fbpx
ดนตรีบำบัด เสียงที่รักษาภวังค์ฝันและสมดุลด้านใน กับ ครูมัย--ณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก

ดนตรีบำบัด เสียงที่รักษาภวังค์ฝันและสมดุลด้านใน กับ ครูมัย–ณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

วันที่ความเศร้ายึดครองพื้นที่ในจิตใจ หลายคนอาจต้องการเพลงดีๆ สักเพลง มากกว่าผ้าซับน้ำตา เช่นเดียวกับวันที่เราเงยหน้ามองท้องฟ้าด้วยความชื่นใจ ดนตรีและจังหวะสนุกสนานอาจช่วยแต้มรอยยิ้มบนใบหน้าให้กว้างกว่าเดิมอีกเท่า

นี่คือตัวอย่างอันเป็นรูปธรรมที่บ่งบอกว่า ดนตรีไม่อาจแยกขาดจากความรู้สึกภายในของผู้คน

แต่พลังของดนตรีไม่ได้มีเพียงเท่านั้น ‘ครูมัย’ ณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก นักดนตรีบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญา (anthroposophy) และครูสอนดนตรีในโรงเรียนวอลดอร์ฟ ใช้ดนตรีบำบัดรักษาสมดุลภายในของคนไข้ และยืนยันว่าดนตรีที่ดีจะช่วยรักษาภวังค์ฝัน ปกป้องจินตนาการอันงดงามของเด็กเล็กในช่วงอายุ 0-7 ปี ไว้ได้

ดนตรีทำงานอย่างไรกับร่างกายและจิตใจ ดนตรีที่เหมาะกับเด็กเป็นแบบไหน แล้วเราจะใช้ดนตรีเพื่อรักษาสมดุล เพื่อส่งเสริมการพัฒนาของเด็กได้อย่างไร

เสียงและคำตอบของ ‘ดนตรีบำบัด’ แว่วดังอยู่แล้วในบทสัมภาษณ์นี้

 

ณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก

 

เวลาพูดถึงดนตรีบำบัด เราพูดถึงอะไร การร้องเพลง เล่นเปียโน เล่นดนตรีคลาสสิก หรือดนตรีแบบไหน

ทุกอย่างเลยค่ะ เครื่องดนตรีในปัจจุบันมีทั้งทั้งดีด สี ตี เป่า รวมไปถึงสิ่งที่สามารถสร้างดนตรีได้ เช่น กบไม้ที่ขูดแล้วมีเสียง ของเล่นเด็ก คือใช้คอนเซปต์ง่ายๆ ของดนตรี

คำถามที่ว่าดนตรีคืออะไร เป็นคำถามที่ตอบยากมาก และจะมีคำถามตามมาอีกคือ ถ้าไม่มีเสียง ยังเป็นดนตรีได้หรือไม่ หากเราบอกว่าดนตรีต้องมีเสียง คนหูหนวกไม่จำเป็นต้องมีดนตรีหรืออย่างไร เพราะฉะนั้น เราต้องมองภาพรวมให้ออกก่อนว่า ตกลงแล้วดนตรีคืออะไร คำตอบในทางดนตรีบำบัด ดนตรีคือสิ่งที่เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน เชื่อมโยงคนกับคน และเชื่อมโยงคนกับเข้ากับสิ่งอื่นๆ

 

ดนตรีที่ไม่มีเสียงเป็นอย่างไร คล้ายกับที่คนชอบบอกว่าจังหวะอยู่ในหัวใจไหม

ดนตรีมีองค์ประกอบ 7 อย่าง คือ จังหวะ (rhythm), เสียง (tone), ทำนอง (melody), เสียงประสาน (harmony), โครงสร้าง (texture), สีสันของเสียง (tone color) และคีตลักษณ์ (form) ซึ่งทุกองค์ประกอบเป็นเสียงหมด แต่ถ้าเราเปิดใจกว้าง ไม่ยึดติดว่าดนตรีจะต้องมีเสียง คนหูหนวกก็จะสามารถมีดนตรีได้

คนหูหนวกบางคนมีอาการหูตึง คือยังไม่หนวก 100% เขาใส่หูฟัง เปิดเสียงดังสุดเพื่อให้ตัวเองได้ยิน แต่จริงๆ แล้ว เสียงยิ่งดัง ก็ยิ่งทำลายประสาทหู เราจะบอกเขาว่าเขาต้องหัดใช้หัวใจในการฟัง อย่าฟังด้วยหูเพียงอย่างเดียว ปรากฏว่าเซนส์ในการฟัง การรับรู้โลกของเขาทำงานได้ดีขึ้น สิ่งที่ติดอยู่ในตัวหรือในใจเขาก็คลี่คลาย

ที่ประเทศอังกฤษมีนักดนตรีหูหนวกคนหนึ่งเป็นนักเพอร์คัชชัน ชื่อ เอเวอลีน เกล็นนี (Evelyn Glennie) เกล็นนีเป็นนักเพอร์คัชชันที่ไม่ได้หูหนวกโดยกำเนิด อาการเกิดขึ้นตั้งแต่เธอเป็นเด็กเล็ก แต่เธอก็ตีกลอง เล่นมาริมบา ไซโลโฟนได้ดีกว่าคนหูดีหลายคน คือสามารถตีได้จังหวะคงที่อย่างดีมาก นอกจากนั้นเธอยังสามารถเป่าปี่สก็อตได้อีกด้วย จากการดูสารคดี ได้เห็นเธอเป่าปี่สก็อตหน้าวง ประชันกับออร์เคสตราเลยทีเดียว เธอมีความสามารถในการรับเสียงขนาดที่ว่า ถ้าเอานักดนตรีมายืนเล่นตรงหน้า เธอจะบอกได้เลยว่าคนไหนเล่นเพี้ยน เวลาเล่นดนตรีเดี่ยวหน้าวง เธอจะใส่ชุดเปิดไหล่และไม่ใส่รองเท้าเพื่อรับเสียง ทำให้เราสามารถกล่าวได้ว่า หู ไม่ใช่อวัยวะเดียวของมนุษย์ที่สามารถรับเสียงต่างๆ ได้ เราอาจใช้ผิวหนังในการรับเสียง หรือการเคลื่อนไหวรอบๆ ตัวได้เช่นกัน

 

ครูมัยรู้จักกับดนตรีบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญาได้อย่างไร

หลังจากเรียนจบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เอกดนตรี ก็มีอาชีพเป็นครูสอนเปียโนธรรมดา จนวันหนึ่งแม่อุ้ย อภิสิรี จรัลชวนะเพท จากโรงเรียนอนุบาลบ้านรัก ได้ชวนให้ไปเล่นเปียโนประกอบวิชาการเคลื่อนไหวแบบยูริธมี (Eurythmy)  พอเราได้เห็นการเคลื่อนไหวแบบยูริธมีคู่กับเสียง เรารู้สึกว่ามันมหัศจรรย์มาก เราเป็นนักดนตรี อยู่กับเสียงมาตลอด แต่พอเสียงออกมาเป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย มันทำให้เราเข้าใจ และรู้สึกกับเสียงต่างๆ อย่างละเอียดมากขึ้น

จากนั้นก็เล่นดนตรีให้ยูริธมี อยู่ประมาณ 5-6 ปี แล้วแม่อุ้ยก็มาบอกว่า ที่โรงเรียนแสนสนุกไตรทักษะ มีการเปิดสอนวิชาดนตรีบำบัด ซึ่งอันนี้เหมาะกับครูมัยนะ  เนื่องจากตอนนั้นเป็นครูสอนดนตรี ทำงานเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ วันธรรมดามีเวลาว่าง สามารถไปเรียนได้ และคิดว่าถ้ามันเป็นประโยชน์ ช่วยคนอื่นได้ ก็น่าเรียน

 

ดนตรีอาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวของใครหลายคน แต่ดนตรีบำบัดในแนวทางของมนุษยปรัชญาต่างออกไปอย่างไร มีจุดสำคัญอยู่ตรงไหน

จริงๆ ถ้าพูดถึงดนตรีกับมนุษยปรัชญา ดนตรีเกิดขึ้นมาก่อน ตั้งแต่การขับร้องบทสวดในโบสถ์สมัยโบราณ ส่วนมนุษยปรัชญาเกิดมาทีหลัง ดนตรีบำบัดในแนวมนุยษยปรัชญานั้น เราศึกษาความเป็นมนุษย์ ศึกษาเรื่องมนุษย์ทั้งในด้านกายภาพ และจิตวิญญาณ ทำให้เรามองเห็นความไม่สมดุลของคน และความไม่สมดุลนี้ ก็เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยต่างๆ โรคเกือบทุกโรคก็เกิดจากความไม่สมดุลในตัวเอง ฉะนั้นเราจะสามารถมองเห็นธรรมชาติของคนแต่ละคน มองเห็นว่าเขาไม่สมดุลตรงไหน และสามารถออกแบบกิจกรรมดนตรี และเครื่องดนตรีเพื่อให้เขาได้มีประสบการณ์กับมัน ไม่เพียงแค่ในระดับของการฟังเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงในระดับของการเล่น และสร้างสรรค์ดนตรีออกมา ประสบการณ์ทางดนตรีและเสียงต่างๆ จะสามารถช่วยคลี่คลายความไม่สมดุลในตัวของคนไข้ได้

การทำงานในฐานะนักดนตรีบำบัด เราจะทำงานร่วมกับหมอ คุณหมอจะเป็นคนวินิจฉัยคนไข้ก่อน วางแนวทางการรักษา และให้ดนตรีบำบัดเป็นยาเสริม ยกตัวอย่างเช่น คนไข้โรคหัวใจคนหนึ่ง อายุประมาณ 40 ปี มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (จังหวะหัวใจที่ดีคือหัวใจที่เต้นคงที่ เวลาตื่นเต้นอาจจะเต้นเร็วขึ้นได้นิดหน่อย ช้าลงได้นิดหน่อยเวลาสงบ) เคยไปช็อตไฟฟ้าเพื่อให้หัวใจเต้นคงที่มาแล้วครั้งหนึ่ง

จากการซักประวัติอย่างละเอียด พบว่าเขาเป็นผู้ชายที่โตมาในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงดีและเป็นเด็กดี คำว่าเป็นเด็กดีคือ เป็นทุกอย่างตามที่พ่อแม่อยากให้เป็น ตั้งใจเรียน เลิกเรียนที่โรงเรียนก็ไปเรียนพิเศษ เวลาผู้ใหญ่อธิบายว่าถ้าเธอเรียนเก่งเธอจะได้ดี เขาก็ตกลง ตั้งใจ อยู่ในกรอบมาโดยตลอด  เคยคุยให้เขาฟังว่าเด็กๆ ในโรงเรียนที่สอน จะมีเวลาได้เล่นอิสระ มีโอกาสได้วิ่งออกไปในสนามด้วยความรู้สึกเป็นอิสระ คนไข้ก็ฟังและบอกว่าตัวเขาไม่เคยได้มีโอกาสแบบนี้เลย

เนื่องจากเป็นเด็กเรียนเก่งจึงสามารถสอบเข้าในมหาวิทยาลัยชื่อดังได้ เมื่อเข้าได้ก็ทุ่มเทกับการเรียนมากขึ้น ยอมตัดความสุขทุกอย่างออกเพื่อเรียนหนังสือด้วยความมุ่นมั่นตั้งใจ แม้เวลากินข้าวก็ไม่สนใจความอร่อย กินเพื่อให้อิ่มและรีบไปอ่านหนังสือ เป็นการเรียนเพื่อให้มีความรู้ที่สมอง จนละเลย ละทิ้งความรู้สึกในใจ เมื่อไม่มีสิ่งที่จะมาหล่อเลี้ยง หัวใจจึงได้แสดงอาการเรียกร้องขึ้นมาว่า ดูแลฉันด้วย

ในกรณีคนไข้ที่เจ็บป่วยเช่นนี้ ดนตรีบำบัดช่วยคนไข้อย่างไร ช่วยด้วยวิธีไหน 

เราเป็นครูร้องเพลง เพราะฉะนั้นจะให้คนไข้ร้องเพลง เพราะเรารู้สึกว่าร้องแล้วเรามีความสุข แต่ก็ไม่ได้ใช้การร้องเพลงอย่างเดียวนะ มีกิจกรรมอื่นด้วย เช่นการเคลื่อนไหว (movement) และการทำจังหวะ หรือการใช้เครื่องดนตรี เราสังเกตว่าพอให้ทำจังหวะ เขาก็ทำได้ แต่ถ้าเป็นนักดนตรีสังเกตได้ว่าจังหวะของเขาเหลื่อมนิดๆ ทำให้รู้ว่าข้างในไม่เขาไม่มั่นคง มันแสดงออกมาผ่านจังหวะต่างๆ เลยค่ะ

เราให้เขาทำการบำบัดที่ใช้การเคลื่อนไหวกับเสียง เวลาเคลื่อนไหวต้องยอมให้ความรู้สึกในตัวได้เคลื่อนไปกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย  แต่ถ้าตัดความรู้สึกออกไปหมดเพื่อทำอะไรที่เคยชิน เหมือนที่ตัดความรู้สึกออกจากการกระทำทุกอย่าง แม้แต่การประกอบอาชีพ คนไข้ก็จะทำๆ ไป เอาให้จบ ไม่ต้องรู้สึกอะไร เราก็เลยบอกเขาว่า ช่วยเอาความรู้สึกออกมาด้วยได้หรือเปล่า ถ้าผิดก็ไม่เป็นอะไร แต่ช่วยเอาความรู้สึกลงไปจับการเคลื่อนไหวของคุณ ทำอยู่ประมาณหนึ่งปี อาการดีขึ้นมาก จนเกือบหายสนิท

ส่วนการร้องเพลง เป็นการเปล่งเสียงออกมาจากด้านในร่างกาย ถ้าด้านในไม่มั่นคงก็จะไม่สามารถร้องให้ดีได้ เราเคยไปบำบัดให้ผู้ใช้ยาเสพติด เป็นกลุ่มเด็กผู้ชายวัยรุ่น เริ่มด้วยการให้ออกเสียง ‘ลา ลา ลา’ เด็ก 10 คน ร้องออกมาได้ 10 เสียง เป็นเสียงคำรามบ้าง เสียงตะโกนบ้าง ร้องไม่ได้ ตอนนั้นเราก็สอนในโรงเรียนวอลดอร์ฟมา 4-5 ปีแล้ว พอมาเจอกลุ่มนี้แล้วสอนไม่ได้ ก็เสียความมั่นใจมาก จนต้องนั่งทบทวนดู ตอนที่เรียนดนตรีบำบัด ครูบอกว่าเสียงของคนเกิดจากข้างในตัวของเรา เกิดภายใน ผ่านเส้นเสียง ผ่านคำสั่งจากสมอง ผ่านกระบวนการในร่างกายจนทำให้ออกมาเป็นคำพูด คำร้อง เพราะฉะนั้นเสียงจึงเป็นเอกลักษณ์ บ่งบอกตัวตนของคนมากที่ชัดเจนสุด และไม่มีใครในโลกนี้ที่เสียงเหมือนกัน 100% และการที่จะเปล่งเสียงออกมาให้ได้ดี ต้องใช้ความมั่นคงด้านใน ถ้าข้างในไม่มั่นคงพอ ก็จะไม่สามารถเปล่งเสียงออกมาให้ดีได้ พอได้ไปทำงานบำบัดผู้ใช้ยาเสพติดเลยเข้าใจสิ่งที่ครูเคยบอกมากขึ้น ลองคิดดูว่าคนใช้ยาเสพติดเป็นอย่างไร ทุกคนรู้หมดว่ายาไม่ดี แต่ทำไมดึงตัวเองออกมาไม่ได้ เพราะข้างในไม่มั่นคงพอที่จะยืนหยัดในความถูกต้อง ท่ามกลางส่วนรวมที่มีแต่เรื่องผิดมากมาย

 

ณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก

 

เครื่องมือของดนตรีบำบัดคืออะไร เราดูความสมดุลของผู้คนผ่านดนตรีได้อย่างไรบ้าง

เครื่องมือของดนตรีบำบัดคือทุกอย่างเลย ในดนตรีมีทั้ง ดีด สี ตี เป่า แต่แรกเริ่มที่เราจะเริ่มทำงานกับคนไข้ เราจะให้เขาเคลื่อนไหวก่อน และดูการเคลื่อนไหวนั้นว่า มีความต่อเนื่องอย่างเป็นธรรมชาติหรือไม่ หรือเขารู้สึกกับการเคลื่อนไหวของเขาไหม เขาสามารถปล่อยความรู้สึกไปกับดนตรีได้ไหม

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือคนไทยถูกสอนให้เก็บ ห้ามแสดงความรู้สึก ดีใจมากแล้วกระโดดขึ้นเตียงก็โดนว่าน่าเกลียด เวลาโกรธพ่อแม่ จะกระทืบเท้าก็ไม่ได้ คุณรู้สึกอะไรก็เก็บไว้ข้างใน ท่าทีที่เรามีโดยทั่วไปจึงไม่ได้ใส่ความรู้สึกลงไปในท่าทางการเคลื่อนไหวต่างๆ เวลาฟังเพลงเราก็จะฟัง แต่ไม่ปล่อยตัวไปกับเสียง  ถ้าเราสังเกตท่าทีของชาวต่างชาติ พอเพลงขึ้นเขาก็ออกท่าออกทางอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะเขาถูกสอนให้แสดงออกมาตลอด สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ การเก็บความรู้สึกหรือเรื่องต่างๆ ไว้แล้วไม่ปล่อย เก็บแล้วไม่มีทางออก จะทำให้ป่วยได้

ในการทำดนตรีบำบัด เราสามารถดูคนได้จากการตีกลอง คนที่ปล่อยวางไม่ได้หรือมีอะไรค้างคามากๆ เวลาใช้มือตีกลอง จะได้เสียงที่มีคุณภาพเสียงแบบ ‘เสียงบอด’ หน้ากลองที่เป็นหนังสัตว์จะให้เสียงกังวาน เมื่อเราตีมันในลักษณะของการปล่อยวาง ทิ้งมันไป การสอนให้คนไข้ตีกลองให้ได้เสียงกังวานจึงเป็นการสอนให้เขารู้จักการละวาง ทิ้งสิ่งที่อยู่ข้างในออกไปบ้างเช่นกัน

อย่างที่บอกว่ามนุษยปรัชญามาทีหลังความเป็นดนตรี ดนตรีพัฒนามาก่อนเยอะมาก ดนตรีประเภทเครื่องสายมีทั้งพิณ ไวโอลิน วีโอลา ดัลเบิลเบส เชลโล และอีกมากมาย แต่พอศาสตร์มนุษยปรัชญาเกิดขึ้นมา รูดอร์ฟ สไตเนอร์ เขาหยิบจับดนตรีมาอธิบายหลายๆ เรื่อง เช่น เสียงคู่ 5 (การผสมของโน้ตตัวที่ 1 และ 5 ของบันไดเสียง) สไตเนอร์เอามาจับคู่กับพัฒนาการของเด็กเล็ก เด็กที่กำลังอยู่ในการลอยฝัน เป็นคุณภาพแบบเดียวกับเสียงคู่  5 ดังนั้นดนตรีบำบัดในแนวนี้ก็เกิดขึ้นมาด้วยการมองที่ลึกมาก

ดนตรีที่มีอยู่ในสมัยก่อนไม่ตอบโจทย์ในการนำมาใช้บำบัด ในช่วงที่สไตเนอร์มีชีวิตอยู่ เขาได้ไปเห็นรูปพิณ แค่เห็นรูปพิณก็บอกเลยว่านี่คือเครื่องดนตรีที่จะใช้บำบัด จากนั้นก็สร้างมันขึ้นมาใหม่ เป็นเครื่องดนตรีโบราณที่เรียกว่า Chrotta (ครอตตา) เป็นเครื่องสาย มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่เหมือนไวโอลิน มีรูปทรงเหมือนกล่องสี่เหลี่ยม และมีรายละเอียดที่เรียกว่า หย่อง คือวงกลมตรงกลางคล้ายๆ กีตาร์ ขาด้านหนึ่งของหย่องจะวางอยู่บนผิวหน้าของเครื่อง ขาอีกข้างหนึ่ง จะลงไปอยู่ข้างในเครื่องดนตรี เป็นหลักคิดของเครื่องดนตรีสำหรับโลกภายใน ที่เชื่อมโยงเรากับจิตวิญญาณ

 

ดนตรีบำบัดไม่สามารถแยกขาดจากการเคลื่อนไหวได้เลย 

ใช่ค่ะ การเล่นดนตรีทุกอย่างต้องเคลื่อนไหว ต้องมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นถึงจะมีดนตรี ไม่มีอะไรที่อยู่เฉยๆ นิ่งๆ แล้วเกิดเป็นดนตรี ในการเล่นเครื่องดนตรีทุกอย่าง ต้องดูท่าทางการเล่นให้ถูกต้องสวยงามด้วย อย่างเล่นเชลโลที่มีขาวางบนพื้น เด็กที่เล่นก็ต้องนั่งตัวตรง เอาเชลโลเอนเข้าหาตัวในความสูงที่เหมาะสม เด็กๆ จะรู้สึกดีมากที่ได้เล่นเชลโล เพราะเครื่องอยู่ข้างหน้า ให้ความรู้สึกเหมือนได้รับการปกป้องจากทางด้านหน้า

 

แล้วถ้าเป็นเสียงร้อง สามารถบอกอะไรได้บ้าง สัมผัสอะไรได้บ้าง 

เยอะเลยค่ะ แต่ไม่ใช่ว่ามาทำบำบัดแล้วทุกคนจะร้องเพลงเลยนะ ก่อนร้องเพลงจะให้เคลื่อนไหวบ้าง ทำแบบฝึกหัดจังหวะบ้าง  มีคนไข้คนหนึ่งมีปัญหาที่กระดูกบริเวณคอ เขาเป็นนักบัญชีที่เครียดมาก ปัญหาที่บ้านก็หนัก พอคุณหมอส่งคนไข้มา เราก็สังเกตว่าผู้หญิงคนนี้แค่เดินยังไม่ตรงจังหวะเลย เดินซ้าย ขวา ซ้าย เหลื่อมจังหวะไปหมด เคสนี้ปัญหาอยู่ที่การฟัง เขาได้ยินเสียง แต่เสียงไม่เข้าไปข้างใน เราเลยนำเขาร้องเพลง ซึ่งการร้องเพลงก็ช่วยให้ปัญหาที่ต้นตอคลี่คลายไปได้อย่างรวดเร็ว

ในกรณีของผู้ใหญ่ เราจะให้ออกเสียงก่อน เริ่มใช้เสียงในระดับพูด และค่อยๆ ไต่ไปยังการร้องเพลง แต่ถ้าเป็นเด็ก เด็กจะร้องเพลงก่อนตามธรรมชาติของเขา เขาร้องก่อนที่จะพูดเป็นคำได้ด้วยซ้ำ แต่ผู้ใหญ่จะกลับกัน ผู้ใหญ่พูดแต่ไม่ร้อง เราให้คนไข้คนหนึ่งลองออกเสียง อา โอ เราก็จะเห็นเลยว่าคนที่ไม่เคยร้องเพลง จะขึ้นเสียงสูงไม่ได้ ไม่เคยใช้เสียงในระดับนี้เลย และคนเหล่านี้เส้นเสียงจะไม่แข็งแรง ไม่ยืดหยุ่น พอใช้เสียงเยอะๆ ก็แหบไปเลย พอออกเสียงแล้ว ก็ค่อยๆ ขยับมาให้เขาร้องโน้ตเพลง ออกเสียงให้ตรงโน้ต เมื่อได้ทำดนตรีบำบัดไประยะหนึ่ง เส้นเสียงแข็งแรงขึ้น ออกเสียงสูงได้มากขึ้น อาการเสียงแหบตอนใช้เสียงเยอะๆ ก็หายไป

นอกจากนี้ก็มีเรื่องวิธีร้องอีก ถ้าคุณร้องเพลงด้วยการตะโกนไปสักชั่วโมงหนึ่ง เสียงจะแหบแน่ๆ แต่ถ้าเรียนร้องเพลงก็จะต้องเปิดคอ ทำเสียงใหญ่ ต้องปรับวิธีร้อง พอเปิดคอได้ก็จะร้องได้เยอะขึ้น ไม่เจ็บคอ การร้องเพลงมันมีข้อดีอยู่ คือการที่เสียงเกิดมาจากข้างใน บางครั้งจึงทำให้ความรู้สึกที่ติดอยู่ข้างในถูกปล่อยออกมาพร้อมกับเสียง ตัวอย่างที่เห็นชัดคือเด็กออทิสติก

ครูมัยสอนเด็กออทิสติกกลุ่มหนึ่งมากว่า 10 ปี เด็กออทิสติกมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร เขาจะบอกไม่ได้ว่ารู้สึกอย่างไร หรือเขาต้องการอะไร บางครั้งจะพูดเป็นคำแต่ไม่เป็นประโยค ถ้าคนไหนเป็นเยอะ พูดไม่ได้เลยก็มี แต่เวลาโกรธพวกเขากรี๊ดได้ ตัวสั่นได้ ใช้เสียงได้ เพราะไม่รู้จะพูดอย่างไร เมื่อเด็กออทิสติกมาทำดนตรีบำบัด เวลาร้องเพลงก็ไม่จำเป็นต้องร้องถูก เราไม่ซีเรียสกับเนื้อเพลง แต่ถ้ารู้จักเพลงไหนแล้วร้องเป็นทำนองได้ก็ร้องออกมา เอาข้างในออกมาก่อน คนไข้ออทิสติกบางคนออกเสียงได้แค่คำว่า ลา กับ เล แต่การได้เอาเสียงออกมา ก็เหมือนได้เอาความโกรธและความอึดอัดออกไปบ้าง เรื่องกรี๊ดก็ลดลง

 

ณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก

 

ณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก

 

ดนตรีสามารถอยู่กับเราได้ในช่วงไหนของชีวิต และอย่างไรบ้าง

ดนตรีอยู่กับเราได้ตั้งแต่วันแรก จนถึงวันสุดท้ายของชีวิตเลยค่ะ

ดนตรีบำบัดใช้ได้กับทุกคนและทำงานได้ 2 ทาง คือทางพัฒนา กับรักษา และอยู่ได้ทุกช่วงเวลา เท่าที่เคยไปเห็นมา โรงพยาบาลที่เบอร์ลินในแผนกผู้ป่วยระยะสุดท้าย วันสุดท้ายของชีวิตคนไข้บางคนเขายังเล่นดนตรีบำบัดกันอยู่เลย

 

เสียงคู่ที่ 5 เชื่อมโยงหรืออธิบายช่วงชีวิตของเด็กเล็กได้อย่างไร

คู่ 5 เป็นคู่เสียงที่สำคัญมากในดนตรี ทางทฤษฎีดนตรีจะเรียกว่าคู่เพอร์เฟกต์ (perfect fifth) เช่นโน้ต โด กับ ซอล เป็นเสียงที่สำคัญมาก ในเครื่องสายจะตั้งเสียงแต่ละสายเป็นคู่ 5 หรือเวลาจูนเปียโนก็ใช้คู่  8  คู่ 5 ในการจูน มันเป็นคู่เสียงที่มีความกลมกลืนมาก สำคัญมากในดนตรี คุณภาพเสียง คู่ 5 นั้น  มีความนิ่ง เป็นเสียงที่ให้ความรู้สึกลอยๆ เป็นกลาง ไม่รู้สึกถึงด้านนอก หรือด้านใน

เด็กในวัย 0-7 ปีที่อยู่ในภวังค์ฝันและล่องลอย จึงเป็นเด็กที่มีคุณภาพแบบเดียวกับคู่ 5 เด็กที่อายุพ้น 7 ปี เวลาเดิน เท้าของพวกเขาจะเริ่มลงพื้นอย่างมั่นคงมากขึ้น พออายุถึง 9 ปี เด็กจะอยู่ในช่วงที่เรียกว่า ‘รูบิคอน’ คือเวลาที่เด็กรู้ตัวแล้วว่ายืนอยู่บนโลกความจริงอย่างเต็มตัว สิ่งที่ใช้กับเด็กอายุเท่านี้คือเพลงไมเนอร์ (minor) เป็นเพลงที่มีลักษณะเสียงแบบเข้าไปด้านใน ในขณะที่เด็กเล็กมักส่งความสนใจออกไปข้างนอก มองดูข้างนอกว่ามีอะไร แต่เด็กอายุ 9 ปีจะรู้สึกว่าฉันอยู่บนโลก เพราะฉะนั้นความสนใจของเขาจะเริ่มกลับมาที่ตัวเอง

คนที่มีลูกในช่วงอายุ 7-14 ปี จะพบสองช่วงเวลาที่เป็นวิกฤตของเด็ก เป็นช่วงที่เด็กเริ่มให้ความสำคัญกับความรู้สึก (feeling) และอยู่ในวัยที่เข้าโรงเรียนแล้ว ช่วงแรกคือตอนอายุ 9 ปี หรือช่วงรูบิคอน ปกติคนเรามีไต 2 ข้าง ใหญ่ข้าง เล็กข้าง ช่วงอายุ 9 ขวบ ข้างเล็กจะผลิตโดพามีนออกมา ทำให้เด็กตื่นเต้น เหวี่ยง วีน แต่จะผลิตมาปีเดียวก็หายไป โรงเรียนในเยอรมันบางแห่งตรวจปัสสาวะกันเลยทีเดียว เพื่อดูว่าโดพามีนออกมาหรือยัง เพราะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก ยกตัวอย่างลูกสาวครูมัย ตอน 9 ขวบ อารมณ์เขาเหวี่ยงเสียจนเรารู้สึกว่าเขาไม่ใช่ลูกเล็กของเราอีกแล้ว จริงๆ แล้ว เราที่เป็นแม่ เลี้ยงลูกมากับมือจะรู้สึกว่านี่ลูกเรา เรารู้จักเขา มั่นใจว่าเราจะต้องรับมือได้ แต่พอถึงเวลารูบิคอนคือรับไม่ได้ นี่ลูกฉันหรอ

อีกช่วงคือตอนอายุ 12 ปี เป็นช่วงที่เด็กจะเริ่มมีตัวตนจะชัดขึ้นมาก ลูกสาวตอนอายุ 12 ปี กลับมาบ้านแล้วบอกว่าจะเป็นมังสวิรัติ เป็นของเขาเอง ทั้งๆ ที่พ่อแม่ก็ไม่ได้เป็นมังสวิรัติ  ส่วนลูกสาวคนเล็ก เราคิดว่าเราเตรียมลูกมาอย่างดีในเรื่องดนตรี ลูกฟังเพลงคลาสสิกมาตลอด ดู The Sound of Music ตั้งแต่เด็ก แต่พอลูกอายุ 12 ปี เขากลับชอบเพลงเกาหลี ฉีกไปจากพ่อแม่อย่างมาก

 

ครูมัยเห็นวิธีการใช้ดนตรีในโรงเรียน หรือการปลูกฝังดนตรีของพ่อแม่ในลักษณะไหนที่ไปขัดภวังค์ฝันของเด็กเล็กบ้างไหม 

มีค่ะ เราต้องรู้ก่อนว่า เด็กเกิดมาเป็นลูกของพ่อแม่ บรรยากาศทุกอย่างภายในบ้านมาจากพ่อแม่ แต่เคยเห็นคลิปไหมที่เด็กเป็นร็อกเกอร์ อันนี้เร็วไป ยิ่งถ้าอยู่ในวัยก่อน 7 – 8 ปี หากเป็นร็อกเกอร์ไวขนาดนี้ แสดงว่าพ่อแม่เปิดให้ฟัง และมันไม่ใช่แค่การเลียนแบบ แต่ซึมเข้าไปในตัวของเด็กเลย ยิ่งเพลงที่มีจังหวะเน้นๆ  เด็กก็ยิ่งตื่นเร็ว มีความรู้เนื้อรู้ตัวเร็ว พอรู้ตัวแล้ว เขาจะไม่กลับไปฝันอีก ซึ่งเราควรจะรักษาภวังค์ฝันให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้

อย่างหนึ่งที่จะเห็นได้ชัดเจนมากถ้าเด็กยังอยู่ในภวังค์ฝัน คือเวลาเขาเล่นกับไม้แค่ท่อนเดียว มันสามารถกลายเป็นรถ เป็นเรือ เป็นเครื่องบินได้ในจินตนาการของเขา แต่ถ้าเด็กตื่นจากภวังค์ฝัน ไม้ท่อนหนึ่งก็กลายเป็นรถไม่ได้แล้ว และของเล่นเดี๋ยวนี้ก็สำเร็จรูปมาก รถก็คือรถ อุปกรณ์การช่างก็เป็นค้อน ทุกอย่างเหมือนของจริงมาก แม้มันจะดูน่ารักดูเหมือนของจริง แต่จริงๆ มันทำให้เขาไม่ฝัน ถ้าจะเล่นค้อนก็ต้องเอาค้อนที่เหมือนจริงมาเล่น

ส่วนการเล่นดนตรี จริงๆ แล้วการจะสร้างโปรแกรมดนตรีที่ดีต้องอาศัยครูที่อุทิศตน ครูที่ยอมให้เวลากับเด็ก แต่จุดหมายหลักของโรงเรียนส่วนใหญ่คือการสร้างวงดนตรี สอนดนตรีเด็กเพื่อทำให้เด็กเล่นดนตรีเป็น ร้องเพลงได้ แต่ดนตรีบำบัดแบบเราจะใช้ดนตรีเป็นตัวซัพพอร์ตในการเติบโตของเด็ก ให้เด็กได้มีประสบการณ์ดับดนตรี เด็กบางคนอาจจะเล่นไม่เป็นก็ได้ แต่ว่าเขาได้ผ่านกระบวนการที่จะทำให้ดนตรีเกิดขึ้น อันนี้สำคัญกว่า

เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กช่วง 0-7 เขาเข้าใจดนตรีมากน้อยแค่ไหน เราไม่ควรที่จะเปิดเพลงที่มีความหมายมีคำร้องให้เขาฟังเร็วเกินไปหรือเปล่า 

ดนตรีไม่ต้องเข้าใจก็ได้ ไม่จำเป็น แต่ดนตรีคือสิ่งที่มาจากพ่อแม่ ความหมายมีได้ แต่อยู่ที่พ่อแม่ว่าเปิดอะไร เคยมีพ่อแม่มาบอกว่า ลูกชอบ BNK ชอบคุ้กกี้เสี่ยงทายค่ะ เราไม่ได้เถียงเขาหรอก แต่ข้างในเราบอกว่า เด็กชอบเพราะแม่ชอบ ไม่ได้ชอบด้วยตัวเอง พ่อแม่เปิดอะไรเขาก็ย่อมอยู่ในบรรยากาศแบบนั้น

จริงๆ ช่วงนี้ไม่ได้ห้ามเลยนะว่าจะเปิดเพลงอะไร เพียงแต่อย่าให้เขาตื่นเยอะ อย่าใช้จังหวะหนักๆ เยอะ เพลงที่อ่อนหวาน ยังฝัน ใช้ได้หมด แต่ที่สำคัญคือให้แม่ร้องไปด้วย ไม่ใช่เปิดให้ลูกนั่งฟังแล้วไปทำอย่างอื่น เด็กจะชอบอะไรก็ตามที่แม่ทำให้ฟัง ร้องให้ฟัง ลองสังเกตว่าเวลาเปิดผ่านๆ หูเขาไม่ได้ซึมซับ แต่เมื่อไหร่ที่พ่อแม่ร้องเองเขาจะซึมซับจากตรงนั้น

มนุษยปรัชญาให้คอนเซปต์ดนตรีไว้ว่าเด็กอนุบาล ควรจะได้ยินเสียงจริงๆ เสียงของครูที่ร้องเพลง ไม่เปิดซีดี ไม่เปิดเสียงหลอกๆ ให้ฟัง แต่ครูต้องร้องเพลงไปกับเด็ก และครูเป็นเหมือนแม่ โอบเด็กๆ ไว้ด้วยเสียงของครูเอง หากเราเปิดเสียงผ่านเครื่อง รายละเอียดจะไม่มา เด็กจะไม่เงี่ยหูฟังว่าอะไร อยากให้ดังก็เปิดดังๆ แต่ครูถ้าร้องเพลง เขาจะฟังละเอียดมาก ความดังเบาในตอนนี้เป็นอย่างไร แล้วมันจะค่อยๆ ซึมเข้าไปในตัวเขา

การใช้ประโยชน์จากดนตรีเช่น การเอาไปใส่คำร้องเป็นตัวอักษร ก – ฮ คู่กับเพลง หรือให้เด็กท่องจำบางอย่าง จะเป็นปัญหาไหม

ถ้าเป็นตัวเสริมในการสอนหนังสือก็โอเค มันเป็นการเรียนหนังสือ เรียนการเขียนการอ่าน แต่ต้องไม่ใช่เพลงหลัก เพราะเพลงที่ไม่ใช่การเรียนการสอน เพลงที่เราโอบเขาไว้ จะอยู่ในตัวเขาได้มากกว่า

 

ณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก

 

บางคนบอกว่าถ้ารู้สึกเศร้าอยู่แล้วไปฟังเพลงเศร้า หรือฟังเพลงที่มีโน้ตต่ำ มันจะยิ่งเศร้า ในทางดนตรีบำบัดคิดอย่างไร มันจะทำให้ยิ่งเศร้าจริงหรือเปล่า 

ไม่เกี่ยวหรอก คนที่เศร้าและไปฟังเพลงเศร้า ส่วนใหญ่มักฟังเนื้อเพลง ไม่ใช่เสียง เป็นรสนิยมมากกว่าว่า เวลาคนคนหนึ่งเศร้าเขาจะฟังเพลงอะไร บางคนชอบฟังเพลงที่ทำให้สดใสขึ้น บางคนชอบฟังเพลงดาร์กๆ เพื่อเศร้าให้มันสุด สุดแล้วเขาจะลุกขึ้นยืนใหม่ ลักษณะนี้เราว่าไม่เป็นไร

ความเศร้าอาจส่งผ่านมากับเนื้อเสียง มีคนไข้เคสหนึ่ง เศร้ามาก เขาเสียภรรยาไปขณะตั้งครรภ์ แต่ลูกรอด ภรรยาของเขาคือคนที่ตกลงว่าจะอยู่ด้วยกัน สร้างครอบครัวด้วยกัน ในที่สุดพอได้มีลูกแล้ว ภรรยาก็มาจากไป เหมือนอยู่ๆ ฟ้าก็ผ่าลงที่เขา เราพูดคุยกับเขาก็พบว่า เขากำลังหาทาง จะดูแลลูกเขาอย่างไร จะทำอย่างไรต่อไป สิ่งที่บอกกับเขาคือ ดูแลตัวเองก่อนนะ เมื่อดูแลตัวเองได้แล้ว แข็งแรงแล้ว จะได้ไปดูแลลูกได้จริงๆ เขาก็มาทำดนตรีบำบัด ตอนแรกร้องเพลงไม่ออกเลยค่ะ ออกเสียงพูดได้นะ แต่เสียงไม่เต็ม ได้ยินเสียงที่แตกอยู่ด้านใน เรารู้เลยว่าต้องให้เขาวอร์มอัพก่อน การวอร์มเสียง เราต้องคอยฟังเนื้อเสียง จะรู้เลยว่าเขาเอาเสียงและความรู้สึกออกมาได้หรือไม่ ถ้าเสียงยังไม่เปิด ก็ต้องอธิบายว่าทำอย่างไร

 

ดนตรีจะช่วยเสริมพัฒนาการของเด็กได้อย่างไร

สมมติเราเดินตามถนนเฉยๆ กับเดินโดยที่มีหูฟังอยู่ เปิดเพลงอยู่ เหมือนกันไหมคะ แน่นอนว่าไม่เหมือนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นดนตรีก็เหมือนตัวที่เชื่อมเรากับบางอย่าง ดนตรีช่วยการพัฒนาเด็กได้หลายทางแตกต่างกันไป เช่น เด็กพิการ สิ่งที่จะช่วยให้เขาพัฒนาได้ดี คือเรื่องการสัมผัส เด็กที่เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท (cerebral palsy) ถึงเวลานั่งกลับไม่นั่ง ถึงเวลาเดินกลับไม่เดิน บางคนเดินไม่ได้ บางคนพูดไม่ได้ด้วย วิธีที่ใช้คือคือสัมผัส นวดไปพร้อมกับเพลง นวดในแนวทางมนุษยปรัชญาเป็นการนวดในระดับพลังชีวิต จะไม่ได้กดเจ็บ ไม่ได้เน้นไปที่ตัว แต่เน้นไปที่พลังชีวิตหรือพลังที่อยู่ในตัวเรา พลังที่ทำให้ผมยาว ทำให้เล็บยาว วนอยู่ในร่างกาย ถ้าร้องเพลงไปด้วยก็จะทำให้จังหวะจะดี พลังชีวิตก็ยิ่งดีขึ้นด้วย

ในการพัฒนาเด็ก เด็กบางคนมือไม่พร้อม เคลื่อนไหวน้อย ดนตรีบำบัดจะมีกิจกรรมที่ทำได้คือการ กำ กับ แบ คือถ้าเราพูดเฉยๆ ว่ากำและแบเด็กก็จะงงว่าคืออะไร แต่ถ้าเราใช้เพลงเป็นตัวกลาง ทำไปกับเพลง “กำและแบ แบแล้วกำ กำแล้วแบ” เด็กก็จะเข้าใจว่าร้องเพลงเล่นกัน เด็กจะยอมขยับได้ง่ายกว่าบังคับให้เขาทำ ดนตรีจึงเป็นตัวเชื่อม

มีเด็กอนุบาลคนหนึ่งที่พ่อแม่เลิกกัน และไม่ได้เลิกกันอย่างสวยงาม มีการยื้อแย่งลูกกันไปมาโดยที่เด็กอยู่ตรงกลาง เด็กที่ถูกดึงแบบนี้ข้างในเขาถูกฉีกหมดเลย พอเขาโตขึ้น อาการบาดเจ็บ แบบ trauma ไม่ได้หายไป ป.6 ยังมีการฉี่รดที่นอน พอเริ่มเรียนชั้นมัธยม เราก็ให้เด็กจับกลุ่มตีกลองกัน ทุกคนก็ตีไปด้วยกัน ตีไปเรื่อยๆ แต่เด็กคนนี้ตีไม่เป็นจังหวะ ท่าทางการตีก็ไม่ดี นั่งแบบปวกเปียก แต่เมื่อได้ทำเรื่อยๆ พลังจากกลอง และเพื่อนๆในกลุ่ม ก็ช่วยให้เขาสามารถสร้างตัวตนด้านในได้ดีขึ้น

ดนตรีทุกอย่างช่วยเด็กได้มาก โดยเฉพาะการสร้างตัวตน ร่างกาย และสมอง เพียงแต่ว่าดนตรีที่ดีคือดนตรีที่ผู้ฟังสามารถฟังได้ถึงรายละเอียด ทำให้หัวใจชุ่มชื้น ฟังแล้วส่งความรู้สึกไปกับมันได้ ไม่ใช่ว่าได้ยินดนตรีประกอบอะไรสักอย่าง แล้วก็ปล่อยผ่านไป

 

ดนตรีกับศิลปะมักจะถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความงาม อะไรคือความเพราะ โดยส่วนตัวแล้วความงามของดนตรีบำบัดสำหรับครูมัยคืออะไร 

ความงามในศิลปะ และความเพราะในดนตรีอยู่ในหัวใจ ในความรู้สึกของแต่ละคน เป็นรสนิยมส่วนตัวที่มีต่อศิลปะหรือดนตรีนั้นๆ แต่เรื่องดนตรีบำบัดนั้น ความงามอยู่ที่การที่คนไข้หรือนักเรียน สามารถคลี่คลายปมในตัวเอง หรือก้าวข้ามบางสิ่งบางอย่างไปได้

 

ทำอย่างไรจึงจะปลดความคิดกังวล หรือการตั้งท่าจะเล่นจะร้องให้เพราะออกไป เพื่อให้พบกับความงามแบบที่ครูมัยบอก 

เราเป็นคนหนึ่งที่เวลาทำบำบัดจะมองคนไข้เป็นเพื่อน ซึ่งจำเป็นมาก ถ้าเราเห็นเขาเป็นเพื่อน มีอะไรเราก็บอก ยิ่งเราทำงานกับเด็กในโรงเรียน เราจะเห็นว่ากว่าเด็กคนนึงจะทำได้มันไม่ง่าย สำหรับบางคนก็ยิ่งไม่ง่าย ก็ต้องให้เขาค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ทอนเป้าหมายลง ให้มีขั้นตอนของการที่เราจะก้าวไปถึงสิ่งที่ต้องการได้ เช่น การขยับมือกำและแบไปพร้อมกับเพลง ถ้าเขากังวลมาก็ให้ทำแค่มือเดียวก่อน ทำให้เขาเห็นว่าจุดมุ่งหมายในตอนนี้คืออะไร  ยังไม่ได้ทำอะไรหลายขั้น พอมือเดียวทำได้แล้ว เปลี่ยนมาสลับกำข้างแบข้างได้ไหม เป็นต้น

ความงามของดนตรีเกิดขึ้นระหว่างเรากับนักบำบัด เราจะชื่นใจมากตอนที่เขาสามารถผ่านบางอย่างไปได้ จนเบ่งบานออกมาเป็นเสียงดนตรีที่ดี หรือร้องเพลงจนจบได้ ร้องเพลงด้วยเสียงที่ดีได้ เสียงที่ดีไม่ใช่เสียงที่เพราะแม้ส่วนใหญ่จะเพราะ ​แต่เสียงที่ดี คือคุณภาพการร้อง ออกเสียงได้ดี ไม่ไปบีบมัน สามารถร้องไปได้จนจบเพลง แต่โดยมากเท่าที่เห็นก็จะไพเราะตามไปด้วย เพราะเวลาร้องเพลง เสียงออกมาจากข้างในอยู่แล้ว

 

YouTube video

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save