fbpx
กาย-จิต-จิตวิญญาณ ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในการเติบโตของมนุษย์ กับ หมอปอง ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล

กาย-จิต-จิตวิญญาณ ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในการเติบโตของมนุษย์ กับ หมอปอง ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

ปัจจุบันสังคมพูดถึงวิธีการเลี้ยงเด็กตาม ‘พัฒนาการสมวัย’ มากขึ้น จนคำๆ นี้กลายเป็นหัวใจ เป็นคัมภีร์ที่เรายึดมั่นในการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตอย่างสมบูรณ์ หลายคนอาจโฟกัสภาพพัฒนาการสมวัยไปที่สมองและอวัยวะของร่างกาย แต่หากพินิจให้ดี จะพบว่าพัฒนาการสมวัย ไม่ได้มีแต่เรื่องทางกายภาพเท่านั้น

‘หมอปอง’ หรือ นายแพทย์ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล แพทย์ธรรมชาติบำบัดตามแนวทางมนุษยปรัชญา กล่าวว่า มนุษย์มีทั้ง กาย จิต และ จิตวิญญาณ ร่างกายมนุษย์ก็เหมือนฮาร์ดแวร์ หากขาดซอฟต์แวร์ทางจิตใจ แม้แต่คำสั่งง่ายๆ ในชีวิต กิน เดิน นอน นั่ง เราก็อาจประมวลผลออกมาไม่ได้ และจะยิ่ง error วุ่นวาย ในคราวที่กายล้ม แต่ใจไม่ลุก

ศาสตร์การแพทย์แบบมนุษยปรัชญายังขยายภาพให้เราเห็นชัดเจนว่า ฮาร์ดแวร์ที่ถูกป้อนแต่พละกำลังและวิชาการ เพิกเฉยต่อแง่งามที่อธิบายไม่ได้ด้วยผลแล็บ อาจให้ผลลัพธ์เป็นคนที่เจ็บป่วยทั้งกายใจเมื่อเติบใหญ่ หรือกลายเป็นที่มาของโรคในวันที่ร่างกายเสื่อมโทรม

แต่หากเห็นผลลัพธ์ของมันแล้ว ศิลปะ ความงามในชีวิต หรือเรื่องของจิตใจภายใน อาจกลายมาเป็นกลไกสำคัญของทุกช่วงวัยในการเติบโต

 

 

โดยทั่วไปแล้วอาชีพแพทย์น่าจะใกล้ชิดกับเรื่องราวที่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือร่างกาย แต่มนุษยปรัชญาเป็นศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับจิตใจภายในของคนและมีศิลปะเป็นกระบวนการ ทำไมคุณหมอถึงสนใจแนวทางนี้

หมอเป็นคนที่ติดตามค้นหากระบวนการดูแลรักษาทางการแพทย์แบบ holistic หรือการแพทย์แบบองค์รวมมานาน หมอเริ่มต้นจากการเป็นนักศึกษาแพทย์ เรียนจบก็ไปใช้ทุน เป็นแพทย์ฝึกหัดผ่าตัดอยู่สามปี เมื่อมองย้อนกลับไปตอนนั้นหมอรักษาแต่ส่วนที่เป็นร่างกาย อะไรอุดอะไรตัน ลำไส้ตีบ ไส้ติ่งแตกก็ตัดออก รักษาไปเรื่อยๆ จนเริ่มคิดว่า คนเรามีแค่นี้เหรอ เราอาจจำคนไข้ได้ไม่ชัดเจนเท่ากับไส้ติ่งที่เราผ่าด้วยซ้ำ หมอจึงเกิดคำถามว่า แล้วตกลงมนุษย์คืออะไร

หมอเริ่มหาคำตอบโดยการไปเรียนการแพทย์แขนงอื่น เช่น การแพทย์ฝังเข็ม การแพทย์สมุนไพร การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนจีน รวมไปถึงการแพทย์มนุษยปรัชญา ซึ่งแต่ละแขนงก็มีมุมมองที่พูดถึงกายและจิตควบคู่กันอยู่ทุกศาสตร์ แต่จุดเด่นและข้อดีของการแพทย์มนุษยปรัชญาคือการที่ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) ผู้ริเริ่มแนวทางมนุษยปรัชญาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เขามีแนวคิดว่ามนุษย์เราประกอบไปด้วยร่างกาย จิต และจิตวิญญาณ เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในยุคสมัยที่มีแต่คำอธิบายทางสรีรวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ หมอเลยรู้สึกสนใจ เพราะมันทำให้เราเข้าใจทั้งร่างกายและจิตใจของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

เมื่อเราเข้าใจว่ามนุษย์ไม่ได้มีแต่ร่างกาย แปลว่าเราไม่ได้รักษาเขาแค่ร่างกาย แต่ต้องจัดการความคิดจิตใจของเขาด้วย

 

ปัจจุบันการเลี้ยงเด็กมีหลายสูตรหลายแนวทาง และเป็นที่ถกเถียงกันมากว่าเลี้ยงเด็กอย่างไรถึงจะดีกับเขาที่สุด ถ้ามองในเชิงการแพทย์ จริงๆ แล้วเด็กต้องการอะไรกันแน่ในการเติบโต

ต้องเริ่มจากการตั้งคำถามว่า เราตีความคอนเซ็ปต์การศึกษาอย่างไร คอนเซ็ปต์ก็เหมือนปรัชญา และการศึกษาก็คือการให้ปรัชญาหรือมุมมองชีวิตกับเด็กคนหนึ่งตั้งแต่เล็กๆ เพื่อวันที่เขาโตขึ้น เขาจะได้อาศัยต้นทุนนี้ในการเข้าสู่สังคม ปรับตัวให้เข้ากับการงานแบบผู้ใหญ่ มีมุมมองต่อโลก มีครอบครัว มีชีวิตส่วนตัว และท้ายที่สุด จะได้กลายเป็นคนที่สมดุลและมีความสุข

ถ้ารู้คอนเซ็ปต์ เช่น เด็กต้องมีชีวิตส่วนตัวที่มีความสุข มีหน้าที่การงานที่ดี มีสังคมและเพื่อนฝูง เราจะเห็นภาพชัดขึ้นว่าควรทำอย่างไรเพื่อตอบโจทย์ เราจะเริ่มเกิดคำถามว่า การเข้มงวดให้เด็กคนหนึ่งเก่งเลขสุดๆ สอบแคลคูลัสได้เต็ม โดยทิ้งเวลาชีวิตด้านอื่นๆ ไป จะทำให้เขามีครอบครัวที่มีความสุขได้จริงหรือ เวลาเขามีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน เขาจะมีทักษะชีวิตแก้ไขปัญหาได้หรือเปล่า

โอเค การเรียนหรือวิชาการมันตอบโจทย์แบบหนึ่ง แต่ถ้ามองให้กว้างอีกหน่อย การแพทย์มนุษยปรัชญามีมุมมองว่า คนคนหนึ่งจะมีความสุขได้ ต้องมีความยืดหยุ่นและมีพัฒนาการที่เรียกว่า ‘ฟังก์ชันการทำงานพื้นฐานของชีวิต’  แบ่งออกเป็นสามอย่าง หนึ่ง ร่างกาย (body) ต้องทำให้กายภาพแข็งแรง สอง จิตใจ (soul) จิตใจคือส่วนที่กำหนดว่าเราจะสุขหรือทุกข์ การดูแลความเครียดก็เป็นความสามารถของดวงจิต แต่ดวงจิตที่แข็งแรงยังไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด ยังมีส่วนสุดท้ายคือ จิตวิญญาณ (spirit) เราต้องสำรวจด้วยว่าจิตวิญญาณของเขาแข็งแรงหรือเปล่า

 

จิตวิญญาณคืออะไร ต่างจากจิตใจและอารมณ์ความรู้สึกยังไง

คำว่า ‘จิตวิญญาณ’ หมอถ่ายทอดมาจากคำว่า ‘สปิริต’ (spirit) ในภาษาอังกฤษ สปิริตเป็นคอนเซ็ปต์ที่ฝรั่งใช้มองชีวิตจิตใจ มองความเข้มแข็งภายใน ที่ไม่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก เวลาฝรั่งพูดว่าคนคนนี้มีสปิริต อาจหมายความว่าเขาสามารถทนทำงานที่ยากได้ ในสถานการณ์ที่เพื่อนร่วมงานท้อถอย เขามีสปิริตพอจะผลักดันให้ทีมไปข้างหน้า หรือตอนแข่งฟุตบอล เวลาทีมที่เราเชียร์กำลังไล่ตามอยู่หลายแต้ม บางคนจะพูดว่า นักเตะที่ไม่มีสปิริตจะถอดใจ หมายความว่าคนที่ไม่ถอดใจ คนที่มีความมุ่งมั่นแม้รู้ว่าคะแนนเป็นรองอยู่ หรือคนที่เชื่อว่าสิ่งที่ซักซ้อมมาจะทำให้เกมพลิกได้ นี่แหละคือคนที่มีสปิริต

คนเราไม่ต่างจากสัตว์ มีความชอบ ความกลัว ความอยาก มีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอด ซึ่งเป็นคุณภาพของดวงจิต แต่สปิริตหรือจิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่มีแค่ในมนุษย์ ลองนึกถึงมหาตมา คานธี เขาเป็นคนเรียนดี มีฐานะ แต่กลับต้องการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของชาวอินเดีย ยอมลำบากทั้งๆ ที่ชีวิตก็ดีอยู่แล้ว เพราะมีอุดมคติหรืออุดมการณ์บางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่า เขาเกิดมาเพื่อทำเรื่องนี้ หรือแม่ชีเทเรซา บุคคลสำคัญที่เปลี่ยนโลกได้ เขาไม่ได้ต้องการแค่เอาตัวรอดหรือเป็นอยู่อย่างสบาย แต่มีสัญญาณบางอย่างที่บอกว่า ฉันเกิดมาฉันมีคุณค่า ฉันต้องทำสิ่งนี้ให้สำเร็จ นี่ก็เป็นความหมายของสปิริตเช่นกัน

 

 

คิดว่าการศึกษาสมัยใหม่ส่งเสริมด้านจิตวิญญาณไหม

ในการศึกษาสมัยใหม่ เด็กจะถูกสอนให้รู้จักความต้องการของตัวเองให้ชัดเจน สอนให้เด็กกล้าแสดงออก แต่สิ่งหนึ่งที่เรามักจะเฟลและตั้งคำถามคือ เด็กๆ เหล่านี้มีสปิริตที่แข็งแรงพอหรือเปล่า เราพบว่าคนรุ่นหลังมีปัญหาอย่างหนึ่งคือ ทุกคนแสดงออกความเป็นตัวของตัวเองเยอะมาก แต่เมื่อต้องรวมตัวกันเพื่อทำอะไรใหญ่ๆ กลับทำได้ยากขึ้น เหมือนกับตอนพรีเซนต์ ทุกคนทำพาวเวอร์พอยต์สวย นำเสนอแผนการเชิงไอเดียได้ดีเยี่ยม แต่พอต้องนำแผนการที่ดีเลิศนี้ไปทำให้เป็นจริง ซึ่งเป็นงานที่อาจจะใช้ความมุ่งมั่นสูง ปรากฏว่าเด็กที่โตมากับการศึกษาแบบเร่งเรียนกลับไม่มีความมุ่งมั่นหรือความอึดมากพอให้เป้าประสงค์สำเร็จ

เพราะฉะนั้น เราจึงต้องการการศึกษาที่ทำให้สปิริตแข็งแรง ซึ่งการศึกษาสมัยใหม่เริ่มตอบโจทย์มากขึ้น มีการพูดถึง Executive Functions (EF) หรือทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ เกี่ยวข้องกับความสามารถในการควบคุมอารมณ์ (emotional control) ทำอย่างไรเราจะยับยั้งชั่งใจได้ เช่น ในการทดลอง marshmallow experiment (การทดลองมาร์ชแมลโลว์ โดยนักจิตวิทยา วอลเตอร์ มิสเชล จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด) เขาให้เด็กนั่งแล้วบอกว่ามีขนมมาร์ชแมลโลว์อยู่นะ แต่รอสักห้านาทีได้ไหม ถ้าในห้านาทีที่ไม่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วยเด็กอดใจไม่กินได้ เขาจะได้กินมาร์ชแมลโลว์เพิ่มอีกหนึ่งชิ้นภายหลัง จากการทดลองก็มีทั้งเด็กที่อดทนรอได้และไม่ได้ หลังจากนั้นผู้วิจัยก็ติดตามชีวิตของเด็กแต่ละคน เขาพบว่าเด็กที่อดทนรอขนมอีกชิ้นหนึ่งได้มีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากกว่า เพราะพวกเขาสามารถยับยั้งชั่งใจไม่ทำตามความอยาก

เทียบกับการศึกษาสมัยก่อน หากจะดูว่าคนเราฉลาดหรือเปล่า จะดูแค่ค่า IQ แต่พอโตมาเราก็พบว่าคน IQ สูงไม่ได้แปลว่าจะประสบความสำเร็จ และคน IQ ต่ำก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันก็เลยเริ่มเกิดทฤษฎีที่บอกว่าการวัดความฉลาดแค่ด้าน IQ ไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มตัวชี้วัดเข้ามาเป็นเจ็ดตัว (7Q) ที่บ่งบอกถึงความฉลาดแบบพหุปัญญา หรือความสามารถหลายๆ ด้านมากขึ้น

 

พูดกันตามตรง บางคนอาจมองว่าจิตและจิตวิญญานเป็นเรื่องรองลงมาจากสมองและร่างกาย ไม่เห็นภาพว่ามีผลต่อการดำเนินชีวิตอย่างไร คุณหมอจะอธิบายอย่างไร

เรามองว่าร่างกายเหมือนฮาร์ดแวร์ (hardware) ส่วนดวงจิตและจิตวิญญาณเหมือนซอฟต์แวร์ (software) ที่ถูกติดตั้งเข้ามาในร่างกายของเราตอนเกิด ทำให้ฮาร์ดแวร์สามารถกิน เดิน พูด คิด ทำงานได้

ฮาร์ดแวร์ที่ถูกติดตั้งดวงจิตจะทำให้เกิดการตอบสนองเรื่องของอารมณ์ ดวงจิตของเรามีความสามารถอย่างหนึ่งคือ เวลามีสิ่งต่างๆ เข้ามาทางประสาทสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น จิตจะ recall เอาความทรงจำเก่าๆ ที่เก็บไว้มาเปรียบเทียบ และตีค่าออกมาเป็นอารมณ์ ออกมาเป็นความชอบหรือไม่ชอบ คล้ายกับการทดลองของ Ivan Pavlov ที่สร้างสถานการณ์ให้สั่นกระดิ่งทุกครั้งเมื่อสุนัขจะได้กินอาหาร หลังจากนั้นทุกครั้งที่ได้ยินเสียงกระดิ่ง สุนัขจึงมีอาการน้ำลายไหล เพราะมันมีความทรงจำเก่า เช่นเดียวกันกับเด็ก ถ้าเขาได้ยินเสียงกระดิ่งแล้วพ่อเมากลับบ้าน แล้วเขาโดนตีทุกครั้ง พอโตขึ้นมา เวลาได้ยินเสียงกระดิ่ง เขาก็อาจจะถูกกระตุ้นความทรงจำเก่าและเกิดความกระวนกระวาย หรือมีอาการแพนิคได้ ตรงนี้เกิดจากการที่ดวงจิตของเราเอาสิ่งต่างๆ ที่รับรู้ไปประมวลผล และเทียบเคียงกับประสบการณ์ดั้งเดิม

ประเด็นนี้สำคัญตรงที่แม้วันหนึ่งเราจะลืมเรื่องราวเหล่านี้ไป แต่ไม่ได้หมายความว่าร่างกายเราจะลืมด้วย หมอเคยมีคนไข้เคสหนึ่งมารักษาอาการใจสั่นที่เกิดขึ้นเวลาเขาเข้าไปในห้องแคบๆ โดยที่เขาก็นึกไม่ออกว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ไปตรวจกับหมอโรคหัวใจก็ไม่เจออะไรสลักสำคัญ ฮาร์ดแวร์ไม่เสียหาย หมอวินิจฉัยว่าซอฟต์แวร์น่าจะเสีย ให้เอายาแก้วิตกกังวลไปกิน แต่เขารู้สึกว่ามันไม่ใช่คำตอบ ไม่รู้ว่าจะต้องกินยาไปนานแค่ไหน เขาจึงมาปรึกษากับหมอ หมอก็ทำบำบัดโดยใช้วิธีนวดประคบ ให้อโรมากระตุ้นปลายประสาทรับกลิ่น หรือส่วนที่เรียกว่า olfactory bulb บริเวณใต้สมอง เพื่อทำให้เกิดความผ่อนคลาย ทำแบบนี้อยู่ประมาณห้าครั้ง วันหนึ่งคนไข้ก็บอกว่า นึกออกแล้ว เขาเคยถูกพ่อจับขังในห้องน้ำเล็กๆ มืดๆ เพราะตอนเด็กเขาดื้อมาก เขาเคยทุบประตูห้องน้ำ ร้องห่มร้องไห้เป็นชั่วโมงจนเหนื่อยอ่อนและสลบไป

เหตุการณ์เหล่านี้เขาลืมเลือนไปหลายสิบปี แต่วันหนึ่งที่เขาบังเอิญเข้าไปในห้องแคบๆ ร่างกายก็ตอบสนองกับความกลัวที่เขาเคยรู้สึก เวลากลัว ต่อมหมวกไตจะหลั่งอะดรีนาลิน (adrenaline) ออกมา ทำให้เกิดอาการใจสั่น เพียงแต่สมองลืมสาเหตุ รู้แต่ว่าเข้ามาในห้องแคบๆ แล้วจะต้องใจสั่น พอเขาระลึกได้ว่าจริงๆ เป็นเรื่องในอดีต เหตุการณ์จบไปแล้ว ตอนนี้ห้องแคบๆ ไม่ได้เป็นอันตรายกับเขาอีก อาการเขาจึงดีขึ้น และหายขาดในที่สุด

หลังๆ มานี้โรคทางการแพทย์ที่หาสาเหตุทางอวัยวะไม่เจอ จะถูกเรียกว่า psychosomatic หรือโรคที่จิตใจทำให้ร่างกายป่วย โรคเหล่านี้มีเหตุผลสืบเนื่องจากการเลี้ยงดูและระบบการศึกษาด้วย โรคที่เป็น psychosomatic กว้างมาก แต่โรคที่พบบ่อยคือโรคแพนิคและโรคซึมเศร้า

 

 

ในมุมมองการแพทย์มนุษยปรัชญา เราควรจะดูแลเด็กในแต่ละช่วงวัยแตกต่างกันอย่างไร

การแพทย์มนุษยปรัชญาแบ่งช่วงวัยของมนุษย์ออกเป็นช่วงวัยทุกๆ 7 ปี  เด็กแต่ละช่วงวัยจะใส่แว่นในการมองโลกไม่เหมือนกัน และมีการพัฒนาของร่างกาย จิต และจิตวิญญาณที่ต่างกัน

ช่วง 0-7 ปี เป็นช่วงอายุที่เราเกิดการเรียนรู้และสร้างความรู้สึกขึ้นมาระหว่างที่ใช้เวลากับพ่อแม่ หรืออยู่ที่อนุบาล ในเชิงการแพทย์เป็นช่วงที่สมองพัฒนาแบ่งเซลล์เพิ่มสูงที่สุด เราจึงต้องกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูให้ร่างกายของเขาแข็งแรง พร้อมกับมีมุมมองต่อโลกที่ดี

เมื่อถามว่าความทรงจำที่เก่าที่สุดของเราอยู่ในช่วงอายุกี่ขวบ หลายคนจะตอบว่า 3-4 ขวบ ช่วงวัยนี้แหละที่ส่งผลให้ตัวเราตอบสนองหรือมีมุมมองต่อโลกต่างกัน เช่น ในสถานการณ์การงานที่มีปัญหา งานที่ดีลไว้อาจถูกเปลี่ยนแปลงรายละเอียด คนบางคนจะรู้สึกแย่มาก ทำไมไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ เกิดความเครียดขึ้นมา แต่บางคนกลับบอกว่า ไม่เป็นไร เดี๋ยวลองแก้งานดู การที่คนสองคนมีความแตกต่างกันอย่างมากทั้งๆ ที่อยู่ในปัญหาเดียวกัน หากมองในมุมมองการแพทย์ที่ต้องซักประวัติคนไข้เยอะๆ จะพบว่า คนบางกลุ่มมีความทรงจำแรกในช่วง 3-4 ขวบที่สงบสุข สนุก หรือมีความสุข เช่น บางคนจำภาพแม่จูงมือพาไปเล่นม้าหมุน กลายเป็นพื้นฐานที่ทำให้เขารู้สึกว่าโลกนี้น่าสนใจ เจออะไรก็น่าสนุก ขณะที่คนอีกกลุ่มมีความทรงจำตอน 3-4 ขวบเป็นภาพที่ตื่นไปโรงเรียนแล้วเจอเด็กร้องไห้กระจองอแง แม่มาส่งแล้วก็หายไปเลย เกิดความรู้สึกกลัว รู้สึกว่าโลกนี้ไม่แน่นอน ความทรงจำในช่วงอายุนี้จะฝังอยู่ยาวนาน เพราะฉะนั้น เมื่อเจอสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน คนกลุ่มหนึ่งจึงมองว่าน่าสนุก ขณะที่อีกกลุ่มมองว่าน่ากลัว

ถัดมาคือช่วงวัย 7-14 ปี ในเชิงการแพทย์ความสามารถของปอดและหัวใจจะเปลี่ยนไป สังเกตว่าทรวงอกของเด็กจากที่เคยมีลักษณะแบน จะเริ่มนูนออกมา เพราะปริมาตรปอดขยายขึ้นอย่างชัดเจน เด็กจะมีความสามารถในการวิ่ง ออกกำลังกาย ใช้ปอดและหัวใจใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ ซึ่งปอดและหัวใจสัมพันธ์กับการหายใจด้วย นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่ร่างกายเตรียมพร้อมสร้างฮอร์โมนต่างๆ ก่อนเข้าสู่วัยรุ่น ดังนั้นเราจึงต้องกล่อมเกลาให้ดวงจิตของเขามีสุขภาพดี มีอารมณ์ความรู้สึกที่บาลานซ์

ในวัยนี้เด็กจะมองโลกอย่างมีสีสันที่สุด นิสัยของเขาจะไม่เหมือนวัยเด็กเล็กก่อนหน้านี้ เขาจะเริ่มมีกลุ่มก๊วนกับเพื่อน มีเพื่อนที่ซี้สุดๆ สักคน และมีศัตรูคู่แค้นเป็นเด็กกลุ่มอื่น เป็นช่วงเวลาที่เรามีความรู้สึกรักที่สุด เกลียดที่สุด เพราะเป็นช่วงที่พัฒนาการทางดวงจิตเริ่มตื่นตัว และเริ่มให้นิยามว่าความสวยงามในชีวิตคืออะไร เมื่อสังคมเข้าสู่ยุคเร่งเรียน แล้ววิชาต่างๆ ที่เป็นศิลปะ งานฝีมือ การเกษตร ดนตรีถูกตัดออก มีแต่เรียนๆๆ ความสวยงามของชีวิตในมุมมองของเด็กจึงเปลี่ยนไปเป็นการเรียนได้เกรดสี่ ถ้าเกรดตกชีวิตก็ไม่สวยงาม เพราะฉะนั้นเราจะพบว่าเด็กกลุ่มหนึ่งที่เคยเรียนมัธยมได้ดี แต่พอขึ้นมหาวิทยาลัยแล้วเรียนแย่ลง จะมีภาวะซึมเศร้า เราเจอปรากฏการณ์เด็กฆ่าตัวตายเป็นข่าวทุกปี เพราะเราไม่เคยให้มุมมองกับเขาว่านอกเหนือการจากการเรียนแล้ว ชีวิตด้านอื่นๆ ก็ยังสวยงามนะ กลับกันถ้าเด็กคนไหนพ่อแม่พาไปเล่นดนตรี ใกล้ชิดกับศิลปะ ว่างๆ ก็ออกกำลังกาย วันที่ผิดหวังจากการเรียนและการงาน ชีวิตมีผิดหวังบ้าง อกหักบ้าง เขาจะมีศิลปะในใจ รู้ว่ายังมีสิ่งที่ชอบเหลืออยู่ เป็นภูมิต้านทานที่ทำให้เขาไม่ซึมเศร้า

บางคนบอกว่า ก็เน้นเรียนไปก่อนสิ พอโตแล้วค่อยกลับมาเรียนศิลปะแล้วกัน คำตอบของหมอคือ เมื่อสิ่งหนึ่งมีพัฒนาการหรือวิวัฒนาการผ่านไปแล้ว มันย้อนกลับมาปลูกใหม่ไม่ได้ คนกลับมาเรียนดนตรีทีหลังก็ไม่รู้สึกซึมซับ

ต่อมาคือช่วงท้ายๆ ของการเติบโตคือช่วงวัย 14-21 ปี  การเปลี่ยนแปลงในเชิงร่างกายที่สำคัญที่สุดคือพัฒนาการเรื่องระบบเผาผลาญ กระดูกข้อต่อต่างๆ จะยืดยาว และสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ชายกับผู้หญิงจะเริ่มมีลักษณะทางกายที่ต่างกันอย่างเด่นชัด ระบบเผาผลาญจะดีขึ้นอย่างมาก สังเกตว่าคนวัยนี้กินเยอะแต่ไม่ค่อยอ้วน และเป็นวัยที่จะเริ่มค้นหาตัวเอง ตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วเราเกิดมาทำไม โดยคำถามนี้จะถูกเน้นให้เด่นชัดอย่างยิ่งตอนที่เรากำลังจะเลือกเรียนต่อ

ช่วงอายุนี้ความมุ่งมั่นสิ่งเป็นสำคัญ แต่ความมุ่งมั่นไม่ได้ถูกสร้างในวัยรุ่น มันเริ่มสร้างตั้งแต่วัยอนุบาลที่เราฝึกเขาผ่านกิจวัตรประจำวัน เช่น งานบ้าน งานครัว งานสวน งานเหล่านี้ช่วยเปลี่ยนความคิดสู่การลงมือทำ มีลักษณะแบบคิดได้ปุ๊บ ก็ทำเลย หากฝึกต่อมาเรื่อยๆ ตามวัย ให้เขาทำอะไรที่ยากขึ้น ยิ่งโตก็ยิ่งมีความรับผิดชอบ ผลักขีดจำกัดไปเรื่อยๆ เขาจะเรียนรู้ว่า แม้จะยาก แต่ถ้าทำสำเร็จแล้วจะรู้สึกดีมาก สร้างความเชื่อมั่นต่อตนเองได้ สุดท้าย จะส่งผลให้การตัดสินใจในชีวิตของเขาแน่วแน่ ไม่ต้องมีใครมาบอก ถ้าอยากเป็นหมอ เขาจะรู้ว่าต้องลำบาก แทนที่จะเรียนสี่ปีก็ต้องเรียนหกปี แต่เขาจะอดทนกับมันได้เพื่อเป็นในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

เด็กหลายคนไม่เคยถูกฝึกเรื่องความมุ่งมั่นมาก่อน  เราจึงพบว่าเด็กจำนวนมากไม่ได้เลือกเรียนจากความชอบ ไม่รู้ว่าตัวเองมีจุดแข็งอะไร แต่เลือกเพราะสาขานี้พ่อแม่เชียร์ หรือเพื่อนๆ ไปเรียนกันเยอะ

 

ถ้าไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาของร่างกาย จิต และจิตวิญญาณ ในช่วงวัยต่างๆ จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในวันที่ร่างกายเสื่อมถอย

 

 

หลังจากอายุ 21 ปี สุขภาพจะค่อนข้างคงที่ไปอีกประมาณ 21 ปี หลังจากนั้นเมื่ออายุ 42 เป็นต้นไป จะเริ่มมีความเสื่อมของร่างกายเกิดขึ้น ซึ่งถ้าสิ่งสำคัญในช่วงวัยต่างๆ ก่อนหน้าได้รับการกระทบกระเทือน มันจะส่งผลต่อการเสื่อมของร่างกายในวัย 42 เป็นต้นไป โดยสิ่งที่เคยพัฒนาก่อนในช่วงวัยเด็ก จะเสื่อมทีหลัง กล่าวคือร่างกายจะเสื่อมถอยตามพัฒนาที่สำคัญของช่วงวัย 14-21, 7-14 และ 0-7 ตามลำดับ

ถ้าการเลี้ยงดูในช่วงวัย 14-21 ปี ที่ร่างกายกำลังพัฒนากระดูกข้อต่อ และระบบเผาผลาญมีปัญหา ไม่สามารถช่วยให้เขาพัฒนาตัวตนได้ หรือเป็นเด็กที่ถูกตี พอถึงช่วงวัย 42-49 ปี ฮอร์โมนและระบบเผาผลาญจะเริ่มเสื่อม เขาอาจจะมีปัญหาเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน เช่น โรคออโตอิมมูน (Autoimmune) ภูมิแพ้ต่อตัวเอง หรือมีปัญหาการอักเสบเรื้อรังของกระดูกข้อต่ออย่างอาการป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ (Rheumatoid) ก็มักจะเริ่มออกอาการในช่วงนี้ นอกจากนี้เมื่อร่างกายเริ่มแย่ เขาจะเริ่มทบทวนว่าชีวิตและสิ่งที่ทำอยู่มันใช่หรือเปล่า เราเกิดมาทำไม เป็นคำถามเดียวกันกับช่วงวัย 14-21 ปี ที่เกิดซ้ำหรือกลับมาสะท้อนอีกครั้ง คนที่ตอบตัวเองได้ว่ายังมีความมุ่งมั่นที่จะทำอะไรต่อ อาจมีพลังที่ทำให้ต่อสู้กับสุขภาพ รอดตาย และอยู่ต่ออีกยาวนานเลยก็ได้

ส่วนช่วงวัย 7-14 ปี เป็นช่วงวัยที่ร่างกายพัฒนาปอด หัวใจ การหายใจ และช่วงเตรียมพร้อมที่จะมีฮอร์โมนเพศ ถ้าการเลี้ยงดูในวัยนี้มีปัญหา เช่น กระทบกระเทือนด้านอารมณ์ เมื่อถึงช่วงวัย 49-56 ปี เราจะพบว่าบางคนมีปัญหาฮอร์โมนผิดปกติ ขาดฮอร์โมน บางคนป่วยเป็นฮิสทีเรีย (Hysteria / Histrionic Personality Disorder) คือเป็นคนที่ออกอาการดรามาได้ง่าย อารมณ์เหวี่ยงสุดๆ และช่วงอายุ 49-56 ปี คนเหล่านี้ก็จะมีปัญหาวัยทองรุนแรงกว่าคนอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ช่วงวัยนี้ยังสัมพันธ์กับการมองความสวยงามของโลกเหมือนวัย 7-14 ปี ดังนั้นคนอายุ 50 เป็นต้นไป จะเริ่มมีมุมมองบางอย่างเปลี่ยนแปลง อาจจะเริ่มเห็นความสวยงามของชีวิตที่ลึกขึ้น เริ่มสนใจปรัชญาที่นอกเหนือไปจากการดูแลร่างกาย หรืออาจเริ่มส่งมอบแรงบันดาลใจบางอย่างผ่านประสบการณ์ของตัวเอง มุมมองที่เปลี่ยนไปนี้ เป็นผลของการที่ระบบ physiology หรือสรีรวิทยาของปอดและหัวใจเริ่มเปลี่ยนแปลง

ส่วนในช่วงวัย 0-7 ปี คือช่วงที่สมองพัฒนามากที่สุด หากเราเอาเด็กไปเร่งเรียนในช่วงวัยนี้ สมองเขาจะขาดพลัง พออายุเริ่มเข้าสู่ 60 ปี สิ่งที่พังก่อนคือความจำ อาจพบโรคดีเมนเทีย (Dementia) หลงๆ ลืมๆ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) โรคพาร์กินสัน (Parkinson) เพราะสมองถูกรีดพลังงานตั้งแต่ 0-7 ปี เอาไปท่องสูตรคูณหรือเรียนภาษาที่สาม

ในการแพทย์มนุษยปรัชญามองว่า การรักษาร่างกายในช่วงวัยที่เสื่อมพังแล้วมันยาก เพราะฉะนั้นเราต้องดูแลช่วงวัยการเติบโตให้ดี ทำการศึกษาให้เหมาะกับวัย เพราะทั้งหมดเชื่อมโยงกัน

 

นอกจากการศึกษาจะต้องให้ความสำคัญกับพัฒนาการอย่างสมวัยแล้ว มีกระบวนการใดอีกที่ต้องให้ความสำคัญในการดูแลเด็ก

 

 

เมื่อก่อนการศึกษามองว่าเด็กทุกคนเหมือนกัน พวกเธอจะต้องเข้าไปในกล่องสี่เหลี่ยมนี้ ถ้าเธอเป็นลูกกลมๆ ยัดเข้าเหลี่ยมไม่ได้แสดงว่าเธอมีปัญหา แต่ในความเป็นจริงเราพบว่าจุดเด่นของคนแต่ละคนเป็นเรื่องสำคัญ และเราจะต้องมีกล่องการศึกษาที่หลากหลายพอ

ในแนวทางมนุษยปรัชญา คนเราประกอบด้วย 3 ส่วนคือ  ร่างกาย (body) จิต (soul) และจิตวิญญาณ (spirit) โดยในส่วนของร่างกาย หรือ body เราประกอบขึ้นด้วย 4 องค์ประกอบคือ คือธาตุ ดิน น้ำ ลม และไฟ

ดินคือร่างกาย (physical body) เป็นส่วนที่เราจะใช้รับรู้โลก น้ำคือพลังชีวิต (etheric body) เป็นส่วนที่ซ่อมแซมเยียวยาตัวเอง ลมคือส่วนของอารมณ์ความรู้สึก (astral body) เป็นส่วนที่ดวงจิตจะเข้ามาทำงาน และสุดท้าย ไฟคืออัตตาหรือตัวตน (ego body)

ร่างกาย (physical body) ของเราคือสิ่งที่ห่อหุ้มตัวเราไว้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงคล้ายกับประตูหรือการรับรู้โลก ในทางมนุษยปรัชญากระบวนการรับรู้นี้ทำผ่านประตู 12 บาน หรือการรับประสบการณ์ผ่านผัสสะ (สัมผัส) ที่แตกต่างกัน 12 ทาง เราเรียกว่า 12 senses หากเราไม่เปิดประตูเพื่อรับผัสสะ จิตวิญญาณที่อยู่ในตัวของเราก็จะเหมือนกับคนที่อยู่แต่ในบ้าน ปิดประตูมิดชิด ไม่ตอบสนองต่อโลกภายนอก และอาจไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะฉะนั้นเวลามีคนมาเคาะประตูบ้าน มีครูมาสอน บอกให้ลองชิมอันนี้ดูสิ ลองใช้ตามองดูสิว่าตัวอักษรเขียนอย่างไร เขาจะไม่สามารถเปิดรับมันได้

เด็กแต่ละคนมีพฤติกรรมการเรียนรู้ต่างกัน เป็นเพราะเขาเปิดประตูผัสสะรับประสบการณ์ต่างกัน เช่น บางคนรับประสบการณ์ผ่านการเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นถ้าครูสอนโดยให้นักเรียนนั่งนิ่งๆ เขียนบนกระดานอย่างเดียว เขาจะเรียนไม่รู้เรื่อง กลับกันถ้าเขาได้ไปทดลอง ไปลงมือทำ เขาจะเรียนรู้ไวกว่า เพราะฉะนั้นการจัดการศึกษาจะต้องดูว่าเด็กแต่ละคนมีประตูไหน หรือผัสสะแบบใดเป็นปัญหา แล้วจะปรับการศึกษาให้เข้าทางประตูที่เขาเปิดได้อย่างไร

เราแบ่งเด็กเป็น 3 แบบ สอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ตามผัสสะ 3 กลุ่มใหญ่ คือ

  1. Auditory learner คือคนที่แค่ครูมาเล่า มาพูด แล้วเข้าใจ สามารถจินตนาการตามได้ กลุ่มนี้จะเป็นเด็กที่จับประเด็นได้ดี
  2. Visual learner คือกลุ่มคนที่ฟังครูพูดแล้วนึกไม่ออก แต่ถ้าเขียนเป็นภาพบนกระดานดำจะเข้าใจทันที เด็นกลุ่มนี้บางคนสุดโต่งมาก เช่น เด็กออทิสติกบางคนแค่ขึ้นไปเห็นวิวบนยอดตึก ก็วาดตามได้อย่างละเอียด แต่ถ้าครูไปสอนเป็นคำพูด บอกว่าเขาต้องวาดอย่างไร เขาจะทำไม่สำเร็จเลย
  3. Kinesthetic learner คือคนที่เรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหว สมมติเรียนเรื่องคานดีดคานงัด เด็กกลุ่มนี้ฟังครูพูดอย่างไรก็นึกไม่ออก ต้องไปลองทรงตัวเองบนคานไม้กระดกจริงๆ ถึงจะเข้าใจ

ถ้าเราเข้าใจการเรียนรู้ที่ต่างกัน การศึกษาก็จะสอดคล้องกับเด็กและมีประสิทธิผลสูงขึ้น เราจะเห็นว่าการศึกษารูปแบบเดียวไม่ได้ตอบโจทย์คนหลายแบบ หรือไม่ได้ทำให้เด็กทั้งสามกลุ่มเรียนได้เท่ากัน ดังนั้นครูจึงจำเป็นจะต้องมีศิลปะ และมีเครื่องมือที่ดีมากพอสำหรับเด็กแต่ละคน

 

 

หัวใจสำคัญหรือความงามของการแพทย์ในแนวทางมนุษยปรัชญาคืออะไร

หัวใจของการแพทย์มนุษยปรัชญา คือการมองเห็นความเป็นมนุษย์ในแบบที่เป็นองค์รวมที่สุด ถ้าเรามองมนุษย์เป็นแค่เครื่องจักร เป็นแค่พันธุกรรมที่มีแค่ร่างกาย เราจะเข้าถึงเพียงส่วนน้อยของความเป็นมนุษย์ แต่การแพทย์มนุษยปรัชญาให้มุมมองว่า มนุษย์คือร่างกาย จิต และจิตวิญญาณ โดยใช้ปรัชญาเข้ามาอธิบายสิ่งเหล่านี้ เพราะเราไม่สามารถอธิบายเรื่องจิตวิญญาณด้วยพันธุกรรมหรือผลแล็บได้ แต่เราอธิบายด้วยปรัชญาของการเป็นมนุษย์ได้ ทำให้เรามีความเข้าใจที่ลุ่มลึกต่อสุขภาวะทางความเจ็บป่วยของคน การดูแลผู้คนไม่ใช่แค่การทำให้ร่างกายของเขาแข็งแรง แต่จะต้องทำให้เขามีความเป็นมนุษย์อยู่ แม้แต่กรณีของผู้ป่วยระยะสุดท้าย เราก็ไม่ได้แค่เจาะท่อ แค่แทงเข็มให้ร่างกายเขาคงอยู่ แต่เราต้องรับฟังสิ่งที่เขาต้องการ เขาอาจจะบอกว่าในลมหายใจสุดท้าย ไม่ต้องการสายระโยงระยาง แต่ต้องการมีลูกหลานห้อมล้อม นั่นก็เป็นความต้องการของเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

ถ้าเรามีการแพทย์และศาสตร์อื่นๆ ที่มองว่า นอกจากร่างกาย คนเรายังมีจิตใจและจิตวิญญาณ เราก็จะสามารถเยียวยาผู้คนได้อย่างสมบูรณ์

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save