fbpx

ทักษิณ ชินวัตร จากอัศวินคลื่นลูกที่สาม สู่นักปฏิรูปการเมือง จบที่นักเลือกตั้ง

มีการคาดหมายกันว่า อย่างช้าสุดไม่เกินวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ คุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจะถูกปล่อยตัวกลับบ้าน หลังเข้าเกณฑ์พักโทษ (พร้อมกับอีกหลายคน)

อุณหภูมิการเมืองไทยหลังจากนี้ คงร้อนแรงขึ้นกว่าเดิม มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการวางตัวและเดินเกมของคุณทักษิณ

ก่อนหน้านี้มีคำกล่าวหนึ่งที่ฝ่าย ‘เอาทักษิณ’ มักจะยกมาพูดเสมอ เมื่อใครก็ตามวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการเมืองแล้วพาดพิงคุณทักษิณว่า ‘ก้าวไม่ข้ามทักษิณ’ โดยนัยคำกล่าวนี้เพียงเพื่อจะสรุปว่า ‘ทักษิณ’ คือเหยื่อ / ผู้ถูกกระทำ / แพะ ของแต่ละประเด็นที่มีการพาดพิง

แน่นอนบางประเด็นก็มีข้อเท็จจริงให้ควรสรุปเช่นนั้นอยู่บ้าง แต่ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง หากไม่ปิดหูปิดตาจนเกินไปก็จะมองออกว่า หลังการถูกรัฐประหารในปี 2549 คุณทักษิณยังเป็นตัวละครระดับ ‘ขุน’ บนกระดานหมากรุกการเมืองไทยมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ที่ว่า ‘ก้าวไม่ข้ามทักษิณ’ เหตุผลสำคัญสุดก็เพราะคุณทักษิณยังตัวใหญ่เกินกว่าใครจะก้าวข้ามต่างหาก

เพื่อต้อนรับการกลับคืนสู่อิสรภาพของคุณทักษิณ ผมชวนย้อนทบทวนบทบาทในอดีตและภาพจำใหม่ของคุณทักษิณที่กำลังเกิดขึ้นจากนี้ไป

อัศวินคลื่นลูกที่สาม

ก่อนเข้าสู่การเมืองเต็มตัว ทักษิณคือนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่โดดเด่นสุดๆ ในช่วงทศวรรษ 2530-2540 จากธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ที่ล้ำหน้า  

ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของทักษิณ ไม่เพียงถีบตัวเองจากอดีตข้าราชการตำรวจ ลูกชนชั้นกลางค่อนไปทางสูง ให้กลายเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีพันล้านหมื่นล้านภายในระยะเวลาที่สั้นกว่าตระกูลมหาเศรษฐียุคเก่า

ความสำเร็จที่มาจากการก้าวทันคลื่นการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยของโลก จากคลื่นลูกที่หนึ่ง ‘เกษตรกรรม’ สู่คลื่นลูกที่สอง ‘อุตสาหกรรม’ และเข้าสู่ยุคคลื่นลูกที่สาม ‘เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต’ ยังทำให้ทักษิณได้รับการยอมรับจากแวดวงธุรกิจทั้งในและต่างประเทศถึงความเฉียบคมด้านวิสัยทัศน์

สรกล อดุลยานนท์ เจ้าของนามปากกา ‘หนุ่มเมืองจันท์’ นักเขียนชื่อดังและอดีตสื่อมวลชนที่คร่ำหวอดในสายเศรษฐกิจธุรกิจ ถึงกับเขียนหนังสือเล่าเส้นทางความสำเร็จของคุณทักษิณในชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร : อัศวินคลื่นลูกที่สาม‘ เป็นหนังสือที่ขายดีติดอันดับต้นๆ ของหมวดประวัติชีวิตคนดังในไทย รวมถึงหนังสือแนวโนว์ฮาวทางธุรกิจ และถูกตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายรอบ

ชื่อ ‘อัศวินคลื่นลูกที่สาม’ กลายเป็นฉายาและภาพจำของคุณทักษิณในภาคธุรกิจที่คนร่วมสมัยยอมรับโดยสนิทใจและไม่เคยลืมเลือน

นักปฏิรูปการเมือง

อันที่จริงก่อนที่คำว่า ‘นักปฏิรูปทางการเมือง’ จะกลายเป็นแบรนด์ของ ‘อนาคตใหม่-ก้าวไกล’ ที่คนส่วนใหญ่รับรู้ในวันนี้ ผมอยากจะบอกว่าคุณทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทยที่เขาก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 หรือเกือบ 26 ปีที่แล้วเคยสร้างความรู้สึกเช่นเดียวกันนี้ให้กับประชาชนยุคนั้นมาแล้ว

เพียงแต่ในเชิงการสื่อสารการเมือง ถ้อยคำที่คุณทักษิณและพรรคไทยรักไทยเลือกใช้เพื่อเป็นธงในการกำหนดยุทธศาสตร์+ยุทธวิธี คือคำว่า ‘คิดใหม่ ทำใหม่’ ซึ่งโดยนัยแล้วความหมายเดียวกันกับคำว่า ‘ปฏิรูป’

การคิดใหม่ ทำใหม่ หรือปฏิรูปทางการเมืองของคุณทักษิณ เริ่มกระบวนการก่อนจดทะเบียนตั้งพรรคอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ มีการระดมนักวิชาการ ผู้รู้จริงในแต่ละด้าน มาร่วมกันคิดค้นนโยบาย ลงพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกับประชาชนทั่วทุกภูมิภาค นำมาสู่การออกแบบนโยบายที่ตรงกับความต้องการและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

ในแง่ของผู้คนที่ร่วมก่อตั้งพรรค ในช่วงแรกเริ่มก็คิดใหม่ ทำใหม่ ฉีกไปจากการเมืองแบบเก่า เพราะผู้คนที่คุณทักษิณชักชวนมาส่วนใหญ่ไม่ใช่นักการเมืองเดิมๆ แต่เป็นคนหน้าใหม่มาจากหลากหลายสาขา บางคนถึงขั้นโนเนม สังคมยังไม่รู้จัก แต่พวกเขามีความรอบรู้ในสาขาของตัวเอง  

ผู้ร่วมก่อตั้งบางคนเพิ่งจบปริญญาโท อายุไม่ถึง 25 ปี ซึ่งเป็นความตั้งใจของคุณทักษิณที่อยากให้คนรุ่นใหม่ (ในเชิงอายุ) มาร่วมขับเคลื่อนพรรคและขับเคลื่อนประเทศ

เกริ่นมาเพียงเท่านี้เห็นได้ชัดเลยว่า แนวคิดการทำงานการเมืองของทักษิณและไทยรักไทยยุคนั้นก็คล้ายคลึงกับธนาธรและอนาคตใหม่ใน 20 ปีต่อมา

แล้วนโยบายอะไรบ้างที่บ่งบอกว่าทักษิณและพรรคไทยรักไทยคือนักปฏิรูปผู้มาก่อนกาล

คำตอบนี้ ขอเริ่มด้วยการฉายภาพรวมว่าด้วยนโยบายหาเสียงช่วงเลือกตั้ง ทักษิณและพรรคไทยรักไทยคือผู้ปฏิรูปการหาเสียงด้วยนโยบายที่จับต้องได้เป็นรูปธรรมและเป็นระบบ

ก่อนการเลือกตั้งปี 2544 พรรคการเมืองในยุคนั้นมักนิยมหาเสียงด้วยจุดขาย ‘ใจซื่อ มือสะอาด’ ส่วนในแง่นโยบายมักพูดรวมๆ แบบตีขลุมว่าจะทำให้ประชาชน ‘อยู่ดีกินดี’ แต่จับต้องได้ยาก เห็นภาพไม่ชัดว่าจะทำอะไรและอย่างไร เวลาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเลยนิยมไปดัดแปลงจากแผนสภาพัฒน์ฯ ใครที่ทันยุคนั้นเลยมักจะพูดว่านโยบายแต่ละพรรคคล้ายๆ กัน การเลือกจึงขึ้นอยู่กับความนิยมของพรรคและตัวผู้สมัครเป็นหลัก

แต่การปฏิรูปนโยบายหาเสียงของทักษิณและไทยรักไทยที่กล้าประกาศชัดๆ ให้จับต้องได้ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค, พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี, กองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท, 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์, 1 ทุน 1 อำเภอ, ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย ฯลฯ นำมาซึ่งการตอบรับจากประชาชนอย่างมาก (เป็นสาเหตุหนึ่งที่ สส. หลายพรรคเริ่มย้ายมาสังกัดไทยรักไทย) และชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแนวทางการหาเสียงที่หลายพรรคต้องแข่งกันคิดค้นนโยบายในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ มา

เมื่อทักษิณได้เป็นนายกฯ นโยบายเหล่านี้ถูกนำมาผลักดันอย่างจริงจังจนเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่กล่าวได้ว่าคือ ‘การปฏิรูป’

30 บาทรักษาทุกโรค คือการปฏิรูประบบสุขภาพและโครงสร้างสาธารณสุขครั้งใหญ่สุด ตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475

พักชำระหนี้เกษตรกร, 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์, ส่งเสริมผู้ประกอบการการรายย่อย คือการปฏิรูปเพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้อย่างเป็นระบบให้กับรากหญ้า

ปฏิรูประบบราชการ นี่คืออีกหนึ่งผลงานที่โดดเด่นด้านการปฏิรูปของคุณทักษิณ คนที่เติบโตทันในยุคนั้นจำได้ดีว่าการให้บริการของราชการยุคนั้นเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างมาก ทั้งในแง่ความสะดวกรวดเร็วและบริการที่เป็นมิตร

ปฏิรูปนโยบายด้านการต่างประเทศ คุณทักษิณคือคนที่เปลี่ยนวิธีคิดการทำงานของทูตจากเชิงรับเป็นเชิงรุก เป็นเซลล์แมนของประเทศ ตัวคุณทักษิณเองก็ฉายความเป็นผู้นำจนได้รับการยอมรับทั่วโลก อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นยุคที่บทบาทไทยในเวทีโลกโดดเด่นมากที่สุด

การปฏิรูปกองทัพ ประเด็นนี้คุณทักษิณและพรรคไทยรักไทยอาจไม่ได้พูดตรงๆ แต่แสดงออกด้วยการบริหารจัดการภายใต้อำนาจของรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากท่วมท้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือจากเดิมตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ โดยเฉพาะ ผบ.ทบ. ที่เคยทรงอิทธิพลแทบจะอยู่ในระนาบเดียวกับนายกรัฐมนตรี พูดอะไรทีรัฐบาลยุคก่อนๆ ต้องเงี่ยหูฟัง แต่ในยุครัฐบาลไทยรักไทยสมัยแรก ตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ ลงมาอยู่ในระดับปกติที่ควรจะเป็น คือระนาบอธิบดี  

ใครจะได้เป็น-ไม่ได้เป็น อำนาจตัดสินใจอยู่ที่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งโดยหลักการระบอบประชาธิปไตยควรจะเป็นเช่นนั้น แต่การไปแตะเรื่องนี้นี่เองที่เป็นส่วนสำคัญของจุดเริ่มต้นที่ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญไม่พอใจคุณทักษิณและรัฐบาลไทยรักไทยจนเกิดวาทะประวัติศาสตร์ “รัฐบาลก็เหมือนกับจ็อกกี้ คือเข้ามาดูแลทหาร ไม่ใช่เจ้าของทหาร เจ้าของทหารคือชาติ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว…เด็กขี่ม้าบางคนก็ขี่ดี ขี่เก่ง บางคนก็ขี่ไม่ดี ขี่ไม่เก่ง รัฐบาลก็เหมือนกัน”

ถ้าใช้ศัพท์ทางการเมืองยุคนี้ก็ต้องบอกว่า สัญญาณความพยายาม ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ อำนาจของคุณทักษิณและรัฐบาลไทยรักไทยจากปีกอนุรักษนิยมจารีตแรงขึ้นตามลำดับ

กระทั่งเกิดการรัฐประหาร 2549 มีการยุบพรรคไทยรักไทย กระนั้นคุณทักษิณยังไม่ถอดใจ ‘นักปฏิรูป’ เดินหน้าสู้ต่อในนามพรรคใหม่ (พลังประชาชน) ชนะก็จริง แต่ได้เป็นรัฐบาลไม่นานก็แพ้เกมการเมือง (มีกองทัพยืนทะมึนอยู่ข้างหลัง) และถูกยุบพรรคอีกครั้ง

โดยส่วนตัวผมคิดว่าวิญญาณนักปฏิรูปในตัวคุณทักษิณพุ่งสูงสุดในช่วงปี 2552-2553 ที่จบโดยกองทัพยุคนั้นล้อมปราบประชาชนกลางเมืองด้วยความรุนแรง

คุณทักษิณกลับมาชนะทางการเมืองได้อีกในปี 2554 (พรรคเพื่อไทย) และแม้จะเริ่มเพลาวิญญาณนักปฏิรูป เพื่อประนีประนอมกับปีกอนุรักษนิยมจารีตแล้ว แต่ก็ถูกโค่นล้มด้วยการรัฐประหารซ้ำสองในปี 2557 และแม้จะชนะเลือกตั้งได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ในปี 2562 คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยก็ยังแพ้เกมการเมืองปีกอนุรักษนิยมจารีตไม่ได้เป็นรัฐบาล

นักเลือกตั้ง

จะด้วยเหตุผลอายุมากขึ้น อยู่ต่างประเทศนานจนอยากกลับบ้าน บวกกับเริ่มตระหนักปรัชญาชีวิต ‘อยู่กับ real politic’, ‘ตาดูดาว เท้าติดดิน’, ‘ฝันถึงดวงดาว ไปไกลแค่ยอดมะพร้าว’ คุณทักษิณค่อยๆ เริ่มถอดใจนักปฏิรูปกลับสู่บท ‘นักเลือกตั้ง’

สัญญาณนี้มีมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งปี 2566 ส่งผ่าน 2 ประเด็นใหญ่ที่กำลังร้อนแรงโดยม็อบเยาวชนในปี 2563-2564 คือเรื่อง ปฏิรูปสถาบันฯ และการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งคุณทักษิณไม่เห็นด้วยทั้งสองประเด็น

เมื่อเข้าโหมดเลือกตั้งเต็มตัว คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยก็ถอดหัวใจนักปฏิรูปทิ้ง สวมหัวใจนักเลือกตั้งแทน เน้นขายปากท้องมากกว่าปัญหาเชิงโครงสร้าง จุดยืนอุดมการณ์ไม่ชัดเก็บไว้ในลิ้นชักชั่วคราว จนโค้งสุดท้ายเมื่อเห็นว่าก้าวไกลมาแรงเพราะจุดยืนอุดมการณ์ ‘ไม่เอาลุง’ ชัด ขณะที่เพื่อไทยกลับแผ่วลง

ถึงสะเดาะกุญแจ งัดลิ้นชักโชว์จุดยืนอุดมการณ์ที่เคยเป็น ‘นักปฏิรูป’ บ้าง แต่ก็สายไปอย่างที่เห็น

ไหนๆ ก็แพ้ ยอมรับและเข้าใจปรัชญาชีวิตที่กล่าวข้างต้นแล้ว การตระบัดสัตย์ย้ายข้างไปรวมกับปีกอนุรักษนิยมจารีตจึงเป็นเรื่องปกติ ไม่ผิดอะไรในความคิดของ ‘นักเลือกตั้ง’

คนพวกนี้เชื่อว่าขอให้มีอำนาจในมือไว้ก่อน คะแนนนิยมและความรักจะกลับมา

กว่า 20 ปี บนเส้นทางนักปฏิรูป ยาวนานและเหนื่อยเกินไปที่จะสู้อย่างทรนง พวกเขาไม่เชื่อว่าในทางการเมือง ‘ความเชื่อถือ’ คือหัวใจสำคัญ

วันนี้อาจยังไม่มีคำตอบหรือข้อพิสูจน์ชัดๆ จนกว่าจะถึงการเลือกตั้งรอบใหม่ (ถ้ายังมี) แต่ที่พอให้คำตอบได้บ้างแล้ว จากคะแนนนิยมของคุณทักษิณและพรรคคุณทักษิณที่เคยสร้างประวัติศาสตร์ไว้สูงสุดราว 19 ล้านเสียงในการเลือกตั้งปี 2548 แต่เลือกตั้งปี 2566 คะแนนนิยมตกลงมาอยู่ที่ 10.9 ล้านเสียง ที่สำคัญคือเป็นการแพ้เลือกตั้งครั้งแรกของสุดยอดนักเลือกตั้งอย่างคุณทักษิณในรอบกว่า 20 ปี

คุณทักษิณอาจเป็นคนแรกของโลกที่สร้างนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งมาแล้ว 5 คน (ทักษิณ, สมัคร, สมชาย, ยิ่งลักษณ์, เศรษฐา) และกำลังจะสร้างคนที่ 6 ในสมัยนี้ (แพทองธาร)

นั่นเป็นประวัติศาสตร์ส่วนตัวที่น่าทึ่ง แต่คุณทักษิณจะถูกจดจำในฐานะ ‘นักเลือกตั้ง’ ไม่ใช่ในฐานะ ‘นักปฏิรูป’ และหรือ ‘รัฐบุรุษ’ ในใจผู้รักประชาธิปไตยที่แท้จริง แน่นอน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save