fbpx

มองการเมืองผ่านสายตา ‘สรวงศ์ เทียนทอง’ ในวันที่พรรคเพื่อไทยต้อง ‘ออนแอร์’

ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ได้โดยไม่เปลี่ยนแปลง และหนึ่งในพรรค ‘พี่ใหญ่’ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวทางการเมืองมาหลายพรรษาอย่างเพื่อไทยก็ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ดี

ปรากฏการณ์หักปากกาเซียนในการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คือการเพลี่ยงพล้ำครั้งแรกในรอบ 22 ปีของพรรคขวัญใจมวลชนอย่างเพื่อไทย ที่ชูจุดแข็งในการบำบัดทุกข์ บำรุงปากท้องประชาชน ท่ามกลางความซบเซายาวนานทางเศรษฐกิจ แต่เพลี่ยงพล้ำไม่ได้หมายถึงสิ้นท่า สำหรับเลขาธิการพรรคคนใหม่อย่าง ‘สรวงศ์ เทียนทอง’ ลูกชายของเสนาะ เทียนทอง – ‘คิงเมกเกอร์’ ในตำนานที่ปั้นนายกฯ มาแล้วสามคน เชื่อว่าการเดินหน้าปรับทิศทางการทำงานตั้งแต่วันนี้จะทำให้เพื่อไทยกลับมาเป็นพรรคอันดับหนึ่งในสนามเลือกตั้งได้อีกครั้ง

101 ชวนมองการเมืองผ่านสายตา ‘น้องบอย-พี่บอย’ เลขาธิการพรรครุ่นกลางเก่ากลางใหม่ เพื่อหาคำตอบว่าเพื่อไทยต้องหล่น ‘ไกลต้น’ แค่ไหนในยุคการเมืองใหม่ที่กำลังมาถึง

หรือจะอาศัยร่มเงาของต้นเดิมบ้างก็ไม่เสียหายอะไร!

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-One Ep.313 ‘เพื่อไทยหล่นให้ไกลต้น’ กับ สรวงศ์ เทียนทอง ออกอากาศเมื่อวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ดำเนินรายการโดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์



ยืนระยะออนกราวนด์-เฝ้าระวังออนแอร์
: เป้าหมายใหม่ที่เพื่อไทยต้องไปให้ถึง


สรวงศ์บอกว่าเป้าหมายของเขาคือการนำเพื่อไทยเข้าสู่ยุคการเมืองใหม่ และทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริงขึ้นมา

ไม่ว่าจะ ‘เกิดทัน’ หรือไม่ แต่ใครเคยได้ยินท่อน “ป๋าเหนาะ เสธ.หนั่น ท่านกร ท่านมาอวยพรให้รักกันมากๆ” ในเพลง ‘สะใภ้นายก’ คงจินตนาการถึงอิทธิพลของเสนาะ เทียนทอง ผู้นำ ส.ส.กลุ่มวังน้ำเย็นได้ไม่ยาก กระนั้น สรวงศ์ยังยืนยันว่าเขาไม่ได้มายืนที่จุดนี้เพราะเป็น ‘เทียนทอง’ เท่านั้น

“[แพทองธาร ชินวัตร] ถามความเห็นของสมาชิกพรรคหลายคน ปรากฏว่ามีชื่อของผมในฐานะคนทำงานมานานและทำงานอย่างทุ่มเทในพรรคโผล่ขึ้นมา พี่ๆ เพื่อนๆ ที่เคยมีบทบาทในพรรคก็ไปอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลกันหมด ไม่มีใครเป็นผู้ประสานระหว่าง ส.ส.ในพรรคที่เป็นรุ่นเดอะ รุ่นกลาง และรุ่นยังเติร์ก ซึ่งผมมองว่าการมี ส.ส. หลายรุ่นในพรรคเป็นจุดแข็งของเพื่อไทยนะ

“นักวิชาการบางคนพูดว่า [พรรคเพื่อไทย] ตอบแทนป๋าเหนาะ ผมต้องถามว่าตอบแทนเรื่องอะไร” สรวงศ์ย้อนถาม “น้องๆ คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้ แต่เสนาะ-ทักษิณมีช่วงที่ไม่กินเส้นกันช่วงหนึ่งนะครับ เพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน นี่คือความตรงไปตรงมาในพรรค เช่นกันครับ ตอนที่ผมบอกหัวหน้าอุ๊งอิ๊งว่าต้องออกความเห็นกันได้จริงๆ นะ อุ๊งอิ๊งก็บอกว่าดีเลย อิ๊งก็เป็นคนตรงๆ ถ้าเรามีความเห็นไม่ตรงกันก็ต้องพูดคุยกันให้รู้เรื่อง สุดท้ายถ้าจำเป็นต้องมีการลงมติในหมู่กรรมการบริหารพรรคก็ต้องมี”

ในฐานะเลขาธิการพรรคคนใหม่ อาจกล่าวได้ว่าสรวงศ์ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเท่าๆ กับเพื่อไทยเอง ความสนใจหลักในวัยรุ่นของสรวงศ์อาจเป็นการแข่งรถ แต่ด้วยวัยเพียง 25 ปี สรวงศ์ก็ลงสนามการเมืองแล้ว โดยเป็นที่ปรึกษาทางการเมืองของสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในปี 2544 ก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2548 และชนะเลือกตั้ง แต่เป็น ส.ส.ได้เพียงปีเดียวก็ถูกรัฐประหาร จนเขาอดตัดพ้อไม่ได้ว่า “คนว่าผมเป็น ส.ส.สี่สมัย แต่รวมเวลาทั้งหมดแล้ว หกปีครึ่งเอง”

“ผมผ่านมาทุกม็อบแล้ว” สรวงศ์เล่า “ช่วงม็อบเสื้อเหลืองต้องปีนกำแพงรัฐสภาหนี รั้วแหลมตั้งศอกหนึ่ง ผมดันก้นท่านบรรหาร ป้าอุ (อุไรวรรณ เทียนทอง) ออกไป ขึ้นรถตู้คันหนึ่งไปตั้ง 27 คน แล้วก็ผ่านการเลือกตั้งใหม่ปี 2550 เรามีนายกฯ สามคนภายในสามปีกว่าๆ จากนั้นท่านอภิสิทธิ์ก็ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ เป็นยุคของนายกฯ ยิ่งลักษณ์สองปีครึ่ง ผมอยู่ใน ครม.ปู 4 หรือปูสุดท้ายที่ถูกคลุมหัว ก็เป็นประสบการณ์หนึ่ง”  

แม้จะผ่านสมรภูมิการเมืองมาโชกโชน สรวงศ์ก็ไม่ขอเรียกตัวเองว่า ‘นักปั้นนายกฯ’ ตามรอยพ่อ เป้าหมายของเขาคือเป็นฟันเฟืองที่จะทำให้เพื่อไทยกลับมาเป็นพรรคอันดับหนึ่งในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า โดยสรวงศ์เห็นว่าจุดแข็งของเพื่อไทยคือการเมือง ‘ออนกราวนด์’ หรือการสัมผัสชีวิตประชาชนและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ แต่ส่วนที่ยังบกพร่องไปคือการเมือง ‘ออนแอร์’

“เราทำงานออนกราวนด์แล้วแต่พี่น้องประชาชนไม่เห็น คนที่เป็นโหวตเตอร์ทุกวันนี้ บางคนไปทำงานที่กรุงเทพฯ บางคนไปชลบุรี ระยอง สมมติเป็นคนสระแก้ว เขาก็ไม่รู้หรอกว่าผมทำอะไรให้สระแก้วบ้าง เพราะเขาไม่ได้อยู่ในพื้นที่ สิ่งสำคัญคือโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่ใช่แค่มือถือ แต่เป็นวงสังคมของเขา สมมติรวมกลุ่มสิบคน มีคนชอบเพื่อไทยสามคน ชอบมากๆ เลย แต่อีกเจ็ดคนไม่ชอบ อีกสามคนจะเงียบ ไม่ค่อยกล้าปกป้องสิ่งที่ตัวเองชอบเท่าไหร่”

สรวงศ์เห็นว่าการจูงใจมวลชนรูปแบบเดิมของเพื่อไทยไม่เพียงพอแล้ว “เราไม่ได้ใช้รูปแบบใหม่ๆ เท่าที่ควร เราทำวิดีโอบ้าง แต่ไม่ได้ทันต่อเหตุการณ์ การใช้อินฟลูเอนเซอร์สำคัญนะ สมมติพี่วิสุทธิ์มีผู้ติดตาม 200,000 คน พี่วิสุทธิ์โพสต์ว่าจะไปนั่นมานี่ คนที่ตามพี่มาไม่ได้มาดูพรรคการเมืองหรือนักการเมืองนะ เขาอยากเจอพี่ พอตามกันมาปุ๊บก็กลายเป็นอุปทานหมู่ไป แต่ผมไม่ได้ใช้พี่ให้เป็นประโยชน์”

เขายอมรับอีกด้วยว่าเพื่อไทยอาจไม่ได้สื่อสารทิศทางและวิถีของพรรคกับคนรุ่นใหม่เท่ากับคู่แข่งสำคัญที่คว้าชัยในสนามเลือกตั้งอย่างพรรคก้าวไกล

“ยอมรับเลย เราไม่เคยเห็นดีเบตก่อนเลือกตั้งครั้งไหนที่ก่อนลงเวทีจะถูกถามว่า ‘หลังเลือกตั้งจะไปจับมือกับใคร’ เราตอบกลางๆ มาตลอดว่าขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชน ถ้าให้เรามาเต็มที่ เราจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวแน่นอน” สรวงศ์อธิบาย “ให้เราชัดเจนเรื่องอะไรก่อน เรื่องลุงหรือ ความชัดเจนทำให้เกิดวิกฤตนี้ไม่ใช่หรือ ส่ง [แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี] คนเดียวแล้วเป็นยังไง เราโดนมาเยอะแล้ว อาศัยประสบการณ์ล้วนๆ ผมถามกลับนะ ทุกสิ่งทุกอย่างที่พรรคอันดับหนึ่งได้มาเพราะพูดว่ามีเราไม่มีลุง สุดท้ายเขาจัดตั้งรัฐบาลได้ไหม”

สำหรับสรวงศ์ พรรคก้าวไกล “ไม่ได้ทำหน้าที่ของแกนนำจัดตั้งรัฐบาล” เพราะ “แค่เขาชวนคนจากพรรคของพี่กรณ์-ท่านสุวัจน์มาสองคน ข้ามคืนเท่านั้นก็มี #มีกรณ์ไม่มีกู แล้ว แล้วบริบทของการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลล่ะ คุณต้องทำทุกวิถีทางเพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ จะได้ส่งมอบนโยบายต่างๆ ที่คุณให้สัญญาไว้กับพี่น้องประชาชน ทุกวิถีทางนะครับ แต่ทำไมเลือกจะกอดสัญญาหนึ่งไว้ แล้วทิ้งคำสัญญาอีกสามร้อยกว่าที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชน”

ท้ายที่สุดแล้ว ‘ประสบการณ์ล้วนๆ’ ที่กลายเป็นวิถีของพรรคนี่เอง ที่เพื่อไทยต้องสื่อสารให้ถึงประชาชนในสนามเลือกตั้ง

“มาดูประวัติศาสตร์ทางการเมืองก่อน เคยมีครั้งไหนไหมที่พรรคอันดับหนึ่งและสองจับมือกัน ใครเสนอชื่อคุณพิธาครับ หมอชลน่านไง ส.ส. 141 คนของเพื่อไทยก็ลงคะแนนให้ ตอนที่ ส.ว. บอกว่าไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ เราก็ยังลงคะแนนช่วยให้เสนอได้ ข้อกล่าวหานี้ไม่ยุติธรรมสำหรับเรา เพราะเราทำทุกอย่างแล้วเพื่อให้คุณเป็นนายกฯ”

แม้จะมีความท้าทายอยู่บ้างที่พรรคมีคน ‘รุ่นใหม่’ ไม่มาก แต่มีคนรุ่นอาวุโสและกลางเก่ากลางใหม่อย่างสรวงศ์อยู่ไม่น้อย แต่สรวงศ์ย้ำว่าความท้าทายนั้นเป็นข้อดีต่างหาก เพราะ “พรรคจะมีคนที่มีประสบการณ์สูงแนะนำคนมีประสบการณ์น้อยกว่าลงมาเรื่อยๆ การทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนทุกคนในประเทศต้องอาศัยคนทุกรุ่นจริงๆ”



ก่อนการชิงชัยครั้งใหม่ ‘เพื่อไทยใหม่’ ต้องฝ่าฟันอะไรบ้าง


สรวงศ์บอกว่าภารกิจสำคัญของพรรคในวันนี้คือเริ่มทำงาน ‘ตั้งแต่เนิ่นๆ’ เพื่อสะสมความนิยม แนะนำเพื่อไทยยุคใหม่ให้ประชาชนรู้จัก และส่งมอบนโยบายที่หาเสียงไว้ให้ได้มากที่สุด เขายังเชื่อว่าระยะเวลาการทำงานของกรรมการบริหารพรรคคือสี่ปี ไม่ใช่สองปีอย่างที่หลายคนคาดการณ์

“หลายคนบอกว่าจะเปลี่ยนตัวเศรษฐาเป็นแพทองธาร ไม่มีหรอกครับ พี่นิดไม่ยอมลงจากตำแหน่งหรอกครับ พี่นิดอยากทำงาน พวกผมก็ต้องช่วยเต็มที่”

สำหรับการสื่อสารวิถีของเพื่อไทยนั้น กรรมการบริหารพรรคกำลังเร่งกระบวนการ ‘digital transformation’ หรือการรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์การต่อสู้และการทำงานของพรรค เพื่อสร้าง ‘learning center’ เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับศึกษาพลวัตทางการเมืองของไทยต่อไป ร่วมกับการทำงานแนวราบทั้งในระดับพรรค คณะรัฐมนตรี และ ส.ส.ในแต่ละท้องที่ เพื่อร่นช่องว่างระหว่างคนต่างวัย และระหว่างพรรคกับประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด

“พรรคเพื่อไทยมีประวัติศาสตร์แต่ไม่มีระบบจัดเก็บข้อมูลเลย ทุกสิ่งกระจัดกระจายไปหมด ถ้าวัยรุ่นไม่ฟังก็จะไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรกับเพื่อไทยบ้าง ตอนที่ยิ่งลักษณ์ถูกรัฐประหาร โหวตเตอร์รุ่นใหม่เพิ่งเจ็ดขวบเอง เขาโตขึ้นในยุคลุงเลยอึดอัดพอสมควร แต่ไม่ได้ย้อนกลับไปดูว่าไทยรักไทย พลังประชาชน หรือเพื่อไทยทำอะไรไว้บ้าง พรรคต้องสร้างฐานข้อมูลนะ” สรวงศ์อธิบาย

ส่วนการประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรีกับพรรคนั้น สรวงศ์ยืนยันว่ามีการพูดคุยกันตลอดเวลา โดยนายกรัฐมนตรีมาที่ทำการพรรคเพื่อไทยสม่ำเสมอ โดยต่างฝ่ายต่างมุ่งรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน “บางอย่างก็สำเร็จแล้ว ลดค่าใช้จ่าย ค่าน้ำมัน ค่าไฟ ใครที่จ่ายเองรู้สึกได้แน่นอน ราคาน้ำมันเบนซินก็ลดลงแล้ว ช่วงแรกเป็นดีเซล ส่วนการพักหนี้เกษตรกร หรือลดราคาตั๋วรถไฟฟ้าเหลือยี่สิบบาทตลอดสายก็อยู่ระหว่างการเจรจาทั้งหมด ตอนนี้ได้สองสายแล้ว คือสายสีแดงกับสายสีม่วง ต้องทำให้สายอื่นๆ เห็นว่าการลดราคาทำให้คุณมีผู้โดยสารมากขึ้น ซึ่งทดแทนกันได้อยู่แล้ว สิ่งที่ตามมาอาจเป็นบริการ park and ride ซึ่งเป็นการตัดสินใจของทางรถไฟฟ้า”

แม้แต่ประเด็นที่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์เมื่อไม่นานมานี้อย่างการขึ้นค่าแรงและดิจิทัลวอลเล็ต สรวงศ์ก็เชื่อว่าเพื่อไทยรักษาสัญญาของตนได้แน่นอน “เราพูดทุกอย่างโดยอิงสภาพเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น ดิจิทัลวอลเล็ตจึงต้องมาก่อน เพราะมันจะกระชากเศรษฐกิจไทยขึ้นมา คนที่บอกว่าเศรษฐกิจไทยดีแล้ว ไม่ต้องทำหรอก ลองไปดูชนบทสิ มันไม่ได้ดีอย่างที่คุณคิด”

เขาอธิบายว่าพรรคและคณะรัฐมนตรีรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วนเสมอ โดยสะท้อนให้เห็นผ่านการเปลี่ยนแปลงขอบเขตการใช้เงินจากระยะทางสี่กิโลเมตรเป็นอำเภอ พร้อมย้ำว่า “ต้องได้ทุกคน เราสัญญากับพี่น้องประชาชนไว้อย่างนั้น บางคนบอกว่าทำไมต้องให้คนรวยด้วย แต่ผมคิดว่าต้องมองจากคนละมุม คนมีฐานะอาจมองเห็นเงิน 10,000 บาทเป็นคูปองส่วนลด จะซื้อคอมพิวเตอร์สักเครื่อง ราคา 30,000 กว่าบาท ถ้ามีดิจิทัลวอลเล็ตลดราคาสักหมื่นก็น่าซื้อ เราคิดแล้วว่าต้องให้ทุกคน”

อีกนโยบายที่สรวงศ์เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในระยะยาวและพรรคเพื่อไทยต้องผลักดันให้สำเร็จคือการแก้ไขปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน ด้วยการจัดสรรที่ดินให้ประชาชนกว่า 50 ล้านไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งรัดการพิสูจน์สิทธิ์ รวมถึงการร่วมมือกับกองทัพเพื่อนำที่ดินของกองทัพมาใช้ประโยชน์ “ที่ดินของทหารนี่ที่สระแก้วก็มีมาก ประชาชนก็ถือเอกสารสิทธิ์ที่ดินอยู่ เป็น น.ส.2 บ้าง ส.ค.1 บ้าง แต่ทหารมาขอใช้พื้นที่”

การแปลงที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผลักดันอยู่ก็เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยเช่นกัน โดยสรวงศ์ชี้แจงว่าคณะรัฐมนตรีกำลังเลือกหน่วยงานผู้รับผิดชอบร่วมกัน ที่สำคัญคือเขาต้องการเห็น ‘ภาษากลาง’ ในการจัดการที่ดินระหว่างทุกกระทรวงทบวงกรมเสียที ไม่ว่าจะเป็นกรมธนารักษ์ ราชพัสดุ การรถไฟ หรือกองทัพไทย

เมื่อกล่าวถึงนโยบายที่จะ ‘ผ่าทางตัน’ ประเทศในระยะยาวแล้ว แน่นอนว่าไม่กล่าวถึงเผือกร้อนอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ท่ามกลางกระแสข่าวโจมตีว่าพรรคไม่แตะต้องรัฐธรรมนูญหมวดหนึ่งและสอง รวมถึงคว่ำญัตติประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งพริษฐ์ วัชรสินธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอ สรวงศ์อธิบายว่าการมีความเห็นในการดำเนินงานที่แตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา และไม่ควรเป็นวาทกรรมว่าพรรคเพื่อไทยไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญไป

“ที่คุณพริษฐ์เสนอวันนั้น ถ้าผ่านแล้วไปไหน ไปหาวุฒิสภา ผ่านวุฒิสภาแล้วไปไหนต่อ ก็ไปคณะรัฐมนตรีอยู่ดี สุดท้ายก็ไปที่การตั้งคณะทำงาน (คณะกรรมการศึกษาการทำประชามติ) และเชิญพรรคก้าวไกลให้เข้าร่วม แต่พรรคก้าวไกลไม่เข้าร่วม”

สรวงศ์ยืนยันว่าไม่ใช่ว่าสองฝ่ายพูดคุยกันไม่ได้ “เราเริ่มแล้ว แต่มีวาทกรรมทำนองนี้ตลอด ว่าเพื่อไทยไม่เอา เพื่อไทยคว่ำญัตติ ทั้งที่เราแสดงจุดยืนว่าเราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอด ตอนนี้ก็ทำอยู่ ขั้นตอนต่อไปคือหาที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ และหาว่าจะแก้ไขยังไง ซึ่งต้องให้คณะทำงานทำ ประชามติก็ต้องทำอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเป็นแนวทางของรัฐบาล ทำประชามติครั้งเดียวนะครับ อาจจะสองครั้งช่วงก่อนประกาศใช้ แต่ที่คุณพริษฐ์เสนออาจต้องทำประชามติถึงสามครั้งและใช้งบประมาณมหาศาล”

สำหรับข้อกล่าวหาว่า ‘จับมือเผด็จการ’ ที่เพื่อไทยยังต้องพยายามสื่อสารคำตอบของตนกับสังคม สรวงศ์ถามว่า “แล้วอำนาจเผด็จการอยู่ไหนครับตอนนี้ เมื่อไหร่ที่คุณจะเล่นในเกมด้วยกติกาที่เขียนไว้แล้ว คุณก็ต้องยอมรับกติกานั้น ครั้งนี้ผมลงมาเล่น พ่ายให้ก้าวไกล เราก็ยอมรับความพ่ายแพ้ แล้วก็กลับไปที่ประเด็นว่าคุณตั้งรัฐบาลไม่ได้เองทั้งที่เราทำทุกอย่างแล้ว

“วาทกรรมหลังปี 2562 ที่มีฝ่ายเผด็จการ ฝ่ายประชาธิปไตย เราพูดไม่ได้แล้ว เพราะจะสืบทอดอำนาจอะไรก็แล้วแต่ คุณลงมาเล่นในกติกานั้นแล้ว เลือกตั้งครั้งที่สองแล้ว ตอนนี้เราต้องทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงรัฐประหาร”

สรวงศ์ยืนยันว่ารัฐบาล ‘ต้องไม่ถูกรัฐประหาร’ และกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันก็ไม่กลัวว่าจะถูกยุบพรรค เพราะ “โดนจนไม่รู้จะโดนยังไงแล้ว อะไรจะเกิดก็ต้องให้มันเกิด แต่เราจะป้องกันให้ดีที่สุด”

ทั้งนี้ เขาปฏิเสธความเห็นของนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าขณะนี้พรรคเพื่อไทยที่เคยเป็นพรรคเสรีนิยมกลายเป็นพรรคอนุรักษนิยมเสียแล้ว

“วาทกรรมล้วนๆ เลย เป็นอะไรที่อันตราย เดี๋ยวนี้การจะออกความเห็นผ่านมือถือหรือคอมพิวเตอร์ทำได้ง่ายกว่าการมานั่งพูดคุยกันแบบนี้ ขอพูดด้วยความเคารพนะครับ ที่บ้านเมืองเป็นแบบนี้ก็เพราะนักวิชาการ คุณไม่รู้ความจริงเท่าพวกผมแน่นอน ก็เหมือนประวัติศาสตร์ ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนเขียน คนเป็นคนเขียน คนก็มีรักมีชอบมีเกลียด ก็ต้องเลือกข้างอยู่แล้ว”



ทางยกระดับปากท้องคู่ขนาน:
จาก ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ระดับนานาชาติถึงการเมืองท้องถิ่น


“ถ้าให้ผมนิยาม มันคือการตลาดด้วยความบังเอิญ” สรวงศ์อธิบายคำเจ้าปัญหาอย่าง ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ในมุมมองของเขา “เช่น ผมถือน้ำขวดนี้ พี่น้องประชาชนเห็นแล้วคลิก ไปซื้อน้ำแบบเดียวกับสรวงศ์ดื่มดีกว่า หรืออาจเป็นท่าทาง เสื้อผ้า แฟชั่นของคนบางรุ่น ผ้าไทยอย่างนี้ กลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้ผ้าไทยไม่โบราณแล้ว ลายอะไรทันสมัยขึ้น แต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากฮาร์ดพาวเวอร์คือรัฐบาล อย่างเกาหลี ซอฟต์พาวเวอร์คือหนัง ถ้ารัฐบาลไม่ส่งเสริมก็ไปไม่ได้”

แน่นอนว่าเพื่อไทยที่กำลังก้าวสู่ยุคใหม่ก็มีนโยบายเรือธงสำหรับผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ คือ OFOS หรือหนึ่งครอบครัวหนึ่งซอฟต์เพาเวอร์ ที่ต่อยอดจากแนวคิด OTOP หรือหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ในรัฐบาลไทยรักไทย

“เราจะเฟ้นหาทุกๆ ครอบครัวที่มีศักยภาพ บางทีก็ไม่ใช่ครอบครัว แต่เป็นน้องๆ ในต่างจังหวัดที่ทำสื่อกันเอง ที่ออกมาเต้นเป็นแบล็กพิงก์อย่างนี้ เราผลักดันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้นะครับ ถ้าภาครัฐเข้าไปสนับสนุนพวกเขา เด็กๆ มีความสามารถในการตัดต่อ ผมยังทำไม่เป็นเลย ลูกของผมอายุ 14 ปีตัดต่อโน่นนี่ เอาคลิปนั้นมาผสมคลิปนี้ด้วยข้อมูลที่เขาได้จากโรงเรียนหรือโลกออนไลน์ ทำให้เขามีความสามารถ”

แม้จะมีบทพิสูจน์ให้เพื่อไทยต้องฟันฝ่า อย่างความเห็นของ ‘ต้องเต – ธิติ ศรีนวล’ ผู้กำกับ ‘สัปเหร่อ’ ภาพยนตร์ที่สร้างกระแส ‘ไทยบ้าน’ เกรียวกราวจนรายได้จวนทะลุ 1,000 ล้านบาท ว่าขอให้รัฐบาลใส่ใจซอฟต์พาวเวอร์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงมา ‘ถ่ายรูป’ เพื่อแสดงท่าทีสนับสนุนแล้วพ้นไป สรวงศ์ก็ยังมั่นใจในพรรคและคณะรัฐมนตรี “ความตั้งใจของเขาคือต้องการให้มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์จริงๆ จังๆ ซึ่งเราทำอยู่ โดยเป็นหนึ่งในนโยบายควิกวินของเรา พรรคมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว”

ทั้งนี้ สรวงศ์ยืนยันว่ากรรมการบริหารพรรคคือผู้ตัดสินใจหลักในภารกิจต่างๆ ของพรรค โดยผู้ตัดสินใจคือแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แม้จะมีการหารือกับพ่อผู้คร่ำหวอดทางการเมืองอย่างทักษิณ ชินวัตร หรือกรณีของเขาคือเสนาะ เทียนทอง ก็เป็นเพียงการให้คำปรึกษาเท่านั้น “คำปรึกษาที่ได้มา เราก็ต้องประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย การเมืองเปลี่ยนไปแล้วนะครับ ผมคุยกับพ่อไม่ใช่ว่าใช่ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับนาย ทะเลาะกันก็บ่อย”

เมื่อถามถึงอิทธิพลของพ่อแล้ว แน่นอนว่าไม่อาจเลี่ยงประเด็นการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดสระแก้วได้ ซึ่งสรวงศ์บอกว่าเขาไม่เคยละเลยการเมืองท้องถิ่นและมีส่วนร่วมในกิจกรรมในท้องถิ่นเสมอ โดยกำลังใจหลักของเขามาจากเสียงชื่นชมของคนในพื้นที่นั่นเอง แม้ตระกูลเทียนทองจะแตกเป็นสองฝ่ายในสนามเลือกตั้งปี 2562 โดยส่วนหนึ่งลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ สรวงศ์ก็ยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้งรุนแรงในครอบครัว สำหรับคำถามว่าพี่น้องเทียนทองจะกลับมาร่วมงานกันหรือไม่ สรวงศ์เห็นว่าเป็นหน้าที่ของเขาในฐานะเลขาธิการพรรคในการมองหาผู้แทนราษฎรมากฝีมือเพิ่มเติมให้เพื่อไทย

ส่วนโจทย์หลักของจังหวัดสระแก้วที่สรวงศ์เห็นว่าต้องตีให้แตกและอยู่ในความสนในของเขาเสมอมาคือการผลักดันสระแก้วให้อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเดิมเรียกว่าระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี (Eastern Economic Corridor – EEC)

“สระแก้วเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในปี 2558 เมื่อถึงปี 2559 กระทรวงมหาดไทยก็ออกผังเมืองมากำหนดว่าทำอะไรได้บ้าง แล้วนำเงินไปลงในการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่บ้านป่าไร่ ทำโรงงานผลิตน้ำประปาใหม่ เดินท่อมาหลายสิบกิโลเมตร แต่สุดท้ายไม่มีนักลงทุนมาลงทุนเพราะไม่มีกฎหมายรองรับ มีแต่ประกาศ คสช. ส่วนที่กระทรวงมหาดไทยออกผังเมืองมาครอบก็เป็นกฎกระทรวงเท่านั้น ถามว่าการลงทุนเป็นยังไงเลยไม่มีคำตอบให้ ทุกวันนี้ก็ร้าง ด่านศุลกากรที่บ้านป่าไร่สร้างเรียบร้อยแล้ว ใช้งบประมาณ 800 กว่าล้านบาท ทุกวันนี้หลังคาเปิดแล้ว ไม่มีใครสนใจไยดีเลย”

เขาบรรยายปัญหาต่อไปว่า “เบนเข็มมาที่จุดผ่านแดนที่หนองเอี่ยน กัมพูชาบอกว่าไม่มีเงิน ต้องกู้เราไป 900 กว่าล้านบาท ปัจจุบันเขาสร้างของเขาเสร็จแล้ว ของเรายังเป็นเสาอยู่เลยเพราะผู้รับเหมาทิ้งงาน แต่ผมจะผลักดันต่อแน่นอน ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม ไม่ใช่แค่สระแก้วนะครับ ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราดก็ด้วย คำว่าระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกต้องหมายถึงทั้งภาคนะ”

ท่ามกลางภารกิจมากมายที่รออยู่ทั้งในฐานะเลขาธิการพรรคและนักการเมืองของชาวสระแก้วนั้น สรวงศ์ทิ้งท้ายเพียงว่า “ผมมองปัจจุบัน” ไม่ว่าโจทย์ในโลกการเมืองใหม่ของพรรคเพื่อไทยใหม่จะพลิกผัน หรือต้องเผชิญความท้าทายอีกกี่ครั้งก็ตาม “อนาคตจะเป็นยังไงก็ต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด”

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save