ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพ
ห้วงเวลาแห่งวิกฤต คือห้วงเวลาแห่งความระส่ำระสาย
วิกฤตไม่เพียงแต่พัดพาความท้าทายใหม่เข้ามา แต่ยังเขย่าสังคม เผยให้เห็นปัญหาเก่ามหาศาลที่ถูกซ่อนไว้
ท่ามกลางสภาวะที่สับสนอลม่าน ปกคลุมไปด้วยความมืดมิด เหล่านักคิดระดับโลกก็ต่างออกมาให้ความเห็น ตั้งข้อสังเกต และชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้หลังวิกฤตในทุกมิติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ความคิดเหล่านี้อาจช่วยส่องให้สังคมพอก้าวต่อไปข้างหน้าได้บ้าง
8 ความคิดจาก 8 นักคิดชั้นนำระดับโลกที่คัดสรรมา ณ ที่นี้ จะพาท่านเปิดมุมมอง คิด พินิจ มองวิกฤต COVID-19 และโลกหลังผ่านวิกฤตออกเป็น 8 มุม
บทความชิ้นนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ตอน เปิดจักรวาลความคิดของนักคิดตอนละ 4 คน
นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป คือคบไฟทางปัญญาที่เหล่าบรรดานักคิดได้ส่องสำรวจโลกในห้วงยามแห่งความวิกฤต
Francis Fukuyama
วิกฤต COVID-19: วิกฤตประชาธิปไตย? วิกฤตเผด็จการ? หรือวิกฤตศรัทธา?
“ระบอบการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบเผด็จการอำนาจนิยมก็ตาม ต่างก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของรัฐบาลในการโต้ตอบต่อวิกฤตโรคระบาด แต่เป็นขีดความสามารถของรัฐบาลเสียมากกว่า” นี่คือทัศนะของ ฟรานซิส ฟุคุยามะ นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นแห่งสถาบันฟรีแมน สปอกลี (Freeman Spogli Institute) และศูนย์เพื่อประชาธิปไตย การพัฒนา และนิติธรรม (The Center on Democracy, Development, and the Rule of Law) แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เจ้าของข้อเสนอชื่อดังว่าด้วย ‘จุดจบแห่งประวัติศาสตร์’ (‘The End of History’)[1]
ภาพของสมรภูมิ COVID-19 ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตัดกับภาพที่สมรภูมิในจีนที่สงบลงอย่างรวดเร็ว ได้กลายมาเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางในวงการรัฐศาสตร์ว่า หรือประชาธิปไตยจะอ่อนแอไร้น้ำยาอย่างที่ระบอบเผด็จการกล่าวหา? และนำมาสู่คำถามตามมาอีกทอดที่ว่า หรืออุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยจะเสียทีให้แก่เผด็จการก็คราวนี้ เมื่อสุขภาพดีจำต้องแลกมาด้วยเสรีภาพ
แต่ฟุคุยามะกลับเห็นต่างออกไป เขาตั้งข้อสังเกตว่า แม้ระบอบเผด็จการจะเป็นระบอบการปกครองที่ให้ผู้นำกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอำนาจดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลเผด็จการควบคุมโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเสมอไป ระบอบเผด็จการที่ไร้ประสิทธิภาพ ใช้อำนาจไม่เป็นก็มีให้เห็น แต่ในขณะเดียวกันก็ใช่ว่าทุกรัฐบาลประชาธิปไตยจะอ่อนแอ ขาดเอกภาพในการจัดการวิกฤต เพราะรัฐบาลประชาธิปไตยที่เผชิญวิกฤตได้อย่างหนักแน่นเข้มแข็งก็มีให้เห็นเช่นกัน
ที่จริงแล้ว ปัจจัยที่เป็นตัวตัดสินว่าประเทศไหนจะสามารถรับมือกับวิกฤต COVID-19 ได้อยู่หมัดจึงไม่ใช่ระบบการปกครอง ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือประสิทธิภาพของฝ่ายบริหารและความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust) ที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล
ไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบเผด็จการก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตการณ์ ฝ่ายบริหารจะได้รับอำนาจพิเศษเพื่อให้ตอบสนองต่อวิกฤตได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น ความต่างของระบอบประชาธิปไตยและระบอบเผด็จการจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าระบอบประชาธิปไตยใช้อำนาจเด็ดขาดไม่ได้ แต่อยู่ที่ว่าระบอบประชาธิปไตยมีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสถาบันต่างๆ ในขณะที่ผู้นำเผด็จการใช้อำนาจได้ไม่จำกัด
ฟุคุยามะเสนอว่า หากประชาชนเชื่อมั่นในตัวรัฐบาลว่ามีผู้เชี่ยวชาญที่ใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะทางเข้ามาตัดสินใจเลือกทางที่ดีที่สุดเพื่อแก้ไขวิกฤต ไม่ได้ออกนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้อง และเชื่อมั่นในตัวผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครองรูปแบบใด รัฐบาลก็จะมีประสิทธิภาพ และยิ่งหากเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน รัฐบาลประชาธิปไตยอาจเข้มแข็งกว่ารัฐบาลเผด็จการด้วยซ้ำ เพราะอำนาจที่รัฐบาลใช้คืออำนาจที่ชอบธรรมจากประชาชน อีกทั้งรัฐบาลประชาธิปไตยไม่ปิดกั้นความคิดของประชาชน
และนี่คือคำอธิบายที่ว่าเหตุใดสหรัฐฯ จึงต่อกรกับวิกฤต COVID-19 อย่างทุลักทุเลกว่าประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ อย่างเกาหลีใต้หรือเยอรมนี ณ ขณะนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องเผชิญทั้งวิกฤตไวรัส และวิกฤตศรัทธาในประเทศ
ฟุคุยามะมองว่าการที่ทรัมป์เพิกเฉยต่อการระบาดในระยะแรก ปฏิเสธความเห็นเชิงนโยบายของผู้เชี่ยวชาญ และมองว่าไวรัสระบาดเป็นเพียงเกมการเมืองที่พรรคเดโมแครตสร้างขึ้นมาเพื่อโจมตีรัฐบาลทรัมป์ ส่งผลให้ประชาชนและภายในรัฐบาลยิ่งสูญเสียความเชื่อมั่นต่อทรัมป์เอง ท้ายที่สุดเมื่อรัฐบาลขาดความเชื่อมั่น ผลเสียจึงตกมาที่นโยบายรับมือต่อวิกฤตได้ไม่ตรงจุด กลับตอบสนองแต่ผลประโยชน์ของพวกพ้องทางการเมืองของทรัมป์เอง
Yuval Noah Harari
กดขี่หรือร่วมมือ? โดดเดี่ยวหรืออยู่ร่วม?: ทางเลือกในมือมวลมนุษยชาติหลังวิกฤต COVID-19
“ในห้วงเวลาแห่งวิกฤตครั้งนี้ มนุษยชาติกำลังเผชิญกับสองทางแพร่งสำคัญที่จะชี้ชะตาโลก ทางแพร่งแรกคือทางแพร่งระหว่างโลกที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมสอดส่องและโลกที่พลเมืองทรงพลัง ส่วนทางแพร่งที่สองคือทางแพร่งระหว่างโลกที่เหล่าประชาชาติหันหลังให้กันและโลกที่เหล่าประชาชาติรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน”
นี่คือภาพของโลกหลังวิกฤตไวรัส COVID-19 ในความคิดของ ยูวาล โนอา ฮารารี ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเล็ม แต่คนส่วนมากรู้จักเขาในฐานะนักเขียนหนังสือที่ดังระดับโลกอย่าง ‘เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ’ หรือ ‘Sapiens: A Brief History of Humankind’
ฮารารีมองว่า การตัดสินใจของรัฐบาลในช่วงวิกฤตไม่ได้เพียงแค่ชี้ชะตาว่าประเทศจะรอดพ้นจากวิกฤตหรือไม่ อย่างไรเท่านั้น แต่จะเป็นจุดพลิกผันว่าจะพาโลกไปในทิศทางไหน
ท่ามกลางสภาวะฉุกเฉิน เราไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติอีกต่อไป วิกฤตไวรัสได้สร้างเงื่อนไขให้เราต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันอย่างที่เราไม่เคยจินตนาการมาก่อน รัฐบาลก็ต้องออกมาตรการฉุกเฉินหลายอย่างเพื่อแก้วิกฤต จนสิ่งที่เคย ‘ไม่ปกติ’ กลายเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ทางเลือก 2 ทางที่มีอยู่ในมือตอนนี้ คือเราจะต้องเลือกว่าทางเลือกไหนจะกลายเป็น ‘สภาวะปกติใหม่’ ที่เราจะต้องอยู่ต่อไปในยุคหลัง COVID-19
ทางแพร่งแรกที่มนุษยชาติต้องเลือก คือเราต้องเลือกว่าจะอยู่ในโลกที่รัฐใช้อำนาจสอดส่องในนามความมั่นคงปลอดภัยอย่างไร้ขีดจำกัดหรือโลกที่รัฐไว้เนื้อเชื่อใจให้ประชาชนเป็นใหญ่
ฮารารีเชื่อว่ามนุษย์จะสามารถผ่านวิกฤตนี้ได้โดยที่ไม่ต้องแลกสุขภาพกับความเป็นส่วนตัว หากรัฐทำให้ประชาชนเชื่อใจ เชื่อถือข้อมูล ความร่วมมือก็จะตามมาโดยไม่ต้องใช้อำนาจ เพราะหากรัฐสามารถใช้เทคโนโลยีชีวภาพสอดส่องสุขภาพประชาชนเป็นเครื่องมือควบคุมการระบาดได้สำเร็จ รัฐอาจฉวยโอกาสสร้างความชอบธรรมแก่สภาวะฉุกเฉิน ขยายขอบเขตการละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชนในนามความสงบสุขและความมั่นคงของรัฐ
ทางแพร่งที่สอง ฮารารีมองว่านานาประเทศควรหันหน้าเข้าหากัน แบ่งบันข้อมูล ทรัพยากร และร่วมมือแก้ปัญหารอบด้านมากกว่าต่างคนต่างอยู่ เพราะไวรัสแพร่กระจายอย่างไม่เลือกเชื้อชาติ และปัญหาเศรษฐกิจในโลกโลกาภิวัตน์ไม่เลือกพรมแดน ปัญหาข้ามพรมแดน จึงต้องแก้ด้วยทางออกแบบข้ามพรมแดนเช่นกัน
วิกฤตไวรัส COVID-19 ได้เปิดช่องให้เหล่ามนุษยชาติได้เลือกระเบียบโลกหลังยุคไวรัสระบาดแล้ว ว่าเราจะอยู่ภายใต้ระเบียบรัฐที่ใช้อำนาจบีบบังคับหรืออยู่ด้วยความร่วมมือ และประชาชาติทั้งหลายจะอยู่ในระเบียบระหว่างประเทศอย่างโดดเดี่ยวหรือร่วมกัน
Klaus Schwab
วิกฤต COVID-19: บททดสอบของหนทางไปสู่ทุนนิยมที่ไม่นิยมทุน
เคลาส์ ชวาบ ผู้ก่อตั้งและประธาน World Economic Forum (WEF) และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังเจ้าของข้อเสนอว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4’[2] มองวิกฤต COVID-19 ว่าเป็น “บทพิสูจน์สำคัญ” (“a litmus test”) สำหรับแนวคิดธุรกิจทุนนิยมแบบคำนึงถึงทุกภาคส่วน (stakeholder capitalism) ที่จะแสดงให้เห็นว่าธุรกิจที่ปรับตัว เชื่อมโยงตนเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งที่สัมพันธ์กับสังคมอย่างแท้จริงนั้น ไม่เพียงแค่ทำให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่น คงทน สามารถแบกรับราคาของวิกฤตร่วมกับสังคมได้เท่านั้น แต่ยังสามารถรักษาความมั่งคั่งยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาวได้เช่นกัน
ชวาบเสนอมาอย่างยาวนานว่า บริษัทควรปรับแนวคิดในการทำธุรกิจ จากแนวคิดธุรกิจทุนนิยมที่ตอบสนองแต่เพียงหุ้นส่วน (shareholder capitalism) ไปใช้แนวคิดธุรกิจทุนนิยมแบบคำนึงถึงทุกภาคส่วน นี่คือวาระหลักที่ WEF ผลักดันผ่าน ‘คำประกาศเจตนาดาวอส’ (Davos Manifesto) มาตั้งแต่ปี 1971 จนถึงปัจจุบัน เพื่อปรับระบบทุนนิยมให้ไม่นิยมเพียงแต่ทุน แต่สามารถคำนึงถึงสังคมส่วนรวม อยู่ร่วมกับสังคมอย่างกลมกลืนและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
ธุรกิจที่มุ่งเพียงแต่แสวงหากำไรสูงสุดเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของบริษัทและหุ้นส่วนอย่างเดียว ไม่ได้ผสานผลประโยชน์ของบริษัทไว้กับผลประโยชน์และคุณค่าร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม สายตาจะมืดบอด มองไม่เห็นว่าสังคมต้องการอะไรและไม่เห็นวิกฤตที่สังคมกำลังเผชิญร่วมกันอยู่ อย่างภาวะโลกร้อนหรือวิกฤตไวรัส COVID-19 ระบาดที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด ณ เวลานี้ และท้ายที่สุด ธุรกิจที่เดินไปคนละทิศกับผลประโยชน์ของสังคมเช่นนี้จะไม่มองเห็นทางดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและรักษาความมั่งคั่งของธุรกิจในระยะยาว
เมื่อวิกฤตไวรัส COVID-19 สั่นสะเทือนระบบเศรษฐกิจจนเศรษฐกิจหยุดชะงัก ชวาบชี้ให้เห็นว่าธุรกิจที่ใช้แนวคิดทุนนิยมที่ตอบสนองแต่เพียงหุ้นส่วนต่างล้มไม่เป็นท่า เพราะบริษัทเหล่านี้หมุนกำไรส่วนใหญ่ไปกับการซื้อหุ้นบริษัทคืน เล่นแร่แปรธาตุเพื่อทวีคูณกำไรเท่านั้น ไม่ได้นำเงินไปลงทุนให้ผลประกอบการงอกเงยไปพร้อมกับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมหรือคิดเพื่อเผชิญวิกฤต
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อค่าตอบแทนของผู้บริหารยังผูกติดอยู่กับผลกำไรและหุ้นของบริษัท ไม่มองผลประโยชน์ร่วมของแรงงาน พนักงาน ลูกค้า และสังคมในเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่บริษัทเหล่านี้จะจ่ายเงินอุ้มฟันเฟื่องที่สำคัญแต่เปราะบางของระบบเศรษฐกิจอย่างแรงงานไว้ได้ หรือชดเชยเงินให้แก่ลูกค้า อย่าง McDonald หรือ Subway ที่ไม่ยอมจ่ายค่าแรงให้พนักงานจำนวนมากที่ลาป่วย
ในทางกลับกัน ธุรกิจที่มองตนเองว่าเป็นภาคส่วนที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนอื่นๆ ที่ดำรงอยู่ในสังคมร่วมกัน มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการพัฒนาโลกอย่างธุรกิจที่รับแนวคิดทุนนิยมแบบคำนึงถึงทุกภาคส่วน จะช่วยพยุงสังคมในยามวิกฤตได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ เพราะธุรกิจเหล่านี้ ผลประโยชน์ธุรกิจเชื่อมโยงกับการพัฒนาสังคม
ธุรกิจที่รับแนวคิดเช่นนี้จะแบ่งกำไรที่ได้มาไปลงทุนกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ พัฒนาบุคคล การวิจัยและพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อภาคส่วนอื่นในสังคม หรืออย่างในเวลาวิกฤตเช่นนี้ ธุรกิจจะปรับตัว ลงทุนไปกับสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการเผชิญวิกฤต หรือบรรเทาพิษจากวิกฤตไม่ให้ผู้คนในระบบเศรษฐกิจเจ็บตัวหนักเกินไป
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือบริษัท Microsoft ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Johns Hopkins สร้างเว็บไซต์ Coronavirus Tracker เพื่อติดตามและเผยแพร่ข้อมูลผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตทั่วโลก หรือผู้บริหารโรงแรม Mariott ตัดสินใจตัดและลดเงินเดือนตำแหน่งบริหารเพื่อที่จะสามารถจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานที่เดือดร้อนจากธุรกิจซบเซา และร่วมเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากไปด้วยกัน
Richard D. Wolff
วิกฤต COVID-19: วิกฤตความล้มเหลวของระบบทุนนิยม
ริชาร์ด วูล์ฟฟ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ แอมเฮิร์สท์ ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์กระแสมาร์กซิสชาวอเมริกัน เสนอให้เราลองสวมแว่นตามาร์กซิสต์ มองทะลุวิกฤตอีกวิกฤตหนึ่งที่ซ่อนอยู่ใต้วิกฤต COVID-19 และภาพที่ปรากฏขึ้นก็คือ ‘วิกฤตทุนนิยมโลก’
วูล์ฟฟ์มองว่าระบบทุนนิยมที่มาพร้อมกับตรรกะตลาดเสรีที่กำไรเป็นใหญ่ได้ครอบงำวิธีคิดของทั้งธุรกิจการแพทย์และรัฐบาลสหรัฐฯ ไปแล้ว ตรรกะเช่นนี้ควบคุมทิศทางการจัดการระบบสาธารณสุขจนระบบล้มเหลว เพราะมุ่งไปที่กำไร มิใช่เพื่อรับมือกับการระบาดและผู้ติดเชื้อที่นับวันจะมีแต่เพิ่มจำนวนมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นบริการการรักษา ประกันสุขภาพ ชุดตรวจหาเชื้อ เครื่องช่วยหายใจ ยา เตียงผู้ป่วย หน้ากากป้องกันเชื้อ ล้วนแต่เป็นอุปกรณ์จำเป็นเพื่อช่วยเหลือชีวิตคนจากไวรัสทั้งนั้น แต่สำหรับบริษัทเอกชนที่มีกำไรเป็นหางเสือ หากผลิตออกมาขายแล้วไม่ได้กำไร ก็ไม่มีความหมายที่จะผลิตออกมาแม้ว่าจะสังคมกำลังเผชิญวิกฤตสาธารณสุขที่ต้องรักษาชีวิตคนอยู่ก็ตาม
ณ ห้วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ ประโยชน์ของสาธารณะที่จะได้รับจากการจัดการสาธารณสุข ก็ยังคงเป็นรองกำไรของนายทุน
ในสังคมที่เราอยู่ทุกวันนี้ มีนายทุนจำนวนเพียงหยิบมือเท่านั้น แต่กลับมุ่งแสวงหากำไรจากการขูดรีดแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนมากในสังคม และถือสิทธิ์ครอบครองและตัดสินใจว่าจะจัดการบริหารกำไรอย่างไรแต่เพียงผู้เดียว ทั้งที่กำไรที่ได้มานั้นเกิดจากส่วนต่างของค่าแรงที่แรงงานควรได้และค่าแรงที่นายทุนกดให้ต่ำลง (เรียกว่า ‘มูลค่าส่วนต่าง’) ระบบกระจายความมั่งคั่งทำงานอย่างผิดเพี้ยนเช่นนี้จึงนำมาสู่ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจที่นับวันมีแต่จะแย่ลง
รัฐบาลอเมริกาเองก็ล้มเหลวในการแทรกแซงและตอบสนองระบบสาธารณสุขให้ฝ่าวิกฤต COVID-19 ไปได้ ซ้ำร้าย รัฐบาลก็ยังคงยึดมั่นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 (ไม่เพียงแต่สหรัฐฯ เท่านั้น แต่หลายประเทศทั่วโลกก็รับเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ไปใช้ – ผู้เขียน) รัฐไม่เพียงแต่ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานไปตามธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังปล่อยให้การเมืองรับใช้ตลาดเสรี อำนวยความสะดวกให้นายทุน ปลดล็อกกฎหมายที่ขัดขวางธุรกิจเอกชนไม่ให้เพิ่มพูนความมั่งคั่ง และปล่อยให้ธุรกิจที่ภาครัฐเคยดูแลให้ไปอยู่ในมือของเอกชน
ยิ่งไปกว่านั้น ทุกคราวที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น ตั้งแต่วิกฤตการเงินโลก 2008 จนถึงวิกฤตไวรัส COVID-19 รัฐบาลอเมริกาไม่ว่าจะเป็นพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครตต่างก็มองไม่เห็นว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาจากโครงสร้างเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่กลับออกนโยบายการเงิน ลดอัตราดอกเบี้ย เอื้อให้แก่ธุรกิจ รักษาระบบทุนนิยมให้กลับไป ‘ปกติ’ เหมือนก่อนวิกฤต
หากจะแก้ไขวิกฤต COVID-19 ได้ วูล์ฟฟ์เสนอว่าจะต้องเปลี่ยนไปรับระบบเศรษฐกิจอื่นที่กำไรไม่ได้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะกำไรซึ่งเป็นผลประโยชน์ของนายทุนปัจเจกมักขัดต่อผลประโยชน์ของสังคม แต่กลับทำให้นายทุนจำนวนหยิบมือมีอำนาจกำกับทิศทางสังคม โดยเฉพาะในเวลานี้ที่การเตรียมพร้อมจัดการโรคระบาดนั้นสำคัญที่สุด กำไรไม่ควรชี้เป็นชี้ตายชีวิตของผู้คนส่วนมาก
ระบบที่วูล์ฟฟ์เห็นว่าจะตอบสนองต่อผลประโยชน์ของสังคมได้ดีกว่าระบบทุนเป็นใหญ่ จะต้องเริ่มในที่ทำงาน ระบบเศรษฐกิจที่ยอมให้แรงงานมีส่วนร่วมตัดสินใจว่าจะบริหารจัดการผลประโยชน์ในบริษัทอย่างไรตามขนบประชาธิปไตย จะทำให้ผลประโยชน์ตกอยู่ในมือของคนส่วนมากอย่างแท้จริง เพราะแรงงานคือคนส่วนมาก ย่อมมีวิถีชีวิตที่แยกไม่ออกจากความเป็นไปของสังคมโดยรวม
เดินทางมาถึงตรงนี้แล้ว แต่เรายังสำรวจความคิดไม่เสร็จสิ้น โปรดเดินร่วมไปพร้อมกับเราในตอนต่อไป
เชิงอรรถ
[1] ในปี 1992 ฟรานซิส ฟุคุยามะ เสนอว่าสายธารประวัติศาสตร์โลกได้เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดแล้วเมื่อเสรีนิยมประชาธิปไตยและเศรษฐกิจแบบตลาดสามารถเอาชนะระบอบการปกครองอื่น ประเทศเผด็จการไม่ว่าจะเป็นเผด็จการคอมมิวนิสต์ก็ดี หรือเผด็จการทหารก็ดี ต่างเปิดรับต่อระบอบเสรีประชาธิปไตยและกลายเป็นคำตอบสุดท้ายของประเทศทั่วโลก
[2] ชวาบเสนอว่า ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ เทคโนโลยีอย่างเช่น Internet of Things (IoT) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intellegence) หุ่นยนต์ เทคโนโลยีภาพเสมือน (Virtual Reality) เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) จะกลายเป็นกระดูกสันหลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน
อ่านเพิ่มเติม
The Thing that Determines A Country’s Resistance to the Coronavirus
Yuval Noah Harari: the world after coronavirus
COVID-19 is a litmus test for stakeholder capitalism
Why we need the ‘Davos Manifesto’ for a better kind of capitalism
‘Understanding Marxism,’ understanding ‘Wolff-ism’
Capitalism Has Failed in Fighting Coronavirus