fbpx
Silicon Valley of Asia เมื่ออินเดียกลายเป็นยักษ์ใหญ่ด้านไอที

Silicon Valley of Asia เมื่ออินเดียกลายเป็นยักษ์ใหญ่ด้านไอที


หากเราตัดเรื่องราวเกี่ยวกับอารยธรรมอันเก่าแก่ซึ่งถือเป็นจุดแข็งสำคัญของประเทศอินเดียออกไป อีกหนึ่งจุดแข็งสำคัญของประเทศแห่งนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องไอที เพราะอินเดียถือเป็นแหล่งผลิตวิศวกรด้านนี้ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก วิศวกรคอมพิวเตอร์ของอินเดียมีชื่อเสียงอยู่ในระดับแถวหน้าของวงการ และที่สำคัญหากเราเปิดแอพลิเคชันทั้งหลายในโทรศัพท์ ก็จะพบว่ามีรายชื่อคนอินเดียร่วมพัฒนาอยู่ในหลากหลายแอพลิเคชั่นดังทั้งสิ้น

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและไอทีของอินเดียถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีผ่านมา อินเดียถือเป็นหลังบ้านสำคัญของหลายบรรษัทข้ามชาติชั้นนำของโลก ที่ในขณะเดียวกัน บริษัทหลายแห่งของอินเดียเริ่มหันมาเอาจริงเอาจังกับการแข่งขันในโลกเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ตอนนี้หลายแห่งเริ่มขยับขึ้นมาอยู่แนวหน้าในวงการไอทีมากยิ่งขึ้นไม่ต่างไปจากสหรัฐอเมริกาและจีนเลย

อย่างไรก็ตาม กว่าอินเดียจะเดินหน้ามาถึงจุดที่ได้ชื่อว่าเป็น Silicon Valley of Asia นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และมีหลายสิ่งที่เราน่าเรียนรู้เพื่อนำมาปรับใช้กับแนวทางการพัฒนาประเทศในอนาคต

ตั้งเป้าใหญ่ ฝันให้ไกล แม้อยู่ในวันที่ขาดแคลน

แม้ว่าอินเดียจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ตลอดหลายปีนับตั้งแต่อินเดียเป็นเอกราชและมีรัฐธรรมนูญเป็นของตัวเอง อินเดียดำเนินนโยบายในแบบสังคมนิยมมาโดยตลอด ทั้งยังปิดกั้นการค้าจากต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศ แนวนโยบายเหล่านี้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงในกระแสการเมืองระหว่างประเทศหลังสิ้นสุดของสงครามเย็น อินเดียจึงเริ่มหันมาให้ความสนใจกับการเปิดประเทศและออกแบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เปิดเสรีมากยิ่งขึ้น

น่าสนใจว่าในวันที่เศรษฐกิจอินเดียยังคงมีปัญหาอย่างหนัก ประชาชนจำนวนมากยังอาศัยอยู่ภายใต้ระดับเส้นความยากจน กลางทศวรรษ 1980 รัฐบาลอินเดียได้ผลักดันยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และซอฟแวร์ ซึ่งส่งผลให้การนำเข้า-ส่งออกเทคโนโลยีกลุ่มนี้เป็นไปอย่างเสรีมากยิ่งขึ้น รวมถึงรัฐบาลยังให้เงินทุนสนับสนุนและช่วยเหลือกลุ่มอุตสาหกรรมนี้เป็นการเฉพาะ ทั้งที่ในช่วงนั้น อาจเรียกได้ว่า คอมพิวเตอร์และซอฟแวร์ยังไม่เป็นที่นิยมในอินเดีย เพราะประชากรเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ได้

นโยบายคอมพิวเตอร์ปี 1984 และนโยบายการฝึกอบรม พัฒนา และส่งออกซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ปี 1986 กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการส่งเสริมอุตสาหกรรมไอทีภายในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากในเวลานั้นอินเดียไม่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมนี้มากนัก และกลุ่มธุรกิจจำนวนมากของอินเดียยังมองไม่เห็นโอกาสจากอุตสาหกรรมใหม่นี้

กลุ่มทุนอเมริกาถือเป็นกลุ่มทุนแรกๆ ที่เข้ามาลงทุนในอินเดียแบบร่วมทุน ซึ่งทำให้อินเดียได้รับประโยชน์ด้านองค์ความรู้จากบรรษัทข้ามชาติด้านไอทีของอเมริกา และในขณะเดียวกันเอง บริษัทของอเมริกาก็ได้รับผลประโยชน์ทางด้านต้นทุนดำเนินการภายในอินเดียที่มีราคาถูก ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนการผลิตและการดำเนินการของบริษัทอย่างมาก

แนวทางร่วมทุนดังกล่าวส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านไอทีจำนวนมากภายในประเทศอินเดีย ทั้งยังช่วยให้เกิดการยกระดับการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ภายในอินเดียอีกด้วย แต่อินเดียไม่ได้หยุดฝันเพียงเท่านี้ เพราะในปี 1998 อินเดียได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมไอทีภายในประเทศ โดยหวังเป็น ‘หนึ่งในมหาอำนาจของโลกด้านไอที’ รวมถึงต้องการเป็น ‘ผู้บุกเบิกด้านการปฏิวัติข้อมูลสารสนเทศ’ อีกด้วย

สิ่งที่เราเห็นคืออินเดียเริ่มวางนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมไอทีตั้งแต่ยังไม่เป็นที่นิยม ยิ่งไปกว่านั้น เป้าหมายของอินเดียก็เป็นเป้าหมายใหญ่ เป็นความฝันที่คนในเวลานั้นอาจเรียกว่าไกลเกินจะเอื้อมถึง เพราะช่วงเวลาดังกล่าวอินเดียกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง แต่ข้อจำกัดและอุปสรรคข้างต้นไม่ได้ทำให้รัฐบาลอินเดียล้มเลิกนโยบายนี้ แต่กลับให้ความสำคัญในฐานะอุตสาหกรรมแห่งความหวัง เพื่อความอยู่รอดของเศรษฐกิจอินเดียในอนาคต

จากออฟฟิศหลังบ้านของบรรษัทข้ามชาติ สู่แหล่งรวมการวิจัยและพัฒนาของโลก

ถึงแม้ว่าอินเดียจะมีเป้าหมายใหญ่ มีฝันที่ไกล แต่ในช่วงแรกอินเดียต้องเผชิญปัญหาความพรั่งพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไอที โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่มีอยู่อย่างจำกัด การร่วมทุนเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้จึงเป็นแนวทางสำคัญที่อินเดียเลือกใช้เพื่อให้เกิดการต่อยอดอุตสาหกรรมไอทีภายในประเทศ

ในช่วงแรก การลงทุนด้านไอทีภายในอินเดียยังคงเป็นไปอย่างจำกัด และบรรษัทข้ามชาติส่วนใหญ่เลือกอินเดียเป็นเพียง ‘หลังบ้าน’ เท่านั้น งานส่วนใหญ่ที่บริษัทเหล่านี้ดำเนินการในอินเดียคือการทำงานเป็นคอลเซนเตอร์ตอบปัญหาลูกค้าในเรื่องต่างๆ ฉะนั้น ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 หลายคนจะคุ้นชินกับคอลเซนเตอร์อินเดียที่คอยให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหากับระบบคอมพิวเตอร์

นอกจากงานกลุ่มนี้แล้ว อินเดียในช่วงเวลาดังกล่าวยังทำหน้าที่เป็นหลังบ้านในการสนับสนุนการออกแบบซอฟแวร์ หรือเทคโนโลยีพื้นฐานบางเรื่องให้กับบริษัทแม่อื่นๆ ที่อยู่ในต่างประเทศ เนื่องจากช่วงเวลานั้น บุคลากรด้านไอทีของอินเดียยังคงมีน้อยและมีความรู้ไม่หลากหลาย อาจกล่าวได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวอินเดียถูกใช้เป็นหลังบ้านของอุตสาหกรรมไอทีเพียงเพราะมีต้นทุนในการทำงานที่ถูกโดยเปรียบเทียบกับการจ้างงานในลักษณะเดียวกัน

ความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมไอทีของอินเดียนั้นเริ่มขึ้นอย่างแท้จริงในปี 2010 หลังจากอินเดียใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์และเรียนรู้จากบรรษัทข้ามชาติชั้นนำระดับโลก รวมถึงระบบการศึกษาของอินเดียก็มีความพร้อมอย่างเต็มเปี่ยมในการผลิตวิศวกรไอทีเพื่อป้อนตลาดแรงงานทั้งภายในอินเดียและส่งออกไปยังต่างประเทศ ผ่านวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งอินเดีย (Indian Institutes of Technology: IIT) ที่มีอยู่หลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศอินเดีย

ความพร้อมเหล่านี้ส่งผลให้รัฐบาลอินเดียหันมาเอาจริงเอาจังในการส่งเสริมและสนับสนุนเงินทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมด้านนี้ภายในประเทศมากยิ่งขึ้น รวมทั้งปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การลงทุนอุตสาหกรรมนี้ภายในประเทศด้วย โดยเฉพาะการเปลี่ยนตัวเองจากการทำหน้าที่เป็นหลังบ้าน สู่การเป็นพื้นที่ผลิตเทคโนโลยีต้นแบบภายในประเทศเอง

บังกาลอร์ เมืองหลวงของรัฐกรณาฏกะถูกวางให้เป็นเมืองต้นแบบในการส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมไอทีของประเทศอินเดีย ผ่านมาตรการด้านการส่งเสริมการลงทุนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการงดเว้นภาษีบางจำพวก การอำนวยความสะดวกด้านแรงงาน การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน และการสนับสนุนซึ่งกันและกันของอุตสาหกรรมไอทีภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าว

ความพยายามผลักดันของรัฐบาลอินเดียในช่วงตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ส่งผลให้ในตลอด 10 ปีมานี้ เฉพาะบังกาลอร์เพียงเมืองเดียว กลายเป็นเป็นพื้นที่สำคัญในการผลิตของอุตสาหกรรมไอทีของโลก คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 35 ยิ่งไปกว่านั้น เงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมนี้ยังมีมูลค่ามากถึง 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

อินเดียกลายเป็นแหล่งลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาด้านไอทีที่สำคัญของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ยกตัวอย่างเช่น CISCO ที่มีบุคลากรภายในอินเดียมากกว่า 11,000 คน เป็นต้น ทั้งนี้ ข้อมูลทางสถิติพบว่าในจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองบังกาลอร์ 12 ล้านคนนั้น กว่า 1 ล้านคนประกอบอาชีพนักพัฒนาซึ่งทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมไอที

ข้อมูลทางเศรษฐกิจของอินเดียยังชี้อีกว่าในปี 2017 เฉพาะอุตสาหกรรมไอทีเพียงอุตสาหกรรมเดียวคิดเป็นมากถึงร้อยละ 8 ของตัวเลข GDP ทั้งประเทศ สร้างงานให้ประชากรอินเดียมากถึง 3.9 ล้านตำแหน่ง และที่สำคัญ รายได้จากอุตสาหกรรมนี้ในปี 2019 ยังสูงถึง 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยปัจจัยต่างๆ ตัวเลขทางเศรษฐกิจ รวมถึงเงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามาในอุตสาหกรรมไอทีของอินเดียนี้เอง ส่งผลให้อินเดียจึงมักถูกเรียกขานว่าเป็น ‘Silicon Valley of Asia’

นโยบายแบบองค์รวมกุญแจสู่ความสำเร็จ

แน่นอนว่า กว่าที่อินเดียจะสามารถผลักดันอุตสาหกรรมไอทีจนกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านไอทีระดับโลกได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยวิสัยทัศน์การทำงานในระยะยาว และที่สำคัญคือการจัดการกับระบบราชการที่เป็นปราการขนาดใหญ่ในการขับเคลื่อนนโยบาย รวมไปถึงความแตกต่างหลากหลายทางด้านการเมือง โดยเฉพาะการเมืองในระดับรัฐ เพราะในอินเดีย นโยบายทางเศรษฐกิจเป็นการผสมผสานระหว่างนโยบายของรัฐบาลกลางและรัฐบาลระดับรัฐ

ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าใดนักที่นโยบายของรัฐบาลสองระดับจะสอดคล้องกัน หลายครั้งออกจะเดินสวนทางกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลกลางและรัฐบาลระดับรัฐมาจากคนละพรรคการเมืองกัน แต่นโยบายไอทีของอินเดียนั้นมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะนโยบายนี้ริเริ่มโดยพรรคคองเกรส และถูกยกระดับสู่เป้าหมายระดับชาติภายใต้การนำของพรรคบีเจพีในช่วงปี 1998-2004 ทำให้นโยบายผลักดันอย่างต่อเนื่อง

ในสถานการณ์ของการเมืองระดับรัฐกรณาฏกะซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งส่งเสริมอุตสาหกรรมไอทีเองก็ไม่ได้ต่างไปจากการเมืองระดับชาติ เพราะไม่ว่าจะมีการผลัดเปลี่ยนรัฐบาล การขับเคลื่อนนโยบายนี้ยังได้รับการเอาใจใส่ และถือเป็นโมเดลการพัฒนาต้นแบบให้กับรัฐอื่นๆ อีกด้วย ความต่อเนื่องทางด้านนโยบายจึงเป็นกุญแจดอกแรกที่เปิดประตูให้นโยบายนี้สามารถเดินหน้ามาได้จนถึงทุกวันนี้

กุญแจดอกต่อมาซึ่งผลักดันให้นโยบายไอทีของอินเดียประสบความสำเร็จคือ การผสานความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงานภายในประเทศทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันทางการศึกษาให้ทำงานร่วมกัน โดยมีรัฐบาลเป็นแกนกลางในการผสานการทำงาน เราจะเห็นได้ว่าการส่งเสริมเศรษฐกิจไอทีของอินเดีย มาพร้อมกับการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างภาคธุรกิจผ่านการร่วมทุน รวมไปถึงการส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ควบคู่ไปกับการแก้ไขกฎหมายการลงทุน และระบบการทำงานของภาครัฐ

ความใส่ใจและการมองแบบองค์รวมถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้อินเดียกลายเป็น ‘Silicon Valley of Asia’ ในทุกวันนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยอาจใช้เป็นหนึ่งในบทเรียนการออกแบบนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจเป้าหมายของตัวเอง เพราะในหลายครั้ง การทำงานด้านนโยบายเศรษฐกิจของไทยนั้นยังคงทำงานกันแบบแยกขาดจากกัน ส่งผลให้การผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายประสบปัญหา เช่นขาดบุคลากร ขาดกฎหมายรองรับ หรือแม้แต่การขาดเงินลงทุนจากภาคเอกชน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save