fbpx

1 ปีเหตุการณ์หนองบัวลำภู แผลเป็น-ความเจ็บปวดที่ไม่อาจลืมเลือน และความพยายามเดินไปข้างหน้า

กราดยิงหนองบัวลำภู

เหตุการณ์ความรุนแรงในสังคมไทยช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นราวกับเป็นโรคติดต่อ นับวันยิ่งเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ และแพร่กระจายไปยังหลากหลายพื้นที่ไม่ว่าต่างจังหวัดหรือตัวเมืองก็ตาม

มากไปกว่านั้น เหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมดไม่ได้เป็นเพียงโศกนาฏกรรม แต่สะท้อนไปถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างของสังคมไทยที่ยังไม่เคยถูกสะสาง ทั้งการปฏิรูปกองทัพ-ตำรวจ ไปจนถึงกฎหมายควบคุมการถือครองอาวุธ

เมื่อเดือนตุลาคม 2565 พื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตคือเยาวชน ซึ่งน่าสังเกตว่าเมื่อเวลาผ่านไป อายุของกลุ่มเป้าหมายของความรุนแรงเริ่มมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ

พื้นที่ปลอดภัย กลายเป็นสิ่งล้ำค่าและหายากในทุกวันนี้

ผ่านมา 1 ปีแล้ว 101 ชวนผู้อ่านกลับมาสำรวจพื้นที่หนองบัวลำภูอีกครั้ง ในวันที่ทุกอย่างเหมือนกลับมาปกติ ผู้คนในพื้นที่ตรงนั้นเป็นอย่างไรบ้าง พวกเขามีความหวังและความฝันต่อพื้นที่บ้านเกิดอย่าง ‘หนองบัวลำภู’ อย่างไร

เหตุการณ์ความรุนแรง และแผลเป็นที่ไม่เคยจางหาย

“หลังจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเดิมก็ปิดไปเลย เราไม่ได้ใช้สถานที่เดิมๆ สิ่งของเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว พวกเราตัดสินใจออกมาเริ่มต้นใหม่โดยขอยืมสถานที่ของอีกโรงเรียนเป็นอาคารเรียนชั่วคราว”

นันทิชา พันธ์ชุม หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ เล่าถึงความรู้สึกของตนเองว่าด้วยภาระงานตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา คือการหาที่ให้เหล่าเด็กๆ เรียนต่อและใช้เวลาส่วนใหญ่ในการดูแลเด็กๆ ส่งผลให้จิตใจของเธอมุ่งมั่นกับการทำงานและสามารถลบเลือนบาดแผลได้บ้างแล้ว

ในความคิดของนันทิชา เมื่อศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเดิมปิดตัวลงและย้ายมาเรียนชั่วคราวอีกที่หนึ่ง เหมือนเป็นการนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง หลังจากการสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตความเป็นครูของเธอ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์เด็กเล็ก หรือความรู้สึกดีในฐานะครูผู้ดูแลเด็กๆ ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

“สำหรับเหตุการณ์ความรุนแรง เด็กปฐมวัยไม่ค่อยรู้เรื่องหรอกหากผู้ปกครองไม่ได้เล่าหรือพูดให้พวกเขาฟัง ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราต้องทำคือ สร้างความเชื่อมั่นของผู้ใหญ่ต่างหากว่าเขาจะไว้วางใจศูนย์เด็กเล็กจนนำบุตรหลานของเขามาเรียนหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มของความไว้วางใจในศูนย์เด็กเล็กมีทิศทางที่ดีมากขึ้น”

ทั้งนี้ นันทิชาเล่าว่าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจแก่ผู้ปกครอง โรงเรียนจึงเลือกสื่อสารสถานการณ์โดยตรงกับผู้ปกครองผ่านกลุ่มไลน์ เช่น หากโรงเรียนจัดกิจกรรม ก็จะนำภาพหรือวิดีโอของเหล่าเด็กนักเรียนที่มีความสุขส่งไปให้ผู้ปกครองได้ดู และเชื่อมั่นว่าหากเด็กๆ มาโรงเรียนแล้วจะได้รับสิ่งดีๆ กลับไป

“ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์ที่มีความเสี่ยงอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้ต้องระมัดระวังทั้งตัวเองและเด็กๆ ภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของเราด้วย หากพูดโดยสรุปก็คือพวกเรายังไม่เชื่อมั่นในสถานการณ์รอบข้างมากนัก ทำให้ต้องระวังและป้องกันให้ดีที่สุด”

แม้สถานการณ์ความรุนแรงจะเกิดในตำบลอุทัยสวรรค์ แต่ความสะเทือนใจ ความระแวงและหวาดกลัวกลับกระทบไปยังพื้นที่อื่นๆ รวมถึงตำบลใกล้เคียงอย่างตำบลโนนเมืองด้วย

“เพราะสภาพจิตใจของทุกคนต่างก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงวันนี้ พวกเราเองจึงไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านั้นในเชิงรำลึกมากนัก มุ่งเพียงวางแผนและหาวิธีป้องกัน เช่น หากวันนี้มีคนแปลกหน้ามายืนอยู่หน้าโรงเรียน ชาวบ้านในแถบนั้นก็จะระแวดระวังช่วยโรงเรียนไปอีกทาง”

ข้างต้นคือคำบอกเล่าส่วนหนึ่งถึงสถานการณ์ปัจจุบันในจังหวัดหนองบัวลำภูของ อัครเดช พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโนนม่วง ตำบลโนนเมือง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นโรงเรียนใกล้เคียงพื้นที่ตำบลอุทัยสวรรค์ หลังผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงมาครบรอบขวบปี

“ความทรงจำของการสูญเสียมันไม่ได้หายไปไหนหรอก มันก็ยังคงอยู่ที่เดิม ที่ผ่านมาก็มีหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนเข้ามาฟื้นฟูบรรเทาความเจ็บปวดในหัวใจของคนในพื้นที่ จนมาถึงวันนี้นับว่าเป็นเวลาสมควรที่พวกเขาจะเริ่มมองไปข้างหน้า และร่วมกันออกแบบเรื่องความปลอดภัยของลูกหลานในอนาคตจะเป็นอย่างไร” อัครเดชกล่าว

กล่าวได้ว่าบาดแผลความทรงจำเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ตกสะเก็ดเป็นแผลแห้ง เพื่อให้ชาวบ้าน ผู้บริหารในส่วนท้องถิ่น หรือแม้แต่ภาครัฐส่วนกลางกลับมาถอดบทเรียนและสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยให้ได้ ในฐานะที่อัครเดชเองก็เป็นผู้ออกแบบนโยบายการศึกษาของโรงเรียนในจังหวัดหนองบัวลำภู เขาสะท้อนว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น โรงเรียนต่างออกแบบมาตรการและแผนเผชิญเหตุภายในโรงเรียนว่าจะมีกระบวนการจัดการสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร อาทิ การออกแบบห้องเรียนปลอดภัย หรือออกแบบจุดรวมพลภายในโรงเรียน รวมถึงกระบวนการพัฒนารอบด้านอย่างสร้างสรรค์ เช่น การเล่นอิสระ เป็นต้น

ฟื้นฟูเยาวชนหลังเหตุการณ์ความรุนแรงผ่าน ‘การเล่นอิสระ’

ภายหลังเกิดเหตุการณ์ หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ไปจนถึงภาคเอกชนต่างลงพื้นที่ฟื้นฟูและเยียวยาแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัวของผู้สูญเสีย โดยหวังว่าการชดเชยและเยียวยาครั้งนี้จะทำให้พวกเขาสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจ จนถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเกิดจากความสูญเสียได้

หากสำรวจการชดเชยในรูปแบบของตัวเงินจากภาครัฐต่อเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ พบว่าการชดเชยหลักนั้นมาจาก 3 หน่วยงานประกอบด้วย คณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี (เสียชีวิต รายละ 200,000 บาท บาดเจ็บสาหัส 100,000 บาท / บาดเจ็บ 50,000 บาท ทุพพลภาพ 200,000 บาท), กระทรวงยุติธรรม (เสียชีวิต รายละ 110,000 บาท / บาดเจ็บ ชดเชยตามเงื่อนไขที่กระทรวงกำหนด) และสำนักงานประกันสังคม (เสียชีวิต ได้รับค่าทำศพและค่าทดแทนกรณีเสียชีวิต 120 เดือน)

แม้การชดเชยผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงด้วยตัวเงินนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่อาจจะนับได้ว่าเป็นการชดเชยขั้นต้นภายหลังการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเท่านั้น โดยครอบครัวของผู้ได้รับบาดเจ็บหรือสูญเสียสามารถนำเงินดังกล่าวไปรักษาหรือชดเชยความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญหลังเกิดความรุนแรงเช่นนี้ คือจะฟื้นฟู ‘สภาวะทางจิตใจ’ ของผู้ประสบเหตุ ไม่ว่าเยาวชนหรือผู้ใหญ่ ไปจนถึงประชาชนในจังหวัดหนองบัวลำภู ให้กลับสู่สภาวะปกติเร็วที่สุดได้อย่างไร

‘เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก’ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ลงไปทำงานในพื้นที่ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรงผ่านไปไม่นานจนถึงปัจจุบัน โดยเครือข่ายดังกล่าวใช้เครื่องมืออย่าง ‘การเล่นอิสระ’ (Free Play – การปล่อยให้เด็กๆ ได้เลือกเล่นสิ่งที่สนใจและอยากเล่นโดยไม่มีกรอบความคิด หรือบังคับให้เล่น) เข้ามาใช้กับเยาวชนในโรงเรียนของจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อฟื้นฟูความสุขให้แก่เด็กและเยาวชน และชวนคนในพื้นที่ทำงานเรื่องเล่นอิสระเพื่อก้าวข้ามความกลัว อีกทั้งเป็นการพัฒนาและออกแบบกิจกรรมเพื่อเด็กและชุมชนอย่างสร้างสรรค์ร่วมกัน ภายใต้ชื่อ ‘Happy play หนองบัวลำภู’

ประสพสุข โบราณมูล ผู้ประสานงานเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.)และ วรวุฒ อมะรึก ผู้ประสานงานโรงเรียนเครือข่าย Happy play หนองบัวลำภู มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา เป็นหนึ่งในกลุ่มที่เข้าไปทำงานกับโรงเรียน ครูและเยาวชนในพื้นที่หนองบัวลำภู

ประสพสุขเล่าว่า ในช่วงแรกที่เธอและกลุ่มเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกไปจัดกิจกรรมในหนองบัวลำภู เธอมักจะได้ยินเรื่องราวเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้จากผู้ใหญ่อยู่ตลอด หลายคนเดินเข้ามาเล่าว่าแต่ละคนได้รับผลกระทบอะไรบ้าง สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะจิตใจไม่มั่นคงของชาวหนองบัวลำภู ณ ห้วงเวลานั้น

ภาพจาก Happy play หนองบัวลำภู
ภาพจาก Happy play หนองบัวลำภู

“เป้าหมายที่พวกเราตั้งไว้ในตอนแรกคือต้องการให้เด็กๆ ได้ผ่อนคลายและมีความสุขมากขึ้น เราจึงใช้การเล่นอิสระเข้ามาช่วย คือมันอาจจะไม่ได้ทำให้ความกลัวของพวกเขาหายไป แต่มันคือการปลดปล่อยความเครียดที่เกิดขึ้น”

ทั้งนี้ วรวุฒกล่าวว่าผลกระทบต่อเยาวชนที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนในช่วงหลังเหตุการณ์ใหม่ๆ คือความกลัว ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ หนึ่ง เยาวชนไม่กล้าเข้าหาคนแปลกหน้า แม้คนเหล่านั้นจะเข้ามาด้วยเจตนาดีหรือความหวังดีเพียงใด เด็กๆ จะไม่กล้ามองหน้าและพูดคุยด้วย

สอง คือผู้ปกครองไม่ให้เยาวชนออกจากบ้านในช่วงเย็น ทำให้ช่วงเวลาค่ำจะไม่มีใครในหมู่บ้านออกมาเดินบนถนน เพราะกลัวเรื่องความปลอดภัยและความเชื่อเรื่องวิญญาณผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรง

“ภายหลังเหตุการณ์ประมาณหนึ่งอาทิตย์ ทางกรมสุขภาพจิตที่ดูและอยู่ในพื้นที่พบว่า เยาวชนในพื้นที่หนองบัวลำภูเกิดสภาวะกลัว ไม่กล้าออกนอกพื้นที่บ้าน ซึ่งช่วงดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่โรงเรียนใกล้จะเปิดเทอม ทางกรมสุขภาพจิตจึงเกรงว่าสภาวะที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อเยาวชนและสังคมในระยะยาว จึงขอให้ทางสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) ของ สสส. นำเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกเข้ามาช่วยจัดกิจกรรมในพื้นที่ให้

“การเล่นอิสระ คือธรรมชาติและเป็นความต้องการของเด็กทุกวัย เพราะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ตัวเองว่าชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร และเมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้ใหญ่อนุญาตให้เด็กเล่นได้อย่างอิสระนั้น เด็กๆ จะรู้สึกว่าผู้ใหญ่รักเขาและสามารถสร้างความเชื่อใจกับเยาวชน” ประสพสุขกล่าว

หลังจากที่กิจกรรมดังกล่าวดำเนินมาได้ระยะหนึ่ง พบว่าการเล่นอิสระทำให้เยาวชนร้อยละ 80 รู้สึกผ่อนคลาย ไม่หวาดกลัวโรงเรียน และกลับมาสู่สภาวะปกติได้มากขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากเด็กๆ เริ่มเดินเข้ามาพูดคุยกับคนอื่นมากขึ้น

“ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการฟื้นฟูสุขภาวะทางจิตใจและความรู้สึก เพราะในช่วงแรกทางกรมสุขภาพจิตพยายามเข้าไปเก็บข้อมูลเชิงลึกถึงพฤติกรรม และสภาวะความกลัวในเยาวชน แต่ก่อนหน้านี้เมื่อคุณหมอลงพื้นที่ไป เด็กไม่กล้าคุยกับคุณหมอซึ่งส่งผลต่อการเก็บข้อมูลและฟื้นฟูพวกเขา ดังนั้นการเล่นจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กกล้าคุยกับคุณหมอมากขึ้น” วรวุฒกล่าว

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ‘พื้นที่ปลอดภัย’ นับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสังคมในปัจจุบัน ความปลอดภัยนั้นต้องเกิดขึ้นกับผู้คนไม่ว่าจะเป็น เพศ วัย ความเชื่อใดๆ ก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่อย่างหนองบัวลำภูหรือพื้นที่ที่ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงมานั้นยิ่งต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

สำหรับนันทิชา ในฐานะหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตำบลอุทัยสวรรค์ มองว่าหลังจากนี้พื้นที่ความปลอดภัยของจังหวัดหนองบัวลำภูต้องมาควบคู่กับพื้นที่แห่งความสุข เพราะหากวันนี้มีเพียงความสุข แต่ไร้ซึ่งความปลอดภัยก็คงเป็นสังคมที่ทุกคนไม่ต้องการ

“หากไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงในวันนั้น จังหวัดหนองบัวลำภูคงไม่ได้รับโอกาสจากหลายภาคส่วนขนาดนี้ ครูหวังเพียงว่าอยากให้ทุกโรงเรียน ทุกศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในทุกพื้นที่ของจังหวัดเราและทุกพื้นที่ของประเทศไทยต่างได้รับโอกาสเช่นนี้” นันทิชากล่าว

ความคาดหวังของนันทิชาคงไม่ต่างอะไรจากอัครเดช ในฐานะผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่ เขาคาดหวังว่าจะเห็นสถาบันครอบครัว และชุมชนที่เข้มแข็งมากขึ้นหลังจากนี้ เพราะทั้งสองสถาบันเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สังคมปลอดภัยและเป็นสุข

“จังหวัดหนองบัวลำภูต้องเป็นสังคมที่ปลอดภัยและไว้วางใจกัน ซึ่งมันเป็นต้นทางของความสุข เวลาเดินไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องหวาดระแวงกัน ไม่ต้องระแวงว่าจะมีใครมาทำร้ายเรา นี่คือภาพแห่งความหวังของผม” อัครเดชกล่าวทิ้งท้าย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save