fbpx

‘การกราดยิง’ สำรวจสาเหตุอันซับซ้อนของพฤติกรรมสังหารหมู่

เสียงปืนที่ดังขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายนัดเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่สร้างความตกตะลึงแก่ผู้คนในสังคมและเป็นความรุนแรงที่สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงแก่ทุกคน เพราะเหยื่อสามารถเป็นใครก็ได้

การกราดยิงในพื้นที่สาธารณะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงศตวรรษปัจจุบัน แม้ความรุนแรงในรูปแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในสังคมไทย กระนั้นก็ตาม เหตุการณ์กราดยิงในไทยดูจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หนึ่งในเหตุการณ์ซึ่งเป็นที่จดจำคือเหตุการณ์กราดยิงที่นครราชสีมา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งตามมาด้วยการถอดบทเรียนอย่างหลากหลายจากทุกภาคส่วน กระนั้นก็ยังคงไม่ใช่เหตุการณ์สุดท้าย เมื่อเหตุการณ์ครั้งล่าสุดคือการกราดยิงที่สยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เสียงปืนหลายนัดดังขึ้นใจกลางเมืองที่พลุกพล่าน ท่ามกลางการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนจำนวนมากทั้งชาวไทยและต่างชาติ

เหตุการณ์ที่น่าหวาดหวั่นจากเสียงปืนและการสังหารหมู่ดึงดูดความสนใจและการถกเถียงของสังคม ภายใต้คำถามสำคัญว่า เหตุใดการกราดยิงจึงเกิดขึ้น?

การกราดยิง (mass shootings) หมายถึง เหตุการณ์การสังหารด้วยอาวุธปืนที่มีเหยื่อตั้งแต่ 4 รายขึ้นไป โดยถือเป็นการสังหารหมู่ (mass killing) รูปแบบหนึ่ง อย่างไรก็ดี มีการนิยามที่หลากหลายถึงการกำหนดจำนวนผู้เสียชีวิตหรือผู้ประสบภัย

ในงานศึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงจากปืน (gun violence) เป็นที่ทราบกันมาสักระยะแล้วว่า กราดยิงเป็นการกระทำที่มีสาเหตุสลับซับซ้อน ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดขึ้นของการใช้ความรุนแรงในการสังหารหมู่ มีลักษณะเป็นปัจจัยที่สหสัมพันธ์ซึ่งส่งผลร่วมกัน แม้จะมีงานศึกษาจำนวนมากที่พยายามพัฒนาแบบจำลองการทำนายพฤติกรรมของบุคคลที่มีแนวโน้มก่อเหตุ แต่ยังคงห่างไกลจากตัวแบบหนึ่งเดียวที่สามารถอธิบายได้อย่างครอบคลุม แม้ว่าในแต่ละกรณีจะมีปัจจัยมูลเหตุจูงใจที่ถ่วงน้ำหนักแตกต่างกัน ซึ่งมักถูกชี้ชัดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าในแต่ละกรณีมีปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเป็นปัจจัยชี้ขาด

กระนั้นก็ตาม ในฐานะผู้ศึกษาความรุนแรง การพิจารณาถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดเหตุการณ์ที่อุกอาจเช่นนี้ยังคงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ คำถามคือ เรารู้อะไรเกี่ยวกับสาเหตุของความรุนแรงจากปืนบ้าง?

จุดสนใจแรก: ปัญหาสุขภาพจิต?

เมื่อมีเหตุการณ์การกราดยิงเกิดขึ้น ปัจจัยจำนวนหนึ่งที่มักถูกหยิบยกขึ้นตั้งเป็นสมมติฐานพื้นฐานในหลายกรณีคือ เรื่องความผิดปกติส่วนบุคคลจาก ‘ความเจ็บป่วยทางจิต’ 

การกราดยิงเป็นพฤติกรรมที่ท้าทายกฎหมาย ละเมิดศีลธรรม และขัดต่อบรรทัดฐานทางสังคมอย่างร้ายแรง ความผิดปกติจากอาการทางจิตจึงมักถูกตั้งเป้าเป็นสมมติฐานแรกๆ โดยเมื่อมีเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น สังคมมักมองหาความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถสังเกตเห็น ทั้งจากลักษณะท่าทาง การพูดจา หรือคำบอกเล่าจากผู้คนรอบข้างผู้ก่อเหตุเพื่อเชื่อมโยงเข้าหาสมมติฐานที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ดี งานศึกษาจำนวนมากกลับให้ภาพความเข้าใจต่อผู้ก่อเหตุกราดยิงที่ต่างออกไป โดยชี้ว่าในความเป็นจริงผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตส่วนใหญ่มักไม่มีส่วนในการใช้ความรุนแรง ผู้มีอาการทางจิตส่วนใหญ่ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะทำร้ายใคร  และแม้ว่าจะมีผู้ก่อเหตุกราดยิงจำนวนหนึ่งที่มีประวัติการรักษาความเจ็บป่วยทางจิตจริง แต่ส่วนมากก็ไม่ใช่สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง โดยในสหรัฐอเมริกามีผู้มีความเจ็บป่วยทางจิตเพียงราว 3% ถึง 5% ของประชากรเท่านั้นที่มีความเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรง ขณะที่อาจมีความแตกต่างกันไปในพื้นที่อื่นๆ แต่ก็อยู่ในระดับที่ไม่เกิน 10% (ดูใน Appelbaum, 2013 ,Shultz, et al 2014)

อย่างไรก็ดี เรายังคงไม่อาจละเลยจากปัจจัยดังกล่าว เนื่องจากมีข้อบ่งชี้ว่า อาการหลงผิดหวาดระแวง (Paranoid Schizophrenia) อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่เป็นไปได้ และอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกรณีที่มีการใช้สารเสพติดควบคู่ (Corner, et al 2018) กระนั้นก็ตาม ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ยังคงมีจำนวนน้อยมาก จนในงานศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ จิตเพทย์ชื่อดัง อย่างโจนาธาน เมตเซิล (Jonathan M. Metzl) ย้ำเตือนในบทความ Mental Illness, Mass Shootings, and the Future of Psychiatric Research into American Gun Violence ของเขาว่า ผู้ศึกษาเรื่องการกราดยิงควรละทิ้งสมมติฐานแรกเริ่มที่ว่า การสังหารหมู่จำนวนมาก มีสาเหตุหลักมาจากความเจ็บป่วยทางจิต จนละเลยบริบททางสังคมและปัจจัยอื่นๆ (Metzl 2021)

ภาพยนตร์-เกมนำไปสู่ความรุนแรง?

ทุกๆ ครั้ง ที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น อีกหนึ่งปัจจัยที่มักถูกยกขึ้นเป็นประเด็นถกเถียงอย่างเผ็ดร้อน และถูกกล่าวถึงเสมอจนถึงปัจจุบันคือเรื่องอิทธิพลความรุนแรงของ ‘ภาพยนตร์และเกม’ มิพักต้องพูดถึงเหตุการณ์กราดยิงที่ปัจจุบันมีเกมจำนวนมากที่มีเนื้อหาในทำนองเดียวกัน จนแทบจะกล่าวได้ว่าเกมถูกโทษให้เป็นสาเหตุสำคัญในการอธิบายสาเหตุของความรุนแรงในเยาวชนตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

กระแสอธิบายดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะในสังคมไทย ในต่างประเทศการอธิบายความสัมพันธ์ดังกล่าวถูกพูดถึงเป็นการทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อมีงานศึกษาจำนวนมากชี้ว่าเกมที่มีเนื้อหารุนแรงสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวระยะสั้นในเด็ก ขณะที่สื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ที่มีเนื้อหารุนแรง ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับพฤติกรรมความก้าวร้าวและการใช้ความรุนแรงในระยะสั้น ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และส่งผลต่อพฤติกรรมความก้าวร้าวและความรุนแรงในเด็กในระยะยาว (ดู Huesmann & Taylor 2006 และ Huesmann 2007)

อย่างไรก็ดี ข้อสรุปจากงานศึกษาในอดีตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเกมและการใช้ความรุนแรงกลับมีความแตกต่างอย่างมากจากผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ โดยในงานศึกษาที่สำคัญ 2 ชิ้น คือ Does playing violent video games cause aggression? A longitudinal intervention study ในปี 2019 และ Do longitudinal studies support long-term relationships between aggressive game play and youth aggressive behavior? A meta-analytic examination ในปี 2020 ซึ่งใช้กรณีตัวอย่างจำนวนมาก และตรวจสอบกรณีศึกษาในอดีตใหม่อีกครั้ง ได้ล้มล้างสมมติฐานเดิมที่ถูกเข้าใจกันในหมู่นักจิตแพทย์กว่าหลายทศวรรษ โดยผลการศึกษาไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างการเล่นเกมกับพฤติกรรมความรุนแรงหรือความก้าวร้าว ผู้ศึกษาชี้ข้อสังเกตว่าผลของงานศึกษาในอดีตที่ออกมาในลักษณะดังกล่าว เกิดจากปัญหาด้านระเบียบวิธีวิจัยและอคติในการศึกษาเป็นหลัก มากกว่าที่จะเป็นผลจากการศึกษาจริงๆ (Aaron, et al 2020, Kühn, et al 2019)

การแพร่ระบาดทางสังคมจากการรายงานข่าว

กระนั้นก็ตาม เรายังคงไม่อาจสรุปได้ว่า ‘พฤติกรรมเลียนแบบจากสื่อ’ จะไม่มีผลใดๆ เลย โดยเฉพาะเมื่อมันถูกนำมาใช้อธิบายการแพร่ระบาดทางสังคม ภายหลังเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนที่สหรัฐอเมริกาซึ่งถูกรายงานผ่านสื่อออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่กี่วันหลังจากนั้น ความถี่ในการก่อเหตุในลักษณะเดียวกันเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ บทบาทของสื่อถูกกล่าวถึงอย่างจริงจังอีกครั้ง เมื่อการศึกษาเชิงปริมาณต่อแบบจำลองการแพร่กระจายพบหลักฐานสำคัญที่สนับสนุนว่า กรณีการสังหารหมู่ด้วยอาวุธปืนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันในอดีตอันใกล้  เหตุกราดยิงที่โด่งดังอาจเพิ่มความน่าจะเป็นในระยะเวลาหนึ่งต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า ความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์กราดยิงกินเวลายาวนานราว 13 วัน ต่อการเกิดเหตุการณ์หนึ่งครั้งก่อนหน้า (Towers, et al 2015)

แนวคิดทางระบาดวิทยา อย่างการแพร่ระบาด (contagion) ถูกนำมาใช้เป็นอุปมาเพื่อพูดถึงการแพร่กระจายตัวของเหตุการณ์การกราดยิงว่าติดต่อจากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่งเหมือนการกระจายตัวของเชื้อโรค อย่างไรก็ดี คำถามคือพาหะของมันคืออะไร? พฤติกรรมเลียนแบบถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายการแพร่ระบาดดังกล่าว ซึ่งมี ‘การรายงานข่าวของสื่อมวลชน’ เป็นพาหะ โดยชี้ว่าพฤติกรรมของบุคคลหนึ่งสามารถโน้มน้าวให้อีกคนหนึ่งมีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกันได้ ผ่านวิธีที่สื่อรายงานเหตุกราดยิง อย่างการนำเสนอภาพลักษณ์ของมือปืน คำพูดของพวกเขา เรื่องราวชีวิตของมือปืน รวมถึงรายละเอียดของเหตุการณ์กราดยิงที่ถูกนำเสนอซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อผู้ที่มีแนวโน้มจะก่อเหตุได้รับชมสื่อเหล่านี้จะสามารถเพิ่มโอกาสเกิดเหตุการณ์กราดยิงในอนาคตได้ (Meindl & Ivy 2017)

การควบคุมอาวุธปืนและปัจจัยเศรษฐกิจสังคม

หากมองพ้นไปจากปัจจัยส่วนบุคคล อย่างเรื่องบุคลิก ลักษณะส่วนบุคคล และพฤติกรรมการใช้ชีวิต มีปัจจัยหนึ่งที่ค่อนข้างน่าสนใจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของรัฐบาลโดยตรง คือเราจะมองข้ามเรื่องอาวุธปืนได้อย่างไร ในเมื่อปืนเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการก่อเหตุกราดยิง

งานศึกษาจำนวนมากพบความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณอาวุธปืนและความยากง่ายในการเข้าถึงอาวุธปืนกับการก่อสังหารหมู่ ในงานศึกษาของ Paul  Reeping พบว่า พื้นที่ที่มีการอนุญาตการถือครองอาวุธปืนมากและผู้คนเป็นเจ้าของอาวุธปืนมาก มีอัตราการกราดยิงสูงกว่าพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในการถือครองอาวุธปืน และในแต่ละช่วงเวลาของพื้นที่เดียวกัน เมื่ออัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนอาวุธปืนในพื้นที่นั้นๆ สูงขึ้น อัตราการก่อเหตุกราดยิงก็เพิ่มขึ้นด้วยอย่างมีนัยสำคัญ ในอเมริกาตั้งแต่ปี 1998 ถึง 2015 อัตราการครอบครองอาวุธปืนที่เพิ่มขึ้นราว 10% สัมพันธ์กับอัตราการเกิดเหตุการณ์ยิงที่เพิ่มสูงขึ้น (Reeping, et al 2019) จนอาจกล่าวได้ว่า การที่ผู้คนสามารถครอบครองอาวุธปืนส่งผลให้อาวุธปืนมีสถานะความพร้อมใช้งานสูง เมื่อผู้คนมีแนวโน้มจะก่อความรุนแรงสังหารผู้คน อาวุธปืนที่อยู่ใกล้มือจึงถูกฉวยเอามาใช้ก่อเหตุได้อย่างรวดเร็ว (Ahmad, et al 2020) สิ่งนี้อธิบายได้ดีว่าเหตุใดการกราดยิงหลายกรณีในประเทศไทยจึงมีผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ เช่น ทหาร ตำรวจ หรือผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านั้น

นอกจากนี้ ในทางกลับกันจากงานศึกษาเปรียบเทียบของ Bricknell และคณะ ซึ่งเปรียบเทียบระหว่างการครอบครองอาวุธปืนในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียชี้ว่า การออกกฎหมายและมาตรการดำเนินการควบคุมอาวุธปืนที่แตกต่างกัน ส่งผลต่ออัตราการเกิดเหตุการณ์กราดยิงที่แตกต่างกัน การมีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวดสามารถทำให้เหตุการณ์กราดยิงลดลงอย่างเห็นได้ชัด กฎหมายซึ่งถูกออกโดยรัฐจึงมีความสำคัญอย่างมาก รวมไปถึงมาตรการที่รัฐใช้ โดยในกรณีของออสเตรเลียที่มีการดำเนินโครงการซื้อคืนอาวุธปืน ทำให้อัตราการครอบครองอาวุธปืนลดลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีมาตรการดังกล่าว กฎหมายและมาตรการเหล่านี้ช่วยลดอัตราความพร้อมใช้งานของอาวุธปืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดีบทความได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความเข้มงวดและความสม่ำเสมอในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหากปราศจากสิ่งเหล่านี้ก็อาจไม่สามารถป้องกันผู้ก่อเหตุที่มีแรงจูงใจในการดำเนินการได้ แม้จะมีกฎหมายอยู่ก็ตาม (Bricknell, et al )

ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่น่าสนใจ อย่างปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคมซึ่งอยู่ในการจัดการของรัฐโดยตรง การศึกษาพบว่าความเหลื่อมล้ำของรายได้ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน โอกาสทางเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสาธารณะ ล้วนเกี่ยวข้องกับอัตราการสังหารด้วยอาวุธปืน (Kim 2019) หรือแม้แต่ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งในพื้นที่ที่มีประชากรที่ถูกเหยียดเชื้อชาติมาก มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาการกราดยิงมาก (Ghio, et al 2023) ดังนั้นการที่รัฐให้ความสำคัญกับปัจจัยเหล่านี้จึงสำคัญอย่างยิ่งในฐานะการแก้ปัญหาระดับโครงสร้าง ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่อยู่ในความสามารถการบริหารจัดการทางนโยบายของรัฐได้โดยตรง

ถึงที่สุดแล้ว เราพึงตระหนักว่า การกราดยิงเป็นการกระทำที่มีความสัมพันธ์สลับซับซ้อนเกินกว่าจะสรุปได้ด้วยปัจจัยเพียงปัจจัยเดียว แต่ละกรณีมีตัวจุดชนวนที่แตกต่างกัน และค่อนข้างมีปัจจัยที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละกรณี แน่นอนว่าไม่ใช่ผู้ที่เล่นเกมที่มีเนื้อหารุนแรงทุกคนจะมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงทางอาญา เช่นเดียวกันกับกรณีของความเจ็บป่วยทางจิต ไม่ใช่ผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมดจะลุกขึ้นมาทำร้ายผู้คนรอบข้าง และไม่ใช่ผู้ที่นิยมปืนและชอบเรื่องราวสงครามทุกคนจะหยิบอาวุธขึ้นมากราดยิงผู้คนในพื้นที่สาธารณะ สาเหตุของการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธปืนนั้นสลับซับซ้อนและยังคงรอให้มีการศึกษาเพิ่มขึ้นในอนาคต


อ้างอิง

Ahmad, M., Mekala, H., Lone, J., Robinson, K., & Shah, K. (2020). Addressing Mass Shootings in a New Light. Cureus, 12(7), e9298.

Appelbaum PS. Public Safety, Mental Disorders, and Guns . JAMA Psychiatry. 2013;70(6):565–566.

Bricknell, S., Lemieux, F., & Prenzler, T. (2022) Mass shootings and firearm control: comparing Australia and the United States. 29-52.

Corner, E., Gill, P., Schouten, R., & Farnham, F. (2018). Mental Disorders, Personality Traits, and Grievance-Fueled Targeted Violence: The Evidence Base and Implications for Research and Practice. Journal of personality assessment, 100(5), 459–470.

Drummond, A., Sauer, J D, & Ferguson, C J. (2020) Do longitudinal studies support long-term relationships between aggressive game play and youth aggressive behaviour? A meta-analytic examination R. Soc. open sci.7200373200373.

Ghio M, Simpson JT, Ali A, et al. Association Between Markers of Structural Racism and Mass Shooting Events in Major US Cities. JAMA Surg. Published online July 19, 2023.

Kühn, S., Kugler, D., Schmalen, K. et al. (2019). Does playing violent video games cause aggression? A longitudinal intervention study. Mol Psychiatry 24, 1220–1234.

Meindl, J. N., & Ivy, J. W. (2017). Mass Shootings: The Role of the Media in Promoting Generalized Imitation. American journal of public health, 107(3), 368–370.

Metzl JM, Piemonte J, McKay T. Mental Illness, Mass Shootings, and the Future of Psychiatric Research into American Gun Violence. Harv Rev Psychiatry. 2021 Jan-Feb 01;29(1):81-89.

Reeping, P. M., Cerdá, M., Kalesan, B., Wiebe, D. J., Galea, S., & Branas, C. C. (2019). State gun laws, gun ownership, and mass shootings in the US: cross sectional time series. BMJ (Clinical research ed.), 364, l542. https://doi.org/10.1136/bmj.l542

Huesmann L. R. (2007). The impact of electronic media violence: scientific theory and research. The Journal of adolescent health : official publication of the Society for Adolescent Medicine, 41(6 Suppl 1), S6–S13.

Huesmann L. R. & Taylor (2006) The Role of Media Violence in Violent Behavior Annual Review of Public Health 27:1, 393-415

Shultz, J. M., Thoresen, S., Flynn, B. W., Muschert, G. W., Shaw, J. A., Espinel, Z., Walter, F. G., Gaither, J. B., Garcia-Barcena, Y., O’Keefe, K., & Cohen, A. M. (2014). Multiple vantage points on the mental health effects of mass shootings. Current psychiatry reports, 16(9), 469.

Towers S, Gomez-Lievano A, Khan M, Mubayi A, Castillo-Chavez C (2015) Contagion in Mass Killings and School Shootings. PLoS ONE 10(7): e0117259.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save