fbpx
ศิลปะบำบัด และ เสียงกระซิบจากเจตจำนง ในชีวิตของ ครูมอส-อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี

ศิลปะบำบัด และ เสียงกระซิบจากเจตจำนง ในชีวิตของ ครูมอส-อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

น้ำเสียงเย็นสบาย สายตาจับจ้องแต่ไม่ทำให้อึดอัด และบรรยากาศที่คล้ายว่าล้อมรอบด้วยสีฟ้า ทั้งหมดคือกลิ่นอาย และความประทับใจแรกเมื่อผู้เขียนได้พบกับ ครูมอส – อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธุ์ขจี จิตรกร นักศิลปะบำบัดแนวมนุษยปรัชญา เจ้าของสตูดิโอศิลปะด้านใน (7 Arts Inner Place) และภัณฑารักษ์ของนิทรรศการศิลปะที่กำลังได้รับความสนใจชื่อ ‘Art of Element & Therapy’ งานที่รวบรวมเอาศิลปะที่เกี่ยวพันกับการบำบัดรักษาสุขภาพจิตมาจัดแสดง ตั้งแต่ จิตรกรรม ละคร การจัดดอกไม้ ไปจนถึงการเคลื่อนไหว

หากไม่ได้พบกัน ผู้เขียนคงเข้าใจเพียงว่า ศิลปะบำบัดคือการให้คนวาดรูประบายสี ระบายความในใจ คงสักทางใดทางหนึ่งจิตใจจึงรู้สึกถึงชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่บทสนทนาที่ไหลเย็นไปเรื่อยๆ กับครูมอส บอกให้รู้ว่า กระบวนการของศิลปะบำบัดไม่ได้ไร้รูปแบบเช่นที่ผู้เขียนเคยเข้าใจ

ในทุกการขยับป้ายสีสันคือการเผยถึงสมดุลหรือไม่สมดุลของชีวิต ภายในของคนจำแนกแตกออกเป็น เจตจำนง ความรู้สึก และความคิด ไหลเวียนผ่านตัวและมือเท้าดั่งธาตุ สีที่ถูกระบายวาดมีชีวิตของมันเองและสัมพันธ์กับชีวาของผู้คน เพราะอย่างนี้บรรยากาศรอบตัวของครูมอสที่ผู้เขียนเห็นเป็นสีฟ้าสบายตา จึงสมเหตุสมผลขึ้นมาฉับพลัน

การบำบัดและรักษาความเจ็บป่วยของใจผ่านศิลปะ เป็นแนวทางที่ครูมอสได้เดินตามเจตจำนงไปร่ำเรียนทำความเข้าใจมาจากต้นตำรับในประเทศเยอรมัน และกลับมาส่งต่อแนวทางนี้ในประเทศไทยจนเรียกได้ว่าเป็นรุ่นบุกเบิกในสายทาง ไม่เพียงแต่การบำบัดผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังต่อยอดไปถึงการใช้ศิลปะกับเด็กในระบบการศึกษาด้วย บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จึงขอเล่าย้อนกลับไปยังวันที่ครูมอสทำความรู้จักกับศาสตร์นี้ เพื่อทำความเข้าใจภาพของศิลปะบำบัด ทบทวนคำว่า ‘เจตจำนง’ ที่หล่นหายไปจากชีวิตใครหลายคน และกระบวนการบำบัดที่มีสีเป็นเครื่องมือสำคัญ

 

 

ก่อนหน้าที่จะรู้จักกับศิลปะบำบัด คุณมีชีวิตอย่างไร แล้วอะไรที่พาให้ไปรู้จักกับศาสตร์นี้

สมัยมหาวิทยาลัยผมเรียนที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาประถมศึกษา และจบมาเป็นครูสอนเด็กประถมในความหมายที่ทุกคนรับรู้คือ ครูประถมต้องสอนได้ทุกวิชาและมักถูกเปรียบเทียบเป็นเป็ด เพราะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ผมก็เป็นเป็ดตัวหนึ่งที่เผอิญอยากบินได้ไกลกว่านั้น

ย้อนไปช่วงเรียนปี 3-4  ผมเริ่มอยากไปดูงานศิลปะ อยากเขียนหนังสือ เพราะรู้สึกว่านี่คือโลกที่เราอยู่ใกล้ๆ ได้ ด้วยความรักหนังสือ ผมไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งที่พูดถึงการศึกษาแบบหนึ่งในเยอรมันชื่อว่า Waldorf Education แปลให้เข้าถึงง่ายขึ้นหน่อยก็คือ Artistic in Education  คำว่า Artistic คือความเป็นศิลปิน แต่ไม่ได้หมายถึงการวาดรูปเท่านั้น มันยังให้ความหมายว่า ‘ครูคือศิลปินด้วย’ ผมไม่ค่อยได้ยินคำนี้มากนัก และไม่มีใครคอยย้ำคำหรือสถานะนี้ของครู แต่ผมกลับรู้สึกว่ามันเข้าทาง เพราะเราเป็นครูที่อยากจะเรียนศิลปะ

หนังสือเล่มนี้มีหน้าปกสวย ภาพประกอบข้างในเป็นรูปสีน้ำ และมีภาพของครูคนหนึ่งที่สอนเด็กประถมอายุ 1-6 ปี ให้เติบโตไปตามช่วงเวลาต่างๆ โดยแต่ละวิชาที่สอนเกี่ยวข้องกับศิลปะทั้งหมด ไม่ใช่วิชาแค่ painting อย่างเดียว แต่รวมไปถึงวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษา วิชาที่เราเรียกว่า Main Lesson ทั้งหมดนั้นถูกสอนโดยมีศิลปะเป็นส่วนหนึ่ง

หนังสือเยอรมันเล่มนี้เหมือนมากระซิบสั่งที่ข้างหูผมว่า ‘นี่แหละใช่ ไปที่นี่เลย’ แล้วมันก็สั่งได้จริงๆ เพราะหลังจากนั้นผมก็ไปเยอรมัน โดยเริ่มต้นจากการค้นหาว่าในเมืองไทยมีการศึกษาแบบนี้แล้วหรือยัง ถ้ามี ใครเป็นคนเริ่มต้น ซึ่งผมก็โชคดีที่ได้เจอคนที่ทำการศึกษารูปแบบนี้จริงๆ ผมจึงได้รับคำแนะนำและส่งต่อจนได้ไปที่เยอรมัน

ผมเป็นคนที่ใช้เจตจำนงในการค้นหาความหมายต่างๆ ของชีวิตมาตั้งแต่วัยรุ่น จริงๆ ผมคงมีเจตจำนงตั้งแต่เด็ก แต่มันไม่ได้เด่นชัด เหมือนผมเป็นเพียงคนที่อยากเรียนรู้ แต่เมื่อโตมาแล้วอยากจะเขียนหนังสือ อยากทำงานศิลปะ รู้สึกว่าชอบศิลปะของเยอรมัน โดยที่ไม่ได้มีต้นแบบและไม่รู้จะเดินไปทางนั้นยังไง ก็มีแรงเจตจำนงคอยกระซิบอยู่ข้างหูว่าให้ไปเยอรมัน

 

หนังสือ Waldorf Education

 

Willing หรือเจตจำนงที่ว่าคืออะไร

Willing หรือ เจตจำนง คือการลงมือทำ เจตจำนง ไม่เหมือนกับชิปในหุ่นยนต์นะ มนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์ แต่มันคือ จิตวิญญาณที่ประกอบกับ force หรือกำลังต่างๆ ที่พัฒนาในตัวคน

มนุษย์ทุกคนมีเจตจำนงของตนเองตั้งแต่กำเนิดจนถึง 7 ปีแรก เจตจำนงของเด็กเล็กคือการออกไปข้างนอก ออกไปค้นหา ออกไปเรียนรู้ ไม่มีเด็กคนไหนคลอดมาจากครรภ์มารดาแล้วขอนั่งเก้าอี้เขียน ก.ไก่ แต่เจตจำนงแรกของพวกเขาคือการเกาะ ยืน และเดินได้ จะเห็นได้เลยว่าพอเด็กเดินได้ พ่อแม่อาจจะวิ่งตามไม่ทันด้วยซ้ำ เพราะเจตจำนงได้พาเท้าทั้งสองและมือทั้งสองของเขาเดินออกไปยังโลกที่อยู่รอบข้าง นี่คือเจตจำนงที่อยู่ในตัวมนุษย์

เจตจำนงอยู่ในตัวเราอยู่แล้วใน 7 ปีแรก แต่มันน่าสนใจตรงที่ ถ้าเราสร้างระบบการเลี้ยงดู และระบบการศึกษาให้ดี เจตจำนงจะอยู่ในตัวได้นานมาก เพราะมันเทียบเท่ากับพลังชีวิต บางคนที่ไม่สบายบอกว่าไม่อยากทำอะไรเลย ซึมเศร้าอยู่ในห้อง เปิดประตูเข้าไปแล้วยังอยู่บนเตียง ข้าวก็ยังไม่ได้กิน กับบางคนคนบอกว่า เฮ้ย ออกไปตรงนี้กัน ฉันจะเดินทาง เท้าฉันจะก้าวขึ้นรถไฟ จะก้าวขึ้นเครื่องบิน willing มันต่างกันเลย และมันขับเคลื่อนด้วยมือกับเท้า

 

ศิลปะเยอรมันแบบที่คุณประทับใจจนต้องตามเจตจำนงไปศึกษาเป็นยังไง

เวลาเราดูงานอาร์ต ในยุคต่างๆ เช่น อิมเพรสชันนิสม์ มันจะมีภาพหลายๆ สีที่เป็น landscape แต่ถ้าดูของศิลปินเยอรมันเราจะเห็นว่าเขาไม่ได้วาด landscape แล้ว เขาวาดไปที่ innerscape หรือโลกข้างใน ในยุคนั้น innerscape ไม่ใช่ landscape ไม่ใช่ seascape แต่เป็น innerscape

 

ครั้งแรกที่ต้องวาดโลกภายในโดยที่ไม่เข้าใจว่าหน้าตามันเป็นยังไง รู้สึกอย่างไร

ผมเติบโตมากับศิลปะแบบที่ใช้สายตาในการมอง ผมรู้จักแต่ศิลปะแบบนั้นมาตลอด เช่น การดรอว์อิ้ง การสเก็ตช์หุ่น still life หรือการออกไปวาดรูปข้างนอก แต่วันที่เราเริ่มเดินทางไปเยอรมันและเรียนศิลปะ เขากลับให้เราวาดรูปที่มาจากข้างใน ซึ่งมันเหมือนเวลาที่เราไม่เคยเปิดหน้าต่างบานนึงเลย ทำให้มันออกจะฝืดๆ ตอนเปิด ผมไม่มีภาพอยู่ข้างในหัวเลย มีแต่ภาพที่ไปเห็นวิว เห็นทุ่ง เห็นทะเล ภาพที่ใช้ตามอง แต่ภาพแบบ innerscape คือใช้ความรู้สึกล้วนๆ

ตาอยู่บริเวณศีรษะ และตาก็คือความคิด เพราะมันมีการ judge เช่น เวลาเรามองแก้วน้ำใบนึงเพื่อวาด สายตาเราก็จะทำงานกับหลักการต่างๆ เราดูความเฉียงของมันแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย องศามันไม่ได้นี่ มันต้องเฉียงกว่านี้ นี่คือการทำงานและการตัดสินจากตา แต่การทำงานจากใจมันฟรี ไม่มีแบบฉบับ เหมือนหยิบชอล์กมาปาดได้เลย แต่ก็ไม่ถึงขนาดเอาสีสาดโครมใส่กระดาษ เหมือนฝนตกในแกลเลอรีนะ มันก็มีระบบระเบียบอยู่ระดับนึง

พอภาพข้างในมันถูกทำงานออกมา ผมรู้เลยว่า ใจของเรารู้สึกอิสระ ทั้งชีวิตเราถูกเทรนมาในแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเปิดหนังสือวาด วาดตามครู ออกไปนั่งดูหุ่นนิ่ง แต่ทันทีที่มันฟรีเรารู้เลยว่า หน้าต่างบานนี้อยู่ตรงไหน มันคือประตูใจ

 

การที่เราจะใช้ใจทำงาน ทั้งที่ใช้ตามาตลอด หรือแม้กระทั่งการฟังเจตจำนงของตัวเอง ทั้งที่ทำตามหลักการมาตลอด ในครั้งแรกๆ มันฝืนไหม แล้วเราจะปลดความเคยชินนี้ออกยังไง

ผมว่ามันเหมือนการออกกำลังกาย สมมติว่าเราไม่เคยยืดตัวเลย ไปเล่นโยคะวันแรกก็จะพบว่า ทำไมปลายนิ้วเราไม่แตะพื้นสักที แต่พอเรายืดไปเรื่อยๆ มันก็ทำได้ มีคำหนึ่งนอกเหนือจาก innerscape ที่เขาใช้เรียกกันคือคำว่า soul exercise เป็นการ exercise ทางวิญญาณ แน่นอนว่าตอนแรกมันจะตะกุกตะกัก แต่พอเราทำไปมันจะลื่นไหล แล้วเราก็จะเริ่มสัมผัสเห็น เพราะรู้แล้วว่าการวาดรูปไม่ได้มีแค่ประตูที่ศีรษะเท่านั้น แต่มีประตูที่จิตวิญญาณด้วย

อีกประตูนึงที่ไม่ได้อยู่กับทุกคนเมื่อโตขึ้น เพราะประตูนี้จะค่อยๆ ปิดลงตอนอายุ  7 ขวบ ก็คือ willing หรือการวาดรูปจากเจตจำนง เด็กเปิดประตูนี้ทุกคน ไม่มีใครไม่เปิด แต่ประตูนี้จะปิดช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูและระบบการศึกษา ประตูแห่งการวาดภาพจากเจตจำนงนี้ พูดอย่างเห็นภาพเลยก็คือ สมมติเด็กมีกระดาษ มีกำแพง มีกระป๋องสี คุณจะเห็นงานศิลปะของเด็กขึ้นมาอย่างทันทีทันใด จะใช้คำว่าฉับพลันก็ได้ เพราะมันฉับพลันจริงๆ ไม่มีแนวคิด ไม่มีการวางแผน ไม่จำเป็นต้องสอน เพียงแค่ลงมือทำ เพราะฉะนั้นคำว่า เจตจำนง กับคำว่า ลงมือทำ จึงเป็นคำเดียวกัน

จุดสำคัญก็คือมันอิสระ เป็นความรู้สึกที่เราอาจลืมไป แต่ถ้าขลุกอยู่กับศิลปะ อยู่กับเด็กเล็กเราจะเห็นว่า ปราการแรกของการวาดรูปก็คือ willing (เจตจำนง) แล้วค่อยมาที่ feeling (ความรู้สึก) แล้วถึงจะตามมาด้วย thinking (ความคิด)

 

 

เจตจำนง (willing), ความรู้สึก (feeling) และ ความคิด (thinking) รวมกันอยู่ในศิลปะได้ยังไง

บางคนอาจจะถกเถียงกับผมว่า ไม่จริง เราใช้ความคิดในการวาด แต่ตอนเราพิจารณาเรื่องความสมดุล เช่น เรามีสีแดงกับสีน้ำเงินในรูป เราอยากให้ทั้งสองสีไม่เท่ากัน เราไม่ได้ใช้ตาวัดว่าสีแดงมีกี่เซนติเมตรนะ แต่เราใช้ความรู้สึกวัดว่า สีอะไรมันคานมากน้อยกว่ากัน คำว่าความคิดในที่นี้เราพูดถึงระดับ intuition (ปัญญาญาณ) เหมือนเวลาเราวาดรูปแล้วยังพิจารณาอยู่ว่าที่ว่างที่เหลืออยู่จะใส่รูปทรงอะไรดี จะวาดเป็น figure อะไรดี

มนุษย์ในบรรพกาลของเรา เขาเริ่มจากการลงมือทำ สมดุลของการทำศิลปะ หรือศิลปะบำบัด จึงเป็นการพาคนกลับไปที่ willing, feeling และ thinking แต่เพราะมนุษย์ในปัจจุบันไม่สมดุล เช่น เด็กบางคนมีกิจวัตรประจำวันอยู่ที่ thinking ไม่ใช่ willing บางคนเรียนเยอะไป เร็วไป พอไม่สบายพ่อแม่ให้อยู่บ้าน เขากลับมีความสุข เพราะได้ทำอะไรในสิ่งที่ตัวเองชอบ ในกรณีแบบนี้จะเห็นเลยว่าการวาดรูปของเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ป่วยบางคนใช้แค่ thinking หรือ feeling ซึ่งออกมาผ่านรูปหรือการคิดมาก่อนของเขา ดังนั้นถ้าทำให้ทั้ง 3 องค์ประกอบนี้สมดุล เราจะดึงเขากลับมาได้

การวาดภาพเป็นกระจกสะท้อนทางด้านวิญญาณ นึกถึงเวลาไปยืนหน้ากระจกตอนเช้าเพื่อดูใบหน้าของเรา เฮ้ย วันนี้เราดูนอนอิ่ม ดูสดชื่น วันนี้เราง่วงมากเลย ใบหน้าซึมๆ ภาพวาดก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน มันคือกระจก ฉันเหงา ฉันเศร้า รูปมันก็ดูเซ็งๆ ดูเฉื่อยชา พอฉันดูรีบ ในรูปก็เหมือนมีใครกำลังวิ่งอยู่ ศิลปะมันก็มีอานุภาพแบบนั้น

 

ศิลปะบำบัด คืออะไร

จริงๆ แล้ว ศิลปะบำบัดเป็นคำใหญ่ ไม่ต่างกับเวลาเราถามหาความหมายของ ‘ศิลปะ’ ซึ่งถูกนิยามต่างกันตามแต่ละยุคสมัย ผมคิดว่าเราน่าจะต้องถอยกลับไปที่ความหมายแรกของมัน ศิลปะในยุคแรกเกิดขึ้นโดยการที่มนุษย์กระทำสิ่งต่างๆ เพื่อมีความสัมพันธ์กับโลกทางจิตวิญญาณ มีหัวใจสำคัญคือ การลงมือทำ ทำไปแบบไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีศาสตร์ ไม่มีโรงเรียน แต่ทำเพื่อเคารพสักการะ ภาพวาดแรกเกิดขึ้นในผนังถ้ำ ไม่รู้ว่าผู้สร้างเป็นใคร ไม่มีลายเซ็น ไม่มีชื่อ มีแต่สิ่งที่อยากจะสื่อสาร หรือความต้องการส่งสารไปยังเทพเจ้า เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าศิลปะคืออะไร ผมคิดว่าน่าจะต้องย้อนกลับไปในวันนั้น

เราจะจำกัดความ ‘โลกทางจิตวิญญาณ’ หรือ ‘ด้านในของคน’ อย่างไร

ย้อนกลับไปร้อยปีหรือหลายหมื่นปีก่อนคริสตกาล โลกในวันนั้นน่าจะยังเชื่อมต่อกับความเป็นจักรวาลและความเชื่ออยู่ มนุษย์มีความสัมพันธ์กับจักรวาลแบบ ‘ใครสักคน’ ปกป้องชีวิตด้านในของเรา ไม่ว่าศาสนาไหน  ‘ใครสักคน’ ที่ว่านี่ไม่ได้บอกว่าเป็นพระเจ้าเท่านั้นนะ ขอใช้คำกลางๆ ว่า พระผู้เป็นเจ้าแล้วกัน อาจเป็นดวงอาทิตย์ ดวงดาว หรือจักรวาลก็ตาม

ถ้าดูงานศิลปะในยุคนั้น จะเห็นงานในเนื้อในตัวที่เป็นเรื่องแบบนี้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นยุคอียิปต์ หรืองานของอาณาจักรต่างๆ ล้วนมีความสัมพันธ์กับจักรวาลทั้งหมด ราวกับมนุษย์รู้ว่าตัวเองมาจากตรงไหนแล้วก็คืนกลับไปตรงนั้น เขาอาจคิดว่าบรรพบุรุษหรือตัวเขาเดินทางมาจากจุดไหน หรืออาจนึกถึงวันเวลาที่ผ่านมา ซึ่งสัมพันธ์กับโลกได้หมด

 

เรียกได้ว่า ‘ศิลปะบำบัด’ ไม่ได้แยกขาดจาก ‘ศิลปะ’ ?

ผมมองว่ามันไม่ได้มีคำอธิบายใหม่ แต่กลับไปยังจุดตั้งต้นในวันแรกอีกครั้ง วันที่เรามีความรู้สึกกับสิ่งต่างๆ มีความสัมพันธ์กับโลกเบื้องบน โลกแห่งจิตวิญญาณ หรือโลกของจักรวาล โดยที่มีตัวตนของมนุษย์น้อยมาก ถ้าเราดูงานศิลปะในอดีตจนถึงปัจจุบัน อดีตน่ะไม่มีตัวตนเลย แต่ปัจจุบันเรามี self ในงานอย่างชัดเจน มีลายเซ็น มีแนวคิด หรือ conceptual ในงาน ศิลปะบำบัดจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แค่กลับไปที่ความเดิมแท้ของมันว่า ศิลปะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้มนุษย์กลับไปสู่ข้างในของตัวเอง ศิลปะบำบัดไม่ได้สตาร์ทจากแนวคิด ไม่ได้สตาร์ทจากคอนเซ็ปต์ แต่เราสตาร์ทจากคำว่า willing หรือ เจตจำนง

ศิลปะบำบัดหรือศิลปะในแนวทางของมนุษยปรัชญาเพิ่งจะมีขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) ที่เป็นผู้ริเริ่มศิลปะบำบัดของทางมนุษยปรัชญา พูดย้อนกลับไปถึงศิลปะในยุคแรกว่า ถ้าวันนั้นผู้คนทำงานศิลปะเพื่อสื่อสารกับโลกทางจิตวิญญาณ แสดงว่าข้างในหรือจิตวิญญาณของคนเกี่ยวข้อง อยู่คู่ขนาน และมีความสัมพันธ์กับศิลปะ

มนุษย์เราเองผ่านเวลามาหลายยุคสมัย กว่าจะมาถึงจุดนี้ศิลปะก็เดินทางของมันเหมือนกัน แต่วันนึงที่ผู้คนเริ่มเจ็บป่วย ยุคสมัยเริ่มเจ็บป่วย ก็มีหลายคน หลายปราชญ์ที่พูดว่า ทำไมเราไม่เอาศิลปะกลับมาช่วยเหลือหรือบำบัดผู้คนล่ะ ในเมื่อมันเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่คนหลงลืมไป

กระบวนการต่างๆ ของศิลปะบำบัดเป็นศิลปะที่มีความอิสระ การทำบำบัดก็เพื่อให้หลายๆ คนที่ไม่สบาย เจ็บป่วย หรือมีความทุกข์ ค่อยๆ คืนกลับไปยังสภาวะเดิมที่มีอิสรภาพ ซึ่งเราจะเห็นว่ามนุษย์ในปัจจุบันไม่ค่อยมี เราอาจจะพูดถึงอิสรภาพในหลายแนวทาง แต่อิสรภาพทางจิตวิญญาณคือสิ่งสำคัญที่ขาดไป ซึ่งเป็นอิสระที่ทำให้มนุษย์เฮลธ์ตี้

 

 

หนึ่งในเครื่องมือสำคัญของศิลปะบำบัดคือ สี’ ?

ต้องเล่าย้อนว่า ผู้ริเริ่มศิลปะบำบัดมนุษยปรัชญา รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) เนี่ยเขาเป็นนักปรัชญา เป็นนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ และเป็นคนที่รวมเล่มผลงานของ โยฮัน ว็อล์ฟกัง ฟ็อน เกอเธ่ (Johann Wolfgang von Goethe) นักวิทยาศาสตร์ของเยอรมันที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากในระดับโลก

เกอเธ่ได้พูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Goethean Science) แต่พูดไว้ด้วยภาษาเยอรมันโบราณ ทางการเยอรมันเลยหาคนมาช่วยถอดทำความเข้าใจนี้ สไตเนอร์ ในวัย 27-28 ปี ที่ถือว่าเริ่มฉายแววมากจึงรวบรวมผลงานของเกอเธ่มาปรับปรุงต้นฉบับและรวมเล่ม ซึ่งมีงานหนึ่งของเกอเธ่ที่ในยุคสมัยนั้นยังไม่มีใครพูดถึงเลยคือ ทฤษฎีสี

โลกนี้มีทฤษฎีสีเยอะแยะเลยที่ไม่ใช่ของเกอเธ่ สมัยนั้นคนที่จำแนกสีจะมีมุมมองในเชิงฟิสิกส์เสียเยอะ จะพูดแค่ว่าสีผ่านตัวกลาง ผ่านปริซึมยังไง แต่เกอเธ่กลับโค้งมาถึงจุดที่เรียกว่า ‘see and sense’ คือเห็นแล้วรู้สึก เช่น สีแดงให้ความรู้สึกเป็นยังไง นั่นเป็นครั้งแรกเลยที่สีถูกพูดโยงกับเรื่องด้านใน ทฤษฎีสีจากเกอเธ่ที่เรียกว่า Goethe’s Color Theory (Theory of Colours) จึงได้สร้างจุดเปลี่ยนให้ทฤษฎีสีไป

พอสไตเนอร์เริ่มจับหลักทฤษฎีสีได้ เขาก็ใช้เวลาทั้งชีวิต ศึกษาเรื่อง spiritual เขาสนใจและพูดถึงว่าจักรวาลนี้เป็นยังไง อะไรมาก่อนอะไร แล้วมนุษย์มาอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่สไตเนอร์พูดแล้วผมสนใจ จนต้องไปเรียนจากต้นตำรับที่เยอรมันคือคำตอบของคำถามที่ว่า สีคืออะไร มีความสัมพันธ์กับโลกด้านในยังไง ซึ่งไม่ได้หมายถึงจิตวิทยาสีนะ แต่เราพูดถึงสีในลักษณะที่เป็น objective หรือ ภววิสัย

ถ้าดูสีแบบ subjective หรือ อัตวิสัย ก็เช่น สีน้ำเงินมันดูเหงาเหลือเกิน แต่อีกคนหนึ่งบอก เปล่า สีน้ำเงินมันดูขรึม แบบนี้คือใช้อัตตาตัวเองในการดู แต่สีที่เป็นภววิสัย คือการหาว่าตัวของสีในฐานะ object นี้เป็นยังไง อันนี้พูดถึงตัวสีเองเลยนะ ไม่ได้พูดถึงสีที่อยู่ในเสื้อผ้า หรือบนโต๊ะอาหาร ถ้าเราเอาสีมาทำการทดลอง เราจะเห็นสีแต่ละสีเคลื่อนไหวแตกต่างกันชัดเจน แดง เหลือง เขียว ส้ม น้ำเงิน ทุกสีจากยี่ห้อเดียวกันจะได้ movement ไม่เหมือนกัน แสดงว่าสีมีวิสัยแตกต่างกัน

สไตเนอร์ยังบอกว่าสีมันเป็น being ด้วย แปลเป็นภาษาไทยก็คือ ‘ชีวิตสี’ คำใหม่ว่ะ (หัวเราะ) คือสีมันมีความสว่าง-มืด การเคลื่อนไหวช้า-เร็ว มีมวลความหนัก-เบา สไตเนอร์บอกว่า มองสีในทาง objective แล้วคุณจะไม่หลงทางว่าตัวสีเดิมแท้เป็นแบบไหน เพราะฉะนั้น คอนเซ็ปต์เวลาเราบำบัด ใครที่เฉื่อยชากับชีวิต เราก็เอาสีที่มัน active เติมเข้าไป ใครที่หุนหันพลันแล่น ก็ต้องเอาสีที่ passive เติมเข้าไป passive ในความหมายนี้ก็คือ สีที่เคลื่อนไหวช้า โทนเย็น แต่กระบวนการที่พูดถึง ไม่ใช่ว่าทำแบบตรงกันข้ามสุดขั้วได้ในทันทีนะ ก็ต้องค่อยๆ ปรับสภาพลงมา

 

สีสัมพันธ์กับตัวเราได้จริงๆ หรือ

เราสามารถหาคำตอบจากสีได้ทั้งเชิงวิทยาศาสตร์ และการวาดรูป ถ้าเราระบายสีหนึ่ง เช่น สีที่ร้อนมาก สีที่ active พอสีนี้หยดลงในน้ำจะเคลื่อนที่เร็ว แล้วถ้าคุณระบายสีนี้ จับที่หัวใจตัวเองเลยว่าจังหวะมันเปลี่ยน ตอนไปทำเวิร์กช็อป บางคนระบายสีน้ำเงินที่เข้มมาก เช่น indigo หรือ ocean blue คนที่มี trauma ในใจบางทีก็น้ำตาไหล เพราะฉะนั้นผมว่าสีมันมีโอกาสไปแตะสัมผัสทางด้านวิญญาณ การเป็นนักบำบัดจึงต้องละเอียดกับการดูแลคนว่า เราควรจะทำสีไหนกับเขา

 

แต่ละสีทำหน้าที่อะไร หรือเราเห็นอะไรจากมันบ้าง

ลองนึกว่าเรามีสีแรกของวันคือสีอะไร?

เราอยู่ในความมืดครับ สักตี 4 ครึ่ง หรือตี 5 ถ้าเราไปเที่ยวภูเขาหรือทะเล แล้วนั่งอยู่ทางทิศตะวันออก เราจะยังไม่เห็นแสงอะไร แต่สักพักจะมีความสว่างที่เกิดขึ้นมา และสีที่ออกมาจากรอบๆ นั้น จะเป็นสี magenta คือสี แดงม่วง เป็นสีของอรุณรุ่ง อย่างโปสเตอร์ของนิทรรศการ Art of Element & Therapy ที่ผมจัดที่ BACC ก็เอาโทน magenta มาใช้เพราะมันเหมือนการเริ่มต้น ให้ความรู้สึกแรกเช้าที่อบอุ่น

แต่เรามีสีนี้ในชีวิตมาก่อนนะ ทายสิว่าเราได้พบมันตอนไหน

ตอนเราเป็นทารกครับ ตอนเราอยู่ในครรภ์ของมารดา มันเปรียบให้เห็นว่าชีวิตมนุษย์กับชีวิตสีเป็นเรื่องเดียวกัน

พอเราขยับ สีถัดจาก magenta จะกลายเป็นแดงของดวงอาทิตย์ สีแดงเป็นสีของเด็กประมาณ ป.1 เหมือนดวงตะวันขึ้น ณ ขอบฟ้า แล้วก็ไล่เรียงไปยัง แดงส้ม ส้ม ตามดวงอาทิตย์เลย พอดวงอาทิตย์จ้าตอนกลางวันก็จะเห็นสีเหลือง ซึ่งเป็นสีของแสงที่กระจายแผ่ ซึ่งสีเหลืองถ้าถูกหยดเข้าไปในโถแก้ว มันจะเคลื่อนไหวแบบแผ่ออกเหมือนกัน หลังจากสีเหลืองก็ตามด้วยสีเขียว สีเทอร์ควอยส์ (turquoise) โคบอล บลู (cobalt-blue) อัลตร้า มารีน (ultra marine) อินดิโก (indigo) ดีป อินดิโก (deep indigo) แล้วจึงมาที่สีน้ำเงิน (blue)  จากนั้นจึงจะเห็นอีกปีกนึงเป็นสีของกลางคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดิน พอท้องฟ้าเข้าสู่ความมืด เราจะเห็นสีน้ำเงินม่วง

ทั้งหมดนี้ไม่ได้มโนนะ แต่อิงตามเกอเธ่ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ เขามีงานทดลองนึงที่ใช้คำทรูป (trube) หรือก้อนหินที่เอาไว้ส่องสี สมมุติเราเห็นเงาเก้าอี้เป็นสีดำ แต่ถ้ามองผ่านทรูปจะเห็นสีน้ำเงิน เพราะมันเป็นสีที่แสงเข้าไม่ถึง แต่ถ้าเรามองออกไปที่แสงผ่านก้อนหินก้อนนี้ จะเห็นสีเหลืองแดงอยู่ในอากาศ ทรูปเนี่ยถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษจะให้ความหมายเหมือนบรรยากาศ จักรวาล แต่โลกของเราใบนี้มีชั้นบรรยากาศ มีดวงอาทิตย์ เกิดปรากฏการณ์หักเหและสะท้อน เราถึงเห็นสีในโลกใบนี้

งานที่น่าสนใจของสไตน์เนอร์คือการเชื่อมกับธรรมชาติ เวลาเราไปต่างประเทศในฤดูใบไม้ผลิ เดือนพฤษภาคม พอนั่งรถไปตามถนนเราจะเห็นดอกไม้บานขึ้น แล้วข้างในเราจะสัมผัสได้เลยว่ามันคือความ joyful ของเดือน มันเป็นเดือนที่ทุกอย่าง spring หรือกระโดดขึ้นมา เพราะฉะนั้น ชีวิตก็เหมือนกัน ถ้าเป็นฤดูหนาว ปิดประตูบ้าน นอนอยู่ในผ้าห่ม เราเห็นสีน้ำเงิน เทา ม่วง ฤดูร้อน เราเห็นฝรั่งออกไปข้างนอกเดินรับแดดในสีเหลืองส้ม

สีคือชีวิตตั้งแต่กลางวันจดกลางคืน เป็นอย่างนี้ทุกวัน ไม่มีวันหยุดราชการ ตกกลางคืน สีที่กลับมาอยู่กับตัวเองก็คือสีโทน passive cool ทั้งหลาย อาทิ น้ำเงิน ม่วง สีของความเงียบ แต่กลางวันก็กลายเป็นสีและช่วงเวลาจ้อกแจ้กจอแจ เพราะชีวิตมันเป็นอย่างนั้น ดังนั้น ชีวิตสีเป็นอย่างไร มองไปที่ชีวิตคนก็เหมือนกัน ถ้าคนคนนั้นระบายสีอย่างไรก็มีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์กับสิ่งๆ นั้น เช่น เขาใช้สีที่เแอคทีฟมาก ระบายถึงความหุนหันพลันแล่นมาก หรือชีวิตรู้สึกไม่ค่อยอยากปฏิสัมพันธ์กับใคร อยากอยู่ในความเงียบและความมืดกับตัวเอง เขาก็ใช้สี blue tone

 

โปสเตอร์ของนิทรรศการ Art of Element & Therapy ในโทนสี magenta

 

แม้กระทั่งสำรวจว่าเขาเป็นยังไงก็ใช้สีเหมือนกัน?

ถูกต้อง ในขั้นตอนของการบำบัดเราจะมีช่วงการวินิจฉัย ไม่ได้วินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคอะไร แต่วินิจฉัยว่าคุณวาดรูปอย่างไร เพราะฉะนั้น สองสามครั้งแรกที่วินิจฉัยเราจะเห็นตัวเขาค่อนข้างชัด เขาวาดรูปอย่างไร เขาใช้สีอย่างไร เขาดึงสีมาใช้ยังไง แล้วเราถึงจะวินิจฉัยและสังเคราะห์ว่า แล้วเราจะบำบัดเขาด้วยการวาดภาพอย่างไร

หลังจากนั้นเราจะต้องดูองคาพยพทั้งหมด คราวนี้ไม่ได้มองแค่ชีวิตสีแล้ว แต่ต้องมองว่าเขาระบายเป็นรูปทรง (figure) หรือ ไร้รูปทรง (non-figure) บางครั้งเราเจอคนที่ระบายสีวงกลม สามเหลี่ยม ด้วยสีต่างๆ ได้ แต่ผู้รับบำบัดอีกคนนึง เขาระบายสีเหลืองเต็มแผ่น สีน้ำเงินเต็มแผ่น แล้วก็สีแดง โอ้ สองคนนี้คนละเวอร์ชันเลย แต่ใช้สีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น นักบำบัดก็จะต้องมีความเข้าใจว่า แล้วปกติสีมันเคลื่อนที่ยังไง

มันง่ายมากที่จะเข้าใจว่าความไม่สมดุลคืออะไร ถ้าเราเข้าใจคำว่าสมดุล ถ้าเราเข้าใจว่าสีแต่ละสีเคลื่อนที่อย่างไรบนกระดาษ แล้วคนๆ นี้เขาระบายออกมาไม่ได้เป็นชีวิตสีเลย เช่น สีเหลืองถูกกดทับเข้าไป ทั้งที่สีเหลืองเป็นสีที่แผ่ออก สว่าง หรือมันเกิดกลายเป็นสีเหลืองที่ dirt หรือว่าขมุกขมัว นี่คือความสัมพันธ์ของสีกับสิ่งที่เขาระบายออกมา

 

การเคลื่อนไหวของสีเป็นยังไง

ถ้าเรามองไปที่ท้องฟ้าตอนเช้าหรือเย็นเราจะเห็นลักษณะของสีที่เคลื่อน เราไมเคยเห็นสีนิ่งๆ เหมือนเวลามองธงชาติเลย ท้องฟ้าเปลี่ยนสีตลอด และเคลื่อนไหวไม่เหมือนกันในแต่ละวัน มันทำให้บรรยากาศแต่ละวันไม่เหมือนกัน วันนี้ดีมาก ดูแล้วลื่นไหลมาก เพราะว่าสีเคลื่อนที่ในเฆม ในฟ้า ดังนั้นคนที่วาดรูปแบบแถบสีธงชาติ บอกได้เลยว่ามันคือการไม่เคลื่อนไหว อย่างที่พูดไปว่ามนุษย์ที่มี willing เท้ากับมือของเขาจะต้องออกเดิน ถ้าเดินจากพื้นที่ของคุณไปยังกระดาษว่างเปล่า คุณจะเห็น willing เต็มไปหมด สีมันก็จะเคลื่อนไหวมาก แต่ถ้ามือของคุณไม่ออกเดินมากพอ การขยับมือก็จะน้อยไปด้วย รูปและสีของคุณจะนิ่ง (stillness)

 

หลายคนอาจรู้สึกว่าชีวิตฉันไม่ได้คลุกคลีกับศิลปะ เพราะฉะนั้นการจะวาดหรือถ่ายทอดอะไรลงไปบนกระดาษมันจะบอกได้ขนาดนั้นจริงๆ หรือในเมื่อฉันไม่ได้ใส่ใจในศิลปะมาก่อน

นี่ก็เป็นหนึ่งในคำถามที่ทุกคนสนใจ แต่สำหรับนักบำบัดแล้ว เราอยู่ภายใต้จักรวาลของสีตลอดเช้าถึงเย็น ถ้าวันไหนมีใครมาเปลี่ยนท้องฟ้ากลางคืนให้เป็นสีแดง เราจะนอนไม่หลับแน่ๆ เพราะเราหลับได้เมื่ออยู่ในสีน้ำเงินม่วง ถ้าตอนกลางวันมันมืด เราก็คงอยากกลับบ้านแล้ว เพราะไม่ใช่เวลาที่มนุษย์จะมีปฏิสัมพันธ์ มันเหมือนเราเห็นสายรุ้งทุกวัน เพียงแต่ไม่ได้ฉายออกมาเป็นรุ้ง แต่เป็นสีตั้งแต่กลางวันไปจนกลางคืน

เราไม่ต้องมองทุกอย่างเป็นสีในอากาศก็ได้ มองชีวิตเราตอนนี้แล้วลองมอบสีให้มันดู นึกถึงตอนเด็กๆ พ่อแม่เราเป็นยังไง เราโตมายังไง ชีวิตเราใน 7 ปีแรกจะมีสีอะไร แล้วพออายุเลยมาถึงตอนนี้ สมมติว่าอายุสัก 30-35 ปี สีของเราเป็นยังไง มันคงไม่มีใคร monotone ตลอดชีวิตใช่ไหม ไม่มีใครหม่นเศร้ามาตั้งแต่ 4 ขวบ มันคงมีบางจังหวะที่ชีวิตเราเป็นสีสว่าง เราอาจนึกได้ว่า เฮ้ย ตอนอายุ 11 ได้เจอเพื่อนซี้คนนึง ทำให้เรารู้สึกว่าสีของชีวิตสว่างขึ้น ผมเพียงจะบอกว่า สีไม่ได้อยู่ที่กระดาษ มันอยู่ที่ชีวิต อยู่ในชีวิต และสิ่งที่เราระบายออกมาก็คือชีวิตด้านใน

 

 

คนที่มีปัญหาคล้ายๆ กัน สมมติว่าเป็นโรคซึมเศร้าที่มีอาการคล้ายกัน เป็นไปได้ไหมว่ารูปจะออกมาใกล้เคียงกัน

ถ้าทำเคสมาเยอะ มันก็จะมีลักษณะร่วมที่ทำให้เราเริ่มนึกออกว่า คนในกลุ่มอาการนี้จะระบายยังไง รูปจะเป็นยังไง ฟังก์ชันทางด้านจิตวิญญาณและชีวิตด้านในเป็นยังไง หรือว่าเคสของเด็กที่ไฮเปอร์ เด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities) มักจะวาดแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นนักบำบัดที่ขลุกอยู่ในเคสไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า อย่างผมเองในช่วงเวลาหนึ่งจะทำเคสทางด้านอารมณ์ความรู้สึกเยอะ เช่น วิตกกังวล ตื่นตระหนก

 

เวลาที่เราเคลื่อนจากภาวะความรู้สึก เราจะต้องรู้ตัวไหมว่าเรากำลังใช้และเปลี่ยนไปเป็นสีแบบไหน

ในยามเช้า ถ้าเราตื่นมาเวลาตี 5 แล้วเห็นสีของท้องฟ้าแบบนึง ระหว่าง 6-10 โมงที่สีเปลี่ยนไป สติและการรับรู้ของเราก็ขยับไปทั้งวันด้วยเหมือนกัน จากเดิมที่งัวเงีย ขี้เกียจคิด อยู่ในสติรู้ตอนตี 5 พอ 10 โมงสติรู้อีกว่า เฮ้ย วันนี้มีสัมภาษณ์ครูมอสนี่หว่า ก็เด้งตัวขึ้นมา พอ 2 ทุ่มก็เริ่มคิดแล้วว่าค่ำนี้กลับไปกินอะไรดี หรือนอนดีกว่า สติมันขยับตลอด เพราะฉะนั้น สี ก็คือ สติรู้ หรือ consciousness ผู้รับการบำบัดต้องรับรู้ว่าเขาใช้สีโทนไหน ใช้ยังไง และเมื่อนักบำบัดเห็นว่าสติกับกลุ่มอาการของผู้รับการบำบัดเป็นยังไง ก็ปรุง medicine ของสีไปตามนั้น

 

ศิลปะมักมาพร้อมกับคำว่าความงาม แล้วความงามของศิลปะบำบัดอยู่ที่ตรงไหน

ความงามคือ “อะไรที่ทำให้คุณยังอยู่กับโลกใบนี้” ถ้าเด็กอนุบาลเกิดมาแล้วคุณบอกว่า โอ้โห โลกนี้มีอาชญากร อย่าเดินไปบนถนนนะ เดี๋ยวจะเจอนี่นู่นนั่น มีแต่สิ่งเลวร้ายไปหมด แล้วเมล็ดพืชเมล็ดหนึ่งจะโตขึ้นมาให้ดอกไม้กับโลกด้วยความรู้สึกอย่างไรบ้าง นักศิลปะบำบัดถูกสอนให้มองในสิ่งที่อยากเห็น คนไข้ ผู้รับการบำบัดเป็นยังไงไม่รู้ แต่คุณเห็นอะไรที่ดีบ้าง แล้วคุณจะส่งต่อสิ่งนั้นยังไง มันก็เป็นเรื่องเดียวกับว่า ถ้าใครสักคนฆ่าตัวตาย ไม่อยากอยู่แล้ว หดหู่สิ้นหวัง แล้วอะไรล่ะที่ทำให้เขายังอยากอยู่ต่อ คำตอบก็คือความงามของรอบๆ ตัวเขาใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นคุณยายที่น่ารักกับเขา ทำกับข้าวให้เขากิน คุณพ่อคุณแม่หรือเพื่อนพี่น้องสักคน ขณะที่ไม่มีใครอยู่ข้างเขาเลย แต่คนคนนี้เขายังแฮปปี้ด้วย เพราะฉะนั้น ความงามคือเหตุและปัจจัยของการบำบัด

ถ้าอย่างนั้นชื่อนิทรรศการ Art of Elements & Therapy คงไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นความงามที่เกิดจากเหตุและปัจจัยของการบำบัด

ผมตั้งชื่อนิทรรศการนี้ว่า ศิลปะแห่งเหตุและปัจจัยด้านการบำบัด เพราะผมมองว่าความงาม (beautiful) เป็นเหตุและปัจจัยที่สำคัญของการบำบัดในสายทางของผม เราชอบพูดว่าความงามยกระดับจิต ผมเคยนอนคิดหลายคืนเลยว่ายกระดับยังไง พอเราเรียนและทำบำบัดไปเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้คำตอบ

จิตวิญญาณมีหลายช่วงชั้น เราเป็นวิญญาณที่ใช้ความโกรธ ความเศร้า ใช้ความรู้สึกแบบเดียวกับสัตว์ทั้ง ดีใจ เสียใจ แต่มนุษย์มีศักยภาพที่จะยกระดับขึ้นไปอีก โดยการตั้งคำถามว่า ทำยังไงฉันถึงจะเมตตาได้มากยิ่งขึ้น ทำยังไงฉันถึงจะปล่อยวางได้ ในขณะที่สัตว์ปล่อยวางไม่ได้ ถ้าเขาเห็นอะไรไม่พอใจ เขาอาจจะไปงับ ไปกัด แต่มนุษย์จะยกระดับตัวเองได้ในที่สุดโดยที่ยังมีความรู้สึก แต่เป็นความรู้สึกละเอียดขึ้น เรามี consciousness หรือสติรู้ตัว อยู่ในจิตวิญญาณของเรา

การทำบำบัดทำให้เราพาคนเดินทางต่อข้างใน เราไม่ได้พูดถึงแค่การ express ออกมา แต่เราพูดถึงการ impress กลับเข้าไปด้วย ทุกสีช่วยทำให้คนสดชื่นขึ้นเมื่อได้ระบายออก แต่สีที่นักบำบัดเลือกแล้วให้เขาระบาย มันกลับเข้าไปที่เขา ละลายสิ่งต่างๆ ของเขาออกไปด้วย

 

 

การบำบัดบางประเภทอาจมีขีดจำกัดว่ารักษาได้แค่ไหน เพราะบางอย่างอาจจะเกินรับ ต้องพึ่งพาการกินยาจริงๆ แล้วศิลปะบำบัดมีการแบ่งไหมว่าข้อจำกัดคืออะไร และเหมาะกับใคร

แพทย์จะต้องดูก่อนว่าเขาเหมาะสมกับการบำบัดนี้ไหม ศิลปะบำบัดในทางของมนุษยปรัชญาไม่ได้หมายถึง painting เท่านั้น แต่ยังมี music therapy มี movement therapy สมมติคนไข้เป็นคนชราอายุ 75 ปี ต้องนั่งวีลแชร์ เขาอาจจะบำบัดด้วย movement ไม่ได้ หรือลำบาก ก็ต้องไปทำอย่างอื่นที่เหมาะกว่า เพราะฉะนั้น แพทย์ก็จะเป็นคนที่ประเมินจากภาพใหญ่ นอกจากนั้นก็ต้องดูว่าเขาเจ็บป่วยจากฐานไหน ทางด้านจิตใจหรือจิตวิญญาณ แพทย์ที่มีความรู้ทางด้านมนุษยปรัชญาก็จะรู้ว่า ทำ painting เป็นไปเพื่อดูแลความรู้สึก หรือพลังชีวิต แต่ถ้าคนไข้คนนี้อีโก้ไม่ดีเลย เพราะติดสารเสพติดมาตั้งแต่วัยรุ่น ก็อาจต้องไปทำงานกับอีโก้ตัวเองให้เข้มแข็ง ผ่านการบำบัดประเภทละคร หรือ movement เพราะฉะนั้น มันก็จะมีรายละเอียดเยอะที่แพทย์ต้องประเมิน

 

ศิลปะบำบัดที่คุณค้นพบตามเจตจำนงในชีวิต มีเจตจำนงต่อไปเพื่อแชร์ให้คนอื่นหรือเปล่า

แน่นอนเราแชร์อยู่แล้ว การที่เราทำบำบัดก็คือการแชร์ ผมทำสถาบันชื่อว่า ‘สถาบันศิลปะบำบัดในแนวมนุษย์ปรัชญา’ ซึ่งได้แสตมป์จากสวิสเซอร์แลนด์ ทำให้เป็นผู้ผลิตในประเทศไทยในแนวทางนี้ เราผลิตนักบำบัดมา 2 รุ่น ใช้เวลาไป 8 ปี รุ่นละ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2562 เป็นขั้นตอนที่ผมเรียกว่าการเผยแพร่ และอาจจะเป็นงานหลักของผมด้วยซ้ำ  8 ปีที่ผ่านมาผมถูกเชิญไปสอน หรือดึงเรื่องศิลปะบำบัดขึ้นมาพูดในประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนเห็นมุมมองในกระบวนการนี้ และทำให้ระบบการศึกษาที่ไม่ขยับไปไหนของเรา ขยับไปที่เรื่องของด้านในมากขึ้นด้วย

ในช่วงปี 2556-2557 ผมส่งต่อศิลปะบำบัดให้กับโรงเรียนเด็กพิเศษทั่วประเทศด้วยการออกไปเทรนครู ในระบบการศึกษา เราใช้คำว่าศิลปะด้านใน เป็นการดึงให้ผู้สอนหรือครูมี awareness กับศิลปะอีกแบบ อย่างที่เราพูดว่าเด็กหรือเราเองโตมาแบบใช้ thinking ศิลปะในโรงเรียนมันก็เป็นแบบนั้น เน้น thinking มีแบบฝึกหัด มีคำสั่ง ผมก็เลยพยายามเทรนนิงหรือทำงานศิลปะในมุมใหม่ในระบบการศึกษามาตั้งแต่สมัยที่เพิ่งกลับมาจากเยอรมัน

ศิลปะบำบัดที่ผลิตในประเทศไทย อนุพันธุ์เป็น behind the scene ของนักฝึกหัดหลายคน แต่เนื่องจากว่ามันเป็นศาสตร์ที่ต้องใช้เวลาในการเทรนนิง และอาศัยการกลับไปไตร่ตรอง ทุกคนจะต้องทำงานกับข้างในตัวเอง ย้ายจาก thinking มาที่ willing เพราะฉะนั้นการเทรนจึงไม่สำเร็จรูป ไม่ใช่ว่าครั้งที่ 1 ทำอย่างนี้ ครั้งที่ 2 ทำอย่างนี้แล้วได้เลย แต่อาศัยการการเดินทาง มีพื้นฐานบางอย่างที่ต้องมาจูนและปรับกัน ต้องหลอมรวมสิ่งต่างๆ แล้วค่อยๆ พัฒนาขึ้นไป เป็นเรื่องที่ยากสำหรับผมเหมือนกัน แต่ก็ผ่านมันมาได้ถึงสองรอบ สองรุ่น

 

 

 

[box]

หากผู้อ่านอาจอยากออกไปเห็นสีสันในชีวิต นอกจากบนท้องฟ้าเดียวกันแล้ว ก็ยังมีสีสันในนิทรรศการ ‘Art of Element & Therapy’ ของครูมอส ที่จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้ ถึง 3 พฤศจิกายนรอให้คุณได้สัมผัส รายละเอียดนิทรรศการติดตามได้ที่เฟซบุ๊กของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

[/box]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save