fbpx

Inner Art : เปลี่ยนความกลัวเป็นพลังแห่งความกล้า เติบโตอย่างงดงามด้วยจังหวะชีวิตตัวเอง

นอกเหนือจากการสอนความรู้เชิงวิชาการในระบบการศึกษา ‘ศิลปะด้านใน’ ยังเป็นอีกหนึ่งแนวทางการพัฒนาตนเอง ไปจนถึงการใช้เป็นวิธีการใหม่ในการทำงานกับเด็กเล็ก ศิลปะที่มีมากกว่าการวาดรูป ระบายสี คือเส้นทางของการเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ที่สัมพันธ์กับธรรมชาติและความงดงามที่อยู่รอบตัว เป็นการเรียนรู้พัฒนาการของมนุษย์เพื่อส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่าพลังชีวิตในแต่ละช่วงวัยอย่างเข้าใจในความเป็นไปของชีวิต และเป็นดั่งการทำงานกับ ‘ความกลัวของตัวเอง’ ไปจนถึงคำถามที่เกิดขึ้นในหัวและในใจ เป็นคำถามในใจที่ไม่มีใครตอบแทนให้ได้ นอกจากตัวของเราเอง

แตกต่างจากคลาสเรียนศิลปะที่เราเคยร่ำเรียนตั้งแต่ยังเยาว์วัย ‘ศิลปะด้านใน’ มีมากกว่าการวาดรูป ระบายสี หากคือเส้นทางของการเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ที่สัมผัสและสัมพันธ์กับธรรมชาติ รวมถึงความงดงามที่อยู่รอบตัว คือการเรียนรู้พัฒนาการของมนุษย์เพื่อส่งเสริมพลังชีวิตในแต่ละช่วงวัยอย่างเข้าใจในความเป็นไปของธรรมชาติ จนถึงที่สุดแล้ว ศิลปะด้านในคงเป็นแนวทางที่ไม่มีคำนิยามตายตัว เพียงแต่จะเป็นหนทางที่ทำให้ผู้ที่เลือกเดินเส้นทางนี้พาตัวเองก้าวข้ามความความหวาดกลัวของตัวเองในอดีตไป

เช่นเดียวกับทุกเส้นทางการศึกษาอื่นๆ ในโลก เส้นทางเดินของผู้คนบนถนนสายชีวิตเส้นนี้ ย่อมพบเจอทั้งดอกไม้และขวากหนาม มีวันฝนตก ฟ้าหม่น วันแดดออก ฟ้าสดใส โลกที่หมุนเปลี่ยนแปลงไปได้พัดพาให้ตัวกับใจของคนเราค่อยๆ ห่างกันออกไป รู้ตัวอีกทีมีบางสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสมดุล’ ได้หล่นหายไปจากชีวิต  ทำให้ผู้คนต้องวิ่งไล่ล่าตามหาสิ่งที่ขาดหายไป จนหลงลืมความงดงาม และพลังที่ยิ่งใหญ่ของกายใจในตัวเอง

101 พูดคุยกับผู้เข้ารับการอบรมศิลปะด้านใน ที่นำแนวทางศิลปะแนวมนุษยปรัชญามาผสานในการใช้ชีวิต ไปจนถึงการดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก ถึงความสำคัญของการนำศิลปะมาทำงานกับเด็ก ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในหัวใจ รวมถึงโลกและธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนไปหลังพวกเขาได้รู้จักกับเส้นทางศิลปะด้านใน

เปลี่ยน ‘ความกลัว’ ให้เป็น ‘ความกล้า’

วิทยา จันทร์แดง รองปลัดเทศบาลตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ผู้เข้าร่วมการเรียนรู้เต็มหลักสูตรเป็นวิทยากรต้นแบบ เขาเลือกเผยแพร่แนวทางศิลปะด้านในสู่แง่มุมการพัฒนาเด็กเล็ก วิทยาเล่าให้ฟังว่าการศึกษาแนวทางศิลปะด้านในเริ่มต้นจากคำชักชวนของเพื่อนในเครือข่ายที่ทำงาน ทว่าเมื่อหลักสูตรขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ศิลปะ’ (ด้านใน) ทำให้แรกเริ่มวิทยาเป็นกังวลว่าหลักสูตรนี้อาจคล้ายกับงาน ‘ศิลปะ’ รูปแบบเดิมๆ ที่เราต่างเคยเรียนกันเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก กับภาพจำของศิลปะที่ต้องวาดรูประบายสีที่อาจมีกฎเกณฑ์ตายตัว ทว่า ‘ศิลปะด้านใน’ กลับเปิดโลกใบใหม่ให้กับวิทยาไปอย่างสิ้นเชิง

“เราเป็นคนที่กลัวการเรียนศิลปะมาตลอด เพราะเราวาดรูปไม่สวย ระบายสีไม่เก่ง ทำให้กังวลว่าศิลปะด้านในจะเหมาะกับเราไหม แต่สุดท้ายก็ลองเปิดใจดู เพราะเราทำงานดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็กอยู่แล้ว เลยคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ความรู้และแนวทางใหม่ๆ มาทำงานกับเด็กๆ” 

“ในการอบรมมีตั้งแต่กิจกรรมจังหวะดนตรี ระบายสีน้ำ และเล่านิทาน ซึ่งเป็นการจัดอบรมรูปแบบใหม่ที่เปิดโลกเรามาก ปกติเราจะเจอแต่การอบรมที่ต้องนั่งจดเล็กเชอร์ หรือได้แต่นั่งฟังสิ่งที่วิทยากรสอน แต่ศิลปะด้านในเปิดทางให้เรามีส่วนร่วมทุกกิจกรรม ซึ่งเราว้าวมากนะ เพราะเราไม่เคยร้องเพลงหรือทำกิจกรรมศิลปะแบบนี้มาก่อน”

“แม้แต่บรรยากาศในห้องเรียนก็เต็มไปด้วยศิลปะ ผนังมีการเพ้นท์สีสวยๆ กระจกในห้องทั้งหมดเปิดออกให้เห็นธรรมชาติข้างนอก บรรยากาศแบบนี้ทำให้เราย้อนกลับมาดูห้องเรียนที่ศูนย์เด็กเล็กของเราที่มีแต่กำแพงทึบๆ สุดท้ายศิลปะด้านในจึงพาเราย้อนกลับมามองสิ่งรอบข้างตัวเองอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง” วิทยาตั้งหน้าตั้งตาเล่าให้เราฟังเป็นฉากๆ ถึงจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่การเรียนรู้แนวทางศิลปะด้านในของเขา

นอกจากนี้ วิทยายังเสริมว่านอกเหนือจากสามกิจกรรมหลักดังกล่าว ยังมีกิจกรรมเสริมอื่นๆ ให้ลองทำ เช่น กิจกรรมทำขนมปัง กิจกรรมจัดดอกไม้จัดใจ โดยวิทยาเปิดใจบอกกับเราว่าศิลปะด้านในเปลี่ยนความคิดทัศนคติในการทำงานและใช้ชีวิตของเขาไปอย่างมาก ที่สำคัญที่สุดคือเปลี่ยนแง่มุมในการมอง ‘ศิลปะ’ จากความกลัวเป็นความกล้า กล้าที่จะลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และกล้าที่จะเปิดใจให้กับความหลากหลาย ทั้งยังนำพาให้เขาสัมผัสกับความงามที่อยู่รอบตัวได้ง่ายขึ้น 

“จากที่เราไม่เคยสังเกตเลยว่ามีดอกไม้หรือธรรมชาติอะไรอยู่รอบบ้านบ้าง แต่ตอนนี้เราเห็นว่าจริงๆ มีความงามมากมายอยู่ใกล้ตัวเรา ในการอบรมครูจะชวนเรามองท้องฟ้าในแต่ละวัน ภาพจำของเราที่ผ่านมาคือจะคิดแค่ว่าทุกวันท้องฟ้าก็คงมีแต่สีฟ้า มีก้อนเมฆสีขาว แต่พอสังเกตท้องฟ้าในแต่ละช่วงเวลา ทั้งเช้า กลางวัน เย็น ก็พบว่า จริงๆ ท้องฟ้าไม่ได้มีแค่สีฟ้านะ นี่คือมุมมองที่เปลี่ยนไปกับงานศิลปะและธรรมชาติรอบข้าง”

“อย่างกิจกรรมระบายสีน้ำ คือการทลายความกลัวตลอดชีวิตของเราว่ากลัวว่าจะทำงานศิลปะไม่สวย ตอนแรกที่กลัวแต่ว่าระบายลงไปจะสวยไหม แต่ตอนนี้เราไม่กังวลแล้ว เหมือนกรอบบางอย่างพังลงไปแล้ว ตอนนี้ศิลปะสำหรับเราคือการให้อิสระกับตัวเองในการทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และที่ผ่านมาเราอยู่แต่กับงานวิชาการตลอด อยู่แต่กับอะไรที่เป็นตรรกะเหตุผลล้วนๆ พอศิลปะด้านในเข้ามา ทำให้เราสงบขึ้น ใจเย็นขึ้น รู้สึกข้างในเบาขึ้น”

“ศิลปะที่เราเรียนมาอาจทำให้เรามองภาพศิลปะเป็นรูปแบบเดียวมาตลอดชีวิต สมมติให้วาดภาพอะไรก็ได้ภาพหนึ่ง เชื่อว่าหลายคนจะวาดภูเขาติดกันสองลูก มีพระอาทิตย์อยู่ตรงกลาง มีต้นไม้ มีบ้านอยู่ข้างๆ แต่ศิลปะด้านในมีอะไรมากกว่านั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปทรงแบบเดียว มีความเป็นอิสระตามจินตนาการของเรา” 

ในแง่ของการทำงาน วิทยาได้นำศิลปะด้านในมาปรับใช้กับการทำงานในศูนย์เด็กเล็ก ด้วยการชวนเพื่อนๆ ในแวดวงที่ทำงานมาทำค่ายถ่ายทอดแนวทางศิลปะด้านใน โดยเริ่มต้นจากการสร้างพื้นที่ศิลปะด้านในสำหรับผู้ปกครองและกลุ่มเด็กเล็กจากหลากหลายพื้นที่ วิทยาอธิบายว่าเขาได้ค้นพบหลายบทเรียนสำคัญจากการนำความรู้จากการเข้าร่วมโครงการ มาออกแบบกิจกรรมดีๆ เพื่อส่งต่อสู่เด็กๆ ภายใต้ชื่อ ‘ค่ายพัฒนาพลังชีวิตเด็กและเยาวชน’ ที่เครือข่าย Power Inner Art ได้จัดขึ้น 

ข้อแรก โลกนิทานมีมนต์เสน่ห์ที่พาเด็กๆ โลดแล่นในโลกจินตนาการ ทั้งนิทานหุ่น นิทานเคลื่อนไหว และนิทานภาพ เชื่อมโยงเด็กๆ กับธรรมชาติ และพาให้พวกเขาอยู่ในโลกแห่งจินตนาการที่จะเป็นพื้นฐานในการสร้างพลังชีวิตในวัยที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่

ข้อที่สอง กิจกรรมจังหวะและดนตรี นำพาการเคลื่อนไหวของเด็กให้มีทิศทาง แต่งแต้มสีสันความงดงามให้กับชีวิต ซึ่งจะเป็นพื้นฐานและรากฐานสำคัญของชีวิต

ข้อที่สาม กิจกรรมศิลปะทำงานกับด้านในของเด็ก การทำงานของสี การเคลื่อนไหวของพู่กันในการลงสีแต่ละครั้ง เมื่อสีวิ่งไปหากัน เป็นประสบการณ์ที่พาให้เด็กได้อยู่กับตัวเอง และได้ทำงานกับความรู้สึกภายใน 

ข้อที่สี่ การออกแบบกิจกรรมสิ่งที่สำคัญ คือการกำหนดจังหวะ และความสอดประสานกันของกิจกรรม เป็นสิ่งที่จะทำให้ภาพจำและความสุขของเด็กชัดเจนขึ้น 

ข้อที่ห้า ศิลปะด้านใน คือประตูอีกบานหนึ่งที่ให้เราเข้าถึงความงดงามที่มีอยู่ในโลกใบนี้ ช่วยปรับใจให้อ่อนนุ่ม เป็นกระบวนการหล่อหลอมให้เกิด ‘ความสมดุล’ เชื่อมสัมพันธ์ให้เรากับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างลงตัว เป็นสิ่งที่นำพาให้เกิดเป็นพลังชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับผู้คนในสมัยนี้กับชีวิตที่เร่งรีบ

“กิจกรรมจัดดอกไม้จัดใจ เราเห็นท่าทีที่ผู้ปกครองลุ้นไปกับลูกหลานของเขา เราได้เห็นบางอย่างในแววตาของเด็ก พอจัดกิจกรรมนิทานตั้งโต๊ะ ปกติเด็กจะเล่นโทรศัพท์หรือไม่ค่อยอยู่นิ่ง แต่พอเข้าสู่โลกนิทาน ปรากฏว่าเด็กนิ่งเหมือนเจอมนต์สะกดเลย เราจึงเห็นภาพที่เด็กในห้องไม่ร้องหาขอเล่นโทรศัพท์ของผู้ปกครอง เพราะพอได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ทั้งเด็กและผู้ปกครองก็ตื่นเต้นไปด้วยกัน”

“พอตอนเที่ยงก็มีการจัดกิจกรรมงานบ้าน งานครัว งานสวน เราพยายามพาเด็กๆ เรียนรู้เรื่องเหล่านี้อย่างเรียบง่าย มีกิจกรรมสอนเด็กทำส้มตำ ทำไข่เจียว ปรากฏว่าอาหารกลางวันที่เตรียมมาให้เด็ก เด็กไม่กินเลย เพราะเขาอยากกินส้มตำกับไข่เจียวที่ได้ทำด้วยตัวเองมากกว่า เหมือนเป็นความภาคภูมิใจที่เขาทำได้ด้วยตัวเอง นี่คืองานแรกที่เรานำความรู้ของศิลปะด้านในมาปรับใช้”

วิทยาเสริมว่าในความเป็นจริงแล้วศิลปะด้านในมีผลต่อพัฒนาการของเด็กเล็กอย่างมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมทุกวันนี้ผู้ปกครองมักจะมีความคาดหวังว่าเมื่อเด็กๆ เข้าอนุบาล จะมีพัฒนาการในแง่ที่ว่าต้องสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างรวดเร็ว เขามองว่าความคาดหวังนี้เหมือนการไปเร่งให้เด็กโต จึงอาจเกิดเป็นสภาวะที่เด็ก ‘กระอัก’ ในสิ่งที่ผู้ใหญ่พยายามยัดให้ ศิลปะด้านในจึงจะช่วยยกระดับความคิดและจิตใจของเขา พาให้เด็กมีกิจกรรมที่เหมาะกับเขา มีพัฒนาการที่เหมาะสม

“การที่เราเร่งให้เขารีบเขียนอ่านหรือรับวิชาการมากเกินไป เหมือนให้เด็กหายใจเข้าอย่างเดียว แล้วไม่ได้หายใจออกมาบ้างเลย แต่ศิลปะด้านในจะช่วยเปิดประตูให้เขาได้สัมผัสธรรมชาติจากทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนเปิดด้านในให้เด็ก ช่วยทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น”

หลังจากนำศิลปะด้านในมาถ่ายทอดให้เด็กโดยตรง วิทยามองว่าถึงเวลาที่ศิลปะด้านในต้องไปทำงานกับครูผู้ปฏิบัติงาน ทว่าโจทย์ที่ยากของการอบรมศิลปะด้านในกับครู คือมีครูสอนศิลปะมาเข้าร่วมด้วย ซึ่งเมื่อผู้เข้าร่วมเป็นครูศิลปะมาก่อน จึงมีความคิดและแนวทางในตัวเอง มีหลักการที่เคยร่ำเรียนมา ในแต่ละกิจกรรมจึงมีทั้งคนที่สนใจกับคนที่ตั้งแง่ ความท้าทายแรกสุดคือการให้ผู้เข้าร่วมลองเปิดใจเรียนรู้ในกระบวนการไปด้วยกัน ลองทำความเข้าใจใหม่ว่าแนวทางศิลปะด้านในจะไม่ได้เปลี่ยนตัวตนเขา แต่จะช่วยปรับอีกมุมหนึ่งในการทำงาน

อีกหนึ่งข้อจำกัดในการถ่ายทอดแนวทางศิลปะด้านใน คือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ทั้งการเตรียมเนื้อหา ซักซ้อมการดำเนินกิจกรรมกับวิทยากรคนอื่นๆ ออกแบบและวางโปรแกรมกิจกรรม การสร้างบรรยากาศในแต่ละกิจกรรม ไปจนถึงการประเมินบรรยากาศให้เหมาะกับบริบทของพื้นที่และธรรมชาติของผู้เข้าอบรม

“ความยากหนึ่งของการทำงานศิลปะด้านใน คือใช้อุปกรณ์เยอะมาก การจัดดอกไม้ก็ต้องมีทั้งแจกัน ผ้า อุปกรณ์การตกแต่ง สีน้ำก็ต้องมีทั้งกระดาษ แผ่นรอง พู่กัน แต่นอกจากจะไปถ่ายทอดความรู้แล้ว เราก็พยายามปรับให้เขาเข้าใจว่าอุปกรณ์ไม่จำเป็นต้องครบครันแบบนี้เสมอไป ใช้ของที่มีอยู่มารีไซเคิล มาประดิษฐ์แทนได้”

นอกเหนือจากผู้ทำงานด้านเด็กเล็กแล้ว วิทยายังจัดกิจกรรมสำหรับคนทั่วไปที่สนใจแนวทางศิลปะด้านใน หรือคนที่อยากผ่อนคลายความเครียด ยกระดับจิตใจ หรือต้องการเยียวยาหัวใจตัวเองด้วยแนวทางศิลปะรูปแบบใหม่ๆ วิทยาเล่าให้เราฟังว่า “แวดวงที่เราอยู่มีผู้สูงอายุที่เป็นข้าราชการเกษียณ พอเจอพวกเขา เราจับสัญญาณได้ถึงความเหงาและเสี่ยงมีภาวะซึมเศร้า เราจึงเปิดพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุด้วย เพราะที่สุดแล้วศิลปะด้านในสามารถปรับใช้กับคนทุกกลุ่มวัยได้ ไม่ใช่แค่กับเด็กเท่านั้น”

“แม้แต่คนวัยทำงานต่างก็มีภาวะเครียด หมดไฟ ไม่ว่าใครก็พาตัวเองมามีประสบการณ์กับศิลปะด้านในได้เช่นเดียวกัน และพอได้เห็นว่าผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมแล้วมีท่าทีสดใส ตาเป็นประกาย เราก็มีความสุขตามไปด้วย” วิทยากล่าวพร้อมรอยยิ้ม

สมดุลตรงกลางระหว่างวิทยาศาสตร์และมนุษยปรัชญา

สุภาพร ปุณริบูรณ์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลเซกาและผู้รับการดูแลในคลินิกจิตเวชในโรงพยาบาลเซกา จังหวัดบึงกาฬ ผู้ขยายผลศิลปะด้านในไปสู่การแพทย์ เล่าว่าการศึกษาแนวทางศิลปะด้านในแบ่งเป็นหลายเซ็กชัน ทั้งการอบรมขั้นพื้นฐานและแบบลงลึกสำหรับผู้ต้องการนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อที่พื้นที่อื่นๆ สำหรับสุภาพรที่เข้าร่วมการอบรมขั้นลงลึก เธอบอกว่าการได้เรียนรู้ทุกกระบวนการของศิลปะด้านในทำให้เธอซึมซับแนวทางจากครูต้นแบบจนเป็นแรงบันดาลใจให้นำมาปรับใช้กับการทำงานในโรงพยาบาลท้องถิ่น

ในการอบรมกิจกรรมของศิลปะด้านในจะมี 4 กิจกรรมหลักโดยครูต้นแบบ 4 ท่าน –ครูอุ้ย อภิสิรี จรัลชวนะเพท, ครูมัย ณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก, ครูมอส อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธุ์ขจี, ครูหมอปอง นายแพทย์ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล ซึ่งในแต่ละกิจกรรมจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป 

กิจกรรมเล่านิทานของครูอุ้ย เน้นถ่ายทอดทั้งประสบการณ์การปรับใช้ศิลปะกับเด็กเล็กที่อนุบาลบ้านรัก ไปจนถึงการอธิบายธรรมชาติของเด็กเล็กผ่านกิจกรรมเล่านิทานในรูปแบบของเพลงสำหรับเด็ก

กิจกรรมจังหวะดนตรีของครูมัย เน้นการปรับสมดุลให้กับตัวเองผ่านเสียงเพลงและการเคลื่อนไหว ภายใต้แนวคิดว่าเสียงเพลงไม่ใช่แค่ฟังเพื่อความเพลิดเพลินเท่านั้น แต่จะมีผลกับข้างในจิตใจและการใช้ชีวิตอย่างมีจังหวะ 

กิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะทั้งจากสีน้ำและสีฝุ่นของครูมอส เน้นย้ำแนวคิดศิลปะที่ไม่มีกรอบ เปิดโอกาสให้ทุกคนปล่อยอิสระในการทำงาน และชวนมองว่าทุกสิ่งล้วนทำให้เกิดศิลปะได้ ไม่ว่าจะเป็นการมองแสง มองท้องฟ้า หรือมองต้นไม้ ที่สำคัญคือศิลปะด้านในจะไม่เน้นที่ผลลัพธ์ แต่ชวนสังเกตว่าระหว่างกระบวนการที่ทำว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในอะไรกับตัวเองบ้าง

สำหรับการถ่ายทอดศิลปะด้านในโดยหมอปอง เน้นถ่ายทอดในศิลปะด้านในที่เชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีทางการแพทย์กับแนวคิดมนุษยปรัชญา ในส่วนนี้ สุภาพรอธิบายว่า “การทำงานด้านสาธารณสุข เราทำงานกับเด็กป่วยที่เป็นเด็กพิเศษ เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า หรือเด็กที่มีปัญหาทั้งด้านพฤติกรรมและอารมณ์ เราก็มีทฤษฎีความรู้ด้านวิชาการที่เรารับรู้มา ซึ่งเราต้องเอามาจูนกับแนวทางศิลปะด้านในว่าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างไรบ้างที่ทำให้เด็กเกิดความล่าช้าทางพัฒนาการ หรือเกิดความไม่สมดุล หรืออะไรคือที่มาที่ทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมต่างๆ เหล่านั้น”

“ศิลปะด้านในเปลี่ยนเราเยอะมากเลย ปกติเราเป็นคนบ้างาน สนใจแค่งานอย่างเดียว ไม่เคยสนใจตัวเอง ไม่สนใจครอบครัวหรือคนรอบข้างด้วยซ้ำ เราเอาแต่ทำงานไปโดยไม่สนใจจังหวะชีวิตตัวเอง จนมาตั้งคำถามว่านี่คือความสุขในการทำงานจริงๆ ไหม แต่พอได้เรียนรู้ศิลปะด้านใน สิ่งที่เปลี่ยนไปเลยคือจังหวะชีวิต ทำให้เราใช้ชีวิตช้าลง เรามองสิ่งต่างๆ มากขึ้น พอเรามองอะไรมากขึ้นก็ทำให้เราสำรวจตัวเองได้มากขึ้น” 

สุภาพรเปรียบเทียบการปรับใช้แนวทางการทำงานศิลปะด้านในกับการทำงานสาธารณสุขเหมือนการทำอาหารอย่างหนึ่ง ในการทำงานการแพทย์กับแนวทางศิลปะด้านในให้เสร็จสมบูรณ์นั้นมีวัตถุดิบเหมือนกัน มีจุดประสงค์เดียวกัน เพียงแต่ระหว่างการทำอาจมีขั้นตอนและวิธีการที่แตกต่างกันบ้าง แต่บทสรุปสุดท้ายเราจะได้อาหารเมนูเดียวกัน 

“มีคำถามว่าศิลปะด้านในกับศาสตร์การแพทย์จะไปด้วยกันได้ไหม ในฐานะคนทำงานด้านสาธารณสุข เราขอตอบเลยว่าทำได้แน่นอน ตัวศิลปะด้านในเน้นที่กระบวนการ แต่ผลลัพธ์ปลายทางของทั้งสองอย่างเหมือนกัน คือต้องการให้เด็กกลับมามีพัฒนาการสมวัย โดยไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์หรือเร่งรัดเด็ก ระหว่างทางที่เขากำลังพัฒนา เขาจะต้องได้รับความสุข อิสระในความเป็นธรรมชาติของเขาให้ได้มากที่สุด”

เธออธิบายเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้การทำงานในกลุ่มเด็กพิเศษ ข้อจำกัดของการทำงานสาธารณสุข คือมีการทำกิจกรรมโดยที่ไม่ได้คำนึงว่าเด็กพิเศษอาจไม่ชอบ จนบางทีเด็กมีท่าทีต่อต้านออกมาชัดเจน เพียงแต่เขาสื่อสารให้รับรู้แบบเด็กทั่วไปไม่ได้ แต่พอมีการปรับใช้กับศิลปะด้านใน เธอเห็นการมีปฏิสัมพันธ์ของเด็กพิเศษมากขึ้นอย่างชัดเจน บางทีเด็กพิเศษจะอยู่แต่ในโลกของเขา ไม่ค่อยสนใจคนรอบข้าง แม้แต่ผู้ปกครองก็ยังบอกว่าเขาเห็นการตอบรับของลูกของเขาที่มีต่อเสียง ดนตรีที่อยู่ในกิจกรรม เด็กมีการหยุดฟัง ตั้งใจดู ตั้งใจฟังมากขึ้น 

“ศิลปะด้านในคือความอิสระ คือทุกความเป็นไปได้ในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงเพลง จังหวะ งานบ้าน งานสวน งานครัว หรือแม้แต่ธรรมชาติทุกอย่าง สิ่งเหล่านี้สำคัญมากต่อพัฒนาการของเด็กวัยอนุบาล เราไม่ได้ต้องการให้เขาเก่งเหนือใคร แต่เราต้องการให้เขามีความสุข ให้เขาเติบโตอย่างสมวัย การไม่ถูกกะเกณฑ์จะส่งผลไปถึงเรื่องของสมองและพัฒนาการของเด็ก และจะมีผลไปถึงในระยะยาวเมื่อเขาโตขึ้น” 

“ทุกวันนี้แค่ในวัยอนุบาลก็มีการแข่งขันกันแล้ว พอมีการแข่งขัน ความเป็นอิสระและความสุขของเด็กก็น้อยลง เพราะเรามัวแต่ไปใส่ความกดดันให้กับเด็กจนมีแต่ความเครียดและข้อจำกัดให้กับเด็ก ถ้าเด็กถูกตีกรอบความคิดและไอเดีย พอเขาโตขึ้นก็จะมีไอเดียที่ไม่กระฉูด เพราะถูกบล็อกตั้งแต่เด็ก ศิลปะด้านในจึงสำคัญกับเด็กเล็กมาก”

‘ศิลปะด้านใน’ คือประตูอีกบานหนึ่งที่ให้เราเข้าถึงความงดงามที่มีอยู่ในโลกใบนี้ ช่วยปรับใจเราให้อ่อนนุ่ม กระบวนการที่หล่อหลอมให้เกิดความสมดุลเชื่อมสัมพันธ์ให้เรากับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างลงตัว เป็นสิ่งที่นำพาให้เกิดเป็นพลังชีวิตซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับผู้คนในสมัยนี้กับชีวิตที่รีบเร่งและเต็มไปด้วยความกดดัน


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างโครงการพัฒนาโมเดลวิทยากรต้นแบบศิลปะด้านในเชิงลึกและพัฒนาสุขภาวะเด็กวัยเรียน และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save