fbpx

จอมพล ป. ลี้ภัย พ.ศ. 2500 บทอวสานผู้นำคณะราษฎรคนสุดท้าย

“…คนอย่างเรานั้น ลูกน้องมักจะทรยศ…”[1]

จอมพล ป. พิบูลสงคราม


รัฐประหาร 16 กันยายน 2500 มิเพียงเป็นจุดสิ้นสุดเส้นทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยถึง 15 ปีเท่านั้น แต่ยังนับเป็นบทอวสานการเมืองการปกครองของเหล่าผู้ก่อการ 2475 ในนามคณะราษฎรอีกด้วย

125 ปีก่อน ด.ช. แปลก ลืมตาดูโลกเมื่อวันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 ปีระกา ซึ่งปีนั้นตรงกับวันเข้าพรรษา ในครอบครัวชาวสวนฐานะระดับปานกลาง (นามสกุลเดิม ขีตตะสังคะ) ณ บ้านแพปากคลองบางเขน อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ทารกนี้เป็นเด็กเลี้ยงยากหรือที่เรียกว่าโรคร้องไห้สามเดือน มารดาจึงนำไปถวายเป็นลูกหลวงพ่อที่วัดปากน้ำ[2] เล่ากันว่าเหตุที่บุพการีให้ชื่อว่า ‘แปลก’ เพราะมีลักษณะเด่นที่ใบหูอยู่ต่ำกว่านัยน์ตา

เมื่อเด็กน้อยผู้นี้เจริญวัยต่อมาได้เข้าเรียนวิชาทหารในโรงเรียนนายร้อย จนสามารถสอบชิงทุนไปศึกษาต่อยังประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2467 ณ ดินแดนที่มีวันชาติตรงกับวันเกิดของร้อยโทแปลกนี้เองที่เขาได้รู้จักกับเหล่าสหายร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตย กระทั่งกลับมาก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จเมื่อย่ำรุ่ง 24 มิถุนายน 2475 ด้วยวัยเพียง 35 ปี

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายทหารหนุ่มบรรดาศักดิ์ ‘หลวงพิบูลสงคราม’ ผู้นี้เคยถูกลอบสังหารทั้งสิ้น 3 ครั้ง 3 คราว ทั้งลอบยิงเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2478 (มือปืนคือนายพุ่ม ทับสายทอง) และ 9 พฤศจิกายน 2481 (มือปืนคือนายลี บุญตา) และวางยาพิษเมื่อ 9 ธันวาคม  2481 ครั้นขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระแรกได้นำพาประเทศเปิดศึกสงครามอินโดจีน จนได้รับการอวยยศขึ้นสู่ตำแหน่ง ‘จอมพล’ เมื่อกลาง พ.ศ. 2484 ก่อนเข้าร่วมสมรภูมิสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อสงครามยุติ อดีตท่านผู้นำตกเป็นผู้ต้องหาอาชญากรสงคราม ถูกจองจำเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 5 เดือน 16 วัน[3] ระหว่างวันที่ 18 ตุลาคม 2488-23 มีนาคม 2489 

ภายหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 จอมพล ป. ได้รับการสนับสนุนกลับขึ้นครองอำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง นับเป็นเวลายาวนานถึงหนึ่งทศวรรษ ระหว่างนั้นรัฐนาวาของเขาต้องเผชิญกับการพยายามช่วงชิงอำนาจรัฐอีกหลายครั้งหลายคราว โดยเฉพาะการจลาจลเมื่อวันที่ 29-30 มิถุนายน 2494 หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘กบฏแมนฮัตตัน’ จอมพล ป. ถูกนายทหารเรือในนาม ‘คณะกู้ชาติ’ ก่อการจี้จับเป็นตัวประกันกว่า 30 ชั่วโมง เมื่อถูกฝั่งเดียวกันนำเครื่องบินทิ้งระเบิดเรือหลวงศรีอยุธยาอันเป็นสถานที่ควบคุมตัว ก็สามารถแคล้วคลาดหลุดรอดออกมาได้อย่างเหลือเชื่อ จนแม้แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช[4]ถึงกับเคยเอ่ยด้วยความทึ่งว่าจอมพล ป. ยังคงรอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิดเช่นเคย ทั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะมีดวงชะตาแข็งหรือมีพระเครื่องรางประจำตัวที่คุณชายเรียกว่า ‘พระหลวงตาแปลก’ คอยคุ้มกันก็เป็นได้[5]

อำนาจวาสนาของจอมพล ป. ในท้ายที่สุดถูกโค่นล้มด้วยรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 จากเงื้อมมือลูกน้องใกล้ชิดนามว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เย็นวันนั้นท่านจอมพลตราไก่ก็ยังกระดูกแข็งพอที่จะเล็ดลอดผ่านช่องทางธรรมชาติ ฟันฝ่าอุปสรรคทั้งทางบกและทางน้ำเข้าสู่เขตแดนเขมรโดยสวัสดิภาพ ก่อนจะใช้ชีวิตบั้นปลายด้วยสันติสุขต่างแดนเคียงคู่กับภริยาอันเป็นที่รักยิ่งจนถึงแก่อสัญกรรม ณ ประเทศญี่ปุ่นในอีก 7 ปีต่อมา

ก่อนหน้ารัฐประหารครั้งนั้นปรากฏเรื่องเล่าว่าจอมพล ป. เคยทดสอบใจของจอมพลสฤษดิ์ว่ายังจงรักภักดีต่อตนหรือไม่ในหลายวาระ จอมพลสฤษดิ์จึงต้องแสดงความจงรักภักดีเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการนำสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดไปมอบเป็นของขวัญวันเกิดแด่จอมพล ป. พร้อมกับบอกว่า ผมจะจงรักภักดีต่อท่านดุจดังสุนัขตัวนี้[6]!


บทอวสานผู้นำคณะราษฎรคนสุดท้าย


“…เมื่อนึกย้อนหลังไป ข้าพเจ้าก็แน่ใจว่าในตอนนี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเครื่องแบบทหารจอมพลชุดขาวที่ท่านสวมมาตั้งแต่เช้าเพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คงทราบล่วงหน้าดีแล้วว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง…” – อนันต์ พิบูลสงคราม (บุตรชายคนโตจอมพล ป.)[7]

ตลอดวันรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 ทำเนียบรัฐบาลดูจะอลหม่านไปด้วยหลากหลายกระแสข่าว หนังสือสารคดีการเมืองชื่อเล่ม ‘วอเตอร์ลูของจอมพลแปลก’ ถูกจัดพิมพ์ขึ้นหลังรัฐประหารไม่ถึงเดือน ฉายภาพวันสุกดิบนั้นไว้ว่าสฤษดิ์ปฏิเสธที่จะร่วมกับจอมพล ป. เข้าเฝ้าในหลวงโดยว่า “นี่ท่านนายกฯ ก็ไปเฝ้าในหลวง ในหลวงอาจจะทรงประทานข้อคิดอะไรมาบ้าง ท่านนายกฯ ได้ชวนผมไปเหมือนกัน แต่ผมไม่ไป”[8] นิตยสารการเมืองรายปักษ์ ‘ไท-สัปดาห์’ ได้เผยแพร่บทสนทนาครั้งจอมพล ป. เข้าเฝ้าในเดือนถัดมา เล่มปีที่ 2 ฉบับที่ 64 วันที่ 14 ตุลาคม 2500 ในคอลัมน์ ‘เบื้องหลังแห่งการยึดอำนาจ’ ไว้ว่า

“ฝ่ายจอมพลแปลก เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามรายงานจากคณะทหารในเวลาต่อมามีว่า ทรงถามว่าจะรักษาสถานการณ์ไว้ได้หรือไม่. จอมพลแปลกกราบทูลว่า สถานการณ์ไม่มีอะไร เป็นเรื่องในครอบครัว พอจะพูดทำความเข้าใจกับคณะทหารได้ ตรัสถามอีกว่าท่านควรลาออกตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ และตามคำเรียกร้องของทหารดีกว่า. จอมพลกราบทูลว่า เพียงแต่เปลี่ยนแปลงแต่งตั้งรัฐมนตรีก็พอแล้ว ตรัสถามอีกว่า จอมพลสฤษดิ์รวบรวมทหารไว้และประชาชนสนับสนุน ควรจะให้เข้าร่วมบริหารราชการใกล้ชิด จอมพลแปลกกราบทูลว่าใคร่ขอให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จอมพลสฤษดิ์พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเพื่อคณะทหารจะได้ผ่อนคลายคำเรียกร้องรัฐบาลลงบ้าง.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขอให้ไปปฤกษาพบปะคณะทหารใหม่เป็นการเด็ดขาดเสียก่อน เรื่องปลดผู้บัญชาการทหารบกไม่ทรงเห็นประการใด เป็นแต่ทรงตรัสว่า ‘เอ. เขาก็เป็นคนดี’”[9]


จอมพล ป. พิบูลสงคราม รับเสด็จ ในหลวงรัชกาลที่ 9 กลางปี พ.ศ. 2500


เหตุการณ์หลังเข้าเฝ้าครั้งนั้นยังถูกขยายผ่านเรื่องเล่าของสุวัฒน์ วรดิลก ไว้ว่า นายทองใบ ทองเปาด์ เป็นนักข่าวใจเด็ดคนเดียวที่ยืนขวางรถยนต์ ‘ทันเดอร์เบิร์ด’ ของจอมพล ป. ที่หน้าวังสวนจิตรลดา จอมพล ป. หยุดรถพร้อมพูดขึ้นว่า

“วันนี้ไม่มีข่าวหรอก คุณ ทองใบ”

จอมพล ป. ยื่นหน้ามาบอก หน้าบูดเหมือนปลาร้าค้างปี แต่ท่านจำชื่อและหน้า ทองใบ ได้แม่นยำนัก

“ผมไม่ได้มาหาข่าวครับท่าน” ทองใบ ถาม “แต่อยากเรียนถาม ท่านเข้ามาเฝ้าในหลวงทำไม?”

“ก็เฝ้าตามปกติ” จอมพล ป.ตอบ ไม่ยอมดับเครื่องยนต์รถ

“ในหลวงรับสั่งยังไงบ้างครับท่าน?”

“ก็ไม่ได้รับสั่งอะไร…ไม่มีข่าว”

ว่าแล้วจอมพล ป.ฉวยโอกาสนั้น ขับ ‘ทันเดอร์เบิร์ด’ ของท่านพุ่งปราดออกจากประตูวังสวนจิตรลดาไป[10]


รถยนต์ลี้ภัยของท่านผู้นำ ‘ฟอร์ด’ หรือ ‘ซีตรอง’?


รถยนต์ยี่ห้อฟอร์ดรุ่น ‘ทันเดอร์เบิร์ด’ หรือในฉายา ‘วิหคเหิรฟ้าสีเขียวแก่’ ดูเหมือนจะถูกจดจำเคียงคู่กับจอมพล ป. เสมอมา แม้แต่ในเย็นวันที่ขับหลบหนี นอกเหนือจากนายทองใบที่จดจำว่าเป็นรถยนต์คันนี้แล้ว หนังสือสารคดีการเมืองบางเล่มยังเขียนเล่าว่าท่านนายกขับรถคันนี้ออกจากทำเนียบ ก่อนจะเลี้ยวเข้าบ้านชิดลมของจอมพล ป. เพื่อเปลี่ยนพาหนะเป็น ‘ซีตรองสีไข่ไก่’ คันใหม่เอี่ยมอ่อง[11] แต่ทว่าจากหลักฐานชั้นต้นที่เชื่อถือได้โดยเฉพาะบันทึกของตำรวจอารักขา ระบุชัดเจนว่าพาหนะที่ใช้ขับหนีวันนั้นเป็นรถยนต์ยี่ห้อ ‘ซีตรอง’ นับแต่ต้นทางโดยว่า “ขณะนั้นฝนตกปรอยๆ ซีตรองเคลื่อนตัวออกจากทำเนียบ”

ข้อกังขาคงเหลือเพียงแต่ว่าเจ้ารถสัญชาติฝรั่งเศสคันดังกล่าวจะเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดขณะนั้นที่ชื่อว่า Citroën DS[12] หรือรุ่นเก่ากว่าอย่าง Citroën Traction Avant[13]?


พาหนะคู่ใจจอมพล ป. รถยนต์ยี่ห้อฟอร์ดรุ่น “ทันเดอร์เบิร์ด” หรือในฉายา “วิหคเหิรฟ้าสีเขียวแก่”
ซีตรองรุ่น DS สีไขไก่ ปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957)
ซีตรองรุ่น Traction Avant


จอมพลผู้นิราศ  


“ป้าเคยชวนคุณพ่อเหมือนกัน บอกให้คุณพ่อเขียน (บันทึกความทรงจำ) เอาไว้ แต่คุณพ่อตอบว่า ไม่สนใจ คุณพ่อไม่อยากจะมานั่งจดจำ ให้คนอื่นเขาเขียนดีกว่า”[14] – จีรวัสส์ ปันยารชุน (พิบูลสงคราม)

ถึงแม้ว่าการหลบหนีครั้งนั้นยังไม่พบว่าจอมพล ป. ได้ทำการบันทึกไว้ดั่งเช่นเมื่อถูกจี้เป็นตัวประกันก่อนหน้านั้น 6 ปีในกบฏแมนฮัตตัน[15] แต่อย่างน้อยนายตำรวจอารักขา พันตำรวจเอก(ยศขณะนั้น) ชุมพล โลหะชาละ ได้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ถึงสองสำนวน สำนวนแรกถูกตีพิมพ์ในหนังสือ ‘เบื้องแรกประชาธิปตัย’ เมื่อ พ.ศ. 2516 ชื่อเรื่อง ‘หนีไปกับจอมพล’[16] และต่อมาถูกนำมาขยายอย่างพิสดารเป็นสำนวนที่สองจัดพิมพ์ควบรวมในชื่อเรื่อง ‘ตำรวจอารักขา’ ไว้ในอนุสรณ์งานศพของผู้เขียนเมื่อ พ.ศ. 2544

เรื่องราวต่อไปนี้คัดลอกบันทึกบางส่วนจากสำนวนที่สองดังว่า โดยเริ่มเรื่องจากที่นายตำรวจท่านนี้ได้รับการทาบทามจาก พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ให้เข้าทำหน้าที่บอดี้การ์ดนายกรัฐมนตรี จวบจนสิ้นสุดลงที่การร่วมผจญภัยกับท่านจอมพล ผจญอุปสรรคจนเข้าเขตแดนเขมรเป็นผลสำเร็จ


“ตำรวจอารักขา”

โดย พล.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ (พ.ศ. 2464-2544)


พล.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ (ตำรวจอารักขาจอมพล ป. เมื่อ พ.ศ. 2500)


ชุมพล โลหะชาละ บันทึกว่าได้พบอธิบดีเผ่า ศรียานนท์ ในงานศพมารดาจอมพล ป. ที่ จ.นนทบุรี เมื่อ พ.ศ. 2496 (จุดนี้ชุมพลจดจำคลาดเคลื่อน แท้ที่จริงคืองานศพบิดาและพ่อตาของจอมพล ป.[17]) พล.ต.อ.เผ่าได้ชักชวนให้ย้ายเข้าพระนครไปเป็นตำรวจประจำตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเริ่มงานวันแรกเมื่อ 29 เมษายน 2496

ชุมพลบันทึกช่วงเวลานั้นไว้ว่า “ผมพยายามทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อนายกรัฐมนตรีมากที่สุด ไม่แยกว่า เป็นเรื่องส่วนตัวหรือราชการ ไม่มีวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดท่านไปไหนต้องไปด้วย …หน้าที่อารักขา จอมพล ป. ทำให้ผมเหมือนเงาของท่านที่ติดตามไปทุกหนทุกแห่งและทราบว่า จอมพล ป. เป็นคนอย่างไร นิสัยที่แท้จริงของท่านเป็นเช่นไร ท่านเป็นคนฟังเหตุฟังผล ไม่มีความเห็นแก่ตัว ไม่ฉกฉวยโอกาส ต้องการทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติจริงๆ ผมได้ติดตามท่านไปต่างประเทศถึง 17 ประเทศ ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2498…เรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ ผมถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นกับ จอมพล ป.และประเทศชาติโดยรวม อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย[18]  


16 กันยายน 2500

เย็นนั้นผมหมดภารกิจหลังจากจอมพล ป. กลับจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงกลับบ้านพักที่หลานหลวง เพื่อพักผ่อน และเตรียมต่อสู้กับความสับสนในวันรุ่งขึ้น คนงานโรงแก้วมาล้อมทำเนียบ ตำรวจประจำทำเนียบโทรศัพท์ไปรายงานผมที่บ้าน จึงแต่งเครื่องแบบขับรถออกจากบ้านไปยังทำเนียบทันที…


ขับรถซีตรองออกจากทำเนียบท่ามกลางสายฝน

จอมพล ป. อยู่ในที่พักชั้นบน ข้าราชการที่มาชุมนุมต่างพูดคุยกันว่า เหตุการณ์ไม่น่าไว้วางใจ ครู่หนึ่ง จอมพล ป.ลงมาจากห้องพัก เรียก พล.ท.บุลศักดิ์ วรรณมาศ คุณฉาย วิโรจน์ศิริ ส.ส.กาญจนบุรี และเลขาธิการนายกรัฐมนตรีไปพบ ท่านพยักหน้าเรียกผม แล้วพูดว่า “ไป” พวกผมเดินตามท่านลงจากตึกที่ทำการ โดยมี พ.ต.อ.เทียบ สุทธิมณฑล นายตำรวจที่เข้าเวรเดินตามมาขึ้นรถยนต์

เมื่อเดินมาถึงรถซีตรองที่จอดอยู่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เปิดประตูเข้าไปทำหน้าที่คนขับ พล.ท.บุลศักดิ์ วรรณมาศ นั่งด้านซ้ายคู่กับ จอมพล ป. ส่วนผม คุณฉาย วิโรจน์ศิริ และ พ.ต.อ.เทียบ สุทธมณฑล นั่งเบาะหลังทั้งสามคน ขณะนั้นฝนตกปรอยๆ ซีตรองเคลื่อนตัวออกจากทำเนียบ

ท่าทางของ จอมพล ป. ไม่มีลักษณะรีบร้อน หรือตื่นเต้นแม้แต่น้อย คงสูบบุหรี่ เปิดวิทยุในรถฟังเวลาขณะนั้นเกือบ 1 ทุ่ม ถ้าฝนไม่ลงเม็ดท้องฟ้าคงสว่างกว่านี้ จุดแรกที่ไปคือบ้านซอยชิดลม

เมื่อถึงบ้านชิดลม ท่านนายกฯ ลงจากรถขึ้นไปบนบ้าน ให้ผมโทรศัพท์ตามหาอธิบดีเผ่า ผมก็งงเพราะไม่ทราบว่า อธิบดีเผ่าอยู่ที่ไหน ที่นึกได้ขณะนั้นคือ ตามหา พล.ต.ต.พิชัย กุลละวณิชย์ ให้พบก่อน แล้วจึงจะทราบ เพราะ พล.ต.ต.พิชัย ทำหน้าที่คล้ายนายเวรของ อธิบดีเผ่า ผมจึงหมุนโทรศัพท์ไปที่บ้าน คุณสมจิตร กุลละวณิชย์ ภรรยา พล.ต.ต.พชัย เป็นผู้รับสาย ผมจึงตามหา พล.ต.ต.พิชัย ท่านนายกฯ ต้องการทราบว่าอธิบดีเผ่า กำลังทำอะไรอยู่ที่ไหน แต่แทนที่จะได้รับคำตอบจากคุณสมจิตร ปรากฏว่ามีเสียงร้องไห้มาตามสาย และบอกว่าไม่ทราบ ขณะนี้รถถังออกวิ่งเมืองหลวงแล้ว เขากำลังทำอะไรกัน ผมต้องพูดปลอบใจคุณสมจิตร ว่าไม่มีอะไรพวกเดียวกันทั้งนั้น ผมรายงานให้นายกฯ ทราบว่าไม่สามารถติดต่ออธิบดีเผ่าได้


มุ่งหน้าสู่ตะวันออก

จอมพล ป. เดินมาขึ้นรถซีตรองคันเดิมพร้อมด้วยกระเป๋าเอกสารแบบซิ๊บรูด ทราบภายหลังว่ามีเงินสดอยู่ 40,000 บาท ท่านบอกให้พวกเราทั้งหมดขึ้นรถ ทุกคนนั่งประจำที่เดิม ท่านขับรถเคลื่อนตัวออกจากบ้านซอยชิดลม มุ่งหน้าไปตามถนนสุขุมวิท ไม่มีใครทราบว่าท่านกำลังคิดอะไรอยู่ ทุกคนอยู่ในอาการเงียบสงบ ไม่ทราบว่าท่านจะไปไหน

รถซีตรองวิ่งมาตามถนนสุขุมวิท ถึงหน้าสถานีตำรวจพระโขนง จอมพล ป. จอดรถ แล้วหันมาพูดกับพวกเราที่นั่งตอนหลัง 3 คนว่า “ข้างหลังนั่ง 3 คนอึดอัด” ท่านจึงให้ พ.ต.อ.เทียบ สุทธิมณฑล ลง หารถกลับเข้ากรุงเทพฯ หากมีโอกาสให้ไปดูสถานการณ์ที่ทำเนียบ พรุ่งนี้ให้ไปรายงานที่บ้านพักรับรอง บางปู สมุทรปราการ รถมุ่งหน้าไปทางสมุทรปราการอย่างไม่รีบร้อนนัก จอมพล ป. คงสูบบุหรี่ เกือบเรียกได้ว่ามวนต่อมวน

ภายในรถจึงเหลืออยู่เพียง 4 คน ทุกคนมีคำถามเหมือนๆ กันว่า “เรากำลังจะไปไหน” แต่เมื่อท่านบอกกับ พ.ต.อ.เทียบ ให้ไปรายงานเหตุการณ์ที่บ้านรับรองบางปู พวกเราคิดขณะนั้นว่า เราคงจะไปพักกันที่นั่น ซีตรองยังคงวิ่งไปเรื่อยๆ ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาพรำๆ วิทยุในรถเปิดเพลงมาร์ชรักชาติ สลับกับเพลงปลุกใจ จึงจะพอเดาเหตุการณ์ได้ว่าไม่ดีแน่

ถึงปากน้ำ และมุ่งไปทางบางปู เมื่อถึงบ้านพักรับรอง ซ้ายมือของถนนสุขุมวิท แทนที่จะเลี้ยวเข้าบ้านรับรองอย่างที่ผมและทุกคนคิด ท่านเพียงแต่หันไปมองแล้วขับรถเลยไป

ฝนเริ่มหนาเม็ดขึ้นทุกที ท้องฟ้ามืดมิด ขณะนั้นเวลาประมาณ 2 ทุ่ม รถมาถึงสะพานบางปะกง ทหารช่างจากแปดริ้ว กำลังตั้งด่านตรวจรถ ขณะที่เราไปถึง การตั้งด่านยังไม่เรียบร้อย จึงยังไม่ได้ลงมือตรวจ รถของเราจึงผ่านเลยไป

เพียงชั่วอึดใจ วิทยุในรถประกาศให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล ไปรายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก

จอมพล ป. และพวกเราทุกคนได้ยินประกาศนี้ และประกาศบ่อยครั้ง แต่ไม่มีใครเอ่ยปากพูด หรือให้ความเห็นใดๆ จอมพล ป. ฟังเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยังคงสูบบุหรี่ และขับรถไปเรื่อยๆ เมื่อถึงศรีราชาท่านพูดว่า มีคนสนิทของ พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โทรศัพท์มาบอกว่า พล.อ.สฤษดิ์ กำลังให้ทหารมาเชิญไปที่หอประชุมกองทัพบก แต่ท่านไม่รอให้ทหารมาเชิญ จึงได้ขับรถออกมาทำเนียบเสียก่อน

ซีตรองน้ำมันหมดที่ศรีราชา ปั๊มน้ำมันที่ถนนใหญ่ไม่มี คงมีอยู่ปั๊มเดียวที่ตลาด จอมพล ป.จอดรถริมถนนใหญ่ ลงจากรถ และให้ คุณฉาย และ พล.ท.บุลศักดิ์ นำรถไปเติมน้ำมันในตลาด ส่วนท่านกับผมเดินไปหลบฝนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ริมถนน

ครู่ใหญ่รถกลับมาจากเติมน้ำมัน ฝนยังคงหนาเม็ด ผมแต่งเครื่องแบบพันตำรวจเอก นอกนั้นแต่งสากล ท่านนายกฯ ทำหน้าที่ขับรถต่อไป ท้องฟ้าคะนอง ฝนหนักขึ้นทุกที ผมคิดในขณะนั้นว่าท่านคงแวะสัตหีบ เพื่อพบ พล.ร.ต.ประสงค์ พิบูลสงคราม บุตรชาย ซึ่งเป็นผู้บังคับการอยู่ที่นั่น

แต่เมื่อถึงสัตหีบ ท่านขับรถเลยไป พร้อมทั้งหันมาถามผมว่า รู้จักเส้นทางสายนี้ดีไหม ผมบอกท่านว่า เคยรับราชการที่ระยอง แต่เมื่อเลยมาอย่างนี้ไม่คุ้นเคย

ถนนจากสัตหีบเริ่มไม่ดี ฝนตก และเป็นเวลากลางคืน กระจกหน้ามีฝ้าจับมาก จึงต้องขับรถช้าๆ วิทยุในรถยังคงเปิดเพลงมาร์ชและปลุกใจ สลับกับการประกาศให้ไปรายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก


เข้าถึงตราด หาเรือเดินทางต่อ

ขณะที่รถเลยสัตหีบ ท่านถามขึ้นมาลอยๆ ว่า ถนนที่จะไปเขมร โดยผ่านทางไพลินนั้น มีใครรู้จักเส้นทางบ้างไหม ผมเรียนท่านว่าไม่รู้จัก และแน่ใจในบัดนั้นว่า ท่านกำลังจะหนีไปประเทศเขมร เมื่อไม่มีใครรู้จักเส้นทาง ท่านจึงขับรถไปเรื่อยๆ ท้องฟ้าทางตะวันออกเริ่มสว่าง และรู้ว่าเข้าเขตจังหวัดตราด ท่านจึงเลี้ยวรถเข้าไปในดงมะพร้าว ฝนหยุด กำลังรุ่งสางแล้ว แต่เมฆฝนยังคงทะมึนอยู่ พร้อมที่จะตกได้ทุกเวลา

ผมบอกท่านว่า จะเข้าไปในตลาดเพื่อซื้อกาแฟ ปาท่องโก๋ พร้อมทั้งดูเหตุการณ์ต่างๆ ด้วย ผมถอดเสื้อเครื่องแบบตำรวจออก คงเหลือแต่เสื้อยืดคอกลมชั้นในเพียงตัวเดียว ขณะนั้นเวลาประมาณ 6 โมงเช้า ชาวตราดฟังวิทยุทราบแล้วว่ามีการปฏิวัติ

เช้าวันที่ 17 กันยายน อากาศไม่แจ่มใสเสียเลย ในตลาดแฉะไปด้วยน้ำฝน ที่ตกลงมาเกือบตลอดทั้งคืน ผมเดินไปทางท่าเรือเพื่อซื้อกาแฟ ปาท่องโก๋ พร้อมทั้งสอบถามชาวเรือถึงการเช่าเรือแถวๆ ท่าเรือนั้นด้วย แต่เมื่อชาวเรือถามกลับมาว่าจะเช่าไปไหน ผมให้คำตอบไม่ได้ว่าจุดมุ่งหมายจะเช่าไปไหน เพียงแต่บอกว่าจะไปเที่ยว ชาวเรือทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มรสุมคลื่นลมแรงอย่างนี้ ไม่มีเรือลำไหนกล้าออกทะเลหรอก ประกอบกับเมื่อคืนมีการปฏิวัติ เหตุการณ์ต่างๆ ยังไม่สงบ ไม่มีเรือกล้าออกไปไหน

เราบอกว่าจะไปเที่ยวไม่ไกลนัก แต่ชาวเรือปฏิเสธไม่ออกจากฝั่ง ผมจึงหิ้วกระป๋องกาแฟและถุงปาท่องโก๋ กลับมารายงานท่านนายกฯ ซึ่งท่านบอกว่ากินกาแฟก่อน แล้วพยายามอีกครั้ง คุณฉายบอกว่าจะช่วยอีกแรง เพราะเคยเป็นครู อาจพบลูกศิษย์พอจะอาศัยได้บ้าง ผมเคยรับราชการที่ระยอง อาจพบคนรู้จักบ้างเหมือนกัน

ดงมะพร้าวที่พวกเราเข้าไปจอดรถนั้น ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นของใคร ผมกับคุณฉายออกไปตลาดอีกครั้ง การออกไปครั้งนี้สายมากแล้ว ผู้คนในตลาดเริ่มพลุกพล่าน ต่างจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับทหารปฏิวัติรัฐบาล จอมพล ป.

พวกเรารู้สึกว่าจะโชคดี คุณฉายไปพบครูประชาบาลเข้าคนหนึ่ง ที่รู้จักกัน และมีเรือหาปลาด้วย คุณฉายจึงขอร้อง คาดคั้นเชิงบังคับขอเช่าเรือออกทะเล โดยมิได้บอกจุดหมายปลายทางว่าจะไปไหน ครูประชาบาลเจ้าของเรือหาปลาลำนั้นจำเป็นต้องรับปากด้วยความไม่เต็มใจ ขณะนั้นท้องทะเลกำลังปั่นป่วน ด้วยคลื่นลมหน้ามรสุม

ผมไปพบลูกน้องเก่าคนหนึ่งเคยอยู่ระยองด้วยกัน คือนายดาบตำรวจเฉลิม ชัยเชียงเอม เป็นหัวหน้าสถานีตำรวจแหลมงอบ ผมถามว่าเคยไปเกาะกงของเขมรไหม ดาบตำรวจเฉลิมบอกว่าเคยไป ผมจึงถามว่าจะไปด้วยกันอีกได้ไหม เขาตอบอย่างไม่ลังเลว่า “ได้”

เมื่อได้คำตอบจากดาบตำรวจเฉลิม ทำให้ผมใจชื้นขึ้นมาก เพราะการเดินทางอย่างนี้ถ้าไม่มีคนรู้จักหรือไว้ใจร่วมไปด้วย จะไม่มีความปลอดภัยพอ โดยเฉพาะได้เดินทางไปกับคนที่รู้เส้นทางจะได้รับความสะดวกมากขึ้น จึงตัดสินใจชวนดาบตำรวจเฉลิมร่วมเดินทางไปด้วย

ในส่วนตัวผมนั้นขณะที่เจรจาได้เรือและผู้รู้ที่จะร่วมเดินทางไปด้วยแล้ว ยังไม่ทราบว่าตัวเองจะต้องร่วมเดินทางไปเขมรด้วยหรือไม่ ท่านอาจจะให้เดินทางกลับกรุงเทพฯ ก็เป็นได้

เราคุยกันในรายละเอียดของการเดินทางเพียงว่า ให้ไปส่งเกาะกงแล้วหมดหน้าที่ เรือเดินทางกลับ ผมกับคุณฉาย จึงกลับมารายงานให้จอมพล ป. ทราบในสวนมะพร้าว โดยบอกด้วยว่าจะมีดาบตำรวจเฉลิม ชัยเชียงเอม ผู้รู้เส้นทางจะร่วมเดินทางไปด้วย


ออกเรือมุ่งเขมรทั้งคลื่นลมแรง

ความวิตกกังวลบนใบหน้าของจอมพล ป. ยังไม่หมดไปทีเดียว เมื่อทราบจากคุณฉายและผมว่าพร้อมจะออกเดินทางในตอนเที่ยงวันนี้

เมื่อตัดสินใจจะเดินทาง จอมพล ป. จึงหันไปสั่ง พล.ท.บุลศักดิ์ว่า ให้กลับไปบอก พล.อ.สฤษดิ์ ว่าไม่ต้องห่วง ท่านออกนอกประเทศไปแล้ว ท่านจะไม่มารบกวน ส่วนการบริหารบ้านเมืองให้ว่ากันไป ขณะนี้พ้นหน้าที่แล้ว จะไปตามทางของท่าน ให้ พล.ท.บุลศักดิ์ ขับรถกลับพร้อมทั้งนำปืนกลของหลวงไปคืน พล.อ.สฤษดิ์ ด้วย

ถึงคราวของผม ขณะนั้นผมยังไม่ทราบชะตากรรม ว่าจะให้กลับ หรือเดินหน้าไปกับท่าน “คุณชุมพล คุณมีปัญหาอะไรไหม? คำว่า ปัญหา หมายถึงมีคดีทางการเมืองบ้างไหม?” จอมพล ป. หันมาถามและจ้องหน้าผม ผมตอบว่าไม่เคยมีปัญหาอะไรกับใคร และไม่มีผู้บังคับบัญชาคนไหนใช้ให้ทำในสิ่งที่ผิด เชื่อว่าคงไม่มีใครมาทำอะไรผมได้

“คุณจะไปกับผมไหม?” จอมพล ป. ถามอีกครั้ง ผมพูดกับท่านว่า ท่านต้องการผมหรือเปล่า ผมไม่มีเงินติดตัวเลย อาจจะเป็นภาระให้กับท่าน และท่านก็ใช่ว่าจะมีเงินไปมาก เงินภายนอกประเทศไม่มีเลย อยู่ในต่างประเทศจะหาใครอุ้มชูคงจะยาก เงินที่ท่านมีอยู่เพียงท่านคนเดียวคงไปได้ไม่ไกล

“ผมอยากให้คุณไปกับผม” จอมพล ป. ตัดบท ผมจึงตัดสินใจในนาทีนั้นว่า ผมทำหน้าที่อารักขา ขณะนี้หน้าที่ยังไม่สิ้นสุด จึงเรียนจอมพล ป. ว่า ถ้าท่านคิดว่าจำเป็นที่จะต้องเอาไป ผมยินดีและเต็มใจไปกับท่าน ส่วนในเรื่องของอนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึง ผมเชื่อมั่นว่าภรรยาซึ่งเป็นครู คงจะมีรายได้พอจะเลี้ยงลูกทั้งสี่ของเราได้ เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนไป จนทำให้กลับประเทศไทยไม่ได้

เมื่อตัดสินใจแน่วแน่เช่นนั้น ผมจึงฝากเสื้อเครื่องแบบตำรวจ ซึ่งมีเครื่องหมายยศพันตำรวจเอก กับ พล.ท.บุลศักดิ์ ให้ช่วยนำไปให้ภรรยาด้วย พร้อมทั้งช่วยเน้น และยืนยันกับภรรยาด้วยว่า ถึงยังไงต้องกลับเมืองไทยแน่นอน ผมไม่ใช่นักการเมือง ผมเป็นตำรวจ กรมตำรวจส่งไปอารักขานายกรัฐมนตรี ขณะนี้ภารกิจยังไม่หมด ท่านนายกฯ ยังต้องการผม จึงทิ้งท่านไม่ได้ ผมอยู่กับท่านร่วมทุกข์ร่วมสุขกับท่าน เมื่อท่านตกทุกข์เช่นนี้ เป็นหน้าที่ต้องดูแลท่าน จึงจำเป็นต้องเสียสละความสุขของตัวเอง

ผมขอให้ พล.ท.บุลศักดิ์ ย้ำกับภรรยาว่าไม่ต้องห่วง ต้องกลับเมืองไทยแน่นอน และต้องกลับให้ได้ ขอให้ดูแลลูกๆ และบ้านช่องให้ดีเท่านั้น อย่างอื่นไม่ต้องห่วง พล.ท.บุลศักดิ์จึงขับรถกลับกรุงเทพฯ คนเดียว

คณะของเราประกอบด้วย จอมพล ป.พิบูลสงคราม คุณฉาย วิโรจน์ศิริ ที่จะลงเรือเดินทางต่อไป ไม่มีอะไรจะเตรียมนอกจากซื้อข้าวผัดไว้กินในเรือเท่านั้น เวลา 14.00 น. ทุกอย่างพร้อมออกเดินทาง

สภาพของเรือประมงลำนี้ เป็นเรือหาปลาขนาดเล็กเครื่องยนต์ใช้น้ำมันเตา อุปกรณ์อย่างอื่นเท่าที่สังเกต รู้สึกว่าจะไม่มีอะไรเลย ไม่มีวิทยุติดต่อ ไม่มีแผนที่เดินเรือ และไม่มีแม้กระทั่งเข็มทิศ ในทะเลบริเวณนั้น มีเรือของเราลำเดียวที่มุ่งหน้าออกทะเล เรือที่ตราดทุกลำจอดอยู่ริมฝั่ง คลื่นลมยังคงแรง การเดินเรือมีทางเดียวคือเลาะไปตามชายฝั่ง

เรือเริ่มเดินเครื่อง ออกจากท่า แม้จะอยู่ตามชายฝั่ง แต่เนื่องจากเป็นเรือเล็ก และคลื่นแรง เรือจึงโคลงอย่างหนัก ผมมีจุดอ่อนอยู่อย่างมากคือ ถ้าลงเรือเจอคลื่นแรงๆ จะเกิดอาการ เมาคลื่น และจะเมาอย่างสาหัส อาเจียนจนหมดเรี่ยวหมดแรง ครั้งนี้ก็เหมือนทุกครั้ง ผมจะอาเจียนจนหมอบโดยใช้มือกอดเสาในเรือไว้แน่น บางครั้งลืมตาดูจอมพล ป. เห็นท่านนั่งเฉยไม่มีอาการหวาดวิตก ว่าเรือจะโคลง จะโดนคลื่น หรือจะล่ม

เรือหาปลาลำเล็กแล่นฝ่ามรสุมไปอย่างบังคับทิศทางไม่ได้ ไม่ทราบว่าเรือแล่นมาได้ระยะทางสักเท่าไหร่ แต่เมื่อเวลาประมาณ 2 ทุ่มของคืนนั้น เรือได้มาถึงหาดเล็ก ชายแดนไทย-เขมร เราจอดเรือเพื่อหาอาหารค่ำรับประทาน และเมื่อผู้ใหญ่บ้านทราบเรื่อง จึงชวนพรรคพวกมาต้อนรับทำข้าวต้มเลี้ยง

ระหว่างที่กำลังรับประทานข้าวต้มกันนั้น วิทยุประกาศให้ไปรายงานตัวเป็นระยะๆ เมื่อทุกคนอิ่มแล้ว ท่าทีของจอมพล ป. รู้สึกว่าจะไม่สบายใจนัก ขณะนั้นเกือบ 4 ทุ่ม ท่านจึงบอกให้รีบออกเดินทาง ทั้งๆ ที่มืดสนิท ท้องทะเลกำลังบ้า คลื่นลมแรงขึ้น ท่านบอกว่าขืนชักช้าโอ้เอ้ เดี๋ยวคนของ พล.อ.สฤษดิ์[19] จะตามมาทัน พวกเราไม่รู้ว่าฝ่าย พล.อ.สฤษดิ์ จะรู้หรือยังว่าคณะของท่านเดินทางมาทางภาคตะวันออก ดังนั้นพวกเราจึงออกเรือทันที


เหมือนกาบมะพร้าวลอยน้ำไปตามยถากรรม

การเดินเรือคราวนี้เลวร้ายกว่าครั้งที่ออกจากตราดมาก ท้องทะเลปั่นป่วนและมืดสนิท พายุโหมกระหน่ำอย่างเกรี้ยวกราด คลื่นแต่ละลูกเหมือนภูเขา น้ำทะเลเข้าไปในเรือแต่ละโครมทำให้เรือถูกกระแทกอย่างแรง จนเอียงวูบเหมือนจะจม แต่ไม่จม ผมเจอทะเลบ้าครั้งนี้ อาเจียนจนไม่มีอะไรจะอาเจียนอีก แต่ยังครองสติได้ เมื่อน้ำทะเลซัดเข้าไปในท้องเรือ น้ำท่วมห้องเครื่อง ผมและลูกเรืออีกคนหนึ่ง พยายามสูบน้ำออกจากห้องเครื่อง แต่ปริมาณน้ำที่สูบออกเหมือน “เยี่ยวเด็ก” แต่น้ำที่เข้าไปเหมือน “ทำนบพัง” เครื่องถึงที่สุดของมัน คือดับสนิท

เมื่อเครื่องเรือดับ การบังคับเรือทำไม่ได้เลย เรือหาปลาลำนี้ก็เหมือนกาบมะพร้าวลอยไปตามยถากรรม ตามแรงกระแทกของคลื่นยักษ์ ขณะนี้ผมไม่คิดอะไรมากไปกว่า ลงไปช่วยสูบ และวิดน้ำออกจากห้องเครื่อง และท้องเรือ การลงไปอยู่ในห้องเครื่อง ถ้าเรือจมแน่นอนว่าต้องจมไปกับเรือ

การผจญกับคลื่นลม ความแปรปรวนของท้องทะเล และเรือต้องลอยไปตามยถากรรมนั้น ผมโผล่จากท้องเรือ เห็นจอมพล ป. นั่งสงบนิ่งอยู่ท่ามกลางความมืด ดูเหมือนว่าท่านไม่ได้ตื่นเต้นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากนัก ไม่มีอาการเมาคลื่นหรืออะไรทั้งสิ้น

เรือประมงลำเล็กๆ ของเรา จวนเจียนจะจมหลายต่อหลายครั้งแต่ไม่จม ผมถามกัปตันเรือว่า ขณะนี้เราอยู่ที่ไหน อยู่ห่างจากฝั่งเท่าไหร่ เรากำลังอยู่ฝั่งเขมร หรือลอยอยู่ในทะเลไทย กัปตับตอบว่า “ไม่รู้” ขณะที่เครื่องเรือเงียบสนิทและรอให้พายุสงบ

ท้องทะเลยังปั่นป่วนต่อไป เรือจะอับปางลงนาทีหนึ่งนาทีใดก็ไม่รู้ ผมขึ้นจากท้องเรือเพราะสู้กับปริมาณน้ำทะเล ที่คลื่นซัดเข้าเรือไม่ไหว มานั่งกอดเสาอยู่หน้าจอมพล ป. ไม่มีอะไรทำที่ดีไปกว่า ภาวนา บนบานศาลกล่าว นึกถึงพระนึกถึงเจ้า พร้อมทั้งคิดว่า เราไม่เคยสร้างกรรมชั่วอะไรไว้ ทำไมจะต้องมาตายอย่างทารุณกลางทะเลบ้าอย่างนี้

ผมยังคิดว่า ถ้าตกลงไปในทะเลบ้า หรือมีเหตุให้เรือจม หรือจมไปกับเรือ ผมจะยิงขมับตัวเองทันที จะไม่ยอมทรมานด้วยการจมน้ำตายเด็ดขาด

เหตุการณ์อันน่าหวาดกลัวและตื่นเต้นที่เกิดขึ้นกับพวกเราในครั้งนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติ พวกเราเองก็รู้ว่ามันต้องเกิดขึ้น ทุกคนได้เตือนแล้ว หน้ามรสุมเช่นนี้ไม่มีใครกล้าออกทะเล แม้จะเป็นเรือขนาดใหญ่ที่มีอุปกรณ์การเดินเรือพร้อมก็ตาม แต่เราจำเป็นต้องออก และไม่คิดว่าทะเลจะบ้าคลั่งอย่างรุนแรง น่าสะพรึงกลัวอย่างนี้ พวกเราปลงตกว่าไม่มีใครแก้ได้ ทุกคนทำอะไรไม่ได้ นอกจากระลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้ช่วยคุ้มครองเท่านั้น

ภัยที่พวกเราผจญอยู่ในคืนนั้น มันเป็นสิ่งที่น่ากลัวสุดขีด คงไม่มีภัยใดที่น่ากลัวเท่านี้หรือกว่านี้อีกแล้ว ในช่วงที่เครื่องเรือดับและเรือผจญคลื่นขนาดใหญ่ของทะเลที่บ้าคลั่ง พายุโหมกระหน่ำอย่างไม่ปราณี การอยู่ในสภาพที่น่าสะพรึงกลัวเช่นนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าทำใจให้สงบพร้อมที่จะตาย เหตุการณ์รุนแรงอยู่กว่าครึ่งชั่วโมง มันเป็นครึ่งชั่วโมงที่ยาวนาน  เป็นครึ่งชั่วโมงที่ทรมานโหดร้ายที่สุดในชีวิต

ลมฝนค่อยเบาลง แน่นอนคลื่นเล็กลงเป็นลำดับ ในที่สุด ท้องทะเลเงียบสงบอีกครั้ง ผมหายจากอาการเมาคลื่น รีบลงไปใต้ท้องเรือช่วยกันวิดน้ำออกจนหมด เอาผ้ามาบิดให้แห้ง เช็ดเครื่องเรือ เผาหัว ติดเครื่องได้อีกครั้ง

ที่แน่นอนที่สุดของธรรมชาติอย่างหนึ่งคือ หลังพายุฝนท้องฟ้าจะแจ่มใส ดวงดาวบนท้องฟ้าระยิบระยับ กัปตันเรือสามารถบอกได้ทันทีว่าขณะนี้เราอยู่ที่ไหน ห่างจากฝั่งเท่าไหร่โดยอาศัยดวงดาว ซึ่งเปรียบเสมือนแผนที่เดินเรือของพวกเขา


เกาะกงดินแดนเขมร

ดวงดาวอันระยิบระยับบนท้องฟ้า อาจจะเป็นดาวดวงหนึ่งดวงใด หรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดที่สามารถบอกให้กัปตันเรือทราบว่า จุดที่เรือลอยอยู่นี้ ห่างจากฝั่งในระยะเดินทางเพียงครึ่งชั่วโมง ผมมองดูนาฬิกาข้อมือ ขณะนั้น ตี 4 เศษๆ ผมพอรู้ว่าทิศตะวันออกอยู่ทางไหน เพราะทิศนั้นจะสว่างกว่าทิศอื่น เรือประมงของเราแล่นไปเรื่อยๆ ทะเลเรียบ จนกระทั่งประมาณตี 5 ท้องฟ้าด้านตะวันออกสว่างจ้าเห็นชัดเจน และแล้วพวกเราก็มองเห็นฝั่ง กัปตันเรือชี้มือบอกพวกเราว่านั่นคือ “เกาะกง” ดินแดนเขมร อันเป็นจุดหมายปลายทางของจอมพล ป. เรือมุ่งหน้าไปเกาะกงอย่างเชื่องช้า และก่อนจะถึงฝั่ง ทหารประจำเกาะ ขับเรือเข้าเทียบเรือประมงของเรา

จอมพล ป.พิบูลสงคราม แจ้งแก่ทหารที่ขับเรือมาเทียบว่า ท่านเป็นใคร มาจากไหนและต้องการ “ลี้ภัย” ทหารเขมรซึ่งผมไม่ทราบว่ามีตำแหน่งและยศขนาดไหน บอกว่าให้ลอยเรืออยู่ก่อน จะไปรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ

เป็นเช้าที่อากาศสดใส แต่ไม่มีใครในเรือมีโอกาสได้ชื่นชม ครู่ต่อมาทหารเขมรได้ขึ้นมาควบคุมเรือ แล้วลอยลำเข้าไปยังเกาะ

ทราบตอนหลังว่า ขณะนั้นสมเด็จเจ้าสีหนุไม่ได้ประทับอยู่ในเขมร พระองค์เสด็จไปรักษาพระองค์ยังประเทศฝรั่งเศส คงอยู่แต่พระราชบิดาเป็นผู้สำเร็จราชการฯ เมื่อพวกเรา 3 คน คือ จอมพล ป. คุณฉาย และผม ขึ้นเหยียบแผ่นดินเขมร ทหารได้นำพวกเราไปยังเรือนรับรองในค่ายทหาร สำหรับดาบตำรวจเฉลิม ชัยเชียงเอม กัปตันเรือและลูกเรือ ทหารเขมรปล่อยให้เดินทางกลับประเทศไทย

พวกเราได้รับการเอาใจใส่จากทหารเขมรตามควรแก่สภาพความเป็นอยู่ของเขาบนเกาะนั้น เราได้รับชี้แจงจากผู้บังคับการค่ายทหารว่า ได้ติดต่อเข้าไปยังพนมเปญแล้ว แต่สมเด็จเจ้าสีหนุไม่อยู่ พระราชบิดาให้คณะรออยู่ที่ค่ายทหารแห่งนี้ เพื่อรอรับสั่งจากสมเด็จเจ้าสีหนุจากปารีส

จอมพล ป. เล่าให้ฟังว่า ทางการเขมรคงจะอนุญาตให้ลี้ภัยได้ ทั้งนี้เพราะครั้งหนึ่งสมเด็จเจ้าสีหนุ เคยลี้ภัยมาอยู่เมืองไทย ท่านได้ให้การต้อนรับและดูแลอย่างดีเป็นพิเศษ โดยให้พำนักอยู่ในวังสวนกุหลาบ

หลังจากรออยู่ที่เกาะกง 2 วัน ผู้บังคับการค่ายทหารมาบอกกับพวกเราว่า รัฐบาลเขมรยินดีให้ลี้ภัยได้ โดยรัฐบาลพนมเปญจะจัดรถมารับในวันรุ่งขึ้น

ที่บ้านรับรองในค่ายทหารบนเกาะกง 2 วัน พวกเราไม่เดือดร้อนอะไร มีความสะดวกสบายพอควร อาหารการกินขัดสนนิดหน่อย คือมีกินเหมือนๆ ทหารเขมร เช่น ไข่ต้มเป็นหลัก และไม่ได้ถูกควบคุมตัว นั่งๆ นอนๆ เดินๆ อยู่รอบๆ เรือนรับรอง ซึ่งเป็นบ้านไม้

จอมพล ป. นั่งสูบบุหรี่ที่ประเทศกัมพูชา


เรือรบเขมรมารับ

วันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ 20 กันยายน 2500 เรือที่รัฐบาลพนมเปญส่งมารับเราที่เกาะกง เป็นเรือรบ พวกเราทั้ง 3 ถูกนำขึ้นบนเรือรบลำนั้น ผมเห็นลี้พลบนเรือรบเขมรทำให้สลดใจอย่างยิ่ง เพราะในเรือรบลำเดียวกันมีทหารประจำเรือถึง 5 ชาติ กัปตันเรือเป็นฝรั่งเศส ส่วนลูกเรือหรือทหารประจำเรือ มีทั้งฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว เขมร แต่ละชาติจะรักเขมร รักแผ่นดิน รักอธิปไตยของเขมรหรือ ผมเชื่อว่า ความสามัคคีของบรรดาทหารเรือต่างชาติเหล่านี้ คงจะมียาก เทียบกับของไทยเราไม่ได้เลย

บนเรือรบ ผมคิดถึงจุดอ่อนของตัวเอง คือการเมาคลื่น คงจะหายไปเพราะเป็นเรือใหญ่ แต่ปรากฏว่าเมื่อเรือออกทะเลทุกอย่างยังเหมือนเดิม กัปตันเรือฝรั่งเศสจึงเอายาแก้เมาคลื่นมาให้ ได้ผลอาการเมาคลื่นหายไป

เมื่อร่างกายของผมอยู่ในสภาพปกติ ทำให้มีโอกาสสังเกตอะไรรอบๆ ตัวบ้าง ขณะที่เราอยู่ในเรือ จอมพล ป. มีท่าทีแจ่มใสขึ้น ท่านบอกว่าหายกังวลเรื่องทหาร พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะตามมาทัน ท่านจึงนอนพัก จนกระทั่งบ่ายโมง เรือรบเดินทางมาถึงเมืองเสียม อันเป็นเมืองชายทะเลของเขมร

เรือรบจอดทอดสมออยู่นอกฝั่ง เพราะเข้าเทียบท่าไม่ได้ ทางการเขมรจัดเรือเล็กมาเทียบกับเรือรบ เพื่อรับเราทั้ง 3 คน เรือเล็กที่มารับเป็นเรือกรรเชียง แต่ลำใหญ่ เราอำลากัปตันเรือรบมาลงเรือกรรเชียง เข้าสู่ฝั่ง แต่ก็เทียบฝั่งไม่ได้อยู่ดี พวกเราต้องพับขากางเกงถอดรองเท้าเดินลุยน้ำ ส่วน จอมพล ป. มีเสื้อกันฝนคลุม พวกเราลุยน้ำเข้าหาฝั่ง คนของทางการเขมร 2 คน เดินนำหน้า และ 2 คน เดินตามหลังคอยให้ความสะดวก

“พวกเราเหมือนนโปเลียนถูกปล่อยเกาะ” จอมพล ป. ปรารภปนอารมณ์ขันที่ต้องเดินลุยน้ำทะเล ส่วนผมขณะนั้นไม่ได้มีอารมณ์ขันเหลืออยู่เลย เพียงแต่นึกอยู่ในใจว่า ท่านเป็นนโปเลียนของท่านไปคนเดียวเถิด ไม่เอาด้วยหรอก

เราเดินมาถึงฝั่ง บนฝั่งมีคนมาต้อนรับหลายคน มีรถยนต์ 4 คัน เจ้าเมืองเสียมมาต้อนรับพวกเราด้วย พร้อมทั้งสอบถามถึงการเดินทางกับ จอมพล ป. พอเป็นพิธี แล้วให้พวกเราขึ้นรถคันเดียวกัน มีรถยนต์นำและตามขบวนมุ่งหน้าไปยังพนมเปญ

ขบวนรถยนต์ของพวกเราวิ่งมาได้ 4 ชั่วโมง ถึงกรุงพนมเปญ เข้าสู่บ้านพักรับรองในพระราชวัง ไม่มีพิธีการอะไร คนของทางการเขมรขอให้พวกเราทำตัวสบายๆ บ้านที่ทางการเขมรให้พวกเราพักเป็นบ้านไม้ครึ่งตึกไม่ใหญ่โตอะไรมากนัก มีเครื่องเรือนสมบูรณ์ เมื่ออาบน้ำเรียบร้อยที่โต๊ะอาหารมีอาหารอย่างดีทั้งไทย ฝรั่งรออยู่แล้ว สังเกตดู น่าจะเป็นอาหารที่ทำมาจากที่อื่น ไม่ได้ปรุงจากที่นี่ เราจึงได้รับประทานอาหารที่อร่อยที่สุดของมื้อค่ำวันนั้น หลังจากที่เดินทางออกจากเมืองไทย

ผมรู้ในตอนหลังว่า สมเด็จเจ้าสีหนุ ได้ติดต่อกับพระราชบิดา ให้ต้อนรับพวกเราให้ดีที่สุดเสมือนเป็นแขกของรัฐบาล[20]


จอมพลพบภริยาและธิดา ตำรวจอารักขาลากลับประเทศไทย


ช่วงระยะเวลาจอมพล ป.เดินทางหลบหนีออกนอกประเทศ ท่านผู้หญิงละเอียดและบุตรสาวจีรวัสส์ยังคงติดภารกิจในยุโรป ทั้งคู่รีบเดินทางไปขึ้นเครื่องบินยังกรุงปารีส (ก่อนหน้านั้นพวกเธอได้พบกับ พล.ต.อ.เผ่า ผู้เพิ่งถูกเนรเทศมาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) มุ่งสู่เวียดนามเพื่อต่อรถเข้าไปยังกัมพูชา หลังจากพ่อแม่ลูกได้พบกันแล้ว จึงถึงวันอำลาของตำรวจอารักขาคนสำคัญ บุตรสาวจอมพล ป. เขียนคำไว้อาลัยในอนุสรณ์งานศพของ พล.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ เมื่อ พ.ศ. 2544 ไว้ย่อหน้าหนึ่งว่า

“ไปถึงกรุงพนมเปญโดยปลอดภัย เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย พลตำรวจเอกชุมพลฯ ก็ลาท่านจอมพล ป. กลับกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2500 โดยไม่มีหนังสือเดินทาง (Passport) และไม่มีเงินพร้อมด้วยความอาลัย และความเป็นห่วงของท่านจอมพลว่าอะไรจะเกิดกับนายตำรวจติดตามผู้นี้ แล้วท่านจอมพล ป. ก็โล่งใจ เมื่อทราบข่าวว่าทางกรุงเทพฯ กลับสรรเสริญในการกระทำครั้งนั้นของท่านพลตำรวจเอกชุมพลฯ และทราบด้วยว่าท่านผู้นี้ได้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการเป็นลำดับ

ตลอดเวลาจากนั้นมา พลตำรวจเอกชุมพลฯ ได้ให้ความช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้แก่พวกเรา ครอบครัวพิบูลสงคราม ท้ายสุดขอให้รับเป็นกรรมการมูลนิธิจอมพล ป. และท่านผู้หญิงละเอียด ท่านก็ยินดีรับด้วยความเต็มใจ ไม่เคยขาดการประชุมแม้ในตอนสุดท้ายของชีวิต”[21]


จอมพล ป. และ ท่านผู้หญิงละเอียด ถ่ายภาพร่วมคณะผู้ติดตาม พ.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ ตำรวจอารักขานั่งกลางกลุ่ม ถ่ายเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2500 ณ ประเทศกัมพูชา

พันตำรวจเอก ชุมพล โลหะชาละ ภายหลังจากหมดหน้าที่พิทักษ์จอมพล ป. นับเป็นนายตำรวจที่มีความก้าวหน้าในสายงาน ด้านยศถาบรรดาศักดิ์ได้ก้าวขึ้นถึง พล.ต.อ. ด้านสายบังคับการได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางและรองอธิบดีกรมตำรวจ อีกทั้งยังรับบทบาทหน้าที่ตามเสด็จถวายการอารักขาราชวงศ์ในยุคสงครามเย็น[22]และมีบทบาทสำคัญเมื่อครั้งเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519[23]

ความสำคัญของบันทึก ‘จอมพลลี้ภัย’ โดย พล.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ ตำรวจอารักขา ดูจะมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกับเรื่องราว ‘ปรีดีหนี’[24] ของ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช ร.น. นายทหารคนสนิทของท่านรัฐบุรุษอาวุโส!


7 ปีสุดท้ายในต่างแดนของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม


“ข้าพเจ้าได้ตั้งความปรารถนาอีกอย่างหนึ่งเป็นเวลานานมาแล้ว กล่าวคือได้อธิษฐานไว้เมื่องานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งข้าพเจ้าได้ตั้งใจบำเพ็ญกุศลอย่างยิ่งว่าข้าพเจ้าจะต้องไปนมัสการพระพุทธสถานในประเทศอินเดียให้ได้ และคิดจะไปอุปสมบทที่พระอารามในพุทธคยา ซึ่งรัฐบาลของข้าพเจ้าได้ไปสร้างไว้”[25]

จอมพล ป. พิบูลสงคราม


หลังพักอยู่ในเขมรราวสามเดือน ปลายปีเดียวกันนั้น ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขอลี้ภัยเข้าประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2500[26] หนึ่งปีถัดมา เดือนกันยายน 2501 ท่านได้รับเชิญให้ไปพำนักในประเทศสหรัฐอเมริกา จากเดิมตั้งใจให้อดีตท่านผู้นำสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) อยู่อาศัยในเบิร์กลีย์ (Berkeley) แต่จนแล้วสุดก็ไม่ได้ให้เลคเชอร์ใดๆ ไว้

หลังใช้ชีวิตที่นี่เกือบหนึ่งปี ล่วงถึงเดือนสิงหาคม 2502 [27] สองสามีภริยาหวนกลับมาดำรงชีวิตต่อไปในญี่ปุ่น จนเมื่อถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2503 จึงเริ่มออกเดินทางอีกครั้งด้วยเรือเดินสมุทรเพื่อไปสักการะสังเวชนียสถานและอุปสมบทยังวัดไทยในอินเดีย ระหว่างทางแวะ ฮ่องกง ปีนัง และที่สำคัญพบปะกับนายกรัฐมนตรีพม่า ‘อูนุ’ กัลยาณมิตรที่เคยร่วมงานพระพุทธศาสนาด้วยกัน (อูนุ ถูกนายพลเนวินรัฐประหารหลังจากการพบปะครั้งนั้นไม่ถึง 2 ปีต่อมาเมื่อ 2 มีนาคม 2505[28])


จอมพล ป. ขณะนั่งเรือเดินสมุทรไปอุปสมบทที่วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย กลางปี พ.ศ. 2503


จอมพล ป. บรรลุความปรารถนาที่ได้อธิษฐานไว้ครั้งงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษด้วยการเข้าอุปสมบทเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2503 ณ วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย ได้รับฉายาว่า ‘พิปุลสังคาโม’ นับเป็นพระรูปแรกที่บวชที่นี้[29]

พระแปลกใช้ชีวิตใต้ร่มกาสาวพัสตร์เป็นระยะเวลา 24 วัน จากนั้นจึงลาสิกขาเมื่อ 27 สิงหาคม 2503 เมื่อขณะเป็นพระภิกษุได้เขียนจดหมายให้มารดาร่วมอนุโมทนาว่า “ลูกขอให้ ‘แม่’ จงได้รับผลบุญกุศลที่ลูกอุปสมบททั้งนี้ด้วย” จีรวัสส์สำทับถึงความเคารพรักของบิดาที่มีต่อคุณย่าไว้ว่า

“คุณพ่อผูกพันกับคุณย่ามากนะคะ อย่างตอนที่หมดเรื่องกบฏแมนฮัตตัน สิ่งแรกที่คุณพ่อทำคือไปหาคุณย่า คุณย่ายังอยู่สวนทุเรียนเมืองนนท์อยู่เลย

และพอจะบวช คุณพ่อก็ต้องอยากกราบคุณย่าสิ อยากมาบอกคุณย่าเองว่าจะไปบวชที่อินเดีย พี่นันต์เลยไปขออนุญาตจอมพล ถนอม ว่า คุณพ่ออยากแวะเมืองไทยเพื่อกราบคุณย่าที่บ้านชิดลมก่อน แล้วออกไปบวชที่อินเดียเลย แต่ จอมพลถนอม บอกไม่ได้ รัฐบาลไม่อนุญาต ก็เลยไม่ได้กราบ ฝากคนอื่นบอกคุณย่าแทน”

จีรวัสส์กล่าวเสริมด้วยว่า นอกจากไม่ยอมให้เข้าประเทศแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ยังสั่งสถานทูตไทยตามเมืองที่จอมพล ป. ต้องเดินผ่านถึงอินเดีย “ไม่ให้ช่วยเหลือ ไม่ให้อำนวยความสะดวก”[30]

ดูเหมือนท่านจอมพลจะปลดปลงต่อชีวิตยามปัจฉิมวัย หลังลาสิกขาไม่นานได้เขียนจดหมายถึงบุตรชายความว่า “…พ่ออดจะพูดถึงศาสนาไม่ได้ เพราะไปบวชและแสวงบุญมา ก็ได้รับอานุภาพพระพุทธศาสนาดลใจ…ถ้าเราเข้าใจและปฏิบัติได้ก็จะสบายใจที่สุด จะปฏิบัติอย่างไรก็คือการทำตามพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ให้มาก ยิ่งมากก็ยิ่งหมดทุกข์และใกล้สุขทุกวินาที”[31]

ภายหลังลาสิกขา จอมพล ป. กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านชินจูกุกับเวลาที่หมดไปด้วยการเรียนภาษาญี่ปุ่น เล่นกอล์ฟ ฝึกฝนเปียโน ขับรถเที่ยว พบปะมิตรสหาย  และยังคงติดตามข่าวสารโลกรวมทั้งความเป็นไปของประเทศไทย แถมพยายามวิเคราะห์เหตุการณ์อย่างจริงจัง[32]

หนึ่งปีเศษก่อนเดินทางสู่สัมปรายภพ จอมพล ป. ซื้อบ้านอยู่ชนบทนอกกรุงโตเกียวย่านชุมชนอเมริกัน เป็นบ้านครึ่งแบบฝรั่งครึ่งแบบญี่ปุ่นชื่อว่า ‘บ้านซากามิโอโน่’ เวลานั้นจอมพล ป. ดูจะใส่ใจกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น จีรวัสส์เล่าว่า “เมื่อก่อนท่านต้องสูบบุหรี่เสมอ ไอ้บุหรี่กระป๋องเนี่ย สูบตั้งแต่ตอนเป็นนายร้อยจนคุณแม่สูบตามไปด้วยเลย แต่หลังย้ายมาบ้านซากามิโอโน่นี่ คุณพ่อเลิกสูบบุหรี่นะคะ เพราะหมอเขาสั่งมา คุณพ่อก็ทำตาม แล้วยังมีคุมเรื่องอาหารด้วยนะ”[33]

ณ ที่แห่งนี้ท่านผู้หญิงมีความสุขกับการจัดบ้านสวนร่วมกับสามี ตราบกระทั่งท่านจอมพลถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2507 สิริอายุได้ 67 ปี


รูปถ่ายครั้งสุดท้ายก่อนถึงอสัญกรรม 1 วันของท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม (วันที่ 10 มิถุนายน 2507)
ข้อความหลังภาพถ่ายสุดท้าย



“พวกเราพิบูลสงครามและญาติเกี่ยวดอง หมดหน้าที่แล้วที่ทำมา 25 ปี หมดหน้าที่ของเราแล้ว ต่อไปนี้ สุดแต่คนอื่นจะทำไปบ้าง เราไม่มีหน้าที่รับผิดชอบแล้ว”[34]

จอมพล ป.พิบูลสงคราม

(จดหมายจากอเมริกาถึงลูกๆ หลังทราบข่าวการรัฐประหารตัวเองของจอมพลสฤษดิ์ เมื่อ 20 ตุลาคม 2501)



[1] อนันต์ พิบูลสงคราม, จดหมายถึงท่านผู้หญิงละเอียด 28 พฤษภาคม 2501,จอมพล ป.พิบูลสงคราม เล่ม 5,พิมพ์ครั้งแรก 2519, (ศูนย์การพิมพ์), น.663.

[2]โอภาส โพธิแพทย์, ปูชนียบุคคลที่ผมเคารพรักเป็นอย่างยิ่ง ในอนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, (ศูนย์การทหารปืนใหญ่), น.783.

[3] จีรวัสส์ ปันยารชุน (พิบูลสงคราม), อยากลืมกลับจำ, พิมพ์ครั้งแรก 2562, (มติชน), น.185.

[4] ม.ร.ว.คึกฤทธิ์แต่งเรื่องสั้น หมาตำรวจ ตีพิมพ์ในสยามรัฐก่อนการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม 16 กันยายน 2500 เพียงหนึ่งอาทิตย์เท่านั้น เรื่องราวของคดีฆาตกรรมที่บังเกิดขึ้นในวันแซยิดหกสิบปีจอมพล ป. 14 กรกฎาคม 2500 ณ จังหวัดพิบูลบุรี ที่อุปมาขึ้นเพื่อล้อเลียนท่านผู้นำ  การสารภาพของผู้คนหลากชนชั้นว่ามีส่วนต่อการตายของบุคคลผู้หนึ่ง นับแต่เถ้าแก่ร้านขายของชำ คหบดี นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อสะท้อนการบริหารงานที่ไม่เป็นธรรมโดยรัฐบาลของจอมพล ป. กระทั่งปิดเรื่องถึงการยืนกรานไม่ยอมลาออกนายกรัฐมนตรี หมาตัวนั้นวิ่งไปเข้าไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อสืบสาวคดีความ

[5] สงบ สุริยินทร์, ประวัติ 11 นายกรัฐมนตรี, พ.ศ.2502,(สำนักพิมพ์ ป.),น.626.

[6] แสงไทย เค้าภูไทย, ทหารทำได้ทุกอย่าง ใน สยามรัฐออนไลน์ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เข้าถึงได้จาก https://siamrath.co.th/n/133595

[7]ดวงพ่อ… ลูกการเมือง ทายาทจอมพล ป. พิบูลสงคราม, หนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิง พล.ร.ท. ประสงค์ พิบูลสงคราม วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร (บางเขน) 5 กุมภาพันธ์ 2546, น.129.

[8] กมล จันทรสร และ ไทยน้อย, วอเตอร์ลู ของ จอมพลแปลก, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2500, (แพร่พิทยาและโอเดียนสโตร์), น.140.

[9] ผา บางกอก, เบื้องหลังแห่งข่าวการยึดอำนาจ, ไท-สัปดาห์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 64 วันที่ 14 ตุลาคม 2500, น.21.

[10] ศิวะ รณชิต (สุวัฒน์ วรดิลก), จดหมายจากลาดยาว, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2537, (พิราบสำนักพิมพ์), น.๗๕.

[11] วิเทศกรณีย์ (นามแฝง), เมื่อจอมพพล ป.ลี้ภัย, (พิบูลย์การพิมพ์: 2505), น.582-583.

[12] ซีตรองรุ่น DS ผลิตระหว่าง ค.ศ.1955-1975 (พ.ศ.2498-2518) https://en.wikipedia.org/wiki/Citro%C3%ABn_DS และดูภาพรถซีตรองหลากหลายคันในซีรี่ส์นี้เมื่อปีที่จอมพล ป.ลี้ภัย ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) เข้าถึงได้จาก https://bestcarmagz.net/gallery/1957-citroen-ds/page/01

[13] ซีตรองรุ่น Traction Avant ผลิตระหว่าง ค.ศ.1934-1957 (พ.ศ.2477-2500) เข้าถึงได้จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Citro%C3%ABn_Traction_Avant

[14] จีรวัสส์ ปันยารชุน (พิบูลสงคราม), อยากลืมกลับจำ, พิมพ์ครั้งแรก 2562, (มติชน), น.285.

[15] นิยม สุขรองแพ่ง เขียน, นริศ จรัสจรรยาวงศ์ บรรณาธิการ, ทหารเรือกบฏแมนฮัตตัน (ฉบับปรับปรุง), พิมพ์ครั้งแรก 2565, (มติชน), ภาคผนวก 1 บันทึกของจอมพล ป.พิบูลสงคราม, น.404-413.

[16] ชุมพล โลหะชาละ, หนีไปกับจอมพล ใน เบื้องแรกประชาธิปตัย, สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย พ.ศ.2516, (ไทยรัฐ), น.562-567.

[17] ชุมนุมคติธรรม จอมพล ป.พิบูลสงคราม และ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายขีต ขีตตะสังคะ และ นายเจริญ พันธุกระวี ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ อำเภอบางเขน พระนคร วันที่ 27 เมษายน พุทธศักราช 2496, (โรงพิมพ์ไทยบริการ).

[18] ชุมพล โลหะชาละ, ตำรวจอารักขา ใน  อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจเอก ชุมพล โลหะชาละ ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร 29 ตุลาคม 2544, (บพิธการพิมพ์), น.117.

[19] สฤษดิ์ ได้รับการอวยยศเป็น “จอมพล” ก่อนหน้า 1 ปีที่ทำการรัฐประหาร ดู ราชกิจจานุเบกษา 27 มีนาคม 2499 ฉบับพิเศษ หน้า 1 เล่ม 73 ตอนที่ 26 เข้าถึงได้จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2499/D/026/1.PDF

[20] ชุมพล โลหะชาละ, ตำรวจอารักขา ใน  อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจเอก ชุมพล โลหะชาละ ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร 29 ตุลาคม 2544, (บพิธการพิมพ์), น.122-131.

[21] จีรวัสส์ ปันยารชุน (พิบูลสงคราม), ระลึกถึง พลตำรวจเอก ชุมพล โลหะชาละ, อ้างแล้ว, น.127-128.

[22] อาสา คำภา, พลวัตสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย: ข้อสังเกตว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของเครื่องข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ.2495-2535, วารสารไทยคดีศึกษา ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561), น.66.

[23] ลำดับเหตุการณ์กรณี 6 ตุลาคม 2519 เข้าถึงได้จาก https://doct6.com/learn-about/timeline

[24] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, หลากเรื่องเล่า เมื่อปรีดีหนีครั้งแรก เข้าถึงได้จาก https://www.the101.world/pridi-banomyong-first-asylum/

[25] อนันต์ พิบูลสงคราม, จอมพล ป.พิบูลสงคราม เล่ม 5, พิมพ์ครั้งแรก 2519, (ศูนย์การพิมพ์), น.467.

[26] จีรวัสส์ ปันยารชุน (พิบูลสงคราม), อยากลืมกลับจำ, พิมพ์ครั้งแรก 2562, (มติชน), น.250.

[27] อ้างแล้ว, น.257-259.

[28] รัฐประหารในพม่า “เนวิน” เปลี่ยนพม่าจาก “ส่งออกข้าวที่หนึ่งของโลก” เหลือแค่พอกิน เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_1750

[29] ๕๐ ปี วัดไทยพุทธคยา อินเดีย, พ.ศ.๒๕๕๐,(อมรินทร์), น.๑๖๒.

[30] จีรวัสส์ ปันยารชุน (พิบูลสงคราม), อยากลืมกลับจำ, พิมพ์ครั้งแรก 2562, (มติชน), น.271.

[31] อนันต์ พิบูลสงคราม, จอมพล ป.พิบูลสงคราม เล่ม 5, พิมพ์ครั้งแรก 2519, (ศูนย์การพิมพ์), น.700.

[32]จีรวัสส์ ปันยารชุน (พิบูลสงคราม), อยากลืมกลับจำ, พิมพ์ครั้งแรก 2562, (มติชน), น.283.

[33] อ้างแล้ว, น.282.

[34] จีรวัสส์ ปันยารชุน (พิบูลสงคราม), อยากลืมกลับจำ, พิมพ์ครั้งแรก 2562, (มติชน), น.286.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save