fbpx

กองทัพ-ตำรวจ กับการเมือง และความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทวีความรุนแรง

โศกนาฏกรรมที่จังหวัดหนองบัวลำภูทำให้กระแสการปฏิรูปตำรวจกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อผนวกกับอีกหลายกรณีที่ยังไม่เคยถูกสะสาง การปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงทั้งหมด – กองทัพ ตำรวจ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมการเมืองไทย

มากกว่านั้น ปัญหาความขัดแย้งและเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนปัญหาวิธีการทางการเมืองและการบริหารการปกครอง ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับภาครัฐและหน่วยงานความมั่นคงทั้งกองทัพและตำรวจทั้งสิ้น

101 ชวน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเลขาธิการพรรคประชาชาติ อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาชวนคุยเรื่องการปฏิรูปกองทัพและตำรวจ และที่ทางของนโยบายเหล่านี้ในสนามการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ในรายการ 101 One-on-One Ep.279: จาก ‘กองทัพ-ตำรวจ กับ การเมือง’ กับ ทวี สอดส่อง

ปฏิรูปวงการตำรวจ-ทหาร กับกระบวนการยุติธรรมไทย

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเลขาธิการพรรคประชาชาติ อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ความเห็นว่าการปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงทั้งตำรวจและทหารนับเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทย เนื่องจากโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ไม่มีการกล่าวถึงการปฏิรูปกองทัพ ทั้งยังตั้งข้อสังเกตถึงบทบาทของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่มีหน้าที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับงบประมาณมหาศาลและมีกำลังพลมาก ทวีชี้ให้เห็นว่าช่องโหว่นี้นำมาสู่ปัญหาที่เรียกว่า ‘รัฐซ้อนรัฐ’

นอกจากนี้ ทวีเสนอว่าการปฏิรูปกองทัพจำเป็นต้องปฏิรูปสี่แนวทาง ได้แก่ ปฏิรูปกำลังคน ปฏิรูปการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ปฏิรูปการบริการจัดการ และปฏิรูปการจัดสรรการเงิน เพื่อให้การทำงานภายในกองทัพเป็นไปด้วยความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ

“ผมคิดว่าทุกหน่วยงานราชการควรจะมีการปฏิรูป ถ้าเราจะปฏิรูปคนของกองทัพ ผมมองว่าตอนนี้คนในกองทัพล้นเหลือมาก และงบประมาณที่ได้ก็มากถึงประมาณแปดแสนล้าน เราจึงน่าจะลดกำลังพลลง อีกทั้งเราจะเห็นตัวเลขจากงบประมาณแผ่นดินว่าพอไปดูรายจ่ายจริงแล้ว งบประมาณกลับเพิ่มเป็นหลักหมื่นหลัก เพราะมีการรับเงินสองทาง” ทวีกล่าว

ทวีกล่าวว่าอีกหนึ่งปัญหาสำคัญในการปฏิรูปกองทัพคือ ‘ธรรมนูญศาลทหาร’ ที่ถือเป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย เขาให้ความเห็นว่าหากมีการก่ออาชญากรรมโดยทหารที่กระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตคอรัปชัน คดีดังกล่าวควรจะต้องมาตัดสินคดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตเช่นเดียวกับคดีการทุจริตอื่นๆ รวมถึงความผิดกรณีต่างๆ ที่กระทำโดยทหาร ควรจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเหมือนคดีของพลเรือนทั่วไปเพื่อความโปร่งใสและยุติธรรม

“ตามปกติแล้วถ้าทหารกระทำผิดกับพลเรือนก็ต้องมาขึ้นศาลพลเรือน แต่ถ้าทหารกระทำผิดตามลำพังโดยไม่มีพลเรือนร่วมก็ต้องไปขึ้นศาลทหาร เพราะฉะนั้นเรื่องการทุจริตที่ทำกันเองในกองทัพก็ต้องไปขึ้นศาลทหาร ไม่ใช่ศาลทุจริต ดังนั้น ถ้าจำเลยมียศใหญ่ว่าผู้พิพากษาก็จะเกิดปัญหาและคดีจะยิ่งล่าช้า ผมจึงมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องปฏิรูปและปรับปรุง”

ทั้งนี้ ทวีกล่าวว่าการปฏิรูปแก้ไขรัฐธรรมนูญศาลทหารถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญของพรรคประชาชาติที่จะเสนอในสนามการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยเป็นนโยบายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่หากเป็นอาชญากรรมซึ่งกระทบต่อประชาชนหรือพลเรือน จะนับรวมเป็นคดีที่ต้องเข้ารับตัดสินที่ศาลพลเรือน ส่วนกรณีที่เกี่ยวข้องกับวินัยทหารต่างๆ ให้คงไว้ที่ศาลทหารต่อไปได้ เหล่านี้จะเป็นแนวทางที่ทำให้ทั้งทหารและพลเรือนได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น

“ปกติถ้าเป็นศาลอาญา ถ้าอัยการไม่สั่งฟ้อง ผู้เสียหายสามารถฟ้องเองได้ แต่ถ้าคดีอยู่กับศาลทหาร ผู้เสียหายฟ้องเองไม่ได้ ต้องให้อัยการฟ้องอย่างเดียว ถ้าเป็นลักษณะนี้ช่องทางของกระบวนการยุติธรรมจะตีบตันมาก เราจึงจะต้องเร่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” ทวีกล่าวเสริม

เมื่อกองทัพกลายเป็นสถาบันทางการเมือง

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญในบริบทการเมืองการปกครองไทยที่ทวีตั้งข้อสังเกตคือการที่กองทัพกลายเป็น ‘สถาบันทางการเมือง’ ขึ้นมาทัดทานพรรคการเมือง เป็นเหตุให้ตลอดเส้นทางการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยของไทยเกิดการรัฐประหารและยึดอำนาจโดยกองทัพ จนนำมาสู่การสร้างเป็นรัฐรวมศูนย์อยู่เสมอ การปฏิรูปกองทัพและความสมเหตุสมผลในการจัดสรรงบประมาณจึงเป็นโจทย์สำคัญในสังคมการเมืองไทย

“ไม่ใช่แค่ปฏิรูปกองทัพอย่างเดียว เราน่าจะต้องปฏิรูประบบราชการให้มีการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ หรือถ่ายโอนหน่วยงานไปสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างจริงจังเสียที

“ประเทศไทยมีการเรียกร้องมาหลายยุคหลายสมัย เรามีการเรียกร้องเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย แต่เราไม่ได้ประชาธิปไตย เรากลับได้รัฐธรรมนูญที่ผมมองว่าเป็นเพียงบันทึกการปกครองประเทศเพื่อใช้เป็นข้ออ้างของคนที่มีอำนาจ แต่ความเป็นประชาธิปไตยของเรายังไม่มี รวมถึงสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ทวีให้ความเห็น

ในส่วนของการปฏิรูปวงการตำรวจ ทวีเสนอว่าควรจะต้องมีการปฏิรูปใหม่ให้มีการนำระเบียบเดิมของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร) มาอยู่ในตัวบทกฎหมาย เพื่อให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจมีความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น ต้องมีการกำหนดระยะเวลาครองตำแหน่งที่ชัดเจน

“ผมมองว่างานตำรวจต่างกับงานทหารโดยสิ้นเชิง ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่ตามลำพังโดยมีโอกาสใช้วิจารณญาณภายใต้ขอบเขตของการตีความตามกฎหมาย แต่ทหารต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือตำรวจต้องติดต่อสัมพันธ์กับประชาชนโดยตรง ส่วนทหารมีหน้าที่ป้องกันประเทศ”

ต้นตอและทางออกของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้

ในฐานะผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้มาเป็นเวลานาน ทวีชี้ให้เห็นว่าปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความไม่สงบภายในพื้นที่ ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับประชาชน ความคิดเห็นและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน รวมไปถึงการใช้อาวุธ

อย่างไรก็ดี ทวีอธิบายว่าประเด็นใหญ่ที่สุดที่ทำให้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที คือปัญหาการบริหารและการปกครองของภาครัฐในพื้นที่พหุวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดชายแดนใต้ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและเป็นชาวมลายู

“ถ้าเราศึกษารากเหง้าของปัญหา จะเห็นว่าเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเพราะรัฐสร้างบาดแผลและความไม่เป็นธรรม และเรื่องใหญ่ที่สุดคือการที่จะเอาวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ที่เป็นไทยพุทธไปให้บังคับให้คนมลายูต้องยอมรับ จนกระทั่งมีการรวมกลุ่มกันของคนมีอุดมการณ์ต่างๆ ลุกขึ้นมาสู่กับรัฐ” ทวีกล่าว

ทั้งนี้ ทวีเสนอว่าการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกันถือเป็นอีกหนึ่งทางออกของปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งสำคัญของการพูดคุย เจรจา และแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว คือรัฐไม่ควรผูกขาดให้คนจากส่วนกลางไปพูดคุยและเจรจาเพียงกลุ่มเดียว แต่ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการเจรจาต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ด้วย

“พี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเคร่งครัดในหลักการ เช่น ภาษามลายู และมีการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขา เช่น ต้องมีโรงเรียนตาดีกา สถาบันปอเนาะ รวมถึงโรงเรียนเอกชนสำหรับสอนศาสนา เรื่องต่างๆ เหล่านี้ผมมองว่าน่าจะเป็นเรื่องของการบริหารและการปกครอง รวมไปถึงความคิดของผู้บริหาร และผมมองว่าการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกันจะเป็นทางออกของปัญหาชายแดนใต้” ทวีกล่าวสรุป

MOST READ

Politics

31 Jul 2018

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

ธนาพล อิ๋วสกุล ย้อนสำรวจระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของนายกฯ เปรม เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

ธนาพล อิ๋วสกุล

31 Jul 2018

Politics

12 Sep 2018

ความจริง ความเชื่อ และความเจ็บป่วยของ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงชะตากรรมของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในฐานะนักวิชาการผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์มาร่วม 40 ปี แต่กลับต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย (และล้มป่วย) อยู่ในต่างแดน

อายุษ ประทีป ณ ถลาง

12 Sep 2018

Politics

14 Jul 2020

การเกิดอีกครั้งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ธนาพล อิ๋วสกุล เขียนถึงการเปลี่ยนความหมายของจอมพล ป. พิบูลสงครามจาก ‘ผู้ร้ายในประวัติศาตร์การเมืองไทย’ มาเป็นนายทหารฝ่ายคณะราษฎรที่สามารถกำราบฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติอย่างราบคาบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแหลมคมการเมืองร่วมสมัยของไทย

ธนาพล อิ๋วสกุล

14 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save