ้างว่า มีการไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น นี่คือปัญหาว่า แล้วข้อเท็จจริงอยู่ไหนล่ะ เรื่องการไม่รับฟังความเห็นผู้อื่นก็ไม่ได้มีข้อเท็จจริงมารองรับ

แน่นอนว่านักศึกษาที่ชูสามนิ้วเขาชูเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพขึ้นมา ผมไม่รู้ว่าเป็นความตั้งใจหรือเปล่าที่ศาลตั้งใจย้อนประเด็นนี้ แต่ศาลพยายามบอกว่านี่คือหลักประชาธิปไตยและกลุ่มที่เรียกร้องประชาธิปไตยกลับทำลายมันเสียเอง

ผมคิดว่า เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ คือคุณค่าที่สังคมจะยึดถือเป็นรากฐาน ต้องยอมรับว่าเวลาพูดถึงคำขวัญนี้แล้วเราจะนึกถึงฝรั่งเศส แต่หลักการนี้ถูกขยายให้เป็นสากล โดยหลักของรัฐสมัยใหม่ที่ออกแบบรัฐบนพื้นฐานของเสรีประชาธิปไตยต้องมีคุณค่าสามประการนี้อยู่แล้ว

เรารับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งอยู่บนหลักการของเสรีภาพ (liberty) และหากเราให้เสรีภาพคนจำนวนมากโดยไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย บางครั้งอาจนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ เราจึงต้องเรียกร้องเรื่องความเสมอภาคเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นี่คือคุณค่าสากลที่ระบบกฎหมายที่เป็นเสรีประชาธิปไตยต้องตั้งอยู่บนหลักการนี้ ซึ่งทุกฝ่ายอ้างหลักการนี้ได้ แต่การนำมาปรับใช้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


ความหมายของ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ในไทยและสากลมีความแตกต่างกันไหม โดยเฉพาะ ‘ภราดรภาพ’ ช่วงปีที่ผ่านมาม็อบคนรุ่นใหม่ถูกวิจารณ์ว่าขาดสิ่งนี้ ในความหมายว่าไม่สามัคคี ทำให้เกิดความเห็นต่าง

ถ้าดูคีย์เวิร์ดสามคำนี้ ผมคิดว่าภราดรภาพสำคัญมาก ความหมายของมันคือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่ใช่ความหมายเรื่องความสามัคคีแบบที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกแน่ๆ เป็นความเห็นอกเห็นใจที่ไม่จำเป็นต้องสงบเงียบหรือเห็นพ้องต้องกันทั้งหมด

หากย้อนกลับไปดูเรื่องเสรีภาพ โดยหลักพื้นฐานการมีเสรีภาพต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าเรายอมรับเสรีภาพของคนอื่นเช่นเดียวกัน ถ้าเราต่างไม่ยอมรับเสรีภาพซึ่งกันและกันก็จะทำลายกันเอง ซึ่งเวลาคำนี้มาใช้ในบ้านเรา ทุกคนมักบอกว่าเสรีภาพมาพร้อมหน้าที่ เสรีภาพไม่ใช่ว่าไม่มีขอบเขตจำกัด ซึ่งมันไม่ผิด แน่นอนว่ามีหน้าที่บางอย่าง ซึ่งมันคือหน้าที่ในการเคารพเสรีภาพของคนอื่น แต่ในสังคมเราเวลาพูดถึงเสรีภาพและหน้าที่ กลายเป็นว่าหน้าที่นั้นคือการต้องสยบยอมต่อคนมีอำนาจ

โดยหลักการสากล เราควรมีเสรีภาพได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าที่อะไร เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีเสรีภาพตั้งแต่กำเนิด เงื่อนไขสำคัญคือเราต้องยอมรับเสรีภาพของผู้อื่น แต่เมื่อคำว่าเสรีภาพเข้ามาในสังคมไทย คล้ายว่าเราต้องทำหน้าที่บางอย่างก่อนจึงจะได้เสรีภาพ ซึ่งหน้าที่นั้นคือการสยบยอมต่อผู้มีอำนาจ แล้วคุณจะได้เสรีภาพภายใต้กรอบที่กำหนด มันผิดฝาผิดตัวมาก

ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำ คำถามคือหากเรามีศักยภาพที่จะทำงานหาเงินได้เต็มที่ ทำไมจะต้องสนใจความยากลำบากคนอื่น ทำไมต้องสนใจความเหลื่อมล้ำ ทำไมต้องแบ่งส่วนที่หาได้ให้คนอื่น ทั้งเรื่องการยอมรับเสรีภาพของคนอื่นและการมองเห็นความยากลำบากของคนอื่นแล้วเราพร้อมแบ่งปันเพื่อให้เกิดความเสมอภาคนั้น มันย้อนกลับมาสู่คำถามว่าภราดรภาพคืออะไร สองสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเราเห็นอกเห็นใจคนอื่นในฐานะที่เป็นมนุษย์

ความหมายของสามคำนี้ผมตีความว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่เห็นอกเห็นใจคนอื่นในฐานะเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคมนั้น เราก็จะไม่ยอมรับเสรีภาพของเขาหรือมองไม่เห็นความยากลำบากของเขาที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่ สามคำนี้เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน แต่ในสังคมไทยเวลาเขาเรียกร้องเรื่องภราดรภาพจากกลุ่มนักศึกษาสามนิ้วนั้น เขาเรียกร้องเรื่องความสามัคคี ในทางกลับกันนักศึกษาที่ชูสามนิ้วก็เรียกร้องว่าเขาเป็นคนถูกกระทำ คุณเห็นอกเห็นใจฉันบ้างหรือเปล่าที่คุณกระทำกับฉัน

เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ กำลังถูกทำให้เป็นคุณค่าสากล เมื่อคำนี้เข้ามาในสังคมไทยมันถูกปรับเปลี่ยนความหมายภายใต้บริบทสังคมไทยเพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างวัฒนธรรมที่เราเป็นอยู่ ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ยุโรปก่อนที่คำว่า เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพจะเป็นที่ยอมรับในสังคมได้ ก็เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมอย่างมากมายมหาศาล ในฝรั่งเศสก็นองเลือดกันไปเท่าไหร่กว่าจะเปลี่ยนระบบศักดินา

ใครบอกว่าคุณค่าเหล่านี้เป็นคุณค่าตะวันตก แสดงว่าคุณไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ยุโรปเพียงพอ กว่าที่ยุโรปจะยอมรับคุณค่าเหล่านี้ก็เกิดจากการต่อสู้ เกิดจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างวัฒนธรรมและโครงสร้างอื่นๆ เมื่อสิ่งเหล่านี้เข้ามาในไทยก็ไม่ต่างกัน เราอยู่ในระหว่างการต่อสู้ เราต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมชนชั้นที่เรามีหรือเปล่า เราต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมระบบอาวุโสหรือเปล่า เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ลงรากในสังคมไทยได้


การอธิบายภราดรภาพว่าคือความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแบบไม่แตกแถวนั้น สอดคล้องกับวิธีคิดแบบรัฐบาลทหารหรือเปล่าที่ว่าเราต้องมีความมั่นคง สงบเรียบร้อย ไม่แตกแยก

สังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมที่เอะอะโวยวาย ทะเลาะกันได้ภายใต้กรอบการเคารพเสรีภาพซึ่งกันและกัน ภราดรภาพในความหมายของความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมีขึ้นเพื่อให้คุณเห็นความเป็นมนุษย์ และเมื่อคุณเห็นความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นแล้วคุณจึงยอมรับเสรีภาพของเขาได้ ยอมรับความยากลำบากที่เขาอยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำและเราพร้อมที่จะแบ่งปัน และสามารถทะเลาะกันได้โดยยอมรับความเห็นที่แตกต่างกัน

แต่พอภราดรภาพถูกใช้ในความหมายที่ผิด สรุปคือเราต้องการสังคมที่สงบเงียบ แบนราบ ไม่มีใครหืออือ เป็นการให้ความหมายในแบบที่ผู้มีอำนาจใช้อุดปากให้เราเงียบเท่านั้น ซึ่งทำให้ผิดความหมายของมันไปเลย


สามารถพูดได้ไหมว่า ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นผู้ชี้ทิศทางความเปลี่ยนแปลงของสังคม เมื่อมีการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงแล้วศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสินว่าทำไม่ได้

เงื่อนไขส่วนหนึ่งที่จะทำให้คำพิพากษาของศาลได้รับความยอมรับจากสังคม คือศาลต้องเข้าใจว่าคุณค่าที่คนในสังคมยึดถือในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ศาลตามเรื่องพวกนี้ไม่ทัน คำพิพากษาของศาลจะฉุดรั้งความเปลี่ยนแปลงของสังคมเอาไว้ ซึ่งสุดท้ายผมคิดว่าจะฉุดรั้งไว้ไม่ได้ เมื่อคุณค่าที่สังคมยึดถือเปลี่ยนแปลงไป

เรื่องสมรสเท่าเทียม ผมคิดว่าศาลไม่ได้หันมามองสังคมปัจจุบันว่าคุณค่าที่สังคมยึดถือเปลี่ยนไปแล้ว ขณะที่ศาลเป็นอนุรักษนิยมขวางกระแสน้ำที่กำลังเปลี่ยน วันหนึ่งความเปลี่ยนแปลงจะมาถึงและคงเหนี่ยวรั้งไว้ไม่ได้ มีความพยายามใช้อำนาจตุลาการมาหยุดความเปลี่ยนแปลงทั้งในคำพิพากษาเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และเรื่องสมรสเท่าเทียม ซึ่งเราตั้งคำถามว่าทั้งสองเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่สังคมยึดถือเหมือนเดิมหรือเปล่า

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณขวางกระแสน้ำที่เปลี่ยนแปลง สักวันหนึ่งมันจะพังทลาย คุณใช้อำนาจกดไว้ได้ไม่นานหรอก

ตัวอย่างเรื่องสมรสเท่าเทียมในเยอรมนี เมื่อปี 2002 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการสมรสนั้นหมายถึงการสมรสระหว่างเพศชายและหญิงเท่านั้น แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลงไปเยอรมนีก็มีการออกกฎหมายสมรสของคนทุกเพศในปี 2017 เพราะมีปัญหาทางกฎหมายว่าในปี 2002 เยอรมนีมีทั้งกฎหมายคู่ชีวิตและกฎหมายสมรส ซึ่งสถานะไม่เท่าเทียมกัน คู่รักเพศเดียวกันสามารถเป็นคู่ชีวิตได้ แต่สิทธิหน้าที่ตามกฎหมายบางอย่างไม่เหมือนกับคู่สมรส เดิมทีเหตุผลหลักในเรื่องนี้ถูกอิงกับศาสนา เพราะการสมรสในศาสนาคริสต์เหมือนเป็นของขวัญจากพระเจ้า พระเจ้าสร้างคนบนพื้นฐานเพศชาย-หญิง การสมรสในกฎหมายจึงสงวนไว้เฉพาะชายกับหญิง แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปก็มีการต่อสู้เรื่องนี้เรื่อยๆ จนสุดท้ายรัฐสภาออกกฎหมายมายกเลิกกฎหมายคู่ชีวิต และกำหนดให้คนเพศเดียวกันสามารถสมรสได้เหมือนชายหญิง จึงไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นคู่ชีวิตหรือคู่สมรส ความหมายของคำว่าครอบครัวก็เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อมองกรณีไทย ในคดีล้มล้างการปกครองศาลรัฐธรมนูญพูดถึงสถาบันกษัตริย์โดยย้อนไปเป็นร้อยปีที่แล้ว เรื่องสมรสเท่าเทียมศาลก็ย้อนไปถึงช่วงร่าง ป.พ.พ. เกือบร้อยปีที่แล้ว เมื่อพูดเรื่องนี้ในบริบทปัจจุบันที่คนในสังคมยึดถือและให้ความหมายคำว่า ‘สมรส’ และคำว่า ‘ครอบครัว’ ในรูปแบบที่เปลี่ยนไป เมื่อครอบครัวไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะพ่อแม่ลูก ครอบครัวอาจมีพ่อสองคนก็ได้ ศาลตามไม่ทันคุณค่าที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในสังคม แต่จะขวางไว้ไม่ได้หรอก ตัวอย่างในเยอรมนีก็ผ่านมาเกือบ 20 ปีจึงมีการเปลี่ยนแปลง


อาจารย์ให้สัมภาษณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญย่อมทำหน้าที่สอดคล้องไปกับอุดมการณ์เบื้องหลังรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้มีที่มาจากเรื่องการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือเปล่า

เรื่องกระบวนการสรรหาเป็นส่วนหนึ่ง แต่ผมอยากมององค์รวมของสังคม เราต้องยอมรับว่าคนรุ่นก่อนอยู่ภายใต้บรรยากาศอีกแบบหนึ่ง ถูกหล่อหลอมมาอีกแบบ ความจริงบางเรื่องสำหรับเขาเป็นความจริงคนละชุดกับที่นักศึกษาในปัจจุบันกำลังพูดถึงอยู่

คิดอย่างมองโลกในแง่ดี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคงคิดว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องในการพิทักษ์บางสิ่งไว้ ซึ่งเขาคิดว่าเป็นสิ่งที่คนไทยยึดถือแบบเดิม ในแบบที่เขาโตมา แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปแล้วตุลาการจับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้หรือเปล่า

อีกส่วนหนึ่งคือกระบวนการศึกษากฎหมายในปัจจุบันอาจมีส่วนหล่อหลอมคนให้ออกไปเป็นลักษณะนี้ เช่น ผมไม่เห็นด้วยอย่างมากที่คำพิพากษาจะเขียนไว้ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ก่อน 2475 หัวคำพิพากษาเขียนว่าในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ (in the name of the king) ผู้พิพากษาตัดสินในนามของพระมหากษัตริย์ หลัง 2475 สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เคยเปลี่ยน เรื่องนี้สะท้อนอุดมการณ์วิธีคิดบางอย่าง

คำพิพากษาในเยอรมนีหรืออเมริกา ตอนต้นเขาจะบอกว่า in the name of the people ทำไมเราไม่สร้างความรู้สึกของการตัดสินคดีในนามของประชาชนว่าคือความภาคภูมิใจบ้าง ซึ่งมีมิติต่างกัน เรื่องนี้ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่ 2475 ดังนั้นสิ่งที่เขาพิทักษ์จึงอาจไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย อาจไม่ใช่ประชาชน ไม่มีการเตือนสติว่าเขากำลังทำในนามของประชาชนอยู่

ในหมู่ตุลาการเองก็มีคนที่มีแนวคิดเสรีประชาธิปไตยอยู่ แต่ภายใต้ระบอบนั้นอาจทำให้เขาแสดงตัวได้ไม่มากนัก เหตุผลส่วนหนึ่งคือกว่าใครสักคนจะเข้าไปเป็นผู้พิพากษาได้นั้นไม่ง่าย ลองนึกภาพเด็กคนหนึ่งจบเนติบัณฑิตตอนอายุ 22 อ่านหนังสือตลอด 3 ปี สอบได้ตอนอายุ 25 กว่าจะเป็นผู้พิพากษาเขาแทบไม่เผชิญโลกเลย โดยเฉพาะคนที่ครอบครัวสามารถสนับสนุนได้ พอเป็นผู้พิพากษาไป 10 ปี มีฐานะมั่นคง ตัดสินคดีในกระดาษมาตลอด อยู่มาวันหนึ่งเขาเห็นการกระทำบางอย่างไม่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย หากเขากระทำการล้ำเส้น ก็อาจกระทบต่อหน้าที่การงาน คำถามคือจะทำอย่างไรเมื่อคนกลุ่มนี้สูญเสียทักษะอย่างอื่นแล้ว จะออกไปก็ทำอย่างอื่นไม่ได้ ระบบครอบคนไม่ให้มีปากมีเสียง


ตัวอย่างในเยอรมนีทำอย่างไรให้ผู้พิพากษาเป็นผู้พิพากษาของประชาชน มีการเรียนรู้โลกมากกว่าคนที่จะเรียนจบแล้วสอบเข้าเลย

เยอรมนีผ่านประสบการณ์ที่เลวร้ายในอดีตมา สิ่งที่ผมพบว่าเจ๋งมากคือเขามีการสอนสิทธิมนุษยชนศึกษาตั้งแต่ประถม มีการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนตั้งแต่พื้นฐาน มีการปลูกฝังคุณค่าของการถกเถียงในแบบประชาธิปไตย การให้เหตุผล คนเยอรมันจึงมีตรรกะ มีการให้เหตุผลสูง เรื่องเหล่านี้เป็นคุณค่าพื้นฐานที่อยู่ในตัวของเขาอยู่แล้วและระบบกฎหมายเขาออกแบบบนพื้นฐานเสรีประชาธิปไตยเต็มที่ ปัญหาลักษณะนี้จึงมีน้อย ส่วนหนึ่งคือระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความสำคัญ

บ้านเราแทบไม่ได้พูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนในระดับประถม แต่เรากลับสอนเขาแบบอำนาจนิยม เข้าสู่ระบบอุปถัมภ์ตั้งแต่เด็ก

ส่วนเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งผู้พิพากษาเยอรมันใช้การสอบเป็นหลัก เขาจะเรียนในมหาวิทยาลัย 3-4 ปี แล้วไปฝึกงานอย่างเต็มที่อีก 1 ปีจึงสอบเพื่อเป็นนักกฎหมาย แล้วคุณจะไปเป็นทนายความ อัยการ ผู้พิพากษาก็เริ่มได้เลย มีการเก็บประสบการณ์อย่างอื่นก่อน กว่าจะสอบเป็นนักกฎหมายเต็มตัวได้ก็มีวุฒิภาวะระดับหนึ่งแล้ว และคุณค่าพื้นฐานเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ก็เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ดังนั้นผมว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงระบบ


หากย้อนมองการตัดสินคดีที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะคดีทางการเมือง การวินิจฉัยออกมาในลักษณะที่สังคมพูดกันว่าคาดเดาผลได้ เรื่องนี้สะท้อนบทบาทอย่างไรของศาลรัฐธรรมนูญ

เราเห็นปัญหาชัดเจนว่า สุดท้ายหากศาลไม่ตัดสินบนหลักการและเหตุผล ความศรัทธาของสังคมที่มีต่อศาลก็จะเสื่อมลง ความเชื่อมั่นศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมอยู่ได้ เมื่อไหร่ที่ไม่มีความศรัทธา ตัดสินอะไรคนก็ตั้งคำถามว่าทำไมผลไปทางฝั่งหนึ่งตลอด ทุกคนก็จะเกิดคำถาม ข้อเรียกร้องให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นรูปธรรมชัดเจนว่าศาลทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเองแล้วส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด

ถามว่าทำไมบางเรื่องศาลก็ตัดสินได้ดีแล้วไม่พูดถึงบ้าง แต่ไปโฟกัสแต่เรื่องไม่ให้ประกันตัวหรือเรื่อง 112 เพราะว่าเรื่องอื่นคุณทำดีให้ตายอย่างไร แต่เรื่องที่ขัดกับหลักการชัดเจนมันเป็นจุดด่างพร้อยของกระบวนการ ซึ่งศาลจะสร้างจุดด่างพร้อยแบบนี้ไม่ได้ จุดด่างพร้อยนั้นจะขยายออกมาเรื่อยๆ แล้วคนก็จะหมดความเชื่อมั่นศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมาก

ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน เกือบ 20 ปีนี้คนเริ่มตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ความน่ากลัวก็คือสุดท้ายในทุกสังคมต้องการคนกลางที่ตัดสินคดี แต่เมื่อไหร่ที่สังคมนั้นไม่มีคนกลางที่ทุกคนเชื่อถือได้มาตัดสินคดี จุดจบของสังคมแบบนั้นมีรูปแบบเดียวคือความรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย


สภาพที่ศาลรัฐธรรมนูญมาเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองเยอะมาก เป็นเพราะศาลขยายอำนาจเข้าไปอยู่ในทุกส่วน หรือเพราะว่าสังคมหวังพึ่งพิงศาล จนเอาทุกเรื่องไปสู่ศาล

ผมคิดว่าคนที่ออกแบบรัฐธรรมนูญนี้ออกแบบให้ปัญหาทางการเมืองหลายอย่างไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ บางเรื่องที่มีคนไปยื่นนั้น ศาลปฏิเสธได้ถ้าไม่อยู่ในอำนาจของตัวเอง แต่แนวโน้มที่เกิดขึ้นคือศาลพยายามตีความเพื่อขยายอำนาจของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างที่ชัดเจนมากคือเมื่อหลายปีก่อนคุณวิรัตน์ กัลยาศิริ พรรคประชาธิปัตย์ไปยื่นฟ้องศาลเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง คำถามพื้นฐานที่สุดคือการที่รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพอย่างไร นี่คือการใช้อำนาจรัฐ สามารถตัดไปได้ตั้งแต่ต้น

มาตรา 49 อยู่ในหมวดสิทธิขั้นพื้นฐาน ป้องกันการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อล้มล้างการปกครอง แต่การใช้อำนาจแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีบทบัญญัติอยู่แล้วเรื่องบทบัญญัติที่ห้ามแก้ไขในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน กรณีอย่างนี้ศาลสามารถตัดได้ว่าไม่ใช่อำนาจตัวเอง แต่แนวโน้มของศาลคือจะตีความขยายอำนาจตัวเอง

ระบบออกแบบให้ศาลเข้ามายุ่งการเมืองด้วยความคิดว่าศาลยังเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือในสายตาประชาชน เพราะประชาชนไม่ค่อยฟังนักการเมืองอยู่แล้ว เรื่องจึงถูกโยนไปที่ศาล แต่พอศาลไปยุ่งเกี่ยวกับนักการเมืองมากๆ ก็ถูกตั้งคำถามจากสังคม

ปัจจุบันเรากำลังทำลายสถาบันที่ใช้วินิจฉัยข้อขัดแย้งของสังคมด้วยการให้เขาเข้ามายุ่งเกี่ยวมากเกินไป โดยหลักควรให้เข้ามายุ่งเฉพาะประเด็นทางกฎหมายที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ใช่โยนประเด็นทางการเมืองทุกอย่างไปที่ศาล ประเด็นทางการเมืองก็ควรตัดสินด้วยองค์กรทางการเมือง เช่น สภาผู้แทนราษฎร


จะต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง เพื่อให้เรามีศาลรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่แบบที่ควรจะเป็นจริงๆ มีบทบาทในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ส่วนตัวผมเห็นด้วยว่าควรมีศาลรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจหลายอย่างของศาลรัฐธรรมนูญควรเอาออกไป ศาลรัฐธรรมนูญควรเข้ามาตัดสินกรณีที่มีการอ้างว่ากฎหมายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่เป็นหลัก ส่วนประเด็นทางการเมืองควรให้รัฐสภาเป็นผู้ตัดสิน

ควรมีการออกแบบระบบศาลรัฐธรรมนูญใหม่ สิ่งสำคัญคือที่มาของศาลรัฐธรรมนูญควรต้องผูกพันเชื่อมโยงกับสภา ซึ่งตอนนี้คนที่เห็นชอบสุดท้ายคือ ส.ว. ซึ่งเราก็รู้ที่มาของ ส.ว. ว่าเป็นอย่างไร แล้วเขาก็ต้องเลือกคนที่มีแนวคิดเหมือนกัน

ตัวอย่างในเยอรมนี คนจะรู้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนนี้สนับสนุนแนวคิดทางการเมืองแบบไหน แต่เขาก็มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีแนวคิดหลากหลาย ไม่ได้ถูกกินรวบเป็นแนวคิดเดียว เพราะการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องได้เสียง 2 ใน 3 ของสภา ซึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองเยอรมันไม่เคยมีพรรคไหนได้เสียงเกินครึ่งหนึ่ง ดังนั้นถ้าอยากให้ตุลาการของตัวเองเข้าไปในสภาคุณต้องประนีประนอมกับฝ่ายค้านเพื่อให้ได้เสียง 2 ใน 3 ของสภา ฝ่ายค้านจึงต่อรองได้ว่าต้องมีตุลาการที่มีความคิดทางการเมืองแบบฝ่ายตัวเองเข้าไปด้วยจึงยอมยกเสียงส่วนหนึ่งให้

เราไม่ควรเหนียมอายว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่ฝักใฝ่การเมือง เราควรเปิดให้เห็นชัดเจนว่าใครมาจากไหนอย่างไร แล้วเราจะตรวจสอบได้

ประเด็นถัดมาที่ควรต้องปรับเปลี่ยนคือคุณสมบัติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีในปัจจุบันไม่มีใครเชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญเลย บางท่านมาจากศาลฎีกาซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ บางท่านก็เชี่ยวชาญกฎหมายอาญา คำถามคือเราเอานักกฎหมายจากศาลที่ตัดสินคดีแพ่ง-คดีอาญามาตลอดชีวิตและเอาศาสตราจารย์ด้านกฎหมายอาญามาตัดสินคดีรัฐธรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะมากๆ อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล พูดเสมอว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรต้องมีความรู้ทางรัฐธรรมนูญอย่างเชี่ยวชาญ ซึ่งผมเห็นด้วยเต็มที่ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นทั้งหมด ควรมีสัดส่วนที่ยืนยันได้ชัดเจนว่าเขาเชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญจริงๆ

ตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นไปอย่างที่ใจเราคิด แต่อย่างน้อยผมเห็นว่ายังควรมีศาลรัฐธรรมนูญอยู่ เชื่อว่ายิ่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีไปมากเท่าไหร่ เราจะมีกรณีตัวอย่างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีและตัวอย่างที่ไม่ดี แล้วการศึกษาทางวิชาการจะตามมา ไม่ว่าจะเป็นการวิจารณ์ การเอาคดีเหล่านี้มาสอน แล้วองค์ความรู้เกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญจะค่อยๆ เจริญเติบโตมากขึ้น และหวังว่าสักวันหนึ่งจะเข้ารูปเข้ารอย

ผมเห็นว่ายังควรคงศาลรัฐธรรมนูญไว้ แต่ต้องเปลี่ยนที่มา คุณสมบัติ และอำนาจหน้าที่


ฟังดูแล้วน่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือเปล่า

ถูกต้อง ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะไปถึงจุดนั้นไม่ได้ ก่อนจะเปลี่ยนแปลงเราต้องเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กว่านี้ ซึ่งเป็นเดดล็อก ขั้นแรกคือทำอย่างไรให้เป็นประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้ต้องไปด้วยกัน

ความกังวลของผมคือความพยายามแก้รัฐธรรมนูญจากภาคประชาชน 2 ครั้งที่ผ่านมาล้มเหลวหมดเลย ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีสำหรับชนชั้นนำ เพราะสร้างความโกรธแค้นของผู้คนให้มากขึ้นทุกวัน เมื่อไหร่ก็ตามที่เราปิดน้ำเดือดไม่ให้มีทางออก สุดท้ายก็ระเบิด นี่คือความน่ากังวล ไม่น่าเชื่อว่าตั้งแต่ปี 2557 รัฐบาลนี้อยู่มาถึงวันนี้ทั้งที่การบริหารไม่ดี สมัยชาติชายหรือพลเอกเปรมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่อย่างน้อยที่สุดคือเศรษฐกิจโต เมื่อคนไม่อดอยากปากแห้ง เขาก็ไม่ออกมาเรียกร้องนักหากไม่จำเป็น แต่สิ่งที่เราเจอคือไม่เป็นประชาธิปไตยแล้วยังปากกัดตีนถีบอดอยากปากแห้ง ทุกคนจึงออกมา อย่างสิงคโปร์ที่เป็นอำนาจนิยมเต็มที่ แต่คนไม่ออกมา เพราะเขายังมีกิน ยังมีชีวิตที่ดีได้ แต่รัฐบาลประยุทธ์ไม่น่าเชื่อว่าไม่มีอะไรรองรับให้อยู่ได้นานขนาดนี้


การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในหลายคดีที่สังคมมองว่าเป็นการลดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น ส่งผลอย่างไรต่อแวดวงนิติศาสตร์ไทย

ประเด็นที่ชัดเจนสำหรับผมในฐานะคนสอนกฎหมายมหาชนและกฎหมายรัฐธรรมนูญคือ ตอนนี้จะอธิบายมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญที่บอกว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย อย่างไร

หลายๆ เรื่องทำให้วงการนิติศาสตร์ไทยต้องกลับมาตั้งคำถามว่าเราผลิตนักกฎหมายแบบไหนออกไป ที่ทำให้นำไปสู่การตัดสินคดีที่ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ เวลาถามนักศึกษาปี 1 ว่ากฎหมายคืออะไร ทำไมต้องมีกฎหมาย นักศึกษามักตอบว่า กฎหมายมีเพื่อความสงบเรียบร้อยในสังคม ซึ่งไม่ผิดเสียทีเดียว แต่การตอบแบบนี้บดบังแง่มุมอื่นๆ ผมจึงถามกลับว่า ถ้าต้องการแค่ความสงบเรียบร้อยในสังคมก็เอาอาวุธทุกอย่างไว้ที่ใครคนหนึ่งไม่ดีกว่าเหรอ ถ้าใครคนหนึ่งมีรถถัง ปืน อาวุธ สังคมก็สงบเรียบร้อยได้เหมือนกัน แต่เป็นความสงบแบบราบเรียบ ไม่มีใครหืออือ ไม่ต้องใช้กฎหมายก็ได้

การบอกว่ากฎหมายเป็นเรื่องการสร้างความสงบเรียบร้อยของสังคมนั้นถูกส่วนหนึ่ง แต่เราจะมีสังคมที่สงบเรียบร้อยแบบไหนล่ะ ความสงบเรียบร้อยบนพื้นฐานว่าทุกคนมีเสรีภาพและเคารพเสรีภาพของคนอื่น หรือสังคมที่สงบเรียบร้อยเพราะคนที่มีอำนาจไปกดคนอื่นไม่ให้พูด

เวลาพูดว่ากฎหมายต้องทำให้สังคมสงบเรียบร้อยนั้นเป็นการพูดถึงมิติอำนาจอย่างเดียว แต่เราจะไม่เห็นมิติเรื่องสิทธิเสรีภาพ นี่คือปัญหาของระบบการศึกษานิติศาสตร์

ปัญหาหลักคือเราไม่ได้สอนให้นักศึกษาเข้าใจว่าพื้นฐานที่มาของกฎหมายทั้งหลายที่เขาเรียนนั้นล้วนเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ ทั้งกฎหมายมรดก กฎหมายอาญา กฎหมายครอบครัว กฎหมายสัญญา คนสอนส่วนใหญ่ไม่ได้เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ เพราะการเรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญในอดีตจะเรียนแค่เรื่องโครงสร้างทางการเมือง รัฐสภา การแบ่งแยกอำนาจ ระบบเลือกตั้ง แต่ส่วนที่คนไม่ค่อยพูดถึงคือเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน ผมเชื่อว่าน่าจะมีมาไม่เกิน 10 ปีที่มีอาจารย์สอนเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเป็นระบบแล้วสามารถเอาสิทธิขั้นพื้นฐานมาใช้ได้อย่างจริงจัง 

อย่างเรื่องสมรสเท่าเทียมเป็นประเด็นที่ใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานได้อย่างชัดเจนมาก กรณีนี้หากเป็นผมจะไม่ฟ้องว่ามันขัดกับหลักความเสมอภาคอย่างเดียว แต่จะฟ้องว่ามันขัดกับหลักสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว เมื่อการก่อตั้งครอบครัวต้องเป็นชายและหญิงอย่างละคน ซึ่งเป็นเรื่องเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ นี่คือการไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษารัฐธรรมนูญอย่างเพียงพอและเราไม่ได้สอนให้ครอบคลุมทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ

ที่คณะผมแก้ไขหลักสูตรล่าสุด เรากำหนดให้นักศึกษาต้องเรียนรัฐธรมนูญ 6 หน่วยกิต เวลาออกแบบหลักสูตร เราต้องส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิอ่านก่อน หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากศาลยุติธรรมให้ความเห็นกลับมาว่าเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเยอะเกินไป วิชานี้ไม่ค่อยได้ใช้หรอก ไม่ได้มีความสำคัญเท่าไหร่ ให้ลดหน่วยกิตลง แต่ทางคณะยืนยันว่าจะสอน 6 หน่วยกิต ไม่ได้ปรับตามความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิที่แนะนำให้ไปเรียนกฎหมายอื่นที่จะได้ใช้ ทั้งที่จริงแล้วรากฐานของกฎหมายต่างๆ คือรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ส่วนหนึ่งที่ทำให้นักกฎหมายไทยเป็นหัวสี่เหลี่ยม เพราะมหาวิทยาลัยในภูมิภาคแทบไม่สอนกฎหมายระหว่างประเทศเลย ทำให้ไม่ได้เรียนอนุสัญญาสิทธิมนุษยชน กฎหมายทะเล กฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ได้เห็นว่าในทางระหว่างประเทศเป็นอย่างไรบ้าง กลายเป็นว่านักเรียนกฎหมายไทยเรียนแค่กฎหมายที่ต้องสอบเนติบัณฑิต ทำให้ไม่เห็นมุมมองอื่นๆ ที่หลากหลายขึ้น


ไม่รู้ว่าเป็นปัญหามาจากการสอนนิติศาสตร์หรือเปล่า เมื่อทุกวันนี้ในหลายกรณีเราจะเห็นว่ากฎหมายลูกใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ อาจเพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเรื่องนั้นๆ อย่างชัดเจนหรือเปล่า

ตัวอย่างเรื่องสมรสเท่าเทียม อาจารย์ที่สอนกฎหมายครอบครัวจะบอกว่า การสมรสอยู่ใน ป.พ.พ. มาตรา 1448 มีรายละเอียดอย่างไร ข้อยกเว้นอย่างไร แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เขาสามารถอธิบายและเชื่อมโยงต่อไปได้คือ การสมรสเชื่อมโยงกับสิทธิในครอบครัวที่รัฐธรรมนูญรับรอง ต้องอธิบายกฎหมายในภาพกว้างก่อนว่าความสำคัญของกฎหมายครอบครัวคืออะไร พูดให้กว้างขึ้นในแง่สังคมคือทำไมรัฐต้องคุ้มครองสิทธิในครอบครัว ไม่ใช่แค่บอกว่าคุณสมรสได้เมื่ออายุเท่าไหร่ ถ้าจะหย่ากันมีเหตุอะไรบ้าง แต่ต้องมองในมิติสังคมกว้างๆ ว่าสถาบันครอบครัวสำคัญกับสังคมอย่างไร และทำไมรัฐธรรมนูญต้องรับรอง

ประเด็นถัดมาต้องอธิบายคำว่าครอบครัวในมิติเชิงสังคมด้วยว่า ความหมายของครอบครัวก็เปลี่ยนแปลงไปได้ ไม่ใช่แค่พ่อแม่ลูก เมื่อสังคมพัฒนามากขึ้นก็มีความเปลี่ยนแปลงความหมายของครอบครัว ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ว่าครอบครัวหมายความว่าอย่างไร เรื่องนี้ฝ่ายนิติบัญญัติต้องเป็นคนให้ความหมายว่า การที่เราจะก่อตั้งครอบครัวนั้นก่อตั้งด้วยสถาบันแบบไหน ต้องเป็นคู่สมรสหรือคู่ชีวิตแบบไหน

คดีสมรสเท่าเทียมศาลรัฐธรรมนูญก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติด้วยซ้ำไป การจะแก้ให้คนเพศเดียวกันสมรสกันได้นั้น สามารถแก้ได้ด้วยหลากหลายวิธี ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายนิติบัญญัติต้องตัดสินใจว่าจะแก้ไขอย่างไร


ในคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยอื่นเรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญกันเยอะแค่ไหน

ส่วนใหญ่จะเรียนตัวเดียว ประมาณ 3 หน่วยกิต และเรียนกฎหมายมหาชนเบื้องต้นอีก 2-3 หน่วยกิต อาจารย์หลายคนที่เริ่มเอาเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานมาสอนก็คืออาจารย์ที่จบจากเยอรมนี เพราะเยอรมนีมีเรื่องพวกนี้เป็นระบบและมีคดีตัวอย่างเอามาใช้ได้จริงเยอะมาก ส่วนใหญ่ในเยอรมนีจะเรียนรัฐธรรมนูญ 2 วิชา เทอมแรกเรียนเรื่องโครงสร้างสถาบันทางการเมือง เทอมที่ 2 เรียนเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างเดียว เขาให้ความสำคัญมากและเป็นวิชาพื้นฐานที่ต้องเรียนก่อนไปเรียนวิชาอื่น

คณะนิติศาสตร์ในไทยทุกแห่งมีวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่อาจไม่ได้เน้นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ได้สอนเรื่องการจะเอาสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับอย่างไร

เรื่องสมรสเท่าเทียมผมเคยเอามาออกข้อสอบในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเมื่อสัก 4 ปีที่แล้ว ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า ป.พ.พ.ที่ให้เฉพาะชายและหญิงสมรสกันได้นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ พยายามให้นักศึกษาเอาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องมาใช้ แต่ถ้าผมออกข้อสอบวันนี้แล้วนักศึกษาตอบแบบศาลรัฐธรรมนูญ ผมก็ไม่รู้ว่าจะให้คะแนนอย่างไรเหมือนกัน


เรื่องที่พูดกันมากนับแต่ที่มีตุลาการภิวัตน์ คือปัญหาเรื่องศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม สำหรับนักเรียนกฎหมายรุ่นใหม่ยังมีศรัทธานี้มากแค่ไหน มองเห็นความหวังไหมว่านิติศาสตร์จะสร้างความเป็นธรรมและนำพาสังคมไปสู่ความก้าวหน้าได้

จากประสบการณ์ของผม ผมสนุกกับการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในช่วง 1-2 ปีหลังมานี้ เวลาสอนจะมีส่วนร่วมจากนักศึกษามากขึ้น มีการตั้งคำถามว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแบบนี้ ปีที่แล้วผมสอนช่วงที่มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ก็จะมีคำถามมากมาย นั่นคือสัญญาณที่ดีว่าคนกำลังเริ่มหันมาสนใจรัฐธรรมนูญและคดีรัฐธรมนูญมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าแม้ในไทยเริ่มมีหนังสือที่อธิบายเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเป็นระบบมากขึ้น แต่การเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในเรื่องพวกนี้ก็ยังยากอยู่ดี แต่ก็ดีกว่าสมัยที่ผมเรียนเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่แทบหาหนังสือเหล่านี้ไม่ได้เลย

นักศึกษารุ่นใหม่กระตุ้นให้เราต้องทำอะไรมากขึ้น นักศึกษารุ่นใหม่จะทำให้การเรียนการสอนนิติศาสตร์ต้องเปลี่ยนแปลง เขากระทุ้งเราตลอด ในเวลาที่การรับนักศึกษาในหลายคณะมีปัญหา แต่ที่คณะนิติศาสตร์ไม่มีปัญหา นั่นหมายความว่ามีคนที่สนใจเรียนด้านนี้พอสมควร

ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าหลักสูตรนิติศาสตร์ในไทยส่วนใหญ่พยายามผลิตคนไปสอบเนติบัณฑิตเป็นหลัก ทำให้เราไม่เห็นทางเลือกอื่นๆ ในการเรียนนิติศาสตร์ เพราะถูกอิทธิพลของการเรียนเนติบัณฑิตบดบังหมด นี่คือปัญหาในเชิงระบบ ตราบใดที่เนติบัณฑิตไม่ปรับเปลี่ยน วิธีการเรียนก็จะเป็นอย่างนี้

นักศึกษาที่มุ่งอยากเป็นอัยการหรือผู้พิพากษาก็ต้องมุ่งเรียนแบบนี้เพื่อไปสอบเนติบัณฑิต ซึ่งเป็นการเรียนที่ไม่ critical เลย อ่านคำพิพากษาดูว่าศาลตัดสินอย่างไร แล้วแนวโน้มคำพิพากษายุคหลังมีการให้เหตุผลที่แย่ลง นักศึกษาก็จะไม่เรียนรู้กระบวนการให้เหตุผลที่ดีนักและใช้วิธีจำคำพิพากษา โอกาสที่เขาจะมีความคิดเชิงวิพากษ์ในเรื่องอื่นนอกเหนือจากตัวบทกฎหมายก็น้อยลง นั่นเป็นปัญหาของการเรียนเนติบัณฑิตซึ่งครอบงำวงการนิติศาสตร์ไทยอยู่


พอเนติบัณฑิตเป็นแบบนี้ หลักสูตรมหาวิทยาลัยสามารถทำให้ผู้เรียนเห็นทางเลือกในวิชาชีพกฎหมายที่กว้างขึ้นได้ไหม

ทั่วประเทศไทยมีคณะนิติศาสตร์กว่าร้อยหลักสูตร มีคนเรียนนิติศาสตร์แต่ละปีเยอะมาก จบไปก็กองกันอยู่ที่เนติบัณฑิต เราเสียแรงงานส่วนนี้ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน

เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วนิติศาสตร์มีการทำ มคอ.1 ผมอยู่ในกรรมการชุดนั้นด้วย เราพยายามตั้งเกณฑ์ขั้นต่ำของนิติศาสตร์โดยไม่อิงกับเนติบัณฑิต เพื่อให้คณะนิติศาสตร์มี school of law ของตัวเอง สามารถพัฒนาคณะในแนวทางที่อยากเป็นได้

ใน มคอ.1 นิติศาสตร์บังคับไว้ 66 หน่วยกิต และวิชาเลือกอีกส่วนที่ไม่เยอะมาก โดยวิชาที่ใช้สอบเนติบัณฑิตไม่ใช่วิชาบังคับทั้งหมด เราหวังว่าเมื่อมี มคอ.1 เราจะเห็นหลักสูตรนิติศาสตร์ที่หลากหลาย แต่ปรากฏว่าไม่ได้เป็นแบบนั้น ต้องยอมรับว่านักศึกษามากกว่า 80% อยากไปสอบเนติบัณฑิต คนออกแบบหลักสูตรก็ต้องออกแบบเพื่อให้คนไปเรียนเนติบัณฑิต ความคาดหวังว่าจะเห็นหลักสูตรที่หลากหลายก็แทบจะล้มพับไปเลย เพราะเราถูกครอบงำโดยเนติบัณฑิตและผู้เรียนก็อยากเรียนเพื่อไปในแนวทางนั้น

ตอนนี้จึงต้องคุยกันว่า ถ้าไม่เปลี่ยนเนติบัณฑิต ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนนิติศาสตร์ได้ ตอนนี้ทางกระทรวงตั้งคณะอนุกรรมการการสภานิติศึกษาแห่งชาติขึ้นมา โดยมี อ.สุรพล นิติไกรพจน์ เป็นประธาน ซึ่ง อ.สุรพล ตั้งคณะทำงานขึ้นมามี อ.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และผมเข้าไปช่วย เราพยายามเสนอการปฏิรูปเรียนการสอนนิติศาสตร์ที่เป็นอุดมคติที่สุด ส่วนจะทำได้จริงแค่ไหนก็ต้องดูกัน


แบบนี้เหมือนเป็นการฝืนความต้องการผู้เรียนหรือเปล่า

(ยิ้ม) ถูกต้องครับ เป็นเหตุที่ว่าถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนเนติบัณฑิต ก็จะได้เจอนักกฎหมายที่อ่านแต่กฎหมายลายลักษณ์อักษร แล้วเอาคำพิพากษาฎีกามาใช้ แต่จะไม่เจอนักกฎหมายที่สามารถวิจารณ์กฎหมายหรือคำพิพากษาของศาลว่ามีปัญหาอย่างไร ได้แต่เดินตามกันเป็นนกเพนกวิน การที่นักศึกษาอยากเรียนเนฯ นั้นไม่ผิด เราต้องไปปรับที่กระบวนการเรียนของเนติบัณฑิต

หากดูคอนเซ็ปต์ในหลายประเทศ วิชาชีพกฎหมายจะมีการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจนระหว่างมหาวิทยาลัยกับเนติบัณฑิต มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ให้ความรู้ทางวิชาการเป็นหลัก ส่วนเนติบัณฑิตทำหน้าที่พัฒนาทักษะวิชาชีพทางปฏิบัติ คนที่จบจากมหาวิทยาลัยจะมีความรู้พื้นฐานที่เพียงพอแล้วเข้าไปเนติบัณฑิตเพื่อพัฒนาทักษะทางปฏิบัติ แต่ของไทยไม่เป็นอย่างนั้น เนติบัณฑิตไทยไม่ได้พัฒนาทักษะแต่ให้ทุกคนไปอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อสอบให้ผ่าน ดังนั้น มหาวิทยาลัยใดที่ชี้วัดด้วยการที่นักศึกษาสอบเนติบัณฑิตได้ก็จะมุ่งให้นักศึกษาเรียนในกรอบนี้ แล้วสังคมส่วนหนึ่งก็ให้คุณค่าเรื่องนี้ แต่กลายเป็นว่าเขาผลิตนักกฎหมายหัวสี่เหลี่ยม คิดอะไรนอกกรอบเพื่อพัฒนากฎหมายไม่เป็น ก็กลายเป็นปัญหา

ปัญหาคือพอมหาวิทยาลัยพยายามผลักดันให้นักศึกษาสอบเนติบัณฑิต ปรากฏว่านักศึกษาส่วนหนึ่งที่ไปทำงานภาคธุรกิจก็เจอเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนว่านักศึกษาทำงานไม่เป็น ไม่มีทักษะภาคปฏิบัติ จึงย้อนกลับมาว่าแทนที่มหาวิทยาลัยจะสอนเนื้อหาทางวิชาการเป็นหลัก สอนความรู้ทางสังคมวิทยาหรือเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น กลายเป็นว่าต้องเจียดเวลาไปสอนทักษะทางปฏิบัติด้วย แทนที่จะเป็นภาระของเนติบัณฑิต ปัญหาก็พันอยู่แบบนี้


มีคำอธิบายไหมว่าทำไมเนติบัณฑิตมุ่งไปทางให้ท่องจำกฎหมาย

เดิมเราไม่มีสภาทนายความ เนติบัณฑิตจะประกอบด้วยผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ แต่สุดท้ายด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่คนที่เข้าไปมีบทบาทมากในเนติบัณฑิตคือผู้พิพากษา ทนายความแทบจะไม่มีบทบาทจึงต้องมาตั้งสภาทนายความในตอนหลัง แล้วแยกการสอบใบอนุญาตว่าความออกจากการสอบเนติบัณฑิต ในขณะที่ในอเมริกา ถ้าสอบเนติบัณฑิตผ่านคุณได้เป็นทนายความเลย ไม่จำเป็นต้องสอบใบอนุญาตว่าความต่างหาก

เมื่อเนติบัณฑิตถูกครอบงำโดยผู้พิพากษาซึ่งทำงานตัดสินคดีเป็นหลัก ไม่ได้ทำงานแบบทนายความ เขาจึงสอนแบบที่ใช้ตัดสินคดีและเป็นอย่างนี้เรื่อยมา ประกอบกับเนติบัณฑิตใช้ระบบสอบออก (exit exam) ถ้าปีนี้มีคนอยากเรียน 30,000 คนก็สมัครเรียนได้ คำถามคือเราจะพัฒนาทักษะทางกฎหมายของคนทั้ง 30,000 คนนี้อย่างไร ไม่มีทางเลย จึงต้องใช้วิธีการเอาคนไปนั่งเรียนหนึ่งปีให้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วสอบให้ผ่าน ไม่ได้พัฒนาทักษะทางปฏิบัติเลย

ที่ญี่ปุ่นใช้ระบบสอบเข้า เนติบัณฑิตรู้ว่าจะรับคนได้เท่าไหร่ อาจรับได้แค่ 1,000 คน แต่ก็ฝึกทุกคนอย่างเต็มที่ให้พร้อมออกไปทำงานโดยมีทักษะปฏิบัติและมีความรู้ทางวิชาการ


ในสภาพที่ประชาชนมองไม่เห็นความหวังในกระบวนการยุติธรรม สถาบันการศึกษาที่สอนนิติศาสตร์ควรทำอย่างไรที่จะสร้างความหวังและศรัทธากับสังคม

นี่เป็นความท้าทายมาก ตอนนี้มีวิกฤตซึ่งทำให้เราต้องย้อนกลับมามองตัวเองว่าจะพัฒนาการเรียนการสอนนิติศาสตร์อย่างไร ในด้านหนึ่งคนรุ่นใหม่ไม่ได้ละทิ้งนิติศาสตร์ เขายังมองหาความถูกต้องความยุติธรรมอยู่ นักศึกษารุ่นใหม่มีความหวังว่าจะเข้ามาเรียนสิ่งที่ถูกต้องเพื่อออกไปปรับเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้น นี่เป็นสัญญาณที่ดี แต่เราจะตอบสนองเขาได้แค่ไหน

ถ้าการเรียนการสอนนิติศาสตร์ไม่เปลี่ยนก็ไม่สามารถแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมได้ ต้องยอมรับว่าการสอนนิติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตคนไปสู่กระบวนการยุติธรรม ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนส่วนนี้ ไม่ว่าจะออกแบบกระบวนการยุติธรรมหรือเขียนกฎหมายให้ดีแค่ไหน แต่เรายังผลิตนักกฎหมายอำนาจนิยมออกไปก็ไม่เกิดประโยชน์

ผมเรียนมาในยุคที่รัฐธรรมนูญ 2540 ใช้บังคับ เป็นยุคที่หลายคนพูดว่าเราน่าจะไม่มีรัฐประหารแล้ว เรามีรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิเสรีภาพไว้ดีมาก ไม่มีใครคิดว่าปี 2549 จะเกิดรัฐประหาร ผมคิดว่าสิ่งสำคัญนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียนแล้วคณะนิติศาสตร์ต้องสร้างบรรยากาศสิ่งแวดล้อมของการเรียนที่ส่งเสริมเรื่องพวกนี้ด้วย เช่น มีอาจารย์ที่สอนกฎหมายมหาชนแล้วไม่ให้นักศึกษาทบทวนเกรด คำถามคือทำไมนักศึกษาจะตรวจสอบคุณไม่ได้ล่ะ แล้วจะสอนกฎหมายมหาชนว่ารัฐต้องถูกตรวจสอบได้อย่างไร

เรื่องที่ผมคิดว่าคณะนิติศาสตร์ควรทำคือการให้ความรู้ เราต้องบันทึกความผิดปกติหลายอย่างที่เกิดขึ้นไว้แล้วสักวันหนึ่งเราจะเผยแพร่ออกมาได้ นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้ เช่นที่ว่าทำไมประเทศไทยเกิดรัฐประหารมาตั้งหลายครั้งแล้วเราถึงลืม อ.เกษียร เตชะพีระ มักบอกว่า เราไม่ได้ลืมหรอก แต่เราไม่เคยจำมันเลย บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลยุติธรรมที่เกิดขึ้นช่วงนี้ต้องถูกบันทึกไว้ แล้ววันหนึ่งเมื่อสถานการณ์เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เราจะเอาสิ่งนี้มาใช้เพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบได้อย่างเต็มที่ แต่ก่อนเราจะทำได้ เราต้องจำมันก่อน

ช่วงที่ผ่านมาคณะนิติศาสตร์ควรมีบทบาทมากกว่านี้ในการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นว่าศาลรัฐธรรมนูญทำไม่ถูกต้องอย่างไร เราน่าจะจัดเวทีวิชาการเพื่อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเหล่านี้ นั่นคือการทำหน้าที่ในฐานะสถาบันวิชาการ มีหลายมหาวิทยาลัยจัดเสวนาวิชาการอย่างคึกคัก อย่างเรื่องบูลลี่ออนไลน์ เรื่องภาษีสำหรับผู้ประกอบกิจการ ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่มีไม่กี่มหาวิทยาลัยที่พยายามจัดเรื่องซ้อมทรมาน ชุมนุมสาธารณะ รัฐธรรมนูญ การปฏิรูปต่างๆ ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง แต่ในประเด็นพื้นฐานสำคัญเรายังไม่มีความกล้าพอ เราควรกล้ามากกว่านี้ในการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาบนพื้นฐานวิชาการ เพื่อให้สังคมเห็นสิ่งที่ศาลทำไม่ถูกต้อง

ในมุมหนึ่งผมเข้าใจว่าทำไมคณะนิติศาสตร์หลายแห่งจึงไม่ออกมา การเรียนการสอนนิติศาสตร์ปัจจุบันยังต้องพึ่งพิงผู้พิพากษาและอัยการด้วย สิ่งแรกที่เราต้องทำคือต้องยืนด้วยลำแข้งของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพิงเขา ผมเคยได้ยินข่าวตอนมีปัญหาป่าแหว่งที่เชียงใหม่ อาจารย์ที่คณะคนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ผ่านเฟซบุ๊กอย่างรุนแรงและมีผู้พิพากษาในศาลพูดว่า ต่อไปเราไม่ต้องรับนักศึกษานิติ มอ. มาฝึกงานแล้ว ผมคิดว่ามันสะท้อนความใจแคบ แต่ก็ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่คณะนิติศาสตร์ทุกแห่งที่จะมีภูมิคุ้มกัน ยิ่งคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยภูมิภาค จะกล้าออกมาทำอะไรมากมาย เราก็อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์รูปแบบหนึ่ง


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save