fbpx
8 นักคิด 8 จักรวาลความคิด มองโลกยุค COVID-19

8 นักคิด 8 จักรวาลความคิด มองโลกยุค COVID-19 (2)

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ในบทความ 8 นักคิด 8 จักรวาลความคิด มองโลกยุค COVID-19 (1) ตอนที่แล้ว เราเดินสำรวจจักรวาลความคิดมาได้ครึ่งทางแล้ว ณ ตอนนี้ ถึงเวลาเดินฝ่าห้วงวิกฤตต่อไปกับความคิดอีก 4 มุม

 

Michael J. Sandel

เรากำลังลงเรือลำเดียวกันอยู่หรือไม่ในวิกฤต COVID-19?

 

Photo: Fronteiras do Pensamento | Luiz Munhoz

 

“วิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 บีบบังคับให้เราต้องย้อนกลับไปมองและตั้งคำถามว่า เราอยากอยู่ในสังคมแบบไหน” และ “เราต้องตั้งคำถามว่าสังคมหลังวิกฤตควรจะเป็นสังคมที่ต่างคนต่างอยู่เหมือนเดิม หรือสังคมที่ทุกคนเผชิญชะตากรรมร่วมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้”

ไมเคิล เจ. แซนเดล ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ผู้สอนวิชา ‘ความยุติธรรม’ วิชาออนไลน์ฟรีวิชาแรกของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดที่มีนักเรียนมากกว่าล้านคนทั่วโลก และผู้เขียนหนังสือ ‘ความยุติธรรม’ (Justice: What the right thing to do?) ตั้งคำถามว่าด้วยโลก ‘ที่ควรจะเป็น’ หลังวิกฤต COVID-19 ผ่านความคิดเชิงศีลธรรม เพื่อแสวงหา ‘ชีวิตที่ดี’ ในสังคมที่พลเมืองสามารถบรรลุ ‘ประโยชน์สาธารณะ’ (common good) ร่วมกันได้อย่างแท้จริง

ในทัศนะของแซนเดล สังคมจะบรรลุประโยชน์สาธารณะและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (solidarity) ได้นั้น สังคมจะต้องเป็นสังคมที่คนเท่าเทียมกัน ผู้คนมีชีวิตร่วมและความรู้สึกร่วมในฐานะชุมชนเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม วิกฤต COVID-19 ได้เขย่าสังคมอเมริกา (และสังคมประเทศอื่นด้วยเช่นกัน – ผู้เขียน) ตั้งคำถามที่เสียงดังยิ่งกว่าเดิม ตอกย้ำสภาพสังคมและเศรษฐกิจว่า ณ ขณะนี้ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลังหรือไม่ และหากใช่ เราจะใช้โอกาสนี้สร้างสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ได้อย่างไร?

ชัดเจนว่าวิกฤต COVID-19 ตอกย้ำวิกฤตแห่งความไม่เท่าเทียมที่โลกาภิวัตน์และระบบตลาดเสรีได้สร้างผู้ชนะที่มั่งคั่ง และผู้แพ้ที่ยากจนข้นแค้น สร้างรอยร้าว แยกสังคมออกเป็นสองเสี่ยง

แต่แซนเดลเสนอว่า หากจะสร้างสังคมที่เท่าเทียม ยิ่งไปกว่าการสร้างโครงสร้างระบบสุขภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้หรือระบบสวัสดิการถ้วนหน้า เราต้องตั้งคำถามต่อศีลธรรมแบบ ‘ใครดีใครได้’ (meritocracy) ที่มาพร้อมกับระบบตลาดเสรีด้วย คำกล่าวที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ไม่ใช่ความจริงแท้ในยุคที่คุณค่าและวิธีคิดแบบตลาดซึมแทรกอยู่ในทุกอณูของสังคม

วิธีคิดเช่นนี้ครอบงำผู้ชนะให้เชื่อว่า การประสบความสำเร็จและความมั่งคั่งเกิดจากความพยายามด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองเพียงผู้เดียว แต่ในความเป็นจริง โลกาภิวัตน์ได้เปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจภาคการเงินเฟื่องฟู และส่งผลให้งานในภาคเศรษฐกิจจริงที่ผลิตสินค้าและบริการกลายเป็นงานด้อยคุณค่า ผู้แพ้จึงไม่ได้แพ้เพราะไม่พยายามดิ้นรน แต่แพ้เพราะระบบเศรษฐกิจเบียดขับคนเหล่านี้ให้กลายเป็นผู้แพ้ เช่นเดียวกัน ผู้ชนะก็ไม่ได้ชนะเพราะความพยายามของตนอย่างเดียวเท่านั้นจนประสบความสำเร็จ

วิกฤตไวรัสระบาดยิ่งตอกย้ำให้เห็นความต่างของวิถีชีวิตของผู้ชนะและผู้แพ้ ในขณะผู้ชนะสามารถทำงานหน้าคอมพิวเตอร์จากที่บ้าน หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน ไม่ต้องเสี่ยงติดไวรัส แต่ผู้แพ้กลับต้องเสี่ยงติดไวรัสออกจากบ้านไปทำงาน อย่างเช่นงานส่งของหรืองานแคชเชียร์ในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งงานเหล่านี้ก็พยุงสังคมในเวลาวิกฤตไว้ และเกื้อหนุนให้เหล่า ‘ผู้ชนะ’ อยู่รอดปลอดภัยเช่นกัน

ควรแล้วหรือไม่ ที่คุณค่าของน้ำพักน้ำแรงถูกตีเป็นค่าเป็น ‘ราคา’ เท่านั้น?

วิธีคิดแบบ ‘ใครดีใครได้’ จึงเป็นวิธีคิดที่เปรียบเสมือนกำแพงกั้นไม่ให้รอยร้าวแห่งความไม่เท่าเทียมสมานกันได้ คนในสังคมต่างไม่หันมามองกัน มองไม่เห็นว่าแต่ละคนในสังคมต่างก็พึ่งพาซึ่งกันและกันอยู่

แซนเดลมองว่าเมื่อวิกฤตไวรัสสั่นคลอนสังคมเศรษฐกิจแบบเก่า และเปิดโอกาสให้เราสร้างสรรค์ระเบียบสังคมใหม่แล้ว เราควรจะตั้งโจทย์คิดต่อไปข้างหน้าว่าจะสร้างระบบเศรษฐกิจอย่างไรที่จะหลอมสังคมให้เป็นเนื้อเดียวกันมากยิ่งขึ้น ไม่ทำให้ผู้แพ้ไม่เป็นผู้แพ้ที่ถูกทอดทิ้งเช่นเดิม แต่สามารถมีชีวิตที่เท่าเทียมและมีชีวิตที่ดีในสังคมได้ ตลอดจนรู้สึกว่างานที่ระบบตลาดพร่ำบอกว่า ‘ด้อยค่า’ นั้นเป็นงานที่มีเกียรติและควรได้รับการตอบแทน

 

Amartya Sen

ความไม่เท่าเทียม: สัญญาณแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกหลังวิกฤตที่ดีกว่าเดิม

 

Photo: Fronteiras do Pensamento 

 

“ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่าสังคมที่ดีกว่าสามารถเกิดขึ้นได้หลังการปิดเมืองครั้งนี้”

อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาชาวอินเดีย ชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ในปี 1998 เจ้าของข้อเสนอว่าด้วย “การพัฒนาทางเศรษฐกิจให้เติบโตจะต้องไม่ละทิ้งการพัฒนามนุษย์ด้วย เพื่อให้ผู้คนมี ‘ชีวิตที่ดี’ ในสังคม” มองเห็นถึงความเป็นไปได้ว่า ประสบการณ์ร่วมของสังคมจากวิกฤตจะเป็นบทเรียนที่นำไปสู่สังคมที่มีความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น มีคนอดอยาก เจ็บป่วย และทุกข์ทรมานน้อยลง

แนวคิดของเซน มุ่งไปที่การลดความยากจน สร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม

แต่ความยากจนที่ว่ามานี้ ไม่ได้มีสาเหตุจากความเหลื่อมล้ำของรายได้เพียงเท่านั้น เซนเสนอว่าเราต้องมองเหตุแห่งความยากจนให้ไกลกว่าเพียงตัวเลข เขามองว่าความยากจนเกิดจากการขาดเสรีภาพ ซึ่งเป็นกำแพงขวางกั้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต การกำหนดชีวิตที่ดีตามแบบที่แต่ละคนปรารถนา และการกำหนดอนาคตร่วมของสังคมว่าจะมีทิศทางอย่างไร

หากผู้คนจะปราศจากความยากไร้และมี ‘ชีวิตที่ดี’ ได้ การเมืองจะต้องช่วยให้ผู้คนบรรลุเสรีภาพที่จะอิ่มท้อง มีสุขภาพที่ดีและได้รับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย มีชีวิตที่ปลอดภัย และมีสิทธิที่จะแสดงออกว่าต้องการให้สังคมเป็นอย่างไร ดังนั้น รัฐควรเป็นผู้เพิ่มศักยภาพในการบรรลุเสรีภาพต่างๆ ที่ว่ามานี้ผ่านนโยบายสวัสดิการ

และประวัติศาสตร์ได้บอกกับเราแล้วว่าประสบการณ์ร่วมของสังคมบางสังคมที่เผชิญกับวิกฤตความทุกข์ยาก สามารถนำไปสู่สังคมที่ช่วยให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่ทุกข์ยากจนเกินไป หากรัฐให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม เราสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส จัดการกับปัญหาความไม่เท่าเทียมที่หยั่งรากลึกในสังคมมานาน อย่างที่อังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยแก้ปัญหาขาดแคลนอาหารด้วยการปันส่วนจนผู้คนเริ่มมีสุขภาพดีและมีชีวิตยืนยาวขึ้น นี่คือจุดเริ่มต้นของรัฐสวัสดิการและระบบบริการสุขภาพแห่งชาติในอังกฤษ (NHS) แต่ในทางกลับกัน ประวัติศาสตร์ก็ได้บอกเราไว้เหมือนกันว่า สังคมที่รัฐไม่เงี่ยหูฟังเสียงความทุกข์ร้อนของประชาชน ความอดยาก (ซึ่งเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำ) ก็คร่าชีวิตคนได้จำนวนมหาศาล

วิกฤตไวรัส COVID-19 ครั้งนี้เช่นกันก็เปิดโอกาสให้เราเลือกสร้างสังคมดีที่กว่าเดิม

หากแต่เซนตั้งข้อสังเกตว่า “หลายประเทศยังคงมองไม่เห็นปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้น” ยังมีกลุ่มคนจนหรือกลุ่มคนที่ถูกกีดกัน (อย่างเช่น คนผิวสีในสหรัฐฯ) ที่เสี่ยงติดเชื้อมากกว่าเพราะเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขที่ราคาแพงเกินเอื้อม ซ้ำร้าย การควบคุมโรคด้วยมาตราการปิดเมืองและเว้นระยะห่างทางสังคมในบางประเทศ อย่างเช่นอินเดีย ก็ไม่ได้มีการคิดตระเตรียมถึงบรรเทาทุกข์ของคนที่ต้องตกงาน ขาดรายได้ ขาดอาหาร เข้าไม่ถึงการรักษา ไม่มีนโยบายของรัฐรองรับไว้ มีแค่เพียงคนที่มีเงินพอเท่านั้นที่จะเข้าถึงความจำเป็นของชีวิตได้ในเวลาเช่นนี้

เมื่อเมืองเปิด วิกฤตนี้จะเป็นโอกาสหรือไม่ ล้วนขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะต่อสู้กับความไม่เท่าเทียม เพื่อโลกที่เท่าเทียมกว่าเดิม เพื่อโลกที่ผู้คนบรรลุเสรีภาพไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าเดิมหลังวิกฤตหรือไม่

 

Henry A. Kissinger

ระเบียบโลกใหม่ (?) หลังวิกฤต COVID-19

 

Photo: darthdowney

 

หลากหลายเสียงในวงการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมองไปในทิศทางเดียวกันว่า “แรงสั่นสะเทือนจากไวรัส COVID-19 กำลังเร่งความเร็วในการแปลงโฉมโลกาภิวัตน์ เปลี่ยนระเบียบโลก ย้ายดุลอำนาจจากโลกตะวันตกไปถ่วงน้ำหนักที่โลกตะวันออก” ณ เวลานี้อาจเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น แต่ภาพที่กำลังฉายในเวทีโลกก็ชัดเจนพอว่า COVID-19 กำลังส่องแสงไปที่รัฐประชาธิปไตยเอเชีย ท้าทายการทะยานขึ้นมาของจีน ตอกฝาโลงบทบาทมหาอำนาจของสหรัฐฯ ในการนำโลกเสรี (ที่มีท่าทีว่าจะถึงจุดจบไม่ช้าก็เร็ว หรืออาจจบลงไปแล้วตั้งแต่ทรัมป์ประกาศว่า “อเมริกาต้องมาก่อน!”) ถึงขั้นตอกฝาโลงโลกาภิวัตน์และระเบียบระหว่างประเทศแบบเสรีนิยมที่ระส่ำระสายมาสักพักหนึ่ง ขีดเส้นพรมแดนระหว่างรัฐที่เคยจางไปให้กลับมาเข้มชัดยิ่งขึ้น

แต่เฮนรี คิสซินเจอร์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐสมัยประธานาธิบดีนิกสัน รัฐบุรุษแห่งสหรัฐอเมริกาผู้ขึ้นชื่อว่านิยมดำเนินการทูตแบบ realpolitik[1] ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 1973 จากการนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากสงครามเวียดนาม และผู้เขียนหนังสือ ‘World Order’ กลับมองต่างออกไป เขามองว่า ห้วงเวลานี้ สหรัฐฯ ต้องไม่เพียงแต่มองว่าจะสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนเพื่อเผชิญต่อวิกฤต แต่ควรต้องมองต่อไปด้วยว่า สหรัฐฯ จะเล่นบทบาทแบบไหนในระเบียบโลกหลัง COVID-19

ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะมาถึงในเวลาอันใกล้ จะเป็นช่วงเวลาแห่งการตัดสิน

ท่ามกลางสภาวะปั่นป่วนจากไวรัสระบาด ระเบียบโลกแบบเสรีนิยมกำลังแตกสลาย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘สภาพจริง’ ดังกล่าวต้องอาศัยวิสัยทัศน์ร่วมและความร่วมมือระดับโลกเพื่อต่อกรกับวิกฤตที่ไม่เลือกพรมแดนอย่างเลี่ยงไม่ได้ หากล้มเหลวที่จะสร้างเสถียรภาพทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้เกิดขึ้นในระเบียบโลกหลัง COVID-19 โลกก็จะด่ำดิ่งอยู่ในวังวนความปั่นป่วนต่อไป

ในทัศนะของคิสซินเจอร์ สหรัฐฯ ไม่ควรหันหลังให้ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ แต่ควรเข้ามามีบทบาทนำในเวทีโลกเพื่อสร้างเสถียรภาพในยุคที่กำลังจะมาถึง “อย่างที่สหรัฐฯ เคยใช้แผนมาร์แชล” ช่วยฟื้นฟูโลกหลังผ่านสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2

บทบาทที่คิสซินเจอร์เสนอให้สหรัฐฯ มีส่วนร่วม คือ ประการแรก สหรัฐฯ ควรสนับสนุนความร่วมมือระดับโลกเพื่อรักษาโลกจากโรค COVID-19 สหรัฐฯ ควรใช้ศักยภาพทางทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าช่วยในการคิดวิธีตรวจหาเชื้อหรือควบคุมการแพร่เชื้อแบบใหม่

ประการที่สอง คือ สหรัฐฯ ควรวางโปรแกรมฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจอันซับซ้อนที่เกิดจากการปิดเมือง และควรมุ่งเป้าไปที่ประชากรที่เปราะบางที่สุดในโลกขณะนี้

ประการที่สาม ประเทศประชาธิปไตยรวมถึงสหรัฐฯ เอง ต้องรักษาหลักการเสรีนิยมที่ผยุงระเบียบโลกเสรีไว้ เพราะนี่คือรากฐานของความมั่งคั่งและมั่นคงระหว่างประชาชาติ หากบรรดารัฐเหล่านี้ที่ “รักษาปลอดภัย ความอยู่ดีกินดี และความเป็นธรรมแก่ประชาชน” ละทิ้งแนวทางตามนี้แล้วกลับไปต่างคนต่างอยู่ ละทิ้ง “การรักษาดุลอำนาจโลก” ด้วยระเบียบเสรีอาจนำไปสู่การ “ฉีกสัญญาประชาคมทิ้งทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ”

คิสซินเจอร์จะไม่เชื่อในการดำเนินการทูตแบบที่บรรลุสันติภาพโลกผ่านการเผยแพร่ลัทธิประชาธิปไตยและทุนนิยมแก่ประเทศอื่นอย่างเกินเลย เขามองว่าการทูตเช่นนี้อันตรายเพราะสามารถสร้างแรงด้านกลับได้อย่างมหาศาล แต่สภาพจริง ณ ขณะนี้คือความปั่นป่วนที่ต้องการเสถียรภาพ การรักษาไว้ซึ่งคุณค่าบางอย่างจึงจำเป็นเพื่อให้สัมฤทธิ์ผล

นโยบายจัดการไวรัสผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศโดยที่มีสหรัฐฯ เล่นบทนำ จะเป็นตัวชี้ชะตาระเบียบโลกหลัง COVID-19 ว่าจะมีหน้าตาอย่างไร จะสร้างเสถียรภาพและดุลอำนาจระหว่างประเทศได้หรือไม่

 

Slavoj Zizek

วิกฤต COVID-19: การฟื้นคืนชีพของคอมมิวนิสต์

 

Photo: Andy Miah

 

“วิกฤตไวรัส COVID-19 ระบาดไม่ได้ส่งสัญญาณตะโกนบอกเพียงแค่ว่าระบบทุนนิยมถึงขีดจำกัดแล้วที่จะจัดการกับวิกฤต แต่ประชานิยมขวาจัดที่หวงแหนอำนาจอธิปไตยก็เช่นกัน” และเมื่อไวรัส COVID-19 สั่นคลอนระเบียบการเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบัน สลาวอย ชิเชค นักปรัชญาสายวิพากษ์ชาวสโลวีเนีย มองว่า “นี่คือโอกาสที่จะฟื้นคืนชีพให้กับระบอบคอมมิวนิสต์

ชิเชคมองว่า “ไวรัส COVID-19 กำลังทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้” ซึ่งคือ การทลายระบอบทุนนิยมลง

ก่อนหน้าวิกฤตไวรัสระบาด เราอยู่ในโลกที่ระบอบทุนนิยมเสรี ‘ดูเหมือน’ จะเป็นคำตอบสุดท้าย อุดมการณ์ทุนนิยม (วิธีคิดแบบมองตัวเองว่าเป็นเพียง ‘ปัจเจก’ ในสังคมและตรรกะตลาดที่คนมองผลประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่) ที่หล่อเลี้ยงโครงสร้างสังคมไว้ ซึมซาบอยู่ทุกอณูความคิดของคน จนไม่สามารถจินตนาการถึงความเป็นไปได้ที่จะมีอุดมการณ์และโครงสร้างสังคมแบบอื่น เพราะโลกทุนนิยมได้กลายเป็น ‘ภาพแทน’ ของธรรมชาติ/ความเป็นจริงหนึ่งเดียวไปแล้ว

แต่เมื่อโลกกำลังเผชิญกับ ‘วิกฤตสามต่อ’ ทั้งวิกฤตสุขภาวะจากการระบาดของไวรัส วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตสุขภาพจิต พิกัดแห่งความจริงเริ่มสั่นสะเทือน

เสียงเรียกร้องต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเริ่มดังขึ้น

จากการที่โลกต้องตกอยู่ในสภาวะที่ความเป็นความตายสำคัญน้อยกว่าการทำกำไร และการที่ ‘ปัจเจก’ ต้องแบกรับความรับผิดชอบป้องกันไวรัสด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อเอาตัวรอด เห็นได้ชัดว่าอุดมการณ์เช่นนี้พยายามแยกให้ผู้คนเห็นแต่เพียง ‘ความเป็นปัจเจก’ ของตนเอง ไม่สามารถรวมตัวได้ ชิเชคเสนอว่าเราต้องไม่ยอมให้แนวคิดเช่นนี้บดบังสายตาเรา ต้องไม่ลืมตั้งคำถามต่อสภาพจริง และคิดนอกกรอบที่ระบอบทุนนิยมตีกรอบไว้

ระบบและอุดมการณ์ทุนนิยมเสรีล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการเผชิญวิกฤต

และยังไม่เพียงแต่เป็นความล้มเหลวของทุนนิยมเท่านั้น แต่ระเบียบโลกแบบรัฐชาติที่อำนาจอธิปไตยและเขตแดนเป็นใหญ่นั้นก็ล้มเหลวที่จะสร้างความร่วมมือระดับโลกเพื่อเผชิญวิกฤตร่วมของมนุษยชาติเช่นกัน

อีกความเป็นไปไม่ได้ที่กำลังจะเป็นไปได้ในโลกหลัง COVID-19 คือ การกลับมาของระบอบคอมมิวนิสต์

แน่นอนว่าระบอบคอมมิวนิสต์ที่ชิเชคเสนอนั้น ไม่ได้หมายถึงระบอบคอมมิวนิสต์แบบประเทศจีนที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่ผู้นำ และกลัวอำนาจของผู้นำสั่นคลอนเป็นที่สุดจนต้องเพิกเฉย ปิดบังและบิดเบือนความจริงที่เกิดขึ้น (อย่างข่าวการระบาดหนักของไวรัส COVID-19 ที่เกินกว่าจะควบคุมได้)

แต่ระบอบคอมมิวนิสต์ที่ว่านี้ หมายถึง “ระบอบที่กลไกในรัฐบาลประสานงานกันอย่างครอบคลุม” อย่างที่ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกได้กล่าวไว้ ยิ่งไปกว่านั้น กลไกที่ว่ามานี้ต้องขยายออกไปนอกขอบเขตรัฐชาติเพื่อรองรับการร่วมมือและพึ่งพากันในระดับระหว่างประเทศ ต้องให้อำนาจรัฐแทรกแซงหากเกิดวิกฤตสาธารณสุขขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่ง อย่างถ้าหากเกิดวิกฤตเครื่องช่วยหายใจขาดแคลน ก็ควรจะสามารถยืมเครื่องช่วยหายใจข้ามประเทศได้ หรือหากมีแผนการจัดการวิกฤต ก็ควรเป็นแผนการที่เกิดจากการประสานความร่วมมือทั่วโลกอย่างเต็มที่

แต่อย่างไรก็ตาม ชิเชกไม่ได้มองว่า ระบอบคอมมิวนิสต์ที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นนี้มีฐานมาจากอุดมคติหรืออะไรทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นความจำเป็นของมนุษย์ทุกคนในการมีชีวิตอยู่รอดต่อไป

 

 

เชิงอรรถ

[1] การทูตแบบ realpolitik คือการทูตที่เน้นผลสัมฤทธิ์ (pragmatism) มากกว่าดำเนินตามหลักการหรืออุดมการณ์

 

อ่านเพิ่มเติม

Are We All in This Together?

Towards a just society

Sandel: Equality is the key to the common good

Long View of History Includes Today

The Coronavirus Pandemic Will Forever Alter the World Order

World Order by Henry Kissinger – review

A better society can emerge from the lockdowns

AMARTYA SEN’S CAPABILITIES APPROACH TO POVERTY

Amartya Sen: economist, philosopher, human development doyen

Slavoj Zizek: Biggest threat Covid-19 epidemic poses is not our regression to survivalist violence, but BARBARISM with human face

What does Slavoj Žižek mean when he talks about ideology?

Why Slavoj Žižek is a communist, kind of

PANDEMIC!: COVID-19 SHAKES THE WORLD

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save