fbpx

การสาธารณสุขแม่นยำ แม่นแค่ไหน? : ตอนที่ 2 พลังของข้อมูล-เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการดูแลสุขภาพและรักษาโรค

ในบทความ ‘การสาธารณสุขแม่นยำ แม่นแค่ไหน? ตอนที่ 1’ ผมเกริ่นไว้ว่า ระบบสุขภาพอนาคตจะเปลี่ยนแปลงมากมายจากเทคโนโลยีสามกลุ่มสำคัญ หนึ่ง พันธุกรรมมนุษย์ สอง ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ และสาม กลุ่มเทคโนโลยีเพื่อการวินิจฉัยป้องกันและรักษาโรคที่สร้างความท้าทายใหม่ โดยทั้งหมดนี้มีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างระบบสุขภาพที่แม่นยำหรือช่วยให้เกิดการดูแลเฉพาะตัวได้มากขึ้น ทั้งในระดับปัจเจกและระดับประชากร (personalized medicine and precision public health) 

สิ่งสำคัญสำหรับทุกฝ่ายคือการทำความเข้าใจเพื่อให้รู้เท่าทัน ไม่ให้เกิดความคาดหวังเกินจริง ในขณะเดียวกันก็ใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม บทความนี้จะพูดถึงเทคโนโลยีที่เหลืออีกสองกลุ่ม คือ ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ และกลุ่มเทคโนโลยีเพื่อการวินิจฉัยป้องกันและรักษาโรคที่สร้างความท้าทายใหม่ 

ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ กับ เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสุขภาพ

ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มีโทรศัพท์มือถือเป็นเสมือนอวัยวะที่ 33 หรือบางคนก็เรียกว่าปัจจัยที่ห้า คงพอมองเห็นภาพว่าโทรศัพท์มือถือส่งผลประโยชน์สำคัญสองประการต่อการดำรงชีวิตของเรา 

ประการที่หนึ่ง โทรศัพท์มือถือทำให้เรารับความรู้และข้อมูลจำนวนมากมาย (จะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) และประการที่สอง ทำให้เราเชื่อมโยงกับผู้คนและสิ่งต่างๆ ได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการเข้ามาแทนที่โทรศัพท์บ้านหรือจดหมายเท่านั้น แต่สามารถทำธุรกรรมอื่นๆ ได้ด้วย เช่น สั่งซื้อของ จ่ายเงิน ลงนามในเอกสาร ฯลฯ 

แน่นอนว่าความสามารถทั้งหมดนี้มีโครงสร้างและคนทำงานอยู่เบื้องหลังจำนวนมาก ซึ่งสิ่งที่โทรศัพท์มือถือทำได้ทั้งหมดนี้มาจากความสามารถที่สำคัญอันหนึ่ง คือความสามารถในการประมวลผลและการแสดงผลข้อมูล พูดง่ายๆ คือความสามารถในการจัดการความรู้และข้อมูลข่าวสารนั่นเอง เพราะโทรศัพท์มีชิปประมวลผลที่ว่ากันว่ามีพลังสูงกว่าชิปที่ใช้เมื่อคราวส่งยานอวกาศพาคนไปดวงจันทร์ในปี 2512

ก่อนที่เราจะมีโทรศัพท์มือถือที่ทำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย เราต่างรู้มานานแล้วว่า ‘ความรู้’ กับ ‘สุขภาพ’ มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นอน หลายคนรู้ว่าการมีความรู้ที่ดีจะทำให้เรามีสุขภาพที่ดีได้ แต่หลายคนอาจไม่ได้นึกถึงว่าข้อมูลจำนวนไม่น้อยที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของเราก็เอามาใช้ประโยชน์เพื่อทำให้สุขภาพของเราดีขึ้นได้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าต้องเก็บข้อมูลอะไรเกี่ยวกับตัวเองบ้าง ถ้าเก็บแล้วจะเอามาประมวลผลและตีความอย่างไรเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้เกิดสุขภาพดี

ในอีกทางหนึ่ง ทุกคนที่เคยไปหาหมอคงพอรู้ว่าคุณหมอหรือบุคลากรสาธารณสุขที่เราไปปรึกษาเรื่องสุขภาพนั้น มีความรู้และความสามารถในการสอบถามหรือแม้กระทั่งสั่งตรวจร่างกายด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพหรือรักษาความเจ็บป่วยของเราได้ ซึ่งข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ประกอบการประเมินสภาวะสุขภาพ สั่งการรักษา หรือให้คำแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพนั้นจะดีขึ้นเรื่อยๆ ตามความรู้และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เช่น ข้อมูลพันธุกรรม ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในบทความก่อน

ในความเป็นจริง ข้อมูลจำนวนมากที่เกี่ยวกับสภาวะร่างกายนั้นต้องอาศัยเจ้าตัวเป็นคนเก็บรวบรวม บางทีก็อาจต้องประมวลผลและตีความเพื่อใช้ประกอบการดูแลสุขภาพของตนเอง โดยไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาถามหรือสั่งเก็บข้อมูลเพิ่มเติม  

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือสารพัดอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา เช่น อาการไข้ อาการปวด ฯลฯ ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่ร่างกายบอกเจ้าของร่างกายให้รู้ว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์แน่นอน อย่างน้อยก็ในฐานะ ‘สัญญาณเตือน’ ให้รู้ว่ามีบางอย่างไม่ปกติ แต่การตีความจากข้อมูลที่เจ้าของร่างกายเก็บรวบรวมได้อาจยังไม่เพียงพอ ยังจำเป็นต้องมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจดูแลสุขภาพได้ เช่น ให้หมอวินิจฉัยโรคและระบุว่าปัญหาสุขภาพที่เป็นอยู่นั้นมีสาเหตุมาจากอะไร มีแนวทางการดูแลต่อไปอย่างไร  

พวกเราส่วนใหญ่มักคุ้นเคยกับการวินิจฉัยโรค แต่นั่นเป็นเพียงส่วนที่เกี่ยวกับเรื่อง ‘ซ่อมสุขภาพ’ เท่านั้น ซึ่งถ้าออกแบบให้ดีและใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม เราจะสามารถรวบรวมและใช้ประโยชน์จากข้อมูลอีกส่วนหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เรียกกันรวมๆ ว่า ‘ปัจจัยเสี่ยง’ อันประกอบด้วยพฤติกรรมและปัจจัยภายนอก เช่น คุณภาพอากาศ เป็นต้น 

ที่ผ่านมา มีความพยายามเก็บข้อมูลเรื่องปัจจัยเสี่ยงมากขึ้นเพื่อทำการวิเคราะห์ประมวลผล จนประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขสามารถร่วมกันจัดการกับปัจจัยเสี่ยงจนนำไปสู่การสร้างสุขภาพที่ดีได้มากขึ้น ข้อมูลเพื่อสุขภาพจึงมีประโยชน์ทั้งในแง่การ ‘สร้าง’ และ ‘ซ่อม’ สุขภาพ เพียงแต่ที่ผ่านมาระบบสุขภาพมักเน้นเฉพาะเรื่องการซ่อมสุขภาพด้วยพลังเทคโนโลยีดิจิทัลมากกว่า

โดยสรุปอาจพูดได้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนามากขึ้น จะทำให้ทั้งความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพมีส่วนสำคัญมากขึ้นทั้งในเรื่องการซ่อมและการสร้างสุขภาพ จนอาจทำให้มาตรการที่ไม่ต้องใช้ยามีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือเทคโนโลยีดิจิทัลจะเกิดประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อความสามารถในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลต้องเกิดขึ้นผ่านความสามารถในการตีความและการตัดสินใจของมนุษย์ผู้ใช้ข้อมูลเพิ่มขึ้นไปด้วย

เทคโนโลยีอาจช่วยในการเก็บรวบรวม การประมวลผล และการตีความข้อมูลได้ระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วการตัดสินใจก็ยังเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของมนุษย์ ซึ่งแน่นอนว่าด้วยพลังของเอไอที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้หน้าที่ในการตีความและตัดสินใจไปอยู่ในมือของเอไอ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่อง ‘ควรจะเป็น’ หรือไม่นั้น คงเป็นคำถามสำคัญสำหรับอนาคต

ที่แน่ๆ เมื่อข้อมูลมีมากขึ้น การเก็บและประมวลผลข้อมูลก็เป็นไปได้มากขึ้น สะดวกขึ้น มีโอกาสการใช้ข้อมูลมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับบุคลากรสาธารณสุขเปลี่ยนไป กล่าวคือ ในอดีตมักออกทำนองว่าประชาชนดูแลสุขภาพตัวเองเท่าความรู้ที่มีอยู่ในตำรา ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็มีหน้าที่สำคัญในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อถึงเวลาเจ็บป่วย ประชาชนก็มาขอปรึกษาหรือขอรับการรักษาเท่านั้น แต่อนาคตเชื่อกันว่าเมื่อพลังของเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยในการเก็บรวบรวมประมวลผลและตีความข้อมูลได้ดีขึ้น บุคลากรสาธารณสุขและประชาชนก็จะมีความสัมพันธ์กันใกล้ชิดมากขึ้น

นอกจากนี้ แต่ละฝ่ายก็จะมีความสามารถเพิ่มขึ้นในการดูแลสุขภาวะและสุขภาพร่วมกัน ไม่ว่าจะในยามที่ยังแข็งแรงดีหรือในยามเจ็บป่วย หากยังแข็งแรงดีก็ดูแลให้แข็งแรงต่อไปหรือแข็งแรงขึ้น แต่ในยามเจ็บป่วย ก็ไม่ต้องพึ่งแต่การมาหาหมอที่โรงพยาบาลอย่างเดียว ในทางกลับกัน หมอและพยาบาลมักพบปัญหาคนไข้ไม่ทำตามคำแนะนำ หรือประชาชนไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพตนเอง ก็อาจสใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยดุนหรือกระตุ้น (nudge) ได้มากขึ้น

รูปธรรมของการใช้พลังจากเทคโนโลยีในเรื่องสุขภาพ

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นตัวอย่างของความคาดหวังหรือจะความเป็นไปได้ที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะทำให้เกิดระบบการดูแลสุขภาพแบบใหม่ ต่อจากนี้ เราลองมาทบทวนกันเร็วๆ ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามาเปลี่ยนการดูแลสุขภาพทั้งของประชาชนและของบุคลากรสาธารณสุขอย่างไร

1.โทรศัพท์มือถือ คงไม่ผิดที่จะบอกว่ามือถือที่ใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่างที่หลายคนเป็นเจ้าของในขณะนี้ ถือเป็นรูปธรรมของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนพฤติกรรมและความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม ซึ่งรวมไปถึงเรื่องการดูแลสุขภาพด้วย

ประเด็นของเรื่องนี้ ไม่ได้หมายถึงการใช้โทรศัพท์โดย ‘ไร้สาย’ เท่านั้น แต่หมายถึงโทรศัพท์มือถือที่มีความสามารถเหมือนคอมพิวเตอร์พลังสูงที่เคลื่อนที่ได้ พกพาสะดวก และใช้งานง่าย ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากไอโฟนของบริษัทแอปเปิ้ล และมีชีวิตอยู่บนโลกนี้มายังไม่ถึง 20 ปี

สำหรับผู้ที่มีความรู้ พลังของโทรศัพท์มือถือมีพื้นฐานสำคัญมาจากพลังของระบบอินเทอร์เน็ต แต่เหตุที่ผู้เขียนไม่ยกเรื่องระบบอินเทอร์เน็ตมาให้ความสำคัญเท่าโทรศัพท์มือถือ เพราะอินเทอร์เน็ตโดยตัวมันเองในยุคก่อนที่คนจะเข้าถึงเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือนั้น ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่มากนัก ผู้ใช้ต้องมีประสบการณ์และความรู้พื้นฐานจำนวนหนึ่ง และใช้ประโยชน์ได้เพียงการบริโภคสื่อที่มีอยู่ไม่มาก หรือใช้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แทนจดหมายกระดาษ ซึ่งอาจไม่ต่างจากโทรศัพท์มือถือในยุคแรกๆ ที่มีประโยชน์ในการสื่อสารโดยตรงระหว่างคนสองคนเท่านั้น

2.แอปพลิเคชันสารพัดชนิดบนโทรศัพท์มือถือยุคใหม่ แอปฯ เป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากไอโฟนในปี 2550 ทำให้การใช้ประโยชน์จากมือถือเปลี่ยนไปมหาศาล ใครที่คุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์และโปรแกรมบนเครื่องคอมพิวเตอร์ ในช่วงแรกมักคิดว่าแอปฯ คือโปรแกรมประเภทหนึ่งที่เอามาใช้กับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งนับเป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง เพราะแม้แอปฯ ในระยะแรกจะมีคุณสมบัติและความสามารถเหมือนโปรแกรมบนเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ในปัจจุบัน แอปฯ จำนวนไม่น้อยมีโครงสร้างและระบบบริการรองรับ การใช้แอปฯ จึงเป็นการสมัครใช้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ แน่นอนว่าเราใช้ประโยชน์จากโทรศัพท์มือถือได้มากขึ้น แต่เราก็ไม่ได้มีอิสระเต็มที่ เพราะต้องพึ่งพิงผู้ดูแลโครงสร้างและระบบบริการที่อยู่เบื้องหลังแต่ละแอปฯ ตัวอย่างที่หลายคนคงจะนึกออกก็เช่นการสมัครสมาชิกดูภาพยนตร์ผ่านมือถือ เป็นต้น

ในมุมของสุขภาพนั้นมีแอปฯ อยู่สามประเภทที่มีผลต่อสุขภาพของผู้ใช้ โดยส่วนใหญ่เล่นบทเป็นแหล่งความรู้หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารว่าด้วยสุขภาพ ซึ่งก็อาจมีทั้งที่เชื่อได้และไม่ได้

ประเภทที่หนึ่ง แอปฯ โซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อสุขภาพโดยตรง แต่ดูจะกลายเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ ด้วยพลังของการส่งต่อ แต่ก็สร้างความสับสนไม่น้อยว่าควรเชื่อหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร

ประเภทที่สอง แอปฯ ที่เกี่ยวกับสุขภาพหรือโรคเฉพาะเรื่อง (หรือหลายเรื่อง) เช่น แอปฯ แนะนำการกิน การออกกำลังกาย การนอน การเจริญสติ ซึ่งมีทั้งแอปฯ ประเภทที่ให้ความรู้และคำแนะนำเป็นหลัก กับแอปฯ ประเภทที่มีบริการดูแลสุขภาพต่อเนื่องอยู่เบื้องหลัง

ประเภทที่สาม แอปฯ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแต่มีลักษณะเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมสารพัดกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มผู้ให้บริการ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีหรือสินค้าสุขภาพ ไปถึงนักวิจัยและผู้กำหนดนโยบาย   

สำหรับคนทั่วไป สิ่งที่ปรากฏบนโทรศัพท์มือถือดูเหมือนเป็นเพียงหนึ่งแอปฯ เท่านั้น แต่ในเชิงโครงสร้าง ระบบที่อยู่ข้างหลังมีความซับซ้อน ต้องยกให้ผู้รู้มาอธิบาย แต่รูปธรรมเทียบเคียงที่หลายท่านอาจรู้จักดีคือแอปฯ สำหรับการช้อปปิ้ง ที่เบื้องหลังต้องมีบริษัทกลางทำหน้าที่ต่างๆ ให้ผู้ซื้อเลือกซื้อสินค้าที่สนใจ ขณะเดียวกันก็มีการสื่อสาร การกำหนดเงื่อนไข การติดตามพฤติกรรมของผู้ขาย และยังมีระบบการประมวลผลพฤติกรรมของผู้ช้อปปิ้งแล้วให้คำแนะนำหรือโฆษณาในสิ่งที่ซื้อเป็นประจำ และอีกสารพัดความสามารถและบริการที่ผู้ใช้อาจไม่ต้องการ

3.Wearable devices เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มาแรง และดูเป็นความหวังที่จะทำให้เกิดการดูแลสุขภาพส่วนบุคคลหรือการดูแลสุขภาพแม่นยำได้มากขึ้น โดยอยู่บนสมมติฐานว่าถ้าเรามีข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพหรือสภาวะต่างๆ ในร่างกาย (อุณหภูมิ การเต้นของหัวใจ ออกซิเจนในเลือด ฯลฯ) ที่สามารถเก็บรวบรวมผ่านเครื่องมือประเภทนี้ได้ จะทำให้มีข้อมูลจำนวนมากนำมาประมวลผลเพื่อให้คำแนะนำในการปรับพฤติกรรมต่างๆ หรือแม้กระทั่งเตือนให้ไปรับบริการจากผู้มีความรู้แต่เนิ่นๆ

ในทางปฏิบัติมีตัวอย่างที่น่าสนใจอยู่บ้าง แต่โดยรวมความสามารถของเครื่องมือชุดนี้ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกัน เนื่องมาจากเหตุผลทางเทคนิคว่าด้วยวิธีการเก็บข้อมูล และวิธีการแปลผลข้อมูลป้อนกลับให้ผู้ใช้เครื่องมือเหล่านี้ที่ยังมีอยู่อย่างจำกัด แน่นอนว่าเครื่องมือเหล่านี้ส่วนใหญ่มักมีแอปฯ ที่อยู่บนมือถือเพื่อเพิ่มโอกาสของผู้ใช้เครื่องมือในการได้รับการดูแลและมีคำแนะนำเพิ่มเติม หรือสามารถปรึกษาหารือผ่านแอปฯ สินค้า โดยมีค่าบริการตามมา เนื่องจากแอปฯ เหล่านั้นมีสถานะเป็นหน้าร้านของบริษัทผู้ให้คำแนะนำสุขภาพ ซึ่งผู้ที่มีเครื่องมือที่เกี่ยวข้องเท่านั้นถึงจะเข้าถึงได้ โดยเบื้องหลังทีมจะมีเครื่องมือในการวิจัย เพื่อให้การประมวลผลและตีความแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาศัยพลังของ big data ที่มาจากผู้ใช้จำนวนมาก

สิ่งนี้ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้พลังจากมือถือบวกกับแอปฯ ให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนดูแลสุขภาพตัวเองได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการเตือนให้ไปหาหมอก่อนจะมีอาการป่วย ส่วนจะมีประโยชน์คุ้มค่า หรือจะกลายเป็นเพียงเครื่องมือสร้างความกังวลเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีข้อมูลมากขึ้นจนตีความไม่ไหวหรือกลายเป็นข้อมูลเตือนภัยก่อนเวลาอันควร ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

4.การแพทย์ทางไกล (telemedicine) ในมุมของประชาชน การสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพโดยไม่ต้องเดินทาง นับเป็นภาพพึงประสงค์ในอนาคต แต่ว่าไปแล้วเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในช่วงการระบาดของโควิด แม้ว่าระบบบริการในช่วงโควิดจะเกิดขึ้นจากความกลัวทั้งของฝ่ายผู้ให้บริการและผู้รับบริการ โดยไม่ได้เกิดจากวิสัยทัศน์ที่อยากให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพต่างๆ โดยไม่ต้องเดินทางมาหาผู้ให้บริการถึงหน่วยบริการก็ตาม

ว่าไปแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ภาพพึงประสงค์สำหรับประเทศที่ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ยากเพราะมีหน่วยบริการน้อยและอยู่ห่างไกลเท่านั้น เพราะแม้จะมีหน่วยบริการมาก อยู่ไม่ไกล เข้าถึงไม่ยาก แต่ถ้าประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ก็จำเป็นต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพตัวเองด้วย ไม่ใช่รอแต่หาหมอเท่านั้น

อย่างในประเทศไทย การมีบริการทางไกลก็เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเราสามารถใช้พลังจากพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลได้มากขึ้นและมีราคาไม่สูง แต่ดูเหมือนความท้าทายของการจัดระบบการแพทย์ทางไกลไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีและราคาของเทคโนโลยี แต่อยู่ที่องค์ประกอบอื่นของระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงหน่วยบริการต่างๆ ที่อาจต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ตัวอย่างรูปธรรมเช่นการหาหมอทางไกล ในทางปฏิบัติก็ยังต้องมีหมอออกตรวจผู้ป่วย เพียงแต่เป็นการตรวจทางไกล ไม่ได้เห็นหน้าหรือจับต้องตัวกัน แพทย์จำนวนไม่น้อยอาจไม่คุ้นเคยหรือไม่ชอบ หรือแม้แต่การส่งยาทางไกลก็ต้องมีช่องทางการรับส่งยา ซึ่งอาจส่งผลถึงเครือข่ายร้านขายยาและระบบการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ ที่ต้องดูแลยาไม่ให้เสื่อมคุณภาพ เป็นต้น  

เทคโนโลยีดิจิทัลที่จะทำให้เกิดการจัดบริการการแพทย์ทางไกลได้ จึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นด้วย ไม่ใช่เพียงเพิ่มเทคโนโลยีเข้าไปในระบบการทำงานแบบเดิมแล้วคิดว่าจะทำให้เกิดบริการที่ต้องการได้ แต่ในส่วนที่เทคโนโลยีมาช่วยให้การดูแลผู้ป่วยดีขึ้นเพราะบุคลากรสาธารณสุขสามารถปรึกษากันและกันผ่านเครือข่ายโทรคมนาคมก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งจะกล่าวถึงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของผู้ให้บริการที่เปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากเทคโนโลยี

5.เอไอ โดยรวมแล้วเอไอคือเทคโนโลยีที่จะมาช่วยให้การทำงานของเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งสี่อย่างข้างต้นมีความสามารถมากขึ้น โดยเชื่อกันว่าความสามารถที่มากขึ้นหมายถึงประสิทธิภาพที่มากขึ้น และอาจหมายถึงการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วย แต่คุณสมบัติสำคัญที่เอไอจะทำให้เกิดขึ้นในระบบการบริการสุขภาพก็คือการทำให้เกิดข้อมูล ความรู้ และคำแนะนำเพิ่มขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็ว เพื่อใช้ประโยชน์โดยบุคลากรสาธารณสุขและประชาชนเอง โดยไม่ต้องมีคนตัวเป็นๆ มาทำหน้าที่รวบรวม วิเคราะห์ ตีความ และนำเสนอข้อมูล ยิ่งไปกว่านั้นเอไออาจ ‘ตัดสินใจแทนคน’ ได้ด้วย  

แน่นอนว่าเทคโนโลยีที่มาช่วยในการรวบรวม วิเคราะห์ ประมวล และนำเสนอข้อมูลโดยไม่ต้องใช้คนนั้นมีมานานแล้ว และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแอปฯ ต่างๆ มีความสามารถมากขึ้น ตัวอย่างที่หลายท่านอาจคุ้นเคยคือแอปฯ นำทางที่ชื่อ Google Maps ซึ่งในช่วงแรกๆ ที่ออกมาก็บอกเพียงเส้นทางที่ควรใช้ในการเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเท่านั้น ต่อมาก็พัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นบอกระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการเดินทาง โดยคำนึงถึงความหนาแน่นของการจราจรในแต่ละช่วงเวลา และต่อมาก็สามารถแนะนำทางเลือกอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด แต่เนื่องจากเป็นแอปฯ นำทางจึงไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจ เพราะการจะเชื่อหรือไม่เชื่อนั้นขึ้นอยู่กับผู้ใช้งาน

เห็นชัดว่าแอปฯ นำทางเหล่านี้มีความฉลาดมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากพลังของเอไอ หากแอปฯ นำทางเหล่านี้ไปอยู่ในรถไร้คนขับ ก็ชัดเจนว่าจะต้องมีความสามารถพิเศษอีกประการหนึ่งเพิ่มขึ้น คือการตัดสินใจเลือกว่าจะเปลี่ยนเส้นทางหรือไม่ แทนที่จะเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น  

สิ่งสำคัญของเอไอเพื่อสุขภาพไม่ว่าจะไปอยู่ไหนแอปฯ ไหนหรือในระบบบริการใด จึงอยู่ที่ว่าเอไอเหล่านั้นมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ให้ข้อมูลหรือเป็นผู้ตัดสินใจ

ในฐานะเอไอเป็นผู้ให้ข้อมูล ปัญหาอาจไม่มากและอาจมีประโยชน์ หากผู้ใช้งาน ‘รู้ทัน’ ว่าข้อมูลที่ให้มานั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด อย่างน้อยการตัดสินใจสุดท้ายก็ยังอยู่ที่ผู้ใช้งาน ซึ่งหากความแม่นยำถูกต้องของเอไอยังไม่ดีพอก็ไม่เป็นปัญหามาก อาจไม่ต่างกับการที่เราฟังพยากรณ์อากาศอยู่ทุกวัน โดยส่วนใหญ่ผู้ใช้ข้อมูลจะใช้ผลพยากรณ์อากาศเป็นตัวประกอบในการตัดสินใจ เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง เพราะเป็นที่รู้กันว่าการพยากรณ์อากาศนั้นเป็นสิ่งซึ่งมีความไม่แน่นอนอยู่สูง การใช้ประโยชน์จากผลพยากรณ์อากาศก็ขึ้นอยู่กับบริบทภูมิหลัง อาชีพ หรืองานที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องไปทำ    

ในกรณีของเอไอกับสุขภาพมีการนำมาใช้ประโยชน์อยู่ไม่น้อย ตัวอย่างหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมากในวงการสุขภาพคือการอ่านผลฟิล์มเอกซเรย์หรืออ่านผลชิ้นเนื้อที่ส่งตรวจ ซึ่งที่ผ่านมาจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความสามารถของบุคลากรแต่ละคน ซึ่งมีความแตกต่างกันได้ไม่น้อย  

ในส่วนของประชาชนทั่วไป เอไอที่ถูกพูดถึงกันมากคือเอไอที่มากับเครื่องรับให้คำปรึกษาและให้การรักษาเบื้องต้น รูปธรรมคือ ‘เครื่องผิงอัน’ จากประเทศจีน ที่ผู้ใช้บริการสามารถเข้าไปบอกอาการความเจ็บป่วยพร้อมตอบคำถามเพิ่มเติมจำนวนหนึ่ง แล้วเครื่องจะประมวลผลข้อมูลที่ได้ พร้อมกับข้อมูลจากการตรวจร่างกายบางอย่างแบบง่ายๆ แล้วบอกว่าผู้ป่วยน่าจะป่วยเป็นโรคอะไรและควรจะได้รับยาอะไร  

แน่นอนว่าถ้าสิ่งที่เครื่องทำได้คือเกือบทั้งหมด ยกเว้นการสั่งยาให้กับผู้ป่วย ซึ่งมีบทบาทเหมือนคนพยากรณ์อากาศที่ผู้ใช้บริการจะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ แต่ถ้าไปถึงขั้นสั่งการรักษาก็คงขึ้นกับผู้ใช้บริการว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่เมื่อเกิดการเก็บค่าบริการขึ้น เข้าข่ายการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ย่อมมีปัญหาว่าใครคือผู้รับผิดชอบ ระหว่างผู้นำเครื่องมาประกอบธุรกิจ ผู้พัฒนาเครื่อง หรือหมอที่ออกมาเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะผู้มีสิทธิตามกฎหมายแต่ใช้เครื่องทำหน้าที่แทน   

สำหรับผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลระบบสุขภาพคงมีคำถามสำคัญว่าจะปล่อยให้พัฒนาการของเทคโนโลยีเหล่านี้ที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ใครใคร่พัฒนา พัฒนา ใครใคร่ใช้ ใช้ หรือจะเข้ามาตั้งกฎกติกาควบคุมดูแล สิ่งสำคัญน่าจะอยู่ตรงที่จะเข้ามาควบคุมดูแลในเรื่องไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร ซึ่งคงยากจะคาดเดาได้ว่าจะเกิดเทคโนโลยีที่มีความสามารถอะไรบ้าง และจะไปสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นธรรมในจุดใดบ้าง ทำให้การออกกติกาเพื่อควบคุมสิ่งที่อาจเป็นไปได้แทนที่จะเป็นการกำกับติดตามเรื่องความผิดพลาดแล้วออกกฎหลังสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ได้เกิดขึ้นแล้ว กลายเป็นความยากลำบากของผู้ที่ต้องทำหน้าที่ดูแลระบบสุขภาพอนาคต ที่พลังจากเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีดิจิทัล

เทคโนโลยีดิจิทัลไม่เพียงเปลี่ยนโอกาสในวิธีการดูแลสุขภาพหรือการใช้บริการสุขภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขด้วย โดยรวมเทคโนโลยีจะเพิ่มประสิทธิภาพและประโยชน์ของการเก็บรวบรวมและการประมวลผลข้อมูล ทำให้ผู้ให้บริการสามารถตัดสินใจหรือทำงานร่วมกันได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลภาพรวมของระบบ ไม่ว่าจะเป็นระดับสถานบริการ (ผู้บริหารหน่วยงาน) หรือระดับประเทศ (ผู้กำหนดนโยบาย) สามารถติดตามสภาวะสุขภาพ การเข้าถึงบริการ และความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงระบบบริการในจุดต่างๆ โดยเฉพาะการลงทุนในเรื่อง ‘คน เงิน ของ’ ได้แม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น แต่หากแยกเป็นกระบวนการในการเก็บข้อมูลไปจนถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทำนองนี้

1.การเก็บข้อมูล การเก็บข้อมูลให้ได้มากๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาคนไข้หรือดูแลสุขภาพของประชาชนเชิงรุก เป็นสิ่งที่บุคลากรสาธารณสุขต้องทำและสามารถทำได้มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ 

โดยปกติเมื่อคนไข้ไปหาหมอ หมอจะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ส่งเอกซเรย์ ฯลฯ ก่อนมีเครื่องคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปัจจุบัน หมอจะต้องบันทึกข้อมูลทั้งหมดนี้ลงไปในแผ่นกระดาษ และประมวลผลข้อมูลผ่านสมองที่มีความรู้อัดแน่นของตนเอง เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปว่าผู้ป่วยน่าจะป่วยเป็นโรคอะไรและควรจะรักษาอย่างไร แต่ในปัจจุบัน อย่างน้อยที่สุดผลเลือดและผลเอกซเรย์โดยส่วนใหญ่จะถูกจัดเก็บในข้อมูลแบบดิจิทัล ส่วนข้อมูลจากการซักประวัติตรวจร่างกายก็สามารถใส่เข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นข้อมูลในระบบดิจิทัลได้มากน้อยแตกต่างกัน ตามแต่ระบบที่จัดขึ้นในหน่วยบริการแต่ละแห่ง

ในภาพรวม เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยลดภาระในการเก็บข้อมูลของบุคลากรสาธารณสุขลงไป หากมีการออกแบบระบบอย่างเหมาะสม แต่ที่ยังคงสร้างภาระนั้นมาจากการที่ไม่ออกแบบระบบหรือพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อลดภาระในการเก็บข้อมูล แต่กลับเพิ่มภาระเพราะมีหน่วยงานสารพัดอยากได้ข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่างๆ จากกลไกที่มีอำนาจเหนือผู้ให้บริการ

2.การรายงานในระบบสุขภาพ มักมีความต้องการในการประมวลผลข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการหรือกำหนดนโยบาย ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบบริการสุขภาพแบบรวมศูนย์ตั้งแต่การกำหนดนโยบาย การบริหารจัดการงบประมาณ ไปจนถึงการจัดสรรระบบสนับสนุนอื่นๆ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ เกิดเป็นระบบรายงานสารพัดรูปแบบที่มีระบบการเก็บรวบรวมข้อมูลของตนเอง ถึงแม้ข้อมูลหลายอย่างสามารถเก็บรวบรวมในครั้งเดียวได้ แต่เนื่องจากในสมัยก่อนใช้แบบฟอร์มเก็บข้อมูลและการรายงานที่เป็นกระดาษ จึงเกิดภาระอย่างมากมาย แต่แม้จะมีระบบดิจิทัลเกิดขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังคงจัดทำระบบการเก็บข้อมูลและรายงานที่เป็นรูปดิจิทัลของตนเอง แทนที่จะมีผู้มาวิเคราะห์ระบบโดยรวมว่าอะไรคือข้อมูลที่จำเป็นต้องเก็บ และอะไรคือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในระดับต่างๆ แล้วทำเครื่องมือในการประมวลผลจากข้อมูลพื้นฐานชุดเดียวกันเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า 

ในแง่ของการเก็บข้อมูลและทำรายงานจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้มาก แต่ต้องมีการออกแบบในภาพรวม ลดการเก็บข้อมูลซ้ำซ้อนและการกรอกข้อมูลมากมาย มาเป็นการสร้างระบบข้อมูลสุขภาพพื้นฐานที่สามารถประมวลผลให้เกิดประโยชน์ได้ ตั้งแต่ผู้ให้บริการ ผู้บริหารโรงพยาบาล และผู้กำหนดนโยบาย

3.การเบิกจ่ายเมื่อมีระบบประกันสุขภาพที่มีผู้จ่ายอยู่ตรงกลาง ประเทศไทยมีสามหน่วยงานใหญ่คือกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ซึ่งต่างต้องการข้อมูลการดูแลผู้ป่วยจากหน่วยบริการ ที่โดยปกติไม่ได้เก็บข้อมูลแยกแยะว่าใครขึ้นกับระบบประกันใด (จะมีก็แต่แยกแยะเวลาจะไปเบิกจ่าย) การเก็บและส่งข้อมูลผลการให้บริการประชาชนจากหน่วยบริการเพื่อประกอบการพิจารณาการเบิกจ่ายเป็นภาระสำคัญหนึ่งของระบบบริการสุขภาพทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน โชคดีที่ระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากเทคโนโลยีดิจิทัลมีพัฒนาการไปมากพอสมควร จึงมีการออกแบบระบบการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายโดยใช้พลังจากเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้นตามลำดับ  

อย่างไรก็ตาม ความพยายามและความสามารถในการที่จะทำให้ระบบข้อมูลการให้บริการพื้นฐานของหน่วยบริการถูกนำไปประมวลและแยกไปประกอบการเบิกจ่ายของกองทุนแต่ละแห่งก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง แต่ละกองทุนก็ยังมีระบบการรายงานเพื่อการเบิกจ่ายแยกกัน ทำให้ยังเป็นภาระกับหน่วยบริการเป็นอย่างยิ่ง คล้ายๆ กับกรณีของการเกิดระบบรายงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขที่ได้กล่าวถึงไว้ในข้อสอง และต้องมีการออกแบบระบบการเก็บรวบรวมข้อมูลและการประมวลผลข้อมูลใหม่ทั้งหมด แทนที่จะอยู่ในรูปของระบบย่อยอย่างที่เป็นอยู่

4.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการส่งต่อและดูแลคนไข้อย่างต่อเนื่อง เป็นความฝันและความพยายามสำคัญของการนำพลังจากเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อทำให้การดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพราะเป็นที่รู้กันว่าประชาชนไม่สามารถมีสุขภาพที่ดีได้ด้วยการดูแลตัวเองเท่านั้น ในขณะเดียวกันเมื่อมีความจำเป็นต้องไปใช้บริการสุขภาพก็ต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรสาธารณสุขมากกว่าหนึ่งคนหรือหนึ่งแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบบริการที่มีการจัดโครงสร้างแบ่งบทบาทหน้าที่เพื่อให้เกิดการดูแลที่สะดวกและมีประสิทธิภาพอย่างเช่นระบบบริการในประเทศไทย การที่บุคลากรสาธารณสุขที่มีอยู่หลายคนและหลายสถานที่จะสามารถดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนให้ดีได้ จึงต้องอาศัยข้อมูลข่าวสารชุดเดียวกัน ซึ่งทำได้ยากมาก หากไม่มีการใช้เทคโนโลยีและไม่มีการออกแบบเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนหรือไหลเวียนของข้อมูลได้ทันเวลา  

ตัวอย่างรูปธรรมคือตัวอย่างของการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาพยาบาลในอีกแห่งหนึ่ง ที่ผ่านมาจะใช้ระบบที่ผู้ให้บริการที่ต้องการจะส่งต่อกรอกข้อมูลลงไปในกระดาษที่เรียกว่า ‘ใบส่งต่อ’ ที่สามารถบรรจุข้อมูลได้จำกัด และให้ผู้ป่วยถือไปแสดงยังหน่วยบริการที่รับการส่งต่อ แต่ในระบบที่มีการใช้พลังจากเทคโนโลยีดิจิทัล ผู้ป่วยสามารถเดินทางจากหน่วยบริการหนึ่งไปยังอีกหน่วยบริการหนึ่งได้ และเมื่อไปถึงหน่วยงานนั้น ผู้รับผู้ป่วยก็สามารถรู้ได้โดยทันทีว่าผู้ป่วยมีปัญหาอะไร ได้รับการดูแลอะไรมาแล้วบ้าง และทำไมจึงจำเป็นต้องมีการส่งต่อ

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ เพราะสามารถส่งข้อมูลในระบบข้อมูลผู้ป่วยของโรงพยาบาลแรกไปยังโรงพยาบาลที่สองได้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้เทคโนโลยีการสื่อสารพูดคุยเล่ารายละเอียดเพิ่มเติมได้ในระหว่างที่ผู้ป่วยเดินทาง ที่ดีกว่านั้นคือสามารถได้ข้อมูลผู้ป่วยจากหน่วยบริการทุกแห่งที่ผู้ป่วยคนนั้นเคยไปใช้บริการ แทนที่จะเป็นสถานบริการเพียงแห่งเดียว แต่ทั้งหมดนี้ต้องมีการจัดระบบเพื่อให้มีการเข้าถึงและการแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือบางอย่าง เช่น มาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูล เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันแม้จะพยายามกันมาเป็นเวลานานก็ยังประสบปัญหามากมาย

5.การใช้ประโยชน์เพื่อการวิจัยและสร้างความรู้เอไอใหม่ๆ จินตนาการหนึ่งของการใช้พลังเทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาการดูแลสุขภาพ คือการใช้ความสามารถในการประมวลผลเพื่อสร้างความรู้ใหม่ ซึ่งสามารถทำได้โดยกระบวนการสองอย่าง คือการวิจัยและการพัฒนาเอไอ โดยใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ เพราะมีการทำข้อมูลภายใต้ระบบมาตรฐานเดียวกัน มีการดูแลให้มีคุณภาพ ทำให้การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ อยู่ในระบบเปิด โดยไม่ก้าวล่วงต่อความเป็นส่วนตัว ไม่ไปทำร้ายหรือทำอันตรายกับเจ้าของข้อมูล ซึ่งก็คือผู้ป่วยหรือประชาชนแต่ละคน 

โดยหลักการ ภาพที่พึงประสงค์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ด้วยการที่มีระบบข้อมูลเปิดที่ดึงเอาข้อมูลสุขภาพและความเจ็บป่วยของประชาชนจากหน่วยบริการหรือจากระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบทะเบียนราษฎร์ นำมาอยู่ในสภาพซึ่งเข้าถึงได้โดยไม่มีข้อจำกัดและมีกฎหมายปกป้อง รวมทั้งมีระบบความปลอดภัยที่ป้องกันการใช้ประโยชน์โดยผู้ไม่หวังดีหรือผู้ที่ไม่มีสิทธิ แต่ในทางปฏิบัติ ความไม่ไว้วางใจระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทำให้การสร้างระบบข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ในการวิจัยและการพัฒนาเอไอยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

ในขณะเดียวกันการพัฒนาเอไอ หรือแม้กระทั่งการวิจัยยังมีผลเชื่อมโยงไปถึงการทำประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งยิ่งทำให้การใช้ประโยชน์จากข้อมูลในระบบเปิด สร้างคำถามเรื่องความเป็นธรรมในการแบ่งสรรผลประโยชน์ระหว่างเจ้าของข้อมูลและกลุ่มธุรกิจที่นำข้อมูลนี้ไปพัฒนาเป็นเทคโนโลยีที่มีมูลค่าทางธุรกิจ ล่าสุดมีตัวอย่างเล็กๆ กรณีหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ฟ้องบริษัท OpenAI และ Microsoft ว่านำฐานข้อมูลของตนไปฝึกให้เอไอเก่งขึ้น ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้อื่นที่ไม่เป็นธรรม

โรงพยาบาลขนาดใหญ่จำนวนไม่น้อยมีการเก็บข้อมูลผลเอกซเรย์ในรูปแบบดิจิทัลพร้อมกับข้อมูลการวินิจฉัยโรคและการรักษาผู้ป่วย ทั้งหมดนี้สามารถนำไปใช้เพื่อฝึกให้เอไอที่อ่านเอกซเรย์มีความสามารถเพิ่มขึ้น แต่ยังมีคำถามพื้นฐานว่าเมื่ออนุญาตให้ใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลของโรงพยาบาลแล้ว ควรจะมีการแบ่งสรรผลประโยชน์ที่จะได้จากเอไอที่เกิดขึ้นอย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของความยากลำบากที่ทำให้การใช้พลังเทคโนโลยีดิจิทัลเกิดขึ้นได้อย่างไม่ราบรื่น  

ในทางกลับกัน สำหรับประเทศไทยที่เป็นเพียงเจ้าของข้อมูลแต่อยากใช้ประโยชน์จากเอไอ คงจะต้องมีการกำหนดจุดยืนและแนวทางการทำงานเพื่อให้ข้อมูลที่มีอยู่มากมายนั้นถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางและเป็นธรรม 

ถ้าใช้คำกล่าวที่ว่า “Data is the new oil.” ก็อาจเปรียบเทียบว่าข้อมูลที่มีอยู่มากมายมหาศาล หากสามารถนำมาใช้ประโยชน์รวมกันในระบบเปิดจะมีมูลค่าเหมือนบ่อน้ำมัน แต่การมีบ่อน้ำมันไม่ได้แปลว่าประเทศจะได้ประโยชน์ หากไม่มีระบบการดูแลจัดสรรผลประโยชน์หรือตกลงกับผู้ต้องการใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำมันของเราในรูปแบบที่เป็นธรรม ไม่ต่างจากที่มีการถกเถียงในเชิงนโยบายมาโดยตลอดว่าในฐานะที่เป็นเจ้าของแหล่งพลังงาน เราควรมีการแบ่งสรรผลประโยชน์กับบริษัทต่างประเทศที่มาขุดเจาะน้ำมันหรือพลังงานจากแหล่งพลังงานในประเทศไทยอย่างไร

ระบบสุขภาพอนาคตจะเป็นอย่างไร ถ้าเราอยากใช้พลังจากเทคโนโลยีอย่างเต็มที่

จะเห็นว่าพลังจากเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถทำให้เกิดประโยชน์ใหม่ๆ ได้อย่างน้อยในสามด้าน ด้านที่หนึ่งคือเศรษฐกิจ ด้านที่สองคือการสร้างความรู้ใหม่โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ โดยเฉพาะในระบบสุขภาพ ส่วนด้านที่สามคือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อสร้างสุขภาพและซ่อมสุขภาพให้กับประชาชนแต่ละคนโดยตรงได้อย่างมีสมดุล มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และมีความเท่าเทียม ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะในส่วนที่สามเพื่อไม่ให้บทความยาวเกินไป

ในหลักการสร้างภาพอนาคต ควรรวบรวมความคิดและมุมมองจากผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้มีความรู้ในเรื่องระบบสุขภาพ ผู้มีความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงประชาชนและผู้ให้บริการ เนื่องจากแต่ละฝ่ายจะมีประสบการณ์ ความคาดหวัง และโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ที่แตกต่างหลากหลาย แต่เชื่อมโยงไปสู่ผลสุดท้ายเดียวกันคือสุขภาพที่ดีของประชาชน

แต่เราอาจลองสร้างภาพอนาคตที่น่าจะเป็นจากตัวอย่างรูปธรรมของนโยบาย UHC+ ของรัฐบาลปัจจุบันที่มีรูปธรรมเป็น ‘บัตรประชาชนใบเดียวไปได้ทุกที่’ เพราะหากมองจากมุมของการใช้พลังจากเทคโนโลยีดิจิทัลก็คือความเชื่อที่ว่าถ้าเราใช้ข้อมูลจากบัตรประชาชนใบเดียวเพื่อทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกและการดูแลที่มีคุณภาพไม่ว่าจะต้องไปใช้บริการที่ใดในระบบสุขภาพของประเทศไทย สอดคล้องกับข้อสี่ที่พูดถึงทั้งจากกลุ่มประชาชนและมุมของผู้ให้บริการ ที่ได้อธิบายมาข้างต้น แม้ในทางการเมืองอาจคาดหวังเพียงให้ความสะดวกและให้สิทธิไปรักษาที่ไหนก็ได้ จนอาจถูกนำไปวิจารณ์ว่าเป็นการทำให้เกิดการใช้บริการที่ฟุ่มเฟือยเพราะนอกจากไม่ต้องเสียเงินแล้วยังไปที่ไหนก็ได้ ก็จะเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะความจริงถือเป็นโอกาสสร้างระบบที่ไปรักษาที่ไหนก็มีข้อมูลเชื่อมโยงกันหมด เพราะทุกฝ่ายมีข้อมูลชุดเดียวกันและสามารถทำงานร่วมกันได้

แต่หากมองในเชิงบวก การที่ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวไปรับบริการได้ทุกที่ น่าจะมีความหมายว่าประชาชนไม่ต้องมีใบส่งตัวเมื่อต้องมีการส่งต่อ ส่วนข้อมูลที่เกี่ยวข้องก็จะสามารถไปถึงหน่วยบริการที่รับการส่งต่อโดยไม่จำเป็นต้องไปเริ่มต้นเข้าคิวใหม่ ทำบัตรใหม่ หรือแม้กระทั่งไปให้ข้อมูลที่ตัวเองก็ไม่ได้รู้เสียทั้งหมด เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่ในการดูแลของหมอในแต่ละโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง ส่วนการที่จะทำให้ภาพที่พึงประสงค์เกิดขึ้นก็คงไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ จากการประกาศนโยบายและทำให้ทุกหน่วยบริการมีเครื่องอ่านบัตรประชาชนที่มีมาตรฐานเดียวกันได้ เพราะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่ต้องไหลไปพร้อมกันหรือไหลไปก่อนผู้ป่วยไปถึงนั้น มีความสำคัญและความยากลำบากกว่ากันมาก ดังเหตุผลที่อธิบายไว้ในเบื้องต้น  

แต่นอกเหนือจากการทำให้ผู้ให้บริการมีข้อมูลครบถ้วน ยังต้องประกอบด้วยความเอาใจใส่ในการดูแลประชาชนหลังจากมีข้อมูลอย่างครบถ้วนแล้ว ถ้าทำแต่เรื่องข้อมูล แต่ผู้ให้บริการยังมีมายาคติว่านโยบายนี้เป็นเรื่องประชานิยม ทำให้เกิดการใช้บริการโดยไม่คิดให้ถี่ถ้วนเพราะถือว่าเป็นสิทธิ ผู้ให้บริการไม่เกิดแรงจูงใจเท่าที่ควรที่จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีมากขึ้นอย่างเต็มที่ แม้จะมีข้อมูลผู้ป่วยครบถ้วนสมบูรณ์อยู่ตรงหน้าก็อาจไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร   

ในขณะเดียวกันการใช้ข้อมูลเพื่อส่งผู้ป่วยให้กลับไปรับการดูแลใกล้บ้านก็อาจไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นก็ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเป็นความพยายามกีดกันไม่ให้มาโรงพยาบาลใหญ่ แต่หากสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเป็นการให้บริการดูแลร่วมกัน เพราะทุกคนจะเห็นข้อมูลชุดเดียวกันและยังพูดคุยกันได้ไม่ยาก การกลับไปยังหน่วยบริการใกล้บ้านแล้วได้รับการดูแลที่ดีเหมือนกันโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาไกล และการทำให้เกิดระบบข้อมูลที่แลกเปลี่ยนส่งต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวไปได้ทุกที่ ทำให้ประชาชนมั่นใจว่าหน่วยบริการใกล้บ้านมีข้อมูลที่ครบถ้วน สื่อสารปรึกษาวางแผนร่วมกับโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิหรือตติยภูมิที่ส่งต่อไปได้อย่างไร้รอยต่อ

ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมหนึ่งของระบบบริการในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นมาได้เพราะเราใช้พลังเทคโนโลยีในการให้ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนในระบบบริการสาธารณสุข จนทำให้การติดต่อสื่อสารและการให้การดูแลระหว่างบุคลากรสาธารณสุขข้ามระดับ และบุคลากรสาธารณสุขในแต่ละระดับกับประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพสามารถโอนไปได้อย่างครบถ้วน ลดการเดินทางและการรอคอยที่ไม่จำเป็นลดลง และลดภาระขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องมีการออกเอกสาร ขอข้อมูล เก็บข้อมูลซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น

หลายฝ่ายเชื่อกันว่าพลังที่สำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลในระบบสุขภาพที่น่าจะเข้าขั้น disruptive คือการทำให้ข้อมูลสุขภาพของประชาชนอยู่ที่ประชาชน และให้ประชาชนแต่ละคนใช้ประโยชน์จากข้อมูลสุขภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเพื่อการสร้างสุขภาพหรือเป็นข้อมูลเพื่อการซ่อมสุขภาพ และเมื่อจำเป็นก็สามารถรับคำแนะนำหรือได้รับการดูแลจากบุคลากรสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกัน หมายความว่าประชาชนสามารถตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบที่ต้องการมากกว่าที่จะรอ หรือยอมตามที่บุคลากรสาธารณสุขบอกหรือสั่งการรักษาเท่านั้น

ในเชิงระบบรูปธรรมก็ดูไม่ยาก (แต่ทำให้เกิดขึ้นยาก) คือหน่วยบริการสาธารณสุขทุกแห่งยอมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดของตนเองที่อยู่ในระบบบริการสาธารณสุข ในขณะเดียวกันประชาชนก็มีเครื่องมือที่จะมาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะสุขภาพของตนเอง เช่นใช้ wearable devices และสามารถมีที่ปรึกษาเพื่อตีความในการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ทั้งเพื่อการปรับพฤติกรรมสุขภาพ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง กระทั่งการใช้ยาหรือเลือกการรักษาที่ตนเองคิดว่าเหมาะสมกับสภาวะร่างกายหรือสภาวะเศรษฐกิจของตนเอง ขณะที่หน่วยบริการสาธารณสุขก็สามารถให้บริการที่เกี่ยวข้องได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคำปรึกษา กระทั่งการให้บริการหลังจากที่ได้มีการปรึกษาพูดคุยกันโดยละเอียดแล้วสำหรับแต่ละกรณี โดยมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นตัวประกอบในการพูดคุยตัดสินใจร่วมกัน ไม่ใช่เป็นเพียงความชอบหรือประสบการณ์ส่วนตัวหรือความเห็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประชาชนหรือบุคลากรสาธารณสุข

แต่หากพิจารณาจากพลังของเทคโนโลยีเท่าที่พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน ภาพที่พึงประสงค์ทั้งสองภาพสามารถเป็นไปได้ อาจเริ่มที่ด้านไหนก่อนก็ได้แต่เริ่มพร้อมกันไป ก็จะได้ประโยชน์กับอีกภาพหนึ่ง สิ่งสำคัญคือพลังนโยบายและพลังในการจัดการระบบจะมีมากเท่าพลังเทคโนโลยีหรือพลังทางธุรกิจที่กำลังลงทุนกับเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมหาศาลหรือไม่

แต่ไม่ว่าจะพัฒนาให้เป็นไปสู่ภาพใดภาพหนึ่งในสองภาพนี้ หรือทำให้เกิดทั้งสองภาพคู่กันไป มีสิ่งสำคัญที่ควรชี้ให้เห็นคือ ประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขจะต้องเป็นบุคคลสำคัญสองกลุ่มที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้องจากสารพัดแหล่ง และเป็นกัลยาณมิตรของกันและกันในการตัดสินใจร่วมกันและใช้ประโยชน์จากข้อมูล ในขณะที่กลุ่มผู้พัฒนาเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แอปฯ ต่างๆ แพลตฟอร์มสารพัด หรือแม้กระทั่ง wearable devices จะเป็นส่วนประกอบที่เข้ามาช่วยเสริมการตัดสินใจและการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ไม่ใช่เป็นตัวนำการตัดสินใจและการให้ข้อมูล ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วที่ไม่ใช่เฉพาะมาจากข้อจำกัดของเทคโนโลยีหรือแรงจูงใจของผู้เกี่ยวข้องที่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่อยู่ที่ผลสุดท้ายทางสุขภาพที่ต้องการ ต้องมาจากการตัดสินใจร่วมกันของประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขที่มีบทบาทและหน้าที่และเข้าใจใส่ใจในสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือผลกำไรทางธุรกิจเป็นหลัก

เราต้องทำอะไรเพื่อเพิ่มพลังบวกและควบคุมพลังลบอย่างมีสมดุล

สิ่งสำคัญที่ต้องช่วยกันทำให้เกิดขึ้นเพื่อให้พลังจากเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพลังในทางบวกสำหรับระบบสุขภาพในอนาคต คือสร้างภาพอันพึงประสงค์ที่มีสุขภาพประชาชนเป็นศูนย์กลางและทุกฝ่ายร่วมกันใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีหรือพัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้การดูแลสุขภาพโดยประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขรวมกันกลายเป็นผลบวกสร้างสุขภาพและซ่อมสุขภาพอย่างสมดุลมีอยู่สามประการ

ประการแรก คือศักยภาพของประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขที่ต้องรู้ทันและสามารถเลือกใช้พลังจากเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคตอย่างมีสติ และความรู้ที่แท้จริงไม่ใช่เพียงความรู้ทางด้านสุขภาพเท่านั้น แต่เป็นความรู้ว่าด้วยข้อจำกัดหรือจุดอ่อน-จุดแข็งของเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นแอปฯ แพลตฟอร์ม หรือเอไอ

ถ้าใช้กรอบเรื่องฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ พีเพิลแวร์ ชัดเจนว่าต้องมีการวิเคราะห์วางแผนและลงทุนเพื่อการพัฒนาพีเพิลแวร์ให้มากกว่านี้ เพราะในปัจจุบันดูเหมือนจะมีพัฒนาการทางด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์มากกว่าพีเพิลแวร์ จนน่าเป็นห่วงว่าผู้ใช้และผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงจะกลายเป็น dumb users มากกว่า intelligent users ซึ่งสำคัญยิ่งในระบบสุขภาพที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญ

ประการที่สอง คือการออกแบบและพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพรายบุคคลในหน่วยบริการสุขภาพ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับความเจ็บป่วย ปัจจัยเสี่ยงส่วนบุคคล และปัจจัยกระทบต่อสุขภาพในสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายให้ใช้ประโยชน์เพื่อการดูแลสุขภาพได้มากที่สุด โดยผู้ให้บริการและโดยประชาชนเอง ในขณะเดียวกันก็ทำระบบเปิดเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ โดยมีการปกป้องสิทธิและความเป็นส่วนตัวรายบุคคล การจัดการความปลอดภัย และจัดการผลประโยชน์การใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เป็นธรรม

ประการที่สาม จะต้องพัฒนากลไกติดตามกำกับและดูแลพัฒนาการของฝั่งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์มีศักยภาพและแรงจูงใจที่จะพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โดยมองถึงความต้องการของประชาชนผู้ใช้อยู่แล้ว และถ้ามองจากผลิตภัณฑ์/บริการ ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ชัดเจนว่ามีทั้งที่ใช้ได้และที่มีข้อจำกัดหรือแม้กระทั่งมีผลลบ หรือมีการมุ่งผลทางธุรกิจมากกว่าผลลัพธ์ทางสุขภาพของประชาชน ในขณะเดียวกันข้อจำกัดจำนวนไม่น้อยหรือผลลบจำนวนไม่น้อยก็อาจไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ แต่เกิดจากการไม่สามารถคาดการณ์ผลลบไม่พึงประสงค์ได้ครบถ้วนตั้งแต่เริ่มต้น แต่ต้องการการจัดการดูแลเมื่อเกิดขึ้น แทนที่จะปล่อยให้ค่อยๆ หายไปตามธรรมชาติ

กลไกกำกับดูแลเพื่อให้พัฒนาการของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เกิดผลในทางบวกมากกว่าผลในทางลบอย่างมีสมดุล จึงต้องทำงานอย่างเกาะติดและชาญฉลาดมากกว่าการทำงานแบบปลอดภัยไว้ก่อน ยกเว้นในกรณีที่ผลที่อาจเกิดขึ้นแต่ยังไม่เกิด อาจจะรุนแรงจนยอมรับไม่ได้ เหมือนที่ได้พูดไว้ในบทความก่อนเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีพันธุกรรมที่ห้ามดัดแปลงพันธุกรรมในเซลล์สืบพันธุ์แม้จะยังไม่มีการไปทดลองใช้อย่างจริงจังและกว้างขวาง

เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อการวินิจฉัย ป้องกันโรค และรักษาโรค

ในขณะที่ความรู้และเทคโนโลยีทางการพันธุกรรมและข้อมูลข่าวสารมีส่วนสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในระบบการดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งในด้านสร้างสุขภาพและซ่อมสุขภาพ เทคโนโลยีเพื่อการวินิจฉัยโรค การป้องกันโรค และการรักษาโรคที่เคยเป็นตัวสำคัญมาตลอดระยะเวลากว่าร้อยปีในระบบบริการสุขภาพแบบตะวันตกก็มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวคิดและเทคนิคใหม่ใหม่ที่ในด้านหนึ่งก็จะสร้างประโยชน์ในด้านสุขภาพแก่ประชาชน ในขณะเดียวกันก็สร้างภาระไม่ว่าจะเป็นภาระทางใจ (ความกังวลอันเนื่องมาจากมีข้อมูลเพิ่มขึ้น) หรือภาระทางเศรษฐกิจ (ราคา) กับประชาชนและสังคมที่เกี่ยวข้อง

เนื่องจาก 101 พูดถึงเรื่องการแพทย์ที่เชื่อไม่ได้ (คำที่มีการใช้ในตอนแรกๆ คือคำว่าการแพทย์น่าสงสัย ซึ่งดูจะเหมาะสมกว่าเพราะกระตุกให้คิดก่อน ไม่ออกทำนองพิพากษาตัดสินแบบเหมารวม) ไว้โดยละเอียด และเกี่ยวกับเทคโนโลยีกลุ่มนี้ ทั้งที่เป็นมาและกำลังพัฒนาขึ้นใหม่ โดยหวังให้คนทั่วไปรวมทั้งบุคลากรสาธารณสุขรู้ทันเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ ที่มีฐานมาจากพัฒนาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อนำมาพัฒนาเป็นเทคโนโลยีเพื่อใช้ประโยชน์ แม้จะมีกลไก ระเบียบปฏิบัติ และขั้นตอนที่พยายามทำให้มั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์ แต่ก็ไม่อาจกำจัดผลอื่นๆ ที่ไม่พึงประสงค์ได้เต็มที่ และหากมองจากภาพรวมของสังคมก็ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างที่มีขายในตลาดนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ ‘มีประโยชน์อย่างที่ควรเป็นหรืออยากให้เป็น’ การรู้จักเลือกอย่างฉลาด (choosing wisely) จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้จักและนำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนผู้อยากมีสุขภาพดี ผู้ป่วย ญาติ บุคลากรสาธารณสุข ไปจนถึงผู้บริหารองค์กรด้านสุขภาพ และผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ผู้เขียนสรุปว่าเทคโนโลยีเหล่านี้โดยรวมจะสร้างสามคำถามสำคัญสำหรับฝ่ายต่างๆ

1.เราควรรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับตัวเรา เพื่อให้การดูแลสุขภาพและการเข้ารับบริการรักษาโรคเป็นไปอย่างเหมาะสม คำถามนี้มาจากพัฒนาการเทคโนโลยีเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคที่จะมีออกมามากขึ้น (มีการตรวจและชุดทดสอบใหม่ๆ เกิดขึ้น) ตัวอย่างที่น่าคิดคือเราควรรู้ว่าเรามียีนอะไรบ้าง เพื่อจะได้นำมาป้องกันหรือรักษาโรคแค่ไหน ถ้าเรารู้ว่าเรามียีน ‘ผิดปกติ’ แล้ว จะทำอะไรได้บ้าง เราจะปลอดภัยขึ้นหรือจะกังวลมากขึ้น (เพราะยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี หรือเอาเข้าจริงความรู้เกี่ยวกับยีนผิดปกติก็อาจยังไม่ชัดเจน รู้แต่ว่ามันไม่เหมือนกับที่ควรเป็น หรือรู้ว่ามัน ‘อาจ’ เกี่ยวพันกับปัญหาสุขภาพบางอย่าง) หรือหากมีการตรวจหาว่าเราอาจมีมะเร็งในร่างกายได้โดยไม่เจ็บตัวมาก แต่เมื่อรู้แล้วต้องไปตรวจหาทั่วร่างกายว่ามันอยู่ที่ไหน และอาจหาไม่เจอ หรืออาจหาเจอโดยยังไม่มีอาการ เราจะอยากตรวจไหม หรือหากมีชุดตรวจง่ายๆ แต่มีปัญหาเรื่องความจำเพาะ (แปลว่าตรวจแล้วผลบวกปลอมแยะ เราจะอยากใช้ไหม)

2.เราควรทำอย่างไรหากอยากมีสุขภาพดี ถ้ามีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาทำให้เรามีสุขภาพดี เราจะอยากใช้หรือไม่ หรือว่าเราเชื่อเรื่อง ‘สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง’ (ปรับพฤติกรรมและลดการได้รับปัจจัยเสี่ยงภายนอก เช่น ควันบุหรี่ คนขับรถที่ไม่รับผิดชอบ) สืบเนื่องจากการระบาดของโควิดและการใช้วัคซีนภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน รวมไปถึงพัฒนาการของวัคซีนใหม่ๆ ที่อาจไม่คุ้มค่าในระดับประชากร เราควรเรียกร้องให้รัฐจัดหาและทำการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคแค่ไหน แม้จะรู้ว่าฉีดแล้วก็ยังมีโอกาสสูงมากที่จะติดเชื้อโรคเหล่านั้น

3.ถ้ามียาใหม่ๆ ที่ใช้รักษาโรคได้ เป็นยาที่ได้ผลแบบใหม่และได้ผลจริง แต่มีราคาแพงมากๆ (เช่น ต้องใช้เงินทั้งหมด 70 ล้านบาทหรือบางโรคสูงถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองตัวอย่างนี้เกิดขึ้นแล้ว และเป็นปัญหาชวนหนักใจกับทุกฝ่าย) เราจะเรียกร้องให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือ หรือจะปล่อยให้คนมีรายได้สูงเท่านั้นมีโอกาสเข้าถึงการรักษาประเภทนี้ แม้รัฐอาจมีพลังในการต่อรองลดราคา แต่ก็ต้องเอาเงินมาจากคนที่จะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีหรือบริการกลุ่มอื่น สังคมโดยรวมควรทำอย่างไร คำถามนี้สำหรับแพทย์ที่ต้องเห็นผู้ป่วยที่ทนทุกข์ทรมานโดยไม่มียารักษาได้ คำตอบน่าจะชัดเจน (ยกเว้นหมอที่คิดว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ใครไม่มีปัญญาจ่ายก็เป็นปัญหาของคนนั้น) แต่คนที่อาจหมดหรือลดโอกาสที่จะได้รับการรักษาบางอย่างคงจะเห็นต่าง (ถ้าเขารู้ว่าโอกาสของเขาลดลง)

นี่เป็นเพียงตัวอย่างคำถามยากๆ ที่จะตามมา และทำให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้มีอำนาจทางนโยบายต้องคิดหนักหรือนอนไม่หลับ อย่างที่สำนวนอังกฤษพูดว่า “Keep you up at night.”  ถ้านอนไม่หลับแล้วได้ทางออกที่ดีก็อาจคุ้ม ปัญหาคือนอนไม่หลับทั้งคืนก็ยังหาทางออกไม่เจอ

สรุป

ก่อนจะมีคำว่า disruptive technology ผู้คนในระบบสุขภาพมีจินตนาการถึง precision medicine/precision public health และ personalized medicine โดยเชื่อว่าความรู้และเทคโนโลยีทางด้านพันธุกรรมจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมในการรักษาพยาบาลหรือแม้กระทั่งในการสร้างสุขภาพของผู้คนอย่างกว้างกว้าง

ผ่านมาแล้วเกือบ 30 ปี จินตนาการที่จะมีโอกาสรักษาผู้ป่วยหรือสร้างสุขภาพประชาชนที่จำเพาะเจาะจงมากขึ้นถูกตัวมากขึ้น มีเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาของความรู้ว่าด้วยพันธุกรรมมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็พบข้อจำกัดและข้อควรระวังจำนวนไม่น้อยนำไปสู่การกำหนดกฎเกณฑ์ กติกา และกลไกเพื่อให้การใช้ประโยชน์จากความรู้และเทคโนโลยีเกี่ยวกับพันธุกรรมเกิดผลในทางบวกมากกว่าทางลบ คู่ขนานไปกับพัฒนาการของความรู้และเทคโนโลยีทางด้านพันธุกรรมมนุษย์ รวมทั้งผลตามของแนวโน้มการพัฒนายาและเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการวินิจฉัย การป้องกันโรค และการรักษาโรค ซึ่งได้ประโยชน์จากความรู้ทางด้านพันธุกรรมและความรู้เกี่ยวกับชีววิทยาในร่างกายมนุษย์มากขึ้น  

โลกพูดถึง disruptive technology ซึ่งว่าไปแล้วก็ไม่ใช่คำใหม่ แต่กลับมีความหมาย เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ จำนวนไม่น้อยมาทำลายความสัมพันธ์แบบเก่าๆ สร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ให้เห็นในหลายวงการ และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนผู้คนในวงการที่เคยทำงานอยู่รับมือไม่ทัน ระบบสุขภาพก็ไม่ได้รับการยกเว้น และเทคโนโลยีที่สำคัญมากที่มาท้าทายการทำงานภายใต้ความสัมพันธ์แบบเดิมๆ และทำให้ต้องคิดถึงความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างประชาชนและระบบบริการ รวมทั้งระหว่างระบบบริการกับเทคโนโลยี ในการรักษาและสร้างสุขภาพก็เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ไม่นับการเกิดขึ้นของโรคระบาดโควิด ซึ่งช่วยเร่งเร้าให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องคิดถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อออกแบบระบบบริการและสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ในระบบสุขภาพ ยิ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนและชัดเจนมากขึ้น

ในขณะที่ประวัติศาสตร์สอนให้รู้ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ย่อมนำไปสู่พฤติกรรมใหม่การทำงานแบบใหม่ๆ และประโยชน์แบบใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมา คำถามที่สำคัญสำหรับวงการสุขภาพซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนและมีความเชื่อว่าการออกแบบระบบที่ดีและการมีบุคลากรสาธารณสุขที่มีคุณภาพ น่าจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสุขภาพที่ดีมากกว่าการวิ่งไล่ตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีในด้านการรักษาหรือการสร้างสุขภาพ ก่อให้เกิดคำถามสำคัญว่าควรจะมีการออกแบบระบบใหม่และพัฒนาศักยภาพบุคลากร ซึ่งหมายรวมถึงทั้งภาคประชาชนและผู้ให้บริการสุขภาพอย่างไร จึงจะทำให้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างน้อยๆ ในสามกลุ่มที่กล่าวมาสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ในทางบวกมากกว่าการป้องกันผลในทางลบ รวมทั้งมีการตัดสินใจเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในระดับประชากรที่มีประโยชน์และมีความคุ้มค่า แม้จะไม่ถึงขั้นไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ก็ทำให้ผู้ที่สมควรได้รับการดูแลได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพและทั่วถึงได้

ในขณะที่ความเพียรในการพัฒนาระบบใหญ่หรือการสร้างกลไกกำกับดูแลติดตามให้การใช้เทคโนโลยีเป็นไปอย่างมีประโยชน์สูงสุดและมีผลทางลบน้อยๆ ยังเกิดขึ้นได้ไม่เต็มที่ มีความสำคัญและความจำเป็นที่บุคลากรสาธารณสุขรวมทั้งประชาชนในวงกว้าง ทั้งผู้ป่วยและผู้ที่สนใจอยากมีสุขภาพดี อยากได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ จะต้องทำความเข้าใจถึงข้อดีและข้อจำกัดของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น หรือถูกนำเสนอเข้ามาในระบบอย่างจริงจัง หากจำเป็นคงต้องมีกลไกที่จะเข้ามาช่วย เพื่อจัดการให้ความหวังใหม่ๆ และความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองและการลงทุนเพื่อสุขภาพที่ดีของสังคมโดยรวมได้มาพบกัน พร้อมไปกับมีการพัฒนาระบบที่เข้มแข็งแต่ยืดหยุ่น โดยมีผลลัพธ์ทางสุขภาพของประชาชนเป็นเป้าหมายสำคัญ มากกว่าเป้าหมายทางเศรษฐกิจหรือได้ชื่อว่าทันสมัยเพราะได้เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ เท่านั้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save