fbpx

เรื่องวุ่นๆ ทางประวัติศาสตร์ของการเริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-อินเดีย

เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อินเดียได้เฉลิมฉลองการเป็นอิสรภาพที่จากอังกฤษครบ 75 ปี ซึ่งถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญของสาธารณรัฐอินเดีย เป็นที่ทราบกันดีว่าอินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษโดยสมบูรณ์ในวันที่ 15 สิงหาคม ปี 1947 นั่นทำให้หลายคนเข้าใจว่าสถานะความเป็นรัฐสมัยใหม่ของอินเดียนั้นเริ่มขึ้นนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา อย่างไรก็ตามเอกสารทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอินเดียกลับชี้ให้เห็นว่า อินเดียเริ่มได้รับอิสระในการจัดการตนเองนับตั้งแต่ช่วงก่อนประกาศเอกราชเสียด้วยซ้ำ ในขณะที่อังกฤษเองก็ถอยห่างและถ่ายโอนอำนาจหลายเรื่องให้รัฐบาลคู่ขนานภายใต้การนำของคนอินเดีย อินเดียช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นประเทศที่เปรียบเสมือนมี 2 รัฐบาล หนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญก็คือการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ประเทศไทยเราก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

ในโอกาสนี้จึงอยากนำข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเริ่มต้นสายสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและอินเดียมาเขียน ซึ่งจนถึงวันนี้ไทย-อินเดียมีความสัมพันธ์กันมาร่วม 75 ปีแล้ว ตัวเลขนี้อาจทำให้หลายท่านเข้าใจไปว่าความสัมพันธ์ของไทยและอินเดียนั้นเกิดขึ้นหลังอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ  แน่นอนว่าตัวผู้เขียนเองก็เข้าใจเช่นนั้นเหมือนกัน จนกระทั่งเมื่อครั้งได้รับโอกาสไปศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย Jawaharlal Nehru ประเทศอินเดีย และได้ลงเรียนกับศาสตราจารย์ Ganganath Jha ซึ่งท่านถือเป็นหนึ่งในชาวอินเดียไม่กี่คนที่ศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับประเทศไทยและภูมิภาคอุษาคเนย์

ภาพที่ 1 ตราสัญลักษณ์ฉลอง 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อินเดีย

ณ เวลานั้น (2017) ผู้เขียนเป็นนักศึกษาไทยคนเดียวในชั้นเรียนนั้น อาจารย์จึงหยิบหนึ่งในหัวข้อที่ชวนให้ผู้เขียนถึงกับตาลุกวาวกับข้อมูลชิ้นใหม่ทางประวัติศาสตร์นี้ คาดว่านี่อาจเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่เผยแพร่เป็นครั้งแรกในประเทศไทยผ่านบทความชิ้นนี้เสียด้วยซ้ำ นั่นคือการสถานปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างไทยและอินเดียเริ่มขึ้นก่อนที่อินเดียประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ โดยถือเอาวันที่ 1 สิงหาคม ปี 1947 เป็นหมุดหมายสำคัญของการเจริญสัมพันธไมตรีของทั้ง 2 ประเทศ ตามการตกลงกันผ่านโทรเลขของรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่าย

อาจารย์ Ganganath Jha ท่านเล่าว่า ค้นพบข้อมูลเหล่านี้ระหว่างเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของไทยช่วงปี 1954-1971 การเข้าถึงเอกสารประวัติศาสตร์มากมาย โดยเฉพาะโทรเลขของกระทรวงการต่างประเทศอินเดียทำให้อาจารย์มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลชิ้นนี้โดยบังเอิญ ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ โทรเลขของกระทรวงการต่างประเทศอินเดียที่กล่าวถึงการเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม[1] มีรายละเอียดอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลไทยในช่วงเวลาดังกล่าวมีความสนใจอย่างยิ่งที่จะสานความสัมพันธ์ทางการทูตกับอินเดียมานับตั้งแต่ปี 1946 ซึ่งในเวลานั้นรัฐบาลของคนอินเดียยังไม่ได้ปกครองอินเดียอย่างแท้จริงเลยด้วยซ้ำ

หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญอันเป็นหมุดหมายสำคัญของความสัมพันธ์ไทย-อินเดียและเป็นการปรับท่าทีนโยบายต่างประเทศของไทยต่ออินเดียในห่วงเวลานั้นคือ การอนุญาตให้อินเดียตั้งสถานกงสุลแยกออกมาต่างหากในวันที่ 5 ธันวาคม 1946 จากแต่เดิมกิจการทั้งหมดเกี่ยวกับอินเดีย รวมถึงคนอินเดียในประเทศไทยนั้นอยู่ภายใต้การบริหารจัดการและดูแลของสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย แน่นอนว่าท่าทีของรัฐบาลไทยในเรื่องนี้ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่งและยังคงเป็นปริศนาทางประวัติศาสตร์ที่ต้องมีการค้นหาคำตอบต่อเรื่องนี้เพิ่มเติมให้กระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น

หากให้ผู้เขียนตั้งสมมติฐานต่อสิ่งที่เกิดขึ้นคงอาจเป็นเพราะรัฐบาลไทยต้องการและมีความพยายามการแสวงหาสถานะและพันธมิตรในห้วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญกับแรงกดดันจากฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลไทยในเวลานั้นอาจเล็งเห็นชัดเจนแล้วว่าต่อไปอังกฤษจะถอนตัวออกจากประเทศอินเดีย การเริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลของคนอินเดียอาจช่วยให้รัฐบาลอินเดียชุดใหม่เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเทศไทยและช่วยเหลือประเทศไทยในอนาคตได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะถือกันว่าการสถานปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างไทยและอินเดียเริ่มขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม ปี 1947 ในความเป็นจริงกลับเกิดเรื่องวุ่นๆ อยู่ไม่น้อยที่ทำให้ทั้ง 2 ประเทศต้องใช้ร่วม 2 เดือนกว่าจะมีการออกประกาศข้อตกลงร่วมสยาม-อินเดียเพื่อแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตระหว่างกันในวันที่ 2 กันยายน ปี 1947 ทั้งนี้ คุณ Bhagwat Dayals ทูตอินเดียประจำประเทศไทยคนแรก ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เขาเข้ารับตำแหน่ง Charge d’Affaires อย่างเป็นทางการในวันดังกล่าว ส่วนความล่าช้านั้นเป็นผลสำคัญมาจากทั้งฝั่งอินเดียที่กำลังวุ่นวายอยู่กับการแบ่งแยกประเทศเป็นอินเดียและปากีสถาน ในขณะที่ฝั่งไทยเองก็จำเป็นต้องใช้เวลาช่วงหนึ่งในการเตรียมการเพื่อวาระสำคัญนี้ (The Siamese authorities took some time to appreciate the effects of that event) ซึ่งในความเป็นจริงก็อาจหมายถึงความล่าช้าของระบบราชการฝั่งไทยนั่นเอง

การประกาศข่าวการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการทูตที่ล่าช้ายังไม่ใช่เรื่องวุ่นๆ เดียวที่เกิดขึ้นในช่วงการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและอินเดียเท่านั้น แต่ในการแต่งตั้งทูตประจำตามธรรมเนียมทางฝ่ายไทยที่ต้องมีการถวายพระราชสาส์นตราตั้ง[2]ต่อพระเจ้าอยู่หัวก็ล่าช้าออกไปอย่างมาก โดยทูต Dayals เขียนเหตุผลไว้ว่าการถวายสารตราตั้งและเลื่อนชั้นเป็น Envoy Extraordinary and Minister Plenipotentiary ต้องล่าช้าไปจนกระทั่งถึงวันที่ 28 พฤษภาคม ปี 1948 ซึ่งเป็นผลสำคัญมาจากรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 1947[3] ในด้านฝั่งไทยนั้น บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งทูตไทยคนแรกประจำอินเดียคือ ดร.ถนัด คอมันตร์ โดยดำรงตำแหน่ง Chargé d’affaires นับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 1947 แต่ด้วยสถานการณ์การเมืองในไทยหลังการรัฐประหารส่งผลให้การแต่งตั้งเพื่อยกสถานะผู้แทนที่เท่าเทียมกันล่าช้าออกในช่วงเวลาดังกล่าว

จะเห็นได้ว่าการก่อร่างความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและอินเดียในช่วงแรกเริ่มนั้น มีเรื่องวุ่นๆ ให้ต้องติดชะงักอยู่บ่อยครั้ง อันเป็นผลมาจากปัจจัยภายในทั้งของอินเดียและไทย แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยสำคัญคงหนีไม่พ้นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในของประเทศไทยหลังรัฐประหารปลายปี 1947 ซึ่งถือเป็นการสลับขั้วทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งสำคัญ และเป็นจุดสิ้นสุดของอำนาจของคณะราษฎรที่มีมาอย่างยาวนาน ในขณะที่บริบทการเมืองระหว่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กลายสภาพไปสู่สงครามเย็นอย่างรวดเร็วได้นำพาให้ไทยเข้าใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาผู้นำของฝ่ายโลกเสรีมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้แนวนโยบายต่างประเทศของไทยและอินเดียเริ่มเดินกันคนละทางมากยิ่งขึ้น เพราะอินเดียพยายามผลักดันแนวคิด ‘กลุ่มเคลื่อนไหวไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด’ (Non-Aligned Movement)

อย่างไรก็ตาม เอกสารและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ชี้ให้เราได้เห็นชัดเจนเกี่ยวกับความพยายามของฝ่ายไทยในเวลานั้น ซึ่งตรงกับรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ต่อเนื่องมายังรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ที่มีความต้องการอย่างมากในการเจริญความสัมพันธทางการทูตกับรัฐบาลอินเดีย ทั้งที่ในเวลานั้น อินเดียยังไม่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเลยด้วยซ้ำ ฉะนั้นหากจะถามหาบุคคลผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการก่อร่างสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและอินเดีย คงไม่ผิดอะไรนักที่เราจะยกผลงานดังกล่าวให้กับรัฐบาลของปรีดี พนมยงค์ และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ น่าสนใจว่า ณ จนถึงวันนี้ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-อินเดียยังคงให้ความสำคัญกับบุคคลทั้ง 2 นี้น้อยมาก ทั้งที่มีส่วนสำคัญต่อการวางรากฐานความสัมพันธ์ 75 ปีระหว่างไทยและอินเดีย

ผู้เขียนมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า งานเขียนชิ้นนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการจุดประกายและกระตุ้นให้ผู้สนใจทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ อินเดียศึกษา ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหันมาให้ความสนใจข้อมูลน่าสนใจเหล่านี้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับเหตุผลที่รัฐบาลปรีดี พนมยงค์มีความพยายามอย่างมากในการสานสัมพันธ์กับอินเดียนับตั้งแต่ยังไม่ได้เอกราช ซึ่งยังคงเป็นปริศนาที่รอวันให้ใครสักคนหาคำตอบอยู่


[1] ที่เรียก ‘สยาม’ เพราะนายทวี บุณยเกตุ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เปลี่ยนชื่อประเทศในภาษาอังกฤษจาก Thailand เป็น Siam นับตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 1945

[2] ที่ใช้พระราชสาส์นตราตั้งเพราะเวลานั้นอินเดียยังไม่มีรัฐธรรมนูญใหม่ แม้ได้รับเอกราชไปแล้ว แต่ประมุขสูงสุดยังคงเป็นพระมหากษัตริย์ของอังกฤษอยู่ ซึ่งในเวลานั้นคือพระเจ้าจอร์จที่ 6

[3] เหตุการณ์รัฐประหารรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ ตรงกับพ.ศ. 2490

เอกสารอ้างอิง


– National Archives of India. Department External Affairs Branch Indonesia, Australia And Newzealand Progs., Nos. 3(7)-IANZ, 1949(Secret) Mr. Bhagwat Dayals Notes on (1) Handing Over Note on the Legation of India in Siam & (2) Commercial Section at Bangkok. (1949)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save