fbpx

จากเจ้าขุนทองถึงเอลโม่: โซนาลี ข่าน กับการสอนเด็กให้เข้าใจความหลากหลายด้วย ‘เซซามี สตรีท อินเดีย’

ภาพปกโดย Sesame Workshop – India

หากเด็กไทยที่เติบโตในทศวรรษ 2530-2540 มี ‘เจ้าขุนทอง’ รายการหุ่นมือที่ฉายทางทีวีตอนเช้าตรู่ในวันไปโรงเรียนอยู่ในความทรงจำ เด็กอเมริกันก็มี ‘เซซามี สตรีท’ (Sesame Street) รายการเด็กที่มีตุ๊กตาหุ่นเชิดขนปุกปุยหลากสีสันมาเดินเคียงข้างเส้นทางการเติบโต ในวันนี้แม้เจ้าขุนทองจะลาจอแก้วไปเกือบ 3 ปีแล้ว แต่ที่สหรัฐฯ เอลโม่ บิ๊กเบิร์ด โกรเวอร์ เกราช์ และผองเพื่อนมอนสเตอร์แสนซน ยังคงโลดแล่นอยู่บนหน้าจอทีวีและมอบความความสนุกให้เด็กๆ อย่างต่อเนื่อง และยาวนานกว่า 54 ปีแล้ว

แม้รายการจะมีอายุเกินครึ่งศตวรรษ แต่เอลโม่ (Elmo) มอนสเตอร์สีแดงตัวจิ๋วขวัญใจเด็กน้อยใหญ่ก็ยังอายุ 3 ขวบครึ่งไม่เปลี่ยนแปลง และสิ่งที่ไม่เคยหยุดนิ่งคือเนื้อหาสาระและความสนุกที่ไม่ว่าจะดูครั้งใดก็ยังเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้เสมอ

“เราจะสร้างรายการเด็กที่สนุก และให้สาระความรู้ไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร?” คือโจทย์ที่โจน แกนซ์ คูนีย์ (Joan Ganz Cooney) และลอยด์ มอร์ริเซ็ตต์ (Lloyd Morrisett) ยึดไว้เป็นแก่นในการผลิตรายการ เธอและเขาคือโปรดิวเซอร์และผู้ก่อตั้ง ‘เซซามี เวิร์กชอป’ (Sesame Workshop) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำการศึกษา วิจัย ระดมทุนสร้างจนออกมาเป็น Sesame Street ให้โลกได้รู้จัก หลังรายการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในสหรัฐฯ ก็ได้จุดประกายความคิดแก่ผู้สร้างว่าเด็กทั่วโลกก็ควรมีโอกาสเข้าถึงสื่อดีๆ แบบนี้เช่นกัน ทำให้เครือข่ายของ Sesame Workshop ขยายไปทั่วโลก มีการนำ Sesame Street ไปดัดแปลงแล้วกว่า 150 ประเทศ และหนึ่งในนั้นคือ ‘อินเดีย’

ในวันที่รายการสำหรับเด็กในไทยค่อยๆ หายไปจากหน้าจอทีวี ตามวิถีของโลกทุนนิยมที่อะไรไม่ทำกำไรก็ล้มหายตายจากไป ภูมิทัศน์สื่อสำหรับเด็กในประเทศอื่นๆ เผชิญกับความท้าทายเช่นเดียวกันหรือไม่ จักรวาล Sesame Street ยังคงรักษาความสนุกและคุณภาพจนได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องยาวนานได้อย่างไร และในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย การเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ข้อมูลมหาศาลส่งผ่านกันได้ในเสี้ยววินาที อะไรคือความท้าทายของผู้ผลิตสื่อเด็ก

101 สนทนากับโซนาลี ข่าน (Sonali Khan) ผู้อำนวยการ Sesame Workshop-India ในโอกาสที่เดินทางมาเข้าร่วมงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 2 : การขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัย มองภาพกว้างเนื้อหาสาระสื่อเด็กในยุคปัจจุบัน ขยายภาพการสร้างสรรค์รายการเด็กในประเทศที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างอินเดีย โจทย์อะไรบ้างที่ผู้ใหญ่สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้กับเด็กผู้เป็นอนาคตของชาติ และไทยสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากอินเดีย

โซนาลี ข่าน (Sonali Khan) | ภาพจาก สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

จักรวาล Sesame Street: ความสนุกคือสิ่งสากลและตัวตนที่หลากหลายคือสิ่งที่เด็กใฝ่หา

‘Galli Galli Sim Sim’ คือชื่อของ Sesame Street ในเวอร์ชันอินเดียที่ออกอากาศมาแล้วเกือบ 20 ปี นอกจากเอลโมและบิ๊กเบิร์ด สองตุ๊กตาหุ่นเชิดขวัญใจเด็กๆ จากเวอร์ชันต้นฉบับจะมาปรากฏตัวในเวอร์ชันอินเดียแล้ว Galli Galli Sim Sim ยังสร้างตัวละครใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมอินเดีย หนึ่งในนั้นคือ บุมบ้า (Boombah) สิงโตขนสีม่วงแซมน้ำเงินตัวปุกปุยที่ชอบการเต้นบังกรา (Bhangra) ซึ่งเป็นการเต้นรำพื้นเมืองของอินเดีย เหตุที่บุมบ้าเป็นสิงโต ก็เพราะเป็นสัตว์ที่ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าและความเชื่อของชาวอินเดียมาช้านาน ตัวละครที่ผูกโยงกับวัฒนธรรมพื้นถิ่นจะทำให้เด็กรู้สึกสนุกร่วมไปกับเรื่องราวที่ได้รับชมและซึมซับสารที่ต้องการสื่อได้ง่าย

“บริบทสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่จะไม่เปลี่ยนแปลงต่อให้ประเทศไหนเอา Sesame Street ไปดัดแปลง คือแก่นหลักและเนื้อหาที่จะสื่อสาร ต้องยึดมั่นว่ารายการมีประโยชน์สำหรับเด็ก สนุกสนาน และเข้าใจได้ง่าย ซึ่งความต้องการเช่นนี้จากเด็กเป็นสิ่งที่เป็นสากลอยู่แล้ว”

คือคำตอบของโซนาลีเมื่อเราถามว่าการดัดแปลงรายการเด็กสัญชาติอเมริกันให้กับเด็กๆ อินเดียและประเทศอื่นรับชมมีความท้าทายอย่างไรบ้าง นอกจากความสนุกสนานและสาระที่จะสอดแทรกอยู่ในเรื่องราวแต่ละตอน เช่น การสอนนับเลข ท่องตัวอักษร หรือสอนการหายใจฝึกสมาธิ รวมถึงเพลงที่ออกแบบมาให้ติดหู ฟังง่าย และสนุกสนาน ตัวละครที่เป็นผู้ดำเนินเรื่องก็ควรจะเป็นภาพสะท้อนของเด็กๆ เสมือนกับว่าพวกเขาเองได้โลดแล่นอยู่ในเรื่องราวนั้นด้วย

สำหรับอินเดีย ประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และภาษา โซนาลีบอกว่าการสื่อสารไปให้ถึงเด็กทุกกลุ่มเป็นความท้าทายใหญ่อีกประการ เธอบอกว่ารายการที่ผลิตโดย Sesame Workshop อินเดียมีการออกอากาศหลักๆ ใน 2 ภาษา คือ ภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษ และเพิ่งมีการทำเวอร์ชันภาษาท้องถิ่นที่มีการใช้เฉพาะพื้นที่ไป 2 ภาษา ในอนาคตเธอคาดหวังว่าจะขยายไปทำภาษาท้องถิ่นอื่นๆ มากขึ้น และเช่นเดียวกับเวอร์ชันอเมริกัน ตุ๊กตาหุ่นเชิดในเวอร์ชันอินเดียก็เดินทางไปตามที่ต่างๆ เพื่อพาผู้ชมไปสัมผัสความหลากหลายในสังคมเช่นกัน

โซนาลีกล่าวว่าการผลิตรายการต้องคำนึงถึงภาพ (visual) ที่ถูกนำเสนอ เช่น สีผิว เครื่องแต่งกาย สถานที่ อาหาร ซึ่งมีอยู่ในสังคมของเด็กๆ ผู้รับสาร “สมมติคุณใส่ฉากเอลโม่กินสตรอว์เบอร์รี แต่ถ้าเด็กที่ดูอยู่ในประเทศที่ไม่มีสตรอว์เบอร์รี เขาไม่รู้ว่าผลไม้สีแดงๆ นี้คืออะไร ก็จะรู้สึกเป็นอื่นแล้ว” การดัดแปลงไปฉายในพื้นที่ที่หลากหลายยังต้องเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมในพื้นที่นั้นๆ ด้วย โซนาลียกตัวอย่างตอนที่นำเสนอเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในซีเรีย ชัมกี้ (Chamki) ตัวละครหุ่นเชิดในเวอร์ชันอินเดีย จากที่เคยใส่กระโปรงสั้นก็ต้องเพิ่มความยาวกระโปรงและใส่ฮิญาบให้สอดคล้องกับการแต่งกายในซีเรีย

เมื่อต้องคำนึงถึงระบบนิเวศของเด็กๆ ที่รับชม ทำให้แต่ละประเทศที่นำ Sesame Street ไปดัดแปลง มักจะสร้างตัวละครที่มีแรงบันดาลใจมาจากเด็กในชาตินั้นๆ อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังให้เด็กโอบรับความแตกต่างหลากหลายในสังคม

ในหลายครั้งตัวละครจากประเทศหนึ่งอาจไปปรากฏตัวอีกประเทศหนึ่ง เอลโม่ในเวอร์ชันอเมริกันเองก็เคยเดินทางไปค่ายผู้ลี้ภัย เช่น ในประเทศซีเรีย ที่นับตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองในปี 2011 เด็กจำนวนมากต้องอพยพออกจากถิ่นฐานเพื่อหนีภัยการสู้รบ นอกจากจะไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว เด็กหลายคนต้องเผชิญกับความสูญเสียของคนในครอบครัว ตัวการ์ตูนหุ่นเชิดหลากสีเหล่านี้จึงมีบทบาทในการสอนเด็กๆ ตั้งแต่ความรู้พื้นฐานในช่วงปฐมวัย สุขอนามัย ไปจนถึงการรับมือกับอารมณ์ต่างๆ

โซนาลียังแนะนำให้เรารู้จักกับนูร์ (Noor) และอาซิส (Aziz) ตัวการ์ตูนหุ่นเชิดเด็กแฝดหญิง-ชายชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่คอกส์บาร์ซาร์ ประเทศบังกลาเทศ ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่เป็นที่อยู่อาศัยของเด็กชาวโรฮิงญากว่า 400,000 คน ที่หลบหนีความไม่สงบมากับพ่อแม่ การมีตัวละครที่เป็นภาพแทนของพวกเขาเองเป็นอีกหนึ่งการชุบชูใจเด็กๆ ที่เผชิญกับความยากลำบากจากหลายทิศทาง

นอกจากความหลากหลายทางเชื้อชาติ ตัวละครในจักรวาล Sesame Street ยังสอนเด็กๆ ให้เข้าใจถึงความหลากหลายของ ‘เพื่อนๆ’ ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ซึ่งอาจจะพบเจอที่โรงเรียน ในชุมชน หรือเป็นคนในครอบครัว โซนาลียกตัวอย่าง จูเลีย (Julia) ตุ๊กตาหุ่นเชิดเด็กหญิงที่เป็นออทิสติกซึ่งปรากฏตัวในเวอร์ชันอเมริกา แม้จูเลียจะมีความบกพร่องของพัฒนาการด้านสังคม แต่เธอก็สามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ใน Sesame Street ได้ หรือซีวาน (Sivan) ตุ๊กตาหุ่นเชิดที่นั่งวีลแชร์ ปรากฏตัวครั้งแรกในเวอร์ชันอิสราเอล ซึ่งถูกนำเสนอให้เห็นว่าผู้ที่มีความบกพร่องด้านร่างกายหรือพัฒนาการสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป

โซนาลีกล่าวว่าตัวละครเหล่านี้ช่วยเปิดความเป็นไปได้ให้เด็กๆ เข้าใจว่า แม้จะมีความแตกต่างทางเชื้อชาติ สีผิว หรือร่างกาย แต่พวกเขาก็เป็นเพื่อนกันได้ และสอนให้เด็กไม่เลือกปฏิบัติหรือกีดกันคนที่ไม่เหมือนตัวเองออกจากสังคม

สื่อเด็กในอินเดีย: การสรรค์สร้างในสายธารความท้าทายและความหลากหลาย

ขยับมามองภาพระดับประเทศในอินเดีย เราตั้งต้นจากปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนซึ่งเป็นความท้าทายใหญ่ของประเทศแห่งนี้ที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจเติบโตสวนทางกับรายได้ต่อหัว เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆ เข้าถึงสื่อที่สร้างสรรค์ได้อย่างทั่วถึง เพราะหากเทียบกับบริบทของไทยนั้นผู้ปกครองจำเป็นจะต้องมีความพร้อมในการหาอุปกรณ์ เช่น โทรทัศน์หรือโทรศัพท์มือถือให้เด็กๆ รับชม ซึ่งย่อมมีค่าใช้จ่ายตามมา โซนาลีตอบว่า “เราไม่ควรมองว่าสื่อเด็กที่รับชมผ่านหน้าจอจะเป็นช่องทางหลักในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก การ์ตูนหรือรายการเด็กคือส่วนหนุนเสริมพัฒนาการต่อจากการเรียนรู้และการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน เพราะสื่อสำหรับเด็กควรมีอาณาเขตกว้างไกลกว่าหน้าจอ เราจึงทำงานร่วมกับรัฐบาล โรงเรียน รวมไปถึงชุมชน เพื่อนำสื่อและตัวละครที่เราตั้งใจสร้างสรรค์เหล่านี้ไปอยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กๆ เอลโม่อาจจะช่วยครูสอนเด็กๆ บวกเลขในห้องเรียน เอลโม่อาจจะสอนเด็กๆ ล้างมือในชุมชน ซึ่งโจทย์ของการนำไปใช้และเอื้อมให้ถึงเด็กๆ ท้าทายกว่าการผลิตรายการเสียอีก”

ด้วยเหตุนี้ Sesame Workshop จึงมีความร่วมมือกับหน่วยงานที่หลากหลายในการพาตัวละครใน Sesame Street ไปสอดแทรกอยู่ในการเรียนการสอนและกิจกรรมต่างๆ “นอกจากมุ่งไปที่ตัวเด็ก เราต้องคำนึงถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กที่เอื้อให้เขาเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เราทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ปกครองถึงความสำคัญของเรื่องสุขภาพจิต โภชนาการ และสุขอนามัยถึงพื้นที่ชุมชน และยังผลิตสื่อสำหรับผู้ปกครองให้สามารถเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง” โซนาลีกล่าว

เช่นเดียวกับในไทย วงการโทรทัศน์ในอินเดียก็ขับเคลื่อนด้วยการหากำไรจากการผลิตรายการ ทำให้รายการสำหรับเด็ก ‘ที่ไม่ทำกำไร’ ทยอยหายไปจากหน้าจอทีวีเช่นกัน พื้นที่ออนไลน์จึงเป็นช่องทางหลักให้สื่อเด็กได้โลดแล่น ปัจจุบันนี้รายการที่ผลิตโดย Sesame Workshop อินเดีย ออกอากาศผ่าน Youtube ทั้งหมด ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดรับกับการเข้าสู่โลกดิจิทัลอีกด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่าอินเดียเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมไอทีโดดเด่นเป็นอย่างมาก จนเรียกได้ว่าเป็น Silicon Valley of Asia ขณะเดียวกันโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของอินเดียก็เติบโตขึ้นอย่างมาก จำนวนผู้ใช้สมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ตขยายตัวอย่างรวดเร็ว สถิติผู้ใช้สมาร์ตโฟนในอินเดียเมื่อปีล่าสุดอยู่ที่ 650 ล้านผู้ใช้งาน ขณะที่มีครัวเรือนที่มีโทรทัศน์อยู่ที่ 226 ล้านครัวเรือน การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เผยแพร่รายการเหล่านี้จึงเป็นช่องทางที่ผู้คนจะเข้าถึงได้มากที่สุด

พ้นไปจากการพาสื่อที่มีคุณภาพเหล่านี้ไปให้ถึงเด็ก ด้านการผลิตเนื้อหา ที่แม้โซนาลีจะบอกว่าง่ายกว่าโจทย์การเผยแพร่ ก็ยังมีความท้าทายให้ผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็กต้องขบคิดตลอด เมื่อเราถามว่าจะสร้างสมดุลระหว่างเนื้อหาที่มีสาระกับความสนุกอย่างไร โซนาลีตอบว่า “ประเด็นนี้คือเหตุผลที่เราเรียกตัวเองว่า Sesame Workshop เพราะเราอยู่ในโหมดการ workshop ตลอดเวลา เราทดลอง เราศึกษาวิธีการใหม่ๆ สำรวจความต้องการของเด็กที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะโลกหมุนไปเร็วมาก สิ่งที่เคยตอบความต้องการเด็กเมื่อ 10 ปีที่แล้วอาจใช้ไม่ได้แล้ว เช่น เรามีตัวละครค่อนข้างเยอะในเรื่อง แต่เดี๋ยวนี้เราเรียนรู้ว่าถ้าต้องการจะสื่อสารมุ่งเป้าไปที่ประเด็นเฉพาะบางอย่าง เช่น ครอบครัวที่พ่อ-แม่แยกทางกัน เราจะเล่าผ่านตัวละครแค่ 1-3 ตัว ซึ่งการเล่าก็จะต้องปูเหตุการณ์ มีจุดไคลแม็กซ์ มีจุดคลี่คลาย และตอนจบ ความยาวต่อคลิปจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 นาที และ,มากที่สุดไม่ควรเกิน 12 นาที”

ในโลกโลกาภิวัตน์ที่มีการไหลบ่าของข้อมูลจำนวนมากอย่างไร้พรมแดน ย่อมเกิดการปะทะกันของชุดความคิดหรือคุณค่าที่ขัดแย้งกับความเชื่อหรือขนบเฉพาะภายใน เราจึงตั้งคำถามถึงความท้าทายในการ ‘localize’ ประเด็นอันเป็นสากลที่อาจจะขัดกับชุดความเชื่อดั้งเดิมของสังคมอินเดีย โดยเฉพาะในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าอินเดียเป็นสังคมปิตาธิปไตยเข้มข้น สถานะผู้หญิงในสังคมถูกกดทับ มีบทบาทอันเลือนรางในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จนมีคำกล่าวที่ว่า “เกิดเป็นวัวในสังคมอินเดียยังจะดีกว่าเกิดเป็นสตรี[1]

เมื่อถามว่ารายการเด็กอย่าง Sesame Street ในเวอร์ชันอินเดียมีบทบาทอย่างไรในการเสริมพลังเด็กผู้หญิงหรือสร้างความตระหนักถึงปัญหาสังคมที่เป็นอยู่ โซนาลีตอบว่า “เป้าหมายของ Sesame Street ที่สร้างตุ๊กตาหุ่นเชิดหรือตัวละครใหม่ๆ ให้มีความหลากหลาย ก็เพื่อสร้าง role model ให้เด็กๆ เห็นว่าเขาเองก็เป็นแบบนี้ได้ ในเวอร์ชันอินเดีย เรามีตัวละครอย่างชัมกี้ เธอเป็นเด็กผู้หญิงอายุ 5 ขวบครึ่งที่ได้ไปโรงเรียน ได้เรียนหนังสือ เธอเป็นเด็กมั่นใจในตัวเอง กล้าคิด กล้าพูด กล้าที่จะบอกความต้องการหรือความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งต่างออกไปจากวิถีของผู้หญิงอินเดียที่ค่อนข้างเก็บความรู้สึก เราพยายามปลูกฝังการตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพในการใช้ชีวิตผ่านตัวละครเหล่านี้ เด็กผู้หญิงจะซึมซับว่าเขามีปากมีเสียงในสังคมได้ ส่วนเด็กผู้ชายก็จะได้เรียนรู้ว่าการที่ผู้หญิงแสดงออกแบบนี้ได้คือเรื่องปกติในสังคม”

ชัมกี้ (Chamki) ตุ๊กตาหุ่นเชิดใน Sesame Street เวอร์ชันอินเดีย | ภาพจากเฟซบุ๊ก Sesame Workshop – India

โซนาลีเล่าว่า นอกจากชัมกี้ในเวอร์ชันอินเดีย ยังมีตุ๊กตุกี้ (Tuktuki) ในเวอร์ชันบังกลาเทศ ซึ่งเป็นตุ๊กตาหุ่นเชิดเด็กหญิงช่างฝันที่เติบโตในครอบครัวยากจนและเพิ่งจะได้เข้าโรงเรียน ส่วนฉบับดัดแปลงของอัฟกานิสถานมีซาริ (Zari) หุ่นเชิดเด็กหญิงที่ชอบไปโรงเรียน ข้ามทวีปไปประเทศแอฟริกาใต้ก็มีหุ่นเชิดนามว่า คามิ (Kami) เด็กซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อ HIV ที่สามารถไปเรียน ไปเล่นกับเพื่อนๆ ได้เป็นปกติ

การสร้างตัวละครเช่นนี้ให้โลดเล่นอยู่ในการรับรู้ของเด็กในประเทศที่อัตราการเข้าถึงการศึกษาของผู้หญิงยังต่ำเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการเสริมพลังให้เด็กผู้หญิง หากบาร์บี้มีคำกล่าวที่ว่า “ผู้หญิงจะเป็นอะไรก็ได้” การมีตัวการ์ตูนหุ่นเชิดที่เป็นภาพสะท้อนว่าเด็กผู้หญิงก็ได้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ได้ไปโรงเรียนไม่ต่างจากเด็กผู้ชายก็คงทำหน้าที่ ‘empower’ ได้ไม่ต่างกัน

ชัมกี้ (Chamki) จาก Sesame Street อินเดีย, ซาริ (Zari) จากเวอร์ชันอัฟกานิสถาน และรายา (Raya) ตุ๊กตาหุ่นเชิดจากแคมเปญส่งเสริมสุขอนามัยและสุขภาพเด็กในอินเดีย, บังกลาเทศ และไนจีเรีย เคยปรากฏตัวพร้อมกันในเพลง Change the World Song ที่มีเนื้อหาว่าเด็กผู้หญิงสามารถเป็นอะไรก็ได้

อย่างไรก็ตาม โซนาลีเล่าว่ายังมีประเด็นที่ยังไม่ถูกนำเสนอในสื่อเด็กเท่าที่ควรในอินเดีย คือเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเธออยากผลักดันให้ถูกบอกเล่ามากกว่านี้ ในทางกฎหมาย อินเดียยกเลิกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศไปหลายเรื่องในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดของอินเดียยังรับพิจารณาประเด็นการแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นหมุดหมายอันดีในการโอบรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ในการรับรู้กระแสหลัก หลายคนยังผลักไสกลุ่ม LGBTQ+ ให้กลายเป็นคนชายขอบ

การสร้างการตระหนักรู้ถึงความหลากหลายทางเพศตั้งแต่วัยเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ โซนาลีเล่าว่า Sesame Street พยายามจะนำเสนอประเด็นเหล่านี้ผ่านครอบครัวที่มีพ่อสองคน แม่สองคน หรืออาจจะอยู่แค่กับพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่า ‘ครอบครัวที่สมบูรณ์’ ไม่จำเป็นต้องประกอบไปด้วย ‘พ่อ แม่ ลูก’ เสมอไป

“ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่สามารถกักขังเด็กให้อยู่ในโลกเดิมที่เราโตมาได้ สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำคือสอนเด็กให้เข้าใจความหลากหลายในความเป็นมนุษย์ เรียนรู้ที่จะเคารพซึ่งกันและกัน นี่คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เขาอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข” โซนาลีกล่าว

หัวใจของการเลี้ยงลูกยุคใหม่คือการ ‘เล่น’

“โตมากับจอ” คงเป็นคำกล่าวไม่เกินจริงที่จะใช้อธิบายเด็ก Gen Y หรือ Gen Alpha ผู้เติบโตมาก็มีอุปกรณ์ไอทีทันสมัยไว้เปิดสู่โลกใบใหญ่ผ่านหน้าจอเล็กๆ แต่ในโลกที่อินเตอร์เน็ตจะพาคุณไปจอดที่ตรงไหนก็ได้เป็นโลกที่ความใส่ใจจากพ่อแม่ผู้ปกครองยิ่งทวีความจำเป็น

หลังการระบาดของโควิดคลี่คลาย ภาวะการเรียนรู้ถดถอยกลายเป็นปัญหาที่เด็กทั่วโลกเผชิญเหมือนๆ กัน ในอินเดียก็เช่นกัน โซนาลีเล่าว่าภารกิจของ Sesame Workshop นอกจากการผลิตรายการเด็ก ยังร่วมมือกับโรงเรียนในการฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กที่หล่นหายไปช่วงโรคระบาด แต่ความพยายามจากฝ่ายที่จัดการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่อาจบรรลุผลหากปราศจากความร่วมมือจากผู้ปกครอง เพราะไม่ใช่แค่ความรู้ด้านวิชาการที่หล่นหาย แต่เด็กๆ หลายคนขาดทักษะในการมีปฏิสัมพันธ์ หรือมีพัฒนาการภาษาและสังคมล่าช้า ซึ่งต้องอาศัยพลังจากคนรอบตัวเด็กในการร่วมกันกอบกู้คืนมา

“ขนาดเราเป็นผู้ใหญ่ พอกลับมาทำงานแบบออนไซต์ยังใช้เวลาปรับตัวพอสมควร แล้วเด็กๆ โดยเฉพาะช่วงปฐมวัย ที่ช่วงเวลาเกือบ 3 ปีของเขาต้องอยู่แต่ในบ้าน จะเผชิญความยากลำบากขนาดไหนเมื่อต้องกลับสู่สังคม การที่เด็กยังติดจอมาจนถึงปัจจุบันเป็นสิ่งที่เข้าใจได้เลย เราเป็นผู้ใหญ่ถ้าเบื่อยังออกจากบ้านไปหาเพื่อน พบปะ สังสรรค์ได้ แต่เด็กเขาทำแบบนี้ไม่เป็น คิดภาพถ้าเป็นเด็กที่เกิดช่วงก่อนเกิดโควิดเล็กน้อย อายุ 3-4 ปี เขาโตมาแบบไม่มีเพื่อนเล่นเลย ฉันคิดว่าผู้ปกครองต้องตระหนักถึงความเป็นจริงข้อนี้และเราต้องร่วมกันหาทางออกอย่างจริงจัง”

ภาวะติดจอเป็นปัญหาที่เด็กทั่วโลกเผชิญ ในอินเดีย แม้สื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมของเด็กรุ่นใหม่อย่าง ‘ติ๊กต็อก’ (TikTok) จะโดนแบนจากรัฐบาล แต่เด็กอินเดียจำนวนมากก็ใช้เวลาไปกับการท่อง YouTube, Facebook และ WhatsApp อยู่ดี  ซึ่งไม่มีอะไรรับประกันว่าเด็กจะได้รับสื่อเหมาะสมกับช่วงวัย โซนาลีกล่าวว่าไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาล บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ และภาคประชาชนในอินเดียกำลังร่วมมือกันพัฒนาและออกแบบระบบที่ป้องกันเด็กและเยาวชนจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม แต่ตัวแปรสำคัญที่จะช่วยดึงลูกหลานออกจากหน้าจอได้ตั้งแต่ตอนนี้คือ ‘ผู้ปกครอง’

“เราต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้รู้เท่าทันและเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากโลกอินเทอร์เน็ตมากกว่านี้ เดี๋ยวนี้เวลาไปร้านอาหาร ฉันจะเห็นพ่อแม่รีบยื่นหน้าจอให้ลูกดูทันทีที่นั่งลงเก้าอี้ ไม่ว่าจะเพื่อให้เขาไม่ต้องวิ่งซนหรืออะไรก็ตาม พอเห็นภาพแบบนี้บ่อยๆ เข้า ก็น่าคิดว่าผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กติดจอด้วย ทางออกที่ทำได้ง่ายที่สุดคือปิดหน้าจอแล้วเล่นกับลูกหลานมากขึ้น”

โซนาลีเล่าว่าผู้ปกครองจำนวนมากในอินเดียค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกในสื่อสังคมออนไลน์ การผลิตเนื้อหาที่นำเสนอแนวทางการส่งเสริมพัฒนาการเด็กสำหรับผู้ปกครองจึงเป็นอีกภารกิจสำคัญของ Sesame Workshop อินเดีย

‘Daddy Cool’ เป็นหนึ่งในโครงการของ Sesame Workshop อินเดียที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือการส่งเสริมให้ ‘พ่อ’ มีส่วนร่วมในการ ‘เล่น’ กับลูกมากขึ้น ในสังคมอินเดียที่มองว่าการเลี้ยงลูกคือหน้าที่หลักของแม่ การผลักดันให้พ่อมีบทบาทในการเลี้ยงลูกมากขึ้นจึงเป็นเรื่องท้าทาย แต่ก็ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว โซนาลีเล่าว่า Daddy Cool มีทั้งการเผยแพร่สื่อบนพื้นที่ออนไลน์และจัดเวิร์กชอปแบบออนไซต์

“รายการของเรามีตัวละครอย่างลูอี พ่อของเอลโม่มาก่อนแล้ว เวอร์ชันอินเดียเรามี ‘อัฟตัฟ’ เพิ่มเข้ามา ซึ่งเป็นคุณพ่อที่มีลูกสาว เรานำเสนอเรื่องราวที่คุณพ่อมาคุยกันว่าจะเล่นกับลูกยังไง แบ่งปันกันว่ามีกิจกรรมอะไรที่น่าสนใจ มีคุณพ่อลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการหรือเข้ามารับชมคลิปของเราจำนวนมาก ผลลัพธ์ค่อนข้างเป็นไปในเชิงบวก ใน WhatsApp มีคุณพ่อหลายคนมาแชร์กิจกรรมที่ทำร่วมกับลูกได้

“เวลาจัดกิจกรรมในชุมชนก็ได้เห็นภาพที่แปลกใหม่มาก ก่อนหน้านี้เวลาจัดงานแบบนี้จะมีแต่คุณแม่ คุณย่า คุณยายเข้าร่วม แต่พอมีโครงการนี้ก็เป็นผู้หญิงเองที่ชักชวนสามีให้มาเข้าร่วม เราอยากเห็นภาพแบบนี้เกิดขึ้นกับทุกสังคม เราอยากให้สังคมปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อบทบาททางเพศว่าการที่พ่อดูแลลูกและเล่นกับลูกคือสิ่งที่จำเป็นและควรจะทำ

“พ่อที่มีลูกสาวเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีความกังวล เขาบอกว่าไม่รู้จะเข้าหาลูกยังไงหรือจะพาลูกเล่นอะไร เราแนะนำให้ผู้ปกครองเหล่านี้รู้จักกับการเล่นอิสระ (free play) คือให้เด็กเป็นคนคิดเอง ออกแบบและกำหนดเองว่าเขาอยากเล่นอะไร แล้วจะเล่นอย่างไร สิ่งนี้จะส่งเสริมให้เด็กกล้าคิด กล้าตัดสินใจ ให้เขาได้ลองผิดลองถูกเอง ส่วนพ่อแม่ก็มีหน้าที่ในการดูแลสนับสนุน เล่นไปกับเขา และไม่ควรไปตีกรอบการเล่นของลูก บางคนมีลูกสาวที่อยากเตะฟุตบอล คุณก็ไม่ควรจะห้ามว่ามันเป็นกีฬาผู้ชาย ขณะเดียวกันถ้าลูกชายชอบเล่นตุ๊กตาก็ย่อมเล่นได้ การเล่นอิสระแบบนี้คือเครื่องมือที่ดีและง่ายที่สุดในการเสริมสร้างพัฒนาการ”

จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงเด็กหนึ่งคน ต้องอาศัยความร่วมมือและการพัฒนาแบบองค์รวม ทั้งรัฐบาล โรงเรียน ผู้ผลิตสื่อ ชุมชน และผู้ปกครอง รายการสำหรับเด็กอาจจะเป็นช่องทางหนึ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือพื้นที่การเรียนรู้ในโลกแห่งความเป็นจริง ที่ผู้ใหญ่สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กเติบโตอย่างแข็งแรงและแจ่มใส พร้อมเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ในโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

โซนาลี ข่าน (Sonali Khan) | ภาพจาก UNICEF Thailand

References
1 อินเดียเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางเพศมากที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก รายงาน Global Gender Gap Report ประจำปี 2023 ที่เผยแพร่โดย World Economic Forum เผยว่าดัชนีความก้าวหน้าช่องว่างระหว่างเพศของอินเดียอยู่ที่อันดับ 127 จากทั้งหมด 146 ประเทศ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save