fbpx

ระบอบทักษิณ-ระบอบประยุทธ์ จุดเริ่มต้นแตกต่าง ปลายทางเดียวกัน

ระบอบทักษิณ


หลังทักษิณ ชินวัตรกลับมาโลดแล่นบนเวทีการเมืองอย่างเปิดเผย แม้จะยังอยู่ในช่วงพักโทษ กว่าจะมีอิสรภาพเต็มตัวก็ราวสัปดาห์ที่สามของเดือนสิงหาคมปีนี้ แต่ก็เริ่มมีอดีตศัตรูทางการเมือง นักวิชาการและนักวิเคราะห์การเมืองทั่วๆ ไปปลุกกระแสให้ผู้คนหลอนกับการกลับมาของคำว่า ‘ระบอบทักษิณ’ เหมือนที่คนกลุ่มนี้เคยหลอนในช่วงหลังเลือกตั้งปี 2548 ที่พรรคไทยรักไทยชนะถล่มทลาย กลายเป็นรัฐบาลพรรคเดียวครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แล้วคำว่า ‘ระบอบทักษิณ’ ในความหมายที่พยายาม ‘หลอน’ กันคืออะไร ในความเห็นผม คนเหล่านี้ให้คำจำกัดความอย่างหยาบในเชิงลบ โดยสรุปเหมารวมผ่านคีย์เวิร์ด 3 ข้อ

1. เผด็จการทางรัฐสภา

2. ทุจริตเชิงนโยบาย 

3. ข้อกล่าวหาสูตรสำเร็จแห่งยุคสมัย ‘ไม่จงรักภักดี’

ความพยายาม ‘หลอน’ สังคมให้เกลียดกลัว ‘ระบอบทักษิณ’ ใช้เวลายาวนานหลายปีและใช้เครื่องมือทางการเมืองทั้งการรัฐประหาร และนิติสงคราม (ถ้าจำไม่ผิดคนแรกๆ ที่ใช้คำนี้คือ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล) หลายครั้ง

กระนั้นก็รื้อทำลายได้ชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อถึงเวลาลงสนามเลือกตั้งให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ‘ระบอบทักษิณ’ ที่คนบางกลุ่มหลอนและเกลียดกลัวก็ฟื้นกลับมาชนะเป็นพรรคอันดับ 1 ได้ทุกครั้ง

มีเพียงครั้งล่าสุดในปี 2566 ที่มนต์ขลังระบอบทักษิณเจือจางลง เพราะความเข้มข้นจากมนต์ขลัง ‘สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง’ ที่พรรคก้าวไกลพัดกระหน่ำใส่ หาใช่พ่ายแพ้เพราะศัตรูทางการเมืองกลุ่มเดิมๆ ที่ฟาดฟันกันมาหลายสิบปี

แต่ในฐานะคนร่วมสมัยที่เห็นการก่อกำเนิดเติบโตจนงอกงามในใจประชาชนส่วนใหญ่ (ปี 2541-2562) ผมเห็นต่างกับภาพที่ถูกหลอน

และคีย์เวิร์ดของคำว่า ‘ระบอบทักษิณ’ สำหรับผมคือ

1. การเมืองที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะฐานล่างของพีระมิดซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ นำมาซึ่งการออกแบบนโยบายทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศ ทำให้คนรากหญ้าจนถึงผู้ประกอบการขนาดเล็ก-กลาง ลืมตาอ้าปากและยืนบนขาตัวเองอย่างแข็งแรง

เมื่อผสานกับการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจในเชิงมหภาคที่ได้ผล ระบอบทักษิณจึงทำให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่แข็งแรง พร้อมแข่งขันในระดับโลก จนเกิดคำอธิบายความสำเร็จแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยยุคปี 2544-2548 ว่า ‘ทักษิโณมิกส์’ (ผู้ให้คำจำกัดความคือ นางกลอเรีย อาร์โรโย อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ยุคเดียวกับที่ทักษิณ เป็นนายกฯ)

การยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภาษาในการสื่อสารทางการเมือง คือ ‘พรรคไทยรักไทย หัวใจคือประชาชน‘ นำมาซึ่งความสำเร็จในการเลือกตั้งปี 2544 และ 2548 เช่นที่กล่าวข้างต้น

การได้รับคะแนนเสียงข้างมากระดับ 377 จาก 500 เสียง (ปี 2548) แต่กลับถูกคนบางกลุ่มหลอนว่าเป็น ‘เผด็จการรัฐสภา’ จึงเป็นข้อกล่าวหาที่เหลวไหลจากศัตรูทางการเมืองที่ไม่ยอมรับฟังเสียงประชาชน

2.ประชานิยม คีย์เวิร์ดนี้เป็นการขยายความต่อจากข้อ 1 เพื่อลงลึกในคอนเซ็ปต์และรายละเอียดของแต่ละนโยบาย

นี่ไม่ใช่คำเลวร้ายในทางการเมือง แต่ควรเป็นปรัชญาทางการเมืองที่ทุกพรรคควรยึดถือเป็นแบบอย่างด้วยซ้ำไป เพราะถ้าเชื่อว่าในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนคือผู้มีอำนาจสูงสุด หากไม่ออกแบบนโยบายที่ประชาชนนิยม พรรคการเมืองจะไปหาคะแนนเสียงจากไหน เพื่อให้ได้อำนาจรัฐมาบริหารประเทศ

ประชานิยมทำให้ประชาชนตื่นรู้ว่า ‘ประชาธิปไตยกินได้’ และนำมาซึ่งความเข้าใจ ปกปักรักษาระบอบประชาธิปไตยให้เติบโตแข็งแรงและยั่งยืน

3. ลดความเป็นรัฐราชการ ระบอบทักษิณทำให้ภาพประเทศไทยที่ขับเคลื่อนแบบรัฐราชการซึ่งมีพรรคข้าราชการเป็นพรรคใหญ่สุดทางการเมืองมาตลอดเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัด ทั้งในแง่การกำหนดนโยบายและทิศทางประเทศ และการให้บริการอำนวยความสะดวกประชาชน ผู้มาติดต่อในเรื่องต่างๆ

กล่าวโดยสรุป สำหรับผม ระบอบทักษิณจึงมีคุณูปการต่อประเทศและประชาชน แน่นอนว่ามีบางมุมที่ผมเห็นด้วยว่านอกจากไม่โดดเด่น ยังมีข้อบกพร่องให้ตำหนิ เช่น ด้านสิทธิมนุษยชน


ระบอบประยุทธ์


หลังการรัฐประหาร 2557 ราวครึ่งปี สารภาพว่าผมไม่เคยเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ในอำนาจบริหารประเทศได้ยาวนานจนเกิดระบอบประยุทธ์

เช่นเดียวกับอีกสองระบอบ คือระบอบทักษิณ (ที่กล่าวไปแล้ว) กับระบอบเปรมาธิปไตย ในยุคที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี (2523-2531)

เหตุที่ผมปรามาส เพราะดูจากวิสัยทัศน์-บุคลิก-พื้นฐานการศึกษา-ความรอบรู้โลกยุคใหม่ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ในช่วง 6 เดือนแรกไม่ฉายแววให้เห็นในฐานะ ‘ผู้นำ’ เลย แต่เพราะความฉลาดแพรวพราวในการบริหารอำนาจทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ เลยกลายเป็นหนึ่งในผู้นำไทยไม่กี่คนที่คนในแวดวงการเมืองเรียกขานยุคสมัยที่เรืองอำนาจว่าสร้าง ‘ระบอบ’ ของตัวเองไว้

แล้วระบอบประยุทธ์คืออะไร เช่นเดียวกับระบอบทักษิณหรือระบอบเปรมาธิปไตย ถ้าจะเอาการอธิบายความในเชิงทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ มีงานเขียน วิจัย วิเคราะห์ไว้หลายชิ้นหลายคน

แต่ความเห็นผม ขอมองแบบประชาชนร่วมสมัย ทั้งยุคระบอบเปรมาธิปไตย – ระบอบทักษิณ – ระบอบประยุทธ์

ระบอบประยุทธ์มีความละม้ายกับระบอบเปรมาธิปไตยอย่างมาก คือมีความเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบเหมือนกัน ประชาชนไม่ใช่ศูนย์กลาง ไม่ใช่ ‘หัวใจ’ ของระบอบ แต่ประชาชนอยู่ในฐานะผู้ถูกปกครองโดยรัฐ

การจะได้รับประโยชน์อื่นใดจากรัฐ สถานภาพจึงคล้ายกับการสงเคราะห์  

การขับเคลื่อนประเทศของทั้งสองระบอบ มีความเป็นรัฐข้าราชการสูง กองทัพ เทคโนแครต และกลุ่มทุนใหญ่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ

ข้อแตกต่างที่ระบอบประยุทธ์ไม่เหมือนระบอบเปรมาธิปไตย คือการใช้อำนาจ ‘กดทับ’ ความเห็นต่าง (โดยเฉพาะทางการเมือง) ในระดับที่เข้มข้นกว่ามาก ประเมินจากข้อวิพากษ์วิจารณ์หลายฝ่ายที่มักจะใช้คำว่า ‘เผด็จการ’ กับ พล.อ.ประยุทธ์  

ขณะที่ พล.อ.เปรม แม้ภาพรวมการเมืองยุคนั้น จะถูกเรียกขานว่าเป็น ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ แต่เสียงกล่าวหาว่า พล.อ.เปรม เป็น ‘เผด็จการ’ กลับมีน้อยมาก

ประกอบกับบุคลิกส่วนตัวที่แตกต่าง ขณะที่ พล.อ.เปรม สุภาพ พูดน้อย ดูเป็นมิตร และส่วนใหญ่เต็มไปด้วยมธุรสวาจา แต่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับตรงกันข้าม แม้เจ้าตัวพยายามทำให้ภาพลักษณ์ดูซอฟต์ลง ด้วยการบอกว่าจริงๆ เป็นคนตลก แต่ก็ลบภาพจำ ‘ลุงฉุน’ ไม่ได้

อีกข้อแตกต่างที่ชัดคือ ในแง่ภาพรวมการบริหารประเทศและเศรษฐกิจ ยุคระบอบเปรมาธิปไตยถูกยอมรับว่าวางโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาประเทศไว้ดีและมั่นคง จนดอกผลงอกงามในยุครัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

คำว่า ‘โชติช่วงชัชวาล’ คือวลีจำกัดความที่สร้างความหวังอนาคตเศรษฐกิจไทยในยุคระบอบเปรมาธิปไตยได้เป็นอย่างดี แต่ระบอบประยุทธ์กลับถูกหลายฝ่ายมองว่า ทำให้โครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมถอยหลังกว่ายุคสมัยอื่น ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างกว่าเดิม

คอลัมน์นี้ไม่ขอยกสถิติตัวเลขหรือดัชนีชี้วัดแต่ละด้านมาประกอบ แต่จะขอยกตัวเลขเดียวคือผลการเลือกตั้ง 2566 ที่พรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคร่วมรัฐบาลภายใต้ระบอบประยุทธ์ แพ้ให้กับพรรคน้องใหม่เช่นก้าวไกลขาดลอย

ทั้งๆ ที่ระบอบประยุทธ์ใช้เวลายาวนานถึง 9 ปีออกแบบกติกา ทำทุกอย่างเพื่อรักษาดุลอำนาจไว้ แต่เมื่อถึงวันเวลาให้ประชาชนตัดสินก็แพ้ย่อยยับ จนต้องหย่าศึกกับ ‘ผีทักษิณ-ระบอบทักษิณ’ หันมาจับมือกันผนึกกำลังสู้กับปีศาจกาลเวลา คือ ‘ผีก้าวไกล’ ที่ตามหลอนด้วยคำว่า ‘สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง’


เมื่อย้อนไปดูอดีต แม้จุดเริ่มต้นของระบอบทักษิณและระบอบประยุทธ์จะแตกต่างกัน แต่เพราะความรวนเรไม่มั่นคงในจุดยืนที่เคยสร้างความสำเร็จให้กับระบอบทักษิณมาก่อน ทำให้ปลายทางในวันนี้ทั้งสองระบอบตัดสินใจหลอมรวมกัน หัวใจจึงมอบให้ ‘ช้างตัวใหญ่’ มิใช่ ‘ประชาชน’ ที่อยู่ในห้องเดียวกัน

คำถาม: แล้วประชาชนส่วนใหญ่ จะอยู่ร่วมกับ ‘ช้างตัวใหญ่’ ต่อไปอย่างไรดี

คำตอบ: ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งปี 2570 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save