สมชัย สุวรรณบรรณ เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
ในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายชุมชนในสหราชอาณาจักรมีกลุ่มประชาชนพร้อมใจนัดหมายกันเปิดประตูหน้าต่าง หรือออกมายืนบริเวณถนนหน้าบ้านเวลาประมาณสองทุ่มทุกค่ำวันพฤหัส เพื่อปรบมือส่งเสียงร้องแสดงความขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ ที่เป็นแถวหน้าเสี่ยงชีวิตตนเองในการรับมือกับภัยร้ายไวรัสโคโรนาระบาด ที่กำลังคุกคามชีวิตทั้งผู้ติดเชื้อ แพทย์ พยาบาลจำนวนมาก และกำลังทุบทำลายระบบเศรษฐกิจของโลกในขณะนี้
เราได้เห็นภาพข่าวถ่ายทอดสดทางทีวี กลุ่มประชาชนออกมาปรบมือกันหลายชุมชน มีภาพสมาชิกราชวงศ์ รวมทั้งตัวนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ที่ยืนปรบมือหน้าประตูทำเนียบบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง เพียงไม่กี่วันก่อนถูกนำตัวเข้าห้องไอซียู ที่โรงพยาบาลเซนต์โทมัส ริมแม่น้ำเทมส์ฝั่งตรงข้ามสภาเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในระบบ NHS
NHS คือ อักษรย่อสามตัวที่ทรงพลังที่สุดในสังคมสหราชอาณาจักรขณะนี้ ถึงขนาดรัฐบาลต้องออกสโลแกน “stay at home, protect the NHS, save lives” รณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้านในช่วงล็อกดาวน์
ระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ NHS เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1948 โดยรัฐบาลพรรคแรงงานของนายกรัฐมนตรี คลีเมนต์ แอตลี หลังจากมีการผลักดันโดยนักเคลื่อนไหวทางสังคม นักเขียน ปัญญาชน เทคโนแครต และบุคคลากรทางการแพทย์จำนวนหนื่ง ที่ต้องการปฏิวัติระบบสาธารณสุขแห่งชาติโดยเริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่มาสำเร็จหลังสงครามสงบ
นักวิชาการและผู้นำทางความคิดของสังคมสหราชอาณาจักรคนสำคัญคนหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดระบบรัฐสวัสดิการ เช่น การศึกษาฟรี บำนาญผู้สูงอายุ และสาธารณสุขที่เสมอภาคทั่วหน้า คือ เบียทริซ เวบบ์ (Beatrice Webb 1858-1943) ซึ่งเป็นนักเคลื่ยนไหวการเมืองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำตามอุดมการณ์สังคมนิยมที่โดดเด่นในยุคทศวรรษ 1900 ด้วยการเข้าเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Fabian Society ที่โด่งดังในยุโรปยุคหนึ่ง
สมาคมนี้เป็นที่ชุมนุมของปัญญาชนและนักการเมืองฝ่ายซ้ายที่นิยมการปฏิรูปมากกว่าการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการรุนแรง นอกจากนี้ เบียทริซ เวบบ์ ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันการศึกษาระดับโลก London School of Economics (LSE) ที่มุ่งหมายผลิตเทคโนแครตให้ออกมาปฏิรูปสังคมอังกฤษ และหลายๆ ประเทศทั้งในเอเชียและแอฟริกา
สภาพของสังคมอังกฤษหลังยุควิกตอเรีย จนถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง มีการแบ่งชนชั้นกันอย่างน่าอนาถใจ เกิดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น มีการพัฒนาอุตสาหกรรมดูดทรัพยากรและแรงงานจากประเทศอาณานิคม เกิดชนชั้นผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก ผู้คนจำนวนมากตกอยู่ภายใต้เส้นความยากจน ดังที่สะท้อนในวรรณกรรมที่โด่งดังของชาร์ลส์ ดิกเกนส์
ผู้บุกเบิกสำคัญอีกคนหนึ่งในส่วนของระบบสาธารณสุขคือนายแพทย์ เบนจามิน มัวร์ (Dr. Benjamin Moore) ซึ่งเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลในเมืองลิเวอร์พูล ผู้เขียนแผนปฏิรูปสาธารณสุข ที่เรียกว่า ‘The Dawn of the Health Age’ ที่มีการใช้คำว่า ‘National Health Service’ เป็นครั้งแรก เป็นแผนงานรวบรวมหน่วยงานสาธารณสุขภาครัฐที่กระจัดกระจายเข้ารวมตัวกัน เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อร่างสร้างองค์กรขนาดใหญ่ในช่วงเวลาเกือบสามสิบปีถัดมาที่เรียกว่า NHS อันเป็นส่วนหนึ่งภายใต้แผนงานปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์โดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง เซอร์วิลเลียม เบเวอริดจ์ (Sir William Beveridge) ที่เสนอต่อรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1942

The Beveridge Report เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการจัดระบบรัฐสวัสดิการของสหราชอาณาจักร เป็นแผนงานที่วางรากฐานระบบประกันสังคมแบบกว้างขวางครอบคลุม ที่มีการเรียกขานต่อมาว่า from cradle to grave หรือ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ดังที่เราเคยได้ยินกันคุ้นหู
สังคมอังกฤษในยุคก่อนการก่อตั้งรัฐสวัสดิการ หากมีใครป่วยใข้ ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้แก่แพทย์ คลินิก โรงพยาบาล มากน้อยก็แล้วแต่อาการไข้หรือความเมตตาของกลไกตลาดในระบบแพทย์พาณิชย์ เพราะระบบสาธารณสุขส่วนท้องถิ่นหรือภาครัฐในขณะนั้นไม่พอเพียง ขาดแคลนทรัพยากร อีกทั้งระบบทุนนิยมและภาวะสงครามยิ่งทำให้คนยากคนจน ผู้ใช้แรงงานตกอยู่ในสภาพอนาถา ตามบุญตามกรรม ทำให้ในช่วงเวลานี้อุดมการณ์สังคมนิยมแผ่กระจายในยุโรปหลายประเทศและมีความเข้มแข็งมากขึ้น ในบางประเทศพรรคการเมืองที่อิงอุดมการณ์สังคมนิยมสามารถตั้งรัฐบาลกำหนดนโยบายบริหารประเทศได้ โดยเฉพาะในกลุ่มสแกนดิเนเวีย
ชัยชนะของพรรคแรงงานในการเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักรในปี 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้มีการทยอยลงไม้ลงมือตามแผนรัฐสวัสดิการของ The Beveridge Report เกิดระบบสวัสดิการสาธารณสุขแบบถ้วนหน้าระดับชาติที่เรียกว่า NHS วันที่ 5 กรกฎาคม 1948 ภายใต้หลักค่านิยมสาธารณะ 3 ประการ คือ
หนึ่ง เป็นบริการที่ให้กับทุกคนไม่เลือกชนชั้น วรรณะ ยากดี มีจน
สอง เป็นบริการฟรี
สาม เป็นบริการที่ให้ตามสภาพการป่วยใข้ ไม่ว่าจะหนักหนาแค่ไหน
รัฐมนตรีสาธารณสุข Aneurin Bevan ที่ประกาศเปิดบริการ NHS ในวันนั้นแถลงว่า ระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาตินี้ ไม่ใช่ ‘งานการกุศล’ เพราะประชาชนทุกคนจ่ายเงินให้แล้วในรูปของการจ่ายภาษีให้หลวงทั้งภาษีทางตรงและทางอ้อม จะมากหรือน้อยแล้วแต่ฐานะ
เรียกได้ว่าเป็นการลงขันของสมาชิกทุกคนในสังคมตามฐานะความสามารถ เพื่อสร้างระบบส่วนกลางที่เป็นประโยชน์สาธารณะ เข้ากับลักษณะที่เรียกว่า social good/collective good และเมื่อถึงเวลาต้องใช้บริการก็มาใช้มากน้อยตามอาการป่วย เพราะไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้เลยว่า เมื่อไหร่ตัวเองจะตกเป็นคนไข้อาการหนักที่ค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลตามกลไกในระบบตลาดแพทย์พาณิชย์จะทำให้หมดเนื้อหมดตัวล้มละลาย
NHS เพิ่งมีงานฉลองครบรอบ 70 ปีเมื่อสองปีที่ผ่านมา และตั้งแต่ปีแรกมาจนถึงบัดนี้ ก็มีพัฒนาการหลากหลายรูปแบบ ผ่านร้อนผ่านหนาว สำเร็จ ล้มเหลว โดนฟ้องร้องกรณีเกิดความผิดพลาดหลายครั้งหลายครา รวมทั้งปัญหาประสิทธิภาพการบริหารจัดการ งบประมาณที่ไม่เคยพอเพียงกับภารกิจ จนเกิดข้อเสนอให้แบ่งบางภาคบางส่วนขายให้เอกชน (privatization) ในห้วงเวลาที่พรรคอนุรักษนิยมเป็นรัฐบาล
ผลงานและอนาคตของ NHS มักจะเป็นประเด็นการต่อสู้ทางการเมืองของสองพรรคใหญ่ และตั้งแต่รัฐบาลแทตเชอร์เป็นต้นมา พรรคอนุรักษนิยมมักจะถูกคู่ต่อสู้กล่าวหาตลอดมาว่ามีแผนการแบบลับๆ ที่จะ ‘แบ่งขาย’ กิจกรรมบางส่วนของ NHS เพื่อลดภาระงบประมาณที่ต้องทุ่มเทให้บริการสาธารณสุขอย่างมากมายมหาศาลในแต่ละปี ซึ่งเท่ากับเป็นการละเมิดค่านิยมสาธารณะสามข้อ ที่เป็นเสาหลักของบริการสาธารณสุขเท่าเทียม-ทั่วหน้า
NHS จึงมักจะเป็นประเด็นหาเสียงทางการเมืองที่แหลมคมทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป จนถึงขั้นอาจจะชี้แพ้-ชนะของการเลือกตั้งได้ หากพรรคการเมืองใดวางนโยบายหาเสียงที่เป็นการลดบทบาทหรืองบประมาณของบริการสาธารณสุขแห่งชาตินี้ ก็อาจจะเพลี่ยงพล้ำแพ้เลือกตั้งได้ง่ายๆ เพราะกระทบกับอุดมการณ์ เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ที่เป็นจุดเริ่มต้นของรัฐสวัสดิการ ตามหลักการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ว่ายากดีมีจน จะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือคนตกงาน ก็จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันที่สถานพยาบาล
ผู้คนทั่วสหราชอาณาจักร จึงรักและหวงแหน NHS เปรียบเสมือนสมบัติของชาติ ซึ่งนักการเมืองแบบนายบอริส จอห์นสัน ย่อมตระหนักดี จึงออกมากล่าวว่า ระบบ NHS ช่วยชีวิตเขาไว้หลังจากการรักษาตัวที่ห้อง ICU อาการเป็น-ตายเท่ากัน ในโรงพยาบาลเซนต์โทมัส
โดยรวมแล้วโรงพยาบาลของ NHS ขนาดใหญ่เต็มรูปแบบทั่วสหราชอาณาจักรมีประมาณ 1,257 แห่ง ประมาณการว่ามีเตียงรับคนไข้ได้ 125,000 เตียง ไม่นับคลินิกชุมชนอีกนับพันแห่งทั่วประเทศ (ในจำนวนนี้ไม่รวมการสร้างโรงพยาบาลสนามที่เรียกว่า nightingale hospitals อีกหลายแห่งตามเมืองใหญ่ๆ ที่สร้างขึ้นเฉพาะกิจเพื่อรับคนไข้โควิด-19) โดยรวมมีแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และหน่วยสนับสนุนมากถึง 1.7 ล้านคนที่อยู่ในระบบการจ้างงานของ NHS จึงถือกันว่าเป็นนายจ้างขนาดใหญ่อันดับ 5 ของโลกก็ว่าได้
ทางด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายของ NHS มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี ในปีงบประมาณ 2019-2020 รัฐบาลตั้งงบไว้ 134 แสนล้านปอนด์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ตั้งงบไว้ประมาณ 129 แสนล้านปอนด์ ถือว่าเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของงบประมาณแผ่นดินของประเทศในแต่ละปี แม้กระนั้นก็ตาม มีเสียงเรียกร้องตลอดเวลาว่ารัฐบาลจะต้องเพิ่มงบประมาณให้อีก เนื่องจากปัญหาขาดแคลนทรัพยากรทางการแพทย์ ขณะที่จำนวนผู้ป่วยรอการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพราะจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นทุกปีเมื่อเทียบสัดส่วนประชากร
อนาคตของ NHS กลายเป็นประเด็นต่อสู้ทางอุดมการณ์และทางการเมือง และยิ่งเกิดภาวะวิกฤตไวรัสโคโรนา ยิ่งเพิ่มความแหลมคมให้กับการวางนโยบายสาธารณสุขแห่งชาติของสหราชอาณาจักร ในขณะที่ภาคธุรกิจแพทย์พาณิชย์ก็มองเค้กงบประมาณก้อนมหาศาลของ NHS โดยเฉพาะช่วงที่มีการโต้เถียงเรื่อง brexit กิจการแพทย์พาณิชย์ขนาดยักษ์ในสหรัฐจ้องตาเป็นมัน เพราะประธานธิบดีทรัมป์อาจจะใช้จังหวะนี้ กดดันรัฐบาลบอริส จอห์นสัน ให้เปิดตลาดบริการสาธารณสุขในอังกฤษให้แพทย์พาณิชย์อเมริกา อันเป็นส่วนหนึ่งของการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐ หลังจากแยกตัวจากสหภาพยุโรป
แต่วิกฤตการณ์ไวรัสโคโรนาและกระแสชืนชม NHS ที่ปรบมือกันดังมากขึ้น อาจจะทำให้เกมการเจรจาการค้าเสรี ที่จะมาเปลี่ยนอุดมการณ์ ‘เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข’ ของ NHS ไม่สามารถทำได้สะดวกดาย ตามใจกลไกตลาดการค้าเสรี