fbpx

อยู่เองได้ โตเองเป็น ตอนที่ 2

หลังจากการเสวนาถึงหนังสือเรื่อง ‘อยู่เองได้ โตเองเป็น’ เสร็จสิ้นแล้ว (เมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2565 ที่สำนักพิมพ์ Bookscape) ถึงเวลาเรียบเรียงคำพูดของตัวเองออกมาเป็นบันทึกให้เรียบร้อย ตามประสานักพูดที่ไม่สามารถพูดครบถ้วนในเวลาจำกัด

เริ่มจากเหตุผลที่เราจำเป็นต้องให้เด็ก ‘อยู่เองได้ โตเองเป็น’ เพราะนี่เป็นยุคสมัยใหม่ เราพ้นระยะที่จะจับเด็กอ้าปากแล้วป้อนมาเรียบร้อยแล้ว พ่อแม่อยู่บ้านป้อนศีลธรรม ครูอยู่โรงเรียนป้อนความรู้ เราเชื่อว่าศตวรรษที่ 21 เด็กๆ จะไปไม่รอดด้วยศีลธรรมและความรู้

แม้แต่ป้อนอาหารเรายังเปลี่ยนเป็น BLW (baby-led weaning) ตั้งแต่ทารกอายุ 8 เดือนเลย เขาหยิบอาหารเข้าปากเอาเอง

เด็กๆ จะรอดได้ด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีความสามารถ executive function (EF) ซึ่งเป็นเรื่องที่หนังสือเล่มนี้เขียนถึงแต่ด้วยการใช้คำศัพท์ที่แตกต่างกัน มีที่เหมือนกันจังๆ อยู่สองเรื่อง

เรื่องแรกคือความจำใช้งาน (working memory) มีตอนหนึ่งที่เขียนว่าความจำใช้งานจะเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จที่ดีกว่าตัวเลขไอคิว ผมอธิบายเพิ่มเติมว่าเป็นเพราะเด็กที่บริหารความจำใช้งานได้ดีกว่าและเร็วกว่ามักมีการตัดสินใจที่ใช้ได้มากกว่าใช้ไม่ได้ และถึงแม้ว่าจะใช้ไม่ได้ก็ยังสามารถคิดยืดหยุ่นต่อไปได้ดีกว่า เพราะความจำใช้งานรวดเร็วกว่านั่นเอง

เรื่องที่สองคือเรื่องความสำคัญของสมองส่วนหน้าของส่วนหน้าที่เรียกว่า prefrontal cortex ซึ่งมีลักษณะเป็นกลีบอยู่ตอนหน้าของ frontal lobe ซึ่งหนังสือเลือกคำแปลว่าคอร์เท็กซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า สมองส่วนนี้เป็นฐานปฏิบัติการของ EF คือที่ซึ่งออโตโนมี (autonomy) ของทารกก่อตัว ผมอธิบายเพิ่มเติมว่าการก่อตัวของวงจรประสาท EF นี้จะเป็นไปด้วยความเร็วสูงจนกระทั่งค่อนข้างเรียบร้อยก่อนอายุ 9 ขวบที่ซึ่งกระบวนการตัดแต่งสมอง (synaptic pruning) จะเริ่มต้นหลังจากนั้น

ที่ผมพยายามจะบอกใครต่อใครเสมอคือนาทีทองอยู่ที่ 3 ขวบปีแรก ดีกว่านั้นคือ 7-8 ขวบปีแรก คือก่อนที่การตัดแต่งสมองจะเริ่มต้นขึ้นและก่อนที่เด็กจะขึ้นชั้นประถมอย่างสมบูรณ์ ที่ซึ่งเขาจะเลื่อนพัฒนาการไปที่ชั้นอินดัสตรี (industry) คือการเข้าสู่สังคมเป็นครั้งแรก

ที่อายุ 2-3 ขวบ เด็กๆ ควรได้รับโอกาสใช้และทดลองพลังของกล้ามเนื้อใหญ่ (gross motor) ส่วนที่ 4-7 ขวบ เด็กๆ ควรได้รับโอกาสใช้และทดสอบความสามารถของกล้ามเนื้อเล็ก (fine motor) ทั้งหมดนี้มิใช่เพื่อกล้ามเนื้อแข็งแรง แต่เพื่อการสร้างวงจรประสาท EF

หรือเราอาจจะเรียกว่า ‘วงจรประสาทอยู่เองได้ โตเองเป็น’ ก็ได้

ประเด็นที่อยากชี้คือการทดลองกล้ามเนื้อใหญ่และการทดสอบกล้ามเนื้อเล็กที่อายุ 2-7 ขวบนี้เป็นเรื่องเล็กๆ และใกล้ตัวเสียมาก เช่น จะกระโดดได้กี่ฟุตโดยไม่ล้มคะมำ หรือจะปีนต้นไม้ได้สูงกี่เมตรโดยไม่ร่วงลงมา จะใช้ปากกาขีดเฟอร์นิเจอร์ในห้องรับแขกได้หรือเปล่า จะเอาแป้งทั้งกระป๋องโรยทั่วบ้านได้หรือไม่ นอกจากเป็นเรื่องใกล้ตัวและมีความเสี่ยงไม่มากแล้ว ยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เราพ่อแม่ยังมีอำนาจเหนือมากพอที่จะสั่งสอน จัดการ หรือวางกฎ กติกา มารยาทได้ 

ทั้งหมดนี้จะฟอร์มตัวเป็นวงจรประสาทอยู่เองได้ โตเองเป็น เพื่อเตรียมตัวเผชิญและตัดสินใจเรื่องที่ยากกว่ากับมีความเสี่ยงสูงกว่าในอนาคตที่ไม่นานเกินรอ

จบ ม.6 จะเลือกเรียนอะไรดี จบปริญญาตรีจะทำงานอะไรดี จะทนอยู่ต่อหรือหย่าดี จะทนทำงานต่อหรือลาออกดี จะทนถูกบูลลี่หรือรุกรานทางเพศหรือโต้กลับดี เป็นต้น อายุมากเท่าไรยิ่งพบเรื่องซับซ้อนมากขึ้น การตัดสินใจยากขึ้น เดิมพันสูงขึ้น และความเสี่ยงสูงขึ้น ถ้าเด็กไม่สามารถฝึกการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองตั้งแต่แรกจะไม่มีวงจรประสาทอยู่เองได้โตเองเป็นนี้ไว้ใช้งานในอนาคต 30-40 ปีข้างหน้า ไม่ซึมเศร้าตอนมัธยมก็ฆ่าตัวตายเมื่อวัยกลางคน

ปัญหาของพวกเราคือเราไม่มีเวลา พ่อแม่ชนชั้นกลางไม่มีเวลาเพราะไปทำงาน พ่อแม่ชนชั้นล่างไม่ได้เห็นหน้าลูกเลยสามเดือนเพราะจากไปทำงานแดนไกล พ่อแม่ชนชั้นไหนก็ส่งลูกไปโรงเรียนเรียนหนังสือและทำการบ้านไม่มีสาระ อีกทั้งอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่คับแคบเหลวไหลทำลายความสามารถอยู่เองได้โตเองเป็นจนหมดสิ้นในเวลา 12 ปีของชั้นประถมถึงมัธยม หรืออาจจะตั้งแต่ 3 ปีแรกของชั้นอนุบาล และบางที่มากไปกว่านั้นคือตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาล

ผมพูดเสมอว่าเราเสวนาเรื่องทำนองนี้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เมื่อมีดำริจะปฏิรูปการศึกษาแล้ว และเราจัดเวทีลักษณะนี้มา 25 ปีแล้ว จนวันนี้ก็ไม่เคยเห็นแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมจากนักการเมืองพรรคใดเลยว่าจะรื้อทิ้งระบบการศึกษาที่เป็นอยู่แล้วเริ่มต้นใหม่เป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร รวมทั้งจะกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้แก่ส่วนท้องถิ่นเป็นขั้นเป็นตอนเมื่อไรและอย่างไร

ดังนั้นเรื่องจะกลับมาที่คุณพ่อคุณแม่ ‘เราทำเองได้ เราทำเองเป็น’

ในความเป็นจริงของชีวิต เด็กๆ ถูกแย่งเวลาวันละมากกว่า 10 ชั่วโมงทุกวัน รวมเวลาตั้งแต่การเดินทางบนท้องถนน ใช้ชีวิตที่โรงเรียน ทำการบ้านตอนเย็นและเรียนพิเศษวันหยุด แล้วเด็กก็โตขึ้นทุกวัน เวลาวิกฤตของแต่ละคนจะผ่านไปเร็วมากในเวลาเพียง 7-8 ปี ที่พ่อแม่ชนชั้นกลางควรทำคือช่วงชิงเวลาคืนมา ด้วยทุกวิถีทางที่ทำได้ เอาคืนมาทำอะไร เอามาให้เด็กได้ฝึกวิชา อยู่เองได้โตเองเป็น และวิชาที่ควรฝึกคือ อ่าน-เล่น-ทำงาน

ไม่ใช่สิ! (สำนวนการ์ตูนญี่ปุ่น) เราไม่ควรใช้คำว่า ‘วิชา’ (เพราะมันแย่) เอาใหม่ เอาคืนมาทำอะไร เอามาให้เด็กได้ฝึกฝีมือ อยู่เองได้โตเองเป็น และฝีมือที่ควรฝึกคือ อ่าน-เล่น-ทำงาน

สำหรับพ่อแม่ชนชั้นล่างสารภาพว่าเราคงได้แต่รอรัฐที่มีความสามารถมาเกิด รัฐที่จะช่วยให้พวกเขามีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น ช่วยพัฒนาคุณครูศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลทุกแห่งให้มีความสามารถระดับสูง และปฏิรูปการศึกษาระดับประถมและมัธยมด้วยความรวดเร็ว

เวลาไม่คอยท่า ความบ้าไม่รอใคร  

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save