fbpx

ในวันที่ ‘อินเดีย’ จะมีประชากรมากที่สุดในโลก

ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่รับปี 2023 เมื่อมีการประเมินจากหลายสำนักว่าในปี 2023 นี้ จำนวนประชากรอินเดียจะแซงหน้าประเทศจีนจนกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ในขณะที่บางหน่วยงานคาดการณ์แล้วว่า อินเดียอาจมีประชากรมากที่สุดในโลกไปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2022 ที่ผ่านมาแล้ว

ไม่ว่าจะปีนี้หรือปีที่แล้วที่อินเดียจะมีประชากรมากที่สุดในโลก แต่ผลสุดท้ายแล้วเราก็ต้องยอมรับว่าอินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ซึ่งแน่นอนว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อทั้งอินเดียและโลกของเรา ทั้งในมิติทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา อินเดียถูกจับตาอย่างใกล้ชิดในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรง ในขณะเดียวกันก็มีการขยายอิทธิพลทางด้านการเมืองระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

การทำความเข้าใจนโยบายประชากรอินเดียตลอดหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่อินเดียประกาศเอกราชจากอังกฤษ ข้อเท็จจริงทางด้านสถิติและข้อมูลประชากร ตลอดจนการทำความเข้าใจนัยยะสำคัญของบทบาทของประชากรที่เพิ่มยิ่งขึ้นต่อสถานะของอินเดียในระดับนานาชาติล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องศึกษา เพื่อแสวงหาโอกาสต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้

เส้นทางนโยบายประชากรของอินเดีย

นโยบายประชากรของอินเดียได้รับการวางแผนและให้ความสนใจมากอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงที่อินเดียยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามความชัดเจนทางนโยบายประชากรของอินเดียเริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 ภายหลังอินเดียประกาศเอกราชจากอังกฤษ ความทุ่มเทในการเริ่มนโยบายวางแผนครอบครัวของอินเดียในปี 1952 ส่งผลให้อินเดียกลายเป็นประเทศแรกๆ ของโลกในช่วงเวลานั้น ที่มีการทุ่มงบประมาณจำนวนมากให้กับนโยบายดังกล่าว การทุ่มทรัพยากรจำนวนมากของรัฐบาลอินเดียให้กับโครงการนี้ส่งผลให้อินเดียขึ้นแท่นประเทศที่ใช้เงินงบประมาณด้านการวางแผนครอบครัวอันดับต้นๆ ของโลก

อย่างไรก็ตามนโยบายประชากรของอินเดียมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเฉพาะความพยายามของรัฐบาลในการลดจำนวนประชากรผ่านการบังคับทำหมัน และเพิ่มอายุขั้นต่ำที่จะสามารถแต่งงานได้ โดยผู้ชายอยู่ที่ 21 ปี และผู้หญิงอยู่ที่ 18 ปี นโยบายนี้ถูกบังคับใช้ในช่วงปี 1975-1977 ซึ่งในเวลานั้นอินเดียอยู่ภายใต้การปกครองของอินทิรา คานธี ซึ่งประกาศสภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ และควบอำนาจทั้งหมดมาอยู่ในมือของตน จนอาจเรียกได้ว่าเวลานั้นอินเดียปกครองด้วยระบบอำนาจนิยม นโยบายสุดโต่งส่งผลให้ในเวลาเพียงไม่ถึง 2 ปี รัฐบาลอินเดียทำหมันประชากรชายไปมากกว่า 6 ล้านคน

แต่ที่เป็นปัญหามากที่สุดคงหนีไม่พ้นกลุ่มเป้าหมายของนโยบายที่มุ้งเน้นไปที่กลุ่มคนชายขอบ โดยเฉพาะชาวมุสลิมและคนพื้นเมือง รวมไปถึงการมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนชั้นล่างและยากจนของอินเดีย ส่งผลให้ให้นโยบายนี้ที่ในมุมรัฐบาลคือ ‘ความพยายามขจัดความยากจน’ ถูกล้อเลียนว่าเป็น ‘นโยบายขจัดคนจน’ จึงไม่แปลกนักที่นโยบายประชากรของอินเดียในยุคทศวรรษที่ 1970 ถูกขนานนามว่าเป็น ‘ยุคมืด’ ที่ประชากรอินเดียถูกบีบบังคับให้ยอมรับต่อแนวทางการวางแผนครอบครัวที่สุดโต่ง ซึ่งการบังคับทำหมันดังกล่าวยังส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งด้วย

 ภายหลังสิ้นสุดการประกาศสภาวะฉุกเฉิน นโยบายประชากรนี้ก็ได้ถูกยกเลิกตามไปด้วย โดยรัฐบาลในช่วงต่อมามุ่งเน้นการรณรงค์ให้คนอินเดียมีลูกเพียงสองคน หรือที่รู้จักในชื่อสโลแกน ‘Hum do Hamare do’ ในเวลาเดียวกัน นับตั้งแต่หลังทศวรรษที่ 1970 หรือยุคมืดด้านนโยบายประชากรของอินเดีย รัฐบาลมุ้งเน้นไปที่การส่งเสริมเรื่องการศึกษามากยิ่งขึ้น และพยายามสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการมีครอบครัวขนาดเล็ก เพื่อส่งเสริมความสมัครใจของคนอินเดียในการควบคุมการให้กำเนิดบุตร

พร้อมกันนั้น รัฐบาลอินเดียได้มีการจัดตั้งคลินิกครอบครัวขึ้นทั่วประเทศเพื่อเป็นสถานที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกระบวนการคุมกำเนิด ทั้งยังส่งเสริมการเข้าถึงอุปกรณ์ในการคุมกำเนิดของประชาชนด้วย ซึ่งแนวทางเหล่านี้ล้วนเป็นแนวทางด้านนโยบายประชากรหลักของอินเดียที่ถูกบังคับใช้กระทั่งปัจจุบัน ซึ่งช่วยสนับสนุนให้อัตราการเกิดต่อมารดาของอินเดียนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศจีนที่มีนโยบายลูกคนเดียว

ข้อเท็จจริงทางประชากรของอินเดีย

แม้ว่าการสำรวจสำมะโนประชากรของอินเดียครั้งล่าสุดจะดำเนินการไปเมื่อปี 2011 (อินเดียสำรวจสำมะโนประชากรทุก 10 ปี) ซึ่งในความเป็นจริงการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งใหม่ควรแล้วเสร็จเมื่อปี 2021 แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลอินเดียเลื่อนการดำเนินการดังกล่าวออกไป ส่งผลให้จนถึงวันนี้เรายังไม่สามารถทราบจำนวนประชากรอินเดียอย่างเป็นทางการ กระนั้นก็มีการพยากรณ์จากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะสหประชาชาติที่ระบุว่า ณ จนถึงปีนี้ อินเดียน่าจะมีประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคนเข้าไปแล้ว ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าประชากรทั่วทั้งทวีปยุโรป หรือทวีปอเมริกา

ในขณะที่เมื่อพิจารณาพีระมิดประชากรปัจจุบันของอินเดียจะพบว่าประชากรอินเดียในปัจจุบันส่วนใหญ่ หรือมากถึงร้อยละ 40 นั้นอยู่ในวัยต่ำกว่า 25 ปี นั่นหมายถึงจำนวนแรงงานในระบบที่ยังคงสามารถสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจได้จำนวนมหาศาล ในขณะที่ประชากรกลุ่มพึ่งพิงโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปกลับมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนกับหลายประเทศพัฒนาแล้ว หรือแม้กระทั่งประเทศจีนที่วันนี้สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้อินเดียยังมีเวลาอีกมากในการพัฒนาประเทศก่อนที่จะเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากตัวเลขอัตราการเจริญพันธ์ของอินเดีย พบว่าค่าเฉลี่ยอัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมอยู่ที่ราวร้อยละ 2 กล่าวคือผู้หญิงอินเดียหนึ่งคนมีบุตรราว 2 คน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของนโยบายการส่งเสริมการมีลูกสองคนของรัฐบาลอินเดียตลอดหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม อัตราการเจริญพันธุ์นี้ของอินเดียมีความแตกต่างกันไปตามพื้นที่อยู่อาศัย ศาสนาที่นับถือ ตลอดจนภูมิภาค เพราะข้อมูลการสำรวจสุขภาวะครอบครัวแห่งชาติของอินเดียปี 2019 – 2021 สะท้อนให้เห็นว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีอัตราการเจริญพันธ์ที่ต่ำกว่าในเขตชนบท ในขณะเดียวกัน ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตทางใต้ของอินเดียมีอัตราการเจริญพันธ์ที่ต่ำกว่าในทางเหนือของอินเดีย ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อดูสถิติตามการนับถือศาสนาของประชากร พบว่าอัตราการเจริญพันธุ์ของประชากรมุสลิมอยู่ในสัดส่วนที่สูงที่สุด ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับประชากรผู้นับถือศาสนาอื่นภายในอินเดีย

ในขณะที่ข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรของอินเดียประจำปี 2011 ชี้ให้เห็นว่าอัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิงของอินเดียนั้น ประชากรชายยังคงมีมากกว่าประชากรหญิง ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมและความเชื่อที่มีต่อบุตรเพศชายของอินเดียที่ฝังรากลึกมาแต่ในอดีต ซึ่งส่งผลให้อัตราการทำแท้งเมื่อทราบว่ามีการตั้งครรภ์ผู้หญิงเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอธิบายก่อนว่าสัดส่วนช่องว่างดังกล่าวกำลังลดลงเช่นเดียวกัน จากคุณค่าทางสังคมโดยเฉพาะในเขตเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ข้อเท็จจริงทางด้านประชากรที่เห็นดังกล่าวล้วนมีผลสำคัญต่อโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของอินเดีย ทั้งยังเป็นโอกาสและความท้าทายต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตด้วย

ประชากรอินเดียกับก้าวย่างการพัฒนาในอนาคต

หลายท่านคงอาจมีคำถามในใจว่า “แล้วการที่อินเดียมีประชากรมากที่สุดในโลกแซงหน้าจีนนั้นมันมีความสำคัญอย่างไร” เอาเข้าจริงคำตอบต่อคำถามนี้คงมีในหลายมิติ และหลายลักษณะ ขึ้นกับมุมมองของแต่ละคน แต่ถ้าให้ง่ายที่สุดก็คงต้องบอกว่านี่มันเป็นช่วงเวลาของอินเดียที่จะได้แสดงศักยภาพให้เป็นที่ประจักษ์ในสายตาชาวโลก เพราะเราคงปฏิเสธว่าประชากรถือเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ ประชากรก็คือแรงงานสำคัญ ยิ่งถ้าได้ประชากรที่มีคุณภาพด้วยแล้ว การยกระดับภาคเศรษฐกิจยิ่งสามารถเติบโตได้มากยิ่งขึ้น และนั่นก็คือเป้าหมายสำคัญของอินเดียมาโดยตลอด โดยเฉพาะการกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกภายในสิ้นทศวรรษนี้ (ปี 2030)

จริงอยู่ที่ประชากรที่เพิ่มมากขึ้นจะมาพร้อมกับปัญหาที่รัฐบาลอินเดียต้องแสวงแนวทางแก้ไข ในสภาพที่วันนี้อินเดียยังคงมีความขัดแย้งอย่างสูงในบางพื้นที่ มีปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มีการกีดกันทางด้านชนชั้นและวรรณะ ตลอดจนมีปัญหาในการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียมกัน แต่ในขณะที่อินเดียเต็มไปด้วยความท้าทายทางด้านประชากรเหล่านี้ อินเดียก็ยังมีโอกาสอีกมากมายจากข้อเท็จจริงทางประชากรเช่นเดียวกัน เช่นความหลากหลายของประชากร พลวัตทางด้านความคิดสร้างสรรค์ ประชากรวัยแรงงานที่สามารถดึงดูดนักลงทุนจำนวนมากให้ย้ายฐานการผลิตเข้ามาในอินเดียเพื่อทดแทนประเทศจีน รวมถึงการมีประชากรจำนวนมากก็หมายถึงกำลังซื้อที่มากตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการนำเข้าและส่งออกของอินเดียในอนาคต

การเติบโตของประชากรอินเดียจึงไม่ได้เป็นเพียงตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่มันยังหมายถึงอำนาจต่อรองของอินเดียกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย นัยยะของจำนวนมากประชากรอินเดียที่เพิ่มขึ้นจึงส่งผลสำคัญต่อบทบาทของอินเดียในฐานะผู้เล่นสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก ทั้งในฐานะผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ซื้อสินค้า นอกจากนี้ประชากรที่เพิ่มขึ้นยังส่งเสริมให้อินเดียมีความสำคัญในฐานะตัวแสดงหลักในภูมิรัฐศาสตร์โลกอีกด้วย จากที่แต่เดิมอินเดียเป็นเพียงตัวประกอบของบรรดามหาอำนาจเท่านั้น

ฉะนั้นการก้าวสู่ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกของอินเดียจึงถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะมีส่วนส่งเสริมให้อินเดียกลายเป็นมหาอำนาจของโลกในเชิงเศรษฐกิจ ทั้งยังจะผลักดันให้อินเดียมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจทางการเมืองในเวทีระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น กล่าวคืออินเดียจะกลายเป็นประเทศที่ไม่สามารถถูกตัดออกไปได้จากสมการภูมิรัฐศาสตร์โลก เพราะในตอนนี้อินเดียได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทุกการเคลื่อนไหวจะส่งผลต่อระเบียบระหว่างประเทศ

เอกสารอ้างอิง


– Census of India, 2011

– National Family Health Survey, 2020

– United Nations World Population Prospects, 2022

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save