fbpx

เมื่อ จอมพล ป. พูดถึง แม่นาคพระโขนง

แม่นาคพระโขนง

“เขาว่านางนาคพระโขนงหยิงไทยคนหนึ่งผู้ลือนามได้ตายเพราะคลอดลูกตายแล้ว ยังมาแปลงตัวเปนผีหยู่กับผัวได้ เวลาทำกับข้าว ของตกไต้ถุน ผีนาคพระโขนงทำมือยาวลอดช่องลงไปหยิบขึ้นมาได้ ผีนาคที่เล่านี้จะมานอนด้วยกับคนพูดอกุสล ฉันพูดมาเพียงนี้เหงื่อแตกเพราะกลัวผีนาคคนสำคัน”

สามัคคีชัย (นามแฝง จอมพล ป.พิบูลสงคราม)


“สามัคคีชัย หรือ สามัคคีไทย” จอมพล ป.พิบูลสงคราม


สามัญนามประเภทของผีระดับหัวแถวที่คนไทยนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้นผีปอบ ผีกระสือ ผีตานี ผีบ้านผีเรือน เป็นต้น แต่ครั้นเมื่อเอ่ยถึงผีไทย[1]ที่มีชื่อจำเพาะ อันดับหนึ่งย่อมเป็น ‘แม่นากพระโขนง (บ้างก็สะกดนาค)[2]‘ เพียงเท่านั้น!

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยเคยถ่ายทอดเรื่องเล่าของพระบิดาสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไว้ว่า ราว พ.ศ. 2420 ทรงเคยลองทดสอบ (ถ้าสมัยนี้ก็ว่าทำโพล) สอบถามคนเข้าออกประตูว่ารู้จักใครมากที่สุด โดยให้ตัวเลือก 4 ชื่อ คือ 1.ท่านขรัวโต (สมเด็จพระพุฒาจารย์) 2.พระพุทธยอดฟ้าฯ รัชกาลที่หนึ่ง 3.จำไม่ได้ว่าใคร และ 4.อีนากพระโขนง ผลลัพธ์ปรากฏว่าผู้คนรู้จัก ‘อีนากพระโขนง’ มากที่สุด![3] ผลสำรวจนี้ย่อมหมายถึงตำนานเรื่องผีตายทั้งกลมที่เที่ยวอาละวาดแถบคลองพระโขนง เป็นเรื่องมุขปาฐะที่มีมาก่อนลายลักษณ์อักษรสมัยรัชกาลที่ 5 ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ (พ.ศ. 2377-2464) ปรากฏในหนังสือสยามประเภท ฉบับมีนาคม ร.ศ. 118 หรือ พ.ศ. 2442

กระนั้นก็พึงทราบว่าเมื่อมีผู้ใช้นามแฝงว่า ‘ผู้รับสยามประเภทแต่เดิม’ ส่งคำถามในรูปแบบโคลงสี่สุภาพว่า ‘นางนากปีศาจนั้น เปนไฉนหนะพ่อ’ คำตอบของ ก.ศ.ร.กุหลาบ กลับเป็นเรื่องแนวโอละพ่อแฉอุบายของลูกหลานพ่อหม้ายชุ่ม (ไม่ได้ชื่อนายมาก) สามีของ ‘อำแดงนากพระโขนง’ ที่หวงแหนทรัพย์สินของบิดา จึงแสร้งสร้างเรื่องปีศาจนางนากหลอกหลอนชาวบ้าน โดยอ้างว่าเป็นเรื่องเล่าของพระศรีสมโภช (บุด) ผู้สร้างวัดมหาบุศย์เล่าถวายแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระปรมานุชิตชิโนรส

นับจากฉบับของ ก.ศ.ร.กุหลาบ สังคมไทยยังคงผลิตซ้ำเรื่องผีสุดเฮี้ยนนางนี้อย่างต่อเนื่อง อาทิ พระราชนิพนธ์ของ ร.6 เรื่อง The Second Ghost of Phra-Kanong, ละครร้อง อีนากพระโขนง (พ.ศ. 2455) ของ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (ถึงจะดำเนินเรื่องซ้อนความฝัน แต่เนื้อหาฉบับนี้คือต้นแบบที่นิยมตราบจนปัจจุบัน เปิดแสดงครั้งแรกที่โรงละครปรีดาลัย[4] ได้รับความนิยมถึงขนาดแสดงซ้ำถึง 24 คืน[5]), ขุนชาญคดีเล่าเรื่องอีนากพระโขนง (พ.ศ. 2471), ลำตัด (พ.ศ. 2472-2473), กลอนแปดเรื่องแม่นาคพระโขนง (พ.ศ. 2474) ของ ประภาศรี[6] จนมาถึงการเชื่อมโยงระหว่างสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ในประวัตินิพนธ์ของพระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันทน์ พ.ศ. 2404-2486) เมื่อ พ.ศ. 2473[7]


ภาพปกหนังสืออีนากพระโขนง ต้นทศวรรษ พ.ศ. 2470


ในแง่สื่อสมัยใหม่ เรื่องแม่นากผลิตเป็นละครวิทยุครั้งแรกคาดว่าหลังปี พ.ศ. 2471 โดย หลวงอรรถปริมลวุจดี (ม.ล.เปลื้อง อิศรางกูร พ.ศ. 2431-2517)[8] กับภริยาชื่อแม่ละม่อม นักร้องชื่อดังสมัยรัชกาลที่ 7 ต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นางนากยังได้รับเกียรตินำเสนอเป็น ‘ภาพยนตร์ผีเรื่องแรกของไทย’ แบบหนังเงียบขาวดำ เรื่อง นางนาคพระโขนง จัดสร้างโดยบริษัทหัสดินทรภาพยนตร์ ของ ม.ร.ว.อนุศักดิ์ หัสดินทร์ เปิดฉายครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์วัฒนากร เมื่อวันที่ 9-11 เมษายน พ.ศ. 2476 มีผู้เข้าชมเต็มทุกรอบจนถึงกับต้องฉายซ้ำที่โรงภาพยนตร์นางเลิ้งเมื่อวันที่ 14-17 เมษายน และโรงภาพยนตร์บุศยพรรณ (ตงก๊ก บางลำพู) เมื่อวันที่ 15-19 เมษายน ศกเดียวกัน ซึ่งผู้เข้าชมถึงกับวิพากษ์วิจารณ์ว่าน่ากลัวยิ่งกว่าหนังของฝรั่งร่วมสมัย ‘เดชผีดิบ (เคานต์ แดรกคูล่า)’[9] ทั้งนี้ เพียงหนึ่งปีถัดจากนั้น ภาพยนตร์ผีเรื่องที่สอง ‘ปู่โสมเฝ้าทรัพย์’ (พ.ศ. 2477) ก็ถูกผลิตขึ้นในรูปแบบหนังพูดได้ (เสียงในฟิล์ม) โดยคณะศรีกรุงของครอบครัววสุวัต

นับจากกำเนิดภาพยนตร์นางนาคครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2476 จนถึง 25 พุทธศตวรรษ หรือกล่าวอีกนัยว่าเป็นยุคสมัย 25 ปีภายใต้การปกครองของผู้นำคณะราษฎรพอดี เรื่องแม่นาคพระโขนงได้รับการผลิตเป็นภาพยนตร์นับจำนวนได้ถึง 9 เรื่อง![10] และเมื่อย่างเข้าพุทธศตวรรษที่ 26 ความนิยมยิ่งเริ่มเพิ่มพูนทวี ประกอบด้วยเทคนิคการถ่ายทำที่ล้ำหน้ามากขึ้น พ.ศ. 2502 ภาพยนตร์แม่นาคพระโขนง[11]โดย เสน่ห์ โกมารชุน ที่ได้ ปรียา รุ่งเรือง เจ้าของฉายา ‘อกเขาพระวิหาร’ มารับบทเอกก็สามารถสร้างประวัติศาสตร์เป็นหนังไทยที่ทำรายได้ทะลุล้านด้วยเวลาอันรวดเร็วที่สุด[12] กระทั่งล่วงถึงเกือบครึ่งศตวรรษต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2542 ก็เป็นภาพยนตร์นางนาก[13] ของ นนทรีย์ นิมิบุตร ที่แสดงโดย อินทิรา เจริญปุระ ที่ทำลายสถิติรายได้ด้วยยอดรายรับ 149.6 ล้านบาท[14] จนท้ายที่สุด เมื่อนำพล็อตเรื่องแม่นาคมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ชื่อ ‘พี่มาก..พระโขนง’ โดย บรรจง ปิสัญธนะกุล รับบทแม่นาคโดย  ดาวิกา โฮร์เน่ ใน พ.ศ. 2556 ความนิยมก็ยังคงทะลุเพดานถึงระดับที่ว่าทุกวันนี้ยังครองตำแหน่งภาพยนตร์ไทยทำเงินสูงสุดตลอดกาลที่รายรับรวมถึง 559.59 ล้านบาท[15] ปัจจุบันนี้ทั้งสองเวอร์ชันนี้ยังคงครองตำแหน่งภาพยนตร์ผีทำเงินสูงสุดอันดับ 1 และ 2[16]


หลากหลายโปสเตอร์ภาพยนตร์แม่นาคพระโขนง เครดิตภาพ : หนังสือร้อยปีหนังไทย รวบรวมโดย โดม สุขวงศ์ และ สวัสดิ์ สุวรรณปักษ์


จากสถิติที่ผ่านมามีการสร้างภาพยนตร์[17]เกี่ยวกับแม่นาครวมแล้วไม่น้อยกว่า 32 เรื่องสะท้อนถึงความนิยมของสังคมไทยต่อ ‘ผีนางนาก’ เป็นอย่างดี หากจะมีผีอีกสักตัวในโลกภาพยนตร์ที่พอจะเอ่ยอ้างได้ถึงความนิยมระดับตามมาห่างๆ ก็คงจะเป็นเรื่อง ‘บ้านผีปอบ’ ที่มีสถิติการสร้างภาคต่อมากที่สุดถึง 14 ภาค[18]


วัดแม่นาคพระโขนง (วัดมหาบุศย์)


วัดมหาบุศย์ หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันดีในชื่อวัดแม่นาคพระโขนง จัดเป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สร้างราว พ.ศ. 2305 ก่อนเสียกรุงเก่าพม่า 5 ปี และถูกทอดทิ้งเป็นวัดร้าง เล่ากันว่าเดิมชื่อ ‘วัดสามบุตร’ กล่าวคือ บุตรชายสามคนพี่น้องร่วมกันสร้างขึ้น ต่อมาเมื่อพระมหาบุตร เปรียญ 5 ประโยค สำนักวัดเลียบ (ต่อมาในรัชกาลที่ 1 พระราชทานนามใหม่ว่า ‘วัดราชบูรณะ’) ได้มาเยี่ยมญาติโยมของท่านซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในลำคลองพระโขนง ชาวบ้านพระโขนงจึงได้พร้อมใจกันนิมนต์ให้ท่านอยู่วัดสามบุตร เพื่อช่วยเป็นผู้นำในการบูรณะวัดสามบุตร

ภายหลังบูรณปฏิสังขรณ์วัดเรียบร้อยแล้วจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘วัดมหาบุตร’ ตามนามของพระมหาบุตร ภายหลังได้เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญของภาษาไทย จึงได้เขียนชื่อทางราชการของวัดว่า ‘วัดมหาบุศย์’  

ตามประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ฉบับกรมการศาสนาจัดพิมพ์ กล่าวถึงวัดแห่งนี้ตอนหนึ่งว่า วัดมหาบุศย์มีฐานะเป็นสำนักสงฆ์อยู่หลายปี ตราบถึงประมาณปี 2455 ต้นรัชกาลที่ 6 จึงมีการบูรณะสังฆเสนาสน์ขึ้นอีกด้วย โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2459 มีเขตวิสุงคามสีมากว้าง 2 เส้น ยาว 2 เส้น 7 วา ครั้นถึง พ.ศ. 2470 อุโบสถหลังที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2459 นั้นชำรุดทรุดโทรม จึงได้ทำการรื้อออกแล้วก่อสร้างขึ้นใหม่กว้าง 20 เมตร ยาว 23 เมตร หน้าบันสลักเป็นลายกนกไทยรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ หลังคาสองชั้นลด ครั้นถึง พ.ศ. 2500 ทางวัดได้ทำการบูรณะใหม่เปลี่ยนกระเบื้องหลังคาเป็นกระเบื้องเคลือบสี เปลี่ยนช่อฟ้าใบระกาหางหงส์และหน้าบันใหม่ทั้งหมด เสร็จเรียบร้อยแล้วได้เชิญ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมาเป็นประธานในพิธียกช่อฟ้าวัดมหาบุศย์ เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสถาพรสืบมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้[19]

อนึ่ง ผู้เขียนพยายามสืบเสาะที่มาของชื่อซอย ‘อ่อนนุช (สุขุมวิท 77)’ อันเป็นที่ตั้งของวัดแห่งนี้ ผลลัพธ์พอจะสันนิษฐานได้ว่ามาจากนายเริก อ่อนนุช ที่ลูกหลานได้เขียนระลึกไว้ในอนุสรณ์งานศพไว้ว่า  “เป็นผู้มีอัธยาศัยไมตรีโอบอ้อมอารีแก่บุคคลทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น การริเริ่มสร้าง ซอยอ่อนนุช 1, 2, 3 และ 4 นอกจากนั้นคุณพ่อยังยกที่ดินให้เป็นที่ตั้งสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงปัจจุบันอีกประมาณ 2 ไร่ และยังให้ยืมที่ดินเป็นที่ตั้งสถานีอนามัยพระโขนงปัจจุบันอีกด้วย”[20]


นายเริก อ่อนนุช เจ้าของตลาดอ่อนนุช และสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นที่มาของชื่อเรียก “ซอยอ่อนนุช” ในเวลาต่อมา


จอมพล ป. ใช้แม่นาคพระโขนงเป็นเครื่องมือ


ปกหนังสือรวมเรื่องของ “สามัคคีไทย 2485”


ไทย-ญี่ปุ่น ยุคสงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ.2484-2488


15 ปีก่อน จอมพล ป. สิ้นอำนาจใน พ.ศ. 2500 ของจอมพล ความน่ากลัวสยองขวัญของแม่นาคพระโขนงเคยเป็นมีมถึงระดับที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เคยยกขึ้นเพื่อพูดกึ่งหยอกปรามคนที่วิจารณ์รัฐบาล เรื่องดังว่าเกิดขึ้นในบทความเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ศรีกรุงและประชาชาติในอีก 2 วันต่อมา โดยใช้นามปากกาว่า ‘สามัคคีชัย’ (ต่อมารวมเล่ม ใช้ว่า ‘สามัคคีไทย’)

บริบทขณะนั้นรัฐบาลกำลังประสบปัญหาการแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่โดยยังคงรณรงค์ให้ประชาชนบริโภคและขายก๋วยเตี๋ยวว่า “ไปเที่ยวดูท้องนาหลังจากน้ำท่วมบ้าง ดูการขายก๋วยเตี๋ยวเสียบ้าง…ปีนี้น้ำท่วมมากผิดปรกติหย่างไม่เคยมีมาแต่ก่อน และเวลานี้หน้าหนาวแล้ว ฝนยังตกหนัก ๆ บางวัน”

อีกด้านหนึ่งประเทศก็ยังเผชิญกับภัยสงครามมหาเอเชียบูรพาที่จำต้องเข้าร่วมกับญี่ปุ่นท่ามกลางนานาข่าวลือและคำวิจารณ์จากผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนหนึ่ง จนถึงกับเป็นเหตุให้ จอมพล ป. หยิบยกแม่นาคพระโขนงขึ้นขู่ว่า “ฉันได้ยินแว่ว ๆ มาว่า ต่อไปนี้ไครพูดอกุสลช่วยข้าสึก คือพูดไม่เปนสิริมงคลแก่ชาติไทยและตัวท่านเองแล้ว…ได้ ผีนาคที่เล่านี้จะมานอนด้วยกับคนพูดอกุสล ฉันพูดมาเพียงนี้เหงื่อแตกเพราะกลัวผีนาคคนสำคัน ที่ฉันพูดถึงผีนาคพระโขนงนี้ ตั้งไจจะหลอกผู้พูดอกุสล จะได้หยุดพูดกันเสียที” เรื่องนี้อาจเป็นอารมณ์ขันของท่านผู้นำในวิกฤตการณ์ครั้งนั้น แต่ที่แน่นอนคือเรื่องดังกล่าวสะท้อนถึงกระแสความนิยมของปีศาจตนนี้ว่าได้รับความนิยมสูงระดับใดในสังคมยามนั้น


พาดหัวข่าวของ สรีกรุง 3 ธันวาคม พ.ศ.2485


ผู้เขียนขอคัดลอกบทความฉบับนั้นแบบสมบูรณ์มาแบ่งปันให้ได้อ่านดังต่อไปนี้ (การสะกดเป็นไปตามต้นฉบับยุค ‘ปฏิวัติภาษา’ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลจอมพล ป. ระหว่าง มิ.ย. 2485 – พ.ย. 2487)


จงหย่าพูดหย่างไร้ความคิด 1 ธ.ค. 85

พี่น้องผู้รักชาติทั้งหลาย นี่สามัคคีไทยเขียน ฉันตั้งไจจะหยุดเขียน เพราะได้ยินบางแห่งว่าการเขียนของฉันไม่ได้ประโยชน์อะไรแก่ตัวเลย ฉันเลยหยุดมาหลายวัน แต่มิไช่เพราะไม่ได้อะไรแก่ตัวฉัน เปนเพราะไปไหนได้สะดวก จึงถือโอกาสไปเที่ยวชมพระนครบ้าง ไปเที่ยวดูท้องนาหลังจากน้ำท่วมบ้าง ดูการขายก๋วยเตี๋ยวเสียบ้าง เวลาที่ธัมชาติไห้แก่ฉันเลยหมดไปทุกวัน จึงไม่ได้เขียนเรื่องราวไนไจฉันคิดเพื่อมาเล่าสู่ท่านผู้ฟัง อีกทั้งไม่รบกวนท่านที่เบื่อคารมของฉันตามไปด้วย บังเอินวันนี้ฝนตกหนัก ตัดการออกจากบ้านของฉันเหมือนเวลาน้ำท่วมที่แล้วมานั้นอีก ฉันเลยจับปากกาตัวเดิม เขียนเรื่องมาอ่านอีก พอจับปากกา ทำให้ฉันนึกได้ว่าปากกาตัวนี้ของฉันเมื่อ 7-8 วันมานี้ ได้เกิดแตกออกตรงมือจับ น้ำหนักแทนจะไหลออกทางปลายปากกา กลับไหลมาเปื้อนมือฉัน ต้องส่งไปไห้ช่างปากกาอุด เสียเวลาไปหลายวัน ปากกาอื่นก็มี แต่ฉันไม่ชอบไช้ สู้ปากกาที่เคยไช้เขียนไม่ได้ เพราะเหมาะมือดีแล้ว ถ้าเขียนด้วยปากกาอื่น ทำไห้ความคิดของฉันติดตะกุกตะกักไม่คล่องไจตามไปด้วย เพียงปากกาตัวเดียวของฉัน ยังมีส่วนช่วยกิจการงานส่วนตัวฉันไม่น้อยเลย ฉันเขียนหนังสือจนปากกาแตกแล้ว หย่างน้อยเรื่องของฉันคงจะเปนประโยชน์แก่พี่น้องเปนชาติพลีบ้างเปนแน่ ฉันขอรับรองว่าวันนี้หวอไม่มีแน่นอน ฉะนั้นท่านควนจะฟังวิทยุคืนนี้ได้ตามไจไห้สบาย ฉันไม่ไช่หมอดู แต่เพราะเห็นอากาสมืดมัวปกคลุมไปด้วยเมคและฝน ถ้าพี่นักบินอเมริกันขืนมาได้ ฉันเห็นจะต้องไห้รางวันหย่างงามทีเดียว ดูก็เปนการน่าสงสัยเสียจิง ปีนี้น้ำท่วมมากผิดปรกติหย่างไม่เคยมีมาแต่ก่อน และเวลานี้หน้าหนาวแล้ว ฝนยังตกหนัก ๆ บางวัน ถ้าคิดทางดีฉันว่าเทพเจ้าบันดานมาปกป้องคุ้มครองชาวไทย เห็นจะสบายไจดีเหมือนกัน พูดเช่นนี้ ฉันนำเอาสิ่งที่เห็นกับตาตนเองแล้วไปบรรจบกับความนึกคิดถึงสิ่งสักดิสิทธิ จะว่าฉันพูดเปนอกุสลไม่ได้ ทั้งพูดเช่นนี้ท่านผู้ฟังคงสบายไจด้วย ไม่ไช่พูดให้เหงื่อแตกหย่างจะเปนลมหัวไจหยุด ฉะนั้นคำพูดของฉันไม่มีไครมาสอนไห้พูดตามแน่นอน ตรงกันข้าม เวลานี้ไนพระนครธนบุรีของเรา ช่างมีการสอนพูดอกุสลกันเสียนี่กะไร ราวกับช่างปั้นน้ำไห้เปนตัว มีพูดว่ายี่ปุ่นจะจับนายกรัถมนตรีบ้าง ยี่ปุ่นจะยึดโรงเรียนบ้าง ยี่ปุ่นจะปลดอาวุธกองทัพไทยบ้าง มีอีกเยอะแยะ วันนี้ฉันยังได้ยินนายกรัถมนตรีพูดว่า พระที่นั่งอนันตสมาคมจมหายไปไนดินหมดแล้ว ฉันสอบถามได้ความว่า นายกรัถมนตรีช่วยปั้นข่าวลือไห้มาก เปนการประสานกับข่าวท้องตลาด ยิ่งกว่านั้นวันนี้ฉันขโมยเวลาราชการนอนกลางวัน เลยฝันแปลก ๆ ฝันว่าคางคกลงแขกหามเขื่อนและอื่น ๆ อีกแยะ คราวหน้าถ้ามีเวลาฉันจะช่วยเขียนไห้เปนข่าวลือกันต่อไป ประเดี๋ยวจะหมดเรื่องพูดลือกันเสีย พูดลือข้างต้นนั้นฉันฟังแล้วผู้ปั้นข่าวยังขาดสิลปไปมาก เพราะที่ลือว่ายี่ปุ่นจะทำโน่นทำนี่แก่ไทย ทั้ง ๆ ที่ทางฝ่ายยี่ปุ่นเองเขาก็ประกาสหยู่เสมอว่า เคารพเอกราชอธิปไตยของไทยเต็มที่ ส่วนไทยกลับพูดไม่เปนสิริมงคลกับชาติของตนเอง หย่างนี้จะเข้าไจว่าเราเปนอะไรกันไปแล้ว เห็นจะต้องถาม น.วิเชียรแพทยาคม แน่เสียแล้วกะมัง เราจะไปยึดถือเอาการทเลาะวิวาทกันตามถนนราย 2 รายเปนข้อบาดหมางไหย่โตนั้น ย่อมไม่ไช่วิสัยชาตินักเลงรบเลย คนมากก็ย่อมมีบ้างเปนธัมดาที่จะพบคนไม่ดีปนหยู่ แต่เราจะยึดเอาเพียงเท่านี้เปนการตัดสินสัมพันธไมตรีระหว่างชาติไม่ได้ ฉันจึงคิดว่าข่าวอกุสลหนาหูเวลานี้ มีจุดหมายไห้ไทยกับยี่ปุ่นทเลาะกันเปนไหย่ ไครเล่าเปนต้นข่าวนี้ ต้องเปนผู้ไม่ชอบไทยกับยี่ปุ่นนั่นเอง ดังนี้ ไทยผู้รักชาติ ทำไมจึงจะต้องไปช่วยเขาพูด พูดจนกลายเปนข่าวอกุสลลือกันเต็มบ้านเต็มเมือง ไครได้รับบาป ชาติไทยทั้งชาตินั่นเอง รวมทั้งคนพูดอกุสลนั้นด้วย หย่างน้อยพูดแล้วก็นั่งกลุ้มนอนไม่หลับ โรคเส้นประสาทกินเปนที่สุดตายเลย นี่ก็ที่สุดของที่สุดละ พี่น้องทั้งหลาย โปรดเชื่อฉันเถิด ทำตามรัถบาลไว้ พูดแต่ที่รัถบาลไห้พูดเถิด ท่านและชาติของท่านจะปลอดภัย ถ้าท่านไม่เชื่อฉันจะขอแรง 2175 มาช่วยพูดไนวันหลังเปน 2 แรง ฉันได้ยินแว่ว ๆ มาว่า ต่อไปนี้ไครพูดอกุสลช่วยข้าสึก คือพูดไม่เปนสิริมงคลแกชาติไทยและตัวท่านเองแล้ว เขาว่านางนาคพระโขนงหยิงไทยคนหนึ่งผู้ลือนามได้ตายเพราะคลอดลูกตายแล้ว ยังมาแปลงตัวเปนผีหยู่กับผัวได้ เวลาทำกับข้าว ของตกไต้ถุน ผีนาคพระโขนงทำมือยาวลอดช่องลงไปหยิบขึ้นมาได้ ผีนาคที่เล่านี้จะมานอนด้วยกับคนพูดอกุสล ฉันพูดมาเพียงนี้เหงื่อแตกเพราะกลัวผีนาคคนสำคัน ที่ฉันพูดถึงผีนาคพระโขนงนี้ ตั้งไจจะหลอกผู้พูดอกุสล จะได้หยุดพูดกันเสียที เพราะจะเอาเหตุผลมาพูดก็คงไม่เชื่อ และบางทีไม่ซาบ ซ้ำไม่ฟังเสียด้วย จึงลองยาขนานผีนาคพระโขนง บางทีจะสักดิสิทธิบ้างก็ได้ คือไช้ยากลางบ้านนั่นเอง ไม่ไช้ยาเหตุผลตามหลักวิชา ฉันขอข้ามเรื่องสับเพเหระข่าวอกุสลนี้ รอไห้ผีนาคพระโขนงช่วยปัดเป่าต่อไป

ไนสมัยสงคราม สมัยคับขันเช่นนี้ ต้องเปนสมัยเหตุผล ไม่ไช่สมัยพูดตามลมตามแล้ง ซึ่งจะนำภัยมาสู่ผู้ไม่เคารพเหตุผลด้วย คนไม่เคารพเหตุผลเปนคนเส้นประสาทอ่อน เด็กเล็ก ๆ เมื่อเห็นละคอนสแดงทุบตีกัน ฉันเคยเห็นเด็กร้องไห้ พ่อแม่ที่พาไปดูละคอนต้องปลอบ บางทีปิดตาก็มี ทำไมเด็กจึงร้องไห้ เพราะนึกว่าละคอนนั้นจะตีค่ากันจิง ๆ เลยกลัว แต่ผู้ไหย่ที่เปนพ่อแม่ไม่ยักกลัว เพราะรู้แน่ว่าละคอนนั้นเล่นกัน ไม่ได้ทำกันจิง ๆ เลยไม่กลัว น่าคิดไม่น้อยเลยตามตัวหย่างง่าย ๆ ที่พูดมานี้ เหตุผลไม่ไช่หรือ ? ที่ทำไห้คนไม่กลัว ฉันพูดมาเพียงนี้ได้ยินวิทยุภาคทหาน เสียงลูกเมียพ่อแม่ของเหล่านักรบส่งไปยังนักรบของเราไนสนามรบ ลอยข้ามบ้านของฉันไป ฉันตันไจเลยขอจบไว้เพียงนี้ นั่งฟังเสียงหนูที่รักพูดกับคุนพ่อนักรบ แล้วร้องเพลงจับไจยิ่งนัก ฉันขออวยพรวันเกิดไห้หนูที่รักของฉันคนนี้ด้วย.

สวัสดี

สามัคคีไทย 1 ธ.ค. 85[21]


จอมพล ป.พิบูลสงคราม กับ ผีนาคพระโขนง ในหนังสือรวมเรื่อง “สามัคคีไทย 2485”


กรมพระยาดำรงฯ นิวัตพระนคร กับ น้ำท่วม-ญี่ปุ่น-อีนาก


ในบริบทเดียวกันกับที่จอมพล ป. กล่าวถึงแม่นาคพระโขนงนั้น ยังมีบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งเคยเอ่ยถึงปีศาจตายท้องกลมนางนี้คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงปีเศษ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จออกจากประเทศไทยราวเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2476 เป็นเวลากว่า 9 ปีที่ทรงประทับ ณ ปีนัง จวบจนเมื่อครั้งประเทศไทยอยู่ในช่วงระยะเวลาแห่งสงครามมหาเอเชียบูรพา ท่านได้รับอนุญาตจากรัฐบาล จอมพล ป. ด้วยว่าทรงพระชราภาพมากแล้ว และความเป็นอยู่ที่ปีนังมีความลำบากมาก จึงเสด็จออกจากปีนังเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2485 ด้วยเรือของบริษัทอีสเอเชียติก ถึงสงขลาแล้วต่อเรือ ‘ภาณุรังษี’ มุ่งตรงสู่พระนคร เทียบท่ายังวัดพญาไกร

ขณะเดินทางอยู่บนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงรับสั่งกับหม่อมเจ้าพิสิษฐดิศพงศ์ (ผู้ประสานงานในการนี้) ว่า “ชายแอ๊ว ที่เธอทำให้แก่พ่อครั้งนี้เท่ากับเธอได้ตอบแทนบุญคุณพ่อครบถ้วนทุกอย่างแล้ว” ภาวการณ์ขณะนั้นนอกจากพระนครจะคุกรุ่นด้วยไอสงคราม ยังประสบเคราะห์ซ้ำในเรื่องน้ำท่วมใหญ่ สมเด็จฯ ท่านต้องทรงเปลี่ยนลงเรือพายแล่นมาตามถนนวิสุทธิกษัตริย์ ถนนจักรพรรดิพงษ์ เลี้ยวเข้าถนนหลานหลวง เรือมาเทียบตรงบันไดตำหนักในวังวรดิศ สถานที่ที่ท่านสิ้นพระชนม์ใน 1 ปีกับ 3 เดือนต่อมา[22]


หนังสือสมเด็จฯ ที่บันทึกโพลอีนากพระโขนง

 
ภายหลังนิวัตคืนสู่ประเทศไทย พระธิดาของท่านหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล เล่าถึงชีวิตของพระบิดาหลังจากนั้นเรื่องความไม่พอใจที่ประเทศไทยเข้าร่วมกับญี่ปุ่นไว้ว่า

“…จนวันหนึ่งพายเรือเมื่อน้ำท่วม เข้าไปวัดพระแก้วทอดพระเนตรเห็นนายทหารญี่ปุ่นยืนอยู่ 2 คน ที่หน้าร้านหยาดฟ้า ท่านหันมาถามข้าพเจ้าว่า – ‘นั่นใครเอาหมวกญี่ปุ่นมาใส่ ?’ ข้าพเจ้าแกล้งพูดไปเรื่องตึกตรงข้ามเสีย ท่านก็ไม่ฟังกลับตรัสซ้ำอีกว่า – ‘พ่อถามว่าใครเอาหมวกญี่ปุ่นมาใส่ ?’ ข้าพเจ้าก็จำต้องทูลว่า – ‘ก็ญี่ปุ่นเอง’ เท่านั้นท่านรู้สึกขึ้นมาทันทีว่ามีญี่ปุ่นอยู่ในบ้านในเมืองแล้ว ก็เลยฉุนกริ้วคนโน้นคนนี้ไปตลอดทาง แต่วันนั้นมาก็ทรงบ่นแต่ว่าอยากตายไม่มีอะไรดีจะคอยดู แล้วไม่ค่อยเอาพระทัยใส่แก่การรักษาพระองค์ ไม่มีเตือนว่าจะต้องทำอะไรเวลาไรอย่างแต่ก่อน ๆ ถึงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ก็บรรทมหลับไม่ตื่นจริง ๆ”

และที่มาที่ไปของเรื่องเล่าแม่นาคพระโขนงโดยกรมพระยาดำรงฯ นั้น เกิดจากการทดสอบความจำของพระองค์ก่อนสิ้นพระชนม์ที่ท่านหญิงพูนนำมาถ่ายทอดไว้ว่า

“หมอกอชลิคบอกว่าพระหทัยหยุดเฉย ๆ และพระสติปัญญาขนาดคนอายุ 60 แต่พระชันษาท่าน 81 ปี กายกับจิตแก่กว่ากันถึง 20 ปี จึงไม่อ่อนไปตามกัน เสด็จพ่อยังทรงจำอะไรได้แม่นยำ ไม่มีหลงเลือนเลยสักอย่างเดียว เคยทรงเล่าว่า – ในเวลาท่านทรงเป็นนายทหารประจำอยู่ในพระราชวังหลวงนั้น เจ้าพี่เจ้าน้องรุ่นเดียวกันมักจะมาประทับคุยอยู่ใกล้ ๆ ประตูวัง เห็นคนเข้าเนืองแน่นอยู่เสมอ จึงทรงคิดกันว่าจะลองความรู้คนดูสักที แล้วทรงจดชื่อคน 4 คน คือ

1.ท่านขรัวโต (สมเด็จพระพุทฒาจารย์[23]) 2.พระพุทธยอดฟ้า 3.จำไม่ได้ว่าใคร 4.อีนากพระโขนง

ให้คนคอยถามทุกคนเข้าออกประตูว่า ใน 4 คนนี้ รู้จักใครบ้าง ? อีนากพระโขนงชนะ ! ทำให้คิดว่าอีกสัก 100 ปีข้างหน้าใครจะอยู่ในเมืองไทยในฐานะเช่นไร ?    

ส่วนเสด็จพ่อของข้าพเจ้านั้น อย่างน้อยก็คงจะได้เสด็จอยู่ในพระนามว่า – พระบิดาประวัติศาสตร์ – ดอกกระมัง

สัตว์ทั้งหลายเอ๋ย ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุข ๆ เถิด อย่าได้มีเวรกรรมซึ่งกันและกันเลย

สาธุ”[24]

อีนากพระโขนงชนะผลสำรวจความนิยม ราว พ.ศ.2420

 

ส่งท้าย


หนังสืออนุสรณ์งานศพสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์อุทิศโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ.2487


ส.ศิวรักษ์ เล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่ง จอมพล ป.พิบูลสงครามเคยเกลียดสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ถึงระดับที่ว่า “สั่งเลยว่า ถ้ากรมดำรงฯ เข้ามาเมื่อไร ให้ยิงที่นั่นเลย” แต่ภายหลังหันกลับมาคืนดีกันเพราะได้พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) ช่วยประสานความสัมพันธ์[25] จนท้ายสุดเมื่อถึงวันฌาปนกิจของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จอมพล ป.ได้เป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์หนังสืออนุสรณ์เรื่อง ‘นิทานโบรานคดี’ ซึ่งทรงนิพนธ์เสร็จก่อนหน้าสิ้นพระชนม์ไม่กี่วัน ทว่าเนื่องจากระยะนั้นประเทศไทยยังอยู่ในระยะเวลาแห่งการ ‘ปติวัติภาสา’ หนังสือเล่มนี้จึงได้รับการจัดพิมพ์ด้วยวิธีการดังกล่าวทั้งเล่ม[26] ทั้งนี้ดูจะกระไรนักหากคนรุ่นหลังจะนิยามคำว่า ‘อักขรวิบัติ’ ให้แก่ตัวหนังสือที่ตีพิมพ์เป็นเกียรติแด่ผู้ถูกขนานนามว่า ‘พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย’

ด้านของนายปรีดี พนมยงค์ ปรากฏในอนุทินชีวิตที่บันทึกไว้ด้วยลายมือว่า ‘ไปเยี่ยมพระสพสมเด็ดกรมพระยาดำรง’ (1st DECEMBER 1943)


ไดอารี่ลายมือปรีดี “ไปเยี่ยมพระสพสมเด็ดกรมพระยาดำรง” 1st. DECEMBER 1943


สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ สิ้นพระชนม์ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486 หรืออีก 1 ปีพอดีถัดจากที่จอมพล ป. แสดงเรื่องราวของแม่นาคพระโขนง นางปีศาจอันดับหนึ่งของประเทศไทยได้รับการเอ่ยถึงจากบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยทั้งสองท่านภายในหนึ่งปีเดียวนั้นเอง จะเป็นไปได้ไหมว่าท่านหญิงพูนอาจจะได้อ่านและถ่ายทอดเรื่องของสามัคคีชัยให้พระบิดาฟัง? หรือด้วยเพราะเหตุใดก็สุดจะคาดเดาได้ อย่างไรก็ตาม หากนับจากปี พ.ศ. 2420 ตามเรื่องเล่าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงทำโพลเรื่องแม่นาคพระโขนง จนถึงทุกวันนี้เหตุการณ์ผ่านพ้นมากว่า 145 ปี หากปัจจุบันใส่ชื่อ ‘แม่นาคพระโขนง’ ร่วมกับ ‘จอมพล ป.พิบูลสงคราม’ และ ‘สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ’ ด้วยแล้ว ผู้อ่านคิดว่าผลสำรวจโพลนี้จะออกมาเป็นเช่นใด?




[1] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ปริทัศน์ผีไทย ก่อนชวนอ่านเรื่อง “ไม่เอาผี” ของเจ้านายสยาม, ปาจารยสาร ปีที่ 51 ฉบับที่ 2 พ.ค.-ส.ค.2565, น.50-116.

[2] เอนก นาวิกมูล, เปิดตำนานแม่นากพระโขนง, พิมพ์ครั้ง ที่ 3 พ.ศ.2549, น.19. และดู ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว มกราคม 64 ตอน แม่นาคพระโขนง LOVE STORY ผีกับคน https://www.youtube.com/watch?v=E0l4C6iLgMY&t=12s

[3] เอนก นาวิกมูล, อ้างแล้ว, น.22-23.

[4] โรงละครปรีดาลัย ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ โรงมหรสพแห่งแรกในสยาม https://www.finearts.go.th/promotion/view/28814-โรงละครปรีดาลัย-ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ-กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์-โรงมหรสพแห่งแรกในสยาม

[5] มีผู้จำกลอนในใบปลิดโฆษณาตอนหนึ่งว่า “เรื่องอีนากพระโขนงออกโรงสู้ จนคนดูดูไม่ได้มาหลายหน ต้องเล่มใหม่เพื่อให้ทันใจคน ทั้งห้าหนสิบหนยังล้นโรง” ดู สมบัติ พลายน้อย, ตามรอยนางนากพระโขนง, พ.ศ.2533, (พี.วาทิน พับลิเคชั่น), น.36.

[6] พาณี ศรีวิภาต , การศึกษาเปรียบเทียบวรรณกรรมเรื่อง “นางนากพระโขนง” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2545.

[7] “แม่นาก” ผีชาวบ้านเริ่มเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พระผู้ใหญ่ได้อย่างไร https://www.silpa-mag.com/history/article_22373

[8] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงอรรถปริมลวุจดี (หม่อมหลวงเปลื้อง อิศรางกูร) ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร 20 พฤษภาคม พ.ศ.2518, (โรงพิมพ์มหามกุฎฯ).

[9] หนึ่งเดียว (นามแฝง), ร้อยภูติ พันวิญญาณ ตำนานหนังผีไทย, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2552, (สำนักพิมพ์ Popcorn), น.17-18.

[10] แม่นาก กลายเป็นหนังเมื่อใด เปิดเส้นทางผีอมตะ สู่แฟนตาซี ถึงฉบับคลาสสิก “นางนาก” 2542 https://www.silpa-mag.com/culture/article_36132

[11] แม่นาคพระโขนง [2502] | Thai Movie 1959 จุดเชื่อมต่อโดย

อรัชมิตร เธียเตอร์ https://www.youtube.com/watch?v=NczujAd-7b4

[12] หนึ่งเดียว (นามแฝง), ร้อยภูติ พันวิญญาณ ตำนานหนังผีไทย, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2552, (สำนักพิมพ์ Popcorn), น.26.

[13] พรรณราย โอสถาภิรัตน์, “นางนาก : การต่อรองทางความหมายในภาพยนตร์ยอดนิยม” วิทยานิพนธ์ปริญญาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2543.

[14] หนึ่งเดียว (นามแฝง), ร้อยภูติ พันวิญญาณ ตำนานหนังผีไทย, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2552, (สำนักพิมพ์ Popcorn), น.44-45.

[15] รายชื่อภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินสูงสุดในประเทศไทย จุดเชื่อมต่อ https://www.wikiwand.com/th/รายชื่อภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินสูงสุดในประเทศไทย

[16] 5 อันดับหนังสือผีไทยทำรายได้มากที่สุด https://www.blockdit.com/posts/5e77303a0f45090c750845b1

[17] วิชุดา ปานกลาง, “การวิเคราะห์การถ่ายทอดความหมายเรื่องผี ในภาพยนตร์ไทยเรื่องแม่นาคพระโขนง พ.ศ.2521-2532” วิทยานิพนธ์ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการสื่อสารมวลชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2539.

[18] บ้านผีปอบ จุดเชื่อมต่อ https://th.wikipedia.org/wiki/บ้านผีปอบ

[19] พระครูวิสิฐกิจจารักษ์ (กฤษฎา รตนโชโต), ศึกษาความเชื่อต่อ “แม่นาค พระโขนง” ในการบำเพ็ญบุญกุศลของประชาชนผู้เคารพบูชาในวัดมหาบุศย์, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2560, น.24.

[20] อนุสรณ์ ในการฌาปนกิจศพ นายเริก อ่อนนุช ณ เมรุวัดใต้ ซอยอ่อนนุช 1 (สุขุมวิท 77) 31 มีนาคม 2511, (ชุมนุมช่าง).

[21] สามัคคีไทย ( จอมพล ป.พิบูลสงคราม), จงหย่าพูดอย่างไร้ความคิด 1 ธ.ค. 85 ใน รวมเรื่อง ของ “สามัคคีไทย” 2485, พ.ส.2486, (อักสรจเรินทัสน), น.273-278. และ ดู ประชาชาติ กับ สรีกรุง วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2485 ในอีกนามปากกา “สามัคคีชัย”

[22] อาชวดิศ ดิศกุล, การเสด็จกลับเมืองไทยของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ดิศพงษ์อนุสรณ์ พิมพ์ในงานเสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานเพลิงศพ พลโท หม่อมเจ้าพิสิฐดิศพงษ์ ดิศกุล ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 7 มิถุนายน พุทธศักราช 2509, (โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี), น.48-51.

[23] สะกดตามต้นฉบับ

[24] พูนพิศมัย ดิศกุล, คติธรรมในเวลามีทุกข์ ใน ชีวิตและงานของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พ.ศ.2515, (โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา), น.90-92.

[25] ส.ศิวรักษ์, จอมพล ป. พิบูลสงคราม : นายกตลอดกาล (ตอนที่ 8/13) จุดเชื่อมต่อ https://www.youtube.com/watch?v=ZO2XFi4lTOc&t=62s

[26] นิทานโบรานคดี พนะท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัถมนตรี โปรดไห้พิมพ์เปนอนุสร ไนงานพระราชทานเพลิงพระสพ สมเด็ดพระเจ้าบรมวงส์เทอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นะ เมรุวัดเทพสิรินทราวาส เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2487, (โรงพิมพ์พระจันทร์). บทความนี้พิสูจน์อักษรโดย สุกัญญา เจริญวีรกุล (บาลีศึกษา 9 ประโยค)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save