fbpx

Saint Omer (2022) เราคือผู้หญิง เราคือไคเมรา และเราคืออสุรกาย

พฤศจิกายน 2013 ฟาเบียง คาบู (Fabienne Kabou) หญิงสาวชาวเซเนกัล-ฝรั่งเศส ออกเดินทางไปยังชายหาดแบร์ก-ซูร์-แมร์กับลูกสาววัย 15 เดือน อุ้มลูกขึ้นมาจากรถเข็นเด็กแล้วกอด ก่อนจะวางเธอลงบนชายหาดและเดินจากมา ออกเดินทางกลับสู่ปารีสเพียงลำพัง

เช้าวันรุ่งขึ้น ชาวประมงพบร่างเด็กน้อยลอยไปติดชายฝั่ง คาบูโดนตำรวจจับอีกไม่นานหลังจากนั้น เธอตอบรับชัดเจนว่าตั้งใจจะพาลูกสาวไปที่ชายหาดแล้วปล่อยให้ลูกจมน้ำ ปี 2016 เธอขึ้นศาลพิจารณาคดีที่เมืองแซ็งต์-โอแมร์ และนับเป็นหนึ่งในคดีที่หลายคนให้ความสนใจ อยากควานหาคำตอบว่าเหตุใดแม่คนหนึ่งจึงเจตนาปล่อยให้ลูกตัวเองตายเช่นนั้น

คาบูไม่มีคำตอบที่ชัดเจนนัก เธอเพียงแค่กล่าวออกมาว่า “ฉันฆ่าลูกสาวเพราะมันทำให้ชีวิตง่ายขึ้น”

เรื่องราวของคาบูอยู่ในความสนใจของ อลิซ ดิออป (Alice Diop) คนทำหนังชาวฝรั่งเศสที่แจ้งเกิดจากหนังสารคดีสำรวจความเป็นไปในสังคมอย่าง La permanence (2016, ว่าด้วยหมอที่ต้องรักษาผู้ลี้ภัยในปารีส) และ Nous (2020, ใบหน้าและเรื่องเล่าของผู้คนบนรถไฟสายหนึ่งที่วิ่งจากเหนือลงใต้) เรื่องราวของฟาเบียง คาบูทำให้ดิออปตัดสินใจทำภาพยนตร์ฟิคชั่นเป็นเรื่องแรกโดยดัดแปลงมาจากการพิจารณาคดีความในชั้นศาลของคาบูในชื่อ Saint Omer (2022) เล่าผ่านเรื่องราวและสายตาของ รามา (เคจี คากามี) อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักเขียนหญิง ที่ออกเดินทางไปยังเมืองแซ็งต์-โอแมร์เพื่อสังเกตการณ์การพิจารณาคดีของ โลรองซ์ (กุสลาชี มาล็องดา) นักศึกษาที่ถูกจับข้อหาฆ่าลูกสาววัย 15 เดือนด้วยการปล่อยให้ลูกจมน้ำ และตลอดระยะเวลาที่การพิจารณาคดีเกิดขึ้น แทบไม่ปรากฏว่าโลรองซ์สั่นสะท้านหรือแสดงห้วงอารมณ์อื่นใดนอกจากสีหน้าเรียบเฉย

“ฉันไม่รู้เหมือนกันว่าฉันฆ่าลูกตัวเองทำไม และหวังการการพิจารณาคดีนี้จะให้คำตอบแก่ฉันได้”

Saint Omer เล่าเรื่องเรียบง่าย เหตุการณ์เกือบทั้งหมดของเรื่องเกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีและบทสนทนาระหว่างผู้พิพากษาผิวขาวกับโลรองซ์ ผู้เล่าประวัติให้ฟังคร่าวๆ เมื่อถูกถามว่าเธอนั้นมาจากเซเนกัล เติบโตในครอบครัวชนชั้นกลางซึ่งพ่อแม่แยกกันอยู่ เธอต้องอยู่กับแม่ตั้งแต่ยังเด็ก กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับพ่อย่ำแย่ ในสายตาโลรองซ์ เธอเข้ากันกับพ่อได้มากกว่าโดยเฉพาะหากพิจารณารสนิยมเรื่องศิลปะและความรู้ต่างๆ อันเป็นสิ่งที่โลรองซ์รู้สึกว่าหาไม่ได้จากเนื้อตัวคนเป็นแม่ แม่ผู้สั่งห้ามไม่ให้เธอพูดภาษาเซเนกัลและให้พูดภาษาฝรั่งเศส ส่งเธอเข้าเรียนโรงเรียนคาทอลิกซึ่งในเวลาต่อมา โลรองซ์ก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศสได้ เธอเป็นหน้าเป็นตาให้พ่อแม่ที่รู้สึกว่าลูกสาวผู้เฉลียวฉลาดของพวกเขาได้เข้าเรียนในพื้นที่ซึ่งกว้างขวางทางปัญญามากกว่า เป็นชนชั้นกลางมากกว่าที่เซเนกัลอันเป็นบ้านเกิด

กล่าวกันในภาพรวม โลรองซ์คือชนชั้นกลางจากเซเนกัลที่มีมารยาท มีกระบวนการคิด มีการศึกษาในแบบที่สากลโลกเข้าใจได้ เธอเรียนหนังสือเก่ง เคยทำงานรับเลี้ยงเด็กและปรากฏว่าเธอก็รักและเข้ากันได้กับเด็กๆ ผู้พิพากษารวมทั้งลูกขุน ตลอดจนคนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีนั้นจึงไม่เข้าใจแรงขับเคลื่อนบางประการของโลรองซ์ได้เลย เธอพบรักกับชายฝรั่งเศสผิวขาวที่อายุมากกว่าเธอหลายสิบปี กับความซับซ้อนของความสัมพันธ์ซึ่งปลายทางคือการที่โลรองซ์ตั้งท้องลูกของเขา และคลอดออกมาเพียงลำพังในอะพาร์ตเมนต์ ช่วงที่เขาออกเดินทางไปยังที่อื่นและกลับมาอีกทีก็เห็นภาพโลรองซ์อุ้มลูกไว้ในอ้อมอกแล้ว

ตัวละครทั้งโลรองซ์และสามีถูกศาลตั้งคำถามถึงภาระและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ควรมีในฐานะพ่อแม่และคนรัก และหนังไม่ได้มีน้ำเสียงพิพากษาว่าฝ่ายใดถูกผิดมากน้อยไปกว่ากัน มันเพียงแต่ถ่ายทอดอย่างจริงใจและตรงไปตรงมาจนเกือบจะเหมือนหนังสารคดีอันเป็นลายเส้นสำคัญของดิออป ตัวสามีถูกตั้งคำถามถึงการที่เขาปล่อยปละละเลยให้เมียซึ่งเพิ่งเคยตั้งท้องเป็นครั้งแรกต้องอยู่ลำพัง ให้เธอต้องหาข้อมูลการทำคลอดและเตรียมความพร้อมนานับประการจากอินเทอร์เน็ต ขณะที่ตัวโลรองซ์นั้น พฤติกรรมการเลี้ยงดูทารกของเธอก็มีปัญหาในสายตาของศาล เมื่อเธอไม่ยอมเอาลูกออกไปพบปะผู้คน หรือแม้แต่พาลูกไปโรงพยาบาลเมื่อลูกป่วยไข้

หนังไม่ได้ชี้ชัดนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ชวนคิดถึงระหว่างดูคือ ‘ตัวตน’ ของผู้หญิงคนหนึ่งในฐานะลูกและในฐานะแม่ ตัวโลรองซ์ถูกแม่ลบเลือนความเป็นเซเนกัลออกจากตัวด้วยการห้ามไม่ให้เธอพูดภาษาบ้านเกิด และให้พูดภาษาฝรั่งเศสซึ่งสำหรับแม่แล้วเป็นทั้งภาษาที่จำเป็นสำหรับลูก และอาจจะเป็นภาษาที่ดีกว่าภาษาเซเนกัลในหลายๆ ความหมาย พยายามส่งให้เธอมาอยู่ฝรั่งเศส ในแวดล้อมที่ใช้ระบบตรรกะคิดแบบคนขาว พร้อมกันนี้โลรองซ์ก็ดูจะมีสถานะเป็นอาภรณ์ให้แม่ไปเชิดชูกับคนอื่นด้วยความภาคภูมิใจ ในทางกลับกัน โลรองซ์ไม่เคยให้ลูกสาวของเธอได้มีตัวตนในสายตาคนอื่น เด็กทารกเกิดขึ้นในอะพาร์ตเมนต์ที่มีเพียงตัวเธอเท่านั้นที่ดำรงอยู่ และเด็กก็มีชีวิตได้เพียง 15 เดือนก่อนที่โลรองซ์จะตัดสินใจทำให้เธอหายไปด้วยการปล่อยให้จมน้ำ -อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ให้คำตอบแน่ชัดว่าเหตุใดโลรองซ์จึงตัดสินใจกระทำการเช่นนั้น

หมุดหมายที่ถูกหยิบมาเป็นอีกประเด็นสำคัญในหนัง (รวมทั้งในคดีของคาบู) คือเมื่อโลรองซ์อ้างถึงการใช้คุณไสยซึ่งดูเหมือนจะเป็นคำอธิบายเดียวที่เธอรู้สึกว่าใกล้เคียงกับสิ่งที่เป็น ‘แรงจูงใจ’ ให้เธอฆ่าเด็กที่สุด ทว่า คำอธิบายเดียวนี้ก็ดูห่างไกลจากระบบการใช้ตรรกะเหตุผลแบบคนขาวซึ่งกำลังพิพากษาเธออยู่ มากไปกว่านั้น ด้านหนึ่งแล้วการใช้คุณไสยยังคล้ายจะเป็นการดึงโลรองซ์กลับไปสู่รากของความเป็นเซเนกัลซึ่งมีวัฒนธรรมที่ว่าด้วยการใช้มนต์และความเชื่อลึกลับต่างๆ อีกครั้ง ประเด็นรากความเป็นเซเนกัลและความเป็นคนดำในภาพรวมนี้ยังสะท้อนผ่านฉากเล็กๆ เมื่ออาจารย์ที่ปรึกษาในมหาวิทยาลัยของเธอขึ้นการเป็นพยานว่า ในสายตาของเธอนั้น โลรองซ์เป็นนักศึกษาที่ฉลาดเฉลียว พูดจาน่าเชื่อถือ กระนั้นแล้ว การใช้ภาษาในวิทยานิพยธ์และข้อเขียนต่างๆ ของโลรองซ์กลับดูไม่เป็นเช่นนั้น ทั้งตัวที่ปรึกษาเองยังไม่แน่ใจว่าเหตุใดนักศึกษาหญิงที่เป็นคนดำ มีถิ่นฐานมาจากเซเนกัล จึงสนใจทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ ลุดวิก วิตเกนสไตน์ นักปรัชญาชาวออสเตรียซึ่งเป็นคนขาว และในฉากเล็กๆ นี่เองที่กล้องตัดรับหน้าของรามา หญิงคนดำที่ใช้ชีวิตในฝรั่งเศสผู้ซึ่งนั่งสังเกตการพิจารณาคดีมาตั้งแต่ต้น

เราต้องไม่ลืมว่า ตลอดทั้งเรื่องหนังเล่าผ่านสายตาและตัวตนของรามาแทบทั้งหมด ทั้งที่อันที่จริงแล้ว ดิออปก็สามารถทำเป็นหนังที่ว่าด้วยการพิจารณาคดีของโลรองซ์อย่างเดียวเลยก็ยังได้ แต่การที่หนังวางฐานจากตัวรามาเป็นหลัก กลับกลายเป็นการเน้นให้เห็น ‘ประสบการณ์ร่วม’ บางประการที่ผู้หญิงคนดำ (และในบางมิติ ก็อาจหมายถึงผู้หญิงอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นคนดำด้วย) มีร่วมกัน โดยเฉพาะในแง่ที่ทั้งคู่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางเหมือนกัน มีการศึกษาสูงและคบหากับชายผิวขาวในฝรั่งเศส บางฉากบางตอนของหนังยังตัดสลับให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างรามากับแม่ ซึ่งแม้เป็นที่ประจักษ์ว่าเธอกับแม่ไม่สนิทกันมากนัก แต่ก็พูดได้ยากว่าอะไรทำให้ทั้งคู่ไม่ลงรอยกัน และในความนิ่งงัน ไม่ชัดเจนนี้เองที่ก็อาจคล้ายคลึงกันกับกรณีของโลรองซ์ กล่าวคือ แม่ผู้ให้กำเนิดพวกเธอหาใช่คนใจยักษ์ใจมาร ไม่ได้กระทำความผิดบาปร้ายแรงต่อลูกสาว รวมทั้งเลี้ยงดู ส่งเสริมและสนับสนุนให้เติบโตอย่างดีเสมอมา กระนั้นรอยปริร้าวทางความรู้สึกก็ปรากฏตัวขึ้น -และนั่นก็อาจไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด- อย่างเงียบเชียบ แม้ในบางแง่มุม เราอาจพิจารณาวิธีที่รามาเฝ้ามองแม่ของเธอ และตัวเธอเองในวัยเด็กว่าเป็นความรู้สึกหวาดหวั่นที่จะเติบโตมาเป็นแบบที่แม่เป็น แม้จะไม่แน่ชัดนักว่าภาวะที่รามามองเห็นแม่คืออะไร หากแต่ก็เข้าใจได้ว่ามันคือภาพแทนความเป็นแม่ ความเป็นผู้หญิงบางประการที่เธอไม่ปรารถนาจะซ้ำรอย

ฉากที่สั่นสะเทือนและดูจะเป็นหัวใจหลักของหนัง -รวมทั้งพิสูจน์ว่าดิออปเป็นคนทำหนังสารคดีที่กำกับหนังฟิคชั่นได้แม่นยำ- คือเมื่อรามาทอดสายตามองไปยังโลรองซ์ซึ่งนั่งอยู่ในคอกจำเลย นิ่งเงียบและเนิ่นนานนั้น โลรองซ์เบนใบหน้าหันมาสบตากับเธอ ก่อนปรากฏเป็นรอยยิ้มน้อยๆ อันเป็นรอยยิ้มแรกของเธอนับตั้งแต่การพิจารณาคดี และรอยยิ้มนี้เองที่สร้างแรงสะเทือนมหาศาลให้แก่รามา -ทั้งในหลายๆ กรณีก็รวมถึงคนดู- เป็นจุดเชื่อมต่อเดียวกันของตัวละครผู้ไม่มีโอกาสได้สื่อสารหรือสนทนาต่อกัน หากแต่มันเป็นการสบตา เป็นการส่งยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยความเข้าอกเข้าใจถึงตำแหน่งแห่งที่ของอีกคนซึ่งนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีนั้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยซึ่งมีข่าวที่พาดหัว ‘แม่ใจยักษ์’ ‘แม่ใจมาร’ ออกมาแทบจะรายปีนั้น ประเด็นที่ปรากฏในหนัง Saint Omer ก็เป็นประเด็นที่น่าครุ่นคิดเหลือเกิน ในแง่ที่ว่านี่เป็นประเทศที่แทบไม่เคยพยายามทำความเข้าใจการก่ออาชญากรรมของคนที่ ‘เป็นแม่’ ให้พ้นไปกว่าขอบเขตของศีลธรรมเลย แน่นอนว่าการฆ่าหรือแม้แต่ทอดทิ้งนั้นเป็นพฤติกรรมที่ผิดตามข้อกฎหมายรวมทั้งในแง่มนุษยธรรม หากแต่การพิพากษา -โดยเฉพาะผ่านสายตาของสื่อมวลชนและสังคม- โดยปราศจากการพยายามทำความเข้าใจนั้นก็ไม่น่านำไปสู่อะไรได้นอกเสียจากการได้สำเร็จโทษผู้หญิงคนหนึ่งเท่านั้น

แม้ถึงที่สุด หนังไม่ได้ให้คำตอบว่าผลการพิจารณาคดีเป็นอย่างไร แต่ฉากที่ชวนตราตรึงมากที่สุดฉากหนึ่งของเรื่องคือเมื่อทนายความฝั่งโลรองซ์ (ออเรเลีย เปอทีต) กล่าวถึงโศกนาฏกรรมที่โลรองซ์เป็นผู้ก่อ

“หญิงผู้นี้ก่อคดีอาชญากรรมที่เลวร้ายที่สุด คือฆ่าเด็กทารก เธอยอมรับว่าได้ฆ่าลูกสาวตัวเอง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เกินทนสำหรับพวกเรา เป็นสิ่งซึ่งอยู่นอกเหนือจากความเข้าใจ เรื่องของแม่ที่ปล่อยให้ตัวเองฆ่าลูกซึ่งเธอถนอมดูแลมาถึง 15 เดือน ง่ายดายเหลือเกินที่จะมองเธอเป็นอสูรกาย […] สิ่งที่ฉันจะกล่าวต่อไปนี้ หาใช่บทกวีแต่คือวิทยาศาสตร์ เราต่างรู้ว่าระหว่างการตั้งครรภ์นั้น เซลล์และ DNA ของแม่จะถ่ายทอดไปสู่ทารกในครรภ์ ทว่า น้อยคนจะรู้ว่ามันถ่ายทอดในทางกลับกันด้วย เพราะเซลล์ของทารกก็เข้ามาสู่ร่างกายของผู้เป็นแม่เช่นกัน มันฝังตัวเองลงในเนื้อตัวของเธอ นับตั้งแต่สมองจนถึงปลายเท้า และแม้หลังถือกำเนิด หรือแม้การตั้งครรภ์นั้นจะไม่เป็นไปตามกำหนด เซลล์เหล่านั้นก็ยังดำรงอยู่ บางครั้งก็อาจชั่วชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง แม่กับลูกจึงเกี่ยวกันต่อกันและกันอย่างไม่อาจแยกขาดได้

“ท่านทราบหรือไม่ว่าทางวิทยาศาสตร์เรียกเซลล์นี้ว่าอะไร พวกเขาเรียกมันว่า เซลล์ไคเมรา ชื่อเดียวกันกับไคเมรา อสูรกายในตำนาน เป็นสิ่งซึ่งถือกำเนิดจากร่างกายของสัตว์ต่างๆ มันมีหัวของสิงโต มีเรือนกายของแพะ และมีหางของงู ดังนั้น คณะลูกขุนทั้งหลาย ฉันนั้นเชื่อว่า เราซึ่งเป็นผู้หญิง เราล้วนคือไคเมรา เราดำเนินชีวิตไปโดยแบกเอาร่องรอยของแม่อยู่กับเนื้อตัว รวมทั้งร่องรอยของลูกสาว ซึ่งในทางกลับกันก็แบกเอาร่องรอยของเราไว้ด้วย นี่คือห่วงโซ่อันไม่มีจุดจบ

“และในทางหนึ่ง เรา -ผู้หญิง- ล้วนคืออสุรกาย เพียงแต่เราเป็นอสุรกายในร่างมนุษย์เท่านั้น”

สำหรับฟาเบียง คาบู เธอถูกตัดสินโทษจำคุก 20 ปี โดยหนึ่งในคำที่เธอให้การต่อศาลคือ “ไม่มีอะไรสมเหตุสมผลในเรื่องราวเหล่านี้เลย ฉันจะหาเรื่องทรมานตัวเองให้มาอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ทำไม โกหก ฆ่าลูกสาวตัวเองอย่างนี้”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save