fbpx
ความน่าจะอ่านในเรือนจำ และการเรียนรู้ของผู้ต้องขังหญิง เพื่อผู้ต้องขังหญิง

ความน่าจะอ่านในเรือนจำ และการเรียนรู้ของผู้ต้องขังหญิง เพื่อผู้ต้องขังหญิง

ชลิดา หนูหล้า เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

Books are the quietest and most constant of friends; they are the most accessible and wisest of counsellors, and the most patient of teachers.

 

หนังสือคือเพื่อนผู้เสงี่ยมสงบและสัตย์ซื่อ คือที่ปรึกษาใกล้มือผู้ปราดเปรื่อง และครูผู้อดกลั้นที่สุด

 

ชาร์ลส์ วิลเลียม เอเลียต (Charles W. Eliot) นักการศึกษาชาวอเมริกัน และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดบรรยายสรรพคุณของหนังสือเช่นนั้น ครอบคลุมคุณูปการของหนังสือต่อมนุษย์ ผู้เติบโต อุ้มชู และหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยความอารีของผู้อื่น

นอกจากถ่ายทอดข้อมูลและไขข้อกังขา หนังสือยังเป็นสะพานบรรเทาความโดดเดี่ยว เชื่อมโยงผู้อ่านและผู้เขียน รวมถึงผู้อ่านเรื่องราวเดียวกัน ความต้องการเหล่านี้เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะอยู่ที่ไหน พูดภาษาใด มีอิสระหรือถูกคุมขัง หนังสือแต่ละเล่มต่างตอบสนองความต้องการอันหลากหลายซึ่งไม่มีผู้ใดล่วงรู้และเข้าใจดีกว่ามนุษย์ผู้นั้นเอง

ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนได้อ่านประกาศเชิญชวนบริจาคหนังสือแก่ผู้ต้องขังหญิงในไทย ระบุหนังสือที่ต้องการและไม่ต้องการพร้อมเหตุผล ต่างเรือนจำ ต่างผู้ต้องขัง ต่างความต้องการ บ้างต้องการหนังสือสุขภาพ บ้างต้องการนวนิยายรัก บ้างต้องการหนังสืองานฝีมือ หนังสือซึ่งเป็นที่ต้องการในเรือนจำแห่งหนึ่งอาจถูกปฏิเสธในอีกแห่งหนึ่ง ข้อความเหล่านั้นนำมาซึ่งคำถาม — ผู้ต้องขังหญิงต้องการอ่านและเรียนรู้อะไรหรือ และใครเป็นผู้ตัดสินว่าผู้ต้องขังหญิงควรอ่านหรือเรียนรู้อะไร

 

ตัวอย่างประกาศเชิญชวนบริจาคหนังสือแก่ผู้ต้องขังหญิงในไทย

ตัวอย่างประกาศเชิญชวนบริจาคหนังสือแก่ผู้ต้องขังหญิงในไทย

 

เมื่อค้นคว้าเพิ่มเติมจึงพบข้อเขียนสั้นๆ ว่าด้วยความต้องการอ่านของผู้ต้องขังหญิงในสหรัฐอเมริกาในเว็บไซต์นิตยสารมหาวิทยาลัยชิคาโกซึ่งระบุว่า การบริจาคหนังสือแก่ผู้ต้องขังหญิงในสหรัฐอเมริกาด้วยความปรารถนาดีเพียงอย่างเดียว อาจไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ต้องขังนัก

ผู้เขียนขอเชิญชวนผู้อ่านจินตนาการถึงหนังสือที่พวกเธอต้องการอ่านว่าน่าจะเป็นหนังสือประเภทใด หนังสือเบ็ดเตล็ด วิชาการ นิตยสาร หรือนวนิยาย เชื่อว่าหากรู้คำตอบแล้ว หลายคนคงจะประหลาดใจแน่นอน

หนังสือที่ผู้ต้องขังหญิงในสหรัฐอเมริกาต้องการอ่านมากที่สุดคือ ‘พจนานุกรม’ รวมถึงสมุดว่างๆ สักเล่มสำหรับบันทึก ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยต้องการอ่านหนังสือว่าด้วยการเยียวยาอาการติดสุราและสารเสพติดที่ไม่ใช่หนังสือศาสนา หนังสือให้ความรู้เกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบบีและซีซึ่งเป็นโรคติดต่อที่พบมากในชุมชนแออัด รวมถึงในหมู่ผู้ใช้สารเสพติดแบบฉีด นวนิยายที่ตัวเอกเป็นชนชั้นล่างในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะนวนิยายของเซน (Zane) ซึ่งได้รับคำชมเชยจากนักวิจารณ์ว่า เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับตัวละครหญิงผิวดำในการเรียนรู้ความปรารถนาและความพึงพอใจทางเพศของตน หนังสือแนะแนวการทำสมาธิ หนังสือว่าด้วยศาสนาวิกคา (Wicca) อันเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ถูกกดทับโดยศาสนากระแสหลัก และหนังสือเกี่ยวกับเลสเบี้ยน

ขณะที่หนังสือซึ่งไม่เป็นที่นิยมได้แก่หนังสือจำพวกทฤษฎีสังคมวิทยาและจริยธรรมของเอมีล เดอร์ไคม์ (Émile Durkheim) คู่มือทดสอบ GMAT GRE และ LSAT เพื่อศึกษาต่อสาขาวิชาบริหารธุรกิจและกฎหมายระดับปริญญาโทขึ้นไป คัมภีร์ไบเบิล หนังสือสรรนิพนธ์ คู่มือขับรถยนต์ เล่นกอล์ฟ และ ‘คำสารภาพของนักบุญออกัสติน’ (The Confessions of Saint Augustine) ซึ่งกล่าวถึงความเสียใจของนักบุญที่ครั้งหนึ่งมีชีวิตปราศจากศีลธรรม และลุ่มหลงอวิชชาก่อนมีศรัทธาในคริสต์ศาสนา

“พวกเราได้รับบริจาคหนังสือเล่มนี้บ่อยเหลือเกิน อาจเพราะเป้าหมายส่วนบุคคลของผู้บริจาคเอง” ข้อเขียนข้างต้นระบุเช่นนั้น

หากพิจารณาสถิติผู้ต้องขังหญิงจากอีกข้อเขียนหนึ่งในนิตยสารวิทยาลัยบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยชิคาโก จะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างภูมิหลังของผู้ต้องขังหญิงและหนังสือซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างชัดเจน ข้อเขียนดังกล่าวระบุว่า สงครามยาเสพติดในสหรัฐอเมริกานำมาซึ่งการเพิ่มจำนวนอย่างเป็นประวัติการณ์ของผู้ต้องขังหญิง โดยระหว่างค.ศ.1968-1991 จำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดที่เป็นหญิงผิวดำสูงขึ้นถึงร้อยละ 828 นอกจากนี้ ผู้ต้องขังที่เป็นหญิงผิวดำยังมีแนวโน้มถูกลงโทษจำคุกสูงกว่า และในระยะเวลานานกว่าผู้ต้องขังหญิงผิวขาว

ผู้ต้องขังหญิงจำนวนมากมีปัญหาสุขภาพที่หลากหลายกว่า และได้รับการรักษาที่เหมาะสมน้อยกว่าผู้ต้องขังชาย ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังถูกลงโทษจำคุก โดยปัญหาสุขภาพที่พบมาก ได้แก่ โรคไวรัสตับอักเสบซี โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเอดส์ และปัญหาอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมถึงปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคเครียดหลังเหตุการณ์รุนแรงหรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD) ฯลฯ ตลอดจนประวัติถูกกระทำรุนแรงทางร่างกาย และถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ไม่น่าประหลาดใจนักที่นวนิยายซึ่งตัวเอกมีอัตลักษณ์ร่วมกับผู้ต้องขัง พจนานุกรมซึ่งส่งเสริมการรู้หนังสือ องค์ความรู้เกี่ยวกับเพศ และปัญหาสุขภาพที่ปลอดการตีตราและลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ต้องขังหญิงซึ่งต่างเผชิญการเลือกปฏิบัติด้วยเพศสภาพและชาติพันธุ์ อีกทั้งยังต้องทุกข์ทนจากการขาดอิสรภาพเป็นเวลานาน มากกว่าคู่มือทดสอบและหนังสือที่ปราศจากความยึดโยงกับภูมิหลังและเป้าหมายในชีวิต ทั้งยังมีสำเนียงหรือเนื้อหาที่กล่าวโทษและซ้ำเติมพวกเธอ

ปรากฏการณ์ข้างต้นสอดคล้องกับสถิติผู้ต้องขังหญิงและความต้องการหนังสือของผู้ต้องขังหญิงในไทยเช่นกัน โดยหนังสือที่เป็นที่นิยมที่สุดในแดนผู้ต้องขังหญิงของเรือนจำจังหวัดอุทัยธานี ได้แก่ นวนิยายรัก งานเขียนปกิณกะที่ ‘ย่อยง่าย’ โดยหนุ่มเมืองจันท์ หรือชาติ ภิรมย์กุล นิตยสารสุขภาพ และนิตยสารทั่วไป นอกจากนี้ ในห้องสมุดยังมีมุมเล็กๆ เขียนคำง่ายๆ เพื่อพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ของผู้ต้องขังหญิงด้วย ขณะที่สถิติผู้ต้องขังหญิงในไทยชี้ว่า ผู้ต้องขังหญิงจำนวนมากเป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติดจากการมียาเสพติดในครอบครอง คู่ครองมียาเสพติดในครอบครอง หรือถูกหลอกลวงให้กระทำความผิด และเกือบครึ่งเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว

อย่างไรก็ตาม ภูมิหลังและความต้องการของผู้ต้องขังหญิงในแต่ละเรือนจำย่อมแตกต่างกัน การบริจาคหนังสือ รวมถึงการพัฒนาห้องสมุดซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ในเรือนจำจึงควรมีความยึดโยงกับผู้ต้องขังหญิงที่อ่านหนังสือเหล่านั้น โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรวบรวมสถิติและพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิง การออกแบบพื้นที่หรือช่องทางเสนอชื่อหนังสือที่ต้องการอ่านและประเด็นที่ต้องการเรียนรู้โดยผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำนั้นๆ ตลอดจนการเชิญชวนประชาชนทั่วไปบริจาคหนังสือ อุปกรณ์การเรียน หรือทุนทรัพย์ โดยมีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง การอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริจาค และการส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกต่อผู้ต้องขังหญิง ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ เพื่อลดแนวโน้มการตีตราและลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพวกเธอ

ตัวอย่างหนึ่งของการประชาสัมพันธ์และเชิญชวนบริจาคหนังสือที่สะท้อนแนวความคิดดังกล่าว ได้แก่ การประชาสัมพันธ์โดย WPBP (Women’s Prison Book Project: WPBP) อันเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐอเมริกา ที่นอกจากประชาสัมพันธ์ความต้องการหนังสือของผู้ต้องขังหญิงในสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกต่อผู้ต้องขังหญิงในฐานะมนุษย์ผู้หนึ่งด้วย

ภาพต่อไปนี้คือแท็กคลาวด์ (Tag Cloud) แสดงความต้องการหนังสือของผู้ต้องขังหญิงในค.ศ.2018 พร้อมคำบรรยายว่า “ภารกิจหนึ่งของ WPBP คือจัดสรรความช่วยเหลือและเสรีภาพในการเลือกแก่ผู้ต้องขัง เพราะเบื้องหลังทุกตัวอักษรคือมนุษย์ผู้แตกต่างและมีความต้องการหลากหลาย ไม่ว่าการหลบเร้นจากความจริง ความบันเทิง การเยียวยา และการเข้าถึงการศึกษา ร่วมเป็นอาสาสมัครของ WPBP เป็น ‘แม่สื่อหนังสือ’ กันเถอะ! ”

 

แท็กคลาวด์แสดงความต้องการอ่านของผู้ต้องขังหญิง

แท็กคลาวด์แสดงความต้องการอ่านของผู้ต้องขังหญิง

 

กระนั้น การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิงทั้งระหว่างและหลังการถูกลงโทษจำคุก ย่อมไม่อาจสิ้นสุดเพียงการบริจาคหนังสือและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ทว่ารวมถึงการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับภูมิหลังและความต้องการของพวกเธอ โดยอาศัยการแสดงความเห็นและการเสนอแนะของผู้ต้องขังหญิงเอง เพราะการเข้าถึงการศึกษาของผู้ต้องขังหญิงไม่เพียงนำมาซึ่งความภูมิใจในตนเอง อันจะนำไปสู่การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในอนาคตเท่านั้น ผลการศึกษาของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในหลายประเทศยังชี้อีกด้วยว่า องค์ความรู้ที่สอดคล้องกับปัญหา ภูมิหลัง และความต้องการของพวกเธอ จะนำมาซึ่งการยกระดับคุณภาพชีวิตของอดีตผู้ต้องขังหญิงในระยะยาว โดยเมื่อพิจารณาจากภูมิหลังก่อนถูกลงโทษจำคุกของผู้ต้องขังหญิงในหลายประเทศ[i] ปัญหาร่วมประการหนึ่งของผู้ต้องขังหญิงคือ การเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การขาดการศึกษาและถูกหลอกลวงให้กระทำความผิด รวมถึงการเลือกกระทำความผิดด้วยปัญหาการเงินในครอบครัว

PET หรือองค์กรการกุศลเพื่อการจัดการศึกษาแก่ผู้ต้องขังในสหราชอาณาจักร ได้เสนอรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตอดีตผู้ต้องขังหญิงในอังกฤษและเวลส์ ผ่านความเชื่อว่า “การสำเร็จการศึกษาในเรือนจำอาจสร้างความเชื่อมั่นในตนเองได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่เคยเชื่อว่าตนจะประสบความสำเร็จในการศึกษาได้” ซึ่งรูปแบบดังกล่าวอาจสามารถนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาแก่ผู้ต้องขังหญิงในไทยต่อไป

PET ยังระบุว่าเดิมที กิจกรรมการเรียนรู้สำหรับผู้ต้องขังชายและหญิงไม่แตกต่างกันนัก นำมาซึ่งเสียงวิจารณ์ถึงความไม่หลากหลาย และนำไปสู่การปรับปรุงการจัดการศึกษาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ที่นอกจากจะช่วยระงับเส้นทางสู่เรือนจำของผู้หญิงแล้ว ยังส่งเสริมการเลี้ยงชีพของผู้หญิงหลังออกจากเรือนจำได้จริงด้วย

หนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้ที่ PET ชี้ว่าเหมือนเป็น ‘การเหมารวม’ ทว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้หญิงหากได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสม คือ วิชาชีพเสริมสวย เพราะการเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศส่งผลกระทบต่อการรับรู้เกี่ยวกับตนเองของผู้ต้องขังหญิง กิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความกล้าแสดงออก การดูแลรูปลักษณ์และสุขภาพจึงนำมาซึ่งความพึงพอใจและความเชื่อมั่นในตนเอง ทั้งยังต่อยอดเป็นอาชีพหรือธุรกิจขนาดเล็กได้ ยิ่งกว่านั้น การรับรู้ว่าตนจะพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ และช่วยเหลือตนเองได้ในอนาคตยังลดโอกาสการกลับสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ การเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว และการถูกเอารัดเอาเปรียบโดยคู่ครอง

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมแห่งสหราชอาณาจักรยังเห็นความสำคัญของการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถานศึกษาเพื่อออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายยิ่งขึ้น เพราะทัณฑสถานหญิงมักมีขนาดเล็กและมีจำนวนน้อยกว่าทัณฑสถานชาย การจัดการศึกษาแก่ผู้ต้องขังหญิงเฉพาะในเรือนจำจึงไม่เพียงพอต่อการตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย โดยหนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ได้แก่ การฝึกอบรมช่างจักรยานแก่ผู้ต้องขังหญิง ณ ทัณฑสถานหญิงเดรก ฮอล (HM Prison Drake Hall) ในสถาบันซึ่งถูกก่อตั้งโดยฮัลฟอร์ดส (Halfords) ผู้จำหน่ายอะไหล่รถยนต์ อุปกรณ์เดินทาง และจักรยานรายใหญ่ เนื่องจากผู้หญิงที่ใช้จักรยานในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และจำนวนไม่น้อยก็มักต้องการหารือกับพนักงานหญิงมากกว่าพนักงานชาย

นอกจากนี้ ทัณฑสถานหญิงแห่งอื่นๆ ในสหราชอาณาจักรยังเริ่มร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยกรีนิช และรอยัล ฮอลโลเวย์ มหาวิทยาลัยลอนดอน ฯลฯ เพื่อจัดการเรียนรู้รายวิชาระดับปริญญาตรีแก่ผู้ต้องขังหญิงด้วย

ความพยายามเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ‘ของผู้ต้องขังหญิง เพื่อผู้ต้องขังหญิง’ เหล่านี้ ทั้งโดยการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ ล้วนเป็นความพยายามเพื่อปกป้องพวกเธอจากการเป็นผู้ ‘ตกสำรวจ’ ของการยกระดับความเสมอภาคทางการศึกษา และนำไปสู่ ‘ฟ้าหลังฝน’ ที่สดใสแท้จริงของผู้ต้องขังหญิงหลังออกจากเรือนจำ

เห็นได้ชัดว่า ไม่ว่านักเรียนหรือผู้เรียนจะมีสถานภาพหรือบทบาทอย่างไรในสังคม หัวใจของการพัฒนาและจัดการเรียนรู้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายอันเป็นการเรียนรู้ที่ยั่งยืนที่สุดนั้นคล้ายคลึงกัน คือ การคำนึงถึงความต้องการที่แตกต่าง ภูมิหลัง และปัญหาที่แต่ละคนต้องเผชิญ เพื่อออกแบบและอำนวยความสะดวกแก่การเรียนรู้ ที่ไม่เพียงเยียวยาความบอบช้ำในอดีตซึ่งขัดขวางการพัฒนาตนเองของผู้เรียน ทว่าสร้างความรัก การยอมรับ และความเชื่อมั่นในตนเอง รวมถึงในศักยภาพของตน โดยไม่ถูกบังคับ ผลักไส หรือโน้มน้าวให้ ‘เป็นอื่น’

เพราะนอกจากอาชีพ เพศสภาพ และอายุ การเป็นอิสระหรือถูกคุมขัง อีกคุณลักษณะหนึ่งของผู้เรียนทุกคนคือการเป็น ‘มนุษย์’ ผู้มีสีสันและประสบการณ์เฉพาะ รวมถึงมีสิทธิเข้าถึงการศึกษา ซึ่งไม่ใช่เพียงของขวัญอันวิเศษสำหรับมนุษย์เท่านั้น ทว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเขาหรือเธอเช่นกัน


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

 

อ้างอิง:

[i] สามารถเปรียบเทียบภูมิหลังและเส้นทางสู่เรือนจำของผู้ต้องขังหญิงในเคนยา กับของผู้ต้องขังหญิงในไทยและสหรัฐอเมริกาที่ได้กล่าวถึงข้างต้น จากรายงาน Woman’s Pathway to Prison in Kenya ซึ่งเป็นความร่วมมือของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) สถาบันอาชญาวิทยา มหาวิทยากริฟฟิธ และสำนักงานทัณฑสถานเคนยา

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save