fbpx

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก: อำนาจท้องถิ่นใกล้ตัวที่ถูกมองข้าม

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่หนองบัวลำภูสร้างความสะเทือนใจไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก อายุเพียง 2-4 ขวบ พร้อมคำพูดของผู้นำรัฐบาล และผู้สูญเสีย “มันต้องไม่เกิดขึ้นอีก” “ขอให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย”

แต่อาจพูดได้ว่าครั้งนี้เป็นการสังหารหมู่ในโรงเรียนครั้งแรกของไทยเลยก็ว่าได้ เพราะเหตุรุนแรงตั้งต้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ก่อนหน้านี้เราเคยรับรู้จากข่าวที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกกัน Scholl Shooting แต่ถ้าหากย้อนดูในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าสังคมไทยเจอโศกนาฏกรรมหมู่หลายครั้ง

– 2558 ระเบิดราชประสงค์ ผู้เสียชีวิต 20 ราย

– 2562 เรือฟินิกส์ล่ม ผู้เสียชีวิต 47 ราย

– 2563 กราดยิงโคราช ผู้เสียชีวิต 31 ราย (นับรวมผู้ก่อเหตุ)

– 2565 ไฟไหม้เมาน์เทนบี ผู้เสียชีวิต 24 ราย

– 2565 กราดยิงหนองบัว ผู้เสียชีวิต 38 ราย (นับรวมผู้ก่อเหตุ)

โศกนาฏกรรมข้างต้นถูกโหมข่าวอย่างหนักในช่วงแรกๆ ก่อนจะค่อยๆ เงียบหายไป และไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก

แน่นอน เหตุการณ์ครั้งนี้เช่นกัน มีเรื่องน่าสนใจในหลายแง่มุม หลายประเด็นถูกพูดถึงไปเยอะแล้ว เช่น เรื่องระบบวินัยตำรวจ การถือครองอาวุธปืน ปัญหายาเสพติด ปมทางจิตวิทยาของผู้ก่อเหตุ รวมถึงความเหมาะสมในการนำเสนอข่าวของสื่อ

แต่เรื่องหนึ่งที่กลับหายไปในสื่อหลัก คือ บทบาทของ อบต.ที่ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยตรง หากสังเกตจากการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เราจะเห็นตัวละครอย่าง ผบ.ตร.ที่เพิ่งจะนั่ง ฮ.มาถึงในช่วงเย็นของเหตุการณ์วันนั้น, อัยการคุ้มครองสิทธิพูดเรื่องความช่วยเหลือทางกฎหมาย, พมจ. (พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด) กล่าวถึงการเยียวยาจิตใจเด็กและครอบครัว, ยุติธรรมจังหวัดอธิบายเรื่องเงินเยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญา, รองผู้ว่าฯ ก็นั่งอยู่ด้วยเพื่อคอยตอบคำถามนักข่าว, แต่ไม่มีนายก อบต.ในฐานะเจ้าของสถานที่บนเวทีนี้ สะท้อนภาพการทำงานของระบบราชการไทย และการไม่ให้ความสำคัญต่อการปกครองท้องถิ่น

บทความตอนนี้อยากพาย้อนกลับไปสำรวจที่มาที่ไปของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ปัจจุบันกลายเป็นสถานศึกษาใกล้บ้านที่อยู่ในความดูแลของ อปท.ทั่วประเทศ ในแง่หนึ่งก็เป็นตัวอย่างรูปธรรมที่สะท้อนยุคสมัยของการกระจายอำนาจอันรุ่งโรจน์ ก่อนจะถูกฉุดรั้งจากการรัฐประหารทั้งสองครั้ง

A woman leaves an offering for the children, who were killed by a former police officer in a mass shooting in a nursery, outside the site in Na Klang in Thailand’s Nong Bua Lam Phu province on October 9, 2022. (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

เดิมก่อนหน้าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ตั้งขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กในวัย 3-5 ขวบ ก่อนเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษา อยู่ภายใต้การดำเนินการของส่วนราชการต่างๆ ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ (ปัจจุบันอยู่ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม) และสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งมีการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน อาทิ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของกรมการพัฒนาชุมชนบริหารงานโดยคณะกรรมการพัฒนาเด็ก ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้ปกครอง/ผู้นำท้องถิ่น ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด/มัสยิด บริหารงานโดยคณะกรรมการบริหารศูนย์อบรมก่อนเกณฑ์ในวัด/มัสยิด ซึ่งมีเจ้าอาวาส/อิหม่ามเป็นประธาน การจัดการศึกษาอนุบาล 3 ขวบของ สปช. บริหารงานโดยผู้บริหารโรงเรียน รวมเฉพาะส่วนนี้มีจำนวน 14,326 แห่ง 

นอกจากนี้ยังมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่ตั้งอยู่ตามพื้นที่ห่างไกล และมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่จัดการศึกษาโดยเทศบาลที่พอมีศักยภาพด้านงบประมาณ ซึ่งเราไม่มีข้อมูลเรื่องจำนวน ณ ขณะนั้น

จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่อยู่ที่ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งตามแผนปฏิบัติการฯ ระบุให้ส่วนราชการต่างๆ ต้องถ่ายโอนศูนย์เด็กเล็กในความรับผิดชอบของหน่วยงานตนให้เทศบาลและ อบต. รับไปดำเนินการแทนตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา

นอกจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของท้องถิ่นที่รับถ่ายโอนมาแล้ว ยังมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ท้องถิ่นจัดตั้งเอง ทั้งในห้วงก่อนหน้า และภายหลัง

กล่าวได้ว่าปัจจุบันศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอยู่ในความดูแลของท้องถิ่นเกือบทั้งหมด ยกเว้นสถานรองรับเด็กเอกชนที่จดทะเบียนซึ่งขึ้นกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่มีจำนวนประมาณ 1,350 แห่ง

ตารางเปรียบเทียบจำนวนและสังกัดของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กระหว่างปี 2545 กับปี 2564 [1]

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจึงเป็นตัวอย่างรูปธรรมของอำนาจท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ตัวประชาชนที่สุด (เทียบอัตราส่วนง่ายๆ เฉลี่ยแล้วทุก 4 หมู่บ้านจะมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตั้งอยู่ 1 แห่ง) และเป็นภารกิจภาครัฐที่ดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก ไม่เหมือนภารกิจอื่นที่มีหน่วยงานรับผิดชอบหลากหลาย ไม่ว่าเรื่องถนน สถานพยาบาล สถานศึกษาในระดับที่สูงกว่าการศึกษาปฐมวัย สนามกีฬา สวนสาธารณะ แหล่งน้ำ ฯลฯ

ตัวอย่างจากพื้นที่วิจัยของผู้เขียน ซึ่งชี้ให้เห็นด้านดีของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่สังกัดท้องถิ่น เมื่อลองเทียบโรงเรียนในสังกัดส่วนกลาง

หมู่บ้านบนดอยแห่งหนึ่งไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่มีประชากรเป็นชนเผ่า 100% ในพื้นที่มีสถานศึกษา 2 แห่ง แห่งแรกเป็นของ อบต. รับเด็กเล็กก่อนวัยเรียน อีกแห่งขึ้นกับ สพป. (สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา) เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดสอนตั้งแต่อนุบาลไปจนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อบต.มีครู 3 คน เป็นในคนพื้นที่และพูดภาษาถิ่นได้ ดูแลเด็กประมาณ 50 คน การจัดการเรียนการสอนค่อนข้างมีความยืดหยุ่น ทุกวันศุกร์จะเป็นวันที่ใช้ภาษาพื้นถิ่นสอน งบประมาณได้รับการจัดสรรจาก อบต.อย่างเพียงพอ เพราะนายกฯ ค่อนข้างให้ความใส่ใจ ขณะที่อีกโรงเรียนมีครู 14 คน ไม่มีครูที่เป็นคนพื้นที่ ต้องใช้ภาษาไทย และยึดหลักสูตรของกระทรวงเป็นหลัก จำนวนนักเรียนรวมกันทุกชั้นเกือบ 200 คน ขณะเดียวกันก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้อำนวยการโรงเรียน และครูขอย้ายบ่อย อีกทั้งหลายโครงการและหลายกิจกรรมต้องหาเงินนอกงบประมาณมาใช้ เนื่องจากมีข้อจำกัดทางงบประมาณ

อีกประเด็นคือ ความสัมพันธ์ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกับคนในชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่ชนบท ซึ่งมีตัวอย่างที่สื่อไม่ค่อยนำเสนอคือ แม้แต่นายก อบต.อุทัยสวรรค์เองก็ได้สูญเสียเหลนวัย 2 ขวบที่น่ารักน่าชังจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอุทัยสวรรค์ ผู้ปกครองที่ต้องทำงานและเลี้ยงลูกไปด้วยก็หวังพึ่งพาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและบรรเทาภาระของตน คนที่อยู่อาศัยในเมืองอาจมีทางเลือกอื่น แต่คนในชนบท นอกเสียจากฝากให้คนเฒ่าคนแก่ดูแลเด็กเล็กแทนแล้ว ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคือทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ เหตุการณ์กราดยิงนี้จึงกระทบต่อความเชื่อมั่นว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอาจไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยสำหรับบุตรหลานอีกต่อไป

แม้นที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดทำมาตรฐานการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งออกเป็น 6 ด้าน

1. มาตรฐานด้านการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

2. มาตรฐานด้านบุคลากร

3. มาตรฐานด้านอาคาร สถานที่ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย

4. มาตรฐานด้านวิชาการและกิจกรรมตามหลักสูตร

5. มาตรฐานด้านการมีส่วนร่วมและส่งเสริมสนับสนุน

6. มาตรฐานด้านส่งเสริมเครือข่ายการพัฒนาเด็กปฐมวัย

ซึ่งได้มีการเอ่ยถึงมาตรการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินและอันตรายต่างๆ บรรจุเอาไว้เช่นกัน

ทว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยส่วนใหญ่ยังคงไปไม่ถึงมาตรฐานดังกล่าว ด้วยมีข้อจำกัดมากมาย เท่าที่ประมวลจากงานวิจัยที่มีออกมาเยอะมากๆ (แค่เพียงค้นหาในระบบ ThaiJO ก็มีร่วม 700 ชิ้นแล้ว) พบปัญหาจัดกลุ่มได้ดังนี้

(1) ผู้บริหารท้องถิ่นไม่ให้ความสำคัญต่อศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเท่าที่ควร ไม่มีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับภารกิจด้านการศึกษา

(2) งบประมาณที่ได้รับไม่เพียงพอสำหรับการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะทรัพยากรและสิ่งเอื้อเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก

(3) บุคลากรยังมีน้อย ไม่สอดคล้องกับจำนวนนักเรียน ค่าตอบแทนและสวัสดิการไม่เหมาะสมเมื่อเทียบกับภาระความรับผิดชอบที่เหล่าครู-ผู้ช่วยครูต้องทำงานหลายหน้าที่ (เป็นแม้กระทั่งยามรักษาความปลอดภัย) บางตำแหน่งยังไม่มีความมั่นคง เช่น ผู้ช่วยครูผู้ดูแลเด็กเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจ หลายแห่งไม่มีครูที่มีสถานะเป็นข้าราชการประจำอยู่ นำมาซึ่งปัญหาขาดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน

(4) อาคารสถานที่เก่าและทรุดโทรม ขาดการบำรุงรักษาที่ดี หลายแห่งมีคำถามถึงเรื่องความปลอดภัย เพราะไม่ได้มีรั้วรอบขอบชิด สภาพแวดล้อมที่อาจไม่ถูกสุขลักษณะภายในตัวอาคาร ห้องเรียนที่แออัดคับแคบเอื้อให้เกิดโรคติดต่อต่างๆ ในเด็กได้ง่าย ตลอดจนไม่มีพื้นที่ทำกิจกรรมภายนอก เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก

(5) ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองแสดงความคิดเห็นต่อหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอน หลักสูตรที่ใช้ไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับท้องถิ่นของเด็ก เรื่องราวในท้องถิ่นยังไม่ถูกบรรจุลงในหลักสูตร

ข้างต้นคงไม่ต่างกับความรู้สึกลึกๆ ที่แสดงออกผ่านหน้าเพจของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์หลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงไปกว่าครึ่งเดือน แต่ยังไม่มีรูปธรรมใดที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยรวมต้องเผชิญ

“จากเหตุการณ์เลวร้ายที่ผ่านมา..ขอให้เป็นเหตุการณ์สุดท้ายของประเทศนี้และโลกใบนี้..อย่าให้มันจบแค่การเยียวยาผู้สูญเสียและผู้รับผลกระทบ..ปัญหาระดับชาติที่ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอย่าพึ่งลืมเรื่องนี้นะคะ..ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศกำลังรอความชัดเจน..#อย่าลืมพวกเรา..”

References
1 ข้อมูลปี 2545 จากบทนำในคู่มือมาตรฐานการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น http://www.dla.go.th/upload/ebook/column/2017/4/2199_5930.pdf ข้อมูลปี 2564 จาก https://catalog.moe.go.th/dataset/dataset-15_24/resource/032d0765-0e72-4591-838a-f8013a88ec93

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save